นโยบายปลูกปาล์มเป็นพืชพลังงาน..อย่าทำเลยสิบ่อกให่
biodieselจากปาล์มน้ำมัน..อย่าทำเลยสิบ่อกให่
ท่าน suthinan ได้ขอให้ผมช่วยเขียนเรื่องปาล์มน้ำมันสักหน่อย ผมเลยต้องฉลองศรัทธาครับ เรื่องรายละเอียดเชิงเทคโนโลยีไม่ยากเท่าไร หาอ่านเอาได้มากหลายในตำราและในเน็ตครับ เดี๋ยวนี้ชาวบ้านทั่วไปก็ทำ biodiesel (ester) กันเกลื่อนแล้ว แต่สิ่งที่ยากคือเรื่องนโยบายครับ ถ้าเดินผิดละก้อจะหลงทางหรือเจ๊งกันหมดได้นะครับ
ทำให้ผมนึกได้ว่าผมเคยคิดคำนวณเรื่องนโยบายนี้ไว้นานมากแล้ว (ประมาณ 8 ปีที่แล้วที่ผมทำวิจัยเรื่องปาล์มน้ำมัน โดยทดสอบการใช้น้ำมันปาล์มดิบในเครื่องยนต์)
ผมคิดว่าถ้ามองในแง่ของผลผลิตพลังงานที่จะได้แล้วปาล์มแพ้ยูคา ประมาณ 6.75 เท่า และยูคาก็แพ้ไผ่อยู่อีก 8 เท่า
การคำนวณของผมตั้งอยู่บนสมมติฐานที่ว่าการปลูกปาล์มหนึ่งไร่จะให้น้ำมันปาล์มประมาณ 500 กก. และให้ ไบโอดีเซลประมาณ 400 กก. มีค่าความร้อน 40 MegaJoule ต่อกก. ส่วนยูคาให้เนื้อไม้เฉลี่ยที่ 6 ตันต่อไร่ต่อปี มีค่าความร้อน 18 MegaJoule ต่อกก. จับหารกันก็จะได้ว่า ไม้ยูคาให้พลังงานมากกว่าน้ำมันปาล์ม 6.75 เท่า
ดังนั้นถ้าเอาความร้อนนี้มาเผาเพื่อต้มไอน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขาย ยูคากินดิบเลยครับ แต่แน่นอนว่าเอายูคาไปเติมรถยนต์ไม่ได้
อย่างไรก็ดีที่ประเทศอัฟริกาใต้นั้นได้ใช้เทคโนโลยีสงครามโลกครั้งที่สอง ผลิตน้ำมันจากถ่านหินจนพอเพียงในประเทศจนวันนี้ (เรียกว่ากระบวนการ fischer-tropsch..เยอรมัน) ผมจึงเชื่อว่าถ้าเราเอายูคามาผลิตน้ำมันโดยกระบวนการนี้ก็ยังจะดีกว่าการปลูกปาล์ม 3 เท่าเป็นแน่ ผมจึงไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะไปสนับสนุนการปลูกปาล์มเป็นบ้าเป็นหลัง เอาพื้นที่ 10 ล้านไร่อะไรที่เพ้อฝันกันนั้นมาปลูกไผ่ดีกว่าครับ เพราะมันจะดีกว่าปาล์ม 50 เท่า
โดยเฉพาะปาล์มกินน้ำมาก ส่วนยูคา ไผ่ กินน้ำน้อย ปลูกได้ทุกภาค
ไผ่เป็นพืชมหัศจรรย์ใต้จมูกเราทีคนไทย นักวิชาการ รัฐบาล มองข้ามกันไปหมด มีพืชอะไรบ้างที่เดือนเดียวโตได้สูง 15 เมตร แถมเนื้อแข็งอีกต่างหาก และยังใช้ได้หลากหลายประโยชน์มาก เช่น เยื่อกระดาษ เฟอร์นิเจอร์(วิจัยให้ดีอัดให้แน่นจะไม่แพ้ไม้เนื้อแข็งอื่นเลย) ไปถึงเป็นพืชพลังงาน และเป็นอาหาร
…ทวิช จิตรสมบูรณ์ (๑๔ มค. ๒๕๕๔)
« « Prev : ทำนาด้วยกบและมด (ตอน ๒)
Next : นางสาวไทยที่ผิวคล้ำและตัวเตี้ย » »
5 ความคิดเห็น
บางท่านมีความเชื่อผิดๆว่าไผ่ต้องการน้ำมาก โดยลืมคิดไปว่ามันมีไผ่หลายร้อยสกุล และไผ่นี้เหมือนมะพร้าวขึ้นได้ต้งแต่ดินทรายริมทะเล ยันหินบนภูเขา ที่อ.จักราช จ.นม. ผมเห็นไผ่สีสุกยักษ์ขึ้นได้ดีมาก สีเหลืองสวย ลำต้นใหญ่สัก 15 ซม. เห็นจะได้ สูงสัก 15 เมตร (ในเดือนเดียว) ผมเคยลองคำนวณอัตราการเปลียนพลังงานแสงแดดมาเป็นเนื้อไม้ ได้คร่าวๆว่า ยูคามีปสภ. 2% ส่วนไผ่ได้ 8 เท่า ก็ 16% ในขณะที่เซลแสงอาทิตย์ในวันนี้ได้ประมาณ 10% ครับ
ไผ่พืชมหัศจรรย์ จริง ๆ ครับ
Panda LoveBamboo….5555
ขอบคุณครับที่ให้ข้อมูล
อาจารย์พอจะมีข้อมูลเปรียบเทียบผลกระทบของแหล่งน้ำใต้ดิน ระหว่าง ยูคา ปาล์ม และ ไผ่บ้างมั๊ยค่ะ อยากขอความรู้ค่ะ
คุณสาวตาครับ
ข้อมูลน้ำใต้ดินไม่มีครับ แต่ขึ้นชื่อว่าต้นไม้แล้วผมเชื่อว่ามันไม่มีต้นไม้ที่ไม่ดี เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมหรอกครับ แม้แต่ยูคา (ที่เราคิดกันว่าเป็นผู้ร้าย) ที่ออสเตรเลียป่ายูคาเขาชุ่มชื้นดีเหลือเกิน และยูคามีหลากหลายพันธุ์มากเสียด้วย ของเราไปเอาไม้นอกถิ่นมาปลูกและเลือกพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมเลยอาจมีผลข้างเคียงบ้าง แม้กระนั้นสิ่งใดเป็นความจริงสิ่งใดเป็นความเชื่อ ก็ยังสับสนอยู่ หาข้อมูลพิสูจน์กันจะจะได้ยากนะผมว่า
แต่ถ้าจะปลูกอะไรกันแบบแพร่ระบาดจริงๆ กรมวิชาการเกษตรน่าจะวิเคราะห์วิจัยให้มากกว่านี้ เช่น ไปส่งเสริมให้ปลูกยางพาราในอีสานนั้น ผมว่าอาจขาดทุน หรือไม่ได้กำไรเท่าภาคใต้นะ นอกเสียจากมีการวิจัย บำรุงพันธ์ให้ดี ในม.ผมเอามาปลูก ตั้งหลายปีมากแล้ว (สัก 8 ปีเห็นจะได้) มันยังต้นเล็กอยู่เลย และดูเหมือนว่าใบดกกว่ายางภาคใต้