คนจนในเมือง

158 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 มีนาคม 2011 เวลา 9:56 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5376

เชียงใหม่: สมัยทำงานที่สะเมิง เชียงใหม่ วันหยุดเราก็เข้ามาพักในตัวเมือง โดยเช่าบ้านหลังวัดสันติธรรม อยู่กัน 7-8 คน สมัยก่อนแถวนั้นเป็นชุมชนที่ใหญ่ เมื่อเทศบาลนครเชียงใหม่พัฒนาตัวเมืองมากขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินมากมาย ตึกรามเข้ามาแทนที่บ้านไม้ ถนนหนทางลาดยางพัฒนาอย่างดี ชุมชนที่ชาวบ้านอยู่กันมาหลายชั่วคน กลายเป็นสลัมในเมืองไป เขาเรียกอย่างนั้นจริงๆ


ขอนแก่น: ตัวเมืองใหญ่ๆมีสภาพเช่นนั้น บ้านจัดสรรที่ผมอยู่เขาเรียกชุมชนหนองใหญ่ เพราะมีหนองขนาดใหญ่สามแห่งอยู่ใกล้ๆ ชาวบ้านในอดีตได้อิงอาศัยทำมาหากิน ตามวิถีชุมชน เมื่อเมืองโตขึ้นมา ตึกเกิดขึ้น นายทุนมากว้านซื้อที่ดินทำบ้านจัดสรร หนองขนาดใหญ่ถูกเทศบาลพัฒนาเป็นที่บำบัดน้ำเสียของตัวเมือง และแบ่งบางส่วนเป็นสวนสาธารณะ ให้คนเมืองมาออกกำลังกาย เดินเล่น โครงสร้างของหนอง บึงถูกจัดการใหม่ตามวัตถุประสงค์เมือง โดยที่ไม่เคยทำ Public scoping กับชาวบ้านแถบนั้นเลยว่าเขาคิดอย่างไร…?

ถนนหนทางขึ้นเต็มไปหมด วัวควายที่เคยเลี้ยงในหมู่บ้านหนองใหญ่ เช้าก็ไล่ออกไปกินหญ้าลงน้ำที่หนองใหญ่ ชักมีปัญหา เพราะต้องข้ามถนนที่รถรามากขึ้น นานเข้าอาชีพทำนาก็ต้องมีปัญหาเพราะสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปหมดแล้ว แล้วป้าพรรณชาวบ้านหนองใหญ่ก็มาเป็นรับจ้างซักผ้ารีดผ้า ลุงคำก็กลายมาเป็นพนักงานเดินโต๊ะในร้านอาหารใกล้บ้าน ไอ้ศักดิ์ก็เปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซด์ อีหล้าก็เปิดร้านทำผมตัดเล็บ อีนางก็มาเป็นแม่บ้านรับจ้าง ทำความสะอาดบ้าน แล้วก็ซื้อข้าวกิน…? ก็ความรู้สำหรับชีวิตในเมืองไม่มี..

กระนั้นก็ยังมีชาวนาตกค้าง เพราะไปทำอะไรกับใครไม่ได้ ก็ออกไปปลูกกระต๊อบนอกชุมชนเลี้ยงวัวสามสี่ตัวไปวันๆหนึ่ง นั่งนอนอยู่กับวัวด้วยสายตาที่เหงาหงอย สังคมในอดีตของบ้านหนองใหญ่สิ้นสุดไปแล้ว ทุกคนดิ้นรนเดินไปข้างหน้า ลุงก็ออกมาเลี้ยงวัวมองเขาเดินไปกัน ก็ได้แค่มองเท่านั้น อายุปานนี้แล้วจะเดินตามเขาไปไหนเล่า ไม่ไหวแล้ว เทศบาลเขาไม่เห็นหัวเราแล้ว

เราเป็นคนนอกเหมือนอีกหลายครอบครัวที่เข้ามาซื้อบ้านจัดสรรยุคแรกๆของขอนแก่น ด้วยการผ่อนกับธนาคารนานแสนนาน โธ่..ไอ้นักพัฒนากระจอกงอกง่อยอย่างเราน่ะเงินเดือนแค่เศษสตางค์เขาเท่านั้น ก็เก็บหอมรอมริบเป็นทาสธนาคารมามากกว่ายี่สิบปี อาชีพคือรับจ้าง มีประกันสังคมคุ้มกะลาหัวพอกันตายไปได้ อาศัยญาติพี่น้อง เพื่อนรักใคร่ผลักดันชีวิตไปตามชะตาและแรงขับ


งานสุมหัวแต่ก็ยินดี เพราะมันเป็นงานที่เรารัก หนักเข้าก็ออกไปยืดเส้นสายดูท้องฟ้านอกบ้านบ้าง สถานที่ชอบไปก็คือบึงบำบัดน้ำเสีย ขอนแก่น ที่เป็นอดีตสวรรค์ของคนบ้านหนองใหญ่และข้างเคียง เราก็ไปดูเมฆ ดูนก ดูคน ดูสรรพสิ่งที่วนเวียนอยู่ในวังวนของพื้นที่


ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำก็ออกมาจับปลาในบึงนี้ โดยการยกยอเล็กๆ บางคนก็ทำร้านเล็กๆพอยืนได้ เอายอวางลงทิ้งไว้พักเล็กๆก็ยกขึ้นมา หากได้ปลาเจ้ากรรมที่ว่ายน้ำผ่านเข้ามาพอดีก็จะเป็นทั้งอาหารและเงินตรา เป็นทางออกทางหนึ่งของคนจนในเมือง จะไปนั่งกินตามร้าน อยากกินอะไรก็สั่งเอาเหมือนคนมีเงินเดือนนั้นไม่ได้ ก็หากินแบบนี้แหละ


เฝ้าดูการต่อสู่ชีวิตของชาวบ้านในเมือง หัวเราคิดไปร้อยแปด ก็บึงบำบัดน้ำเสีย มันเป็นที่สะสมของเสียจากตัวเมือง สารพิษ โลหะหนัก เชื้อโรค สารพัดสิ่งสกปรกจากเมืองลงมาที่นี่ เจ้าปูปลาที่อาศัยในนี้ มันไม่เหมือนบึงสมัยก่อนมันคงปนเปื้อนสิ่งสกปรกมากมาย โดยเฉพาะสารโลหะหนัก และพาราไซด์ต่างๆ


คุณยายท่านนี้กางยอเสร็จก็เอามาลงต่อหน้าเรา แกยกสองสามทีไม่ได้ปลาสักตัว ตรงข้ามคนที่ผู้ชายที่ยืนกลางบึงนั่นยกทีไรได้ปลาทุกที ถามยายว่าเป็นปลาอะไร ยายบอกว่า เป็นปลานิลตัวขนาดฝ่ามือลงไป ก็เอาไปขายในตลาด เหลือก็เอาไว้กิน….


ผมนั่งอยู่นานสมควร มองบนท้องฟ้ามีนกเริ่มทยอยบินกลับรัง ไกลออกไปพระจันทร์เริ่มทอแสงสว่าง ผมควรจะกลับบ้านเสียที ถามยายว่ายังไม่เลิกหรือ แกบอกว่าเดี๋ยวก็กลับแล้วค่ำแล้ว ผมบอกลายายท่านนั้น ระหว่างทางผมเห็นการดิ้นรนชีวิตของคนจนในเมืองเท่าที่ช่องทางเขาจะมี ก่อนที่เช้าวันใหม่จะมาถึง ก่อนที่บนถนนข้างบ้านหนองใหญ่ของยายจะแน่นไปด้วยรถเก๋งของคนเมืองไปทำงานเพื่อรอสิ้นเดือนจะมีเงินเข้ากระเป๋า..

ผมเปิดวิทยุ ข่าวสึนามิ ข่าวพันธมิตร ชายแดน การยุบสภา ผมผ่านขบวนคนเสื้อแดงขอนแก่นระดมกัน

น้องหมาที่บ้านออกมาต้อนรับผม ลูบหัวมันสองสามที

แล้วผมก็ไปทำงานที่ผมต้องรับผิดชอบต่อ….


จากสีวร ถึงสีน้ำและเสียงเพลง

317 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 5 มีนาคม 2011 เวลา 20:44 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 7436

ผมแอบชื่นชม พ่อหวังและอีกหลายๆพ่อในชนบทที่เขามีวิธีการสอนคนแบบดั้งเดิม แบบบุพกาล อะไรทำนองนั้น ไม่มีหลักวิชา ที่สมัยใหม่ต้องเข้าไปเรียนวิชาสร้างคน(ครู)กันในห้องเรียน แต่ออกมาสร้างใครไม่เป็นจริงๆ ตรงข้ามบางคนกลับไปทำลายซะอีก


ครูดีดีมีเยอะนะครับ อย่าคิดว่าตีขลุมไปหมด ที่ผมกล่าวเช่นนั้นเพราะว่า ผมไปพบชาวบ้านคนหนึ่งที่เหมือนกับเด็กหนุ่มอีสานทั่วไป ที่โตขึ้นมาจากป่าเขาก็อยากเข้าเมือง ความรู้ก็แค่ ป.4 แล้วจะเลี้ยงตัวเองได้อย่างไร มีอย่างเดียวคือแรงงาน สีวร ไม่ใช่สีเหลืองสีแดง แต่เป็น “สีวร” ชื่อเด็กหนุ่มดงหลวงคนนี้ ตะลอนไปหางานทำทั่วไปหมด ที่ไหนมีการจ้างก็ทำไม่เลือกหนักเบา …

ในที่สุดพบว่า เงินที่ได้จากค่าจ้างแค่ซื้อปลาทูกินเท่านั้น หลายปีเข้า ก็เหมือนเดิม สีวรทบทวนชีวิตตัวเองแล้วก็หันหลังให้กับสังคมเมืองเดินกลับบ้านป่า กลับไปอยู่กับพ่อแม่ ทำนาทำไร่ และมีครอบครัวเหมือนหนุ่มทั่วไป แต่ลึกๆสีวรดิ้นรนจากสภาพเดิมๆ แต่ไม่รู้จะทำอะไร แล้วสีวรก็เดินชีวิตเฉียดข้าไปที่ยาเสพติด…

พ่อหวังเป็นชาวโซ่ ธรรมดาคนหนึ่งแต่ผ่านการปรุงชีวิตจากป่า จากงานพัฒนาของเครือข่ายอินแปง ที่เอาชีวิตมาปอกกันเป็นรายคน ว่าตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร แล้วจะเดินไปทางไหนกัน การเข้าค่ายปอกเปลือกชีวิตครั้งนั้นทำให้ผู้นำไทบรูจำนวนมาก ตกผลึกกับชีวิต…เขาเหล่านั้นเดินกลับบ้านด้วยความหวังของการสร้างครอบครัวแบบพึ่งตัวเอง..

พ่อหวังกลับมาเห็นสีวร ซึ่งเป็นเหมือนลูกหลาน เห็นมาตั้งแต่เด็ก จนโตรู้นิสัยใจคอ รู้หัวนอนปลายตีนดี เห็นแววการดิ้นรนแต่ไม่มีทางออก ไม่มีทางไป และเดินเฉียดยาเสพติดเข้าไปทุกที พ่อหวังเห็นว่าเด็กคนนี้จะเสียคนแน่จึงชวนมาอยู่บ้านสวน มากินมานอนมาคุยกันมาทำงานทำนาทำสวนนี่แหละ แต่ทำไปด้วยคุยไปด้วย พ่อหวังที่ผ่านโลกมาก่อน ผ่านการใช้ชีวิตในป่า ต่อสู้กับรัฐบาลมาก่อน แล้วก็ออกมาสร้าวครอบครัวใหม่ด้วยแนวทางเกษตรผสมผสาน พออยู่พอกิน พอประมาณ

สองปีที่สีวรใช้ชีวิตกับพ่อหวัง ไปๆ-มาๆระหว่างบ้านตัวเองกับบ้านพ่อหวัง ความรักที่พ่อหวังให้แก่สีวร การสั่งสอนแบบไม่สอนคือทำไปด้วยกัน ใช้เวลาพูดคุยแลกเปลี่ยน และคลุกวงในของชีวิตกันและกัน สองปีนั้นสีวรอิ่มเอมกับมิติใหม่กับชีวิต เขากราบลาพ่อหวังพาครอบครัวลูกน้อยไปสร้างบ้านสวนขึ้นมาด้วยมือเขาเอง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ แรงงานที่เคยรับจ้างเขา แต่คราวนี้ แรงงานทุกหยาดหยด มันคือสิ่งที่เขาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

สีวรบอกว่า ผมเรียนชีวิตจากพ่อหวังจากงานพัฒนา จาการพูดคุยแลกเปลี่ยน จาการดูพ่อๆทั้งหลายที่สร้างชีวิตมาก่อนผม ผมเข้าใจแล้วว่าผมควรจะทำอะไร ทุกวันนี้ภรรยาสีวรมีความสุขกับการเก็บผักต่างๆในสวนไปขายที่ตลาดมีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 2-3 ร้อยบาท


เมื่อผมเข้ามาสัมผัส Hug school ฟังคุณครูทั้งหลายปอกเปลือกตัวเองให้ฟังแม้ว่าจะเป็นเสี้ยวส่วนก็ตาม ทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวว่า เขามีความสุขมากที่ทำงานที่นี่ เข้าใจได้ไม่ยากเลยที่ผู้บริหารโรงเรียนเป็นพี่น้องในครอบครัวเดียวกัน แต่มีความเหมือนกันที่ทุกคนรักดนตรี อาจจะเลยไปถึงรักมากที่สุดด้วย รักศิลปะ และช่างดีเสียนี่กระไรที่คุณพ่อก็เป็นคนที่รักดนตรี รักอิสระ และสร้างสรรค์

Hug school ต่างจากโรงเรียนในวิถีชีวิตพ่อหวังที่หลอมสีวรขึ้นมาเป็นผู้คนได้ มันต่างกันสุดหล้าฟ้าเขียว แต่มีสิ่งที่เหมือนกัน ที่เป็นแก่นลึกข้างในของพื้นฐานการสร้างคนคือ “ความรัก” ที่มนุษย์พึงมีต่อกันเพื่อเสริมสร้างให้แก่กัน

ความรักนี้ช่างยิ่งใหญ่จริงๆ ความรักมันสร้างโลกได้จริงๆ ในสังคมเรามีแม่พระ พ่อพระเช่นนี้มากมายที่เราผ่านพบบ่อยๆ

แต่ในระบบการเรียนในห้องของเรานั้นที่มีกระทรวงศึกษาเป็น Manager ใหญ่นั้น ความรักมันไปซ่อนซุกอยู่ตรงไหน หรือมันระเหยระเหิดไปหมดสิ้นนานแล้ว มีแต่หว่านคำพูดหรูๆ สร้างเกณฑ์ประเมินกันหน้าดำคร่ำเครียด


ถามว่าเมื่อพ่อหวังสร้างสีวรมาด้วยความรักความเป็นลูกหลานในหมู่บ้านเดียวกัน และประสพผลสำเร็จเช่นนี้ จะมีอะไรเกิดขึ้นในสายสัมพันธ์ของคนทั้งสอง ครอบครัวทั้งสอง และทัศนคติที่เขามีต่อเพื่อนร่วมหมู่บ้าน….

