ที่ยืน

โดย สาวตา เมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 0:18 ในหมวดหมู่ เล่าสู่กันฟัง #
อ่าน: 1034

ตอนที่ตามไปดูกระบวนการในโรงเรียนพ่อแม่ลูก มีอะไรบางอย่างที่สะกิดใจให้ค้นหาคำตอบ และ ณ วันนี้ก็ยังไม่กล้าที่จะฟันธงกับคำตอบสักเท่าไร

ก่อนอื่นขอเล่าก่อนว่ากิจกรรมที่ครูณาดำเนินไปในเวทีของเธอนั้นเธอทำอะไรบ้างนอกจากเล่าเรื่องชีวิตครอบครัวของเธอให้ผู้เข้าร่วมได้ฟังแล้ว  กิจกรรมที่เธอใช้เป็นบทเรียนรู้มีการใช้ละครที่มีบทบาทของผู้คนตามนิสัยในกลุ่มของผู้นำ 4 ทิศแสดงให้ดูด้วย ละครนี้แสดงโดยทีมงานของเธอ 4 คน  แล้วเธอก็ชวนผู้คนให้ช่วยกันวิเคราะห์พฤติกรรมที่เห็นจากตัวละครจัดกลุ่มเป็นกลุ่มนิสัยตาม 4 ทิศขึ้นมาเป็นบทเรียนต่อไป

ได้แล้วก็ต่อด้วยการให้ผู้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมเรียนรู้และวิเคราะห์พฤติกรรมของตนเทียบกับพฤติกรรมที่จัดกลุ่มไว้เป็น 4 กลุ่มตามทิศแล้วนั้น พร้อมทั้งให้ผู้คนเปรียบเทียบตัวเองและบอกว่าพฤติกรรมที่เด่นที่สุดหรือมักจะทำมากที่สุุดของตัวหนักไปที่กลุ่มใด แล้วให้วิเคราะห์เรียนรู้ข้อติดขัดของการดำเนินชีวิตที่เกิดขึ้นว่ามาจากพฤติกรรมอะไรที่อยู่ในกลุ่มนั้น  หลังจากวิเคราะห์แล้วก็ให้เล่าสู่กันฟังโดยจัดผู้คนที่เลือกทิศเดียวกันเข้ากลุ่ม 4 คน

เมื่อกิจกรรมดำเนินมาถึงตรงนี้ ดูเหมือนผู้เข้าร่วมจะมีอะไรติดข้องอยู่ในใจ จนเกิดอะไรบางอย่างที่เรียนรู้และเริ่มมองเห็น ต่างไปจากมุมเดิมๆที่เคยมองตัวเองอย่างคุ้นชิน แต่ยังฝืนกับการยอมรับมุมมองที่เริ่มเห็นความต่างไปนี้  ช่วงนี้ยังมีเสียงฮาเฮแทรกเข้ามาเป็นระยะๆจากบางกลุ่มให้ได้ยินอยู่ เป็นผู้คน 4-5 คนที่สัมผัสได้ว่ายังไม่ได้เริ่มทำงานกับตัวเองสักเท่าไรด้วยอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นเหตุ

เหตุนั้นครูณากับฉันเชื่อร่วมกันว่า น่าจะมาจากความสนิทสนมที่มีต่อกันมันก่อให้เกิดความอายและความกลัว จึงทำให้ยังคงปิดกั้นการทำงานกับโลกภายในของตัวเองเอาไว้

กิจกรรมในวันแรกจบลงในยามค่ำคืน ด้วยการที่ครูณาขอเช็คอินความคาดหวังของการเข้ามาร่วมกิจกรรมของผู้คน ระหว่างที่ชวนเช็คอินอยู่นั้น คุณภาพการฟังของคนบางคนในกลุ่มไม่ดีนักหรอก มีบางคนจับคู่คุยแทรกอยู่ตลอดเวลา บางคนก็ชวนคุยแซวข้ามวงเป็นที่สนุกสนานครูณาจึงชวนให้ผู้คนใคร่ครวญ ไตร่ตรอง ในเรื่องของการเฮฮาและพากันสนุกอยู่ในระหว่างกิจกรรมไปด้วยนั้นว่าผู้เข้าร่วมได้ประโยชน์ในการทำงานเรียนรู้อย่างที่ต้องการแค่ไหน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้เข้าร่วมเพิ่มคุณภาพในการฟังสักเท่าไร

ก่อนจบกิจกรรมในยามค่ำคืนนี้ เธอจึงบอกเล่าให้ผู้เข้าร่วมรับรู้ว่า เธอกำลังถามตัวเองอยู่ว่า คุ้มกันไหมกับการให้เวลาและการลงทุนมาทำให้เกิดกิจกรรมโรงเรียนแห่งนี้ตามคำชวนของผู้คนในกลุ่ม คุ้มกันไหมที่เธอได้แลกความสนุกของผู้คนตามที่ได้เห็นอยู่นั้นกับเวลาที่เธอควรได้อยู่กับครอบครัวและมีความสุขอยู่กับลูกและสามีที่เธอรักที่บ้าน

