ก๊วบ
อ่าน: 1876
ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เป็นคำพูดที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เชื่อว่าหลายคนก็อาจจะไม่เคยต้องเผชิญสถานการณ์ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
คนทำงานชนบทนั้นคลุกคลีกับสังคมที่เป็นรอยต่อของสังคมโบราณกับสังคมสมัยใหม่ ซึ่งช่องว่างระหว่างสองสังคมนี้ถ่างออกมากขึ้น และก่อให้เกิดปัญหามากมายอย่างที่คนปัจจุบันมองแต่ไม่เห็น
ผู้เฒ่าเสนอให้เราทำ “พิธีก๊วบ” ในช่วงแรกที่เราเข้ามาทำงานในหมู่บ้านเหล่านี้ แรกมาทำงานเรา งง อะไรคือก๊วบ ทำทำไม ทำไมต้องทำ เมื่อเราได้ฟังผู้เฒ่าอธิบายเราก็อ๋อ..และยินดีลู่ตามลมแห่งความเชื่อของท้องถิ่น
ก่อนการแสดงโขน จะมีพิธีไหว้ครู เป็นการแสดงคารวะสูงสุดต่อครูบาอาจารย์ที่สั่งสอนวิชาความรู้เรามา หากไม่ทำพิธีนี้ ไม่ได้ จะออกไปแสดงไม่ได้ ในลักษณะความเชื่อเดียวกันที่เราเรียกว่า นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่เป็นความเชื่อ พิธีก๊วบ ก็คือการแสดงคารวะต่อผีบ้านผีเรียน เทวดาฟ้าดิน เจ้าที่เจ้าทาง หรือสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งหมดที่ดูแลพื้นที่ท้องถิ่นนั้น เมื่อเราเข้ามาทำงานในพื้นที่นี้ เราก็ต้องมาแสดงตัวตน และแสดงคารวะ แล้วจะได้รับการปกป้องผองภัยต่างๆ มีเรื่องเล่ามากมายต่อสิ่งเหนือธรรมชาติเหล่านี้
พ่อเชคเล่าให้ฟังวันนั้นว่า การสร้างถนนดำเส้นนี้ที่เพิ่งเสร็จไปเมื่อปลายปีที่แล้ว วันหนึ่งนายช่างคุมงานขับรถมากับภรรยาของเขา แล้วสามีก็จอดรถลงไป “ยิงกระต่าย” ข้างถนน ภรรยาคอยในรถ นานพอสมควร ภรรยาเอ๊ะใจว่าทำไมช้าจังจังลงไปดู ปรากฏว่าไม่พบสามีแล้ว หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ถามไถ่ชาวบ้านก็ไม่มีใครรู้เห็น วันต่อมาสามีไปโผล่ที่อีกหมู่บ้านหนึ่งอย่างประหลาด ..เขาบอกว่ามีคนมาพาไป…
ในวาระที่สิ้นเดือนนี้เราจะปิดโครงการที่ดงหลวง เราจะละเลยพิธีกรรมนี้ไม่ได้ พ่อเชคบอกว่าต้องเอา เจ้าหน้าที่เดิมของเราที่ออกไปแล้วกลับมาด้วย กรณี อาวเปลี่ยนก็ให้เอาชื่อมาร่วมพิธีนี้ด้วย พิธีก๊วบก็คือพิธีครอบ ปลายเดือนนี้จะเป็นการ “ครอบออก”
คนทั้งหมู่บ้านจะเข้ามาร่วมพิธี โดยเฉพาะเจ้าโคตรทุกสายตระกูล โดยมีจ้ำเป็นผู้ทำพิธีที่ศาลปู่ตากลางหมู่บ้านครับ นี่คือการบอกลาชุมชนตามพิธีกรรมท้องถิ่น เป็นการคารวะท้องถิ่นตามประเพณีของเขา เราเคารพ หลักการ ความเชื่อของชุมชน