เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

โดย withwit เมื่อ 4 July 2011 เวลา 11:27 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 2292

4.9 สมดุลระหว่าง เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และ วัฒนธรรมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน

               

                นักปราชญ์เป็นจำนวนมาก ได้วิเคราะห์และสรุปไว้ว่า การดำรงอยู่อย่างมั่นคงและยั่งยืนของสรรพสิ่งในธรรมชาตินั้นล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากการเกิดสมดุลระหว่างองคาพยพต่างๆทั้งสิ้น การสมดุลในที่นี้หมายถึงสิ่งต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกันต่างก็เกื้อหนุนค้ำจุนซึ่งกันและกันอย่างลงตัว ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน เนื่องจากไม่มีใครสะสมส่วนเกิน (ที่เกินจำเป็นต่อการดำรงชีวิต) เช่น ในระบบนิเวศน์ของป่าน้ำลำธาร สัตว์ป่ากินพืชได้อาศัยหญ้าและใบไม้เป็นอาหาร พร้อมกับช่วยแพร่พันธุ์ให้กับพืชสกุลต่างๆ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่กินเข้าไป หรือ ติดไปตามขนสัตว์ และเมื่อถ่ายมูลก็เป็นปุ๋ย ตายลงร่างกายก็เน่าเปื่อยกลายเป็นปุ๋ยคืนให้พืชได้กินซากของตนบ้าง แต่หากไม่มีสัตว์กินเนื้ออยู่ด้วย สัตว์กินพืชก็จะมีจำนวนมากจนทำลายพืชได้หมด ดังนั้นสัตว์กินเนื้อพวก งู เสือ สิงโต จึงคอยควบคุมจำนวนสัตว์กินพืชให้อยู่ในปริมาณพอเหมาะ (ได้สมดุล) นอกจากนี้รากไม้ยังช่วยอุ้มน้ำฝน ทำให้น้ำค่อยๆไหลสู่ลำธาร นำความชุ่มชื้นให้กับป่า และเป็นแหล่งน้ำให้สัตว์ทั้งหลายได้ใช้ในการดำรงชีวิต ดังนี้จะเห็นว่าเกิดการสมดุลกันมาเป็นเวลายาวนานมาก สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย (รวมทั้งมนุษย์) จึงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขตามสมควรมาเป็นระยะเวลานานแต่สังคมอดีตกาล

                นับแต่ยุคอุตสาหกรรมเป็นต้นมา เริ่มส่อเค้าว่าความสมดุลเริ่มเปลี่ยนไปมาก เพราะสัตว์สกุลหนึ่ง (เรียกขานกันว่ามนุษย์) เริ่มค้นพบวิธีที่จะทำการสะสมส่วนเกินจำเป็นในการดำรงชีวิตได้อย่างมากและรวดเร็ว ทั้งนี้เป็นผลมาจากมันสมองที่ได้รับวิวัฒนาการจนถึงขั้นหนึ่งทำให้ค้นพบกรรมวิธีการผลิตแบบใหม่ ผนวกกับการค้นพบระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ ที่มีรากฐานอยู่บนความต้องการในการบริโภคสิ่งต่างๆของมนุษย์ ที่นอกเหนือจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต รวมทั้งการสะสมส่วนเกินเพื่อ”ความมั่นคง”ของชีวิต ทั้งสองสิ่งนี้กลายเป็น “วัฒนธรรม” แบบใหม่ที่มนุษย์ใช้เป็นบรรทัดฐานในการดำรงชีวิต อาจเรียกได้ว่าเป็นวัฒนธรรม “บริโภคนิยม” (consumerist culture)

 

ทั้งสามสิ่งนี้เกื้อหนุนกันอยู่อย่าง “ไม่สมดุล” ทั้งนี้เป็นเพราะมีการบริโภคและสะสมส่วนเกินที่ “เกินความจำเป็นต่อการดำรงชีวิต”  ยิ่งไปกว่านั้นในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้ามาก ทำให้อัตราการตายของมนุษย์ลดน้อยลงมาก ทำให้จำนวนประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  เมื่อจำนวนคนมีมากกว่าเดิม และแต่ละคนบริโภคและสะสมมากกว่าเดิมในสังคมบุพกาล จึงนับเป็นการขาดการสมดุลเป็นอย่างยิ่ง

