นโยบายพัฒนาประเทศไทยของผม

โดย withwit เมื่อ 9 February 2011 เวลา 6:29 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1858

หมายเหต. ผมยกร่างนโยบายนี้ไว้ในอดีต เพื่อเป็นแนวทางให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง (ตามที่ได้รับการร้องขอ)  ผมไม่ทราบว่าทางพรรคได้นำไปใช้ประโยชน์เพียงใด แต่วันนี้ผมนำมาให้ทุกท่านได้อ่านกัน หากเห็นด้วยโปรดช่วยกันกระพือตามศักยภาพครับ

นโยบายด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการเกษตร แบบบูรณาการที่ยั่งยืน

 

ข้อมูลและแนวคิดพื้นฐาน:  

ปีพศ. ๒๕๕๒ ประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติประมาณ ๙ ล้านล้านบาท หากนำมาเฉลี่ยอย่างเท่าเทียมกันโดยประเมินว่าครอบครัวหนึ่งมีสมาชิก 5 คน แต่ละครอบครัวจะมีรายได้เดือนละประมาณ 6 หมื่นกว่าบาท ซึ่งนับเป็นรายได้ที่ดีมากทีเดียว แต่ความเป็นจริงนั้นส่วนใหญ่ในภาคอีสานครัวเรือนจะมีรายได้เพียงประมาณ  4 พันบาทเท่านั้นเอง ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าวถึงกว่า 15 เท่า ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยส่วนใหญ่จึงแร้นแค้นมาก ทั้งที่ประเทศมีรายได้สูงในภาพรวม

รายได้จริงที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากนี้มีสาเหตุใหญ่มาจากการกระจุกตัวของรายได้ประชาชาติอยู่กับกลุ่มคนเพียงสองกลุ่มคือ กลุ่มนายทุนต่างชาติซึ่งมีรายได้ประมาณ 70% (ข้อมูลนี้ข้าฯเป็นคนแรกที่นำเสนอในปีพศ. ๒๕๔๓  จากนั้นได้รับการยืนยันจากคำปราศรัยของอดีตรัฐมนตรีฯคลังเมื่อพศ. ๒๕๔๙) และกลุ่มมหาเศรษฐี 15 ตระกูลของประเทศไทยซึ่งคาดว่ามีรายได้ประมาณ 15% ส่วนคนไทย 60 ล้านคนทั้งประเทเทศมีรายได้รวมเพียง 15% ของรายได้ทั้งหมดเท่านั้นเอง

ดังนั้นประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนสูงที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมจึงมีโสเภณีมากเหมือนเช่นประเทศในลักษณะเดียวกันเช่น ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก และโคลอมเบีย เพราะเชื่อได้ว่าโสเภณีไม่ได้เกิดจากความยากจน แต่เกิดจากช่องว่างทางเศรษฐกิจ ดังจะเห็นว่าประเทศที่ประชาชนจนเท่ากันหมดก็ไม่ค่อยมีโสเภณี (เช่นในอาฟริกา) และประเทศที่คนรวยเท่ากันหมดก็ไม่ค่อยมีโสเภณี (เช่นในยุโรป)

 ปฐมเหตุแห่งความบิดเบี้ยวอย่างมหันต์ของการกระจายรายได้นี้เกิดจากที่ผ่านมา 50 ปี รัฐบาลไทยภายใต้ระบบการเมืองได้ใช้วิธี “รวยลัด” ในการพัฒนาประเทศ ด้วยการเชื้อเชิญให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนทำอุตสาหกรรมในประเทศได้อย่างง่ายดาย โดยมีเครื่องล่อมากมาย เช่น แรงงานราคาถูก การลดภาษีวัตถุดิบนำเข้า ส่งออก ศุลกากร เงินได้นิติบุคคล ฯลฯ จนโรงงานอุตสาหกรรมต่างชาติมาตั้งกันมากตามปริมณฑลกทม. และชายฝั่งทะเล  จนรายได้ของพวกนักลงทุนเหล่านี้มีปริมาณถึง 70% ของรายได้ประชาชาติ  (GDP) ทั้งหมดของประเทศไทย  

การพัฒนาประเทศโดยวิธีรวยลัด พึ่งผู้อื่น ไม่พึ่งตนเอง ตามรูปแบบการเมืองเก่านี้ยังมีปัญหาหนักอีกหลายประการตามมา เช่น

 