นี่คือทุนทางสังคมที่ดีงาม หมดจรด ทุกอย่างมันก็ตามมา ความเอื้ออาทรต่อกันและกันลามออกไปถึงผู้อื่นที่สีวรทำกับผู้อื่น มองกับผู้อื่น

หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่บ้าน คนสองคนจะไล่ฆ่าแกงกันไหม มีแต่จะยื่นมือมาจับต้องและนั่งลงคุยกันฉันท์พี่น้อง และอภัยให้แก่กัน

ผมคิดว่า Hug school กำลังทำงานที่ยิ่งใหญ่ เหมือนที่มงคลวิทยากำลังสร้างอยู่ เหมือน ดร.อาจองยื่นสองมือไปโอบกอดเด็กสัตยาไส เหมือนลูกหลานที่มีแต่ความหวังดีมอบให้ เหมือนกับพ่อแม่มีต่อลูก…

Hug school ใช้ศิลปะแขนงต่างๆเป็นสื่อกลางที่กล่อมเกลาด้านในของตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลง สีน้ำ…..ฯลฯ ชื่นชมคนหนุ่มสาวกลุ่มนี้ครับ

ความรักสร้างคน สร้างสังคม สร้างโลก

เรามารักกันเถอะครับ…


เศษกระดาษบนถนน

869 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 มีนาคม 2011 เวลา 8:14 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 12189

ผมไม่ใช่คนเจ้าระเบียบหลอกนะ บางครั้งออกจะเถื่อนๆซะด้วย

พ่อแม่ก็สอนอยู่เรื่องความสะอาด เรียบร้อย ระเบียบ

ยิ่งพ่อเป็นครูก็ต้องเป็นแบบอย่าง

ยิ่งตักเตือน ว่ากล่าว ลงไม้เรียวกันประจำ ลือกันทั้งบางไปเลย

ความเป็นเด็กบ้านนอกทำอะไรแบบง่ายๆ

ไม่ชอบพิธีรีตองมากนัก

แค่ให้เกียรติกันตามที่ถือปฏิบัติกันมา ก็พอดีแล้ว

แต่เมื่อโตขึ้นมา งานอยู่ในชนบทอีก แต่ที่พักอยู่ในเมือง

เรียกมนุษย์ สามโลก(บวกโลกจินตนาการเข้าไปด้วย)

มีอะไรหลายอย่างในสังคมที่ขัดหูขัดตา

อย่างพวกแซงรถมาเบียด

ในขณะที่คันอื่นเข้าคิวกันเป็นแถวกัน

หากตรงกับจังหวะที่รถผมพอดี เคยยกมือชี้หน้าหลายครั้ง

เจ้ามอเตอร์ไซด์ผ่าไฟแดงทุกวัน…ฯลฯ

อย่างรูปข้างบน รถสวยเชียว แต่คนในรถเปิดกระจก

เอาเศษกระดาษทิ้งลงบนถนนหน้าตาเฉย

Norm ของสังคมมันหดหายไปหมด

นี่เห็นกันจะจะ ไอ้ที่ลับหูลับตาล่ะจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

สังคมมันมีขึ้นลงเหมือนหลักธรรมชาติ

ก็ที่เขาปฏิวัติสังคมนิยมนั้น สังคมมันมีเรื่องแบบนี้

แล้วรุนแรงขึ้น ซับซ้อนขึ้น ใหญ่ขึ้น มากขึ้น

เมื่อปฏิวัติแล้ว ดูดีเชียว สักพักหนึ่งก็เอาอีกแล้ว

ลองเงี่ยหูฟัง ลาว เขมร เวียตนาม แม้จีน ซิ

มนุษย์นี่หนอ หากไม่มีธรรมกำกับแล้ว

ความสวยงามหามีไม่….


โลกมนุษย์ในอีก 50-80 ปีข้างหน้า

248 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 15 กุมภาพันธ 2011 เวลา 23:32 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5556

เมื่อวานนี้กับวันนี้เป็นการจัด Lesson Learn workshop ของโครงการเดิมที่ทำมาเกือบสิบปีที่มุกดาหาร โดย ส.ป.ก.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงาน คนข้างกายในฐานะถูกเชิญให้เป็นผู้มาประเมินผลโครงการที่เรียกว่า Terminal evaluation ก็เข้ารับฟังด้วย มีท่านเลขา ส.ป.ก. และท่านรองเลขา ส.ป.ก.มาร่วมงานด้วย

สำหรับท่านเลขานั้นท่านเป็นคนใหม่สำหรับโครงการ ท่านเป็นวิศวกรที่มาดำรงตำแหน่งที่นี่ ก็ชื่นชมโครงการ ส่วนท่านรองฯท่านนี้นั้น เสมือนเป็นเจ้าของโครงการเพราะสร้างมากับมือ จึงทะลุปรุโปร่ง บางช่วงมีการเมืองเข้ามาแทรกบ้างจนเป๋ไปก็มี

คนข้างกายความจริงต้องเดินทางไปพิษณุโลกเพื่อรับผิดชอบงานศึกษาวิจัยการใช้น้ำบาดาลมาทำการเกษตร กับกรมทรัพย์ฯ แต่ก็ต้องมานั่งฟังสรุปผลงานนี้ด้วย และเธอก็บอกชอบใจที่ได้ฟังท่านรองเลขาฯพูดเมื่อวาน

ท่านกล่าวว่า เพิ่งกลับมาจากเกาหลี และที่นั่นมีโอกาสฟังปาฐกถาของศาสตราจารย์ ที่ได้รับโนเบล “เรื่องภาวะโลกร้อน ผลกระทบ และการเตรียมตัวของมนุษยชาติ” ผมเองก็ชอบ เหมือนท่านรองเลขาฯมาตอกย้ำประเด็นความสำคัญและการที่หน่วยงานต้องคิดและเตรียมตัวเริ่มทำอะไรได้แล้วทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะในระยะยาวที่ยังคุยกันน้อยมากๆว่ารัฐต้องทำอะไร หน่วยงานต่างๆต้องทำอะไร ชาวบ้านต้องทำอะไร แต่ละคน แต่ละภาคส่วนต้องทำอะไร…

ท่านกล่าวว่า ปัญหาใหญ่คือ ภาวะขาดแคลนอาหาร… แรงงานภาคเกษตรลดลง ผู้สูงอายุมากขึ้น ปัญหาภัยธรรมชาติ ฯลฯ เพราะเป็นที่คาดการณ์ว่า ที่แห้งแล้งจะแล้งหนัก ที่ฝนตกชุกก็จะมากเกินความพอดี พืช สัตว์ ปรับตัวไม่ทัน หรือเกิดโรคภัยใหม่ๆมากขึ้น..และทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงต่อการผลิตทางการเกษตร

เราก็รู้มาบ้างว่า ดร.อรรถชัย จินตเวช ที่คณะเกษตรศาสตร์ มช.ท่านศึกษา simulation เรื่องโลกร้อนอยู่ ทราบว่าอีตาเม้งของเราก็ศึกษาเรื่องนี้

ผมเองแลกเปลี่ยนกับท่านรองเลขาฯว่า เรื่องใหญ่เรื่องนี้น่าที่จะมีวาระการสัมมนาบ่อยครั้งขึ้นเพื่อเอาวิชาการเรื่องนี้มาแลกเปลี่ยนและเฝ้ามองทิศทางกันให้มากขึ้น และต้องเตรียมตัวตั้งแต่เดี๋ยวนี้ มิเช่นนั้นก็สายเกินไป

อย่างน้อยที่สุด มา update เรื่องงานศึกษา วิเคราะห์วิจัย การทดลองต่างๆที่ไหนในโลกนี้เอามาศึกษาแลกเปลี่ยนกัน ปรากฏการณ์ต่างๆมีสาเหตุจากอะไรแม้จะยังสรุปไม่ได้ก็ถือเป็นการเตือนภัยกัน และในฐานะที่แต่ละคนยืนในจุดที่แตกต่าง มีหน้าที่การงาน จะทำอะไรได้บ้าง

ผมทำงานกับชาวบ้าน ควรทำอะไรบ้าง…. ผมเสนอท่านว่า ผมได้เริ่มทำไปบ้างแล้วแม้จะเป็นเพียงสิ่งเล็กๆ แต่ก็น่าจะมีประโยชน์ในการเอาผลมาใช้ คือ ผมได้เห็นประโยชน์การให้ชาวบ้านทำบันทึกอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณน้ำฝน และปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆรอบตัวชาวบ้าน เกิดอะไรเมื่อไหร่ ผลเป็นอย่างไร บันทึกไว้ ซึ่งยากนะครับที่จะให้ชาวบ้านบันทึกเพราะชาวบ้านไม่ใช่นักเขียนบันทึกอย่าง blogger ทั้งหลาย แต่ก็มีเทคนิค เช่น ให้ลูกๆช่วย หรือหากหน่วยงานจะมีสิ่งตอบแทนบ้างก็แล้วแต่เงื่อนไข


ข้อมูลเหล่านี้เหมือนเป็น ฐานข้อมูลเบื้องต้นที่ทำหน้าที่เฝ้าระวัง ฯลฯ ท่านรองเลขาสนใจ แต่ผมไม่ได้อยู่ดงหลวงแล้ว ไปติดตามเอาข้อมูลมาใช้ได้ ในระบบราชการทำอะไรได้บ้างก็ต้องไปคิดอ่านกันต่อไป

คิดเลยเถิดคนเดียวไปถึงฝ่าย GIS ของ ส.ป.ก. ได้คุยกับผู้ชำนาญการเพื่อสร้างโปรแกรมทำฐานข้อมูลตัวนี้ขึ้นมา เช่น หากว่าการบันทึกดังกล่าวข้างต้นมีประโยชน์ ความจริงกรมอุตุเขามีอยู่แล้ว แต่สถานีห่างเกินไป และไม่ได้บันทึกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรที่เป็นฐานอาหารของเรา หากทุกหมู่บ้านในพื้นที่ ส.ป.ก.(หรือทุก 10-20 หมู่บ้าน…?) มีการบันทึก สาระดังกล่าว บันทึกปรากฏการณ์ต่างๆ เอานักวิเคราะห์ต่างๆมา นักวิจัยพันธ์ข้าวสายพันธุ์ใหม่ และพืชต่างๆสายพันธุ์ใหม่มาคุยกัน อีก 20 ปีข้างหน้าเราน่าที่จะบรรลุการแก้ไขอะไรมาบ้าง


FW mail เรื่องปลาตาย นกตายมาถึงบ่อยมากขึ้น บ้างก็กล่าวว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงสนามแม่เหล็กโลก โอย ผมไม่รู้เรื่อง..แต่ที่แน่ๆ ในเขื่อนน้ำงึมสองที่ลาวเมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นเกิดมีปลาตายลอยแพกันแล้ว ตอนนี้คนที่บริษัทไปศึกษากันใหญ่ว่ามาจากสาเหตุอะไร…

นี่แค่น้ำมันพืชขาดตลาด ยังเดือดร้อนกันขนาดนี้(แม้จะมีเรื่องธุรกิจ การเมืองอยู่เบื้องหลัง)

หากข้าวไม่มีกิน จะกลับไปกินเผือกกินมันก็ไม่มีป่าให้ไปขุดเผือกแล้ว คุยกันว่า ชุมชนอโศกต่างๆนั้นจะอยู่รอดเพราะท่านเตรียมตัวเรื่องอาหารมานานแล้ว…..

คิดไปเรื่อยเปื่อย แต่ต้องทำจริงๆ..

(ขอบคุณภาพจาก internet และ FW mail)


ภาพเชิงซ้อน

179 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 12 กุมภาพันธ 2011 เวลา 9:36 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5938

ความโยงใยของแต่ละชีวิต หากเอาเส้นมาลากถึงกัน

และให้สีสันแสดงความหมายของลักษณะการโยงใย

หรือความสัมพันธ์ เกี่ยวข้องกัน

โฮ…รูปร่าง ภาพ หน้าตาจะเป็นอย่างไร

คงพิลึกพิลั่น หรือวิจิตรพิสดาร

ในทางสังคมวิทยาก็มีการศึกษาเรื่องนี้อยู่

ที่เรียกว่า Sociogram หรือ Mobility mapping ซึ่งเป็น PAR Tool ขนิดหนึ่ง

นักสังคมชุมชน หรือนักอะไรก็ได้ลองทำดูก็น่าสนใจนะ

เช่น เวลาเข้าสู่ชุมชนอยากทราบว่าใครคือที่พึ่งแท้จริงก็ลองทำ village mapping

แล้วเอาชื่อคนใส่เข้าไปตรงจุดที่เป็นที่ตั้งบ้าน

อาจใส่รายละเอียดมากกว่านี้ก็ได้..

แล้วไปพูดคุยใครต่อใครในหมู่บ้านว่า

หากเจ็บป่วยไม่ทราบสาเหตุ ไปหาใคร

เวลาขาดแคลนเงิน แต่จำเป็นต้องใช้ ไปพึ่งใคร

เวลา เด็กทะเลาะกัน ตีกัน ไปหาใคร

หากตั้งคำถามนี้กับหลายๆคนก็จะได้คำตอบ

ที่เป็นชื่อคนในชุมชนที่มีคนระบุมากน้อยแตกต่างกันไป

แค่นี้ก็ทราบเบื้องต้น แล้วว่าใครเป็นใครในชุมชนนั้นๆ

แม้ว่าสังคมใหม่จะจัดบทบาทหน้าที่ชัดเจนไปแล้วก็ตาม

บทบาทที่ซ้อนบทบาทก็มีอยู่มากมาย

นี่คือภาพซ้อนในสังคม ที่น่าสนใจ

เราใช้บ่อยในงานชุมชน เพราะเราเป็น “คนนอก” ที่อยากเข้าใจ “คนใน”

ใช้ได้ดีครับ

ยิ่งมีแผนที่หลายแผ่นแสดงการเข้ามา อพยพ เกี่ยวดอง ฯลฯ

ของครอบครัว คนในชุมชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ทราบรายละเอียดพัฒนาการ เรื่องราวสำคัญๆของชุมชน

เราจะยิ่งเข้าใจ ชุมชนมากกว่ารายงานปกติ

เราเข้าไปศึกษาสังคมชุมชนลาวว่า

ทำไมจึงมาตั้งโรงงานสูบน้ำที่บ้านนี้

หากไม่ถามโดยทั่วไปก็ต้องนึกถึงความเหมาะสมทางกายภาพ

ตามหลักวิศวกรรมชลประทาน

นั่นอาจจะใช่ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อศึกษาลึกๆ ทราบว่า

เพราะรัฐ “ต้องการตอบแทนชุมชนนี้ที่เป็นกำลังหลักในการปลดปล่อยประเทศ”

….?….


