บัณฑิตชนบท..

อ่าน: 1956

ที่สถาบันวิจัยแห่งหนึ่งรับนักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนมาฝึกงาน อาจารย์ก็มอบงานให้ทั้ง 5 คนไปลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสนามตามแผนงานที่มีอยู่แล้ว

ก่อนลงสนามก็ต้องมาคุยกันก่อนว่ามี วิธีเก็บข้อมูลอย่างไร กระบวนวิธีมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง และอีกมากมาย ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของนักวิชาการ หรือนักพัฒนาชุมชนเมื่อจะเก็บข้อมูลก็ต้องมาทำความเข้าใจกระบวนการทั้งหมด โดยเฉพาะสาระของข้อมูลที่จะต้องเก็บ อย่างละเอียดยิบ เพราะประเด็นคำถามนั้นมีข้อจำกัดในการทำความเข้าใจด้วยภาษาให้ตรงกับสิ่งที่ต้องการ มีบ่อยครั้งที่ผู้ไปซักถาม ตีความหมายผิด ก็จะทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความประสงค์ของผู้ออกแบบสอบถาม ยิ่งไม่เข้าใจภาษาท้องถิ่น สำนวนท้องถิ่น วัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ วิถีปฏิบัติของท้องถิ่น ก็จะยิ่ง สื่อสารให้ผู้ให้สัมภาษณ์ไม่เข้าใจ ผู้ตอบก็จะให้ข้อมูลที่ไปคนละทิศละทาง สิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่ข้อเท็จจริง กลายเป็นขยะไป

มีเรื่องเก่าที่ขอยกตัวอย่างอีกครั้ง นักศึกษาปริญญาโทมาเก็บข้อมูลสนาม ในเรื่องความรู้ความเข้าใจของชาวชนบทต่อหลักศาสนาบางประการ

นักศึกษา: คุณยายนับถือศาสนาอะไรครับ

คุณยาย: ศาสนาพุทธซิไอ้หนู

นักศึกษา: คุณยายช่วยอธิบายเรื่อง เมตตา หน่อยซิครับว่าหมายความว่าอย่างไร

คุณยาย: ห้วย…. จะให้ยายอธิบายจั๊งใด๋ ยายบ่อจั๊กแหล่ว…

ระหว่างคุยกันนั้น ยายก็เอาน้ำมาให้นักศึกษาดื่มกิน เมื่อเวลามาถึงเที่ยง ก็เตรียมอาหารมาให้กิน… เมื่อสิ้นสุดการซักถามนักศึกษาก็ลากลับไป แล้วก็ไปสรุปว่า คุณยายไม่เข้าใจเรื่องศาสนา โดยเฉพาะเรื่องความมีเมตตา แค่นับถือศาสนาพุทธเท่านั้น…?

หารู้ไม่ว่า ยายนั้นไม่สามารถอธิบายความหมายเป็นภาษาได้ แต่ยายปฏิบัติ ก็ยายมีเมตตาต่อนักศึกษาไงถึงได้เอาน้ำเย็นมาให้ดื่มกิน เอาข้าวปลามาเลี้ยงดูปูเสื่อ นักศึกษาเองนั่นแหละยังไม่เข้าใจหลักศาสนาภาคปฏิบัติ…

นักศึกษาคุ้นเคยแต่ท่องจำแล้วไปสอบเอาคะแนน ตามหลักการวัดผลการศึกษาไงเล่า การวัดผลวัดแค่การท่องจำและขีดเขียนออกมาได้ แต่การเอาความรู้นั้นๆไปปฏิบัติวัดไม่เป็น หรือไม่ได้วัด หรือไม่อยากไปวัดมันยาก…

กลับมาที่นักศึกษาที่มาฝึกงานที่สถาบันวิจัยฯ อาจารย์บอกว่า เธอทุกคนต้องจดบันทึกการสัมภาษณ์ว่าชาวบ้านตอบอะไรบ้าง จดมาให้ละเอียดเลย นักศึกษาสาวคนหนึ่งไม่สนใจการทำความเข้าใจเตรียมตัวลงสนาม กลับบอกอาจารย์ว่า หนูไม่จดหรอกค่ะ หนูมีเทปบันทึก ..?

วันแรกที่ลงสนามจริงๆ เธอแต่งตัวอย่างกับไปช็อปปิ้ง ทาปากแดง สวยเชียว แล้วก็ทำเช่นนั้นจริงๆให้รุ่นพี่สัมภาษณ์แล้วเธอก็เอาเทปมาบันทึก เธอไม่สนใจการสนทนาเพื่อเก็บข้อมูลของรุ่นพี่กับชาวบ้าน เธอเล่นผมยาวๆของเพื่อน นั่งถักเปียกัน…และ….

วันรุ่งขึ้นเธอมาบอกอาจารย์ว่าหนูไม่ไปฝึกงานแล้ว มันลำบาก หนูขอลาออกจะไปฝึกงานที่สำนักงานเทศบาลเมืองดีกว่านั่งแต่ในห้องแอร์เย็นๆ สบายกว่า…???

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยนั้น ก็อนุญาตให้ลาออกไปฝึกงานที่อื่น..พร้อมส่ายหัวว่า นี่นักศึกษาภาควิชาพัฒนาชุมชนนะเนี่ยะ เข้าเรียนผิดคณะหรือเปล่า…

ไม่ระบุสถาบันนะครับ เสียหาย ความจริงมีรายละเอียดมากกว่านี้เยอะแต่เขียนไม่ได้….

อาจารย์ที่สถาบันวิจัยท่านนั้น บอกว่า ให้เด็กพัฒนาชุมชนไปทำ Seasonal calendar ของครอบครัวชาวบ้านหน่อย เขาบอกว่าทำไม่เป็น อาจารย์ถามว่าท่านไหนสอนเรื่อง “เครื่องมือการเก็บข้อมูลชุมชน” นักศึกษาตอบว่า ก็อาจารย์ ดร. …………..เป็นผู้สอน พอเดาออกครับว่า กระบวนการเรียนการสอนนั้น เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้ฝึกปฏิบัติ แค่เรียนในห้องเรียน อาจารย์ก็พูดปาวๆพร้อมกับเทคโนโลยีทางการสอน เช่น Power point รูปภาพ รายงานที่วางไว้หน้าชั้น ….. แต่ไม่เคยพานักศึกษาออกปฏิบัติจริง จึงทำไม่เป็น

นักศึกษาทั้ง 5 คนลาออกไปฝึกงานกับเทศบาลที่นั่งแต่ในห้องเย็นๆ ต่อมาอีกสองวัน มีเด็กสองคนในห้าคนนั้นกลับมากราบอาจารย์ที่สถาบันวิจัย ขอกลับมาฝึกงานที่นี่ใหม่ แต่สามคนไม่มา สองคนนี้บอกว่า หากไปฝึกงานที่เทศบาลจะไม่ได้เรียนรู้เรื่องชนบทเลย ขอกลับมาและกราบขออภัยคราวที่แล้ว…

ที่บริษัทที่ปรึกษาก็เอาเด็กปริญญาโทออกไป แม้ปริญญาเอกก็เอาออกไปก็มีเพราะทำงานไม่เป็น ไม่ได้ ได้ไม่มีคุณภาพ ห่วยแตกว่างั้นเถอะ….