  • 1. สัดส่วนของทุนต่างชาติที่มากเกินไปย่อมครอบงำเศรษฐกิจชาติโดยปริยาย โดยเฉพาะในสังคมที่อ่อนแอทางการเมืองเช่นประเทศไทย พวกเขาอาจ “ลงขัน” ด้วยเงิน “เพียงเล็กน้อย” เพื่อเปลี่ยนโยบาย กฎหมาย แม้แต่รัฐบาลของเราได้ทุกเมื่อ ในราคาพศ. ๒๕๕๑ ถ้าพวกเขาลงขันกันเพียง 0.1% ของรายได้ ก็จะได้เม็ดเงินถึง 6,000 ล้านบาท ซึ่งสามารถใช้ซื้อเสียงเลือกตั้งเพื่อจัดตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดที่มีเสียงข้างมากได้อย่างสบาย
  • 2. คนสัญชาติไทยไม่อาจพัฒนาตนขึ้นเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรมได้ เพราะต่างชาติมีทุนและเทคโนโลยีสูงและยังได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยดังกล่าวแล้ว เช่น ถ้าคนไทยคิดอยากจะเป็นเจ้าของโรงงานผลิตกระดาษเช็ดก้น ก็คงเจ๊ง เพราะยี่ห้อต่างชาติอันหลากหลายครองตลาดหมดแล้ว จะไปทำตลาดสู้เขาไม่ได้ รวมไปถึงดินสอ ปากกา ไม้บรรทัด แว่นตา เข็มขัด รองเท้า ยาสีฟัน ยาสระผม สบู่ เราคนไทยทั้งหลายจึงหมดหนทางทำมาหากิน เป็นได้แต่เพียงลูกจ้างในโรงงานต่างชาติเท่านั้น ดูเหมือนว่าอาชีพการผลิตที่คนไทยพอทำได้โดยไม่ต้องแข่งกับอุตสาหกรรมต่างชาติจะเหลืออยู่เพียงไม่กี่อาชีพ เช่น อาชีพผลิตโลงศพ และดอกไม้จันท์ (เอาไว้เผาศพตัวเอง และเป็นสัญลักษณ์ว่าคงต้องเผาศพประเทศไทยสักวันหนึ่งหากยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านเศรษฐกิจแบบพึ่งผู้อื่นเช่นนี้)
  • 3. คนไทยต้องโง่ขึ้นทุกวันเนื่องจากสมองไม่ได้ออกกำลังเท่าที่ควร จากการที่ไม่รู้จักคิดทำด้วยตัวเองในการสร้างชาติ คอยแต่พึ่งคนต่างชาติเช่นนี้ นานวันไปอีกสักหนึ่งรุ่นมนุษย์ไอคิวชาวไทยอาจต่ำที่สุดในโลกก็เป็นได้ (ขณะนี้ก็ต่ำมากแล้ว)
  • 4. มลภาวะจากอุตสาหกรรม จะก่อปัญหาเชิงสุขภาพในระยะยาวอย่างไร และคิดเป็นมูลค่าเท่าใด หักคิดบัญชีในประเด็นนี้ด้วยประเทศไทยจะขาดทุนอีกเท่าใด มลภาวะยังทำให้สมองเสื่อมและไอคิวต่ำกว่าปกติอีกด้วย
  • 5. การพัฒนาแบบนี้ไม่มั่นคงและไม่ยั่งยืนอย่างยิ่ง ถ้าเกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ (ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว) พวกเขาจะถอนทุนหมด คนจะตกงานนับสิบล้าน รัฐบาลก็ไม่มีรายได้หรือทุนสำรองเพียงพอที่จะรองรับวิกฤต ความทุกข์มหันต์จะเกิดขึ้นกับสังคมอย่างไม่เคยพบมาก่อน เพราะเมื่อก่อนหากมีปัญหายังมีภาคการเกษตรเป็นหยุ่นกันกระแทก แต่บัดนี้ภาคเกษตรก็กำลังล่มสลาย ทิ้งไร่ทิ้งนามาเป็นลูกจ้างขายแรงงานกันหมดแล้ว
  • 6. สถาบันครอบครัวในชนบทซึ่งเป็นฐานรากของสังคมถูกสั่นคลอนอย่างหนักจากการที่หัวหน้าครอบครัวทิ้งไร่นาไปขายแรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างชาติ ปล่อยให้ลูกเล็กถูกเลี้ยงดูไปตามยถากรรมโดยปู่ย่าตายาย โดยต่างก็หวังว่าสักวันหนึ่งจะหอบเงินฟ่อนกลับมาบ้านเกิด แต่อนิจจาสิ่งที่พวกเขาได้หอบกลับมาเยี่ยมบ้านท่ามกลางอุบัติเหตุของท้องถนนอันคับคั่งปีละสองครั้งตอนช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์คือโรคพิษสุราเรื้อรังที่พวกเขาพัฒนาขึ้นมาเนื่องจากความเครียด ความหว้าเหว่ และความจน จนประเทศไทยก้าวขึ้นติดอันดับที่ห้าของโลกในการจัดอันดับการดื่มสุราของพลเมือง ก็มันจะร่ำรวยอะไรได้กับการขายแรงงานวันละ 180 บาท (สองคนผัวเมีย 360 บาท) ในเมื่อมีค่าใช้จ่ายมากมาย เช่น ค่าที่พัก(เมื่อก่อนอยู่บ้านตัวเองก็ไม่ต้องจ่าย) อาหาร(เมื่อก่อนหาเก็บผักจิ้มริมรั้วและหัวคันนา) เดินทาง และแน่นอนค่าเหล้า รวมทั้งค่าโสหุ้ยสังคมเมืองจิปาถะต่างๆ
  • 7. การที่จะไปง้อให้ต่างชาติมาลงทุนนั้นรัฐบาลก็ต้องเจียดงบประมาณชาติ รวมทั้งไปกู้เงินมาจากต่างชาติเพื่อมาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนน ท่าเรือ เพื่อรองรับการเข้ามาตักตวงความร่ำรวยของบรรษัทข้ามชาติเหล่านี้ และต้องขายสาธารณูปโภคเหล่านี้ให้พวกเขาแบบถูกๆ ตามราคารัฐวิสาหกิจอีกต่างหาก ถามว่าใคร..ที่จะต้องเสียภาษีจ่ายงบประมาณ รวมทั้งจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยเพื่อใช้หนี้เงินกู้ระยะยาวเหล่านี้ ถ้าไม่ใช่ลูกหลานคนไทยในอนาคต ซึ่งตอนนั้นโรงงานพวกนี้ก็คงย้ายฐานการลงทุนไปที่อื่นที่สามารถเอาเปรียบได้มากกว่าประเทศไทยแล้วก็เป็นได้
  • 8. รัฐต้องลงทุนด้านการศึกษาจำนวนมาก เพื่อผลิตบัณฑิต (ลูกจ้าง) ป้อนโรงงานต่างชาติ ถือเป็นการลงทุนราคาแพงเพื่อมาสร้างแรงงานราคาถูกเพื่อเป็นฐานสร้างความร่ำรวยให้พวกเขาขนออกไปยังประเทศแม่ หากคิดต้นทุนด้านนี้จะเห็นว่าความคุ้มทุนก็ลดลงไปอีกระดับ อาจถึงขาดทุนด้วยซ้ำไป

 

เห็นได้ว่าการพึ่งคนอื่นโดยไม่พึ่งตนเองนั้นส่งผลเสียหายแบบบูรณาการไปทุกมิติของชีวิต หากไม่เกิดการเมืองใหม่และวิสัยทัศน์ใหม่ในการวางแผนพัฒนา ประเทศไทยจะไม่อาจหลุดพ้นจากพันธนาการนี้ได้เลย ปัญหาสำคัญที่สุดคือผู้นำพรรคการเมืองเก่าทั้งหลายไม่ตระหนักในปัญหาด้วยซ้ำ กลับซ้ำเติมประเทศด้วยการแข่งกันขายนโยบายเพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามามากขึ้นทุกปี

ปริมาณ (และคุณภาพ) ของการเข้ามาของทุนต่างชาติที่พอดี พอเหมาะ พอควร น่าจะเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ แต่การปล่อยให้เข้ามาจนมากเกินไปเช่นนี้ แบบสะเปะสะปะ โดยไม่มียุทธศาสตร์ชาติรองรับ นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

การพัฒนาประเทศให้มั่งคั่งอย่างยั่งยืนและพอเพียงจำเป็นต้องมีปรัชญาเศรษฐศาสตร์ที่ถูกต้องและฐานรากด้านการผลิตที่เหมาะสมรองรับ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทุกวันนี้เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย เกาหลี ไต้หวัน ต่างวางฐานรากการพัฒนาประเทศด้วยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นของตนเองทั้งสิ้น ผิดจากประเทศไทยที่มีฐานรากด้านนี้ดีพอควรอยู่แล้วในอดีต แต่กลับพากันละทิ้งการเกษตรด้วยความรังเกียจ ทั้งนี้โดยการชี้นำโดยปริยายของรัฐบาลในระบบการเมืองเก่า จนบัดนี้ไม่มีนักศึกษาที่มีศักยภาพจะเลือกเรียนวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอีกแล้ว หันไปเรียนด้านอุตสาหกรรมเพื่อไปเป็นลูกจ้างในโรงงานต่างชาติกันเสียหมด วิชาการด้านเกษตรของเราจึงยิ่งตกต่ำกว่าปกติ จนบัดนี้ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยล้าหลังกลับแซงหน้าเราด้านผลผลิตการเกษตรไปแล้ว ตรงกันข้ามในสหรัฐฯมีมหาวิทยาลัยวิจัยชั้นนำด้านการเกษตรมากมาย เช่น คอร์เนล อิลลินอยส์ ยูซีเดวิส

นักการเมืองเก่าไม่อาจรู้ได้เลยว่าธุรกิจการเกษตรนั้นสามารถสร้างความมั่งคั่งให้ชาติได้มหาศาล ดังเช่นสหรัฐฯ นั้น แม้จะมีจำนวนเกษตรกรเพียงประมาณ 1.8% ของประชากรทั้งหมด แต่กลับมีปริมาณแรงงานที่อิงอยู่กับวงจรการเกษตรถึง 30% ของคนทั้งประเทศ (รวมนักวิจัยด้านการเกษตร) ซึ่งหากไม่คิดภาคบริการถือว่าเป็นภาคแรงงานที่ใหญ่ที่สุด  จึงไม่เกินความจริงที่จะกล่าวว่าสหรัฐฯยังคงเป็นประเทศเกษตรกรรม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ล้วนแต่เป็นประเทศเกษตรกรรมทั้งสิ้น ส่วนไทยเราขณะนี้รัฐบาลการเมืองเก่าและนักวิชาการเก่าต่างพูดกันอย่างภาคภูมิใจว่าสินค้าอีเล็กทรอนิกส์และยานยนต์สร้างรายได้ให้ประเทศได้มากกว่าสินค้าเกษตรมาก แต่ลืมไปว่ามันเป็นรายได้ของนายทุนต่างชาติเสียเกือบทั้งหมด และที่สำคัญเป็นเพราะนักการเมืองเก่าโง่เขลาไม่รู้จักสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตผลการเกษตรต่างหาก