บางมุมของความพอเพียงในชุมชน

111 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 มกราคม 2011 เวลา 20:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2899

นี่เป็นบทความเก่า ขอนำมาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะนำเสนอต่อพ่อครูในการที่ระดมความคิดเห็นเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ต่อการวางหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง…”

มีโอกาสศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของไทโซ่ดงหลวงก่อน พ.ศ. 2500 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง น่าสนใจ น่าจะเป็นตัวแทนสังคมไทยโบราณได้ กรณีหนึ่ง เพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้อีก และเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีทางนึกออกว่าบรรพบุรุษของเขาเคยมีความเป็นอยู่อย่างไรกันมาบ้าง

เนื่องจากสัญชาติญาณแห่งการอยู่รอด และภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์พัฒนาการมีชีวิตอยู่รอดนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามระดับของความฉลาดของมนุษย์ แต่น่าจะมีสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน และสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งไทโซ่ ที่นับถือผีกับพุทธไปพร้อมๆกัน หลักการของพุทธย่อมมีส่วนไม่มากก็น้อยในการนำมาเป็นแนวทางการดำรงชีวิต

หลักการหนึ่งของการดำรงชีวิตของศาสนาพุทธคือการยังชีวิตด้วยปัจจัย 4 อย่างพอดี ไม่เบียดเบียนโลกและตัวเอง ตีความง่ายๆคือหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง

เมื่อศึกษาสังคมโบราณของไทโซ่ดงหลวง และเชื่อว่าที่อื่นๆก็คงคล้ายคลึงกัน แล้วไปสอดคล้องกับหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง แต่หลักนี้จะให้สมบูรณ์ต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งเข้ามาเชื่อมด้วยคือ วัฒนธรรมชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยกัน” “ทุนทางสังคม เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ” และความจริงน่าจะเป็น ปัจจัยที่ 5 ของความพอเพียง”
ด้วยซ้ำไป


หลักการนี้ยังสะท้อนไปถึง หลักความพอเพียงที่ในหลวงท่านพระราชทานลงมาด้วยว่า ทั้งหมดนั้นจะต้องอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ของสังคมด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นปัจเจกชน ซึ่งสังคมไม่ได้เป็นเช่นนั้น และในชีวิตจริงๆก็ไม่มีใครที่จะพึ่งตัวเองได้ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันด้วยเพราะเราไม่สามารถมีความสมบูรณ์ตลอดเวลาด้วยปัจจัย 4

ท่านที่นำหลักความพอเพียงไปใช้ได้โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญนี้ด้วย

ความจริงการพึ่งพาอาศัยกันนั้นรวมอยู่ในหลักความพอเพียง แต่มักไม่ได้พูดถึง หรือไม่ได้เน้นกัน หลายท่านไม่ได้พูดถึงด้วยซ้ำไป เพราะเห็นเป็นประเด็นย่อย แต่จากการเฝ้าสังเกตสังคมชนบทนั้น วัฒนธรรมชุมชนเป็นแกนหลัก เป็นโครงสร้างหลักด้วยซ้ำไป

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ เมื่อพ่อไปทอดแหได้ปลามามาก พ่อก็แบ่งให้เพื่อนบ้าน ไปให้คุณยายนั่น คุณตาคนนี้ เพราะแก่เฒ่าหากินไม่สะดวก

ที่ดงหลวง เมื่อชาวบ้านเดินผ่านแปลงผัก ก็ตะโกนขอผักไปกินกับลาบหน่อยนะ เจ้าของแปลงก็ตะโกนตอบอนุญาตให้เอาไปเถอะ สังคมภาคเหนือจะมีคนโท หรือหม้อดินใส่น้ำตั้งไว้หน้าบ้าน ใครที่เดินผ่านไปมาหิวน้ำก็ตักกินเอาได้เลย มันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา สวยงาม เอื้ออาทรกัน พึ่งพากัน เพราะไม่มีใครที่มีปัจจัยสมบูรณ์ไปตลอดเวลา ยามมีก็มี ยามขาดก็ขาด ก็ได้อาศัยญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในชุมชนนั่นแหละช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจ ไม่ได้คิดค่าเป็นเงินเป็นทองแต่อย่างใด

ชาวบ้านจะสร้างบ้าน ก็บอกกล่าวกัน ชายอกสามศอกสี่ศอกก็มาช่วยเหลือกัน ตามความถนัด ไม่ได้รับเหมาเอาเงินทองแต่อย่างใด ความมีน้ำใจ ความมีบุญคุณ ความกตัญญู ช่วยเหลือเอื้ออาทร ทั้งหมดนี้แสดงออกโดย “การให้” ให้วัตถุ ให้แรงงาน ให้อภัย ให้ปัจจัยต่างๆ และให้ใจ คือรากเหง้าของสังคม คือทุนทางสังคม คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม ที่ทำให้เราสงบ สันติ มานานแสนนาน และเป็นฐานของหลักความพอเพียง เป็นฐานของการสร้างความพอดีของปัจจัย 4 อันมีฐานรากสำคัญมาจากหลักการทางพุทธศาสนา แต่แปลกใจที่งานพัฒนาประเทศชาติ สังคมไม่ได้เอาหลักการนี้เป็นตัวตั้ง กลับเอารายได้เป็นตัวตั้ง

เราตั้งคำถามแก่กลุ่มผู้อาวุโสของเครือข่ายไทบรูดงหลวง ที่มีอายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป เราพบข้อมูลในเรื่องวิถีชีวิตมากมายค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องเราไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะมีอยู่ และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ชาวบ้านไม่ได้อธิบายหากเราไม่ตั้งคำถาม และบางเรื่องเราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอะไร แต่ข้อมูลมีอยู่

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเอามาจัดหมวดหมู่ในรูปแบบใหม่ เพื่อง่ายต่อการพิจารณาให้เข้ากับหลักปัจจัย 4 เราจะได้ข้อมูลดังแผนภาพ


เมื่อเราพิจารณาข้อมูลเราพบว่าสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ที่วิถีสังคมดงหลวงโบราณสร้างขึ้นและมาครบถ้วน ดูแผนภาพต่อไปนี้


เมื่อเราให้สีที่แตกต่างกันเราก็เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 แน่นอนเกษตรกรไม่ได้ทำกิจกรรมทั้งหมด เช่น แต่ละครอบครัวไม่ได้ปลูกถั่วทุกชนิด แต่ถั่วทุกชนิดนั้นมีปลูกอยู่ในชุมชน และอาจจะมากกว่านี้ ข้อมูลเหล่านี้คือความหลากหลายของชนิดพืชและกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ทั้งหมดนี้ทำเอง ปลูกเอง สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อหามา อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกัน

เราให้ชาวบ้านเล่าเรื่องข้าวสมัยนั้น ว่าแต่ละพันธุ์นั้นเป็นเช่นไรบ้าง ลักษณะพันธุ์ สี ขนาด วิธีปลูก การเก็บเกี่ยว การบริโภค การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษา ความนิยมในการบริโภค ฯลฯ พิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เราเสียดาย ว่าความรู้เหล่านั้นกำลังสูญหายไปกับการเคลื่อนตัวของสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่

ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์ซอด(เป็นเสียงที่เราฟังเอามาบันทึก หากผิดเพี้ยนก็ขออภัย) ชาวบ้านบอกว่าเมล็ดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถเกี่ยวได้เมล็ดมันจะร่วงต้องใช้วิธีรูดเอาเมล็ดจากรวงใส่ภาชนะเลย จินตนาการไปมือไม้ชาวบ้านที่ทำงานหนักแบบนี้คงจะหยาบกร้าน ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ อีน้อยกับซอด

ที่มหัศจรรย์คือ ครอบครัวหนึ่งๆนั้นมีที่ดินปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ มากสุดไม่เกิน 5 ไร่ และปลูกทุกอย่างผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่นั่นแหละ นี่คือแปลงพืชผสมผสานจริงๆ มีทุกอย่างที่กินได้อยู่ในสวนนี่เอง ที่เรียกแปลงสมรม แปลงสัมมาปิ ในแปลงจะมีข้าว มีพืชถั่ว มีพืชผักสวนครัว มีพืชไร่ รวมไปถึงพืชสมุนไพร ครบถ้วนในแปลงเดียวกันนั้น ผสมปนเปกันไป ไม่ได้แยกพื้นที่ปลูกเช่นปัจจุบัน


แต่ต้องเฝ้าตลอดมิเช่นนั้น ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินพืชผัก เพราะหมูป่ามากินหมด ต้องตีเกราะ เคาะวัตถุให้มีเสียงดังๆ หมูป่าจะได้หนีไป นอกจากหมูป่าก็มีนก ลิง ทั้งนกทั้งลิงมันมาเป็นฝูงหากเผลอลงกันละก็ปีนั้นไม่ได้กินข้าวแล้ว ต้องหาของไปแลกข้าวแล้ว ฯลฯ

สรุป

  • ลักษณะวิถีชีวิตของคนดงหลวงสมัยก่อนนั้นอยู่กับธรรมชาติ แต่องค์ประกอบวิถีชีวิตที่มีสภาพแวดล้อมแบบเดิมนี้นั้น ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว แต่หลักการเรื่องวัฒนธรรมเอื้ออาทรกันนั้นยังใช้ได้อยู่เสมอหากเราสืบสานคุณค่ากันไว้
  • เมื่อองค์ประกอบของสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย การควบคุมตัวเองให้ตั้งมั่นอยู่ในหลักศาสนา และวัฒนธรรมชุมชนจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
  • ความพอเพียงไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละครอบครัวต้องพิจารณาเอาบนฐานเงื่อนไขของตัวเอง
  • อย่างที่กล่าวว่า ไม่มีใครสมบูรณ์ ดังนั้นความพอเพียงนอกจากครอบครัวจะเป็นหลักที่จะต้องสร้างขึ้นมาแล้ว ชุมชนต้องร่วมมือกันสืบสานวัฒนธรรมเอื้อาทรแก่กัน


คุณยาย

9 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 29 ธันวาคม 2010 เวลา 0:48 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 1651

คราวที่ผมไปศึกษาสังคมชนบทในลาวนั้น

มีคำถามหนึ่งที่เพื่อนคนลาวได้ถามนายบ้าน(ผู้ใหญ่บ้าน) ว่า

ยังมีคนทุกข์ยากอยู่หรือไม่ จำนวนเท่าไหร่ ?

นายบ้านตอบว่ามี 2 ครอบครัว เป็นคนสูงอายุด้วย

อ้าวแล้วเขาทำอะไรกิน มีชีวิตอยู่ได้อย่างไร ?

นายบ้านตอบว่า ก็เพื่อนบ้านทุกคนช่วยเหลือกัน

วันนี้คนนั้นเอาข้าวไปให้ วันโน้น ครอบครัวโน้นเอาเสื้อผ้าไปให้

คนไร้ครอบครัวมีชีวิตอยู่ได้ เพราะความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่กัน อุปถัมภ์ค้ำชูกัน

ฯลฯ

แต่คุณยายในรูปนี้อยู่ในเมืองไทย ที่มีความเจริญมากกว่าหลายเท่านัก

เมืองที่กล่าวกันว่าคนมีการศึกษาสูงกว่า ทรัพยากรแผ่นดินลงมาในเมืองมากกว่า ฯ

แต่คุณยายต้องมาเดินริมถนน เอ่ยปากขอ…

ความเจริญคืออะไร…?


บันทึกวิถีธรรมชาติ

321 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 ธันวาคม 2010 เวลา 21:31 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3410

ถ้าพอมีเวลายามเย็น ก็มักจะคว้ากล้องถ่ายรูปไปดูเมฆสวยๆ แต่ก่อนไม่ได้ออกไปไหนก็ปีนหลังคา มุมสูงๆเห็นท้องฟ้ากว้าง หากมีเมฆสวยๆด้วยแสงอาทิตย์แล้วก็ถ่ายเก็บไว้จำนวนมาก บางวันก็ขับรถไปตามถนนรอบเมือง หามุมที่สวยๆ บางวันก็ไปที่บึงบำบัดน้ำเสียใกล้ๆบ้าน เป็นพื้นที่กว้างแม้จะไม่ได้อยู่มุมสูงก็เห็นท้องฟ้ากว้างไกล


คนเมืองก็มีสวนสาธารณะมาออกกำลังกายตอนเช้าตอนเย็น มีสนามเด็กเล่น มีสนามมอเตอร์ไซด์ มีสนามเครื่องบินเล็ก มีสนามจักรยานวิบาก ชาวบ้านก็มาหาปลาในบึงนี้ด้วยเครื่องมือหลากหลาย วิวตอนพระอาทิตย์ตกดินสวย บางวันก็เอาน้องหมามาเล่นด้วย เท่าที่มีโอกาส


แน่นอนหลายครั้งก็ชวนคนข้างกายมาพักผ่อน เธอก็มักจะหิ้วสกุลไทยติดมาด้วย

บริเวณนี้มีต้นไม้ขึ้นโดยธรรมชาติ ตามคันบึง ซึ่งก็เป็นขยะทางธรรมชาติ ไม่ได้อยู่ในเมืองก็มักปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ


มีต้นมะขามเทศต้นหนึ่งหากดูห่างๆก็กำลังจะตายและล้มลง ไม่น่าจะ มีอะไร ผมเห็นหลายครั้งที่มาแต่ไม่ได้สนใจอะไร แต่ครั้งนี่เข้าใกล้ สังเกต เอ มีอะไรติดเต็มลำต้นเลย เข้าไปใกล้ๆก็เข้าใจ นั่นคือ ยางที่ออกมาจากลำต้นมะขามเทศ ที่เรียก “ขี้ซี” เต็มต้นเลย น่าจะเป็นสาเหตุให้เขาต้องล้มตายไป

ผมไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรมากมายขนาดนี้ หากเป็นต้นไม้ใหญ่ในป่า รู้ว่ามีขี้ซีที่เกิดขึ้นจากต้นไม้นั้นโดนแมลงเจาะ เหมือนต้นไม้เขารู้ว่าเมื่อแมลงเจาะก็ต้องอุดรู โดยผลิตยางออกมาปิดรู


เจ้ายางไม้นี่เองเป็นประโยชน์สำหรับมนุษย์ เอามาทำหลายอย่าง เช่น ทำเชื้อเพลิง เป็นองค์ประกอบการจับนกของชาวบ้านป่าบ้านดอยในเวลากลางคืน ใช้ยาเรือ ยาตะกร้า หรือ คุ สำหรับตักน้ำแบบโบราณ องค์ประกอบทำด้ามเครื่องมือชาวบ้าน และอื่นๆอีกมากมาย


ฝรั่งเรียก Rasin ที่ต้นมะขามเทศต้นไม่ใหญ่โตนี้มี Rasin เต็มไปหมด เหมือนคนเป็นโรคปุ่ม หรือท้าวแสนปม แต่มันมีประโยชน์ เนื่องจากจำนวนมันไม่มากจนเป็นกอบเป็นกำ ชาวบ้านจึงไม่มาเก็บไปขาย หรือเอาไปสำรองที่บ้านเพื่อใช้ประโยชน์ดังกล่าว อาจเพราะเด็กยุคใหม่ไม่รู้จักแล้ว หรือชาวบ้านเลิกใช้หมดแล้วเพราะทุกอย่างทันสมัยใหม่หมด เทคโนโลยีเก่าๆก็แค่เล่าสู่กันฟังเท่านั้น เผลอๆเด็กยุคใหม่ หาว่าพ่อแม่ ลุงป้า เล่านิทานโกหกเสียอีก ก็เคยได้ยินมาแล้ว

โลกเปลี่ยนไป สังคมเปลี่ยนไป เราห่างไกลธรรมชาติมาก อีกสักหนึ่ง สอง ทศวรรษ เด็กยุคนั้นอาจไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในชนบทได้ด้วยตัวเอง เพราะความรู้ในเรื่องเหล่านี้ผ่านเลยไปหมดแล้ว ความรู้เรื่องการพึ่งตัวเองจากธรรมชาติ เขาไม่รู้เรื่องแล้ว ความรู้ชุดนั้นหมดไปแล้ว โรงเรียนก็ไม่เห็นความจำเป็นต้องสอน พ่อแม่ก็ได้แต่เล่านิทาน กาลครั้งหนึ่ง พ่อไปเข้าป่าหาขี้ซี…. เด็กคงขำกลิ้ง..

