นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ประกาศ 9 มาตรการ “ปฏิบัติการร่วมเดินหน้า ปฏิรูปประเทศไทย” ผ่านรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อเช้าวันที่ 9 มกราคม
**ผมได้อ่าน 9 มาตรการแล้วเห็นว่าเป็นเรื่อง”วิธีการ” ปลีกย่อยเสียเป็นส่วนใหญ่ มี “มาตรการ” เพียงบางข้อ ยังไม่ถึงขั้นเป็นยุทธศาสตร์ หรือ นโยบายอะไรเลย แล้วแบบนี้ท่านนายกฯมาใช้คำเสียใหญ่โตว่า “ปฏิรูปประเทศไทย” อย่างน้อยผมว่าท่านนายกฯใช้ภาษาไทยผิด อย่างมากอาจถึงขั้นหลอกลวง แล้วอย่างนี้ผมจะเชื่อมั่นในประเทศไทยได้อย่างไร
ของขวัญชิ้นแรก จะมีการปรับกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง สำหรับประชาชนซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม.. เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสมทบเงินไม่เกิน 100 บาทต่อเดือน …ถ้าในกรณีที่จ่าย 70 รัฐบาลสมทบ 30 ..ถ้าเป็นกรณีที่จ่าย 100 รัฐบาลสมทบ 50 …
**ถ้าใช้สูตรนี้มาจับคงไม่มีใครโง่ไปใช้ 70/30 หรอกครับ ก็คงมา 100/50 กันหมด เพราะเพิ่มอีก 30 ได้สมทบ 20 แน่ะ แถมส่วนนี้ยังได้คืนจากบำเหน็จตอนแก่อีก ว่าแต่ว่าแพคเก็จยอดเยี่ยมแบบนี้ผมว่ามันอาจแลบกลับได้นะ เพราะคนจนเหล่านี้คงไม่มีเงินเดือนละ 100 เอามาลงขันหรอก ก็คงไป “กู้หนี้นอกระบบ” มาลง เพราะคิดไปแล้วมันคุ้มกับดอกเบี้ยอยู่นะ (แม้จะสูงมากก็ตาม ซึ่งเรื่องนั้นเอาไว้ไปตายเอาดาบหน้า สิบเบี้ยใกล้มือต้องคว้าไว้ก่อน)
ของขวัญชิ้นที่ 2 การนำร่องสินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ เริ่มต้นจากแท็กซี่ …
พร้อมๆ กันไป เราจะมีสินเชื่อผ่อนปรน สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ในจุดผ่อนผันใน กทม. เป็นการนำร่องเช่นกัน ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ในอัตราที่มีความเป็นธรรม ….
**คิดทั้งทีก็คิดไม่ทะลุ มัวกลัวๆกล้าๆนำร่องอยู่นั่นแหละ ทีคิดจะอุ้มนายทุนต่างชาติที่แสนรวยอยู่แล้ว ไม่เห็นนำร่องอะไรเลย ลดแลกแจกแถมเต็มพิกัดกันมาทุกรัฐบาล.. มันน่าจะให้ประโยชน์เดียวกันนี้กับผู้ประกอบการรายย่อยทั่วประเทศไปเลย ทำไมให้แต่พวกคนในกรุงเทพฯ หรือว่านี่เป็นฐานเสียงของพรรคตน ชาวนาชาวไร่จะปรับปรุงกิจการเช่น สร้างเล้าหมู เล้าไก่ ซื้อรถไถเดินตาม อย่างนี้ก็น่าสนับสนุนนะครับ โดยควรมีวาระซ่อนเร้นให้ซื้อยี่ห้อไทยผลิตด้วย (ไม่รู้มีหรือเปล่า แว่วๆว่ามีทำแล้วราคาถูกกว่าของญี่ปุ่นมาก แต่ขายไม่ค่อยออก เพราะคนไทยเห่อของนอก)
ของขวัญชิ้นที่ 3 ผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ขณะนี้จำนวนมากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นำมาสู่ปัญหา ต้องส่งเงินให้กลุ่มคนต่างๆ เป็นภาระอาจจะ 1,000-2,000 บาทต่อเดือน ต่อไปเราจะให้ขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์ แล้วจัดระบบ