ด้วยปัญหาและความเสียหายอันหลากหลายที่ระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมแบบเก่าได้ก่อให้เกิดกับประเทศไทยดังที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น  จึงได้วางนโยบายในการพัฒนาประเทศเสียใหม่เพื่อให้นำมาซึ่งความมั่งคั่งที่ยั่งยืนและพอเพียงของสังคมไทย โดยได้คำนึงถึงการบูรณาการกันของนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเกษตร อุตสาหกรรม คมนาคม พลังงาน และกุโศลบายรูปแบบต่างๆ  ดังนั้นจึงได้จัดแบ่งนโยบายดังกล่าวเป็น 3 กลุ่ม ใน 20 ประเด็น ที่เชื่อมโยงเสริมพลังระหว่างกัน ดังนี้

 

๑. สร้างหรือเพิ่มรายได้ให้พลเมืองไทยอย่างยั่งยืน พอเพียง พร้อมพัฒนาภูมิคุ้มกันให้ประเทศ

  • 1. พัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมระดับตำบลขึ้นทั่วประเทศ
  • 2. จัดตั้งเครือข่ายร้านค้าปลีกแบบสหกรณ์ทุกตำบลทั่วประเทศ
  • 3. ปรับการเกษตรและปศุสัตว์ให้เป็นแบบชีวภาพ 100% ภายใน 8 ปี
  • 4. ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ได้เกณฑ์มาตรฐานสากลภายใน 8 ปี
  • 5. เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรก่อนส่งออกขายต่างประเทศ
  • 6. เพิ่มมูลค่าสินค้าจากอุตสาหกรรมประมง
  • 7. พัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่มีศักยภาพเดิมอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
  • 8. พัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจ
  • 9. ปรับนโยบายด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้คนไทยมีรายได้มากขึ้น
  • 10. พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติ

 

๒. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจการเกษตรและอุตสาหกรรม

  • 11. พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เกษตร อาหาร
  • 12. การชลประทานทั่วถึงทั้งประเทศแบบบูรณาการ
  • 13. เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมแบบบูรณาการ
  • 14. พัฒนาและผลิตพลังงานยั่งยืน

 

๓. กุศโลบายและมาตรการสนับสนุนทางอ้อมเพื่อความมั่งคั่ง ยั่งยืน และพอเพียงทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

  • 15. ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำลายล้างมาเป็นทุนนิยมพอเพียง
  • 16. กำหนดเพดานรายได้ประชาชาติ (GDP) ไม่ให้สูงเกินไป
  • 17. เพิ่มรายได้ของพลเมืองไทยให้ได้สัดส่วน 60% ของรายได้ประชาชาติภายใน 8 ปี
  • 18. กระจายโรงงานอุตสาหกรรมออกสู่ท้องถิ่น
  • 19. กำหนดสัดส่วนประชากรในแต่ละกลุ่มอาชีพ
  • 20. กำหนดปริมาณขั้นต่ำของพื้นที่ทำเกษตรกรรมของครัวเรือน

 

รายละเอียดของแต่ละประเด็นในแต่ละกลุ่มดังนี้

 

๑. สร้างหรือเพิ่มรายได้ให้พลเมืองไทยอย่างยั่งยืนพร้อมพัฒนาภูมิคุ้มกันให้ประเทศ

  

•1.      พัฒนาโรงงานอุตสาหกรรมระดับตำบลขึ้นทั่วประเทศ

  

คำอธิบาย: โรงงานเหล่านี้จะสร้างรายได้ที่ดี มีศักดิ์ศรี ให้ประชาชนในท้องถิ่น ไม่ต้องพึ่งเงินแจกซึ่งทำลายศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์จากนักการเมืองเก่าอีกต่อไป  และยังจะเป็นรากฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมของคนไทยอย่างยั่งยืนในระยะยาวต่อไป ความยั่งยืนเกิดขึ้นเพราะใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นและใช้แรงงานในท้องถิ่น ไม่ได้หวังเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนบริษัทขนาดใหญ่ของนายทุนซึ่งเป็นวิถีที่ไม่ยั่งยืน ยังเป็นห้องทดลองทางความคิดให้คนไทยรู้จักคิดค้นนวัตกรรมด้านการผลิต การออกแบบ การเพิ่มประสิทธิภาพ และการบริหารอีกด้วย แทนที่จะเป็นเพียงลูกจ้างแรงงานของต่างชาติที่ไม่ได้ใช้สมองคิดค้นอะไรมากนัก นอกจากนี้ยังช่วยตรึงคนไว้ในท้องถิ่น ภูมิใจในท้องถิ่น ไม่อพยพไปขายแรงงานในนิคมอุตสาหกรรม (ของต่างชาติ) ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตต่ำและต้องพลัดพรากจากลูกเต้า

 

วิธีดำเนินการ: ออก พรบ. งบประมาณผูกพันระยะยาวเพื่อดำเนินการในรูปรัฐวิสาหกิจที่รัฐเข้าไปร่วมทุนกับประชาชนในท้องถิ่นแบบมีการร่วมบริหารจากภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นเพียงที่ปรึกษาและผู้ประสานงานด้านเทคโนโลยีข้อมูลต่างๆ สำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีทุนให้ถือเอาแรงงานเป็นการลงทุน และมีการปันผลกำไรตามสัดส่วนอย่างยุติธรรม กิจการที่โรงงานเหล่านี้จะทำส่วนใหญ่จะเป็นการแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหลาย เพื่อการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก อย่างไรก็ดีในบางท้องที่อาจปรับไปเป็นอุตสาหกรรมได้หลากหลายตามความเหมาะสม เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องหนัง เครื่องจักกรกลการเกษตร เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ เป็นต้น

 

•2.      จัดตั้งเครือข่ายร้านค้าปลีกแบบสหกรณ์ทุกตำบลทั่วประเทศ

  

คำอธิบาย: การค้าปลีกมีผลกระทบมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ ทุกวันนี้ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ของต่างชาติได้เข้ามากอบโกยกำไรออกนอกประเทศปีละมหาศาลโดยการเมืองเก่าไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือประเทศชาติเลย หากปล่อยให้เป็นดังนี้ไปเรื่อยจะส่งผลเสียมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจประเทศไทย เพราะเงินถูกสูบออกแทนที่จะกลับไปไหลเวียนหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทย เราสามารถสู้กับระบบนี้ได้ในระดับหนึ่งด้วยการจัดตั้งร้านค้าปลีกในระดับตำบลทั่วประเทศ เพื่อสกัดเงินไม่ให้ทะลักออกนอกประเทศ แต่หมุนเวียนหล่อเลี้ยงท้องถิ่นไทยได้หลายรอบ ร้านค้าเหล่านี้ยังจะเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตโดยโรงงานตำบลในข้อ 1 อีกด้วย รวมทั้งช่วยสร้างงานในท้องถิ่น

 

 