เป็นเรื่องหนักใจของหน่วยงานจริงๆที่บัณฑิตไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น…. ก็ดูการฝึกงานเป็นกรณีตัวอย่างซิ

สรุปว่า.. เป็นห่วงบัณฑิต ที่ไม่ได้มุ่งเน้นความรู้เชิงปฏิบัติ เราเป็นห่วงคุณภาพของความเป็นบัณฑิต ไม่ได้เข้าใจรากเหง้าของความรู้ ไม่ใช่ของจริง แค่ฉาบฉวย ล่องลอยไปกับกระแสสังคมที่เป็นสังคมบริโภค โอยจะสาธยายอย่างไรถึงจะหมดเนี่ยะ

ครับไม่ใช่ทุกสถาบันนะครับ ไม่ใช่บัณฑิตทุกคนนะครับ แต่ดูจะมีเรื่องราวดังกล่าวมานี้มากเหมือนกันครับ

จริงๆนักศึกษาที่มาสนใจทำงานพัฒนาชนบทนั้นไม่จำเป็นต้องแต่งตัว เซอ เซอ มอมๆ หล่อได้ สวยได้ครับ แต่ต้องไม่สักแต่หล่อ แต่สวยแต่ไม่มีกึ๋น หากสนใจอย่างนั้นไปเป็นพริตตี้ดีกว่านะจ๊ะคนสวย….


น้ำตาพ่อแสน

อ่าน: 1910

ท่านที่ติดตามบันทึกผมสมัยชื่อ “ลานดงหลวง” และ “ลานเก็บเรื่องมาเล่า” คงผ่านตาเรื่องของพ่อแสน แห่งดงหลวงมาบ้าง ขอทบทวนสั้นๆว่า พ่อแสนคือชาวบ้านชนเผ่ากะโซ่อยู่ที่บ้านเลื่อนเจริญ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาฯที่ผมรับผิดชอบจึงรู้จักพ่อแสนดี ในฐานะที่เป็นผู้นำกิจกรรมเรื่องการสร้างป่าครอบครัวจากพื้นที่โล่งเตียนเพราะถางป่าเดิมเอามาปลูกมันสำปะหลังตามกระแสยุคสมัยที่ใครๆก็หาที่ดินปลูกกัน

จากการเข้าไปคลุกคลีพ่อแสน พบว่า พ่อแสนไม่ใช่ธรรมดา เพราะเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่เรียนรู้ธรรมชาติแล้วดัดแปลงธรรมชาติให้มาอยู่ในพื้นที่สวนป่าของตัวเอง ไม่ว่าการเอาพืชป่ามาปลูก เอาเห็ดป่ามาเพาะ เลี้ยงสัตว์ป่าที่เป็นอาหารขึ้นในสวนป่า สร้างรังให้สัตว์ป่ามาอยู่อาศัย ต่างพึ่งพากัน เช่น สร้างบ้านให้ค้างคาว หอยแก๊ด แมงโยงโย่
และ…….

แม้ว่าโครงการ คฟป.ที่ผมมีส่วนรับผิดชอบจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ สปก. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสรุปบทเรียนและจัดทำสื่อ อาจเรียกว่าทำเป็นครั้งที่สองครั้งที่สามแล้ว หนึ่งในนั้นคือกรณีศึกษาพ่อแสน

ผมไม่ได้มีส่วนในเรื่องนี้ แต่คนข้างกายเป็นผู้รับผิดชอบ เธอมีทีมงานด้านนี้ออกไปทำการสัมภาษณ์และถ่ายทำวีดีโอ

เย็นวันนั้นคนข้างกายต้องเดินทางไปประชุมกทม. ผมก็ไปส่งที่สนามบินขอนแก่น เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน เสียงโทรศัพท์เธอตามมาว่า ทีมงานที่ไปสัมภาษณ์พ่อแสนรายงานมาว่า ขณะที่ทำการสัมภาษณ์พ่อแสนนั้น พ่อแสนร่ำไห้ จนทีมงานตกใจ แต่ก็ปล่อยให้พ่อแสนปลดปล่อยความรู้สึกสุดๆนั้นออกมา

หลังจากนั้นผมมีโอกาสสอบถามน้องๆว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแสน…..

เป็นการตั้งคำถามปกติธรรมดาถึงที่มาที่ไปของการมาทำสวนป่าครอบครัวที่นี่…พ่อแสนเล่าเรื่องย้อนหลังไปสมัยหนุ่มๆที่มาถางป่ากับมือเพื่อเอาที่ดินปลูกพืชเศรษฐกิจ คือมันสำปะหลัง เหมือนเพื่อนบ้านทั่วไปที่ทำกันมา แต่แล้วมันมีแต่จนกับจน ป่าก็หมดไป ต้นไม้ที่เคยมีมากมายก็หมดสิ้น มันสำปะหลังที่ปลูกก็ไม่เห็นจะมีเงินทองมากขึ้น แถมมีหนี้สินอีก…

กว่าจะมาเปลี่ยนใจปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ บนพื้นที่ดินที่เตียนโล่งก็เกือบจะหมดแรงแล้ว…

ผมนึกถึงลุงฉ่ำที่นครสวรรค์ที่ผมเคยทำงานที่นั่น ลุงฉ่ำเป็นคนถางป่ามาก่อน ลุงบอกว่า ตีนเหยียบไม่ถึงดิน เพราะตัดไม้ใหญ่น้อยลงมาจนหมดสิ้นเพื่อเอาที่ดินปลูกข้าวโพด แต่แล้วลุงฉ่ำกลับลำมาเป็นผู้นำปลูกป่า รักษาป่า ที่เข้มแข็งคนหนึ่งในเขตแม่วงก์นั้น

สำนึกสูงส่งที่เฆี่ยนหัวใจให้เปลี่ยนความคิดจากการทำลายมาเป็นการสร้าง การรื้อฟื้นป่า มันมีทั้งปิติ และความรู้สึกแห่งการกลับใจใหม่ ที่สังคมมารองรับความถูกต้องแนวทางนี้

น้ำตาของพ่อแสนนั้นมีคุณค่าเหลือเกิน..ในสำนึกที่เราสัมผัสได้ ว่าข้างในของพ่อแสนนั้นคิดอะไรอยู่ มันเป็นสำนึกที่สูงส่ง..ที่งานพัฒนา งานสร้างคนพยายามสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาให้กับพี่น้องในชนบท….

ซึ่งเป็นงานที่ยากยิ่งนัก…


เงินใต้ถุนบ้าน..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ สิงหาคม 6, 2012 เวลา 10:08 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 1822

คืนนั้นฝนตกหนักมาก บ้านเราเปียกไปหมด จนไม่ได้หลับนอนกันทั้งบ้าน เพราะฝนสาดเข้ามาถึงเรือนใหญ่ที่ลูกๆ 5 คนนอนเรียงกันอยู่ เด็กชายวัย 13 ขวบพยายามช่วยพี่ๆ น้อง    เก็บมุ้ง ที่นอนไม่ให้เปียกฝน แต่ก็สุดปัญญา

เรานั่งหลับๆตื่นๆ พอตี 5 พ่อซึ่งนอนอีกหลังหนึ่ง ซึ่งก็เปียกเหมือนกันมาเรียกเรา “ถึงเวลาที่จะต้องไปนาแล้ว..ลูก”

พี่สาวคนโตตื่นมาช่วยแม่เรื่องหุงข้าวต้มแกง พี่ชายอีกคนลงไปดูควายที่คอกข้างบ้าน ผมบอกน้องๆว่าหากสว่างแล้วช่วยกันเอาสิ่งที่เปียกฝนทั้งหมดออกไปผึ่งแดดที่นอกชานบ้าน พ่อและผมออกจากบ้านไปนา ผมแบกไถ พ่อหาบข้าวปลูกไป พี่ชายเอาควายไปก่อนหน้านั้นแล้ว ไถพ่อนี้หนักที่สุด ผมต้องเปลี่ยนบ่าซ้าย ขวา บ่อยๆ หรือไม่ก็วางลงยืนสักครูแล้วถึงจะแบกต่อไปใหม่ พ่อเป็น “คนประโยคใหญ่” สำนวนคนภาคกลาง หมายถึง ทำอะไรต้องทำให้ดี สร้างอะไรก็ต้องควานหาวัสดุดีดีมาทำ อย่างคันไถที่ผมแบกอยู่นั้น พ่อไปหาไม้ประดู่ มาทำคันไถและส่วนประกอบต่างๆ มันเป็นไม้ชั้นเลิศในการทำเฟอร์นิเจอร์ ลายสวย คงทนถาวร หากเก็บรักษาดีดีมีอายุเป็นร้อยปีเลยทีเดียว..