**คิดไม่ทะลุอีกแล้ว..แล้วพวกสามล้อถีบ สามล้อเครื่อง รถสกายแล็บ ตามบ้านนอกล่ะ ไม่เห็นหัวอกเขาหรือครับ ทำไมเลือกที่รักมักที่ชังเฉพาะแท็กซี่กับมอไซค์ หรือว่า..พวกนี้มันเสื้อแดง ต้องมัดใจมันหน่อย
ของขวัญชิ้นที่ 4 ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย จะดูจุดผ่อนผันซึ่งได้สำรวจไว้แล้ว อีกหลายจุดจะผ่อนผันเพิ่มเติม จะทำอย่างน้อย 2 หมื่นราย แต่ไม่ให้กระทบ เดือดร้อนประชาชนที่ใช้ทางเท้าสัญจร สามารถทำได้แบบถูกต้องตามกฎหมาย ลดรายจ่ายนอกระบบได้เช่นกัน จะดำเนินการเห็นผลได้ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2554
**”ลดรายจ่ายนอกระบบ”??? แสดงว่ารัฐเองยอมรับว่ามันมีการรีดไถจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ไม่แก้ไขให้เด็ดขาด กลับมา “ผ่อนผัน” กันแบบไทยๆ อย่างนี้มันเลี้ยงไข้เพื่อหาคะแนนเสียงหรือไม่ ลงทุนสร้างตลาดให้ไปเลย แล้วเก็บค่าเช่าราคาถูกจะมิเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวที่ดีกว่าหรือ ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนมากจากการล้ำทางเท้า แขกบ้านแขกเมืองมาก็อายเขาที่ประเทศไทยไร้ระเบียบเช่นนี้
ของขวัญชิ้นที่ 5 การบริหารจัดการในเรื่องของกองทุนน้ำมัน ในส่วนของน้ำมัน ปัญหาในขณะนี้ก็จะเป็นผลมาจากการที่เรามีภาระของกองทุนน้ำมัน คือเก็บเงินจากผู้ที่ใช้น้ำมัน ส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพื่อมาอุดหนุนในบางเรื่อง…คือว่าเราจะเลิกการอุดหนุนแอลพีจีสำหรับภาคอุตสาหกรรม
**เรื่องนี้มันวิธีการจิ๊บจ๊อยในรายละเอียดไม่ขอวิจารณ์นัก ความจริงถ้ารัฐใจกล้าหน่อย หรือมีหัวสักหน่อย เก็บภาษีการใช้พลังงานอุตสาหกรรมต่างชาติให้สูงๆ จะดีมาก เพื่อชดเชยค่าแรงไทยที่ต่ำมาก โดยเราอ้างเหตุผลได้มากมายว่าทำไมต้องเก็บเฉพาะต่างชาติเท่านั้น (เช่นมาทำให้อากาศไทยเสียมากขึ้น ทำให้สุขภาพคนไทยโดยรวมเสื่อมลง ซึ่งรัฐต้องเสียเงินในการรักษา) ซึ่งแม้เก็บเช่นนี้ต่างชาติก็จะยังมาลงทุนมากอยู่ดีเพราะยังไงเสียก็ยังคุ้มค่าสิบเท่า โดยเฉพาะราคาพลังงานเราถูกกว่าค่าเฉลี่ยของโลกอยู่แล้วด้วย
ของขวัญชิ้นที่ 6 คือเรื่องของการใช้ไฟฟ้าฟรีในปัจจุบันสำหรับ 9.1 ล้านครัวเรือนของไทย 8.5 ล้านอยู่ในชนบท 600,000 ครัวเรือนอยู่ใน กทม. เราได้ดำเนินการมาตรการนี้มาต่อเนื่อง แต่ที่ทำมาตลอดนี้ต้องเป็นภาระกับผู้เสียภาษีอากร คือต้องเอาเงินงบประมาณไปชดเชยให้กับการไฟฟ้า ในการที่จัดไฟฟรีให้ประชาชนซึ่งใช้ไฟต่ำกว่า 90 หน่วย ต่อไปนี้เราจะทำให้ไฟฟ้าสำหรับพี่น้องประชาชนที่ใช้ต่ำกว่า 90 หน่วยนั้นฟรีนั้นเป็นแบบถาวร โดยไม่ใช้เงินภาษีอากรหรือใช้งบประมาณ แต่จะไปปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม
**นี่อาจเข้าข่ายศรีธนญชัยเลยนะครับ…คือไม่ใช้ภาษีจากราษฎรโดยตรง แต่ไปเก็บค่าธรรมเนียมมากขึ้น ดังนั้นประชาชนชั้นกลางเลยโดนสองเด้ง คือ ภาษีก็ต้องเสียในอัตราก้าวหน้าเท่าเดิม แล้วยังมาเสียค่าธรรมเนียมไฟฟ้าในอัตราก้าวหน้าอีกด้วย …วิธีนี้ยังไปส่งเสริมให้คนจนใช้ไฟกันฟุ่มเฟือยกว่าปกติอีกด้วย เช่นเมื่อก่อนใช้เพียง 30 หน่วย พอให้ 90 ก็เลยใช้ให้ครบโควตาไปเสียเลย 90 หน่วยนี้ประมาณ 300 บาทต่อเดือนนะครับ ปีละประมาณ 35,000 ล้านบาท
…พอเราไปปรับโครงสร้างตรงนี้ ผู้ที่ใช้ไฟเยอะๆ ซึ่งพูดจริงๆ แล้วคนเหล่านี้ก็คือคนที่ทำให้เราต้องเอาเงินไปลงทุนในเรื่องของการจัดหาพลังงานไฟฟ้ามาค่อนข้างมากนี้ ก็จะเป็นผู้ที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น
**ถ้าใช้ตรรกะแบบนี้ ต้องลดค่าธรรมเนียมให้คนใช้ไฟเยอะต่างหากเล่า เพราะเขาใช้เยอะ เราลงทุนมาก แต่เราก็ขายได้กำไรมากเป็นเงาตามตัวนะครับ ปกติพ่อค้าที่ดีฉลาดนั้นถ้าคนซื้อของเรามากๆ เราต้องลดราคาให้เขา เพราะมันประหยัดค่าโสหุ้ย เช่น ค่าลงทุนเดินสายไฟ เสาไฟ ต่อหัวก็เท่ากัน แต่ขายให้คนใช้เยอะได้กำไรมากกว่าขายให้คนใช้น้อย คิดอย่างนี้มันต้องลดให้คนใช้เยอะนะครับ …แต่เอาเถอะ จะประชานิยมก็ไม่ว่ากันหรอกครับ แต่ขอให้ยอมรับมาตรงๆ ไม่ต้องชักแม่น้ำให้อ้อมค้อมก็ได้ ..พวกใช้ไฟมากนั้นก็ต้องจ่ายภาษีการค้ามากในทางอ้อมด้วยเช่น ค่าแอร์ (มีสรรพสามิตด้วย) และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ก็เลยโดนหลายเด้ง (จ่ายอะไรก็มากกว่าแต่เวลาลงคะแนนเสียงให้หนึ่งคะแนนเสียงเท่ากับคนใช้ไฟน้อยนะ ..แปลกไหม)
ของขวัญชิ้นที่ 7 ..ในเรื่องของต้นทุนของภาคเกษตร โดยเฉพาะอาหารสัตว์ พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้อาหารราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็น ต่อไปเราก็จะใช้แนวทางการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันทางการค้า วิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงต้นทุนในส่วนต่างๆ ในองค์ประกอบต่างๆ แล้วก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น แล้วก็นำมาสู่การลดต้นทุนและราคาของสินค้าเกษตรที่ประชาชนส่วนใหญ่บริโภค
**ตรงนี้ยังกำกวม ยังไม่เข้าใจดีนะครับ ผมเดาว่าจะไปควบคุมรายใหญ่ (ไม่ใช่รายย่อย..ใช่ไหม) ให้ลดราคา แหม..แต่พวกนี้เขาบริจาคพรรคการเมืองแต่ละพรรคหนักๆทั้งนั้นไม่ใช่หรือครับ แล้วถ้าราคาสินค้าเกษตรมันลด เกษตรกรรายย่อยมิแย่ไปด้วยหรือครับ เดี๋ยวรัฐก็ต้องไปประกันราคากันอีกหรอก เงินประชา”วิยม” ก็ใช้ไปหมดแล้วด้วย
ของขวัญชิ้นที่ 8 …..