วิธีการ: จัดตั้งร้านค้าปลีกในทุกตำบลโดยอาจทำในรูปแบบสหกรณ์ที่รัฐคอยช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีการบริหารจัดการสมัยใหม่ ส่วนการลงทุนให้ร่วมทุนกันระหว่างรัฐและประชาชนในท้องที่โดยอาจให้สิทธิเจ้าของกิจการโชว์ห่วยในหัวเมืองร่วมลงทุนด้วย ต้องมีการจัดตั้งโกดังผ่องถ่ายสินค้าที่เป็นเครือข่ายทั่วประเทศอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพเพื่อลดค่าใช้จ่าย มีรูปแบบร้านค้าที่ทันสมัย สะดวก และดึงดูดใจลูกค้าเพื่อการแข่งขัน

 

•3.      ปรับการเกษตรและปศุสัตว์ให้เป็นแบบชีวภาพ 100% ภายใน 8 ปี

  

คำอธิบาย: ประจักษ์ชัดแล้วว่าการเกษตรแบบตะวันตกที่ใช้สารเคมีเป็นหลักเป็นวิถีทางที่ไม่ยั่งยืนและยังเป็นพิษต่อการดำรงชีวิต ผลผลิตเกษตรชีวภาพจะเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอุตสาหกรรมท้องถิ่นที่จะพัฒนาขึ้นทั่วประเทศ (นโยบายข้อ 1) ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยอย่างมากในอนาคต เนื่องเพราะแนวโน้มการบริโภคอาหารของคนในอารยประเทศจะเป็นแนวชีวภาพทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาดี อีกทั้งยังถือเป็นการกุศลที่ช่วยให้คนไทยและคนทั่วโลกได้บริโภคอาหารที่ไร้สารเคมี ประเทศไทยจะได้รับการยกย่องไปทั่วโลกอีกด้วย (ได้ทั้งเงินและกล่อง)

 

วิธีดำเนินการ: ในระหว่าง 8 ปีนี้ให้มีการเตรียมความพร้อมด้านมาตรการการบริหารจัดการ การศึกษาวิจัย การทดลอง โดยต้องร่วมมือกับภาคการศึกษาด้วย

 

•4.      ปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำให้ได้มาตรฐานสากลภายใน 8 ปี

  

คำอธิบาย: ทุนนิยมทำลายล้างข้ามชาติได้กดขี่ขูดรีดแรงงานชาวไทยมานานแล้ว ภายใต้การสมยอมของรัฐบาลการเมืองเก่า ทำให้แรงงานไทยประมาณ 10 ล้านคนอยู่ในสถานะยากจน ทั้งที่ทำงานชนิดเดียวกับแรงงานในประเทศพัฒนาแล้ว (เช่นประกอบรถยนต์) พึงเข้าใจด้วยว่าค่าแรงที่ต่ำเกินไปจะทำให้ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีเท่าที่ควร เนื่องเพราะประชาชนขาดกำลังซื้อ ดังนั้นการเพิ่มค่าแรงให้เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยเกินไป เป็นผลดีทั้งแก่นายจ้างและลูกจ้าง จากการเปรียบเทียบค่าแรงและค่าครองชีพกับประเทศทั่วโลก  ค่าแรงขั้นต่ำของไทยควรปรับจากกวันละ 200 บาทมาเป็นวันละ 600 บาท (ในสหรัฐฯ ขณะนี้วันละประมาณ 2,500 บาท)   

  

วิธีการ: แน่นอนว่าเราคงทำลำพังไม่ได้เพราะนายทุนทั้งเทศและไทยจะต่อต้าน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ถ้าเราขึ้นค่าแรงเขาก็จะขู่ว่าจะย้ายฐานไปเวียตนาม จีน กันหมด ซึ่งนี่คือผลร้ายของการพึ่งคนอื่นที่ทำให้เราต้องเป็นเบี้ยล่างเขาตลอดไป แต่เชื่อว่าหากรัฐบาลชาญฉลาดจะยังสามารถทำได้ ทั้งนี้ด้วยการเสนอเรื่องนี้เป็นมาตรการที่ประเทศอาเซียนจะใช้ร่วมกัน และให้จีนร่วมลงนามด้วย ซึ่งเป็นผลประโยชน์กับทุกประเทศ ถ้าทำได้แบบนี้บริษัทก็ไม่อาจย้ายไปไหนได้  ถ้าจะให้ดีที่สุดต้องผลักดันให้ยูเอ็นประกาศเป็นนโยบายสากลทั่วโลก ซึ่งเชื่อว่ายูเอ็นจะเห็นด้วยถ้าเรารู้จักอธิบายให้ยูเอ็นเข้าใจว่าจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม เพราะทำให้ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนามีกำลังซื้อสินค้ามากขึ้น(เพราะค่าแรงมากขึ้น) ซึ่งทำให้ประเทศพัฒนาแล้ว (ผู้มีอำนาจในยูเอ็น) ขายสินค้าได้มากขึ้น  (นโยบายคล้ายกันนี้องค์การอังถัดของยูเอ็นก็กำลังผลักดันอยู่ แต่ไปดันผิดที่ด้วยการจะส่งเสริมให้ประเทศกำลังพัฒนาได้สร้างอุตสาหกรรมใหม่ให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีกำลังซื้อ(สินค้าของพวกเขา)มากขึ้น)

 

•5.      เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรก่อนส่งออกขายต่างประเทศ

  

คำอธิบาย: ผลิตผลการเกษตรไทยเราทุกวันนี้ส่วนใหญ่ยังส่งออกขายต่างประเทศแบบดิบๆ เช่น มันสำปะหลัง ยางพารา ข้าว ถ้ารู้จักเพิ่มมูลค่าให้ดีก่อนส่งออกขายต่างชาติ จะก่อรายได้เพิ่มขึ้นได้อีกถึง 30 เท่า เช่น มันสำปะหลังกก.ละ  2 บาท เอามาทำเป็นพลาสติกชีวภาพได้ 60 บาท  ยางพารากก. ละ 20 บาท เอามาทำยางรถยนต์ได้ 500 บาท  ข้าวโพดเอามาทำแป้งแปรรูปและสกัดสารแต่งรส นำมันปาล์มเอามาสกัดวิตามินอี เป็นต้น ประเมินได้ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้สามารถสร้างรายได้ได้มากกว่ารายได้ประชาชาติปัจจุบันของไทยเสียอีก (ซึ่ง 70% เป็นของชาวต่างชาติ)

 

วิธีการ: พัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อแปรรูปสินค้าเกษตร อาจทำเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ หรือสนับสนุนให้เอกชนไทยทำโดยรัฐค้ำประกันเงินกู้ (เพราะถือเป็นธุรกิจสนองยุทธศาสตร์ชาติ) ต้องมีการเตรียมพร้อมด้านบุคลากร การศึกษาวิจัยของมหาวิทยาลัยไทยต้องปรับใหญ่เพื่อรองรับนโยบายนี้ (ขณะนี้นโยบายการศึกษาไทยก็ไร้ระบบ ผลิตบัณฑิตออกไปเพื่อเป็นลูกจ้างโรงงานต่างชาติเป็นหลัก หรือไม่ก็ฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมทำงานวิจัยแบบเลิศลอยฟ้าเกินไป)

 

 

 

•6.      เพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมประมง

  

คำอธิบาย: การประมงเป็นทั้งแหล่งอาหารและแหล่งรายได้จากการส่งออกที่สำคัญของประเทศ ต้องมีการใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ

 

