สังคมเศรษฐกิจฐานปัญญา (วึสเดิ้มเบสด์อึเคอะน่ะมิ่)

โดย withwit เมื่อ 3 January 2011 เวลา 2:00 pm ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1550

สังคมเศรษฐกิจฐานปัญญา (วึสเดิ้มเบสด์อึเคอะน่ะมิ่)

  

            ผู้อ่านหลายท่านคงจะไม่เคยได้ยินคำว่า “สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้” ซึ่งนับเป็นคำอีกคำหนึ่งที่กำลังฮิตติดตลาดสังคมระดับปัญญาของประเทศ         ผมเองแม้อยู่ในแวดวงการศึกษาก็เพิ่งได้ยินคำนี้เป็นครั้งแรกเมื่อคราวเข้าร่วมประชุม กับหน่วยงานที่เรียกว่า “ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย” (ทปอ.) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ นี่เอง ประเด็นหลักของการประชุมในครั้งนี้ คือการเสวนากันในเรื่อง “การพัฒนาประเทศสู่สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้”

           

คำคำนี้ก็เป็นอีกคำหนึ่งที่แปลมาจากภาษาอังกฤษที่ว่า “knowledge based economy”  คำคำนี้กำลังเป็นของเล่นชิ้นใหม่ของผู้บริหารไทยทุกระดับ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีไปจนถึงอธิการบดีและคณบดีในมหาวิทยาลัยทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค

 

ในฐานะคนไทยที่จะต้องมีส่วนรับบุญและรับกรรมจากผลพวงของคำคำนี้ ก็ควรที่เราจะต้องรับทราบและช่วยกันวิพากษ์วิจารณ์ตามสมควร มิฉะนั้นก็คงจะได้รับกรรมมากกว่ารับบุญเหมือนหลายๆครั้งในอดีตที่ผ่านมาที่รัฐบาลไทยเราวางนโยบายในการบริหารประเทศ

            เมื่อได้ฟังการอภิปรายของผู้ทรงคุณวุฒิและได้อ่านเอกสารประกอบการประชุมจึงได้หายเชยและหายโง่เมื่อได้ทราบว่าคำคำนี้มีคำนิยามว่า “เป็นระบบเศรษฐกิจที่อาศัยการผลิต การแพร่กระจาย และการใช้ความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโต สร้างความมั่งคั่งและ สร้างงานในทุกภาคการผลิตของประเทศ” ซึ่งสามารถรู้สึกจากสำเนียงของภาษาได้ทันทีว่าเป็นคำนิยามที่แปลมาจากสำนวนภาษาอังกฤษโดยตรง (ภาษาที่ใช้ในเอกสารมีวงเล็บภาษาอังกฤษของคำศัพท์บางคำไว้ด้วย จึงทำให้ฟังดูขลังกว่าที่ได้นำเสนอเป็นภาษาไทยล้วนๆ ณ ที่นี้เสียอีก)

           

ฟังดูแล้วก็ให้รู้สึกขนหัวลุกอยู่พักหนึ่งว่า ทำไมพวกฝรั่งจึงได้ฉลาดเป็นหนักหนา ที่สามารถคิดอะไรได้ล้ำหน้า ล้ำสมัย และล้ำลึก เช่นนั้น แต่ในขณะเดียวกันก็อดท้อใจเสียมิได้ว่าทำไมกลุ่มคนที่(ถือกันว่า)ฉลาดที่สุดในประเทศไทยจึงต้องขานรับและปฏิบัติตามแนวคิดของฝรั่งราวกับได้รับโองการจากสวรรค์แทบทุกครั้ง  เมือไรเราจะรู้จักคิดอะไรเองบ้างที่มันเป็นของเราเอง ที่มันสอดคล้องกับพื้นฐานวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเราที่(เคย)แตกต่างจากวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวตะวันตกเกือบสิ้นเชิง

           

หลังจากได้ศึกษาข้อมูลประมาณสักสองสามอึดใจ ผมก็ถึงบางอ้อว่า..มันก็ไอ้เหล้าเก่าในขวดใหม่นั่นแหละหวา เหล้าเก่าก็คือ ความอยากรวยมากยิ่งขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของชาวตะวันตก ขวดใหม่ก็คือ การใช้คำว่า”ฐานความรู้” แทนคำสำคัญดั้งเดิมในอดีต เช่น “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”  “ข้อมูลข่าวสาร” และ “อุตสาหกรรม” เป็นต้น ซึ่ง “ความรู้” ที่ว่านี้ในที่สุดก็ต้อง ส่งผ่านและแพร่กระจายไปโดยระบบข้อมูลข่าวสาร ซึ่งนำไปสู่การเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนำไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าในรูปแบบต่างๆเพื่อสนองตัณหาของมนุษย์ในที่สุดจนได้

