ความพอเพียงของสังคมดงหลวงโบราณ

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มกราคม 8, 2010 เวลา 11:36 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11881

สังคมชนเผ่าไทโซ่ หรือบรู ดงหลวงนั้นแบ่งคร่าวๆเป็นสามยุค คือยุคก่อน พ.ศ. 2500 ยุคระหว่าง พ.ศ. 2500-2527 และยุคหลัง 2527 จนถึงปัจจุบัน ที่แบ่งยุคแบบนี้ ก็เพราะว่า ช่วง 2500-2527 นั้น เป็นช่วงที่ดงหลวงร้อนเป็นไฟ เป็นที่ตั้งของฐานปลดปล่อยของพรรคคอมมิวนิสต์ พี่น้องไทยโซ่ นับร้อยนับพันขึ้นไปอยู่บนภูเขากับ พคท. และพากันเดินพาเหรดออกจากป่าเมื่อ พ.ศ. 2527

มีโอกาสศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของไทโซ่ดงหลวงก่อน พ.ศ. 2500 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง น่าสนใจครับ น่าจะเป็นตัวแทนสังคมไทยโบราณได้ กรณีหนึ่ง เพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้อีก และเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีทางนึกออกว่าบรรพบุรุษของเราเคยมีความเป็นอยู่อย่างไรกันมาบ้าง

เนื่องจากสัญชาติญาณแห่งการอยู่รอด และภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์พัฒนาการมีชีวิตอยู่รอดนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามระดับของความฉลาดของมนุษย์ แต่น่าจะมีสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน และสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งไทโซ่ ที่นับถือผีกับพุทธไปพร้อมๆกัน หลักการของพุทธย่อมมีส่วนไม่มากก็น้อยในการนำมาเป็นแนวทางการดำรงชีวิต

หลักการหนึ่งของการดำรงชีวิตของศาสนาพุทธคือการยังชีวิตด้วยปัจจัย 4 อย่างพอดี ไม่เบียดเบียนโลกและตัวเอง ตีความง่ายๆคือหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง


เมื่อศึกษาสังคมโบราณของไทโซ่ดงหลวง(และผมเชื่อว่าที่อื่นๆก็คงคล้ายคลึงกัน)แล้วมันสอดคล้องกับหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง แต่หลักปัจจัย 4 แบบพอเพียงนั้นจะให้สมบูรณ์ต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งเข้ามาเชื่อมด้วยคือ วัฒนธรรมชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยกัน เป็นทุนทางสังคม เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ และความจริงเป็นปัจจัยที่ 5 ของความพอเพียงด้วยซ้ำไป


หลักการนี้ยังสะท้อนไปถึง หลักความพอเพียงที่ในหลวงท่านพระราชทานลงมาด้วยว่า ทั้งหมดนั้นจะต้องอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ของสังคมด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นปัจเจกชน ซึ่งสังคมไม่ได้เป็นเช่นนั้น และในชีวิตจริงๆก็ไม่มีใครที่จะพึ่งตัวเองได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ย่อมพึ่งพาอาศัยกันด้วยเพราะเราไม่สามารถมีความสมบูรณ์ตลอดเวลาด้วยปัจจัย 4

ท่านที่นำหลักความพอเพียงไปใช้ได้โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญนี้ด้วย

ความจริงการพึ่งพาอาศัยกันนั้นรวมอยู่ในหลักความพอเพียง แต่มักไม่ได้พูดถึง หรือไม่ได้เน้นกัน หลายท่านไม่ได้พูดถึง เพราะเห็นเป็นประเด็นย่อย แต่จากการเฝ้าสังเกตสังคมชนบทนั้น วัฒนธรรมชุมชนเป็นโครงสร้างหลักด้วยซ้ำไป

ผมจำได้ว่าสมัยเด็กๆ เมื่อพ่อไปทอดแหได้ปลามามาก พ่อก็แบ่งให้เพื่อนบ้านโดยให้เด็กชายบางทรายเดินไปให้ คุณยายนั่น คุณตาคนนี้ เพราะแก่เฒ่าหากินไม่สะดวก

ที่ดงหลวง เมื่อชาวบ้านเดินผ่านแปลงผัก ก็ตะโกนขอผักไปกินกับลาบหน่อยนะ เจ้าของแปลงก็ตะโกนตอบอนุญาตให้เอาไปเถอะ สังคมภาคเหนือจะมีคนโท หรือหม้อดินใส่น้ำตั้งไว้หน้าบ้าน ใครที่เดินผ่านไปมาหิวน้ำก็ตักดื่มกินเอาได้เลย มันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา สวยงาม เอื้ออาทรกัน พึ่งพากัน เพราะไม่มีใครที่มีปัจจัยสมบูรณ์ไปตลอดเวลา ยามมีก็มี ยามขาดก็ขาด ก็ได้อาศัยญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในชุมชนนั่นแหละช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจ ไม่ได้คิดค่าเป็นเงินเป็นทองแต่อย่างใด

ชาวบ้านจะสร้างบ้าน ก็บอกกล่าวกัน ชายอกสามศอกสี่ศอกก็มาช่วยเหลือกัน ตามความถนัด ไม่ได้รับเหมาเอาเงินทองแต่อย่างใด ความมีน้ำใจ ความมีบุญคุณ ความกตัญญู ช่วยเหลือเอื้ออาทร ทั้งหมดนี้แสดงออกโดย “การให้” ให้วัตถุ ให้แรงงาน ให้อภัย ให้ปัจจัยต่างๆ และให้ใจ คือรากเหง้าของสังคม คือทุนทางสังคม คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม ที่ทำให้เราสงบ สันติ มานานแสนนาน และเป็นฐานของหลักความพอเพียง เป็นฐานของการสร้างความพอดีของปัจจัย 4 อันมีฐานรากสำคัญมาจากหลักการทางพุทธศาสนา…

ผมเห็นอย่างนี้น่ะครับพี่น้อง..

(ต่อตอน 2)



Main: 0.018311023712158 sec
Sidebar: 0.027339935302734 sec