นอกจากนั้น ในส่วนของไข่ไก่ จะมีการทดลองให้มีทางเลือกซื้อขายกันเป็นกิโล….
**..ผมให้ข้อคิดว่าถ้าทำแบบนี้เมือไหร่คนไทยกินไข่แพงขึ้นกว่าเดิมแน่ เพราะกิโลไทยมันไม่เที่ยงน่ะครับ
ของขวัญชิ้นที่ 9 ชิ้นสุดท้าย ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เราจะประกาศเป็นเป้าหมายชัดเจนว่าภายใน 6 เดือนใน กทม. คดีอาชญากรรมต่างๆ นั้นจะต้องลดลง 20 เปอร์เซ็นต์ เริ่มต้นตั้งแต่เดือนมกราคมนี้
แนวทางก็คือการได้ไปกำหนดจุดที่ถือว่าเป็นจุดเสี่ยงมากที่สุด 200 กว่าจุด บริเวณเหล่านั้นจะมีการบูรณาการในเรื่องของระบบของกล้องวงจรปิด…
**พวกโจรกระจอกลดไม่ยาก ตำรวจไทยเขาทำยอดได้อยู่แล้วแหละถ้าเบื้องบนสั่งมา (เช่นยัดยาบ้า) แต่โจรมีสีนี่สิ แถวราชประสงค์มีกล้องมาก พวกโจรมันก็ปีนขึ้นไปปิดกล้อง แล้วเผาเมืองกันสนุกมือ อาชญากรพวกนี้จะลดลงได้อย่างไรครับ
……..
เรื่องที่เราทำทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องโครงสร้าง
**ผมไม่เห็นว่ามัน “โครงสร้าง” ตรงไหนเลยครับ มี “มาตรการ” สองข้อกระมัง และ “วิธีการปลีกย่อย” อีกเจ็ดข้อกระมัง
เป็นเรื่องความเป็นธรรม (**เป็นธรรมกับพวกผิดกฎหมาย เช่น แผงลอยล้ำทางเท้า แทกซี่ขับรถซิ่ง มอไซค์ไร้ทะเบียน?)
ไม่ใช่เอาเงินภาษีอากรมาแจกประชาชน (**บางเรื่องเอาไปแจกตรงๆ ดีกว่าครับ ไม่ต้องมาตอดเพิ่มจากค่าธรรมเนียม คนชั้นกลางเขาจะตายกันอยู่แล้ว)
เพราะฉะนั้นคงไปคนละเรื่องกันเลยกับที่เรียกว่านโยบายประชานิยม แต่สิ่งที่เราทำก็คือ เปิดโอกาสให้คนซึ่งก่อนหน้านี้เขาถูกกฎ ถูกระเบียบ ถูกโครงสร้างบางอย่าง ถูกเอารัดเอาเปรียบ เขาจะได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น รัฐบาลจะปรับปรุงกฎ ระเบียบ วิธีการทำงานเพื่อตอบสนองเป้าหมายของคนเหล่านี้
**ประชาชนทั่วไปที่เคารพกฎหมายบ้านเมืองต่างหากครับ ที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากที่สุด จะเดินทางเท้าก็ไม่มีที่เดินต้องเสี่ยงลงไปเดินบนถนนที่มีแต่พวกมอไซค์รับจ้างซิ่งสวนทางมา และ แท็กซี่เบียดเข้ามาวิ่งรอกหาคนโดยสารนัวเนีย กลายเป็นว่าคนถูกเอาเปรียบมากที่สุดต้องเสียภาษีมากที่สุดและไม่มีแพคเก็จอะไรช่วยเหลือเลย ส่วนคนทำผิดกฎหมายทั้งหลายได้รับการอุ้มหลากหลายโครงการ
**เมืองไทยเรามีคนสองกลุ่มที่ทำผิดกฎหมายได้โดยรัฐไม่กล้าแตะคือ คนจนกับคนรวย
…สองชาติ ใจเต็ม (๑๑ มค. ๕๔)