ถูกใจ..

โดย bangsai เมื่อ 20 มีนาคม 2010 เวลา 1:02 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1638

เมื่อค่ำนักข่าวช่องหนึ่งไปสัมภาษณ์พระไพศาล วิสาโล ในเรื่องเหตุการณ์ร้อนรุ่ม ปัจจุบันนี้ นักข่าวถามว่าทำไมประชาชนเสื้อแดงถึงสนับสนุนคุณทักษิณ…..

พระไพศาล: …ประชาชนชนบทนั้นเรียนรู้ว่าทุกรัฐบาลมีคอรัปชั่นกันทั้งนั้น แต่คุณทักษิณได้จัดสรรประโยชน์ลงสู่ชนบทถึงตัวคนด้วย ประชาชนรู้ว่าเขาคอรัปชั่น แต่ก็พึงพอใจที่สามารถทำประโยชน์แก่ชนบทด้วย สิ่งเหล่านี้พระไพศาลท่านเรียกการกระทำของทักษิณว่า “ถูกใจชาวบ้านแต่ไม่ถูกต้อง”

 

ผมต้องกราบนมัสการพระไพศาล ที่ท่านใช้คำสรุปที่ “ถูกใจ” ผมจริงๆ เพราะผมเองก็หาคำมาอธิบายปรากฏการณ์นี้ยังไม่ได้ แต่ท่านได้ให้คำสรุปที่ชัดเจน อย่างที่ผมบันทึกมาหลายบันทึกแล้วนั้น รู้ทั้งรู้ว่าชาวบ้านในพื้นที่ที่ผมทำงานนั้นแดงทั้งดง และได้ยินกับหูที่ชาวบ้านพูดว่า ทักษิณนั้นเขาแบบ 50/50 แม้จะกินก็ให้ชาวบ้านด้วย


มันเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าตกใจ และผมหรือใครๆก็คงรับไม่ได้ต่อทัศนะนี้ แต่ชาวบ้านในชนบทไม่ได้คิดอย่างเรา ตรงข้ามเขาชื่นชอบอีกต่างหาก แน่นอนมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาสร้างเสริมด้วย เช่นการประชาสัมพันธ์ ใน P station และวิธีอื่นๆ ประกอบกับบางพื้นที่ เช่นดงหลวง มีแผลเดิมอยู่บ้างแล้ว


“ถูกใจชาวบ้านแต่ไม่ถูกต้อง” มันเป็นโจทย์ เป็นประเด็น เป็นคำถามที่ถามตัวเองว่า ในฐานะที่เรามาทำงานสร้างคนชนบทนั้นเราจะแก้อย่างไร ซึ่งเรารู้ว่าการเปลี่ยนความคิดคนนั้น ยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้

การแก้ปัญหาความยากจนเป็นเรื่องยาก การเปลี่ยนความคิดคนยิ่งยากทวีคูณ

« « Prev : กระจกส่องประเทศไทย..

Next : รับจ้างโห่.. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มีนาคม 2010 เวลา 6:14

    ถึงคราวหลักสูตรพัฒนาสังคม หลักสูตรเสริมสร้างสังคม ฯลฯ
    คงถึงคราวเรื้อมาปรับใหม่ทั้งกะบิ แล้วละครับ
    เพราะโจทย์เปลี่ยนแนวคิดเปลี่ยน คิดเก่า ทำโหลยโท้ยไม่ได้แล้ว

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มีนาคม 2010 เวลา 8:38

    เห็นด้วยกับทุกคำกล่าวค่ะ เราถึงเวลาสร้างทฤษฎีทางสังคมของไทยกันใหม่ได้แล้ว และไม่ใช่โยนให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำด้วยสิคะ แต่ทุกคนที่เห็นตรงกันควรลงมือสังคายนากันเสียที

