งานสูบน้ำห้วยบางทราย ดงหลวง

11 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 12, 2009 เวลา 21:52 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 2566

บ้านพังแดง เป็นหมู่บ้านไทโซ่ ที่มีที่ตั้งเป็นที่ค่อนข้างราบ เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง อาชีพทำนาปี ข้าวไร่และมันสำปะหลังเป็นหลัก ขึ้นป่าเอาของป่ามาเป็นอาหารและเอาไปแลกข้าวบ้าง จากการทำ Feasibility study เมื่อก่อนที่จะมีโครงการนั้นพบว่าเกษตรกรต้องการแหล่งน้ำมาทำการเกษตร แม้ว่าจะมีลำห้วยบางทรายไหลผ่าน แต่ก็มีปัญหาการนำน้ำมาใช้


โครงการจึงตัดสินใจวางแผนก่อสร้างโครงการสูบน้ำเพื่อการชลประทานขึ้น มีพื้นที่รับประโยชน์ 1500 ไร่ ระบบน้ำใช้การสูบน้ำไปเก็บไว้บนถังแล้วปล่อยน้ำไปตามระบบท่อลึกใต้ดิน 1 เมตร ไปโผล่ที่แปลงนาเกษตรกรจำนวน 145 หัวจ่าย เกษตรกรเป็นผู้รับผิดชอบค่ากระแสไฟฟ้าโดยทางราชการจะรับผิดชอบในช่วง 3 ปีแรก แต่ทั้ง 3 ปีนั้นก็เก็บค่าบริการน้ำจากเกษตรกรทุกเดือนตามมิเตอร์น้ำเหมือนระบบประปาในเมืองในอัตรา ลบม.ละ .65 บาท เก็บเป็นกองทุนไว้ เมื่อปีที่ 4 เกษตรกรก็ต้องรับผิดชอบเต็มร้อยเปอร์เซนต์


รูปซ้ายมือนั้นคืออาคารสูบน้ำเมื่อสร้างเสร็จใหม่ๆ มีเครื่องสูบน้ำสองชุด เป็นระบบอัตโนมัติได้ และ Manual ได้ระบบไฟฟ้าเหมือนระบบที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์
(ดีซะไม่เมี๊ยะ….ดีเกินไป…)

รูปขวามือนั่นแหละคือปัญหา A คืออาคารสูบน้ำที่ตั้งอยู่ริมฝั่งห้วยบางทราย B คือถังเก็บกักน้ำก่อนปล่อยเข้าสู่ระบบท่อ เพราะที่ตั้งอาคารอยู่ตรงทางโค้งทางฝั่งซ้ายของลำห้วยบางทรายเมื่อฤดูน้ำหลากมาถึง น้ำก็พัดพาเอาทรายตามธรรมชาติไหลมาด้วย ซึ่งก็ไหลเข้ามาถมทับหัวสูบน้ำ ตามรูปด้านล่างซ้ายมือ


ปริมาณทรายที่ถมทับนั้นมากมายใช้แรงงานคน ประมาณสองวันเต็มๆ ที่เหน็ดเหนื่อย ขั้นตอนการเอาทรายออกก็ต้องนั่งเรือข้ามฝั่งเอาถุงปุ๋ยที่ซื้อมาจากเมืองไปใส่ทรายบนตลิ่ง ใส่เรือนำข้ามฝั่งมาวางซ้อนทับกันเป็นเขื่อนแล้วสูบน้ำภายในอาคารหัวสูบน้ำออก แค่นี้ก็ค่อนวันเข้าไปแล้ว จากนั้นก็เปิดลูกกรงเหล็กลงไปที่อาคารหัวสูบน้ำค่อยๆตัดทรายทีละกระป่อง จนเอาทรายที่ถมทับหัวสูบน้ำออกหมด..


ชาวบ้านที่เป็นสมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างก็มาร่วมใช้แรงงานกัน ใครติดธุระไม่ได้มาก็เอาไก่ต้มมาแทน วัยรุ่นหรือลูกหลานที่กำลังหนุ่มแน่นก็เป็นแรงงานหลักต่างมาช่วยกันเต็มที่


เหนื่อยก็ล้อมวงกินข้าวเหนียวที่เตรียมมา เนื้อที่เป็นโปรตีนคือ หนูป่าย่างหอมกรุ่น.. ชาวบ้านเหนือยอย่างนี้ทุกปี จนมาสรุปบทเรียนว่า ปัญหานี้ควรแก้ไข โดยการทำหัวสูบน้ำยื่นออกไปกลางลำห้วยบางทราย เพราะตรงนั้นน้ำไหลตลอดจะไม่มีทราย ทางวิศวกรราชการมาดูหลายครั้ง ก็ยังไม่ได้แก้ไขอย่างใด

ชาวบ้านอ่อนใจที่ระบบถูกสร้างขึ้นมาโดยไม่ได้เตรียมแก้ปัญหาสิ่งนี้ ทุกปีก่อนเข้าสู่ฤดูแล้งจะต้องระดมแรงงานมาขุดลอก คนที่นั่งอยู่กรุงเทพฯก็คิดว่า “ราชการสร้างให้แล้ว แค่นี้ชาวบ้านก็ช่วยๆกันหน่อยซิ…” อุปสรรคนี้เป็นประการหนึ่งที่ทำให้การใช้ประโยชน์จากโครงการไม่เป็นไปตามที่โครงการคาดหวัง…

