ฟาน
อ่าน: 5050เมื่อวานมีกำหนดจะไปร่วมกับเพื่อนรัก บำรุง คะโยธา(คนละคนกับ พี่บำรุง บุญปัญญา) NGO นักเคลื่อนไหวตัวแม่แห่งเทือกเขาภูพาน เพราะ 4ส2 โดยลุงเอกพาคณะไปเยี่ยมพูดคุยกันก่อนจะไปสกลนครต่อไปตามกำหนดการ บังเอิญผมได้รับมอบหมายจากโครงการให้รับผู้เชี่ยวชาญ JBIC เป็นวิศวกร 2 ท่านมาดูงาน ระบบสูบน้ำเพื่อการชลประทานห้วยบางทราย ที่เกี่ยวข้องกับ ปอบ ที่กล่าวถึงบ่อยๆนั้น เลยต้องอยู่รับคณะนี้ ไม่ได้ไปร่วมกับ 4ส2 อย่างเสียดายโอกาส
ระหว่างที่นำคณะไปดูถังเก็บน้ำขนากยักษ์ใหญ่ นั้นก็พบชาวบ้านถือปืนยาวที่เรียกปืนแก๊บ เข้าไปถามว่าวันนี้พกปืนมาทำไมแต่เช้าเลย เขาก็ชี้ให้ดูที่พื้นท้องร่องระหว่างแปลงมันสำปะหลังว่า อาจารย์ดูรอยนั่นซิ นั่นคือรอยเท้า “ฟาน” หรือเก้งป่านั่นเอง เขาคงลงมาหากินประเมินอย่างนั้น
ถามว่าเคยพบรอยเท้าแบบนี้มาก่อนไหมในพื้นที่แบบนี้ ชาวบ้านบอกว่าไม่เคยพบ มีแต่บนภูเขาเท่านั้น ผมเก็บข้อมูลและประเด็นไว้ในใจ เดินหน้าไปอธิบายให้ JBIC ฟังเรื่องราวของระบบสูบน้ำเพื่อการชลประทานนี้ต่อไป คุยแลกเปลี่ยนกันนานพอสมควรจนเลยเที่ยง คณะจึงเดินทางเข้ามุกดาหารเพื่อไปฝั่งสะหวันนะเขตเพื่อต่อวีซา ต่อไป
ย้อนกลับมารอยเท้าฟาน หลังจากที่เราคุยกับชาวบ้านไม่นาน ก็ได้ยินเสียงปืนดังใกล้ๆภูเขา เดาเอาว่า ชาวบ้านยิงฟานตัวนี้หรือเปล่าหนอ..
เนื้อฟานนั้นเป็นที่โปรดปรานของชาวบ้านนักเพราะอ่อนนุ่ม หวาน ไม่ว่าจะประกอบอาหารแบบไหนๆเป็นถูกปากไปหมด และฟานป่านั้นหายากเต็มที่แล้วเพราะพรานป่ามุ่งหาเนื้อมากินในครัวเรือนและขายเพราะราคาดีมาก เจ้าร้านค้าเนื้ออาหารจากป่านี่แหละตัวร้ายที่เป็นปลายทางของการดำรงอาชีพล่าสัตว์ป่าไปขาย
เจ้าฟานตัวนี้เป็นอะไรทำไมถึงมาปรากฏรอยเท้าที่นี่ได้ เป็นประเด็นที่ผมสนใจมาก เดาไปหลายทาง แบบคนไม่รู้เรื่องวิถีสัตว์ป่านี้ก็เดาว่า แปลก ตรงที่พื้นที่ที่เราพบรอยเท้านั้นมันไกลพอสมควรจากชายป่า มันไม่น่าหลงทางมาไกลขนาดนี้ หรือไม่น่ามาหากินไกลขนาดนี้ อยากตั้งวงคุยกับชาวบ้านก็ไม่มีเวลาต้องรีบพาแขกญี่ปุ่นไปในเมืองต่อ…
เพียงสงสัยส่วนตัวว่า หรือเพราะอาหารป่าลดลง เขาลงมากินข้าวที่กำลังสุกนั่นหรือเปล่า ผมก็เดาแบบคนโง่ คงหาเวลาไปคุยกับชาวบ้านเรื่องนี้ต่อไปครับ
แต่ก็เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าในป่าบ้านพังแดงนี้ยังมี ฟาน อยู่..