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มีนาคม 2010 เวลา 10:03

    เห็นด้วยกับพ่อครูบาฯ น้องเบิร์ด ครับ

    ผมตั้งคำถามตัวเองว่า หากเราทำโครงการพัฒนาชุมชนเองแบบที่ทางคริสเตียนใช้คำว่า “ทั้งครบ” นั้นจะทำอย่างไร เริ่มคิดออกแบบมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆในวงการบ้างแล้วครับ

    ที่ขบคิดหนักก็คือ โครงการทำงานพัฒนาชุมชนนั้นหากทำงานภายใต้ราชการก็มีข้อจำกัดมากทีเดียว คือ ระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไข ภาระที่แบกอยู่ หากให้เอกชนทำที่เราเรียก “ประมูลงานไปทำ” ก็มีข้อจำกัดอีกแบบหนึ่ง หยุดเงื่อนไขตรงนี้ แต่ไปคิดว่า รูปแบบงานน่าจะเป็นแบบไหน ก็มีแนวคิดที่ร่างๆไว้พอสมควรกะว่าจะเอาไปเสนอต่อโครงการ..

    - ชนบทถูกกระทำฝ่ายเดียว เป็นฝ่ายรับฝ่ายเดียวเสียเป็นส่วนใหญ่
    - งานพัฒนาชนบทที่แต่ละหน่วยงานทำมานั้น มีดีมากมาย แต่เป็นชิ้นๆ เรื่องๆ มันไม่ “ทั้งครบ”
    - งานพัฒนาชนบทที่ผ่านมานั้น การบูรณาการมีระดับหนึ่ง ต่างพื้นที่กัน ต่างหน่วยงานกันก็แตกต่างในระดับของบูรณาการ
    - งานพัฒนาชนบทนั้นมิใช่เพียงรูปแบบ เข้าไปทำงานแล้วก็ออกมาเพราะเงื่อนไขของระบบงาน แต่งานพัฒนาชนบทต้องคลุกคลีต้องเข้าถึง เพื่อเข้าใจ แล้วจึงพัฒนา
    - บ่อยครั้งผมดู รายการ “SME ตีแตก” ผมชอบรายการนี้เพราะได้เรียนรู้การทำธุรกิจมาก แม้ว่าตัวเองจะไม่ได้ทำ แต่ก็สามารถเอาแนวคิดไปดัดแปลงใช้ เช่นเดียวกันงานพัฒนาชนบทไม่มีรูปแบบที่มีทีมงานเหมือนอาจารย์สามท่านที่เป็นผู้ซักถามเหมือนสอบปริญญานิพนธ์ ในงานพัฒนาชนบทก็น่าที่จะดัดแปลงไปใช้ เพราะเรามักจ้างมือใหม่มาทำงานเพราะค่าจ้างถูก ฝึกเอาระหว่างปฏิบัติงานที่เรียน on the job training แต่ก็ต้องปรับปรุงมากเพราะขาดประสิทธิภาพ ฯลฯ
    - อย่างที่พ่อครูกล่าว สังคมเดินไปไกลแล้ว มีอาจารย์หลายท่านศึกษา สรุปงานศึกษาออกมาหลายชิ้น หากเอาทั้งหมดมากองแล้วเอานักวิชาการ นักปฏิบัติ มาสังคายนากัน ก็น่าจะเกิดมิติใหม่ของสถาณการณ์ชนบทในปัจจุบันที่เป็นภาพรวมที่สมบูรณ์มากกว่าพูดกันคนละมุม แล้วก็สามารถออกแบบการทำงาน แผนงานทั้งรัฐ เอกชน ต่างๆได้เหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงมากกว่า
    - อาจารย์ อนันท์ กาญจนพันธ์ก็ศึกษามาว่า โครงสร้างสังคมชนบทเปลี่ยนไปแล้ว
    - บางท่านบอกว่า ชาวนามีเพียง 30 % เท่านั้นในปัจจุบัน
    - ทุนทางสังคมที่เราชื่นชมว่าเหลืออยู่ที่ชนบท จริงๆเหลือแก่นแกนอยู่จริงหรือไม่ เท่าไหร่..
    - ฯลฯ