           

คำว่า “ความรู้” เป็นคำที่หรูที่ขายได้ตลอดกาล สัตว์ที่อุปโลกน์ตนว่า”ประเสริฐ” พึงใคร่ครวญให้จงหนักก่อนที่จะยอมน้อมรับเข้าสู่กมลสันดาน

           

คำว่า “สังคมฐานความรู้” ฟังดูเผินๆก็น่าพิสมัย คิดว่าเป็นของใหม่ แต่แท้จริงแล้วไม่ได้มีอะไรใหม่เลยแม้แต่น้อย เพราะสัตว์เดรัจฉานทุกตระกูลต่างก็อยู่รอดมาได้แต่ดึกดำบรรพ์ด้วยการพัฒนาสังคมฐานความรู้ของตนให้สูงยิ่งขึ้นด้วยกันทั้งนั้น เช่น เสือ ก็อยู่รอดได้ด้วยความรู้ว่าจะจับกวางได้ที่ไหน เมื่อไหร่ และ อย่างไร โดยมีระบบการถ่ายทอดความรู้กันจากรุ่นอายุหนึ่งสู่รุ่นอายุหนึ่งด้วยการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ส่วนกวางนั้นเล่า ก็ได้สั่งสมความรู้ในการอยู่รอดจากเขี้ยวเล็บของเสือได้โดยวิธีเดียวกัน บ่อยครั้งที่เสือต้องบาดเจ็บเพราะถูกกวางเตะ  แต่ขณะนี้คนไทยอาจจะกำลังทำตัวให้โง่กว่า “หญ้า” ที่กำลังถูกกวางกัดกินและถูกเสือขี้รดอยู่ตลอดเวลา เพราะกำลังงมงายหลงเชื่อฝรั่ง(อีกครั้ง)ว่า สังคมฐานความรู้เป็นของใหม่ที่ต้องติดตามและลอกเลียนแบบ

 

แท้จริงแล้วคนไทยเราอยู่รอดมาได้ด้วยสังคมฐานความรู้มานมนานกว่าพวกฝรั่งเสียอีก ตั้งแต่ 6,000  ปีก่อนที่บ้านเชียง (อุดรธานี) ถึงบ้านโนนวัด ( 5,000 ปี นครราชสีมา)  และบ้านปราสาท (3,000 ปี นครราชสีมา) โน่น ในช่วงเวลา 3000 ปีที่ผ่านมาพวกชนเผ่าฝรั่งได้ใช้มันไปในการปูพื้นฐานแนวคิดและวัฒนธรรมเพื่อควบคุมและตักตวงผลประโยชน์จากธรรมชาติ (กรีก โรมัน) จากนั้นช่วง 300 ปีที่ผ่านมานี้ฝรั่งไม่เคยคิดอะไรได้ใหม่เลยในเชิงหลักการดำรงชีวิต นอกจากวิธีการสร้างความร่ำรวยทางวัตถุในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งนำพวกเขา(และพวกเราที่เดินตามเขา)มาสู่การทำลายล้างในทุกรูปแบบเท่าที่จะสามารถจินตนาการได้ นับแต่การทำลายล้างคู่แข่ง (สงคราม) การทำลายล้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ทาส และอาณานิคม)  การทำลายล้างสิ่งแวดล้อม และที่เลวร้ายที่สุดคือการทำลายล้างจิตวิญญาณของมนุษยชาติด้วยลัทธิบริโภคนิยม

 

ความรู้ในยุคโลกาภิวัฒน์ที่นำโดยสังคมฝรั่งตะวันตกนี้เป็นความรู้ที่ไม่บริสุทธิ์ มีพื้นฐานอยู่บนความโลภ ถือได้ว่าเป็นความรู้ที่ปนมลทิน ยิ่งความรู้แบบนี้แพร่กระจายได้เร็วและมากเท่าใดมนุษยชาติก็ต้องจ่าย “ค่าเสื่อมราคาของความเป็นมนุษย์” เร็วและมากเท่านั้น  อุปมาดั่งอาหารนั้น หากปรุงด้วยความโลภที่ต้องการขายอาหารให้ได้มากที่สุดของพ่อครัว ก็จำต้องปรุงให้อร่อยมากๆ  ผู้บริโภคก็ยิ่งกินเร็วและกินมากเกินความจำเป็นของร่างกาย ก็กลับกลายเป็นพิษเป็นภัยต่อคนกิน ต้องเป็นโรคอ้วน โรคมะเร็ง โรคเบาหวานกันระนาว และอุจจาระที่ออกมาก็จะมีปริมาณมากและมีกลิ่นเหม็นมากเป็นสัดส่วนกัน