มันเป็นอะไรที่เหมือนมีระเบิดโยนโครมลงไปในกลางเวทีก่อนที่กิจกรรมวันนี้จะจบลงเชียวนะ  คำกล่าวที่เธอบอกก่อนจบทำให้ฉันต้องหันไปมองหน้าเป็นเชิงถาม เอากันอย่างนี้เลยหรือครูณา ตั้งใจจะบอกด้วยอยากกระตุกให้คนเรียนรู้หรือว่าจี๊ดจนเก็บไม่อยู่กันละนี่  แต่เธอก็ไม่ตอบอะไรฉันหรอกนะ จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นเธอจึงเฉลย อย่างไรก็ตามระเบิดลูกนี้ก็ทำงานนะ มันทำให้ผู้คนต่างชะงัักการพูดคุยและตะลึงอยู่เป็นครู่ จังหวะนั้นแหละที่ครูณาเอ่ยคำลาก่อนปล่อยให้เขาพากันจากไป

ตามสังเกตกิจกรรมที่เรียงร้อยผ่านมาตลอดวันนี้ เปรียบเทียบกับที่เคยนำญาติคนหนึ่งไปเข้าร่วมเรียนรู้กิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่ลูกที่กรุงเทพฯมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง ก็มีข้อสะกิดใจแล้วตั้งคำถาม คำถามนั้นก็คือ กระบวนกรคนนี้เธอติดพิธีกรรมรึเปล่า เวลาที่เห็นเธอลงมือชวนให้ทำกิจกรรมเรียนรู้ตามโจทย์ที่รู้จักกันอยู่  เธอไม่ได้มีอะไรที่จะชี้ชวนมากไปกว่าคุยชวนแบบสนทนากันอย่างง่ายๆซะมากกว่า

คำตอบที่เก็บเกี่ยวได้ให้คำเฉลยว่าดูเหมือนเธอจะเข้าใจว่ากิจกรรมเป็นแค่เครื่องมือที่ควรหยิบมาใช้ให้เหมาะกับผลที่ต้องการนำไปให้เกิด  เธอไม่ได้ติดอยู่ที่พิีธีกรรมที่จำเป็นต้องเรียงร้อยตามวิถีที่คุ้นชินให้เป็นอัติโนมัติแต่อย่างไรให้เห็นเลย

รู้สึกว่ากระบวนกรคนนี้เข้าใจความต่างของผลที่เกิดกับผู้คน สามารถนำเอากิจกรรมมาใช้เป็นเครื่องมือจนยืดหยุ่นในการนำมาใช้เป็นบทเรียนให้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งเชียวนะ

สังเกตการเรียนรู้และการหยิบนำกระบวนการมาใช้มันบอกฉันว่าครูณาเธอยืนอยู่และตั้งมั่นอยู่กับผลของการช่วยเหลือผู้คนให้เกิดความสุขจากโลกภายใน และระวังอยู่มากในการไม่ซ้ำเติมความหลงหรือทำร้ายให้ใจคนบาดเจ็บเพิ่ม รับรู้เธอแล้วทำให้วางใจต่อเธอในเรื่องของ “ใจ” ที่มีต่อผู้คนว่าเป็นของแท้

การรับรู้ “เมตตา” ที่เธอมีต่อตนเองที่ไม่นำตัวเธอไปสู่การ “ถือดีในวิชา” จนพาตัวติดพิธีกรรมจนหลงทำร้ายผู้คนและตัวเอง ทำให้ฉันวางใจว่าหากได้อยู่สังเกตแล้วดูกระบวนการต่อ เมื่อมีโอกาสได้ชี้บอกความคิดในมุมมองที่ต่าง เธอจะยินดีรับฟังข้อคิดบางอย่างที่ชี้ชวนให้มองเห็นนั้นได้อย่างใจกว้าง สรุปกับตัวเองว่า เราสามารถเดินร่วมทางกันไปในฐานะผู้่มีใจเดียวกันต่อการช่วยเหลือผู้คนใน 2 วันนี้ได้

ช่วงกลางคืนก่อนที่ครูณาจะโยนระเบิดลงกลางวง ก็มีกระบวนกรอีกคนที่ลงมือชวนให้ผู้คนเรียนรู้  น้องนุชได้บอกเล่าชีวิตครอบครัวของเธอให้ผู้เข้าร่วมได้ฟังเรื่องราวของเธอ ชีวิตของเธอบาดเจ็บกับความรู้สึกต่อชีวิตคู่ที่ผ่านมามากมาย  มันส่งคำถามให้เอะใจอยู่เหมือนกันกับความใจกว้างของกระบวนกรทั้งสองที่นำเรื่องการบาดเจ็บทางใจของตัวเองออกมาเล่าให้ฟังเพื่อเป็นทานความรู้  การทำอย่างนี้ต้องอาศัยความกล้าของเจ้าของชีวิตอย่างมากทีเดียว