 

การไม่สมดุลนี้จะนำพามนุษย์ชาติไปสู่ความหายนะใหญ่หลวงประการใด ยังมิอาจประเมินได้ ณ จุดนี้ แต่ประเด็นนี้ไม่อาจรอให้เหตุเกิดเสียก่อนแล้วจึงค่อยคิดแก้ไข เหมือนดังเช่นในกรณีอื่นๆ เพราะหากถึงจุดนั้นแล้ว อาจหมายถึงความล่มสลายอย่างเฉียบพลันและรุนแรงจนไม่อาจฟื้นคืนสภาพได้อีกเลย (irreversible damage) อุปมาเช่น การสะสมทองเอาไว้ในบ้านมากขึ้นๆทุกวันโดยไม่ได้เอาออกไปทำประโยชน์อะไร สักวันหนึ่งบ้านก็จะพังครืนลงมาเพราะทนรับน้ำหนักทองที่สะสมไว้ไม่ได้

 

และหากเกิดการพังทลายครืนลงของระบบธรรมชาติที่ค้ำจุนเราอยู่ ก็ย่อมกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเรา และ ของคนทั้งโลกโดยถ้วนหน้า ดังนั้นหน้าที่สำคัญอันหนึ่งของเรา  คนไทย และของคนทั้งโลก คือต้องไม่บริโภค หรือสะสมจนเกินพอดี รวมทั้งต้องช่วยกันให้ความรู้แก่ผู้อื่นที่ยังไม่มีทัศนะทางด้านนี้ด้วย หากทุกคนถือว่าไม่ใช่หน้าที่ ต่างพากันละเลย วันนั้นย่อมมาถึงสักวันหนึ่งอย่างแน่นอน

 

                เราจะต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ยั่งยืน ซึ่งเราทุกคนในฐานะเจ้าของโลกต้องช่วยกันคิด โดยอาจเริ่มต้นด้วยการถอยไปตั้งหลักใหม่เสียก่อนด้วยการ “ถอยหลังเข้าคลอง” หวนกลับไปพัฒนาวัฒนธรรมใหม่แบบเก่า เช่นวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ ที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน ไม่สะสมจนเกินพอดี หากใครเกิดความทุกข์ยากเดือดร้อนก็มีระบบสงเคราะห์กลางที่คอยบรรเทาช่วยเหลือ

 

ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้ จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากผู้นำประเทศทั่วโลกในยุค”แข่งกันรวย” ที่วัดความภูมิใจของประเทศจากอันดับการแข่งขันที่ได้รับการจัดจากองค์กรต่างๆ ยามใดที่ลำดับการแข่งขันของประเทศตกจากลำดับ 42 เป็น 46 รัฐบาลก็จะเร่งทุ่มงบพัฒนาให้ได้ลำดับสูงขึ้น หากทุกประเทศใช้ระบบนี้หมดในการบริหารเศรษฐกิจและสังคม ก็นับได้ว่าเป็นระบบที่แข่งกันไปสู่ความหายนะ สักวันหนึ่ง คงไม่แคล้วว่าวันโลกาวินาศจะมาถึง

 

โจทย์ ให้ท่านคิดวิธีการในการชะลอ หรือ หยุด การแข่งขันไปสู่วันโลกาวินาศของประเทศทั้งหลายในโลกมาคนละ 3 วิธี อธิบายถึงเหตุผลด้วยว่าวิธีของท่านจะช่วยชะลอ หรือ หยุด การแข่งขันนี้ได้อย่างไร

  

                จากบทเรียนที่ชาวอามิชได้ทำเป็นตัวอย่างไว้ เราน่าจะได้สัมมนากันอย่างหนัก เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ชัดเจนว่า นิยามของความสุขที่จริงแท้ ที่เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการของปัจเจก ของสังคมประเทศ และของสังคมโลก ในลักษณะที่สอดคล้องกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมพร้อมกันไปนั้น คืออะไรกันแน่

 

