ทำนาด้วยกบและมด (ตอน ๒)
ทำนาด้วยกบ มด และสมอง (ตอนที่ ๒)
นอกจากแมลงแล้ว ปัญหาสำคัญอีกประการของการทำนาคือวัชพืช ซึ่งผมได้เกิดแนวคิดในการกำจัดวัชพืชด้วยการใช้”มดง่าม” ใช่…มดง่าม ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ
แนวคิดนี้เกิดจากการที่วันหนึ่งผมเดินกลับจากการไปสอนหนังสือ ..โชคดีที่อยู่ม.บ้านนอก ทำให้ต้องเดินผ่านป่าย่อมๆกลับมายังห้องพัก ระหว่างทางเห็นมดง่ามนับแสนตัวมันเดินแถวกันอย่างเป็นระเบียบ เลยนอนราบลงกันพื้นดูมันเดินกัน ได้เห็นมดทหารกล้ามโตทำหน้าที่กวดขันมดงานที่แตกแถวออกไป ประหลาดมาก แต่เอ๊ะนั่น….มดงานส่วนใหญ่คาบอะไรมา สังเกตดูโห..เมล็ดพันธุ์ทั้งนั้นเลย เป็นเมล็ดหญ้าหลากหลายพันธุ์ ที่หล่นอยู่บนสนามหญ้าข้างๆ แสดงว่ามดเหล่านี้ไปเก็บเมล็ดหญ้าที่ตกอยู่ตามดินในสนามหญ้าข้างๆป่าเอาไปเข้ายุ้งฉางของพวกมัน เพื่อเก็บเอาไว้กินในฤดูฝนแน่นอน (เรื่องนี้ควรมีการวิจัยกันอย่างจริงจัง เชื่อไหมกองทัพบกสหรัฐฯยังวิจัยมด แต่กรมวิชาการเกษตรไทยเชื่อว่าไม่มีใครจับเรื่องนี้)
ผมจึงคิดต่อไปว่ามันน่าจะใช้มดปราบวัชพืชได้โดยปราบที่ต้นตอเลย วิธีการคือเราต้องเพาะเลี้ยงมดง่ามไว้ให้ดี พอจะเริ่มฤดูทำนา ก่อนที่ฝนจะตก เราก็เอามดไปปล่อยในนา ให้มันเก็บเมล็ดพืชกินให้หมดเกลี้ยง จากนั้นก็เรียกมดกลับรัง แล้วเอามดออกไปขจัดเมล็ดหญ้ายังนาแปลงต่อไปเรื่อยๆ ก็เมื่อไม่มีเมล็ดเสียแล้ววัชพืชก็ไม่เกิด การปลูกข้าวอาจไม่ต้องไถนาด้วยซ้ำไป เพราะการไถนานั้นจุดประสงค์หลักก็เพื่อพลิกหน้าดินกลบเมล็ดวัชพืชให้มันตายนั่นแหละ แต่ก็ไม่หมด ต้องปล่อยน้ำเข้ามาทำให้มันเน่าอีกซ้ำสอง (ผมเคยคิดเอาเองว่าการไถนาก็เพื่อให้ดินร่วนซุย ถามคนมามากทั้งชาวนาและนักวิชาการเกษตร ก็ไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนสักที บัดนี้ผมสรุปเอาเองว่าการไถนานั้นส่วนใหญ่เพื่อกลบเมล็ดหญ้า)
เมื่อสัก 8 ปีมาแล้วผมไปร่วมประชุมกับชาวสวนปาล์มน้ำมันที่พังงา (เพราะผมทำงานวิจัยด้านไบโอดีเซล) ชาวสวนบอกว่าอาจารย์ช่วยหาวิธีกำจัดหนูให้พวกผมหน่อย เขาคงต้องการฟังคำตอบที่แสนไฮเทค ผมคิดสัก2-3 นาทีก็บอกเขาไปว่ามีทางเลือกง่ายอยู่ 3 ทางคือ
1) เลี้ยงงูสิง ซึ่งงูกินหนู แล้วยังจับงูขายพวกฮ่องกงได้ราคาดีอีกด้วย (วิธีนี้ไม่เป็นที่ยอมรับเพราะชาวสวนปาล์มกลัวงูกันมาก)
2) เลี้ยงนกฮูก (เพราะนกฮูกจับหนูกินวันละมากๆ)