    หากรัฐมีโครงการสำหรับชนบทปีปีใช้งบประมาณมากมายเป็นหมื่นล้าน …..แต่ได้ผลสักเท่าไหร่

    นี่คือเรื้่องใหญ่ที่เป็นฐานสำคัญของสังคมเรา “หากฐานอยู่ได้ ประเทศชาติอยู่รอด”

  • #4 Nothing ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มีนาคม 2010 เวลา 18:03

    ผมกะจะชวนพี่คุยเรื่องพระไพศาลอยู่พอดี แต่ไม่รู้จะชวนคุยบันทึกไหน เห็นบันทึกนี้พาดพิงถึงท่าน ได้ทีเลยเรา อิอิ

    ผมทราบว่าพระอาจารย์ไพศาล..
    - เป็นคนเดือนตุลา(เป็นวีรชน)
    - เป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
    - เป็นศิษย์สายหลวงพ่อเทียน
    - เป็นพระผู้ซึ่งเทศน์ได้ไพเราะ และยิ่งเอาธรรมเทศนาของท่านมาจัดพิมพ์ก็ยิ่งได้อรรถรสยิ่งนัก
    - และทราบอีกว่าถ้าอยากรู้เรื่องอื่นๆ คงต้องถามพี่ไพศาลเอา รู้สักว่าจะเป็นคนรุ่นเดียวกัน

    และไม่นานมานี้ผมกลับต้องทึ่งกับผลงานของท่านจากหนังสือ(งานวิจัย) ชื่อย้าวยาวว่า “พุทธศาสนาไทยในอนาคต - แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต” ซึ่งเป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง
    ไม่รู้ว่าทำไมฉบับพิมพ์ครั้งแรกไม่ผ่านตาผมเลย อยากเขกกะบาลตัวเองชะมัด

    หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมากๆ ครับ แม้จะอ่านยังไม่จบก็ทำไห้ทราบถึงปัญหาพุทธศาสนาไทยได้อย่างชัดเจน รู้ถึงที่มาที่ไป รู้ทางแก้(ซึ่งผมยังอ่านไม่ถึง อิอิ) และที่สำคัญสามารถเทียบเคียงและเข้าใจถึงปัญหาสังคมปัจจุบันได้อย่างลึกซั้งขึ้น

    จากที่เคยนินทาพระ นินทาวัด นินทาสังคม(อยู่เป็นนิจ) ทำให้เข้าใจปัญหาเหล่านี้มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้น สุดท้ายสรุปว่าน่าสงสารทั้งพระทั้งโยม เพราะเขาเหล่านั้นเป็นผลลัพธ์จากสาเหตุที่ยิ่งใหญ่กว่ากิเลสของพระและชาวบ้านธรรมดาๆ

    อยากให้ชาวไทยพุทธทุกคน ไม่ว่าพระหรือฆราวาส มีหนังสือเล่มนี้ประจำบ้านประจำวัดครับ อยากแก้ปัญหาสังคม ไม่ว่าสังคมไหน ขอให้เบรคไว้สักนิด อ่านหนังสือเล่มนี้ก่อน แล้วค่อยทำงานนั้นต่อ อาจช่วยให้แก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น

    ถ้าพี่ยังไม่มีก็รีบคว้าไว้เถิดครับ เพราะพิมพ์แค่ 2500 เล่มเท่านั้น หรือถ้ามีแล้วก็ขออนุโมทนาสาธุด้วยครับ