เนื่องจากฝนตกหนักเมื่อคืน ทำให้ถนนไปนาที่มีระยะทาง เกือบ 4 กิโลเมตร มีแต่โคลนลื่นทั้งนั้น ผมก็ลื่นล้มไปหลายครั้ง เมื่อถึงนาฟ้าก็สางพอดี รีบเอาควายมาเทียมไถ ผูกเชือก จากควายมาสู่คันไถ กว่าจะเสร็จสบบูรณ์ พ่อต้องมาตรวจสอบดูว่าถูกต้องทั้งหมดไหม มิเช่นนั้นจะเกิดปัญหาระหว่างการทำหน้าที่ พ่อ พี่ชาย และผมไถนาไปจนแดดแรงจ้า แม่กับพี่สาวก็หาบกระจาดข้าวปลาอาหารมาถึงนา เราพักการไถนา เอาควายไปปล่อยชายบ้านโน้น ให้เขากินน้ำ พักผ่อน ก่อนจะไถต่อไปหลังอาหารเช้า แม่เตรียมอาหารสำหรับทุกคนที่บนคันนานั้น โคลนนาที่เปื้อนเท้าเลยขึ้นมาถึงน่อง หัวเข่า เราก็ล้างน้ำใกล้ๆนั้นพอดูดีขึ้นมาบ้าง ทุกคนกินข้าวอย่างอร่อย แกงผักบุ้งนา ปลาเจ่าผักสด พ่อชอบเมนูนี้มาก มักจะไปเก็บใบอ่อนพืชที่พ่อโปรดมาจากโคกข้างบ้านเสมอ

เสร็จแล้วแม่ก็ให้เราพัก กลับไปอาบน้ำอาบท่า แต่ตัวไปโรงเรียน ซึ่งต้องเดินไปอีก 5 กิโลเมตร แม่เก็บกระจาดข้าว น้ำ แล้วก็รับช่วงไถนาต่อจากเรา…..

……. ผมเข้ามาเรียนต่อชั้นม.ศ. 4-5 ที่เมืองหลวงตามที่คุณตาบอกกล่าวว่ายินดีให้ไปพักที่บ้าน เรียนหนังสือ ไม่ต้องไปเช่าที่ไหน แค่ช่วยงานบ้าน และจุนเจือค่าอาหารรายเดือนนิดหน่อยไม่กี่ร้อยบาท แต่เนื่องจากบ้านเราลูก 5 คนกำลังเรียนกันทั้งนั้น อาชีพครูประชาบาลของพ่อ กับการทำนากินนั้น รายได้ฝืดเคืองเหลือเกินสำหรับค่าใช้จ่ายของครอบครัว

….วันนั้นแม่ลงไปกรุงเทพฯเอาพืชผักบ้านนอกไปฝากคุณตาคุณยาย ในฐานะที่ลูกไปกินนอนที่บ้านนี้ เป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ต้องมีของติดไม้ติดมือไปฝากผู้มีพระคุณ ที่ให้ที่พักพิง ดูแลลูกให้ได้เรียนหนังสือ…และแม่ก็บอกว่า พ่อให้เอาค่าเทอมมาให้ พอดี มีส่วนเกินที่ผมจะใช้ติดตัวเพียงวันละ 5 บาท ..เรามีพี่น้องหลายคน ทุกคนกำลังเรียนกันทั้งนั้น เปิดเทอมที เงินทองไม่พอ ข้าวในยุ้งก็ไม่พอขาย ข้าวใหม่ก็เพิ่งปลูก นี่พ่อไปเอาค่าเทอมมาจากสหกรณ์ครูนะลูก ไม่พอค่าใช้จ่ายส่วนตัวลูกๆทุกคนด้วยซ้ำไป ประหยัดนะลูก อดทนเอา ตั้งใจเรียนนะลูก…. เป็นคำสอนสั่ง บอกกล่าวที่ซ้ำๆ ทุกครั้งที่กลับบ้าน หรือจากบ้านมาเรียนหนังสือ ทั้งพ่อทั้งแม่จะบอกกล่าวอะไรทำนองนี้ยาวเหยียด เด็กอย่างเราสมัยนั้นก็นั่งฟังหน้าตาเบื่อๆ ก็ฟังไม่รู้กี่หนกี่ครั้ง ก็คำกล่าวเก่าๆ เดิมๆ อิอิ..

ครั้งนั้น แม่บอกว่า ส่วนเกินจากค่าเทอมที่พ่อให้เจ้ามานั้น แม่คิดว่าเองจะไม่พอใช้ ก่อนมานี่แม่เอาขวดเก่าๆใต้ถุนบ้านเราไปขายได้เงินมาหน่อยหนึ่ง แม่จะให้เองเอาไว้ใช้นะลูก

แม่กล่าวพร้อมกับยื่นแบ้งค์ 20 บาทยัดใส่มือผม….. ผมยกมือไหว้แม่ แม่เข้ามาโอบตัวผมก่อนที่จะกลับบ้านนอกไป

เวลาผ่านไป นับ 50 ปีเศษแล้ว ผมจำได้ติดหูติดตา

ความเป็นแม่ของลูกนั้น ลูกต้องมาก่อนเสมอ…

ทุกครั้งที่ผมกลับไปเยี่ยมแม่ที่บ้าน ก่อนจากลาแม่จะดึงแขนผมไปหอม พร้อมอวยพรให้เดินทางกลับบ้านด้วยสวัสดิภาพ..

แม่จากพวกเราไปเมื่อปีที่แล้วด้วยวัย 88 ปี

เนื่องในโอกาสวันแม่จะมาถึง “ผมรักแม่ครับ ผมคิดถึงแม่…”


การจัดการชุมชนชนบทในระบบนิเวศเกษตรเชิงเขา

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2012 เวลา 10:31 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2432

ทำไมคนอีสาน จึงเป็นมะเร็งตับมากที่สุดในโลก

ไม่ใช่สถิติที่เราควรภูมิใจ ตรงข้ามต้องเอามือมากุมขมับด้วยซ้ำไป…ทำไม..?

เป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง แต่สถิตินี้ไม่ใช่เพิ่งจะมาทราบ เราทราบมากว่า 20 ปีแล้วครับ

ท่านอาจารย์หัวหน้าภาควิชาการโภชนาการของ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ผมสนิทสนมด้วย ท่านเสียชีวิตไปเพราะมะเร็งตับ ยาหยีผมก็ร่วมงานวิจับกับคณะแพทย์ศาสตร์ มข. มาตั้งแต่สมัยปีมะโว้ ก็เรื่องนี้แหละ ตามไปศึกษาวิถีชีวิตอีสานที่ไปเป็นแรงงานตัดอ้อยในจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และ…. เข้าไปศึกษาในชนบทอีสานหลายแห่งทั้งอีสานเหนือ กลาง ใต้

สรุปมาตั้งแต่สมัยนั้นว่า ต้นเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งตับของคนอีสานคือ “การกินดิบ” ก็กินอาหารดิบ ดิบๆสุกๆ ไม่ว่า ปลาดิบๆ หอยดิบๆ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อสัตว์ป่า สารพัดเนื้อสัตว์เอามาทำอาหารดิบกินกับ แซบหลายเด้…. ก็เจ้าแซบหลายนี่แหละ คือต้นเหตุของการเกิดมะเร็งตับ คณะแพทย์ศาสตร์ มข.สรุปมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว… และมีการแปรข้อมูลเหล่านี้ออกไปสู่สื่อสาธารณะเพื่อเตือนประชาชนอีสานให้เปลี่ยนวิธีการกินอาหารดิบ…..ทำกันมานานแล้ว

มาวันนี้ก็ยังมีการพูดถึง เรื่องนี้ และเป็นสถิติโลกไปแล้วด้วย..