3) เอาคนอีสานมาเป็นคนงาน (เพราะคนอีสานกินหมด ทั้งหนูและงู) (ข้อนี้เรียกเสียงหัวเราะจากที่ประชุม แต่ผมว่ามันเป็นวิธีที่ดีมากเลยนะ ดีกว่าไปจ้างพม่า)
วิธีที่สอง (เลี้ยงนกฮูก) บัดนี้กลายเป็นที่นิยมไปแล้วในหมู่คนทำสวนปาล์ม ได้ข่าวว่ากลายเป็นอาชีพใหม่ไปแล้ว คืออาชีพรับขจัดหนูในสวนด้วยนกฮูก (แต่คงไม่มีใครจำได้แล้วหละว่าใครเป็นคนต้นคิดเรื่องนี้)
ต่อไปอาจมีอาชีพเลี้ยงมดง่ามช่วยทำนาก็ได้นะครับ (มดง่ามไม่นำเพลี้ย ซึ่งเป็นศัตรูพืช ที่นำเพลี้ยมาคืดมดแดง) มดง่ามกับกบเขียดก็ไม่ขัดแย้งกัน เพราะมดง่ามทำงานตอนช่วงก่อนฝน ซึ่งกบเขียดยังจำศีลอยู่ ไม่งั้นกบเขียดจะเจี๊ยะมดง่ามหมดเสียก่อน
ผมได้เอาเรื่องนี้ไปปรึกษาอาจารย์ม.เกษตรศาสตร์ที่ท่านวิจัยเรื่องมดอยู่ ท่านว่ามันเป็นไปได้ และอาจลองทำดู เพียงแต่ว่าท่านอ้างว่าท่านจบมาด้ายชีววิทยาวนศาสตร์ไม่มีความรู้เรื่องพืชไร่ ..แต่ผมว่าน่าจะประสานงานกันได้นะครับ วิจัยเสร็จได้รางวัลโนเบลก็อย่าลืมแบ่งให้ผมบ้างล่ะครับ อิอิ
« « Prev : กระเซ้าประชา”วิ”ยม ๙ ข้อของท่านนายกฯอภิสิทธิ์
Next : นโยบายปลูกปาล์มเป็นพืชพลังงาน..อย่าทำเลยสิบ่อกให่ » »
6 ความคิดเห็น
ผมแถมว่ามันมีกบเล็ก กบกลาง กบใหญ่ ต้องเลี้ยงให้ดี กบเล็กเอาไว้ไต่ไปตามใบข้าว ไปกินแมลงเล็ก กบใหญ่ก็เอาไว้กินแมลงใหญ่
อึกบที่กินแมลง กลายเป็นปุ๋ย และสร้างจุลินทรีย์ให้ปลาซิว กุ้ง กินอีกต่อ อึกุ้ง ปลา กลายเป็นปุ๋ยให้ต้นข้าว
กลายเป็นว่าแมลงเป็นมิตรกับต้นข้าว อย่างสมดุล โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยหรือยาฆ่าแมลง ไม่ว่าเคมีหรือชีวภาพ (เช่นน้ำสะเดา ..ซึ่งอาจร้ายกว่าสารเคมีเสียอีก) ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม ลดความเหนื่อยยาก เพิ่มสุขภาพให้สังคม
แล้วนี่จะบาปไหมหนอ ที่ไปเสี้ยมให้กบกินแมลง ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนะเนี่ย แต่เอ้อ..คิดไปอีกทีการฉีดยาเคมี มันฆ่าทั้งแมลงและฆ่าคนด้วย ฆ่ากบ ฆ่าปลาซิว กุ้งอีกต่างหาก
การคิดของเรา จริงอยู่มันก็มีการฆ่า แต่อย่างน้อยมันก็ลดการฆ่าลงได้มากกว่าเดิม หักกลบลบเกลื่อนแล้วคงเป็นบุญกระมัง หรือ บาปน้อยกว่าเดิม
เวลาเราเลือกพรรคการเมืองวันนี้ เราก็เลือกพรรคดีที่สุดไม่เจอ ต้องถูกบังคับโดยปริยายให้เลือกพรรคที่เลวน้อยที่สุด (ซึ่งที่สุดนี้มันก็อยู่ระดับปริ่มๆน้ำว่าจะเลือกหรือว่ากาช่องไม่เลือกสักตัวเลยซะเลยดีไหม)