วิธีการ: ให้การช่วยเหลือด้านวิจัย พัฒนา ต่อเอกชน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ในการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้อาหารทะเลก่อนส่งออกขาย การใช้เทคโนโลยีใหม่ในการถนอมอาหาร อนุรักษ์แหล่งวางไข่ของปลา เช่น ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน เป็นพิเศษ เพื่อความยั่งยืนของการประมงไทย รวมถึงการบูรณาการกับอุตสาหกรรมต่อเรือประมง ให้ไทยสามารถส่งออกเรือประมงไปขายได้ทั่วโลก

 

•7.      พัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะทางที่มีศักยภาพเดิมอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น

  

คำอธิบาย:  น่าสังเกตว่าขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นฐานอุตสาหกรรมบางอย่างที่มีศักยภาพพอที่จะขยายกิจการเพื่อสร้างงานและรายได้ชั้นดีให้กับประชาชนได้อีกมาก แต่รัฐกลับไม่ส่งเสริม หันไปส่งเสริมแต่อุตสาหกรรมต่างชาติ เช่น

  • เครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กซึ่งมีผู้ผลิตรายย่อยกว่า 500 รายกระจายอยู่ทั่วประเทศ
  • อุตสาหกรรมต่อเรือประมงจำนวนมากกระจายอยู่ตลอดแนวชายฝั่ง สามารถต่อเรือประมงขนาด 200 ตันได้ แต่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากรัฐบาลเลย
  • แม้แต่อุตสาหกรรมสีข้าวซึ่งมีกว่า 20,000 โรงและมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจชาติมากก็ไม่มีมหาวิทยาลัยแม้แต่แห่งเดียวเปิดสอนวิชาสีข้าว
  • อุตสาหกรรมต่อรถบัส รวมทั้งการผลิตเครื่องยนต์เองในประเทศ เพื่อความพอเพียง พึ่งตนเองได้ในสินค้าสำคัญนี้

  

วิธีการ: สำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมของคนไทยที่มีศักยภาพ และสอดคล้องกับศักยภาพของประเทศ จากนั้นให้การสนับสนุนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะด้านการวิจัย พัฒนา การตลาด โดยประสานกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ

 

•8.      พัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจ

 

คำอธิบาย: ประเมินได้ว่าการปลูกป่าไม้เนื้อแข็งเช่นไม้สัก ไม้ชิงชัน อาจทำรายได้ดีกว่าการปลูกข้าวถึง 20 เท่า และยังส่งผลดีต่อระบบนิเวศด้วย เพียงแต่ว่าต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปให้เป็นเฟอร์นิเจอร์ชั้นดีราคาแพงก่อนส่งออกขายทั่วโลก (ในขณะที่เพิ่มมูลค่าข้าวได้ไม่สูงนัก) ประเมินได้ว่าการปลูกป่า 10 ล้านไร่สามารถสร้างรายได้อย่างน้อยปีละ 1 ล้านล้านบาท ในขณะที่ปลูกข้าวจะได้เพียง 5 หมื่นล้านบาท

 

วิธีการ: รัฐยึดคืนพื้นที่สูงบนเขาและเชิงเขาที่ถูกประชาชนบุกทำลายทั่วประเทศ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีกว่า 10 ล้านไร่ แล้วปลูกป่า 20 ปี แต่ละปีจะตัดมาป้อนอุตสาหกรรมเพียง 5 แสนไร่เท่านั้น ซึ่งป่าที่เหลือจะช่วยอุ้มความชุ่มชื้นอีกด้วย ต้องเตรียมความพร้อมด้านการผลิตช่างไม้ฝีมือดีทั่วประเทศ ซึงจะเป็นการสร้างอาชีพที่มีรายได้ดีให้กับคนไทยจำนวนมาก ป่าเหล่านี้ให้ประชาชนร่วมเป็นเจ้าของด้วย  อีกทางหนึ่งคือการส่งเสริมให้ชาวนาในเขตที่มีผลผลิตต่ำ (เช่นอีสานที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ) เปลี่ยนอาชีพมาปลูกป่าเศรษฐกิจแทนการทำนา แต่รัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือในช่วง 19 ปีที่ไม้เนื้อแข็งยังไม่ให้ผลผลิต เช่นตั้งโรงงานอุตสาหกรรมตำบลเพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้เนื้ออ่อนไปพลางก่อน ซึ่งเป็นการพัฒนาฝีมือแรงงานไปด้วยในตัว

 

•9.      ปรับนโยบายด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้คนไทยมีรายได้มากขึ้น

 

คำอธิบาย: อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่นักการเมืองเก่าภูมิใจกันหนักหนาก็ไม่ต่างจากอุตสาหกรรมอื่นที่รายได้ส่วนใหญ่ตกอยู่กับนายทุนต่างชาติในรูปของค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่าบริการทัวร์ ส่วนคนไทยมีรายได้จากการเป็นบ๋อยโรงแรม ยาม แม่บ้าน และนวดฝ่าเท้าตามชายหาดเท่านั้น อาชีพราคาแพงเช่นผู้จัดการโรงแรม ร้านอาหารโรงแรมเป็นของต่างชาติหมด (แม้แต่กุ๊ก) โรงแรมขนาดใหญ่ของต่างชาติที่มาตั้งยังมีราคาระดับสากล ซึ่งแพงมาก ทำให้ประเทศไทยไม่ได้เปรียบประเทศอื่นเท่าที่ควรในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว

 

วิธีการ: ออกกฎหมายห้ามสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้ไม่คุ้มทุนในการลงทุนข้ามชาติ ดังนั้นโรงแรมส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กถึงปานกลางและเป็นของคนไทยในท้องถิ่นโดยปริยาย ยังเป็นการกระจายนักท่องเที่ยวออกไปในพื้นที่กว้าง ไม่กระจุกตัวหนาแน่นเกินไปในบางแห่ง ซึ่งก่อผลเสียต่อระบบนิเวศ อีกทั้งช่วยกระจายความเจริญและรายได้ ลดช่องว่างทางเศรษฐกิจในสังคมได้อีกด้วย

 

•10.  พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติ

คำอธิบาย: มีอุตสาหกรรมจำนวนหนึ่งที่ควรกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ชาติ แต่กลับตกอยู่ในมือของต่างชาติเสียหมด ซึ่งรัฐควรต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษ เช่น

  • ปุ๋ย ซึ่งควรทำเป็นปุ๋ยชีวภาพให้หมดเพื่อสนองยุทธศาสตร์ชีวภาพ และให้มีโรงงานอุสาหกรรมตำบลผลิตปุ๋ยกระจายอยู่ทั่วประเทศ
  • ยาปราบศัตรูพืช อาจยังจำเป็นต้องมียาชีวภาพใช้อยู่บ้างแม้จะยกเลิกยาเคมีแล้ว
  • เมล็ดพันธุ์ เป็นสิ่งสำคัญมากที่รัฐควรเข้ามาเกี่ยวข้องเนื่องเพราะเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลผลิตการเกษตร

 

วิธีการ: ระดมสมองและข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดอุตสาหกรรมต่างๆที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้

 

๒.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจการเกษตรและอุตสาหกรรม

 

  • 11. พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ เกษตร และอาหาร

  

 คำอธิบาย:  การเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารที่เป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจระบบใหม่นี้  ล้วนต้องการเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อเป็นหัวหอกในการสร้างคุณภาพและนวัตกรรมของสินค้า เพื่อความเข่งขันได้ในตลาดโลก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาให้เข้มแข็งที่สุด อนึ่ง เกาหลีได้ประกาศให้เทคโนฯชีวภาพเป็นวาระในการปฏิวัติประเทศระลอกใหม่ไปแล้ว ส่วนไต้หวันก็บรรจุเป็นวาระแห่งชาติ ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีความหลากหลายและความอุดมทางชีวภาพมากที่สุดกว่าใครในโลก ควรต้องสร้างศักยภาพด้านนี้ของเราให้เข้มแข็งที่สุด

