ยังเป็นนักเรียน

อ่าน: 1532

ตั้งแต่เป็นนักเรียนโข่งนับแต่วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๓ เรื่อยมา วันนี้สถานภาพความเป็นนักเรียนยังไม่ได้สิ้นสุดลง ชีวิตวนเวียนทำงานผสมผสานระหว่างการบ้านในฐานะนักเรียนกับการงานเดิม การบริหารเวลาให้กับเรื่องราวที่ควรคิดควรทำควรลงมือจึงเป็นอะไรที่ท้าทายยิ่ง

มีหลายเรื่องของการบ้านที่ยังติดค้างในฐานะนักเรียนโข่ง  หนึ่งในเรื่องติดค้างที่ทำให้นักเรียนโข่งรุ่นสสสส.๒ ยังขอจบกันไม่ได้และก็เป็นการบ้านที่ค้างของฉันด้วย การขอจบมีเงื่อนไขพันผูกอยู่ด้วยกัน  เรื่องพันผูกคือเรื่องของการต่อยอดงานจากที่สสสส. รุ่น ๑ ทำไว้ก่อนหน้า

เรื่องของเรื่องเริ่มต้นจากรุ่น สสสส.๑ ช่วยกันคิดช่วยระดมสมองจนได้ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ ในสไตล์ที่วิเคราะห์สังเคราะห์จากมุมมองของสมาชิกในภาคประชาสังคม แล้วเผยแพร่ให้สังคมใหญ่ได้รับรู้ สังคมใหญ่ที่กล่าวถึงนี้ มิใช่แค่สังคมประเทศเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น หากแต่เป็นสังคมโลกทีเดียวเชียวแหละ

แต่นั้นมาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เริ่มขึ้นจากสังคมเล็กๆ ก็ดึงดูดให้หลากหลายประเทศเกิดความสนใจและติดต่อมาขอดูงาน แล้วผลงานสะท้านสะเทือนดังกล่าวนี่แหละที่ทำให้ สสสส.๒กำเนิดตามมา

การเรียนของสสสส. รุ่น ๒ นั้นเป็นการทำงานด้วยกันซะมากกว่า งานที่เรียนเป็นการเรียนจากของจริงนอกตำรา และเรียนจากกันและกันระหว่างที่ระดมความคิดระดมมุมมอง ความรู้ที่ก่อเกิดขึ้นมาก็มอบต่อให้ผู้มีความเชี่ยวชาญในรุ่นแกะรอย รวบรวมนำเสนอเป็นบทเขียนตามมุมมองเชิงวิชาการ รวมแล้ว ๖ เรื่อง ๖ เล่มเอกสาร

เล่มแรกเป็นเรื่องราวต่อยอดจากยุทธศาสตร์ดับไฟใต้ของสสสส.รุ่น ๑

เล่ม ๒ เป็นเรื่องราวมุมมองการสร้างความสมานฉันท์ในชาติ

เล่ม ๓ เป็นมุมมองการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

เล่ม ๔ เป็นมุมมองเล็กๆกับการจัดการในสังคมพหุวัฒนธรรม

เล่ม ๕ เป็นความรู้ที่เก็บเกี่ยวจากการดูงานอินเดีย

เล่มสุดท้ายเป็นความรู้ที่เก็บเกี่ยวจากการดูงานซินเกียง

เรื่องพันผูกที่ทุกคนในรุ่นเข้าไปเอี่ยวด้วย แบ่งเอาไว้เป็น ๒ ช็อตง่ายๆ เลือกเข้ากลุ่มกันได้ตามอัธยาศัยได้ ๑ เรื่อง ผนวกกับพันธะว่าทุกคนเป็นเจ้าของผลงานเล่มแรกด้วยกัน ส่วนเรื่องเก็บเกี่ยวจากการดูงานก็ช่วยกันไป

ที่จริงแล้วงานเอกสารทั้ง ๖ ชิ้น ทำกันเสร็จและส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษาไปแล้ว แต่ที่ยังเรียนไม่จบนั้นเป็นเพราะว่า งานเล่มแรกยังไม่สมบูรณ์สมใจกัน ก็เลยยังมีคณะทำงานชุดหนึ่งทำงานกันต่อ