 

ทุกวันนี้มนุษยชาติ..ภายใต้การนำของอารยธรรมตะวันตก..ต้องหลงติดอยู่ในวังวนของความโลภซึ่งมีต้นเหตุมากจากความโง่ หรือ “อวิชชา” (ซึ่งแปลว่า “ความไม่รู้”)

 

หากพวกเราจักใช้ภูมิปัญญาของไทยเราที่สั่งสมกันมานานหลายพันปีวิเคราะห์ให้ดีอาจจะเห็นได้ว่า “เศรษฐกิจฐานความรู้” นั้น แท้จริงแล้วตั้งอยู่บน “ฐานแห่งความโลภ”  อันมี อวิชชา หรือ “ความไม่รู้”  เป็นฐานรองรับชั้นล่างสุด จึงมีค่าเท่ากับเป็น “เศรษฐกิจบนฐานของความไม่รู้” นั่นเอง

 

การที่พวกฝรั่งกำลังประโคมให้เราหลงใหลในกระบวนทัศน์ใหม่ของสังคมฐานความรู้นั้น ควรพึงระวังว่าพวกเขาอาจกำลังปั่น”ความรู้” ให้เป็น “สินค้า”"ตัวใหม่ เพื่อหลอกขายให้กับเราเพื่อทำเงินให้พวกเขาอีกรูปแบบหนึ่งก็เป็นได้  เพราะพวกนี้มัน “รู้มาก” กว่าเราหลายขุม มันรู้ดีว่าความรู้คือ “จุดขาย” ของพวกมัน

 

เราก็ควรช่วยกันสอนโลกอย่างแยบยลกลับไปว่า โลกควรก้าวเข้าสู่สังคม “เศรษฐกิจฐานปัญญา” หรือ Wisdom-based economy” ดีกว่า จะน่าพิสมัยกว่ากันมากนัก เพราะคนมีปัญญาย่อมใช้ความรู้เพื่อเกื้อกูลโลก มากกว่าที่จะเอาเปรียบโลก

 

ปัญญา ต่างจากความรู้ลิบลับ เพราะความรู้นั้นหาง่ายและหาได้ในระยะเวลาสั้นๆ ส่วนปัญญานั้นเกิดจากการสะสมบ่มเพาะมาเป็นเวลานานชั่วชีวิต หรือ แม้แต่หลายชั่วชีวิต คนมีความรู้มากแต่ไม่มีปัญญาเป็นคนที่น่ากลัวมาก เพราะสามารถทำลายล้างได้มาก ดังเช่นกระแสโลกที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ (เรียกกันว่า กระแสโลกาภิวัฒน์ ซึ่งที่จริงน่าจะเรียกเสียใหม่ให้เหมาะสมว่า กระแสโลภาภิวัฒน์ เนื่องจากมีความโลภเป็นพลังขับเคลื่อน)

 

คนไทยเคยมีปัญญามากมาแต่โบราณกาลเพราะสะสมบ่มเพาะมาแสนนาน แต่บัดนี้ปัญญาได้ถูกความรู้บดบังเสียหมด เพราะเราตามฝรั่งและเห่อความรู้แบบฝรั่งมากเกินไป

           

จนกลายเป็นว่า ความรู้มาปัญญาหมด

 

..สองชาติ ใจเต็ม (ปัดฝุ่นมาเสนอใหม่จากที่เขียนไว้เมื่อปี ๔๕… ที่กำลังบ้าเห่อจนเจ๋อไปเป็นผู้บริหารกะเขาด้วย)

Next : วิธีลดการจราจรติดขัดในช่วงเทศกาล » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

9 ความคิดเห็น

  • #1 dd_l ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 January 2011 เวลา 4:35 pm

    อ่านไป หัวเราะหึหึไป กับสำนวนและประเด็นโดนใจ ชอบชื่อบันทึกในวงเล็บด้วยค่ะ อิอิ

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 January 2011 เวลา 8:19 pm

    เบิร์ดได้สัมผัสบางส่วนของ KBES (Knowledge- Based Economy and Society System) โดยวช.ได้เลือกเชียงรายเป็นจังหวัดนำร่อง (เขียนไว้เมื่อปี 51 ค่ะ http://lanpanya.com/seasonschange/archives/38 )