อีกาคาบข่าว บอกว่าอาจารย์เคยทำวิจัยเรื่องปาล์มน้ำมัน ถ้าจะกรุณาช่วยเขียนให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้หน่อยได้ไหมครับ ผมกำลังจะไปใต้พรุ่งนี้ เพื่อไปหาข้อมูลเรื่องปาล์ม ไปดูงาน ไปพบปะผู้ปลูกและนักวิชาการ มีอะไรชี้แนะบ้างไหมครับ
สวัสดีค่ะคนถางทาง ดิฉันชอบปลูกผักปลอดสารพิษลงแปลง เช่น คะน้า เมื่อผักเล็กๆดีใจมากที่มีมดแดงที่แปลงผัก ไม่ได้ไปทำอะไรเค้า ก็หวังให้คอยกินเพลี้ยให้ พอผักโตตัดกินได้ เพลี้ยเหนียวๆสีเขียวเป็นตุ่มๆเกาะตามใบเต็มไปหมด แล้วผักเริ่มตาย มดก็หายไปหมดค่ะ มาอ่านเรื่องของคุณ มดแดงนี่เองนำเพลี้ยมา
อาจารย์มีข้อสังเกตเกี่ยวกับธรรมชาติที่ละเอียดดีจัง รวมไปถึงเรื่องการใช้สะเดากำจัดแมลงด้วย อยากอ่านเรื่องเกี่ยวกับสะเดาที่อาจารย์ชี้แนะว่าอันตรายกว่าสารเคมีซะอีกค่ะ ชอบตรงความช่างสังเกตของอาจารย์ค่ะ
คุณสาวตาครับ เอ..ผมลืมไปว่าเขียนไว้ตรงไหนว่าสะเดาอันตรายกว่าสารเคมี ผมอาจเขียนว่า “อาจ”อันตรายกว่าสารเคมีเสียอีก ก็เป็นได้ นะครับ
หลักการของผมคือ อย่าไปคิดว่าสารชีวภาพจะดีจะปลอดภัย ลองดูเห็ดพิษนั่นปะไร บางชนิดแค่สองสามอนูกินเข้าไปก็ม่องเท่งแล้วครับ หรือ เมล็ดมะกล่ำตาหนู ก็พิษแรงมาก ส่วนสารเคมีที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายก็มีเช่นเกลือแร่ต่างๆ
สำหรับสะเดานั้นถ้ามันฆ่าแมลงได้ ผมว่ามันก็น่าจะเป็นพิษต่อคนได้ด้วย ถ้ามีปัจจัยที่เหมาะสม
ดังนั้นผมจึงตั้งธงว่าถ้าจะทำเกษตรธรรมชาติ (เลี่ยงคำว่าอินทรีย์) ต้องไม่ใช่สารใดฉีดพ่นฆ่าแมลงเลย (อนุโลมให้ใช้สัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติได้)
มายืนยันว่าสารสกัดไม่ว่าจากสะเดา เม็ดมะก่ำตาหนู หรือหวายแดง ฯลฯ ที่นำมาสกัดเป็นสารชีวภาพใช้ในเกษตรปลอดภัยทั้งหลาย เวลาที่ตรวจด้วย Screening test เพื่อตรวจหายาฆ่าแมลง ก็โชว์ผลแบบยาฆ่าแมลงกลุ่มต่างๆเหมือนกันค่ะ
เคยงุนงงกันมาก่อน เพราะรพ.ทำอาหารปลอดภัยมากว่า 5 ปี เจอผลตรวจแบบนี้กับเกษตรกรที่เราดูแลอยู่ก็ต้องหาสาเหตุ ถึงพบว่าสารสกัดเหล่านี้เมื่อมีฤทธิ์ฆ่าแมลงเหมือนที่อาจารย์กล่าวมา ก็ย่อมตกค้างและแสดงผลเหมือนยาฆ่าแมลงเคมีได้เช่นเดียวกัน (ถ้าใช้ในปริมาณมาก และกระหน่ำใช้เพราะเชื่อว่ามาจากธรรมชาติย่อมปลอดภัย)…นี่คือจุดละเอียดที่พึงระวังของเกษตรปลอดภัย ปลอดสารหรืออินทรีย์ทั้งหลายแหล่ค่ะ