ยางพาราที่ห้วยบางทราย
อ่าน: 2384สมัยอยู่ดงหลวง อาว์เปลี่ยนทุ่มเทกับโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเพื่อการชลประทานห้วยบางทรายเต็มที่ เรียกว่าทุ่มสุดตัว
ผมเองมีประสบการณ์การทำงานในพื้นที่ชลประทานมาแล้วที่เขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ และหลายเขื่อนในอีสาน ก็เข้าใจระบบการปลูกพืชในพื้นที่แบบนี้ดีพอสมควร เราส่งเสริมน้ำเพื่อพืชเศรษฐกิจหลังนา ซึ่งพืชเหล่านี้ได้แก่ มะเขือเทศส่งโรงงาน ยาสูบเตอร์กิส ข้าวโพด
อาว์เปลี่ยนลงมือทำพร้อมๆกับเกษตรกรที่เป็นชนเผ่าไทโซ่
เราตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ จัดระบบ ระเบียบกลุ่ม มีกองทุน ก่อนการเพาะปลูกมีการประชุม ให้ข้อมูลเกษตรกรในเรื่องพืชเศรษฐกิจ ซึ่งเกษตรกรจะเป็นคนเลือกชนิดพืชเอง แล้วก็ปฏิบัติตามขั้นตอนที่นักวิชาการแนะนำ พี่เลี้ยงกำกับ เยี่ยมเยือน ดูแล ปรึกษาหารือ กันตลอดทุกวัน
สามปีผ่านไป ซึ่งเป็นช่วงปลายโครงการ เริ่มมีเกษตรกรตัดสินใจเอายางพารามาปลูก จากการแนะนำของทางจังหวัด และช่วงนั้นราคายางเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรหันไปสนใจยางพารา แต่ก็มีเกษ๖รกรกลุ่มหนึ่งยังร่วมมือกับเราทำการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจต่อไป โดยเฉพาะมะเขือเทศส่งโรงงานหลวงเต่างอย เพราะพื้นที่ดงหลวงไม่ไกลจากที่ตั้งโรงงาน และผู้บริหารโครงการหลวงกับเราก็คุยกันอยู่
แต่แล้วปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อกล้ามะเขือเทศที่เราไม่ทราบเลยว่าเป็นพันธุ์อะไร รู้จักแต่เบอร์ ประสบการเป็นโรคทำให้ผลผลิตตกต่ำ จนถึงล้มเหลว แม้เราจะวิ่งเอาตัวอย่างต้นที่เป็นโรคเข้าห้องแลปที่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ก็สายเกินไปแล้ว
และปัญหาเช่นเดียวกันก็เกิดซ้ำขึ้นอีกในปีต่อมา…เหลือแต่เกษตรกรที่ปลูกยาสูบได้ผลผลิตที่เข้าเป้า แต่พบว่า เกษตรกรไทโซ่ ไม่เคยคุ้นเคยกับการทำการเกษตรแบบ Intensive crop ที่ต้องเฝ้าดูแลใกล้ชิด แบบไม่ให้คลาดสายตา
เมื่อสิ้นสุดโครงการ เราถ่ายโอนกิจการนี้ให้แก่ อบต.
เมื่อวันที่ 27 ผมไปเยี่ยมมาพบว่า
- ชาวบ้านเข็ดต่อความล้มเหลวในการปลูกมะเขือเทศส่งโรงงานหลวงเต่างอย เหลือแต่เกษตรกรที่สนใจปลูกยาสูบเตอร์กิส
- กองทุนยังอยู่ การทำงานของโรงสูบน้ำยังใช้ได้ แต่ราคาค่ากระแสไฟฟ้าแพงมากขึ้น
- ที่ตกใจคือ พื้นที่เดิมเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ กลายเป็นยางพารามากขึ้น
- ได้คุยกับเกษตรกร เขาย้ำว่าโรงสูบน้ำคือหลักประกันการมีข้าวกิน เพราะเป็นน้ำเสริมการทำนา หากช่วงปลูกข้าวฝนไม่มี ก็จะร้องขอให้สูบน้ำใส่แปลงนา แม้ว่านี่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งก็ตาม
- ที่ตกใจมากขึ้นไปอีกคือ นายสมัย เป็นชาวบ้านที่เราฝึกอบรมให้เป็นคนดูแลโรงสูบน้ำนั้นบอกกับเราว่า ท่านนายกองค์การบริหารส่วนตำบล สนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกยางพารา และแจกกล้ายางพาราให้ครอบครัวละ 50 กล้า ทุกครัวเรือนที่เสนอขอ
การไปเยี่ยมเยือนครั้งนี้ยังไม่มีเวลามากนักในการพูดคุยกับทุกคน นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น
มีประเด็นมากมายที่ค้างคาใจที่ต้องมีเวลาเข้าไปสะสาง