ผมคุยกับบางคนว่า เออ บางทีสถาบันการศึกษาควรจะพิจารณาลงไปทำวิจัยและบันทึกการดำรงชีวิตแบบพึ่งธรรมชาติของบรรพบุรุษเรานะ เพราะอนาคตพลังงานหมดไป วิกฤตสังคมเมือง โลกหันหน้าสู่อดีต เราจะไปควานหาความรู้ในอดีตมาจากไหน บรรพบุรุษก็ไม่ได้บันทึกไว้ ใครๆก็ไม่ได้ทำ เพราะความรู้ติดตัวก็หายไปพร้อมกับการตายจากไป

การบันทึกไว้จะเกิดประโยชน์แน่นอน เชื่อหัวไอ้เรืองเถอะ..อิอิ


สำนึกสาธารณะ

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 28 ธันวาคม 2010 เวลา 12:23 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 1383

เมื่อวานผมนั่งคุยกับเพื่อนบ้าน เราจูงมือกันมาซื้อบ้านพักในหมู่บ้านเดียวกัน เพื่อนเป็นแคธอลิค ที่เคร่งครัดคนหนึ่ง เกือบบวชเป็นพระไปแล้ว ไปเจอสาวงามริมโขงเข้าเลย ไม่ได้บวช แต่ก็ทำตัวเหมือนนักบวชที่มีพระคัมภีร์ในหัวใจ

ในหมู่บ้านที่พักอาศัยขึ้นชื่อลือชาว่าเพื่อนเป็นนักธรรมชาติวิทยา ไม่ทำความสะอาดบริเวณบ้าน เลี้ยงน้องหมาหลายตัว แต่ก็ดูแลอย่างดี ยามที่เขาออกไปถ่ายมูลหน้าบ้านใครก็จะเดินไปเก็บกวาดไม่ให้เพื่อนบ้านหมองใจ วันดีคืนดีก็เอาขวดน้ำมาตัดปาก แล้วเอาไปผูกโคนต้นไม้ เอาน้ำใส่เข้าไป บอกว่า ให้น้ำแก่มด หรือนกหนูทั้งหลายที่อาศัยบริเวณบ้าน


ต้นไม้ที่ใหญ่โตใบล่วงลงดินก็เอาไปกองไว้ริมรั้วเต็มไปหมด ไม่ได้เก็บใส่ถุงดำเอาไปทิ้ง หรือเอาไปทำปุ๋ยหมัก คงปล่อยให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่ย่อยสลายเอง แต่กลายเป็นที่อยู่ของหนูจำนวนมาก เพื่อนก็เอาสะพานไปหาดหลังคาบ้านสองหลังเข้าด้วยกัน อธิบายว่า ให้แมวที่บ้านสองสามตัวเดินไปมาได้…ฯลฯ เรื่องที่ชาวบ้านคนอื่นเขาไม่ทำกัน เพื่อนทำ

เพื่อนเป็นผู้มีความรู้ดี การศึกษา จบ ป โทที่ AIT แต่มานั่งรับงานแปลที่บ้าน และ Job ต่างๆแบบFreelance ไม่ทำงานประจำ ช่วยเหลือมูลนิธิสมาคมต่างๆแบบไม่เอาค่าตอบแทน มีมูลนิธิหนึ่งมาเชิญไปเป็นที่ปรึกษา เขียนโครงการไปขอทุนจากฝรั่งเศส เขาอนุมัติมาสองล้านบาท แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องอย่างนั้น อย่างนี้ เพื่อนก็คืนเงินเฉยเลย หากให้ต้องไม่มีเงื่อนไข แหมช่างเหมือนพ่อชาดีแห่งดงหลวงเสียจริง ฝรั่งงอนง้อเท่าไหร่ก็บอกว่า ต้องไม่มีเงื่อนไข จนฝรั่งบินมาดูตัว เพื่อนก็ยืนยันเช่นเดิม


NGO มีงานนานาชาติที่ไหนก็มักเชิญไปเป็นล่ามแปลให้ เพื่อนก็ไปมาทั่วแล้ว หากมีเวลาผมก็มักไปขอแลกเปลี่ยนความเห็น และมักจะได้มุมมองที่ดีดีเสมอ

วันก่อนผมก็ไปแลกเปลี่ยนกันในสารพัดเรื่อง มีประเด็นที่ผมติดใจและอยากฟังความเห็นเขาคือเรื่องการเคลื่อนตัวของสังคมที่มุ่งเน้นธุรกิจ และความรู้ เทคโนโลยี และสำนึกสาธารณะเราต่างเห็นด้วยเรื่องที่ว่า บ้านเมืองเราเน้นความรู้มาก จากการแข่งขันความรู้ต่างๆแม้ระดับโลก เช่น โอลิมปิค และเด็กของเราก็ได้เหรียญทองมามากมาย แต่ค่าเฉลี่ยของประเทศตกต่ำลง ที่สำคัญ เรามีความรู้ดี แต่ความประพฤติไม่ดี สังคมเราเน้นความรู้มานาน แต่อ่อนด้อยสำนึกดี เลยคิดกันว่า เราอาจต้องเปลี่ยนโจทย์ใหม่ ต้องเน้น “กระบวนการสร้างสำนึกดี” กระบวนการนี้จะหมายรวมไปถึงนอกโรงเรียนด้วย และไม่เฉพาะเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่ทั้งสังคม


หลายครั้งผมเห็นคนขี่มอเตอร์ไซด์ขับผ่าไฟแดงไป บ่อยมากๆ ไม่ว่าเมืองไหน จังหวัดไหน มีทั้งนั้น ผมหงุดหงิดใจ ผมมองว่านั่นคือสำนึก มันเป็นสิ่งเล็กน้อยสำหรับบางคนที่คิด แต่ผมคิดว่า มันสะสม และจะกระทำสิ่งที่รุนแรง เสียหายมากกว่านี้ได้ในอนาคต

มีไหมสถาบันการศึกษาที่สร้างสำนึกเป็นเป้าหมายใหญ่ เคียงคู่กับการสร้างความรู้

ระบบการวัดผลเรามีการประเมินเรื่องสำนึกมากน้อยแค่ไหน น่าจะมีอยู่แต่การให้ความสำคัญอาจจะเป็นรองความรู้

สำนึกที่กล่าวถึงนี้ เป็นสำนึกที่ดีนะครับ..

ไม่ใช่เพื่อนโดนทำร้ายก็เกิดสำนึกเอาระเบิดไปขว้างใส่คู่อริบนรถเมล์กลางมหานคร ?


4 G Model

298 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 ธันวาคม 2010 เวลา 21:34 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 6117

คนในวงการเรื่องนี้ก็ต้องบอกว่า เป็นเรื่องพื้นๆ ที่รู้กันมานานแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องจริง เพราะการพัฒนาพื้นที่ชลประทานให้ใช้ประโยชน์สูงสุดนั้น โลกเรามีประสบการณ์มานานนับร้อยปี แต่ระบบชลประทานสมัยใหม่ก็มีประสบการณ์หลายสิบปี มาแล้ว หลักการก็ซ้ำๆ เหลือเพียงว่าใครสามารถนำหลักการไปสู่การปฏิบัติได้มากแค่ไหน ตามหลักการ ประหยัดสุด ประโยชน์สุด นั่นเอง


แต่ละโครงการมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป น้ำหนักของความสำคัญ หรือลำดับความสำคัญก็แตกต่างกันไป นั้นผู้ทำงานต้องเก็บข้อมูลมาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แล้วเอามาวิเคราะห์ ให้เห็น ศักยภาพ คุณภาพ จุดแข็ง จุดอ่อน ซึ่ง ทางวิชาการมีเครื่องมือมากมายที่จะนำมาพิจารณาใช้ให้เหมาะสม

ในกรณีระบบชลประทานในประเทศลาวที่ไปสัมผัสมานั้น มีหลายประเด็นที่ต้องเข้าไปวางระบบเสริม ต่อยอดจาดเดิม มีทั้งข้อเหมือนและแตกต่างกับบ้านเรา

ระบบชลประทานถือว่าเป็นเทคโนโลยี่ทางการผลิตการเกษตรร่วมกัน การบริหารจัดการนั้นมีความสำคัญ ยิ่งโครงการมีขนาดใหญ่ การบริหารก็ยิ่งเป็นเรื่องมีผลมากต่อประสิทธิภาพการผลิต ต้องใช้วิชาการทางวิศวกรรมและศาสตร์การบริหารจัดการค่อนข้างมาก

ผมทราบว่าในประเทศลาวมีโครงการที่ประสบผลสำเร็จหลายโครงการ เท่าที่ผมมีเวลาศึกษาระยะเวลาสั้นๆ พบว่า คนเป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ส่งผลถึงความสำเร็จนั้นๆ ซึ่งเราก็เรียนรู้มานาน ประเด็นคือ การบริหารจัดการอย่างไรจึงทำให้คนให้ความร่วมมือกับการบริหารจัดการจนสำเร็จ ซึ่งในประสบการณ์ก็บ่งชี้หลายปัจจัย ซึ่งเกี่ยวข้องกันไปหมด ไม่ว่าระบบโครงสร้างชลประทานดี ไม่มีปัญหาในการส่งน้ำ ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำมีความสามารถในการบริหารจัดการภายในกลุ่มของตัวเอง เจ้าหน้าที่ราชการที่มารับผิดชอบ ทุ่มเทความรู้ความสามารถในการถ่ายทอดความรู้และสามารถจัดการทุกอย่างให้ตอบสนองการผลิตได้ดี ตัวสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำเอง พยายามทำความเข้าใจและเคารพกติกากลุ่มอย่างตรงไปตรงมา และที่สำคัญสุดคือ ผลผลิตที่ได้สามารถตอบสนองเกษตรกรได้ นั่นหมายถึงภาคตลาดตอบรับผลผลิตจนสร้างผลตอบแทนเกษตรกรจนเป็นที่พอใจ

แต่ละเรื่องมีรายละเอียดยิบยับ และเปลี่ยนแปลงตลอด เช่น ระบบชลประทาน คูคลองต่างๆ มันมีอายุการใช้งาน ต้องมีมาตรการดูแลรักษาซึ่งต้องให้เกษตรกรมีส่วนร่วม ร่วมแบบไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ใครบ้างที่ควรเข้าร่วม ถ้าไม่ร่วมทำอย่างไร


การผลิตต้องใช้ความรู้วิชาการเข้ามาไม่น้อย เพราะน้ำที่ใช้คือต้นทุนการผลิต Minimum requirement น้ำ ของข้าวและพืชที่ปลูกอยู่ที่ตรงไหน ความรู้นี้นักส่งเสริมการเกษตร นักพัฒนาชุมชนต้องเรียนรู้แล้วเอาไปถ่ายทอดให้เกษตรกรซ้ำแล้วซ้ำเล่า น่าเสียดายที่นักโฆษณา ประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพไปรับใช้ภาคธุรกิจหมดสิ้น แต่ไม่มีสักคนที่ก้าวเข้ามาเอาความรู้มาใช้กับโครงการชาวบ้านแบบนี้ ข้าราชการก็ใช้วิธีประชุมเท่านั้น เทคนิค วิธีการทางประชาสัมพันธ์นั้นไม่มีความถนัดที่จะทำ ซ้ำบางคนขี้เมาก็หนักเข้าไปอีก พูดจาอะไรชาวบ้านก็ไม่ฟังไม่เชื่อถือ

อ้าว…จะกลายเป็นเลคเชอร์ไปแล้ว…

จริงๆอยากย้ำว่า ความรู้พื้นฐานเดิมๆยังใช้ได้ ที่นำมาพัฒนากระบวนการทั้งหมดของระบบชลประทาน เราอาจเรียกให้ทันสมัยว่า 4 G ระบบชลประทานต้องดี พร้อมที่จะจัดการน้ำไปสู่แปลงเกษตรกร ผู้นำกลุ่มผู้ใช้น้ำต้องมีความรู้ ความเข้าใจสาระทั้งหมด และมีทักษะในการบริหารงานกลุ่มผู้ใช้น้ำและระบบที่มีส่วนรับผิดชอบ และหากมีสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำที่เรียนรู้สิ่งที่ต้องรู้ทั้งหมด และให้ความร่วมมือ และรู้จักพัฒนาการผลิต แบบอาศัยปัจจัยน้ำตามระบบรวมได้ และท้ายที่สุด คือการพัฒนาระบบบริหารจัดการระบบใหญ่ ระบบย่อยได้ ตอบสนองทุกส่วนได้ และมีประสิทธิภาพ โดยอยู่บนฐานของความต้องการของเกษตรกรผสมผสานกับหลักวิชาการ ระบบ 4 G ก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญตลอดมาและตลอดไป เพียงแต่ปรับความเหมาะสมให้สอดคล้องในแต่ละโครงการ พื้นที่ ฯลฯ

เหลือแต่ว่าทำอย่างไร?

โครงการชลประทานที่ประสบผลสำเร็จบ่งชี้ว่าต้องมีการบูรณาการที่แท้จริง

หากทำได้ 4 G ก็คือแกงโฮะ ที่อร่อยที่สุดนั่นเอง



ความด้อย

44 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 ธันวาคม 2010 เวลา 6:05 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 883

หลังจากตระเวนเก็บข้อมูลแล้วก็ถึงเวลาเขียนรายงาน

//\\

งานพัฒนาสังคมชุมชน คืองานแก้ปัญหาความด้อยของคนในชุมชน

เป็นงานที่เอาปัญหาของคนอื่นมาคิด แก้ไขร่วมกับเขา ฯลฯ

มีเรื่องราวมากมายที่สะท้อนสภาพสังคม ความคิด พฤติกรรม ความเชื่อ

เห็นเขา เห็นโลก เห็นเรา..


มอ. มหาวิทยาลัยเพื่อท้องถิ่น

182 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2010 เวลา 10:42 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 10144

คุณตุ๊เพิ่งกลับมาจากภาคใต้ที่เธอไปตระเวนมาหลายจังหวัด เพราะงานในหน้าที่นักวิจัย เธอก็มาเล่าให้ฟังหลายเรื่อง ซึ่งปรกติก็จะเอามาแลกเปลี่ยนกันบนโต๊ะอาหารประจำ

เธอแสดงความเห็นชอบอกชอบใจ ชื่นชม มอ.  ว่า  มอ.ตั้งทีมด่วนสำรวจสภาวะหลังน้ำท่วมในหลายด้าน เพื่อเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ และใช้ประโยชน์เพื่อการแก้ปัญหาในหลายๆเรื่อง เช่น แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วม แนวทางการช่วยเหลือแบบถูกต้องตามความต้องการจริงของผู้ถูกน้ำท่วม ไม่ใช่เอะอะก็บะหมี่ ก็มันไม่มีไฟ ไม่มีฟืนจะหุงข้าวต้มหมี่ได้อย่างไร ความช่วยเหลือนั้นดี แต่ดีกว่าหากช่วยตรงจุด งานเก็บข้อมูลสนามจึงมีความสำคัญมากๆ และมหาวิทยาลัยท้องถิ่นได้ทำหน้าที่นี้ได้สุดยอด

งานนี้เป็นความร่วมมือหลายภาคส่วนมิใช่มหาวิทยาลัยเพียงหน่วยเดียว หน่วยงานราชการอื่น NGO อปท. แม้สถาบันการเงิน กลุ่มธนาคารก็เข้ามาร่วมสนับสนุนการเก็บข้อมูล ชื่นใจจริงๆพี่น้องเรา… การทำเช่นนี้เป็นแบบอย่างให้คุณตุ๊เอาไปพูดคุยกันในมหาวิทยาลัยขอนแก่นด้วย ผมเห็นว่าสำคัญจึงขอหยิบเอามาเขียนที่นี่

จริงๆมีผู้บริจาคทั่วประเทศมากมายไปสู่พี่น้องที่โดนน้ำท่วม ไม่เฉพาะภาคใต้ อีสานทั้งหมด และอื่นๆ ทั้งวัสดุ สิ่งของกิน ของใช้ แม้เงินทอง หลายร้อยล้านบาท หากเอาทุกแห่งมารวมกัน นี่คือน้ำใจสังคมไทย นี่คือทุนสังคมไทย นี่คือวัฒนธรรมไทย

แต่หากผมเป็นผู้บริหารจัดการความช่วยเหลือ เช่นหากผมเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ก็คิดไม่ออกเหมือนกันว่า ช่วยแบบไหนที่จะถูกต้องตามความต้องการที่สุด คิดไม่ออกก็สั่งการไปก่อน อะไรก็ได้ที่สามัญสำนึกจะคิดได้ ก็หนีไม่พ้นอาหารของใช้ ยารักษาโรค ก็ถูกต้องในระดับพื้นฐาน แต่สิ่งอื่นเล่า… อันนี้ก็จนปัญญา ดังนั้นการศึกษาวิเคราะห์โดยนักวิชาการท้องถิ่นจึงตอบสนองเรื่องนี้โดยตรง

วันก่อนที่ฟัง ผู้จัดการรายการทีวีรายการหนึ่งมากล่าวว่า เขาศึกษาเบื้องต้นแล้ว และพบวิธีจัดของความช่วยเหลือให้เพียงพอกับคนในครอบครัวหนึ่งๆอยู่ได้ตลอดหนึ่งสัปดาห์นั้นคืออะไรบ้าง… จัดเป็นชุด เป็น Packages ฟังดูก็คิดว่า การช่วยเหลือเข้าไปใกล้ความต้องการอีกขั้นหนึ่ง ผมเชื่อว่าผลงานศึกษาครั้งนี้น่าจะช่วยการปรับกระบวนการช่วยเหลือได้เข้าไปใกล้คามต้องการจริงมากขึ้น… แล้วก็อาจจะออกเป็นคู่มือมาให้กับผู้บริหารบ้านเมืองในทุกพื้นที่ เป็นกรณีศึกษาเพื่อเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมต่อไปในเงื่อนไขเฉพาะถิ่นอื่นๆ…