  

วิธีการ: ขยายองค์การวิจัยของรัฐทางด้านนี้ และมอบนโยบายให้มหาวิทยาลัยทำงานวิจัยทางด้านนี้พร้อมงบสนับสนุนเป็นการเฉพาะ โดยต้องเชื่อมโยงไปสู่การเกษตรชีวภาพและอุตสาหกรรมการเกษตรได้ด้วย

 

•12.  การชลประทานทั่วถึงทั้งประเทศแบบบูรณาการ

 

คำอธิบาย: ที่ผ่านมาการชลประทานทำกันแบบแยกส่วน เป็นเบี้ยหัวแตก ไร้ประสิทธิภาพ แต่นโยบายใหม่นี้จะพัฒนาแบบบูรณาการในระดับกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด นำสู่การเพิ่มผลผลิตและรายได้ที่พอเพียงของเกษตรกร ผลพวงของการพัฒนาแหล่งน้ำ ยังใช้ในการขนส่งสินค้าทางเรือได้ เป็นแหล่งสัตว์น้ำเพื่อบริโภคและนันทนาการของประชาชนในท้องถิ่นอีกด้วย อาจใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้อีกโสดหนึ่ง

 

วิธีการ:  ออก พรบ. ผูกพันงบประมาณระยะยาว เพื่อขุดคลองก้างปลาทั่วประเทศระยะทางนับแสนกิโลเมตร เพื่อเชื่อมแม่น้ำลำคลองต่างๆเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ เพื่อสามารถชดเชยปริมาณน้ำแก่กันได้ ทำการกักเก็บน้ำไว้ในแหล่งภูมิประเทศที่เป็นแอ่งซึ่งสำรวจจากข้อมูลดาวเทียม (มีการขุดเสริมตามสมควร)

 

•13.  เพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมแบบบูรณาการ

 

คำอธิบาย: การขนส่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจชาติเพราะเป็นต้นทุนในราคาสินค้า  ที่ผ่านมาการขนส่งเน้นไปที่ระบบถนน ซึ่งเป็นการขนส่งที่มีราคาแพงที่สุดในด้านเชื้อเพลิงและการซ่อมบำรุงถนนและรถยนต์ขนส่ง ดังนั้นจะเน้นไปที่การพัฒนาการขนส่งระบบรางให้ทั่วประเทศ เพราะค่าโสหุ้ยถูกกว่าระบบถนนนับสิบเท่า และยังมีผลดีโดยอ้อมอีกมาก เช่น ลดความแออัดและอุบัติเหตุบนท้องถนน  ลดมลพิษ

 

วิธีการ: 1) สำรวจเส้นทางที่เหมาะสม สร้างถนน รางรถไฟ (รางเดี่ยวและคู่) และ ลำคลองชลประทาน โดยให้เกิดการเชื่อมโยงกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งถ่ายสินค้าให้มากที่สุด เช่น ลำคลองเชื่อมถึงสถานีรถไฟ โดยไม่ต้องผ่านถนน เป็นต้น

           2) รัฐออกมาตรการให้เอกชนหันมาใช้รถไฟในการขนส่งสินค้า พร้อมพัฒนาการบริหารจัดการกิจการรถไฟให้มีคุณภาพ คุ้มราคาค่าขนส่ง

  

•14.  พัฒนาและผลิตพลังงานยั่งยืน

  

คำอธิบาย: พลังงานเป็นปัจจัยสำคัญต่อเศรษฐกิจชาติและคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงต้องพัฒนาให้เกิดความมั่นคง และมีความยั่งยืน

 

วิธีการ: วิจัยพัฒนาวิธีการผลิตพลังงานยั่งยืนด้วยการพึ่งตนเอง โดยเฉพาะพลังงานแดด ลม พลังน้ำ (บูรณาการกับการชลประทาน) เอทานอล ไบโอแก๊ส ไม้โตเร็ว

 

๓. กุศโลบายและมาตรการสนับสนุนเพื่อความมั่งคั่ง ยั่งยืนและพอเพียงทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

 

•15.  ปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำลายล้างเสรีมาเป็นทุนนิยมพอเพียง

  

คำอธิบาย: ประจักษ์ชัดขึ้นทุกทีว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมทำลายล้างเสรีที่ก่อตั้งโดยประเทศตะวันตกและกำลังแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วจะนำโลกไปสู่ความล่มสลายในที่สุด แม้หากเพียงประเทศจีนและอินเดียมีรายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรเท่าญี่ปุ่น โลกเราก็จะล่มสลายทางระบบนิเวศแล้วเนื่องเพราะโลกมีทรัพยากรจำกัด ประเทศไทยต้องกล้าที่จะเป็นผู้นำโลกด้วยการจัดตั้งเศรษฐกิจระบบใหม่นี้ขึ้นมาให้เป็นแบบอย่าง ซึ่งองค์กษัตริย์ของเราก็ได้ทรงนำเสนอหลักการไว้เป็นอย่างดีแล้ว หากทำสำเร็จจะเป็นแบบอย่างที่นำชาวโลกไปสู่ทางรอด ซึ่งจะเป็นศักดิ์ศรีแก่ชาวไทยไปอีกแสนนาน

 

วิธีการ:  เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดเล็กในระดับตำบลที่ยั่งยืนและพอเพียง โดยไม่หวังการขยายกิจการเพื่อทำกำไรอย่างไม่สิ้นสุดเช่นระบบทุนนิยมทำลายล้างเสรี ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบสูงให้ดำเนินการโดยรัฐวิสาหกิจซึ่งสามารถควบคุมนโยบายให้พอเพียงได้ ส่วนอุตสาหกรรมระดับกลางและเล็กให้เอกชนดำเนินการได้เสรี

 

•16.  การกำหนดเพดานรายได้ประชาชาติ (GDP) ไม่ให้สูงเกินไป

คำอธิบาย: จากนโยบายหลักที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมพอเพียง จำเป็นต้องกำหนดเพดานรายได้ประชาชาติต่อหัวประชากร มิฉะนั้นจะไม่เกิดความยั่งยืนให้เป็นแบบอย่างแก่ประเทศทั่วโลก  เนื่องจากหากทุกประเทศต่างแข่งกันสร้างรายได้เพิ่มขึ้นทุกปี ในที่สุดทรัพยากรของโลกก็จะไม่เพียงพอ นำสู่การล่มสลายของระบบนิเวศโลกในที่สุด

 

วิธีการ: ศึกษาวิจัย เพื่อกำหนดเพดานรายได้ประชาชาติให้เหมาะสมสอดคล้องกับมาตรฐานการครองชีพที่ดี ในบริบทของความยั่งยืนของประเทศและของโลก ทั้งนี้ต้องทำควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ของประชาชนและการพัฒนาปรัชญาชีวิตที่เหมาะสมด้วย

 

  • 17. เพิ่มรายได้ของคนสัญชาติไทยให้ได้สัดส่วน 60% ของรายได้ประชาชาติภายใน 8 ปี

  

คำอธิบาย:  เพื่อป้องกันบรรเทาภัยทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีรายได้ของชาวต่างชาติมากเกินไป ดังที่บรรยายไว้ในข้อมูลพื้นฐาน

 

วิธีการ:  ชะลอการลงทุนจากต่างชาติ พร้อมเพิ่มรายได้ของคนไทยตามนโยบาย ข้อ 1-10

 