มีคำที่สำคัญ หรือ Key word ที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ “พฤติกรรมการกิน” ของคนเรานี่เอง หากจะกล่าวอีกมุม ก็คือ “วัฒนธรรมการกิน” อาจจะแยกเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือ ตัวอาหารที่กินกับกระบวนการกิน สำหรับตัวอาหารนั้น คือวัตถุดิบและวิธีการปรุง การศึกษาครั้งนั้นเท่าที่ผมจำได้คือ กระบวนการกินที่ใช้มือ มาเป็นใช้ช้อน จากช้อนของใครของมัน ตักอาหารส่วนกลางมาเป็นช้อนกลาง ดูจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่เรื่องอาหารที่ดิบ หรือไม่สุก ดีที่สุดคือ ดิบๆสุกๆนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเป็นกินสุกมากขึ้นนั้นทำได้แค่ระยะหนึ่ง แต่แล้วหันไปใช้พฤติกรรมเดิมๆ คือ “กินดิบ”

นี่เองที่ปัญหาที่สลัดไม่ออก คนอีสานไปกรีดยางภาคใต้ ก็ไปแสดงพฤติกรรมการกินของพื้นบ้านอีสาน ยังมีเรื่องเล่ากันว่า คนอีสานไปทำงานต่างประเทศ ยังไปจับสัตว์ป่าเขามากินดิบซะเรียบร้อย ทั้งที่สัตว์ป่านั้นเป็นสัตว์พ่อพันธุ์ของเขา….จริงหรือไม่จริงไม่มีใครยืนยัน แต่เรื่องราวทำนองนี้ไปยืนยัน พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสานว่ามีติดตัวไปทุกหนทุกแห่งที่คนอีสานไปอยู่อาศัย

ผมอยากจะเพิ่มอีกคำลงไปใน พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสานนั้นก็คือ “การติดใจในรสชาด” ของอาหารนั่นเอง ดังนั้น “พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสาน” จึงมี “การติดใจในรสชาดอาหาร” ติดขนานไปด้วยกัน…ไปไหนไปกัน..แบบนั้น

ทำไมชาวจีนจึงทานอาหารร้อนๆ ดื่มชาร้อนๆ ทำไมชาวเกาหลีจึงทานผักดองที่เรียกกิมจิ ทำไมชาวอินเดียจึงใส่เครื่องเทศในอาหารมากมาย เหล่านี้คือวัฒนธรรมการกิน พฤติกรรมการกินที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นด้วยระบบวิถีชีวิตที่คลุกคลีมาตั้งแต่เกิด

ข้อสรุปนี้ นักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆอาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งเหมือนนักวิทยาศาสตร์สังคม เพราะ Key word ตัวนี้มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอีกมากมายตามมา หรือกล่าวอีกทีคือ มีเรื่องราวอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์กลุ่มนี้ เช่นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในสังคม การใช้เวลาในแต่ละวันของชาย หญิง ในสังคมชุมชน การให้ความสำคัญกับความเชื่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ การจัดกลุ่มโดยธรรมชาติในชุมชน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในชุมชน การสร้างนวัตกรรมเครื่องมือจับสัตว์ที่หลากหลาย จากง่ายไปสู่ความซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ ตลอดเลยไปถึงการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งบ้านเรือน กระบวนการตัดสินใจต่างๆในวิถีการดำรงชีวิตของเขา..ฯลฯ…

ผมได้อธิบายกับเพื่อนที่ผมไปทำงานด้วยกันเรื่องปรากฏการณ์หนึ่งคือ จะมีการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงศึกษา สำรวจ แล้วทำการโยกย้ายชาวบ้าน สมมติ 700 ครัวเรือนออกไปจากพื้นที่โครงการ ไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ ไกลออกไปจากที่เดิม พร้อมกับจะจัดที่ดินทำกินให้ใหม่ และอื่นๆมากมายที่จะสนับสนุนให้คนที่ถูกโยกย้ายมานั้นมีความกินดีอยู่ดีให้ได้ แต่บังเอิญเหลือเกินที่โลกเกิดวิกฤติการเงิน ไปกระทบผู้ลงทุน โครงการนี้จึงหยุดไป ขณะที่โยกย้ายชาวบ้านไปแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไปได้จนจบสิ้น ค้างเติ่ง เช่นนั้น

วันดีคืนดี มีอีกกลุ่มหนึ่งมาดำเนินโครงการนี้ต่อ จึงมีการศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบันว่าเป็นเช่นไรบ้าง การศึกษาพบว่ามีประชาชนที่โยกย้ายไปแล้วนั้น กลับไปอยู่ในที่ดินทำกินเดิมจำนวนที่มากพอสมควร

ประเด็นอื่นเราไม่ขอกล่าวถึง แต่ตั้งคำถามกันว่าทำไมจึงมีการโยกย้ายกลับไปยังที่ดินทำกินเดิม.? และเป็นจำนวนมากกว่าที่รับรู้มาก่อนจนตกอกตกใจกัน จากการประมวลข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์โยกย้ายกลับคืนที่ดินทำกินเดิม การสัมภาษณ์ประชาชนท่านหนึ่งเป็นผู้สูงอายุท่านกล่าวว่า หมู่บ้านที่ราชการจัดสรรให้นั้นเป็นชีวิตที่พึ่งพิงตลาด ฝากท้องไว้กับตลาด แต่การกลับไปทำมาหากินในที่เดิมนั้นเป็นการพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ได้ซื้อไม่ได้ขาย หาของป่ากินไปวันๆ….

เมื่อเราเดินทางไปดูสถานที่ตั้งชุมชน ซึ่งปลูกกระต๊อบเป็นกลุ่มๆ มีกลุ่มละ 5-6 หลังคาเรือน รอบๆบ้านปลูกกาแฟ ถัดออกไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ถัดออกไปเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาก มีร่องรอยบุกเบิกเพิ่มเติม…คนที่เราพบส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน มีผู้เฒ่าบ้าง แต่ส่วนใหญ่ผู้เฒ่าจะอยู่ที่บ้านจัดสรรโน้น.. ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนักเรียกว่าอยู่กันแบบดั้งเดิมจริงๆ แน่นอนไม่มีมือถือ ไม่มีทีวี และไม่มีไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด..

เดินขึ้นไปในบ้านมีถุงข้าวกองอยู่ นั่นคือข้าวสำรองที่เก็บไว้ให้คุ้มกินตลอดปีสำหรับจำนวนคนในครอบครัว อาจมากเกินบ้างก็เผื่อเหลือเผื่อขาดง..ฯลฯ ล้วนเป็นระบบวิถีชีวิตชุมชนแบบที่มีระบบนิเวศเชิงเขาและเป็นชนเผ่าที่มีความเชื่อเฉพาะของเขา

หากเราไม่เข้าใจเขา การแก้ปัญหาของคนนอกก็ไปใช้ระบบคิดแบบคนนอกไปกำหนดวิถีชีวิตเขาไปหมด นัยเจตนาที่ดี นโยบายของรัฐ สารพัดเหตุผลที่เอาไปอธิบายชาวบ้านที่ส่วนมากจำนนต่อกฎของรัฐ แต่สภาวะจิตใจภายในนั้น บ่งบอกออกมาในรูปของคำพูดและน้ำเสียง สีหน้า เลยเถิดไปถึงพฤติกรรมที่ตามมาอีกหลายด้าน….