ประเด็นคือ ที่สถานที่อื่นที่สามารถตั้งอาคารสูบน้ำได้โดยไม่เกิดปัญหาทรายมาถมทับหัวสูบน้ำ
นอกจากนี้ยังมีจุดอ่อนอื่นๆอีก เช่น ปลายท่อระบบน้ำไม่มีทางเปิดออก, น้ำที่ปล่อยลงท่อแม้จะมีตัวกรอง แต่ตะกอนขนาดเล็กก็หลุดไปตามท่อได้ ก็จะไปจับตัวที่มิเตอร์วัดปริมาณการใช้น้ำ ทำให้เกิดไม่หมุน ก็ไม่ทราบปริมาณการใช้น้ำ ท่อรั่ว แกนวาล์วเปิดปิดน้ำที่เครื่องสูบน้ำเป็นเหล็กหล่อ เกิดหักขึ้นมา ผ่านไปเกือบปีแล้วยังไม่ซ่อม…ฯ

ระบบที่ซับซ้อน ดีเกินไปนั้นเมื่อถ่ายโอนให้อบต. จะสามารถดูแลได้มากน้อยแค่ไหน.. งานแบบนี้หากอยู่ภายใต้ระบบราชการก็ยากที่จะคล่องตัวในการบำรุงรักษา แค่บริหารจัดการระบบก็หนักอึ้งแล้ว ยังต้องมาบริหารชาวบ้านให้มาใช้ประโยชน์อีก…

แค่โครงการสูบน้ำนี้โครงการเดียวก็ต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์… มิเช่นนั้นงบที่ลงทุนไปครึ่งร้อยล้านบาท ก็จะเป็นซากอีกแห่งหนึ่งของระบบที่มีเจตนาดี แต่ไม่เอื้อต่อการทำงานให้มีประสิทธิภาพ


ไม้ข่มเหง

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กันยายน 12, 2009 เวลา 2:03 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 2699

ผมไม่ได้ไปข่มเหงใคร และใครก็ไม่ได้มาข่มเหงผมหรอกครับ …

แล้วคำนี้เกี่ยวกับรูปที่เอามาแสดงอย่างไร หลายท่านคงสงสัย


เมื่อเข้าที่ทำงานตอนเช้าวันนี้ก็มีโน๊ทบนโต๊ะทำงานกล่าวว่า พ่อไข วงศ์กระโซ่เสียชีวิตแล้ว จะเผาวันนี้ ขอเชิญ…เข้าร่วมงานศพด้วย

พ่อไข เป็นผู้นำชาวบ้านที่เราสนิทสนมด้วยตั้งแต่แรก พ่อไขเป็นกลุ่มคนแรกๆที่ดงหลวงที่ทดลองทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเพื่อใส่พืชผักต่างๆจนได้ผล พ่อไขทำเกษตรผสมผสานให้คนอื่นๆดู ขุดสระน้ำ เอาน้ำมาใช้เพื่อการเกษตรพอเพียง ปลูกทุกอย่างที่กินได้ ตามแนวคิดของเครือข่ายอินแปงแห่งสกลนคร

พ่อไขยังมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นมัคทายกวัด ดูแลเอาใจใส่พระสงฆ์องค์เจ้าทุกด้าน


วัย 70 เศษที่มาล้มป่วยด้วยเรื่องของตับ เร่ร่อนไปรักษาตามโรงพยาบาลมามากมายทั้งของรัฐของเอกชน ทั้งสมุนไพร ..แต่ก็ต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ

กว่าผมจะเสร็จงานที่ทำงานก็บ่ายแก่แล้ว รีบเดินทางประมาณ 60 กม.เข้าดงหลวงมาถึงบ้านงานพบว่าเคลื่อนศพไปสถานที่เผาแล้ว ผมยิ่งงงเพราะเขาใช้สวนของพ่อไขเป็นสถานที่เผาศพ ไม่ได้ใช้วัด หรือป่าช้า ทั้งนี้เป็นไปตามความต้องการของลูกหลาน โดยเฉพาะกลุ่มไทโซ่ ที่จะเอาบรรพบุรุษไปเผาและเก็บกระดูกไว้ที่สวน ที่นาของเจ้าของ

ผมได้เห็นพิธีแบบชาวบ้านที่แปลกตาไปจากแบบเมือง การกองฟืนแล้วเอาศพไปวางไว้ข้างบนนั้นทางภาคกลางเรียก “เผามอญ” หลังจากพระทำพิธีแล้วญาติสนิท มิตรสหายเอาน้ำมะพร้าว และน้ำพิเศษชนิดหนึ่งไปรดลงใบหน้าศพ ครบถ้วนแล้ว ก็จะทำพิธีเผา

เห็นชาวบ้านช่วยกัน ยกไม้ขนาดใหญ่มากจำนวน 4 ต้นเอามาวางพิงทับโลงศพด้านละสองต้น ดังภาพ

ผมถามผู้นำชาวบ้านว่า ไม้ใหญ่ที่เอามาอิง มาทับนั้นทำไว้ทำไม… ผู้นำบอกผมว่า เอามาทับไม่ให้เวลาเผาศพ เผาโลงแล้ว โลงจะกลิ้งตกลงมาเพราะการเผาไหม้น่ะซี เขาเรียกไม้สี่ต้นนี้ว่า “ไม้ข่มเหง” ผมฟังไม่ผิดครับเพราะซักผู้นำจนมั่นใจว่าเรียกเช่นนั้นจริงๆ เป็นคำเดียวกับ ข่มเหง นั่นแหละ ผู้นำคนนั้นยืนยัน

เอาไม้ใหญ่ไปวางทับเพราะต้องการ “ข่มเหง” โลงศพไม่ให้ไหลกลิ้งลงมาช่วงเผานั่นเอง…..

(ใช้มือถือถ่ายรูปช่วงเย็นมากแล้วจึงไม่ชัด)



Main: 0.27613806724548 sec
Sidebar: 0.29234504699707 sec