•18.  กระจายโรงงานอุตสาหกรรมสู่ท้องถิ่น

 

คำอธิบาย: นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ริมกทม. และริมทะเลกำลังช่วยกร่อนทำลายสังคมไทยอย่างหนัก ดังที่ได้อธิบายในข้อมูลพื้นฐานแล้ว  การกระจายโรงงานออกไปท้องถิ่นยังจะช่วยให้เกิดการกระจายรายได้และความเจริญสู่ท้องถิ่นอีกด้วย มลภาวะที่เกิดขึ้นก็มีการกระจายเฉลี่ย ไม่กระจุกแน่นเกินเกณฑ์อยู่เฉพาะพื้นที่ใกล้นิคมฯ โรงงานเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นจะช่วยเหลือสังคมมากขึ้น ท้องถิ่นก็จะรักโรงงานเพราะเป็นแหล่งรายได้

 

วิธีการ: ห้ามสร้างนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกต่อไป พร้อมสร้างมาตรการจูงใจและข้อบังคับให้ขยายโรงงาน (ทั้งต่างชาติและไทย) ออกไปยังท้องถิ่น เช่น มาตรการภาษี และกำหนดว่าก่อนอนุญาตสร้างโรงงานต้องประเมินปริมาณแรงงานในท้องที่ว่ามีเพียงพอ (เพื่อป้องกันการอพยพแรงงาน) 

 

•19.  กำหนดสัดส่วนประชากรในแต่ละกลุ่มอาชีพ

  

คำอธิบาย: เพื่อให้เกิดการสมดุลของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็น “ภูมิคุ้มกัน” ที่ดีของสังคม ประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมมากเกินไปจะขาดเสถียรภาพเมื่อระบบเศรษฐกิจโลกมีปัญหา (เช่นไต้หวัน) ส่วนประเทศที่มีเกษตรกรมากไปย่อมมีเสถียรภาพดีแต่จะเกิดปัญหาความยากจน ตัวอย่างของการกำหนดดังเช่น: อาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ประมาณ 25% อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารประมาณ 25%  อุตสาหกรรมอื่นประมาณ 10% ภาคบริการ  40%   ด้วยสัดส่วนอาชีพที่กำหนดนี้ประเทศไทยจะมีความมั่งคั่ง แต่หากเศรษฐกิจโลกมีปัญหาประเทศไทยจะได้รับผลกระทบน้อยมาก เพราะสินค้าเกษตรยังคงเป็นที่ต้องการเสมอ  ในกรณีเลวร้ายที่สุดถึงขนาดที่แม้อุตสาหกรรมเกษตรก็ต้องหยุดกิจการ ก็ยังมีเกษตรกรถึง 25% ที่จะเป็นหยุ่นช่วยรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจ หากมีเกษตรกรน้อยเพียง 2% เหมือนสหรัฐฯจะเกิดปัญหาหนักแน่นอน

  

วิธีการ: วางมาตรการ และกุศโลบายที่เหมาะสม จากการศึกษาข้อมูลเชิงสถิติและแนวโน้มของอาชีพ

 

•20.  กำหนดปริมาณขั้นต่ำของพื้นที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมของแต่ละครัวเรือน

 

คำอธิบาย: เกษตรกรที่มีที่ดินน้อยเกินไปย่อมไม่สามารถมีรายได้ที่พอเพียงได้ แต่หากมีมากเกินไปก็ไปเบียดบังโควตาของผู้อื่นและกลายเป็นระบบทุนนิยมทำลายล้างโดยปริยาย การทำเช่นนี้ผนวกกับการเพิ่มผลผลิต นโยบายราคาสินค้าเกษตร จะทำให้เกษตรกรไทยมีรายได้ดีทุกครัวเรือน  นโยบายนี้ต้องทำคู่กับนโยบายการกำหนดสัดส่วนปริมาณอาชีพด้วย

 

วิธีการ:  รัฐอาจต้องซื้อคืนที่ดินของเกษตรกรที่มีที่ดินเกินกำหนดแล้วนำมาเกลี่ยให้รายอื่นเช่าทำในราคาประชาชน หรือคิดค้นมาตรการอื่น เช่น ที่ดินที่ใหญ่เกิน 100 ไร่ต้องแบ่งให้เกษตรกรอื่นเช่าทำด้วยอัตราที่เหมาะสมเช่น 20% ของผลกำไร  (อัตราค่าเช่าปัจจุบันนี้คิดเอาผลผลิตครึ่งหนึ่ง เท่ากับว่าเอากำไรประมาณ 80% ของผลกำไร)

 

‘””””””””””””ทวิช จิตรสมบูรณ์

« « Prev : ครัวโรค-ครัวโลก

Next : วิจารณ์.. “แผนที่คนไทย” ของหมอประเวศ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 February 2011 เวลา 3:01 am

    คืนนี้ นกทืดทือมาร้องเร็วกว่าทุกวัน สงสัยจะมาปลุกให้รีบตื่นมาอ่านนโยบายพัฒนาชาติของอาจารย์ อ่านละเอียดอยู่ 2-3 รอบ ก็เกิดความคันว่า>>ถ้าเทียบนโยบายของอาจารย์ กับ ของทุกพรรคการเมืองไทย ต่างกันราวฟ้ากับดิน ทั้งๆที่ทุกพรรคก็พยายามเค้นคิดเพื่อจะขายนโยบาย แหม ไอ้แค่ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เอามาหากินหลายรอบ ทั้งๆที่ไม่ได้คิดเองหรอก เพียงแต่เอาความคิดของชาวสาธารณสุขไปทำ เห็นความบ้องตื้นเชิงนโยบาย แค่ความคิดที่ถูกต้องดีๆก็ยังคิดไม่ได้ ไอ่เรื่องประชานิยมนิแหยะอะไรนั่นก็เอียนเต็มที กำลังสร้างความวิบัติให้กับองค์กรพัฒนา-รากหญ้าทั้งหลาย ระดับผู้นำชุมชน อบต.ผู้ใหญ่บ้าน ปลัดอำเภอ นายอำเภอ ไล่ๆๆขึ้นไปจนถึงกลุ่มหัวโจกที่อยู่ข้างบน ต่อสายสูบงบประมาณกันอย่างเหลวแหลก

    เมื่อ 2 วันที่แล้ว ผู้นำชุมชนมาปรึกษาว่าจะไล่ผู้ใหญ่บ้านออกได้อย่างไร?
    ถามว่า ทำไมละ เรื่องอะไรรึ
    แกสาธยายว่า งบอะไรลงมามันบิดเบือนกินในหมู่กันเอง ไม่มีบัญชี ไม่มีประชุมชี้แจง สุมหัวกับอำเภอ
    ถามว่า เราเลือกเขาเป็นตัวแทนไม่ใช่รึ เขาซื้อเสียงรึเปล่า
    ตอบ ซื้อครับ เสียงละ 2,000 บาท
    ถามว่า ทำไมไม่เลือกคนดี ไปเลือกขายเสียงทำไม?
    ตอบ ตอบอ้อมแอ้มน่าถีบมาก สงสารก็สงสาร
    ::: ประเด็นซื้อเสียงฝังรากลึก และทุกพรรคถือเป็นยุทธสาตร์ อาจารย์จะแก้ไขอย่างไรครับ?