                เพื่อหาคำนิยามนี้ให้ได้ อาจจำเป็นที่จะต้องเริ่มด้วยการถามคำถามง่ายๆ(แต่ตอบยาก)เสียก่อนว่า “คนเราเกิดมาเพื่อจุดประสงค์ใด”  หากตอบคำถามนี้ได้ไม่ถูกต้องอย่างสมบูรณ์ก็คงจะเป็นการยากที่จะกำหนดจุดหมายและคุณภาพชีวิตของมนุษยชาติร่วมกัน

 

                สมมติว่าเราได้สัมมนาร่วมกันจนได้ข้อสรุปที่ถูกต้องและสมบูรณ์แล้ว (จะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีความถูกต้องสมบูรณ์โดยปราศจากการลำเอียงเข้าข้างตนเองของปัจเจกชน ของสังคมประเทศ และ ของสังคมโลก)  จากนั้นเราก็คงต้องเลือกใช้เฉพาะเทคโนโลยีที่ไม่ลดทอนความสมดุลแห่งปัจจัยของความสุขนั้น  ซึ่งฟังดูเหมือนกับว่าเป็นเรื่องง่ายๆ แต่หากคิดให้ดีจะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะเกี่ยวพันกับบุคคลหกพันกว่าล้านคนในโลก ประเทศกว่าสองร้อยประเทศ ในจำนวนนี้เป็นประเทศมหาอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจประมาณ 10 ประเทศ ที่ได้พัฒนาเศรษฐกิจแบบไม่ยั่งยืนมากว่าหนึ่งร้อยปีจนร่ำรวยกันอย่างมหาศาล การที่จู่ๆจะไปบอกให้พวกเขาลดการร่ำรวยลงเพื่อให้ลูกหลานของชาวโลกได้มีหลักประกันคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนนั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย

 

                หากสังคมมนุษย์ยังไม่มีหรือยังไม่ยอมรับในปรัชญาคุณภาพชีวิตที่สมดุลกับธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกเสียก่อน คงจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนการผลิตและสังคมบริโภคที่เชื่อกันว่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่นำความล่มสลาย (ไม่ยั่งยืน) มาสู่โลกของเราในที่สุด

 

                เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปว่า ความจนเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี แต่อย่าลืมด้วยว่าคนจนมีอยู่สองประเภท คือประเภท”มีไม่พอ” กับ ประเภท “พอไม่มี” (คือไม่รู้จักพอ) คนจนประเภทหลังนี้น่าเป็นห่วงกว่าประเภทแรก เพราะแม้จะเป็นคนที่คนทั้งหลายจัดอันดับให้ว่าเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศหรือในโลกแล้วก็ตาม ก็ยังไม่รู้จักพอ ยังสร้างสรรค์ความร่ำรวยให้ตนเองอีกต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งคนจนประเภทนี้เป็นพวกที่กุมระบบเศรษฐกิจฐานการผลิตและการบริการของสังคมโลกโดยรวม จึงเชื่อได้ว่าหากยังเป็นอย่างนี้ต่อไป การ “สร้างสรรค์” ของท่านเหล่านี้คงจะ “ทำลาย” สิ่งแวดล้อมในด้านต่างๆมากมายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

 

วิธีการหยุดยั้งการ”สร้างสรรค์”วิธีหนึ่งที่เราทุกคนในฐานะพลโลกอาจช่วยกันได้คนละไม้คนละมือคือ..การลดทอนการบริโภคอันเกินพอดีของเราลงให้อยู่ในระดับสมดุลอันหนึ่ง…..

 

ขอให้ทุกท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนตลอดไป

 

…คนถางทาง (๒๕๔๗)

« « Prev : เทคโนโลยีนำความสุขมาให้ได้จริงหรือ

Next : ห่วงโซ่อาหาร (ทางปัญญา) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 July 2011 เวลา 7:00 am

    โห ประเด็นนี้มาดั่งอภินิหาร เป็นหัวข้อหลักที่จะเอาไปอภิปรายในสภาพัฒน์ จึงขออนุญาตจิ๊กเอาไปแทรกในบทขยายความ ผู้อ่านจะได้ตาโต-ใจโต-หูโต นะขอรับ อิ

  • #2 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 July 2011 เวลา 9:31 am