เรื่องสานต่อเพื่อความสมบูรณ์คิดต่อยอดจากยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร” ของ สสสส.รุ่น ๑ มองไปที่รากฐานของการดำรงชีวิตของผู้คน แล้วใช้คำว่า “สันติธานี” เป็นเครื่องมือส่งต่อความคิดว่า หากแก้ที่รากฐานนี้ได้แล้ว ความสงบ สันติในใจคนจะบังเกิดขึ้น และเมื่อนั้นก็จะได้สังคมสันติสุขคืนกลับมา

เพื่อนคนหนึ่งบอกฉันว่า ความฝันคือพลังชีวิต  “สันติธานี” ก็เป็นฝันของสสสส.รุ่น ๒ ที่บรรจุพลังชีวิตไว้เต็มเปี่ยมเช่นกัน

Santithani Model

Security มีความมั่นคง มั่นใจ, ไร้กังวล และสวัสดิภาพ

Accept ให้การยอมรับ เห็นด้วยและ ยินยอม

Nice มีความยินดี มีเมตตา มีน้ำใจ มีมารยาท

True ความถูกต้อง ซื่อสัตย์ เป็นความจริง

Intelligence ความสามารถในการคิดและเรียนรู้, สติปัญญา, ไหวพริบ

Trust ความไว้เนื้อเชื่อใจ ไว้วางใจ และคาดหวัง

Help การช่วยเหลือ เกื้อกูล ส่งเสริม

Authority มีอำนาจ หน้าที่และ สิทธิ์

Notion ความคิด ข้อคิดเห็นและความเชื่อ

Innovate มีความริเริ่ม ปรับปรุงใหม่และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

ความหมายโดยรวม

เป็นเมืองที่ประชาชน มีความมั่นคงปลอดภัย ไร้กังวล ให้การยอมรับซึ่งกันและกันในความแตกต่าง แบ่งปันน้ำใจ เมตตาและรอยยิ้ม ตั้งมั่นบนหลักแห่งความถูกต้อง จริงใจและไม่บิดเบือน ประชาชนสามารถที่จะคิดเรียนรู้ด้วยสติปัญญาของตนเองเพื่อพัฒนามาตุภูมิที่เขารัก เสริมสร้างด้วยสายใยแห่งมิตรภาพที่ไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งกันและกัน เปิดใจกว้างสู่ความคาดหวังที่ดีดี ให้การช่วยเหลือ เกื้อกูลกัน ไม่แบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา มีอำนาจ สิทธิและหน้าที่ ที่ควรมีและพึงได้ ที่จะดูแลตัวเองตามรัฐธรรมนูญ มีความคิดและข้อคิดเห็นที่จะนำเสนอ แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ซึ่งจะนำมา การสร้างสรรค์ สิ่งใหม่ๆ และปรับปรุงระบบเก่าให้ดีกว่าเดิม

ข้อสรุปความคิดข้างต้นนี้ เป็นฝีมือบรรเลงอักษรของน้องซอล (อาจารย์ไพศาล อาแซ) น้องคนเล็กของสสสส. รุ่น ๒ จากยะลา

โจทย์ซึ่งได้ให้กำเนิด “สันติธานี”  มีที่มาที่ไปคร่าวๆตามนี้ แหละค่ะ ใครที่มีฝันร่วมในเรื่องเหล่านี้ ขอเชิญชวนให้ความเห็นกับร่าง “สันติธานี” ด้วยนะคะ

ส่วนการบ้านที่คงค้างอย่างเช่นการเขียนบันทึกเรื่องราวของ สสสส.รุ่น ๒ ที่ค้างไว้หลังจากบันทึกนี้ ก็จะขอทะยอยทำส่งเรื่อยๆตามเวลาที่สามารถค่ะ

« « Prev : บุญตา บุญใจ

Next : มุมหนึ่งที่สะกิด » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2011 เวลา 16:16

    ผมเคยเสนอให้ตั้งลัทธิใหม่ไปเลย ศรัทธาแบบอิสลามผสมสมาธิปัญญาแบบพุทธ

    ซึ่งมันมีอยู่แล้วในนิกาย sufi ของอิสลาม

    ผู้นำอิสลามดีๆ เคยมาคุยยาวๆ กับท่านพุทธทาสภิกขุ
    ถ้าไปศึกษา อาจได้อะไรดีๆ ครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.042264938354492 sec
Sidebar: 0.42710518836975 sec