    นักการเมือง พรรคการเมืองคิดดีๆชี้แจงให้สาระครบถ้วน ให้เห็นรายละเอียดข้อมูลรอบด้านอย่างของอาจารย์ไม่มี แต่ทะลึ่งจะมาบริหารประเทศไทย อาจารย์เล่าว่าเคยขายความคิดนี้ให้พรรคการเมือง ไม่ทราบว่าติดขัดตรงไหนถึงไม่มีใครเอามาพูดมาอธิบาย เรื่องนี้น่าจะเอาไปสอนในมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำ แม้แต่สภาพัฒน์ฯเองที่ทำแผนพัฒนาการเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ไม่มีแก่นสารที่สร้างความมั่นยืนให้กับชาติ เป็นเหมือนนโยบายที่ถูกมอมเมาด้วยยาบ้า มึนๆงงๆผ่านไปแต่ละปีๆ แผนฯต่างๆของอาจารย์น่าสนใจทุกข้อ ถ้าทำยาก หรือไม่ทำ เราก็จะมีแต่วาระแห่งชาติที่แห้งๆซึมกระทือ หลอกกันไปหลอกกันมา “เรียกว่าหลอกอย่างเป็นทางการ”

    จึงแว๊บถึงคำอาจารย์ชาตรี สำราญ แห่งเมืองยะลา พูดต่อหน้าในการประชุมโครงการ สกว.ว่า

    ประเทศไหนครูโง่ ผลิตลูกศิษย์ออกมาก็ได้แต่ศิษย์โง่ๆ
    ศิษย์โง่ๆ จบไปเป็นรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล ก็เป็นรัฐบาลโง่ๆ
    รัฐบาลโง่ๆก็ออกนโยบายโง่ๆ
    สาเหตุของวงจรโง่มาจากเรื่องนี้ด้วยหรือเปล่าไม่ทราบนะครับ

    เรื่องนี้คงระเบิดออกมาจากความอัดอั้นตันใจ เพราะคนพูดก็เป็นครู คงไม่ได้กล่าวหาครูทุกคนหรอกนะครับ ความคิด คำพูดดีๆเหล่านี้ล้วนออกมาจากครูพันธุ์แท้ ถ้าถ่างใจฟังอย่างใคร่ครวญ คิดถึงอนาคตของชาติให้มากแล้วจะหนาว บทความนี้ของอาจารย์อ่านแล้วต้องรีบกลับไปคลุมโปงแล้วละครับ
    หนาวตับจริงๆ

  • #2 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 February 2011 เวลา 6:59 pm

    กราบขอบคุณท่านครูบา ท่านเป็นคนที่สองที่ออกมาให้กำลังใจผมในเรื่องนี้ (คนแรกคือท่านดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ..ขอนุญาตเอ่ยนามท่านด้วยความเคารพ)

    มีผู้นำพรรคการเมืองเขาเล็งเห็นบทความสะเปะสะปะของผม เลยขอให้ผมรวบรวมความคิด แล้วยกร่างขึ้น เพื่อจะนำไปเสนอต่อที่ประชุมพรรคให้เป็นร่างนโยบายพรรค แต่แล้วก็หายต๋อมกันไป

    ประเด็นเหล่านี้ผมได้นำเสนอ ตั้งแต่ คมช. (แม้เป็นเผด็จการก็เถอะ..หวังฟลุคครับ) แม้ทักษิณผมยังเสนอ มาจนรัฐบาลปัจจุบัน

    ผมถือคติ ใครทำไม่ว่า ขอให้ประเทศข้าเจริญก็แล้วกัน

    เรื่องซื้อเสียง ความจริง ผมได้แก้ไขไว้แล้วในนโยบายนี้ครับ ..กล่าวคือ ถ้าแรงงานขั้นต่ำมัน 600 บาทต่อวัน แล้วใครจะมาเสียศักดิศรีขายเสียง 500 บาทเล่าครับ

    ค่าแรง 150 บาทในว้นนี้มันไม่พอกิน การได้เงินขายเสียง 500 บาท มันมีค่าสัมพัทธ์ประมาณ 5000 บาทนะครับ (ไม่ใช่ 500 บาท)

    แต่ถ้าค่าแรง 600 บาท มันเหลือกินแล้ว ถ้าซื้อเสียงสัก 5000 บาท ผมว่ายังไม่ยอมขายเลย

  • #3 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 10 February 2011 เวลา 7:36 pm

    ห้าฮ่าห่ะ…บาท่าน ว่าไว้สะใจนัก
    ตรงกับที่ผมว่ามานาน ว่า
    ถ้าครูโง่เสียแล้ว อย่าหวังเลยว่าชาติไทยจะไปรอด

    แต่ทุกวันนี้ครูไทยเราทุกระดับมันโง่และขี้ขลาดลงเรื่อยๆ
    ผมวิเคราะห์ว่าเพราะถูกงำด้วยระบบ โล”ภา”ภิวัฒน์
    ไม่ว่าสอน วิจัย บริการวิชาการ มันเอาเงินนำหน้าเสมอ
    จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเด็กไทยจึงเหลวเป๋วในวันนี้

    เราต่างนิยมการเลี้ยงเด็กแบบไม่กล้าด่า ไม่กล้าตี กันหมดแล้ว

    ส่วนผมเป็นครูหัวโบราณ ..ด่าแหลกไปหมด

    เมื่อวานผมเพิ่งด่าไปว่า เด็กนศ.หญิง นุ่งสั้นยังกะหมอนวดประกวดกันหาแขก
    (นี่แสดงว่าผมเคยไปเห็นมาแล้วนะ อิอิ)
    ที่หลังขอให้นุ่งกันยาวๆหน่อยนะอีหนู เพราะที่นี่ห้องเรียน มีความศักดิ์สิทธิ์นะ

    ส่วนไอ้พวกนศ.ชายผมก็ด่ามันว่า ..วันนี้ครูคันตีนมาก อยากเตะก้านคอไอ้พวกสูบบุหรี่ ที่รอเข้าห้อง
    ไอ้พวกนี้ขอให้พวกผู้หญิงจำหน้าไว้ ว่า อย่าเอามาทำผัวเด็ดขาด
    เพราะพวกนี้มันพันธุ์ด้อย ..อย่าไปช่วยมันขยายเผ่าพันธุ์เพื่อทำร้ายประเทศไทย

    ผมมักเป็นครูที่ปากจัด ด่าหยาบกราดเช่นนี้เสมอ เพราะมันเป็นจิตวิทยาที่เราต้องเอาตัวเข้าแลก

    รู้ดีว่าไอ้พวกนี้มันไม่ฟังพ่อแม่หรอก แต่ครูบาอาจารย์มันคงพอฟังบ้าง ก็ทำหน้าที่กันไป

    เด็กม.ผม ส่วนใหญ่เด็กบ้านนอก พ่อแม่ทำนา ไร่ แต่ทำไมมันเพื้ยนไปได้มากปานนี้
    ..เหตุผลคือ รัฐบาลที่ส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติครับ
    ผมมีข้อมูลหลักฐานสนับสนุน ไมได้กล่าวลอยๆ ครับ
    ผอ. รร. บ้านนอกหลายท่าน ก็ยืนยันเช่นกัน
    ว่ามันมาจากพ่อแม่ทิ้งบ้านช่องไปหาเงินด้วยการเป็นขี้ข้าเขาในนิคมอุตสาหกรรมริมทะเล
    แต่ถ้าอยู่เดิมๆ ก็ไม่พอกิน …เพราะรัฐบาลมันง่าว ใช่ไหม

    แต่รัดบาล ง่าวก็เพราะครูมันง่าว…ปัญหาไก่กะไข่ครับ

    ภาษิตวันนี้…ถ้าหวังร่ำรวยโปรดช่วยลาออกจากความเป็นครู


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.14544200897217 sec
Sidebar: 0.010229110717773 sec