    เท่าที่ติดตามดูก็พบว่าอยู่ที่ผู้ปฏิบัติจริงๆในการเชื่อมโยง ผลักดัน อาจเรียกได้ว่า”เอาจริง”หรือเปล่า เพราะคนไทยส่วนมากขาดเรื่องเดียวคือลงมือทำแบบรู้ว่าตัวเองมีอะไรดีน่ะค่ะ แหะแหะ

    อาจารย์ทำให้เบิร์ดสนุกกับการคิดกลับว่า เศรษฐกิจฐานปัญญา” หรือ Wisdom-based economy” เรามีปัญญาด้านอะไรบ้าง เท่าที่นึกเร็วๆในตอนนี้ก็คือภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้ในการดูแลชีวิตตัวเองมาเนิ่นนาน และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร แต่ทำอย่างไรเราจึงก้าวพ้นคำว่าเศรษฐกิจล่ะคะ เพราะไม่ว่าจะเป็น Knowledge หรือ wisdom เราก็พ่วงกับคำว่า economy ทั้งคู่ และ wisdom economy คือแนวทางคล้ายเศรษฐกิจพอเพียงหรือเปล่า

  • #3 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 January 2011 เวลา 8:21 pm

    น่าติดตามครับ เคยได้ยินมาบ้าง มุมมองของผมเห็นคล้อยตามหลายประการครับ เนื่องจากผมทำงานกับฐานร่างสังคม คือชุมชน เห็นว่าระบบเศรษฐกิจแบบทุนเป็นใหญ่ หรือเอาความรู้เป็นใหญ่นั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือคนชั้นกลางขึ้นไปถึงชั้นบน แต่สังคมล่างคือชุมชนตกเป็นเบี้ยงล่างทุกที
    มันเหมือนขบวนรถไฟ ที่มีหัวรถจักร์ที่ลากจูงขบวน หรือโบกี้นับสิบๆให้วิ่งตามไป เมื่อหัวเลี้ยว ท้ายขบวนก็เลี้ยวตามไปบนรางที่ถูกวางไว้แล้ว

    ชุมชนก็ถูกลากไปตลอด ยิ่งภายใต้คำว่าสังคมประชาธิปไตย อิสระเสรี คำคำนี้มีระดับ มีชนชั้น มีความต่าง ภายใต้การเชิดชูว่า นี่คือระบบดีที่สุด ก้าวหน้าที่สุด จะนำมาซึ่งความเจริญมากที่สุด แต่ผมเห็นจุดอ่อน ซึ่งแน่นอนทุกระบบก็มีจุดอ่อน จุดแข็ง แต่เราไม่ได้อุดจุดอ่อน มีแต่ใช้จุดอ่อนเพื่อประโยชน์ของคนที่มีโอกาสมากกว่า…

    ลองเปรียบเทียบ สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้กับสังคมเศรษฐกิจพอเพียง อะไรเหมาะสมกับสังคมบ้านเรามากกว่ากัน ที่มาที่ไปของการเกิดแนวคิดของสองระบบเป็นเช่นไร
    จริงๆผมเห็นด้วยกับการพัฒนาความรู้ เพราะเราจำเป็นต้องพัฒนาความรู้เพื่อนำมาแก้ปัญหาสังคม แต่ความรู้ในระบบเศรษฐกิจนั้น เห็นแต่ใช้เพื่อตักตวงหาความมั่งคั่ง อย่างที่กล่าว โดยใช้จุดอ่อนกิเลสของมนุษย์ ที่มีคำว่า ทันสมัย เทห์ ก้าวหน้า ศิวิไลซ์ ไฮโซ หรู แต่ทั้งหมดอยู่บนฐานสังคมบริโภคเกินความจำเป็น

    ผมเคยสังเกต กล่องขนมจากญี่ปุ่น กล่องสวยมาก ทำจากกระดาษอย่างดี ลวดลายแปลกและน่าหยิบ น่าซื้อไปฝากคนโน้นคนนี้ แม้ผู้หลักผู้ใหญ่ ใครได้รับก็ชื่นชมผู้ให้ว่าเอาของสวยงาม ของนอกมาฝาก แต่แม่คุณเอ้ย เมื่อเปิดออกมา มันก็แค่ขนมชิ้นหนึ่งบรรจุอย่างดีในถุงพลาสติกอีกชั้นหนึ่ง มีถุงเล็กๆคอบดูดซับความชื้นตามมาตรฐานสินค้า แต่รสชาดขนมนั้น ขนมครกบ้านเราอร่อยกว่าอีก ทั้งหมดนั้นเราจ่ายเงินไปเขาบวกค่ากระดาษ สี การออกแบบ การทำกล่อง มูลค่าของขนมจริงๆนิดเดียว นี่คือเศรษฐกิจฐานความรู้หรือเปล่า ความรู้ที่พัฒนาสินค้าหลอกคนซื้อหาได้ เพราะสวย ดี ทันสมัย น่ากิน เราซื้อสิ่งเหล่านี้มากกว่าคุณค่าของขนม และที่ร้ายคือ กระดาษเหล่านั้นเมื่อถึงบ้าน กินขนมไปแล้วก็ทิ้งลงขยะไป กล่องทั้งหมดนั้นมาจากต้นไม้ ที่เอาไปทำกระดาษ ผ่านกระบวนการมากมาย แค่ค่านิยมแล้วก็ทิ้งไป สิ่งแวดล้อมกระทบเต็มๆ