ชาวบ้านที่โยกย้ายกลับมาในที่ดินทำกินเดิมนี้ ส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลหลักคือ วัฒนธรรมการทำมาหากิน ความถนัด ความเคยชิน รวมไปถึงวัฒนธรรมการบริโภค และพฤติกรรมการบริโภคนั่นเอง มีข้าวจากข้าวไร่ พอมีรายได้จากกาแฟ แต่อาหารนั้นหามาจากป่ามากกว่า ร้อยละ 90

สรุปแบบห้วนๆว่า พฤติกรรมของวิถีชีวิต วัฒนธรรมการบริโภคอาจจะไม่เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งตับของชุมชนที่นี่ แต่มีส่วนสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ คือป่าไม้

ประเด็นของนักพัฒนาคือ เราจะหาความลงตัวใหม่ได้ที่ตรงไหน…

แต่น่าเสียดายที่ระบบงานมักให้แก้โจทย์สำคัญเหล่านี้ด้วยเงื่อนไขกระบวนวิธีของคนภายนอก นโยบายรัฐ และเวลาที่จำกัด

ทำได้ครับ แต่ต้องอาศัยกระบวนการปรับตัว ในด้านต่างๆมากพร้อมๆกับระบบพี่เลี้ยงที่เข้าใจและยืดหยุ่นพอสมควร…

ไม่มีอะไรที่ติดแน่นคงที่ มีแต่เปลี่ยนแปลงไป แต่การเปลี่ยนแปลงต้องอยู่บนฐานของความสมดุลและการลงตัวด้วย…


ครั่ง (Laccifer Lacca Kerr)

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 21, 2012 เวลา 20:18 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 3360

เมื่อผมไปสำรวจข้อมูลสนามแห่งหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม มีหลายเรื่องที่ผมค้างคาใจ หนึ่งในนั้นคือ ครั่ง ไม่ใช่อาการคลุ้มคลั่ง เพราะอากาศร้อนนะครับ แต่เป็น “ครั่ง” ที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ เด็กปัจจุบันอาจจะเคยได้ยินคำว่าครั่ง แต่น้อยคนนักจะเคยเห็นตัวครั่ง หรือแม้แต่รังหรือมูลของมันที่เราเอามาใช้ประโยชน์ น้อยคนนักจะเคยเห็น หรือเห็นแล้วไม่รู้จัก..

ท่านที่ไม่รู้จักก็หาความรู้ได้ ที่นี่ สิ่งที่ผมอยากเขียนถึงครั่งก็คือ ชนบทแห่งนั้นที่ผมไปศึกษาข้อมูลสนามพบว่า เกษตรกรมีอาชีพทำนา ทำไร่ ทำสวน และทำครั่ง หรือเลี้ยงครั่งแล้วเก็บขาย ซึ่งข้อมูลราชการพบว่า ประเทศเราส่งครั่งออกเป็นอันดับต้นๆของโลก

ผมคุ้นเคยครั่ง เพราะสมัยเด็กนั้นที่บ้านผมปลูกต้นก้ามปู หรือ ฉำฉา หรือจามจุรี ด้วยหลายเหตุผล เช่นต้องการร่ม เขาโตเร็ว และแผ่กิ่งก้านกว้างขวาง ต้องการใช้ทำฟืน ผมจำได้ว่าก่อนที่ฤดูน้ำท่วมจะลดลงเข้าสู่ฤดูแล้ง และชาวนาจะเก็บเกี่ยวข้าวในนานั้น พ่อบ้านจะเตรียมฟืนเพื่อใช้ในช่วงเกี่ยวข้าว จะตัดกิ่งก้ามปูให้ได้ขนาดพอเหมาะ ผ่าให้เป็นชิ้นเล็กพอดี แล้วกอง เรียงไว้ใต้ถุนบ้าน และมีก้ามปูไว้เลี้ยงครั่งเพื่อเอาขี้ครั่งไว้ขายหรือใช้


แต่พ่อผมจะเลี้ยงครั่งเฉพาะต้นก้ามปูที่ไม่ได้ใช้ร่ม หรือห่างไกลออกไป ทั้งนี้เพราะ ต้นไหนที่เลี้ยงครั่ง เขาจะปล่อยน้ำลงมาเป็นฝอยๆ คนที่นั่งใต้ต้นก้ามปูรับรู้ได้ จึงไม่นิยมเลี้ยงต้นก้ามปูที่ต้องการใช้ร่มดังกล่าว

ในสนามที่ผมไปศึกษานั้น ชาวบ้านมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากครั่งมาช้านาน เป็นท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงของจังหวัด และเป็นที่รู้จักของพ่อค้ารับซื้อครั่งว่า จะซื้อครั่งจำนวนมากได้ที่นี่ แต่วันนี้ครั่งเกือบหมดไปจากพื้นที่แห่งนี้แล้วเพราะมลภาวะที่โรงงานชนิดหนึ่งมาตั้งแล้วปล่อยออกมา ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อวงจรชีวิตของครั่ง ครั่งตายไป หรือไม่เจริญเติบโต ซึ่งกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร


ในทางตรงข้าม การเปลี่ยนแปลงของครั่งที่เกิดขึ้นคือตายไป หรือไม่เติบโต กลายเป็นเครื่องชี้วัดมลภาวะไปแล้ว แม้ว่าเครื่องมือวัดมลภาวะจะบอกว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับมนุษย์ แต่ครั่งอาจจะ sensitive กว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เหมือนไลเคนส์ ที่จะเปลี่ยนสีไปเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ซึ่งตรงนี้ ยังไม่มีความรับผิดชอบจากโรงานนั้นๆ แม้ว่าเกษตรกรจะเคยกล่าวอ้างในเรื่องนี้ แต่ตัวเลขการวัดผลมลภาวะของเครื่องมือวัดนั้นกลายเป็นคำตัดสินไปว่า อยู่ในระดับมาตรฐาน

ผมว่าในอนาคตกฎหมายอาจจะต้องปรับปรุงในเรื่องเหล่านี้ เครื่องมือวัดมลภาวะอาจจะต้องปรับปรุงใหม่ สิ่งเหล่านี้ผมเพียงตั้งข้อสังเกต ไม่สามารถระบุรายละเอียดทั้งหมดได้เพราะเกี่ยวข้องกับงานที่ผมรับผิดชอบอยู่นะครับ

ด้วยความเป็นห่วงสิ่งแวดล้อมน่ะครับ

(รูปและข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก อินเทอร์เน็ต)


เขียนถึง หมอสวัสดิ์ ห้างฉัตร

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 21, 2012 เวลา 16:17 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 6335

คนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และใกล้เคียงร่วงไปทีละคนสองคน อีกหน่อยก็ถึงคิวเรา เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เขียนเรื่องนี้เพราะเมื่อเดือนก่อน พี่สาวโทรมาส่งข่าวว่า พี่เขยเดี้ยงไป เพราะเร่งงานก่อสร้างหนักไปหน่อย เลยล้มฟุบลงไป มือชาและไม่มีแรง ขาข้างซ้ายไม่มีแรง เดินไม่ได้เอาเลย ลูกๆรีบเอาส่งโรงพยาบาล หมอก็ดีเหลือแสน จัดการทางการแพทย์อย่างดี ผลออกมาไม่น่ากลัวเท่าไหร่ ให้ยามากินและทำกายภาพมากๆตามโปแกรมก็น่าจะดีขึ้นในสามสี่เดือน