ความเอะใจที่เกิดขึ้น มาจากคำบอก”ที่ยืน” ในวิถีของพวกเขาตรงนี้แหละ

“ที่ตัดสินใจบอกเล่าเรื่องราวส่วนตัวอย่างลึกให้ฟังไปนั้น ตั้งใจเปิดแผลของตัวเอง  เพื่อชวนให้ผู้คนเริ่มค้นหาแผลของตัวเองขึ้นมาดูแล”

ความเอะใจนี้เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ฉันตัดสินใจตามมาดูกระบวนการต่อในวันรุ่งขึ้น

28 กค.2552

« « Prev : คำตอบ

Next : เรื่องเล่าเช้านี้…จากโรงเรียนพ่อแม่ลูก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 จันทรรัตน์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 6:04

    ตามอ่านด้วยค่ะ พี่สาวตา

    self reflection เป็น self healing ได้ค่ะงานวิจัยในกลุ่มผู้หญิงวัยกลางคนหลายฉบับรายงานว่า การได้เล่าเรื่องราวของชีวิตตัวเองให้คนที่ไว้วางใจฟัง เป็น self healing และงานวิจัยบอกว่า ทำให้เธอเหล่านั้นหยัดยืนกับชีวิตที่ผกผันได้อย่างเข้มแข็งขึ้นค่ะ

    ในทางตะวันออกของเราก็คือการมี  กัลยาณมิตร  ที่จะรับฟังเวลาที่สุข ที่ทุกข์ร้อน ให้การเตือนสติกันได้ด้วย ..

      

  • #2 น้ำฟ้าและปรายดาว ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 6:51

    อืม น่าสนใจว่ามีการใช้ หลักจิตวิทยากลุ่ม phenomenal ด้วยสิคะ ถ้าจำไม่ผิดหลักการนี้จะเรียกว่ารู้จักสัตว์ร้ายในตัวเรา เป็นการบอกกล่าวความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา ไม่ได้ตำหนิหรือทำให้ใครอับอาย (แบบนั้นเรียกว่าซัดหอก คือมีอารมณ์และต้องการบดขยี้ ทำลาย)

    การตรงไปตรงมากับความรู้สึกคือการสอนให้คนที่อยู่ร่วมได้เรียนรู้ถึงด้านลบ ด้านเปราะบางของตัวเองบนพื้นฐานที่ปลอดภัยน่ะค่ะพี่ตา  เพราะโดยทั่วไปเราจะมีคำว่ามารยาททำให้อดทนกล้ำกลืน หรือปิดบังความรู้สึกต่าง ๆ ของเราไว้ รวมทั้งมุ่งตัดสินผู้อื่นบนมาตรฐานของตัวเอง และเต็มไปด้วยคำว่าทำไม

    การเยียวยาหรือการเติบโตจึงจำเป็นที่จะต้องรู้จักทุกด้านของตัวเราอย่างตรงไปตรงมาและโอบอุ้มดูแลมันอย่างเข้าใจ เพราะพลังของใจที่แท้จริงไม่มีด้านมืดหรือด้านสว่างถ้าเรารู้จักใช้พลังบริสุทธิ์ของมัน อย่างกระทิงที่พัฒนาแล้วก็คือการใช้ความโกรธ ความไม่พอใจให้ถูกทาง(เบิร์ดนึกถึงหลักการบำบัดของจิตวิทยานะคะ แต่อาจไม่ถูกก็ได้ อิอิอิ)

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 19:03

    #1 น้องสร้อยเอ๋ย บางเรื่องราวของชีวิตผู้คนนั้นมันแสนเจ็บปวดในความรู้สึกของเขาจริงๆนะน้อง
    ถึงแม้การเล่าจะช่วยเยียวยาได้ หากแต่ถ้าเผื่อมันทำไปอย่างไม่รู้เท่าทันพอว่ากำลังต้องการเยียวยา
    การเล่าซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันก็เหมือนใช้ทิงเจอร์ราดแผลนะน้อง
    มันปวดแสบปวดร้อนจนแทบขาดใจก็ได้สำหรับคนบางคนแม้จะเอ่ยบอกตัวเองอย่างใจเด็ดได้ก็ตามว่า “ไม่เป็นไร” 
    after effect มันทำร้ายผู้คนไม่เบาเหมือนกันนะน้องนะ
    การเยียวยาแบบนี้มันสะสมอารมณ์กร้าวแกร่งเอาไว้ครอบใจซะตึงเกินไปนะพี่ว่า

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 เวลา 19:07

    #2  ดีแล้วๆ ที่มาช่วยนำเอาทฤษฎีมาอธิบายประกอบให้เกิดความเข้าใจ
    “ซื่อตรงต่อความรู้สึก” คำนี้มีความหมายมากมาย
    การจะใช้มันทันทีเมื่อมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นไปด้วยก็มีอะไรที่บล็อกให้ช้าไว้ๆอยู่เหมือนกัน
    แล้วในตอนนั้นแหละที่มารยาทมันถูกดึงมาใช้….ใช่เปล่า


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.045066833496094 sec
Sidebar: 0.1296501159668 sec