    ตรงข้ามหากเราเอาขนมนั้นห่อใบตองคงขายไม่ได้ทั้งๆที่คุณค่าอาหารของขนมเท่าเดิม นี่คืออะไรมนุษย์เจ้าขาา กิเลส อย่างที่กล่าวถึงใช่ไหมครับ ผมไม่กล่าวถึงทางออกนะครับ แต่แสดงมุมมองบ่งมุมบ้างเท่านั้นครับ

    มีไหมระบบเศรษฐกิจเพื่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ หรือระบบเศรษฐกิจฐานความรู้นั้น ความรู้อะไร แบบไหน หากเป็นความรู้เพื่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ ก็น่าสนใจมากครับ

  • #4 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 January 2011 เวลา 9:02 pm

    คำว่า เศรษฐกิจ (economy) นี้ผมเห็นว่ามน้สำคัญมาก เพราะมันหมายถึงความอยู่รอด แม้สัตว์เดรัจฉาน มันก็ยังต้องมีอึเคอะน่ะมิ่ของพวกมัน เช่น พวกหมาต้องรวมหมู่เพื่อล่า เป็นต้น

    wisdom-based economy นั้นผมบัญญัติไว้ให้มันโก้ๆ อย่างนั้นเอง แต่ยังคิดไม่จบกระบวนท่าหรอกครับ ..ช่วยผมคิดต่อด้วยสิ คือผมคิดว่าปัญญา ยังไงก็คงต้องดีนั่นและ ไม่งั้นคงไม่มีใครๆ เขาเอาคำนี้ไปเป็นชื่อและหรือนามสกุลกันมากหรอกครับ เช่น

    -พุทธทาส อินทปัญโญ
    -ปัญญานันทภิกขุ (วัดชลประทาน)
    -อาน้นท์ ปัญญารชุณ (ปัญญา+ อรชุน ?)

    แม้อธิการบดีมทส.เก่าที่ผมรักเคารพ ยังมีนามสกุลว่า “เลิศปัญญาวิทย์”

    อย่างไรก็ดี ผมว่า คำตอบนี้ผมตอบยาวที่สุดในรอบ สามปีที่ผ่านมาก็ว่าได้ (แสดงว่าคำถามโดนใจไม่มากก็เกือบมาก) ขอให้มีความสุขปีใหม่และสร้างสมปัญญาให้มากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆนะครับ

  • #5 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 January 2011 เวลา 9:12 pm

    ผมกลับไปอ่านคห.ของคุณปรายดาว เพิ่งสังเกตว่า เลือก “เชียงราย” เป็นจังหวัดนำร่อง

    โห..ทำไมพวกเขาไม่เลือก กทม นะ ทั้งที่มีปัจจัยให้เรียนรู้มากหลายกว่าเจียงฮายเยอะเลย ใกล้ตัวไม่ต้องเสียค่าเดินทางเบี้ยเลี้ยงอีกต่างหาก …หรือว่าผมมันพวก cynic ที่จ้องจะจับผิดไอ้พวกนี้ลูกเดียว

    เวลาผมอยากทดลองแนวคิดใด ที่ได้ทดลองส่วนตัวจนเห็นผลดีแล้ว ผมเลือกทำนำร่องที่ชุมชนใกล้ตัวก่อนเสมอ เพราะมันประหยัดเวลา เงิน …ส่วนเชียงราย โอ้..ริมน้ำกกเย็น ที่ไหลกระเซ็น จากเมืองแม่อาย ใคร่เล่าจะไม่อยากไปสัมผัส เพียงแต่ม้นไม่มีเงิน หรือมีอารมณ์ไปเขียนโครงการอะไรเช่นนั้นได้ มันสะเอียนน่ะครับ ที่ต้องไปทำอะไรแบบอ้อมๆ แบบนั้น

  • #6 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 3 January 2011 เวลา 9:22 pm