ช่วงนั้นผมกำลังหาข้อมูลในหมู่บ้านที่แม่เมาะ ก็ไปพบผู้ใหญ่บ้านท่านหนึ่งเดี้ยงมาสี่เดือนเพราะเป็นอัมพฤกษ์ ก็มาอยู่บ้านแล้วทำกายภาพบำบัดบ่อยๆ ลูกหลานช่วยกัน พร้อมทั้งไปเอายาสมุนไพรของหมอสมุนไพรแห่งหนึ่งมากิน ปัจจุบันกลับมาเกือบปกติ ขับรถได้ ไปประชุมได้ ช่วยตัวเองได้ทั้งหมด เพียงปากเบี้ยวไปนิดๆ


ผมสนใจ นึกไปถึงพี่เขยจึงเปลี่ยนเรื่องคุยกับเมียผู้ใหญ่บ้านถึงเรื่องนี้ เมียผู้ใหญ่บ้านก็ดีหลายเล่าให้ฟังโหมด พร้อมทั้งชี้ไปที่สุภาพสตรีเมื่อสักครู่ที่เดินกลับไป บอกว่า เธอเป็นเพื่อนบ้านติดกันนี่แหละ เป็นมะเร็งที่มดลูก อาการหมดสภาพแล้ว ไปหาหมอท่านนี้ คนเดียวกัน เอาสมุนไพรมากิน ดีขึ้นเลยเห็นไหมเล่า นี่ถ้าเมียผู้ใหญ่ไม่บอกผมก็เดาไม่ออกว่าสตรีที่เดินไปนั้นเป็นมะเร็งที่ดีขึ้นมาแล้ว…

ผมตัดสินใจขอชื่อที่อยู่หมอเพื่อจะหาโอกาสไปเอายาไปฝากพี่เขย จังหวะพอดีที่เราเสร็จงานก็จะกลับกรุงเทพฯโดยเดินทางจากลำปางไปเชียงใหม่เพื่อขึ้นเครื่องกลับ เราจะถือโอกาสแวะไปหาหมอท่านนี้เสียก่อน

เมื่อทราบคร่าวๆว่าที่อยู่ของหมออยู่ที่ใดก็บอกคนขับรถไปยังเป้าหมาย โฮ..แม่จ้าว….บ้านท่านอยู่ในป่า ติดอุทยานแห่งชาติขุนตาล เราต้องจอดรถถามชาวบ้านที่อยู่กลางนา ในบ้านหลายครั้งกว่าจะไปถึงเป้าหมาย

รถเต็มบ้านเลย มีคนบอกว่าให้ลงชื่อเข้าคิวไว้ที่สมุดหน้าบ้าน ผมมองเข้าไปข้างในบ้าน มีคนนั่งกันเต็ม ล้นออกมาข้างนอก ผมสอบถามว่ามีคิวอยู่ 5-6 คน แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้มาคนเดียว เพราะหมอจะบอกว่าให้เอาผู้ป่วยมาด้วยจะได้ดูอาการให้เห็นกับตา

ผมนั่งคอยคิดว่าคงยาวแน่ๆจึงเดินทางออกไปชมรอบบ้านที่ทำเป็นโรงงานผลิตสมุนไพร มีลานตากสมุนไพรที่หั่น ตัดแล้วเต็มไปหมด กลิ่นหอมของสมุนไพรโชยมาตลอดเวลา ผมเดินไปหน้าบ้าน มีร้านก๊วยเตี๋ยวอยู่จึงนั่งคุยด้วย ทราบว่าเป็นลูกสาวคนโต ออกจากงานมาขายก๋วยเตี๋ยว เล่าว่าเดิมพ่อสนใจสมุนไพร ศึกษาด้วยตัวเองมาตลอด เข้าร่วมการวิจัยกับสาธารณสุขอำเภอ จังหวัด และหน่วยงานต่างๆมากมาย แม่เขาเองหรือภรรยาหมอเคยเป็นมะเร็งมาก่อนและพ่อทำการรักษาจนคิดว่าหายดี เป็นผู้ช่วยพ่อในปัจจุบันนี้…..


ผมเข้าไปนั่งร่วมวงกับผู้มาหาหมอ เพื่อฟังหมอคุย พร้อมสังเกตการณ์ต่างๆ นี่รอมานานนับสองชั่วโมงแล้ว ผมเห็นหมอคุยตลอด เมื่อถึงคิวใครก็ถามว่าเป็นอะไร ซักไซ้ หากมีผู้ป่วยมาด้วยก็มาดูนั่นดูนี่ เหมือนหมอจริงๆ ถามอาการ ถามอะไรมากมายแล้วก็บอกจะจัดยาให้ เอากี่ชุดล่ะ แล้วก็ค่อยๆเดินไปเตรียมถาด เอาถุงพลาสติกสำหรับใส่ยามากางออกทีละใบแบบค่อยๆเป็นไป ไม่ได้รีบร้อน ปากก็คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ไปเรื่อย ใครตั้งประเด็นอะไรมา หมอก็ต่อความไปตามความรู้ประสบการณ์ของหมอ


ผิดคาดผมที่มักเห็นหมอเร่งทำงานเพื่อจำนวนคนไข้จะได้มากๆเพื่อรายได้ แต่หมอไม่สนใจว่าใครจะคิดว่าช้ามากๆๆๆๆ ใครไม่รอก็ไปก่อน หมอก็เดินจัดยาหยิบจากถุงโน้นบรรจงใส่ถุงพลาสติกในถาด ทีละถุง บางทีก็ขยี้ให้ยาที่หยิบมาแตกตัวไม่จับเป็นก้อน ปากก็พูดไป โฮ ช้าสุดๆ แต่ผมเข้าใจได้

มาถึงคิวคุณยายก่อนหน้าผม หมอถามว่าเป็นอะไร ยายก็บอกว่า เป็นหลายอย่างคุณหมอ เก้าส์ก็เป็น ไตก็เป็น เบาหวานก็เป็น ความดันก็เป็น….หมอบอกว่า ไหนยายเหยียดเท้ามา เหยียดมือมา คว่ำมือดู… ไม่ได้เป็นเก้าส์แก๊วอะไรหรอกยาย หมอว่า หากเป็นข้อนิ้วต้องบวมโตผิดไปจากเดิม เดี๋ยวผมจัดยาให้ เอากี่ถุงล่ะ …

ผมนั่งดูข้างฝา มีใบประกาศนียบัตร 30 กว่าใบจากหน่วยงานราชการทั้งนั้น หมอเล่าให้ฟังว่ามีอินโดนิเซียเชิญไปสัมมนา ถามตัวยาโน่นนี่ ผมไม่บอก มีฝรั่งมังค่าจะมาทำการศึกษา ผมไม่เอาด้วย เพราะมันจะมาหลอกเอาตำราผมไปน่ะซี..

ตัวยาทั้งหมดมาจากป่านี่เอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้เคยมาจับชาวบ้านเหมือนกันที่ขึ้นไปหาสมุนไพรเอามาขายให้หมอ…เรื่องแบบนี้มีไม่จบสิ้น..


(ภาพถุงยาสมุนไพร รางวัลแห่งชาติที่ได้รับ และเอกสารสัมมนา)

สำหรับคิวผม ก็ได้แค่เล่าอาการให้หมอฟังว่าพี่เขยเป็นอัมพฤกษ์ข้างซ้าย เท่าที่ผมมีข้อมูลที่สอบถามมาจากพี่สาวผม แล้วก็ได้ยามาสี่ชุด ให้ไปต้มกิน พร้อมทั้งทำกายภาพด้วยนะ… รวมสามชั่วโมงครึ่งที่ผมคอยหมอ ความจริงคนไข้ไม่มากเท่าไหร่ แต่ญาติพี่น้องคนไข้มากันเยอะ และหมอชอบคุยเลยทำให้ช้า แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับความหวังที่จะทำให้ร่างกายป่วยไข้ดีขึ้น


พี่เขยผมกินยาสมุนไพรไปได้ สามสัปดาห์ พอใจมาก พวกเราก็ดีใจแล้วครับ….