เธอบอกว่า การเยียวยาช่วยเหลือช่วงประสบเหตุนั้นเป็นเรื่องด่วนที่ต้องทำกัน แต่ที่สำคัญมากๆอีกเรื่องคือ ความช่วยเหลือหลังน้ำท่วมเพราะเป็นเรื่องฟื้นฟูที่ต้องระดมทรัพยากรทุกด้าน บูรณาการกันอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ การที่ มอ.ใช้โอกาสนีระดมนักวิชาการ นักศึกษา บุคลากรของสถาบัน เอกชน ฯลฯมาช่วยกันเข้าถึงผู้ทุกข์ยากเพื่อรับฟังและเก็บข้อมูลจึงมีประโยชน์มากๆ

ชื่นชม มอ. มหาวิทยาลัยท้องถิ่น มากจริงๆ นี่ซิถึงจะพูดได้เต็มปากว่า เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อสนับสนุนความเจริญของท้องถิ่น…

ขอปรบมือให้ มอ.ครับ


ควายตัวเดียว

120 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2010 เวลา 10:05 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2103

เพื่อนชาวลาวผมตั้งชื่อ “คำ” ให้ใหม่แล้วกัน มีคุณพ่อเป็นอดีตทหารปฏิวัติ บ้านก็อยู่ในเขตสู้รบ เพราะมีเครื่องบินอเมริกัน จากไทยไปทิ้งระเบิดไม่หยุดหย่อน เป็นอันตรายมาก พ่อของคำจึงส่งไปเรียนที่เวียตนามเพื่อความปลอดภัยและเพื่ออนาคตลูก เมื่อคำจบชั้นมัธยมศึกษาก็ได้ทุนไปเรียนปริญญาตรีที่รัสเซีย ทางด้านสังคมวิทยาแล้วก็กลับมาทำงานรับใช้ประเทศ ซึ่งได้รับการปลดปล่อยแล้ว และได้ทุนไปเรียนปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขนด้านพัฒนาสังคม ดูเหมือนสนิทสนมกับอาจารย์คนไทยมาก มีโอกาสท่องไปหลายจังหวัดในเมืองไทย

คำ ออกปากตั้งแต่เจอะกันวันแรกๆว่า อาจารย์ ผมเป็นคนพูดตรงๆนะ โผงผางพูดเสียงดัง หัวเราะเสียงดัง ปานฟ้าถล่ม เมื่อเขาออกตัวเช่นนั้นก็ทำให้ผมสนิทสนมกับคำอย่างรวดเร็ว ซึ่งปรกติผมเป็นคนเฉยๆ เงียบ ไม่ชอบพูดเล่นกับคนที่ไม่สนิท เราออกสนามกันก็เลยนั่งติดกัน เป็นโอกาสดีที่ผมถือจังหวะนี้สอบถามความรู้ต่างๆเกี่ยวกับสังคมลาวจากคำ..

เนื่องจากคำมีภาษาอังกฤษดี จึงได้ทำงานกับองค์กรต่างประเทศ ที่เข้ามาช่วยเหลือลาวมากมาย เขาเล่าให้ฟังหมด หากคนที่ไม่รู้จักกันก็อาจจะกล่าวว่า อีตานี่ขี้โม้จัง คำเตรียมแบบสำรวจชุมชนเข้าพื้นที่เพื่อ pretest ผมได้ดูแล้วก็เก็บความเห็นไว้ในที่ประชุม โดยรวมก็ใช้ได้


แขนงชลประทานนครหลวง เป็นตำแหน่ง เหมือนเจ้าหน้าที่ชลประทาน ชื่อ บุญ เป็นคนพาเข้าพื้นที่เพื่อให้คณะและ คำ Pretest แบบสำรวจนั้น ผมเองก็เดินเก็บสภาพทั่วไปของชุมชน ก็เหมือนหมู่บ้านภาคอีสานทั่วไป มีร้านค้าแบบชาวบ้าน ในรั้วรอบบ้านก็มีพืชผักสานครัวเกือบทุกหลังคาเรือน มีพ่อค้าเร่มาขายของกินของใช้ใส่รถปิคอับเก่าๆบ้าง ใส่ท้ายมอเตอร์ไซด์บ้าง…

ผมไปนั่งฟัง คำ สำรวจข้อมูลชาวบ้าน ไปผมก็จดบันทึกไปและตั้งคำถามในใจหลายต่อหลายเรื่อง แต่คนที่ทำงานสำรวจข้อมูลนั้นจะไม่ไปถามขัดที่ คำ กำลังเป็นผู้ถามหลัก ยกเว้น คำถามนั้นจะสอดคล้องกับสาระที่ผู้ถามหลักถามอยู่ และไม่ได้ฉีกประเด็นออกไป เพื่อให้การสอบถามไหลรื่นไปตามผู้สำรวจหลัก แม้ว่าเราอยากจะรู้อะไรมากมายก็ต้องปล่อยให้เขาดำเนินการไปจนสิ้นสุดก่อน นี่เป็นความเข้าใจพื้นฐานของคนทำงานสำรวจแบบมีส่วนร่วม


แพะ ที่นี่นิยมเลี้ยงแพะกัน เหมือนวัวเหมือนควาย และบ่อยครั้งเราจะเห็นแพะมาเดินบนถนนที่เราขับรถผ่านจนเกิดอุบัติเหตุก็มีบ่อยๆ

ระหว่างทางเดินเข้าหมู่บ้านนั้น ผมถาม คำ ว่า ทำไมนิยมเลี้ยงแพะ คำ ตอบว่า อาจารย์ เนื้อเพาะอร่อย คนที่นี่ชอบมากกว่าเนื้อควาย แม้วัว เหตุผลที่สำคัญประการหนึ่งคือ แพะตัวเล็กกว่าวัว ควายเยอะ ขนาดพอดีที่จะซื้อไปฆ่าเอาเนื้อพอดีกับขนาดครอบครัว หรือวงเพื่อนฝูงที่มาสังสรรค์กันที่บ้าน ไก่ก็เล็กไป วัว ควายก็ใหญ่ไป แพะกำลังพอดี ราคาตัวละ 1,000-3,000 บาท กำลังพอดี..

ที่บ้านคำนั้นอยู่ในเมืองเวียงจัน แต่เขาซื้อวัวแล้วให้ชาวบ้านเลี้ยงแบ่งลูกกัน เหมือนคนไทย ที่เรียกว่า จ้างเลี้ยงวัวแบ่งครึ่ง ชาวบ้านบางครอบครัวไม่มีทุนซื้อวัว แต่มีแรงงาน คนพอมีเงินก็ซื้อมาให้เลี้ยงแล้วแบ่งลูกกัน เลี้ยงไปมาเผลอหลายปีก็กลายเป็นวัวฝูง แล้วคนออกเงินก็ขายยกฝูงไปได้เงินก้อน ที่เขาเรียกวัวออมสิน

ระหว่างที่ คำ สำรวจข้อมูล พบว่า หมู่บ้านลาวเปลี่ยนไปใช้รถไถนาเดินตามกันหมดแล้ว นี่คือประเด็นใหญ่สำหรับผมที่ต้องเอาไปคิดต่อในการทำคำแนะนำการพัฒนาพื้นที่ชลประทาน.. แล้วก็มาถึงคำถาม “นายบ้าน” ว่า “บ้านเจ้าทั้งหมู่บ้านนี่มีรถไถเดินตามกี่ครัวเรือน” นายบ้านตอบว่า ร้อยละ 90 มี แล้ว คำ ถามต่อว่า “แล้วมีวัวจั๊กโต๋” มีร้อยป๋าย.. ร้อยสามสิบนี่แหละ คำถามต่อว่า แล้วหมู่บ้านนี้มีควายจั๊กโต๋”

เสียงนายบ้านตอบผมได้ยินชัดเจนว่า “มีโต๋เดียว”

ขณะที่จำนวนรถไถเดินตามเพิ่มมากขึ้นในหมู่บ้าน และควายที่อดีตคือแรงงานหลักในการทำนา และผูกพันกับวิถีเกษตรกรมานานนับร้อยนับพันปี เขาควายเอาไปทำประโยชน์ หนังควายเอาไปทำรองเท้า กระเป๋า มากมาย

ควายกำลังจะสิ้นสุดลงแล้วหรือ..?


มัดหมี่พระเวสสันดร

741 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 ตุลาคม 2010 เวลา 20:55 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 32125

คนรักผ้าเห็นมัดหมี่ไหมผืนนี้แล้วก็กรี๊ด…

ชาวบ้านที่มีสมองซับซ้อนสามารถมัดหมี่ไม่รู้ว่าสมองต้องวางแผนกี่สิบชั้นผลิตมัดหมี่ที่เป็นเรื่องราวพระเวสสันดรได้ แม้ว่าลวดลายบางส่วนอาจจะไม่คมกริบ ยังมีขาด เกินบ้าง แต่โดยรวมแล้วนับว่าสุดยอด

วันนี้พาคุณตุ๊ไปดู OTOP ที่ชายแดนโคราช-ขอนแก่น ไม่น่าเชื่อว่า ชาวบ้านจะพัฒนาไปไกลถึงระดับที่ได้ “มาตรฐานนกยูง” ของสมเด็จท่าน กล่าวกันว่า OTOP จำนวน 1000 แห่งนั้นที่จะได้มาตรฐานนกยูงนั้นมีไม่ถึง 10 แห่ง

ราคาหรือครับ ห้าหลักขึ้นไปครับ

แอบภูมิใจภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ได้รับการส่งเสริมจนพัฒนาไปไกลมากทีเดียว


ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ 2

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กันยายน 2010 เวลา 15:12 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 2530

เราตั้งคำถามแก่กลุ่มผู้อาวุโสของเครือข่ายไทบรูดงหลวง ที่มีอายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป เราพบข้อมูลในเรื่องวิถีชีวิตมากมายค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องเราไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะมีอยู่ และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ชาวบ้านไม่ได้อธิบายหากเราไม่ตั้งคำถาม และบางเรื่องเราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอะไร แต่ข้อมูลมีอยู่ เรากะว่าทิ้งเวลาไว้ให้เราทบทวนข้อมูลที่ได้แล้วจะกลับมาสอบถามเพิ่มเติม แม้ว่าจะยังไม่ถึงที่สุดแต่ก็เห็นภาพที่ชัดเจน เราทดลองเอาข้อมูลมาจัดหมวดหมู่โดยใช้ Mind map ก็ได้แผนภาพดังกล่าวนี้

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเอามาจัดหมวดหมู่ในรูปแบบใหม่ เพื่อง่ายต่อการพิจารณาให้เข้ากับหลักปัจจัย 4 เราจะได้ข้อมูลดังแผนภาพ

เมื่อเราพิจารณาข้อมูลเราพบว่าสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ที่วิถีสังคมดงหลวงโบราณสร้างขึ้นและมาครบถ้วน ดูแผนภาพต่อไปนี้


เมื่อเราให้สีที่แตกต่างกันเราก็เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 แน่นอนครับเกษตรกรไม่ได้ทำกิจกรรมทั้งหมด ในแต่ละครอบครัว เช่น แต่ละครอบครัวไม่ได้ปลูกถั่วทุกชนิด แต่ถั่วทุกชนิดนั้นมีปลูกอยู่ในชุมชน และอาจจะมากกว่านี้ ข้อมูลเหล่านี้คือความหลากหลายของชนิดพืชและกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ถ้วน ทั้งหมดนี้ทำเอง ปลูกเอง สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อหามา อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกัน

เมื่อมีเวลาเราให้ชาวบ้านเล่าเรื่องข้าวสมัยนั้น ว่าแต่ละพันธุ์นั้นเป็นเช่นไรบ้าง ลักษณะพันธุ์ สี ขนาด วิธีปลูก การเก็บเกี่ยว การบริโภค การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษา ความนิยมในการบริโภค ฯลฯ พิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เราเสียดาย ว่าความรู้เหล่านั้นกำลังสูญหายไปกับการเคลื่อนตัวของสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่…

ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์ซอด(เป็นเสียงที่เราฟังเอามาบันทึก หากผิดเพี้ยนก็ขออภัย) ชาวบ้านบอกว่าเมล็ดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถเกี่ยวได้เมล็ดมันจะร่วงต้องใช้วิธีรูดเอาเมล็ดจากรวงใส่ภาชนะเลย จินตนาการไปมือไม้ชาวบ้านที่ทำงานหนักแบบนี้คงจะหยาบกร้าน ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ อีน้อยกับซอด

ที่มหัศจรรย์คือ ครอบครัวหนึ่งนั้นมีที่ดินปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ มากสุดไม่เกิน 5 ไร่ และปลูกทุกอย่างผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่นั่นแหละ นี่คือแปลงพืชผสมผสานจริงๆ มีทุกอย่างที่กินได้อยู่ในสวนนี่เอง


แต่ต้องเฝ้าตลอดมิเช่นนั้น ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินพืชผัก เพราะหมูป่ามากินหมด ต้องตีเกราะ เคาะวัตถุให้มีเสียงดังๆ หมูป่าจะได้หนีไป นอกจากหมูป่าก็มีนก ลิง ทั้งนกทั้งลิงมันมาเป็นฝูงหากเผลอลงกันละก็ปีนั้นไม่ได้กินข้าวแล้ว ต้องหาของไปแลกข้าวแล้ว ฯลฯ

สรุป

  • ลักษณะวิถีชีวิตของคนดงหลวงสมัยก่อนนั้นอยู่กับธรรมชาติ
  • การเกษตร ปลูกข้าวเหนียวไร่พันธุ์พื้นบ้าน ซึ่งปัจจุบันหายสูญพันธุ์ไปเกือบหมดแล้ว
  • การปลูกพืชผักนั้นผสมผสานอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับแปลงปลูกข้าวซึ่งล้อมรั้วกันวัวควายเข้ามากิน
  • ศัตรูที่สำคัญของข้าว พืชผักคือ สัตว์ป่า เช่น หมูป่า นก ลิง โรคแมลงไม่มี
  • สภาพดินอุดมสมบูรณ์มากเพราะเป็นพื้นที่บุกเบิกใหม่ ดินร่วนซุย
  • ไม่มีเครื่องจักรเครื่องยนต์ ใช้แรงงานเท่านั้น
  • นับถือผี ปู่ตา พระที่วัด
  • ประเพณีที่สำคัญคือ 3 ค่ำเดือน 3
  • ไม่มีค่านิยมเชิงบริโภคเช่นปัจจุบัน


เตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน ๒

23 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 กันยายน 2010 เวลา 21:37 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 662

สมัยทำงานที่สะเมิงนั้น นอกจากจะใช้มอเตอร์ไซด์ที่รักของเราแล้ว บ่อยครั้งที่ต้องใช้ปิคอัพ เพราะไปหลายวัน ตามแผนงานต้องไป 27 หมู่บ้านเพื่อประชุมทำความเข้าใจชาวบ้านเรื่องการจัดตั้งกลุ่ม Credit Union หรือกลุ่มออมทรัพย์ ก็ขออนุญาตผู้จัดการเอารถปิคอัพไปเพราะต้องเอาสัมภาระต่างๆไปด้วย เช่น ชุด เขียนที่เราเรียก ไวท์ บอร์ด เครื่องเขียน ขาตั้ง ของหลายอย่างเป็นวัสดุสิ้นเปลืองก็ต้องมีเก็บไว้ในห้องเก็บของ พร้อมที่จะเอามาใช้งานได้ ระบบสำนักงานปัจจุบันเขารู้เรื่องเหล่านี้ดี