    อ่านคห. คุณปรายดาวครั้งที่สาม …ก็ยังโง่ ไม่เข้าใจของ นัยยะทาบเศรษฐศาสตร์ ที่เธอกำลังเสนอ

    ผมสรุปว่า ใช่เลย ทุกอย่างในโลกนี้ดูเหมือนว่ามันไม่มีอะไรจะก้าวพ้นวงขอบแห่งเศรษฐศาสตร์ (ปากท้อง) ไปได้เลย

    ..จากวงหนึ่ง ก็ไปติด อีกวงหนึ่ง ที่มีสีแสงแพรวพราว ต่างกันไป

    จนกว่าจะพบปลาย ของสายรุ้ง กระมังครับ

    ดังที่เพลง Moon River ได้แต่งไว้ ว่า We’re after the same rainbow’s end

    ซึ่งผมได้แปลไว้ว่า “สักวันคงพบปลาย..ของสายรุ้ง” …(ที่คอยอยู่ริมคุ้ง )

    เฮ้อ..ริมคุ้ง ..ได้แต่ฝันไป คงไม่สมใจ (Oh dream maker…you heart breaker)

  • #7 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 January 2011 เวลา 5:43 am

    คริคริคริ

    กราบขอบคุณที่อาจารย์สะกิดต่อมอยากรู้อยากเห็นของเบิร์ดให้ตื่นอีกครั้งค่ะ

    นั่นน่ะสิคะ สงสัยเหมือนกันว่าทำไมเลือกเชียงราย ถามทีมงานก็ได้คำตอบเดิมๆว่าเป็นเพราะอยู่ชายแดน มีอนาคตเศรษฐกิจที่(ดู)จะรุ่งเรือง มีคนที่สนใจเรื่องนี้ มีกลุ่มเกษตรกรที่ตอบรับการดำเนินงาน เดินทางไม่ลำบากเกินไป ฯลฯ

    สรุปว่าดูจะมีพร้อมทั้งคน อนาคต และฐานที่เหมาะสม ตั้งแต่ฐานการผลิตที่ไม่ขาดแคลนปัจจัยทั้งน้ำ ดิน อากาศ ยุทธศาสตร์-นโยบายของจังหวัด(ยังไงๆก็ต้องดูการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจ) ซึ่งสามารถต่อยอดได้อย่างรวดเร็ว (เป็นแนวทางการทำงานของทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุจุดหมายที่น่ารื่นรมย์กว่าการเริ่มจากติดลบ เพราะยังไงๆก็น่าจะ”ดีกว่าเดิม”ได้มั้งคะ เรียกว่าปิดประตูขาดทุนในการประเมิน)

    ส่วนผลที่ได้นั้นก็อย่างที่เกริ่นมาแหละค่ะว่าต้นทุนมีอยู่แล้ว อย่างการส่งออกไป EU ก็เป็นสิ่งที่เกษตรกรพอใจมาก(และจังหวัดพอใจยิ่งกว่า) หรือการได้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆจากสับปะรด กาแฟดอยช้าง หรือส้มปลอดสารของวาวีได้กลายเป็นจุดขายที่ผู้ผลิตมีความสุข ซึ่งมันก็เกี่ยวกับ economy อย่างที่อาจารย์อธิบายมาอย่างหลีกไม่พ้น

    ที่เบิร์ดสงสัยก็คือทำไมทุกการพัฒนาจะต้องมีเศรษฐกิจเป็นตัวนำเสมอไป และก็มีปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพฯลฯ ตามมาทุกทีโดยชี้นิ้วไปที่เศรษฐกิจว่าเป็นตัวปัญหา… ก็ในเมื่อรู้ว่าเศรษฐกิจเป็นตัวก่อปัญหาเพราะความโลภไม่รู้จักพอจนทำลายทุกอย่าง แล้วเอามาเป็นตัวนำในการพัฒนาทำไมล่ะคะ ที่น่าขำคือปัจจุบันมีคำใหม่”เศรษฐกิจสร้างสรรค์ creative economy”ให้เล่นกันอีกแล้ว ที่ขำคือหลายๆปีก่อนหน้าคำว่าการจัดการความรู้จะเข้ามาในไทย เกือบทุกการอบรมจะต้องมีเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งผลที่ได้ก็ค่อนไปทางOh dream maker…you heart breaker ทู้กที (เพราะเบิร์ดก็โดนอบ แต่มันหายยยยยไปหมดเลยล่ะค่ะ)