ที่เขียนถึงก็เผื่อใครสนใจ ก็ลองสอบถามได้นะครับ


กระต๊อบ..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 16, 2012 เวลา 23:04 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2826

ภาพวาดในตลาดสก็อต กลางเมืองย่างกุ้ง เมียนมาร์

คล้ายตลาดเซ้า(เช้า) ของลาว มีสินค้าเกือบทุกอย่าง

เสื้อผ้า ทอง ของใช้ หยก ไม้แกะสลัก ของกิน ของฝาก

ใครไปย่างกุ้ง ต้องไปเที่ยวที่นี่นะครับ


ทหารแก่ไม่เคยตาย..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มีนาคม 15, 2012 เวลา 8:28 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 1628

ถ้าไม่มีป้ายบอกผมก็คิดเพียงว่าพ่ออุ้ยท่านนี้คือชายชราคนหนึ่งที่พิการมาขายสลากกินแบ่ง เพื่อหารายได้ให้กับชีวิตและครอบครัว ที่หน้าวัดที่มีชื่อเสียงแห่งนี้มักมีคนมากราบไหว้พระมากเป็นประจำ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับนักเสี่ยงโชค หรือเรียกอีกทีคือเป็นตลาดของผู้ซื้อ-ขายสลากกินแบ่งนั่นเอง

อุ้ยท่านนี้ไม่ธรรมดา แม้ว่าอายุท่านจะผ่านเก้าสิบปีมาหลายร้อนหลายหนาวแล้ว ยังแข็งแรงคำพูดกระฉับกระเฉงแม้จะสูญเสียสายตาไปหมดสิ้น เพราะป้ายบนแผงสลากกินแบ่งได้บอกคร่าวๆถึงสถานะของอุ้ยท่านนี้ และตั้งคำถามเดียวเท่านั้นก็พอเข้าใจว่าท่านคือใคร

ผมขนลุกเลยเมื่อได้ฟังคำบอกเล่าอดีตที่เป็นประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่มีอุ้ยท่านนี้เป็นตัวนำเรื่อง ผมเห็นว่าท่านคือสมบัติสังคมเราด้านประวัติศาสตร์ ท่านคือสมบัติบุคคลของประเทศชาติ ท่านเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและอื่นๆอีกหลายอย่าง หากโรงเรียนนายทหารมาเอาตัวท่านไปเล่าประวัติศาสตร์การสู้รบสมัยนั้นให้ฟังก็น่าจะเป็นบทเรียนและรายละเอียดต่างๆของวงการให้เรียนรู้กัน

หากนักประวัติศาสตร์เอาตัวท่านไปบันทึกรายละเอียดของสงคราม วิถีชีวิต สภาพสงครามและรายละเอียดอื่นๆก็จะเกิดประโยชน์

หากคุณครูจะเชิญท่านไปเล่าสภาพสังคมแห่งอดีตให้นักเรียนรุ่นหลานแหลนได้ยินได้ฟัง สำเหนียกในรากเหง้าของบรรพบุรุษและท้องถิ่น ก็จะเป็นการสร้างทุนทางสังคมอีกทางหนึ่ง เกิดความตระหนัก รักยิ่งต่อถิ่นฐานและเคารพต่อบรรพบุรุษที่ใช้ชีวิตปกป้องแผ่นดินให้เราได้เฉิดฉายในปัจจุบัน

ทำไมเราลืมประวัติศาสตร์บุคคล

ทำไมเราลืมประวัติศาสตร์อดีตสังคมไทยที่มีชีวิต

ทำไมเราลืมประวัติศาสตร์ประเทศชาติที่ทหารสงครามโลกครั้งที่สองท่านนี้ยังมีชีวิตอยู่

ทำไมประเทศชาติทิ้งขว้างบุคคลผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตท่านนี้

และท่านอื่นๆ….

เราคิดอะไรกัน ทำอะไรกันอยู่หรือ…


มิติของข้าว วิถีชุมชน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 27, 2012 เวลา 21:04 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2117

สมัยทีผมบวชเรียนที่สำนักวิปัสสนาไทรงาม รอยต่ออ่างทอง-สุพรรณบุรีนั้น แม้ว่าผมจะมีความสนใจหลักธรรม แต่ก็ไม่สามารถเข้าถึงเนื้อในของธรรมทั้งหลายได้ พระอาจารย์ธรรมธโร เจ้าสำนักท่านจึงกล่าวเสมอว่า ถ้าจะบวชก็ขอให้ครบพรรษา เพราะจะได้ใช้เวลาปฏิบัติให้มาก ท่านสอนว่า ไม่ต้องเอาหนังสือธรรมมาอ่าน ไม่ฟังวิทยุ ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่ดูทีวี ให้สามเดือนมุ่งอยู่แต่การคู้ เหยียดแขน เพื่อจับความรู้สึกที่เกิดขึ้นและทำจิตให้นิ่ง…….

ท่านให้หลักมหาสติปัฏฐาน 4 เพ่งพิจารณา กายในกาย จิตในจิต…….ฯ ผมก็ไม่กระดิก เมื่อผมลาสิกขาออกไป กลับไปทำงานพัฒนาชนบท และย้ายสถานที่มาอยู่อีสาน ที่จังหวัดสุรินทร์ และเข้ารับการฝึกอบรมกระบวนการทำงานชนบทอีกครั้งกับ อ่านอาจารย์ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อ.มรว. อคิน รพีพัฒน์ และ….. เริ่มลงลึกถึงมิติของชุมชนมากขึ้น เนื่องจากท่าน อ.อคิน ท่านเป็นนักสังคมวิทยา เขียนตำราเรื่องคนนอกคนใน และเรื่องราวของชนบทไว้มาก จนมีคนแซวท่านไว้ว่า “เจ้าที่ทำตัวเป็นไพร่” ผมได้เรียนรู้จากอาจารย์ทั้งสองท่านมากมาย และเมื่อย้อนกลับไปนึกถึงสมัยที่บวชเรียน ก็ร้องอ๋อ…. มิติแห่งธรรมนั้นลึกซึ้งมาก ตาเนื้อมองไม่เห็น แต่ต้องใช้ตาปัญญามอง ถึงจะเห็น ถึงจะสัมผัสมิติด้านในได้..


กองข้าวที่เห็นนี้ ก็ไม่เห็นมีอะไร ก็แค่กองข้าว….. นี่คือตาเนื้อที่เราเห็น แต่ความหมายนั้นมากกว่าการเห็นแค่การเก็บข้าวเปลือกไว้

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ข้าวคืออาหารหลักของชาวบ้าน มีข้าวไม่มีข้าวคือเรื่องใหญ่ กับข้าวเรื่องเล็ก หรืออาหารที่จะกินกับข้าวนั้นหาง่าย ชาวบ้านอยู่กัน 5 คน เขารู้ว่าจะต้องเก็บข้าวเปลือกไว้กินกี่ถุง กี่กระสอบ

ปกติเขาจะเก็บข้าวไว้ให้มากพอที่จะกินถึงสองปี…. นี่คือวิถีชุมชน เพราะเป็นหลักประกันว่าหากปีไหนนาล่ม หรือเสียหายก็ยังมีข้าวกิน หากไปไหนๆ ไม่มีความเสียหาย ก็เอาข้าวเก่าไปขายเอาข้าวใหม่เก็บเข้าแทนที่ตามจำนวนที่กินได้สองปี นี่คือระบบคิดรักษาความปลอดภัยไว้ก่อน