สะเมิงนั้นห่างไกลเมืองเชียงใหม่ หากขาดเหลืออะไรแล้วยากลำบากที่จะซื้อหามาใช้ทันท่วงที การทำงานด้านนี้ต้องแม่น งานด้านสังคมสนับสนุนจัดตั้งกลุ่ม Credit Union นั้น ผมมีลูกน้องอีกสองคน เจ้าสาย กับสมจิต เป็นชาวบ้านที่เราพัฒนาเขาขึ้นมาเป็นเจ้าหน้าที่โครงการ ติดสอยห้อยตามเราไปตลอดทุกที่ ให้เขาช่วยเรื่องการอบรมการทำบัญชีเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน ดังนั้นเวลาเดินทางไป 27 หมู่บ้าน สองคนก็ไปกับเราด้วย สิ่งที่ขาดไม่ได้คือ อาหาร เราไม่ต้องการรบกวนชาวบ้าน แค่ไปนอนบ้านชาวบ้านก็เป็นบุญคุณหาที่สุดมิได้แล้ว เราจึงซื้อถังแช่ ใส่ท้ายรถขนาด 1 คิว หรือเล็กกว่า สำหรับใส่อาหารเอาไปทำกินระหว่างเดินทางไปทำงานตลอด 5-7 วันนั้น ส่วนมากก็เป็นผัก เนื้อ และอื่นๆที่อยากกิน ซื้อน้ำแข็งก้อนใส่เข้าไป ก็กลายเป็นห้องเย็น กะให้พอก็แล้วกัน แล้วก็ตระเวนไป ค่ำนี้ประชุมบ้านนี้ นอนบ้านนี้ ค่ำโน้นย้ายไปบ้านโน้นนอนที่บ้านโน้น บางหมู่บ้านเราก็ขอนอนที่วัด ที่โบสถ์ และใช้วัดใช้โบสถ์นั่นแหละเป็นที่ประชุม เรียกว่าใช้สาธารณะสถานให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนเต็มที่ไม่ต้องไปสร้างห้องประชุม ประแชมอะไรให้มากความ พระท่านก็มานั่งฟังด้วย ก่อนเริ่มประชุมก็ไหว้พระซะ จบแล้วก็กราบพระด้วย


หากเป็นช่วงฤดูฝนในรถจะต้องมี มีดใหญ่ เลื่อย เชือก โซ่คล้องล้อรถ เตรียมพร้อมสำหรับฟันกิ่งไม้ ต้นไม้ที่มักโค่นลงมาทับเส้นทาง บางครั้งก็ใช้เวลาเป็นวันกว่าจะผ่านไปได้ และบางครั้งเราเอาหมูพ่อพันธุ์ไปให้ชาวบ้านด้วย รถมีอุปสรรคในฤดูฝนไปช้าไปหมูตายเลยก็มี โธ่เจ้าหมู เราไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าเจ้านะ.. ช่วงฤดูฝนเช่นช่วงนี้หละทุลักทุเลสิ้นดี เสื้อผ้าดูไม่ได้ เปียกชื้นไปหมด มีบ่อยครั้งรถติดหล่ม คนขับรถบนดอยจึงนิยมใช้ โตโยต้า มากกว่า อีซูซุ เขาบอกว่า รถที่ใช้น้ำมันเบนซินนั้นแรงดีกว่า หากรถติดหล่ม โตโยต้าจะเอาตัวรอดมากกว่า อีซูซุ อันนี้เป็นสถิติก็แล้วกัน แต่โตโยต้าก็เถอะ บ่อยครั้งเราต้องใช้วิธีย้ายคนไปอยู่ในกระบะหลังแล้วขย่มขณะที่รถวิ่งฝ่าร่องน้ำโคลน ประสบการณ์ชาวบ้านบอกว่า บันทำให้รถเกาะถนนมากขึ้น หรือไม่ก็พบบ่อยๆที่ หากขับมาคนเดียวหรือสองคนขย่มไม่ไหวก็เอาก้อนหินใส่เข้าไปท้ายกระบะนั้นให้มันหนักมากขึ้น แล้วก็ใช้ฝีมือขับลุยร่องโคลนลึกไปจนได้

เมื่อมาทำงานอีสานที่โครงการ USAID กับพวกอเมริกัน ฟอร์มใหญ่ ฟอร์มมาก บ้านพักใหญ่ๆ รถคันใหญ่ๆ ห้องทำงานใหญ่ๆ ตัวฝรั่งเองก็ใหญ่โตมโหระทึก พูดจาเสียงดังคับฟ้า สภาพการทำงานแตกต่างสิ้นเชิงกับสะเมิง มีพนักงานขับรถ ใช้รถจีป ประจำตำแหน่ง วิ่งไปมาระหว่างจังหวัดในอีสานท่องจนทั่วทะลุปรุโปร่ง เจ้ารถจี๊ปวิลลี่นี่ก็กิน(แดก) น้ำมันเป็นอูฐ (เอ อูฐมันกินน้ำนี่ ไม่ได้กินน้ำมันสักกะหน่อย) เติมน้ำมันร้อยบาทวิ่งไปกลับท่าพระขอนแก่นสองเที่ยวก็หมดแล้ว…ป๊าดดดด ไอ้กันนี่มันผลาญทรัพยากรจริงๆ ทั้งหมดล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเคนตักกี้ ซึ่งข้าราชการหลายคนก็ได้ทุนไปเรียนต่อที่นั่น จนจบโท จบเอก ผมเป็นลูกจ้าง ไม่มีสิทธิ์

ผมได้รับประสบการณ์ดีดีที่นี่เรื่องการเตรียมความพร้อมตามระบบนิสัยฝรั่งคือ เขาจะต้องจัด First Aids ใส่ไปในรถทุกคัน พร้อมใช้ เขารู้ว่าการใช้ชีวิตในเมืองไทยนั้นโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพมีอะไรบ้าง เขาก็เตรียมหยูกยาเหล่านั้นไว้มากกว่า First Aids ทั่วไป เช่น เขารู้ว่าบ้านเราน้ำดื่มไม่ได้มาตรฐาน อาหารไม่สะอาดเพียงพอ ฝรั่งท้องเสียมาก บ่อย เขาก็เตรียมยากลุ่มนี้ไว้ น้ำดื่มก็เอาไปด้วย หากหมดจริงๆเขาซื้อน้ำโซดาดื่มครับ ไม่กล้าซื้อน้ำดื่มใส่ขวดบ้านเรา

First Aids มีประโยชน์มากครับ บ่อยครั้งเราได้เอามาใช้ประโยชน์ ทั้งพวกเรากันเอง และชาวบ้านที่เราไปพบ และระหว่างทาง บางทีเราพบอุบัติเหตุก็ได้ใช้จริงๆ มีประโยชน์จริงๆ ผมติดเป็นนิสัยเลย ในรถส่วนตัวปัจจุบันก็ต้องมีชุดนี้อยู่ตลอด ไปที่ร้านขายยาบอกขอซื้อชุดนี้เขาก็จัดให้ หากจะเพิ่มเติมอะไรก็เพิ่มเข้าไป ไม่กี่บาทหรอก แต่เรามีความพร้อมมากกว่า เดินทางใกล้ ไกล ไม่ต้องห่วงเรื่องเหล่านี้ นี่คือประสบการณ์ที่ได้ แต่พึงระมัดระวังนะครับ หยูกยาเหล่านั้นมีอายุใช้งาน ต้องหมั่นตรวจสอบว่าหมดอายุหรือยัง เปลี่ยนซะ ขึ้นเหนือ ล่องใต้ได้เอาช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ก็เป็นกุศลไปอีก

เมื่อผมย้ายไปทำงานกับโครงการไทย-ออสเตรเลีย เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ภาคอีสาน ฝรั่งออสซี่ ก็มี First Aids ที่นี่ใช้ โตโยต้าจีฟ กับรถตู้ ผมว่าทำงานกับออสซี่ทำงานง่ายกว่ามะกัน ลูกทุ่งๆ ง่ายๆ ไม่มีพิธีรีตองมากนัก แต่มีระบบชัดเจนแน่นอน บางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ลามาทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาเพื่อหาประสบการณ์สนาม ผมเอาจีฟไปทำงานสนาม ขับไปเองที่มหาสารคาม แล้วกลับตอนเย็น ถนนจากมหาสารคามไปยางตลาด ออกมาจากตัวจังหวัดหน่อยเดียว พอถึงทางโค้ง ล้อหน้าซ้ายหลุด รถทรุดฮวบ ล้อรถวิ่งแซงไปข้างหน้าตกลงจากถนนยังวิ่งต่อไปจะชนบ้านชาวบ้าน พอดีมีคันนา มันจึงชนคันนากระดอนขึ้นสูงมากแล้วก็ตกลงมา ส่วนตัวรถที่ทรุดลงตัวถังรถสีไปกับถนนเกิดประกายไฟ ชาวบ้านแถวนั้นกรี๊ดกันใหญ่ แล้วก็พากันวิ่งมาที่รถ เมื่อผมควบคุมสติได้ก็ลงไปตรวจสภาพรถ ชาวบ้านกลุ่มใหญ่ก็มาถึง เสียงเอะอะ แล้วต่างก็วิ่งไปที่ท้ายรถ ดูว่ารถคันนี้ทะเบียนเลขอะไร…

จะเอาไปซื้อหวยครับ…..


เตรียมพร้อมสำหรับการทำงาน ๑

45 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 กันยายน 2010 เวลา 15:20 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2518

แต่ละอาชีพก็ต้องพิจารณาความพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหา อุปสรรคต่างๆที่จะเกิดขึ้น หากภาษาสมัยใหม่ก็เรียกว่า Risk Management ผมเองก็วิเคราะห์ไว้เล่มหนึ่งในงานสูบน้ำฯ เป็นการคาดการณ์ว่า ในการดำเนินกิจการนั้นมีโอกาสที่จะเกิดปัญหานั้น ปัญหานี้ขึ้น ซึ่งเราเองก็ใช้การระดมความรู้มาจากทุกแหล่งว่า หากเกิดจะมีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง คนที่เรียนเรื่องนี้มาโดยตรงก็สามารถวิเคราะห์โอกาสการเกิดได้อีก วิเคราะห์ความรุนแรง หรือระดับการเกิดได้ ตลอดจนวิเคราะห์ผลกระทบต่อกิจการ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการหาหนทางแก้ไขเสียตั้งแต่ยังไม่เกิดปัญหานั้นๆ

อันนี้ผมไม่ได้เรียนมาจากสถาบันไหน ได้ประสบการณ์จากการทำโครงการนั้นโครงการนี้ เห็นเขาทำนั่นทำนี่ก็เรียนรู้มาและเอาสิ่งดีดีเหล่านั้นมาปรับใช้กับโครงการปัจจุบัน อย่างดีก็เพิ่มเติมจากอาจารย์ Goo นั่นแหละ

ถามว่าคนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นจะต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง นอกจากความรู้ในวิชาชีพด้านนี้แล้ว องค์ประกอบอื่นๆในชีวิตประจำวันของคนทำงานด้านนี้จะต้องเตรียมพร้อมอะไรบ้าง ผมว่าหัวข้อนี้ไม่มีการสอนในภาควิชาพัฒนาชุมชนในสถาบันไหนๆก็ตาม เพราะอาจารย์ที่สอนๆนั้นหลายท่านไม่เคยทำงานพัฒนาชุมชนจริงๆเลยก็ได้ แต่รู้เชิงหลักการ ทฤษฎีมากมายที่ผมไม่รู้เรื่องตั้งเยอะแยะ

อยากจะบันทึกไว้เผื่อใครเอาไปใช้ประโยชน์บ้าง ดัดแปลงไปใช้บ้าง ก็เป็นบุญกุศลต่อไป

สมัยทำงานที่สะเมิง เป็นการก้าวเข้าสู่วงการนี้แรกๆ ทั้งที่ไม่ได้เรียนมาทางนี้แต่ใจมันชอบ และสมัยนั้นค่อนข้างไม่ชอบอาชีพรับราชการ แม้ว่าพ่อแม่พี่น้องจะอยากให้เราเป็นก็ตาม โครงการที่ผมทำอยู่นั้นใจป้ำมากเลย เขาให้ทุกคนใช้มอเตอร์ไซด์ คันใหม่เอี่ยม เมื่อใช้ครบสามปี ยกให้เลย เป็นแนวคิดไม่เลวนะ เมื่อเรารู้ว่าจะเป็นของเราเราก็รัก ดูแลอย่างดี เจ้าของโครงการเป็นชาวเยอรมัน กำชับอีกว่า “คุณจะต้องดูแลมอเตอร์ไซด์ เหมือนกับคุณดูแลหญิงสาวที่รัก..” นั่นหยอดคำหรูเข้านั่น


ฝรั่งเขามีมาตรฐานสูงกว่าเราในหลายเรื่อง (แต่บางเรื่องก็โหล่ยโท่ย) ไม่ใช่พูดกระตุ้นเราอย่างเดียว แถมจัดรายการส่งเราไปศูนย์ขายรถมอเตอร์ไซด์ ที่เชียงใหม่ สมันนั้นคือ นิยมพานิช ฝึกครับ ไปให้ช่างเขาฝึกสอนเราว่า มาตรฐานขั้นต่ำสุดที่เราควรรู้เรื่องเครื่องยนต์กลไกมีอะไรบ้าง ต้องทำ Maintenance อะไร เมื่อไหร่ อย่างไร สอนให้รู้จักน้ำมันเครื่อง ชนิดต่างๆ เลือกใช้ให้เหมาะสมกับลักษณะงานที่เราทำอยู่ การดูแลหัวเทียน การทำความสะอาดกระบอกสูบ เบรก โซ่ การปรับแต่งความตึงความหย่อนของโซ่ ระบบไฟ ฯลฯ ตลอดไปจนถึงการเพิ่มความแข็งแกร่งของล้อในการบรรทุก เพราะบ่อยครั้งที่เราเห็นชาวบ้านเดินทาง เราก็ให้เขาซ้อนและไปส่งถึงที่ บ่อยครั้งที่ต้องซ้อนสามคน เท่ากับเป็นการเพิ่มน้ำหนักเกินที่รถถูกออกแบบมา เป็น tip หรือเกล็ดเล็กน้อยที่มีประโยชน์ในการทำงานยิ่งนัก

การ Safety ให้กับคนขับคนซ้อนท้าย สมัยนั้นยังไม่มีกฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่ต้องสรวมหมวกกันน๊อค แต่ฝรั่งบังคับให้ทุกคนต้องใส่ นอกจากนั้นต้องมีถุงมือ มีเสื้อแขนยาว และรองเท้าหุ้มหน้าแข้ง หากไปซื้อหนังแท้ราคามันเป็นพันบาท เราก็ซื้อรองเท้าคนงานที่เป็นยางมาใส่ก็โอเค เราเองก็เรียนรู้เพิ่มเติมว่า ในฤดูฝนนั้นถนนมีแค่โคลนดินเหนียว ก็ต้องมีโซ่มักล้อหลังเพื่อเพิ่มการตะกุยดิน มีไม้สำหรับแคะดินเหนียวออกจากล้อ เพราะดินเหนียวจะเกาะติดล้อแล้วไปอัดแน่นกับบังโคลนทั้งหน้าหลัง วิ่งไม่ไปเลยหละ…


ทุกเช้าที่จะออกปฏิบัติงานต้องตรวจสภาพมอเตอร์ไซด์ถึงความพร้อมในการทำงานก่อน เพราะเขาคือเครื่องมือการทำงานของเรา หากเขาไม่พร้อมก็จะเกิดปัญหาได้ ยิ่งขับขี่ไปกลางป่าสะเมิงแล้วเกิดปัญหาขึ้นมา มีอย่างเดียวนั่งร้องให้ขี้มูกโป่งแน่ เพราะแต่ละหมู่บ้านนั้นมันขึ้นเขาลงห้วยหลายลูกนะ…

ทุกสัปดาห์เราจะถอดฝาสูบออกมา เอาหัวเทียนมาตรวจดูการ สปาร์คของไฟ ตรวจดูเขม่าที่หัวสูบว่ามีมากแค่ไหน หากมีมากก็ขัดออกแล้วประกอบใส่เข้าไปใหม่ ตรวจดูโซ่ ใส่น้ำมันโซ่ หรือถอดออกมาต้มอุ่นๆกับน้ำมันเกียร์ให้น้ำมันซึมเข้าไปในข้อโซ่ ช่วยขยายอายุการใช้งาน สภาพยาง ลมยาง ฯลฯ หากเป็นรถสองจังหวะก็ต้องมี Autolube