    เศรษฐศาสตร์อาจเป็นพื้นฐานของการเอาชีวิตรอดในความหมายของการแบ่งสรรทรัพยากรให้เพียงพอแก่ทุกคน ทุกฝ่ายที่ต้องการอย่างคิดว่าน่าจะเป็นธรรม(ของผู้มีอำนาจกว่า) แต่ตัว”ควบคุม” economy ให้เป็นธรรมนี่สิคะสำคัญ เบิร์ดถึงสนุกกับการคิดตามที่อาจารย์กระตุ้นว่าอะไรจึงจะเหมาะสม เพราะเศรษฐศาสตร์ก็เปรียบได้กับ”อำนาจ”ในรูปแบบหนึ่ง เหมือนการล่าของหมา ตัวจ่าฝูงก็มีอำนาจในการไล่ล่า ในการควบคุม ตัวที่แข็งแรงก็ได้เปรียบแต่มันไม่โลภ(หรือโลภแต่การศึกษาของเราเกี่ยวกับมันยังไปไม่ถึง?) กินอิ่มแล้วก็จบที่เหลือก็แย่งกันไปตามลำดับ (เรียกว่า”เห็นแก่ตัว”เพราะมันกินก่อน??)….หรือการกินก่อนของหมาตัวที่ล่าได้แท้จริงไม่ใช่ความเห็นแก่ตัวแต่เป็นสิ่งที่ควรได้เพราะมันแข็งแรงกว่า เหมาะสมกว่า ^ ^

    แล้วคนล่ะคะ เรามีอะไรในการควบคุมการใช้อำนาจที่(คิดว่า)มีให้เหมาะสม? ก็เลยเดินมาถึงปัญญาที่อาจารย์กล่าวมาตั้งแต่ต้น ซึ่งเบิร์ดเห็นด้วยว่ามันน่าจะดีกว่าอย่างอื่นๆเพราะมันถูกใช้ในความหมายที่ดีเสมอมา (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าใจตรงกัน ฮี่ฮี่ฮี่) … Wisdom -Based economy แม้จะยังคิดไม่สุดทางตามที่อาจารย์กล่าวมา แต่มันทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจได้มากกว่าการเดินตามคนอื่นที่”ชี้มา”แน่ๆล่ะค่ะ และน่าสนุกตรงที่จะทำอย่างไรให้เห็นว่า”แตกต่าง” โดยมั่นใจได้ว่า”เรามี”

    เพราะเบิร์ดมักจะทำตาปริบๆเมื่อเห็นคำเตือนในทีวีว่า”โปรดใช้วิจารณญาณในการชม” เนื่องจากความหมายนี้หมายถึงเค้าเชื่อว่าผู้ชม”มีวิจารณญาณ” ซึ่งเบิร์ดไม่ค่อยเชื่อเท่าไรน่ะ่ค่ะว่าทุกคนจะมี แหะแหะ

    คุญกับอาจารย์สนุกจริงๆค่ะ เพราะตัวเบิร์ดเองก็ไม่ comment ยาวๆในบันทึกของคนอื่นเหมือนกัน แต่บันทึกนี้ยกเว้น ^ ^

  • #8 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 January 2011 เวลา 12:29 pm

    ใช่ครับท่าน bangsai ความรู้ที่ผมวิจารณ์นี้มันก็คือความรู้ที่เกินพอดี และ ความรู้ที่ไม่มัปัญญากำกับ ก็ถูกใช้ไปในการสูญเสียและทำลายล้างเสียมาก มนุษย์ทุกวันนี้มีความรู้สะสมไว้มากเหลือเชื่อ ส่วนใหญ่ก็อยู่ในกำมือของฝรั่งแหละครับ
    knowledge-based econ. นี้ผมอาจจะมองโลกในแง่ร้าย แต่ผมว่าฝรั่งเขาซ่อนอะไรไว้ให้เราต้องเป็นเบี้ยล่างเขาแน่ๆ คือเป็นลูกหาบคอยหาบความรู้ให้เขานั่นเอง เหมือนกับโลกาภิวัฒน์ที่เราก็เป็นลูกหาบที่หาบเสลี่ยงไปชมวิวโลกนั่นแหละครับ

    ทวิช

  • #9 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 January 2011 เวลา 3:14 pm

    ผมคิดว่า ไม่ว่าวิชาไหน ไม่ว่าความรู้ไหน ก็เกี่ยวพันกันไปหมด ไม่ว่าจะเริ่มจากเศรษฐศาสตร์ ก็ไปโยงกันศาสตร์อื่นๆทั้งหมด มากน้อยเท่านั้น ทางตรงทางอ้อม เท่านั้น เพียงเราตัดตอนมาพูดถึงกัน หากละไว้ในฐานที่เข้าใจก็เข้าใจได้ แต่หลายครั้งมันหลุดเดี่ยวไปยิงประตูเลยครับ อาจารย์ ทั้งที่ กว่าจะรับลูกหลุดเดี่ยวไปยังประตูนั้น มีทีมงานอีกมากมายช่วยส่งลูก เลี้ยงลูก ใส่พานให้ แต่คนเหล่านั้นมักไม่ถูกเชิดชู