ปัจจุบันความต้องการใช้เงินมีมากขึ้น โดยเฉพาะเงินที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเพื่อการศึกษาลูก หากเปิดเทอม ลูกต้องการค่าเทอม หากไม่มีเงินเก็บ ก็พิจารณาตัดสินใจว่าจะเอาข้าวส่วนเกิน หรือไม่เกินก็ตามแต่จ้ำเป็นต้องหาเงินให้ลูก ก็ต้องแบ่งข้าวเปลือกไปขาย ขนาดของถุงนั้นพอดี เหมาะสำหรับการเคลื่อนย้าย เหมาะสำหรับการกะปริมาณข้าวที่ต้องขายกับจำนวนเงินที่ต้องการได้มา แน่นอนหลายครอบครัวตัดสินในขายวัวทั้งตัว และเก็บข้าวไว้กิน

ข้าวเหล่านี้ แบ่งเอาไปเป็นเมล็ดพันธุ์ได้ สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกต่อไป แต่หลายแห่งจะแยกออกไปต่างหาก ไม่ปะปนกับจำนวนนี้

ข้าวเหล่านี้สามารถแบ่งเอาไปทำบุญ ในงานประเพณีต่างๆขอกลุ่มชนเผ่า ของท้องถิ่น ทั้งเอาไปบริจาคที่วัดใกล้บ้าน หรือมีผู้ภิกขาจารมาขอข้าวก็แบ่งเอาไป หรือบ้านอื่นๆขาดข้าวก็เอาสิ่วของมาแลกข้าว ก็แบ่งเอาไป ปีหนึ่งๆมีการบริจาคข้าวเปลือกเพื่องานบุญในวาระต่างๆไม่น้อยทีเดียว เพราต่างหมู่บ้านก็มาบอกบุญ ข้ามตำบล ข้ามอำเภอก็พบบ่อยๆ

แบ่งข้าวให้ญาติพี่น้องที่ขาดแคลนข้าว แบ่งให้ลูกหลานเอาไปกินในต่างถิ่น แม้ลูกหลานมาทำวานกรุงเทพฯ กลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ เมื่อคราวกลับไปงาน พ่อแม่ก็เอาข้าวให้ไปกิน

ข้าวจึงมีคุณค่า มีมูลค่ามากกว่าแค่เอาไว้กินเป็นอาหารหลักเท่านั้น ประเพณีพื้นบ้านจึงเกี่ยวข้องกับข้าวก็มี อย่างเช่น ประเพณี 3 ค่ำ เดือน 3 ที่อาว์เปลี่ยนและผมเคยเขียนไว้บ้างแล้ว เรียกพิธีทำขวัญข้าวที่ยุ้งฉาง หรือเรียกพิธีเปิดประตูเล้าข้าว ของพี่น้องไทโส้ดงหลวง และที่อื่นๆ

แต่มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ผมเพิ่งทราบมาว่า การที่เอาถุงข้าวมาเก็บกองไว้ในบ้านแบบโจ่งแจ้งนั้นแทนที่จะเก็บไว้ในยุ้งฉางมิดชิด กล่าวกันว่าเป็นการแสดงออกถึงการมีฐานะ มีความมั่นคง มีหลักมีฐานของครอบครัวนั้นๆ แขกไปใครมาก็เห็น …??!!!

กองข้าว ที่มีความหมายมากกว่ากองข้าว

นี่คือมิติต่างๆของข้าว

นี่คือวิถีชุมชน..


ไปกินฝิ่น..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 18, 2012 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 3989

ไปขุดเอาภาพที่ไปทำงานในลาวมาเขียนบันทึก ให้เห็นบางมุมของชนบท ที่เหมือนบ้านเราในอดีต สภาพยังต้องการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ

พูดถึงเรื่องนี้มีบางมุมในทฤษฎีทางสังคมที่กล่าวว่า ระดับของการพัฒนานั้นขึ้นกับชุมชนนั้นอยู่ห่างไกลตัวเมืองมากน้อยแค่ไหน แต่ปัจจุบันหลักการนี้อาจจะไม่จริงเสียแล้วเพราะ หลักการนี้จะใช้สภาพถนนเป็นตัวบ่งชี้การเปลี่ยนแปลงชุมชน หากถนนดี ก็จะมีการเดินทางเข้าออกมาก ระบบธุรกิจก็เข้าไปมาก การลงทุนก็มีมาก ก็เกิดการเปลี่ยนแปลงมาก แต่ปัจจุบันมีระบบสื่อสารที่เป็นคลื่น ไม่มีถนน หรือถนนไม่ค่อยดี แต่การรับรู้ข่าวสารทางอื่นมีมากมาย อย่างผมเคยพบ ชุมชนชายป่าห้วยขาแข้งที่นครสวรรค์ โทรศัพท์ติดต่อกับลูกสาวที่ญี่ปุ่นได้..


ดูภาพเหล่านี้สิครับ มันเป็นธรรมชาติของวิถีชนบท พี่เลี้ยงน้อง เพื่อนเด็กชายหญิงเล่นด้วยกัน มีความผูกพัน ใกล้ชิด เห็น สัมผัสชีวิตกันและกัน เหล่านี้คือพื้นฐานแรกๆของแรงเกาะเกี่ยวทางสังคมอันเป็นฐานของ ทุนทางสังคมชุมชน


ที่บ้านนี้ผมตื่นเต้นที่เกือบทุกบ้านปลูกต้นไม้ทำเป็นรั้ว ผมสงสัยว่าต้นอะไร พ่อท่านนี้บอกว่าต้นกฤษณา ที่พ่อค้าซื้อเอาเนื้อไม้ไปกลั่นเป็นน้ำหอม หากต้นที่มีแก่นก็ราคาแพง หากไม่มีแก่นอยากได้เงินก็ตัดขายได้ ชั่งเป็นน้ำหนักขาย ผมไม่ได้ค้นสมุดบันทึกดูว่าราคาเท่าไหร่ แต่ถูกมาก พ่อท่านนี้กล่าว


ผมเดินไปอีกหน่อยก็เห็นกะบะยกพื้นสูงปลูกผักสวนครัว คือหอมแดง แต่มีต้นฝิ่นแซม ดอกฝิ่นสีขาวกำลังชูช่อสวยงามเชียว ผมคุ้นเคยดอกฝิ่นทั้งสีขาวและสีแดง เพราะสมัยทำงานที่สะเมิงที่นั่นเป็นพื้นที่ปลูกฝิ่นเป็นไหล่เขาเลย ผมปีนไปถ่ายรูปบ่อยๆ ต่อมาจึงมีการปราบปรามและเป็นพืชต้องห้าม แต่ที่นี่ปลูกในบ้านเลย


ผมถามพ่อที่เดินมาด้วยกันว่า เขาไม่ห้ามปลูกหรือ และปลูกทำไมในกะบะที่บ้านเช่นนี้ พ่อเขายิ้มๆแล้วตอบผมว่า หากปลูกเล็กน้อยเช่นนี้ไม่เป็นไร ก็ปลูกเอาไว้กินใบอ่อนนั่นไง อร่อยด้วยนะ กรอบ กินสดๆกับน้ำพริก กับลาบ และสารพัดเหมือนผักทั่วไป….

แหม เราทราบดีว่าฝิ่นนั้น ยางที่ผลนั้นมีฤทธิ์เป็นยาแก้ปวด หากกินมากๆก็ติด แต่ใบฝิ่นนี่มีคุณสมบัติทางยาอย่างไรบ้างผมไม่ทราบ และไม่ได้ทดลองชิมด้วยซี แหม….มังสวิรัติแบบผม แบบพ่อครูบาฯ มีพืชที่น่าทดลองเพิ่มขึ้นอีกแล้วซิ

แต่เป็นพืชต้องห้าม อิอิ….




Main: 0.11767601966858 sec
Sidebar: 0.089559078216553 sec