    พระที่ดีพร้อมอย่างนี้หายากจริงๆ ครับ

  • #5 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มีนาคม 2010 เวลา 22:08

    จ๊ากสสสส nothing ขอบคุณที่กล่าวถึงคนกับพระที่ชื่อไพศาล แต่คนที่ชื่อไพศาลนั้นไม่ได้ธุลีของท่านเลย แม้จะเคยบวชมา 1 พรรษา แม้จะมีหนังสือธรรมมาเป็นตั้ง แม้จะเคยถือศีลกินเจแบบเคร่งครัดมา 5 ปี แม้ในช่วง 5 ปีนั้นจะไปรวมกลุ่มทำวิปัสสนา กันทุกวันหยุด แต่ก็ไม่เท่าธุลีของท่าน

    เป็นคนรุ่นเดียวกัน คบกันมานาน แต่ห่างๆไม่ได้ร่วมกิจกรรมลึกซึ้งแก่กัน รู้แต่เพียงว่าเราคิดอะไรใกล้เคียงกัน
    ภรรยาผมเป็นคนตรัง เป็นอาจารย์(นักวิจัย)ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เรียก RDI เคยเชิญท่านมาเป็น Board พร้อมกับท่านอื่นๆที่มีชื่อเสียงในสังคมมากมาย ทุกครั้งที่ท่านพูด แม้ท่านอายุน้อยที่สุดในคณะนั้น แต่ทุกคนต้องฟังกันเงียบกริบ ท่านเป็นผู้ที่เจริญสติอย่างหนักแน่น สุขุม แน่น ประดิษฐ์คำพูดที่กินใจและทุกคนยอมรับท่าน เมื่อออกพรรษาที่ผ่านมา RDI เลยไปทอดผ้าป่าที่วัดป่าสุคโต เพื่อสมทบเงินทำบุญและสนทนากับท่าน เราชอบกันมาก

    หนังสือเล่มหนึ่งที่พี่ซื้อมาอ่านคือ เมื่อโลกหมุนช้าลง ชอบมากๆๆๆๆๆ อ่านแล้วพี่ยอมรับว่าเปลี่ยนมุมมองของพี่ไปเลย ย้ำเปลี่ยนมุมมองคนของพี่ไปเลยครับ ท่านเขียนเรื่องหนึ่งที่ท่านเคยไปยุโรปไปชมพิพิธภัณฑ์ศิลปของชาวต่างประเทศ แล้วเอามาเขียนเป็นบทความลงในหลายที่แล้วรวมเล่ม เรื่องนี้สาระโดยสรุปคือ

    ศิลปินเอกของโลกท่านหนึ่งเดินไปเห็นก้อนหินธรรมดาก้อนหนึ่ง แล้วก็นั่งพินิจพิจารณา เดินไปมองมุมโน้นมุมนี้ ขึ้นบน ลงล่าง หากใครเห็นก็คงว่าเพี้ยน และแล้วศิลปินท่านนั้นก็ลงมือแกะสลักหินก้อนนั้นออกมาเป็นปฏิมากรรมที่สวยที่สุด….. ทั่วโลกยกย่อง ชื่นชม ทำไมศิลปินจึงเห็นความสวยในก้อนหินธรรมก้อนนั้นและก้อนอื่นๆ ที่อาจจะมีงานสวยๆที่สุดออกมาแตกต่างกันออกไป

    พระไพศาลท่านสรุปเข้ามาหาสังคมว่า หินก้อนนั้นก็คือคนทุกคนในสังคม คนในสังคมต่างมีหน้าที่ช่วยกันแกะสลักให้เพื่อนร่วมโลกนั้นมีความสวยออกมา คือเป็นคนดีออกมา แม้คนคนนั้นเลวที่สุด มันก็ขึ้นกับว่าศิลปินท่านไหนจะมีความสามารถมองเห็นความสวยของคนคนนั้นออกมาบ้าง แบบไหน…ศิลปินสังคมก็คือทุกภาคส่วนที่ต้องช่วยกัน……

    สุดยอดจริงๆ พี่เปลี่ยนความคิดไปเลย….

    หนังสือของท่านที่เอ่ยถึงยังไม่มีครับ ต้องหามาแล้วครับ…


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.5481779575348 sec
Sidebar: 0.22508788108826 sec