    เมื่อพูดถึงเศรษฐศาสตร์ ผมไม่มีพื้นฐานทางด้านนี้เลย แค่ฟังๆ อ่านๆมาบ้างนิดหน่อยครับ แต่พอเข้าใจงูๆปลาๆ ได้บ้าง เรามีนักเศรษฐศาสตร์เพื่อประชาชน ที่ผมยอมรับว่าเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ดีก็มีหลายคน แต่ส่วนใหญ่ เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เพื่อเอาความรู้ไปสร้างความมั่งคั่ง และหากทำสำเร็จใครต่อใครในโลกาก็เชิดชู ยกย่อง บางมหาวิทยาลัยมอบปริญญาเอกให้เฉยๆเลย ผมไม่อิจฉาตาร้อนเรื่องเหล่านี้ แต่เนื้อในต่างหากที่ผมสนใจ

    เพื่อนฝูงจำนวนไม่น้อย เห็นหน้าก็ถามกันว่า “มึงรวยหรือยัง” แล้วก็เล่าถึงเพื่อนคนนั้นคนนี้ว่า “รวยเสียแล้ว” อิอิ ทำให้เราเข้าใจได้ว่า ความรวยคือสุดยอดเป้าหมาย ปลายทางที่เขาต้องการเข้าถึงและไปนั่งอยู่บนยอดภูเขาลูกนั้น และบางคนทำไดระดับหนึ่ง หากไปดูรายละเอียดมันซิ ให้ความรู้ทุกศาสตร์เพื่อให้ได้มาซึ่งความร่ำรวย แม้จะผ่าไฟแดงต่างๆไปมากมายก็ตาม… ผมจึงตั้งประเด็นว่า ความรู้เพื่ออะไร หากความรู้เพื่อความร่ำรวย ผมไม่เห็นด้วยครับ แต่หากว่าความรู้เพื่อตนเองและสังคมที่เป็นธรรม ผมเทอดทูนยิ่งนัก

    ผมจึงจูงมือเพื่อนมาเขกกะโหลกว่า ทีหลังเอาอย่าถามข้าอย่างนี้นะ ความรู้ที่ข้ามี เพื่อครอบครัวพออยู่รอด และเพื่อสังคม เราจึงเลือกหน้าที่การงานที่เกี่ยวกับสังคม ไม่ใช่กินอุดมการณ์บ้าบออะไรนั่นหรอกครับ นั่นมันผ่านไปแล้ว แต่สังคมมันอยู่ไม่ได้ หากต่างมุ่งเดินไปให้ถึงความร่ำรวย ใครจะเดินไปก็เป็นเรื่องบุคคล แต่เมื่อใดที่ท่านผู้นั้นเดินไปแล้วทำให้เราเสียหาย สังคมเสียหาย ก็ต้องแสดงพลังทักท้วงกันบ้าง ให้สติกันบ้าง

    ความรู้นั้นดีมากๆ ไม่ควรปฏิเสธ ทั้งตะวันตก ตะวันออก แต่ใช้ความรู้ไปเพื่ออะไร เราเฝ้ามองที่ตรงนั้น คนโบราณไม่ได้ให้ความรู้ไปโดดๆ ต้องมีคุณธรรม วัฒนธรรม ศีลธรรมกำกับด้วย มิเช่นนั้น ความรู้คืออาวุธทำลายร้างกัน เอาเปรียบกัน

    ทุกวันนี้เราเห็นพฤติกรรมเหล่านี้บนท้องถนนได้ตลอดเวลา คนขับรถเข้าคิวกันดีดี มีรถอีกคันมาแซงแล้วบีบเข้าคิวไปก่อนเฉยเลย หากความรู้ ความสามารถมีเพื่อเบียดแซงคนอื่นขึ้นไปอย่างไร้คุณธรรม สังคมเราก็จะเดินเข้าสู่ Chaos society

    อาจารย์เริ่มมาดีแล้วครับ และผมคิดว่าสิ่งที่ผมแลกเปลี่ยนนี้ อาจารย์ก็ทราบดีอยู่แล้ว เพียงผมมาย้ำแนวคิดลักษณะนี้น่ะครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.32375311851501 sec
Sidebar: 0.018362045288086 sec