ทุ่งนาที่เหงาหงอย..
อ่าน: 4278
สมัยสี่สิบ-ห้าสิบปีที่ผ่านมาทุ่งนาที่เรียกทุ่งคำหยาดแถบนี้เรามาเลี้ยงควาย เก็บผักบุ้ง ไถนา เกี่ยวข้าว ปั้นคันนา และเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นที่นี่
ทุ่งโพธิ์ทอง ทุ่งม่วงเตี้ย ทุ่งคำหยาดเป็นทุ่งนาผืนใหญ่ติดต่อกัน มองไปสุดลูกตา ยามฤดูทำนา ชาวบ้านม่วงเตี้ย โพธิ์ทอง คำหยาด ต่างพากันมารวมกันในแปลงนาของตัวเอง ควายนับจำนวนไม่ถ้วนเคียงคู่ เสียงคนตะโกนคุยกัน ถามไถ่กัน บอกกล่าวกัน ถึงสารพัดเรื่องราว……
พิธีกรรมท้องถิ่นมีควบคู่ไปกับการทำนา ช่วงไถนาก็บอกเจ้าที่เจ้าทาง ช่วงข้าวตั้งท้องก็บอกแม่โพสพ ยามเก็บเกี่ยว ก็เลี้ยงดูแม่โพสพ ยามนวดข้าว เอาข้าวขึ้นยุ้งฉาง ก็บอกกล่าวแม่โพสพและเจ้าที่เจ้าทาง ปู่ย่าตายาย
ผมจำติดตามติดใจคือ บ้านผมนั้นพ่อเป็นครู แม่เป็นชาวนา ลูกๆแม้จะมีหลายคนแต่ทุกคนก็เรียนหนังสือ ยังเล็กอยู่จึงไม่มีแรงงานทำนา พ่อไม่ได้จ้างใคร แต่มีญาติพี่น้องในตระกูลพ่อและตระกูลแม่มาช่วย บางครั้งแม่ก็ต้องใช้เวลาเยอะในการเตรียมข้าวปลาอาหารไปเผื่อญาติพี่น้องที่มาช่วยงาน บางครั้งญาติก็เอาข้าวปลามาเอง ตั้งแต่ไถนา เกี่ยว และเก็บข้าวเข้ายุ้งฉาง ได้แรงงานญาติทั้งนั้น แน่นอนบางปีแม่ตัดสินใจจ้างแรงงานมาเกี่ยว เพราะญาติก็เร่งงานในนาของเขาเหมือนกัน
แต่ไม่ค่อยจ้าง แต่ “ลงแขก” กัน เท่าที่จำได้ การลงแขกนั้นจะเป็นกลุ่มคนในหมู่บ้านเดียวกันที่สนิทชิดเชื้อกัน กลุ่มใครกุ่มมัน มีตั้งแต่ 10 คน ไปจนถึง 20-30 คน แล้วแต่ความสัมพันธ์ภายในกลุ่มนั้นๆ ต่างตกลงกันว่าวันนี้ หรือช่วงนี้ข้าวใครสุกก่อนก็ไปลุยเกี่ยวข้าวคนนั้นก่อน แล้วก็ไล่เลียงไปจนหมดสิ้น เจ้าภาพหรือเจ้าของนาก็จะทำข้าวปลาอาหารมาเลี้ยง เนื่องจากเป็นคนกลุ่มเดียวกันระหว่างก้มเกี่ยวข้าวเรื่องราวสารพัดก็จะเอามาคุยกันลั่นทุ่ง หยอกล้อกัน จนร้องรำทำเพลงกัน เป็นที่สุกด้วย ได้งานด้วย
ภาพคนวันกลางคนจำนวนมากยืนกลางทุ่งนาเป็นกลุ่ม ใส่เสื้อแขนยาว นุ่งผ้าถุง สรวมงอบ มือถือเคียว เหงื่อเต็มใบหน้า แต่ยิ้มแย้มนั้นหมดสิ้นไปแล้วในท้องทุ่ง..
วัวควายหายไป….
เสียงผู้คนจำนวนมากทักทาย ถามไถ่กันในท้องทุ่งหายไป
มีเสียงเครื่องจักรเข้ามาแทนที่
และความเหงาหงอย….