    เพื่อนผมเป็นแคธอลิก กล่าวว่ายุคนี้เป็น “ยุคหลง” คือหลงไหล ไม่มีสติ ไหลไปตามค่านิยมการสะสมและบริโภคเกินควสามพอดี ค่านิยมมากมายเป็นค่านิยมที่ไปรบกวนทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งๆที่รู้ แต่ก็ยังสืบต่อกันไป

    เพราะคนห่างไกลความเป็นจริงทางธรรมชาติ จึงมั่นอกมั่นใจว่า “การมี…(เงินมากๆ)” จะขจัด “ความขาดแคลน… ความไม่มี” ได้ ซึ่งก็ไปเบียดเบียนทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านการเอารัดเอาเปรียบคนที่ด้อยกว่า

    คนเมืองตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน มาซื้อ อาหารและความจำเป็นสำหรับชีวิต และสิ่งที่บำรุงบำเรอค่านิยม ซึ่งนี่คือการพึ่งพาแบบหนึ่ง คือเมืองพึ่งชนบทในเรื่องอาหาร เมืองนำโด่งในเรื่องเทคโนโลยี่สารพัด ปล่อยให้ชนบทห่างออกไป หลุดลอยไปไกล เกิดความห่างมากขึ้น ความห่างคือความไม่สมดุล

    เมืองเรียกร้องในชนบทใช้มาตรการผลิตพืชอาหารแบบ ที่เมืองต้องการ น่าสังเกตุว่า คนในชนบทที่สามารถผลิตมาตรฐานอาหารแบบเมืองต้องการนั้นเป็นปัจเจก ที่ผันตัวมาทำธูรกิจการผลิตเพื่อป้อนเมือง หรือคนเมืองนั่นแหละที่ก้าวลงไปผลิตเพื่อป้อนเมืองเพราะเห็นช่องทางร่ำรวย… แต่ปล่อยให้มาตรการ พึ่งตนเอง แบบที่ในหลวงทรงพระราชทานมานั้นเป็นคำกล่าวสวยๆกัน

    รัฐควรทบทวนแนวทางการพัฒนาความสมดุล สมดุลของเมืองกับชนบท สมดุลระหว่างภาคการผลิตกับบริโภค สมดุลระหว่างเกษตรกับอุตสาหกรรม สมดุลระหว่างการก้าวไปข้างหน้ากับการคงคุณค่าดีดีแบบเดิมๆ

    อำนาจสร้างสิ่งมหัศจรรย์แห่งสันติสุขได้ หากอำนาจนั้นเพื่อความสมดุลของทุกภาคส่วน…

    ชอบบันทึกนี้จริงๆ

  • #3 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 July 2011 เวลา 6:12 pm

    ครูบาจิ๊ก ถือว่าเป็นเกียรติ หิหิ
    จริยธรรมครูบาต้องแบบนี้ จะจิ๊กยังมาประกาศให้โลกรู้
    หลายคนมันจิ๊กของผมไปเงียบๆ แล้วเอาไปประกาศว่าเป็นของมัน จับได้หลายครา
    บางที่เอามาโม้ให้ผมฟังเอง ..เพราะลืมไปว่าจิ๊กไปจากเรา..ขำ
    แต่ไม่ว่าหรอก เอาไปทำประโยชน์ให้โลกได้ก็มหาโมทนา ด้วยคน

  • #4 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 July 2011 เวลา 6:18 pm

    พี่บางทรายครับ ตอนนี้เราจะเป็นครัวโลก ก็ทำนองเดียวกันกับที่พี่ว่ามา โลกมันกำหนดเส้นให้เราเดินหมด ต้องมาตรฐานโน่นนี่ แบบของมัน ส่วนเราก็งกๆ

    ทำไมเราไม่เป็นผู้นำบ้างว่า แบบนี้ๆ มรึงไม่แดรก เดี๋ยวกรูเอาไปเทให้หมาไทยแดรกก็ได้

    ทำไมเราไม่กำหนดมาตรฐานไทยขึ้นมา แล้วให้มันมายอมรับ ไม่ใช่ให้มันกำหนดปาวๆ ราวกับเราเป็นขี้ข้า

    เอ้า..ของขึ้นอีกแล้ว…มีสติๆ …ต้องสมดุลๆ แม้แต่อารมณ์ หมอเจ๊อุตส่าห์เตือนแล้วนะ อิอิ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.34349298477173 sec
Sidebar: 0.02964186668396 sec