ความรู้เหล่านี้ที่ได้จากการอบรม และได้จากประสบการณ์ทำงาน คนโน้นแนะนำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วเราทดลองแล้วใช้ได้ ก็นำไปใช้ประโยชน์กับการแนะนำชาวบ้านต่อไปอีก บางครั้งถึงกับลงมือช่วยชาวบ้านแก้ไขปัญหาเหล่านี้ด้วยซ้ำไป

มีหลายครั้งที่เราต้องลากมอเตอร์ไซด์เป็นกิโลเพื่อเอามาซ่อม เพราะยางแบน… หมดปัญญา หากจะเ “ขี่บด” ทั้งที่ยางแบนไปก็ได้ แต่ความเสียหายกับยางกับวงล้อจะมีมากขึ้น จึงยอมเสียเหงื่อดีกว่า

โธ่ ก็เจ้าที่รักนี่จะเป็นของเราแล้ว ถนอมเธอหน่อยดิ……


เขียนถึงพี่สืบ นาคะเสถียร

124 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 กันยายน 2010 เวลา 21:41 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 4389

เมื่อ 1 กันยายนเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทยเรา คนในวงการพัฒนาจะไม่ลืมวันนี้ คือวันสืบ นาคะเสถียร พี่สืบมีอายุแก่กว่าผม 1 ปี ขาดไป 4 วัน ผมไม่รู้จักพี่สืบเป็นการส่วนตัว แต่ผมมีโอกาสเข้าไปใกล้ชิดหลังจากที่พี่สิบสิ้นไปแล้ว


ปี พ.ศ. 2538 หลังพี่สืบเสียชีวิตไปแล้ว 5 ปี ขณะนั้นผมทำงานที่โครงการ NEWMASIP กับกลุ่มบริษัท UROCONSULT ในด้านการพัฒนาระบบชลประทานภาคอีสาน ปลายปีนั้น เพื่อนฝรั่งเขามาเป็นผู้อำนวยการองค์การ Save the Children (USA) ชวนผมมาทำงานเป็น Project Manager ประจำที่นครสวรรค์ ขณะเดียวกันนั้น ส.ป.ก. ร่วมกับมูลนิธิหนองขาหย่างฯ จ.อุทัยธานีของพี่ สมพงษ์ สุทธิวงศ์ จัดทำโครงการพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้ง โดยได้รับเงิน Grant จาก DANCED ประเทศเดนมาร์ค ส.ป.ก.และมูลนิธิหนองขาหย่างก็ชวน Save มาร่วมงานด้วยโดยให้รับผิดชอบชายป่าห้วยขาแข้งในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ โดยระบุให้ผมเป็นผู้ประสานงานในนามของ Save the Children (USA) ก็ท่านรองเลขาฯ ส.ป.ก.ปัจจุบันที่สนับสนุนให้ผมพิมพ์งานเรื่องเล่าจากดงหลวงนี่แหละเป็นผู้จัดการโครงการสมัยนั้น ในราชการท่านเป็นผู้อำนวยการกองแผนงานฯ

ส่วนมูลนิธิหนองขาหย่าง จ.อุทัยธานีนั้น พี่สมพงษ์ สุทธิวงศ์ เป็นผู้ก่อตั้ง ท่านผู้นี้คืออาจารย์ในงานพัฒนาชนบทผมเหมือนพี่บำรุง บุญปัญญา เพราะพี่เหล่านี้คือบัณฑิตรุ่นแรกของเมืองไทยที่เข้าร่วมงานกับ ดร.ป๋วยทำงานพัฒนาชนบท ที่ชัยนาท ที่เรียกโครงการบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย Thailand Rural Reconstruction Movement (TRRM) จำลองมาจาก PRRM ของประเทศฟิลิปปินส์ ที่มี Dr. James C Yen เป็นผู้ก่อตั้ง ดร.ป๋วยศรัทธาในอุดมการณ์และการทำงานเพื่อชนบทจึงนำหลักการมาตั้งในประเทศไทย

ทำไมต้องเป็นที่ชัยนาท ท่านที่ศึกษาประวัติ ดร.ป๋วย คงทราบดีว่าท่านเป็น นายเข้ม เย็นยิ่ง เสรีไทย ที่คู่กับ รูธ คือท่านปรีดี พนมยงค์ ท่านกระโดดร่มลงมาที่ อ.วัดสิงห์ จ.ชัยนาท ท่านรอดชีวิตเพราะชาวบ้านช่วยท่าน ท่านจึงต้องการกลับมาพัฒนาพื้นที่แห่งนี้เมื่อท่านมีโอกาส ดูสำนึกของท่านซิ


ทั้งพี่บำรุง บุญปัญญา เกียรตินิยมอันดับหนึ่งภาควิชา ปัฐพีศาสตร์ มก. พี่สมพงษ์ สุทธิวงศ์ นี่ก็นิสิตดีเด่น ยังไม่ทันจบคณะเศรษฐศาสตร์ ธนาคารชาติก็มาจองตัวท่านไปทำงาน พี่พี่เหล่านี้มีอนาคตสดใสหากท่านก้าวเข้าสู่ระบบราชการ แต่ท่านหันหน้าสู่ชนบท…

ผมร่ายยาวมาเพราะท่านเหล่านี้สนิทสนมกับพี่สืบในฐานะที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อสังคม เพื่อประเทศชาติ และท่านเหล่านี้คือแบบอย่างของผม แม้ว่าผมจะไม่ติดขี้เล็บของท่านเลยสักนิด

โครงการพัฒนากลุ่มป่าห้วยขาแข้งที่ร่วมมือกันระหว่าง ส.ป.ก. มูลนิธิหนองขาหย่างและ Save the Children (USA) นั้น ทำกับพื้นที่ชายป่าห้วยขาแข้งตั้งแต่อุทัยธานี นครสวรรค์ยาวมากกว่า 200 กม. โดยมีกรมป่าไม้เป็นหน่วยงานร่วมมือหลัก นอกจากนี้ก็มีอีกสองมูลนิธิเข้าร่วมคือ มูลนิธิสืบ นาคะเสถียรและมูลนิธิ World Wildlife Fund (WWF) ที่มีกษัตริย์ประเทศเดนมาร์คทรงเป็นประธานและผมเคยรับเสด็จท่านที่ห้วยขาแข้งโดยบรรยายงานของโครงการให้พระองค์ท่าน ตื่นเต้นซะ..เหงื่อท่วมตัวเลย… พระองค์ทรงมาตบไหล่แล้วยิ้มให้

พี่สมพงษ์ถือว่าเป็นผู้อาวุโสสำหรับนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พี่จึงเป็นตัวแทนนิสิตเกษตรฯประจำภาคเหนือตอนล่างภาคกลางตอนบน มีงานพบปะสังสรรค์ประจำทุกปี พี่พงษ์จึงเป็นคนกว้างขวางในวงการ ที่ทำงานของพี่พงษ์ เป็นร้านอาหาร บนเส้นทางเข้าตัวเมืองอุทัยธานี อันเป็นเมืองปฐมบรมราชานุสรณ์ ที่รัชการที่ 1 ท่านเกิดที่นี่ สถานที่นี่เองเป็นที่รวมพลคนเกษตรศาสตร์ ใครผ่านไปผ่านมาก็แวะเยี่ยมพี่พงษ์ ขาประจำท่านหนึ่งคือพี่สืบนี่แหละ..


งานหลักของโครงการ DANCED นั้นกิจกรรมส่วนใหญ่คือการอนุรักษ์กลุ่มป่าห้วยขาแข้ง เจริญรอยอุดมการณ์ของพี่สืบ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางตรงคือ การปลูกป่าเสริม กิจกรรมสร้างทีมงานชาวบ้านช่วยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ดับไฟป่าตลอดแนว 200 กว่า กม.ในจังหวัดอุทัยธานีและนครสวรรค์ จัดทำแนวเขตกันชน Buffer Zone รอยต่อระหว่างพื้นที่ ส.ป.ก.กับป่าอนุรักษ์ โดยการพิสูจน์ขอบเขตที่ดินให้ชัดเจน แล้วทำแนวเขตตลอด 200 กม. โดยการใช้รถไถทำแนวเขต และปลูกต้นไม้ตามแนวเขตนั้นให้เกิดแนวที่ชัดเจน จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ประจำหมู่บ้าน จัดฝึกอบรม เพิ่มเติมความรู้ชาวบ้านรอบๆขอบป่า และสารพัดกิจกรรม

ทุกครั้งที่มีการประชุมร่วม มักเข้าไปจัดในสถานีป่าไม้ที่พี่สืบเคยอยู่ และยิงตัวตาย ทุกครั้งเราจะไปเคารพรูปปั้นแทนตัวพี่สืบ และมีการยืนไว้อาลัย สำนึกถึงอุดมการณ์ของพี่สืบ เรามีกิจกรรมเพิ่มเติมความรู้มากมายทั้งเจ้าหน้าที่ราชการ ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำกลุ่มต่างๆ เด็กนักเรียน เยาวชนอกโรงเรียน ชาวบ้านทั่วไป และกลุ่มประชาชนที่อยู่วงนอกออกไปด้วย เพราะชาวบ้านเหล่านั้นจะเหมารถนั่งกันเต็มคันแล้วไปจอดชายป่า แล้วขึ้นป่าไปหาของป่า เราพบว่า ตลอดแนวขอบป่านั้นเราเชื่อมั่นว่า กิจกรรมของเราสามารถสร้างกำแพงได้มากสมควร แต่ประชาชนที่ห่างออกไปนั้นก็เป็นผู้บุกรุกอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่นอกพื้นที่โครงการ แต่เข้าไปทำร้ายทำลายป่า มากเหมือนกัน งานอนุรักษ์จึงมิใช่เฉพาะกลุ่มคนในพื้นที่เป้าหมายเท่านั้น นี่คือความจริง..


ผมได้ความรู้เกี่ยวกับป่ามากมายที่นี่ เพราะกลุ่มป่าห้วยขาแข้งเป็นมรดกโลกที่พี่สืบทำงานชิ้นนี้ทิ้งไว้ การอนุรักษ์จึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะพื้นที่กว้างขวางเหลือเกิน ผมมีโอกาสเข้าไปยังใจกลางของป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งมีสภาพป่าแตกต่างไปจากชายขอบมากมาย ทะลุไปออกที่เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งก็มีการเข้ามาทำลายป่ามากมาย โครงการยังเข้ามาทำสถานีลอยน้ำที่หัวเขื่อนเพื่อดักกลุ่มชาวบ้านที่เอาเรือมาตัดไม้ไผ่ป่าและอื่นๆ ล่องไปขายมากมาย การเดินทางผ่านป่าด้วยรถ 4WD หรือเฮลิคอบเตอร์เท่านั้น มันเป็นป่าจริงๆ ที่มีสัตว์ป่ามากมายที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน นกยูงธรรมชาติ ควายป่า วัวแดง หมาป่าเป็นฝูง นกเงือก ฯ และที่ไม่คาดคิดคือ พระธุดงค์

เล่ากันว่า ป่าห้วยขาแข้งนั้นคือเป้าหมายของพระธุดงค์กลุ่มหนึ่งจะนั่งรถเข้าไปที่ด่านเจดีย์สามองค์ แล้วเดินป่าไปออกที่อุทัยธานี แล้วไปเล่ากันว่า ผ่านป่านี้มาแล้ว.. เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าว่า พระธุดงค์ก็มีส่วนที่ทำให้เกิดไฟป่า เพราะจุดไฟต้มน้ำแล้วดับไม่สนิท..

ที่นี่เคยเกิดเรื่องใหญ่ครั้งหนึ่งคือ ทุกปีจะมีกลุ่มศิลปิน มาจัดดนตรีเพื่อระดมทุน เพื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมงานอนุรักษ์ป่า สถานที่จัดอยู่ชายขอบป่า มีอยู่ปีหนึ่งโดยนักสื่อมวลชนเอาไปเขียนโจมตีว่าทำลายป่าเพราะเสียงดนตรีนั่นเอง ต้องยอมรับความจริงว่าเสียงดังจริงๆ นักอนุรักษ์ย่อมรู้ว่าไม่ควรทำ แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทราบดีจึงจัดสถานที่ที่ไกลออกมาจากชายป่าพอสมควร แต่ก็ยังโดยโจมตี

บางปีนักอนุรักษ์ท้องถิ่นซึ่งเป็นสายศิลปินจะเชิญศิลปินชื่อดังต่างๆ ทั้งนักเขียน นักวาดรูป นักถ่ายรูป นักแต่งเพลง ฯ เข้าไปกินนอนในป่า เพื่อซึมซับป่าแล้วใช้จินตนาการสร้างสรรค์งานที่ตนเองถนัดออกมา ขายเพื่อเอาทุนเข้ามูลนิธิสืบ.. ผมยังชอบเพลงชุดหนึ่ง ชื่อดอกเสี้ยวป่า เพราะมากกกกก เสียดายลูกสาวผมเอาไปเล่นซะเสียหายหมดเลย

มิกิจกรรมมากมายที่เกิดประโยชน์ เช่นเราต้องการปลุกต้นไม้ตามแนว Buffer zoneมีคนหนึ่งเสนอว่าเอาต้นตาลมาปลูกตามแนว เขาให้เหตผลว่า ต้นตาลอายุยืนมาก แข็งแรง ทนไฟ และเมื่อเขาโตจะเป็นแนวที่ชัดเจน นักป่าไม้ก็เถียงว่า มันไม่ใช่พืชประจำถิ่น มันแปลกแยกกับพืชป่าท้องถิ่น.. บางคนเสนอเอาต้นหว้า นับพันๆต้นมาปลูกตามแนว เพราะชาวบ้านสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ เช่นเอาไปทำเครื่องดื่ม นักป่าไม้ก็อธิบายว่า พึงระวังเพราะเมื่อเขาออกผล สัตว์ป่าอาจจะออกมาเก็บกินตามธรรมชาติเขา ก็จะกลายเป็นการดึงสัตว์ออกมาจากป่า ชาวบ้านเองก็จะอดไม่ได้ที่จะมาทำร้ายเขา

นักวิชาการป่าไม้จากเดนมาร์คก็มาช่วยทำโครงการ ฟอร์เจนแมป (เขียนไม่ถูกแล้ว) ความหมายคือ มาแนะนำวิธีการคัดเลือกพันธุ์ไม้ป่าเพื่อทำเป็นต้นพ่อแม่ที่จะใช้ขยายต่อไป


ที่โครงการนี้ผมรู้จัก “เสือข้าวสุก” ที่ผมเคยเขียนบันทึกใน G2K ลุงฉ่ำที่ยกพื้นที่ตัวเองให้เป็นป่าชุมชนเพราะเกิดสำนึกสูงส่งขึ้นมา ลุงฉ่ำเดินมาหาผมเองที่สำนักงานในพื้นที่ว่าอยากทำป่าชุมชน เพราะแกผ่านการอบรม รู้เรื่องพี่สืบ และชีวิตแกเห็นป่าเปลี่ยนแปลงไปกับตา เพราะลุงฉ่ำคือคนแรกๆที่เข้าไปใช้ชีวิตในป่า ลุงบอกว่า ไม่น่าเชื่อว่าป่าจะหายไปโล่งเตียนจริงๆ จากที่แกบอกว่า สมัยเข้าไปอยู่ใหม่ๆนั้นมองไม่เห็นแสงอาทิตย์ ไอ้เสือปล้นฆ่าคนก็หลบหนีตำรวจเข้าป่าก็อาศัยข้าวของลุงกิน… ที่นี่ที่ผมรู้จักเศรษฐีสองคนผัวเมียเจ้าของโรงงานทำผ้าใบคลุมรถสิบล้อที่มาใช้ชีวิตชายป่าที่นี่ ยกสมบัติให้ลูกดำเนินงานต่อ ผมเขียนถึงท่านใน G2K เช่นกัน

ที่ผมชอบมากๆคือที่ช่องเย็น บริเวณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ น้องนิดเคยขึ้นไปเที่ยวแล้ว ที่นี่คือสุดยอดของป่า เดือนเมษายนร้อนระอุ แต่ที่ช่องเย็นต้องใส่เสื้อกันหนาว นกป่าสารพัดร้องระงม ที่เรียกกันว่า “นกร้องก้องไพร” เห็ดโคนป่าที่อุดมที่สุดขนาดใหญ่ที่สุดต้องที่ป่าแม่เล่ย์ ติดกับกำแพงเพชร เราเคยร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เจ้าของรางวัลโลกสีเขียว ร่วมมือกับ ปตท.ปลูกป่านับร้อยไร่บนเขาแม่กะทู้

อีกมากมาย ที่เราทำงานอนุรักษ์ป่าที่นั่น งานหลักนั้นคือการพัฒนาคนตามแนวชายป่าห้วยขาแข้ง ผมไปตั้งกลุ่มออมทรัพย์ตามหมู่บ้านต่างๆ ทราบว่ากลุ่มยังคงอยู่

ทั้งหมดนี้เป้าหมายที่ซ่อนอยู่ในวัตถุประสงค์ของโครงการคือการสนับสนุนอุดมการณ์พี่สืบ..

แต่ “สนิมเกิดแต่เนื้อในตน” วันหนึ่ง พี่สมพงษ์ เรียกผมไปเล่าให้ฟังว่าเฮ้ย ไอ้บู๊ด มาหาพี่หน่อย พี่พงษ์กรึบเหล้าแม่โขงประจำยกแก้วกระดกเข้าปากหายไปหมดแก้วเลย พี่จะเล่าให้ฟัง สืบน่ะเขาทุ่มเทชีวิตให้กับงานของเขาจริงๆ คนอะไรเข้มแข็ง เอาเป็นเอาตายกับการอนุรักษ์ป่า ทำงานไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ไอ้บู๊ด เองรู้ไหม คืนก่อนที่สืบเขาจะฆ่าตัวตายนั้น เขามากินเหล้ากับพี่ที่นี่ เขาเสียใจมากที่รู้ว่า คนของสืบเองนั่นแหละเป็นคนแอบตัดไม้ในป่า สืบเขาไม่รู้เลยว่าลูกน้องเขาบางคนเป็นเสียเอง ทั้งที่เขาสู้กับเรื่องนี้มาตลอดชีวิต สืบเขาเสียใจมาก….

ผมไม่ได้เขียนบันทึกนี้เพื่อเปิดโปงอะไร แต่ด้วยคารวะพี่สืบ เข้าใจอุดมการณ์พี่สืบและทุกวันนี้ก็สืบสานอุดมการณ์พี่สืบต่อไป แม้ว่าผมจะทำไม่ได้เท่าขี้เล็บของพี่สืบ

เนื่องในวาระระลึกถึงพี่สืบที่ผ่านมา อุดมการณ์ของพี่สืบอยู่ในสำนึกของเราตลอดไป…


คิดแบบญี่ปุ่น

45 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 กันยายน 2010 เวลา 0:07 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2846

ผมทำงานพัฒนาชนบทก็ชื่นชมนโยบาย OTOP ไม่ว่าใครจะริเริ่มหรือสนับสนุน แต่ผลของมันอย่างน้อยที่สุดก็เป็นโอกาสให้ชนบทลืมตาอ้าปากได้บ้าง แม้ว่าหลายอย่างดูจะเพี้ยนๆไป ผมพอรู้เรื่องมากขึ้นบ้าง ก็เพราะคนข้างกายมีส่วนในการสนับสนุนกิจกรรมนี้ แม้ว่าจะเผชิญระบบการเมืองที่มีธุรกิจแอบแฝงมากระทำให้เสียความรู้สึกไปบ้าง เราก็พยายามใช้เงื่อนไขที่มีอยู่ทำประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านเท่าที่จะเป็นไปได้

เธอไม่เคยไปญี่ปุ่น แต่ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมาร่วมมือกับเธอเพื่อศึกษา OTOP ในประเทศไทย ส่วนตัวผมแอบนินทาว่า เออ ดูประเทศชาติเขาซิ(ญี่ปุ่น) เขาเป็นต้นตำหรับ แต่ไม่ได้หยุดนิ่งเลย ส่งนักวิชาการตามติดไปตลอดว่า ประเทศไหนเอา OTOP ไปใช้บ้างแล้วไปถึงไหน ซึ่งมีผลสองด้านหรือมากกว่า เช่น เขาเอาองค์ความรู้ที่เขาได้ย้อนกลับไปประเทศเขาเพื่อพัฒนายกระดับสินค้าของเขาให้ก้าวไปอีกระดับหนึ่ง สอง เขาเอาองค์ความรู้นี้ไปขยายต่อในประเทศอื่นๆต่อไปที่ญี่ปุ่นไปมีอิทธิพลอยู่ เช่น ในกลุ่มประเทศอาฟริกา ที่นักวิชาการญี่ปุ่นมาชวนคนข้างกายเดินทางไปสัมมนาปลายปีนี้

ผมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญที่มาจากหลายประเทศในด้านการพัฒนาชนบท กับญี่ปุ่นนี้มีแง่คิดมากกว่าทุกประเทศ เขาฉลาดและได้เปรียบเสมอ อย่างที่เราคิดไม่ถึง หรือไม่ได้คิด เพราะมันมาพร้อมกับคำว่าวิชาการ การช่วยเหลือ หรือเงื่อนไขของการกู้เงิน ทำไมคนของเขา ระบบคิดของเขา นโยบายของเขา… จึงทำทุกอย่างให้ทุก “เยน”จะต้องตอบสนองกลับไปแผ่นดินแม่ของเขา

ส่วนหนึ่งผมคิดเอาเองว่าระบบคิดของเขา เบ้าหลอมของการคิดของเขาปลูกฝังให้คนของเขาทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติเขา อย่างมีประสิทธิภาพ เขาเชิญนักวิชาการเราไปพูด และทุกคำพูดเขาเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด และเป้าสุดท้ายของเขาเพื่อธุรกิจในแง่มุมต่างๆ

ผมจำได้ว่าเคยอ่านเอกสารชิ้นหนึ่งที่เล่าถึงวิวัฒนาการ “ซาวอะเบ้าท์” ที่ยุคหนึ่งเฟื่องสุดขีดที่หนุ่มสาวจะต้องมีไว้ใช้ แม้ปัจจุบัน จุดเกิดมาจากท่านประธานบริษัทโซนี่เดินทางไปอเมริกา ระหว่างทางรถที่นั่งไปนั้นหยุดเติมน้ำมัน และที่ปั้มน้ำมันนั้น ท่านประธานเห็นคนผิวดำที่ทำหน้าที่เติมน้ำมันทำงานไปด้วยแต่ก็ยกทรานซิสเตอร์ ขนาดใหญ่แนบหู เพราะต้องการฟังเพลงที่ชอบตามวัยรุ่นทั่วโลกที่คลั่งไคล้เพลงที่ตัวเองชอบ เท่านั้นเองความเป็นนักธุรกิจของท่านประธานบริษัทโซนี่ ก็คิดออกว่า ทำไมเราไม่ทำเครื่องมือเล็กๆที่ใช้หนีบหูและฟังเพลงได้ตลอดเวลาแม้ขณะทำงานโดยไม่ต้องใช้มือถือ… เมื่อกลับไปบริษัทก็โยนโจทย์นี้ให้วิศวกรคิดออกมา และเพียงไม่นานเท่าไหร่ ซาวอะเบ้าท์ก็ออกสู่ตลาดและขายดิบดีไปทั่วโลก….

นี่คือการสั่งสมวิธีคิดแบบญี่ปุ่นใช่ไหม นี่คือการตั้งโจทย์ขึ้นมาใช่ไหมแล้วโยนให้ผู้เชี่ยวชาญไปคิดต่อ วันเวลาผ่านไป ก็พัฒนาเครื่องเล่นไปมากมาย และทั้งหมดก็เป็นธุรกิจที่ขายได้เอาเงินเข้าประเทศได้ทั้งหมด


เมื่อสองเดือนก่อน อาจารย์จากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมาหาคนข้างกายเพื่อปรึกษาหารือเรื่อง OTOP และชักชวนไปอาฟริกาไปสัมมนากัน แลกเปลี่ยนกันกับ OTOP ที่นั่น สิ่งสุดท้ายที่นักวิชาการท่านนั้นมอบให้เธอคือ กล่องขนมกล่องหนึ่ง ผมดูก็ว่ามันสวย สีน้ำเงินเข้ม ดูขลัง ยิ่งมีเครื่องหมายมหาวิทยาลัยประทับที่หน้ากล่อง ก็ยิ่งดูมีคุณค่า มีระดับ มีความหมายอะไรทำนองนั้น ผู้ให้ก็เต็มใจที่มอบให้ ผู้รับก็รู้สึกดีที่เป็นสิ่งของที่มหาวิทยาลัยมอบให้


เราแกะกล่องออกดู ทราบว่านี่คือขนมเล็กๆที่ถูกจัดการเรื่องหีบห่ออย่างดี ดูแล้วดี นักวิชาการท่านนั้นบอกว่า นี่คือสินค้า OTOP จากหมู่บ้านหนึ่ง ที่มหาวิทยาลัยไปสนับสนุนให้มีมาตรฐานแล้วก็สั่งทำในนามของมหาวิทยาลัยเป็นของชำร่วยของมหาวิทยาลัย….

ผมหละ….สุดยอดจริงๆญี่ปุ่นนี่ ชาวบ้านได้ทำงาน ได้รายได้ มหาวิทยาลัยได้ชื่อสนับสนุนชุมชน ประเทศชาติได้….ได้ ได้ ได้…..

แนวคิดนี้ทำให้คนข้างกายเห็นว่า มีงานต้องทำอีกเยอะเลยนี่…. OTOP บ้านเรามากมาย หากมหาวิทาลัยจะทำเลียนแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากสถาบัน หน่วยงานรัฐใดๆจะทำ ก็มีแต่เรื่องได้กับได้

OTOP บ้านเรามากมายดูที่นี่ซิ http://www.otop5star.com/search-th.php?cat=14 แต่ยังไม่ได้ถูกพัฒนาไปในระดับนี้


สะเมิงที่เปลี่ยนแปลง 1

326 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 17 สิงหาคม 2010 เวลา 22:42 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2915

ขึ้นภาคเหนือคราวที่ผ่านมาฝ่าฝนไปตลอด ก็มันช่วงฤดูฝน เป้าหมายของเราคือจัดการเรื่องที่ดินให้ก้าวหน้าหน่อย ซึ่งก็บรรลุผลไปอีกขั้นหนึ่ง แล้วเราก็ตั้งใจจะใช้เวลาสักสองวันไปเยี่ยมพื้นที่สะเมิงแบบไม่เปิดเผยตัว


เอาไว้มีเวลาเยอะจะมาตระเวนคารวะชาวบ้านที่เรามากินมานอนที่นี่ให้ทั่วถึงเลย

ขอแนะนำสะเมิงหน่อย เป็นอำเภอที่มีที่ตั้งอยู่หลังดอยสุเทพฯ ติดต่อกับ อ.แม่ริม อ.แม่แจ่ม อ.ปาย อ.แม่แตง พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ชนพื้นเมือง เป็นคนเมืองผสมกับไทยลื้อ และชนเผ่าตามชายขอบพื้นที่อำเภอ เช่น ม้ง ปกาเกอญอ ลีซู ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า คนพื้นเมืองที่อพยพมาอยู่ที่นี้ส่วนหนึ่งหนีระบบการเก็บส่วนสาอากรของสมัยโบราณ ที่เรียก “ถา สี่บาท” หากไม่มีจ่ายก็ต้องไปใช้แรงงานให้กับผู้ปกครองรัฐ มีภาพเก่าๆในหนังสือมากมาย ประชาชนที่ไม่มีเงินส่งภาษีและไม่ยอมไปใช้แรงงานก็หนี…หนีไปอยู่สะเมิง ซึ่งห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 50 กม.

….” พ.ศ.2435 เป็นต้นมา รัฐเรียกเก็บภาษีรายหัวจากผู้ชายที่มีครอบครัว  เรียกกันว่า  “ภาษี  4  บาท”  การเก็บภาษีดังกล่าวชาวบ้านเดือดร้อนมาก  เพราะในสมัยนั้นชาวไร่ชาวนาไม่ได้สะสมเงินตรา  รายได้ในรูปแบบของเงิน จะได้มาจากการค้าขายเท่านั้น  การเก็บภาษี  4  บาท จึงส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่ได้ทำการค้า….”

ผมมาทำงานที่นี่ตั้งแต่ปี 2518 ถึง 2522 ผมก็จำเป็นต้องออกจากโครงการไปอยู่อีสานด้วยเหตุผลทางการเมือง การกลับมาเพราะผูกพันกับพื้นที่ ชาวบ้าน และเสน่ห์ของขุนเขา คุณตุ๊จองที่พักทางอินเตอร์เนท บอกว่าชื่อ แสงอรุณคอตเทจ อยู่กลางป่า ต.สะเมิงเหนือ ซึ่งเราไม่รู้จักเพราะคงมีการก่อสร้างภายหลังที่เราออกมาจากพื้นที่นานแล้ว ก็เลยลองจองดู เพราะอยู่ใกล้บ่อน้ำแร่ร้อนที่บ้านโป่งกว๋าว ด้วย ทราบว่าพัฒนาขึ้นเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว


ผมบอกครอบครัวว่าขอขับรถจากสะเมิงใต้ไปสะเมิงเหนือ แทนที่จะไปทางลัดจาก อ.แม่ริมตรงไปสะเมิงเหนือเลย เพราะอยากสัมผัสพื้นที่เดิมๆของเราที่เมื่อสามสิบห้าปีที่แล้วมาลุยที่นี่ ทุกคนตกลง ผมค่อยๆขับรถไป ปากก็บรรยายให้ลูกสาวฟังว่าพ่อเคยมาทำอะไรแถวนี้ ป้ายบอกว่าหมู่บ้านข้างหน้าคือบ้านกองขากหลวง เราก็มีเรื่องเล่าให้ลูกฟังว่า ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งสมัยนั้นมาขอยืมเงินไปใช้หนี้ ธกส. แล้วเขาจะเอาควายห้าตัวมาประกันให้ ด้วยเงินสามพันบาทที่ผู้ใหญ่ต้องการ เราเอาเงินให้ไป จนบัดนี้ก็ไม่ได้คืน และไม่คิดจะขอคืน

ถนนบางช่วงผ่านข้างภูเขาที่ชันมากๆ สมัยก่อนช่วงฤดูฝนแบบนี้กอไผ่ทั้งกอเคยสไลด์ลงมาทับเส้นทางหมด การคมนาคมที่มีน้อยอยู่แล้วถูกปิดตาย ชาวบ้านต้องมาช่วยกันตัดไผ่ทีละลำจนหมดทั้งกอ แล้วขุด ลากเอาดินออกไปทั้งหมด


ขัยรถบนถนนที่ดีมาก ไม่มีลูกรังอีกแล้ว ผ่านทุ่งนา ชาวบ้านเพิ่งดำนาเสร็จ บางแปลงมีร่องรอยการเซ่นไหว้เจ้าที่ แม่โพสพ มีการปลูกพืชเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าเดิม น้ำท่ายังดีเหมือนเดิม ส่วนใหญ่ก็จะทำเหมืองฝายกัน ระบบเหมือนฝายภาคเหนือนั้นมีคนทำปริญญาเอกกันหลายต่อหลายคนมาแล้ว

นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของสะเมิง พืชหลักสมัยก่อนคือ ข้าว ทั้งข้าวนาปี ข้าวไร่ กระเทียม หอมแดง ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ข้าวโพดพื้นบ้าน ของป่าก็มี ไม้สนเกี๊ยะ เปลือกก่อ เปลือกไก๋ น้ำมันสน .. แต่วันนี้พืชเศรษฐกิจใหม่ๆเข้ามามากมาย…



Main: 2.0827929973602 sec
Sidebar: 0.26498079299927 sec