คำตอบ
อ่าน: 1212สาวใหญ่คนหนึ่งที่มาเข้าโรงเรียนพ่อแม่ลูกเล่าวิถีเมื่อยังเป็นเด็กให้ฟังว่า เมื่อเด็กเธอถูกแม่เลี้ยงดูด้วยไม้เรียวพร้อมการด่าว่าในเรื่องราวที่ต้องการสอนต้องการให้ได้ดี เธอจึงคิดว่าไม้เรียวและการด่าว่าเป็นวิธีที่ดีในการฝึกลูก แต่เมื่อเธอนำมันมาใช้กับลูก เธอพบว่าเธอกับลูกพูดกันไม่รู้เรื่อง ความสุขในครอบครัวของเธอหายไป เธอจึงมาเข้าโรงเรียนเพื่อค้นหาวิธีได้ความสุขในครอบครัวคืนมา
ฟังแล้วเกิดคำถามว่าคนซึ่งมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงที่เห็นๆต่อหน้าถูกหล่อหลอมด้วยการฝึกให้รู้จักกับความรุนแรงตั้งแต่เด็กจนกลายเป็นความคุ้นชินที่ติดตัวมาจนโตเป็นผู้ใหญ่รึเปล่า ก็ตอนที่เธอเล่า เธอเล่ามันอย่างเป็นเรื่องธรรมดาๆยิ่ง แล้วคนในวัยนี้ต่างยอมรับว่า การถูกเลี้ยงมาด้วยไม้เรียวนั่นแหละที่ทำให้ได้ดี
แล้วเมื่อตัวตนรับรู้ตนว่ามีอำนาจอะไรบางอย่างมากกว่าเดิม การเผลอสะท้อนความรุนแรงผ่านพฤติกรรมออกมาเป็นการปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองซึ่งต่อต้านความรุนแรงที่ไม่เคยยอมรับมาตั้งแต่เด็กเพื่อจะให้อิสระกับตัวเองรึเปล่า ล้วนเป็นเรื่องราวที่พึงวิเคราะห์การตกเป็นเหยื่อที่เกิดจากร่องอารมณ์ของผู้คน
อิสระในการเผชิญโลกแบบเด็กๆทำให้เด็กมีความสุขกับชีวิต แต่หากว่าเด็กไม่รู้สึกอิ่มเต็มกับความเป็นตัวเองแล้วเมื่อผู้ใหญ่มาเติมการสร้างแรงจูงใจให้เอาชนะความรุนแรงที่ทำให้ใจไม่อิ่มเต็ม ส่งผลทำให้พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงก่อตัวสะสมในตัวเด็กตามความคุ้นชินกับมันรึเปล่าก็เป็นเรื่องน่าคิดนะ
เรื่องที่เรียนรู้จากชีวิตของสาวใหญ่ ชี้ให้มองเห็นประเด็นเล็กๆี้แล้วทำให้นำมาย้อนคิดและทบทวนเรื่องของสาวในความดูแลที่จำเป็นต้องให้คำตอบกับผู้ส่งคำถามมาจากระบบบริหารความเสี่ยงของร.พ. “ดำเนินการกับคู่กรณีไปอย่างไร ผลเป็นอย่างไร ให้ตอบกลับ”
ฉันว่าระบบบริหารความเสี่ยง มีไว้เพื่อรับรู้ การหลุดของผลผลิตในด้านลบของระบบที่องค์กรมีอยู่ มีไว้เพื่อเตือนองค์กรว่าละเลยการบริหารเพื่อเติมเต็มจุดอ่อนที่สำคัญอะไรไปบ้าง เมื่อมีไว้เพื่อเตือนระบบก็ควรมีความไวที่จะบอกถึงผลที่เกิด ฉะนั้นเรื่องราวนี้ มันจึงถูกส่งต่อมาให้เพื่อเตือนว่า ในฐานะผู้บริหาร ฉันหลงลืมการพัฒนาเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นจุดแข็งของระบบอะไรในหน่วยงานที่ดูแลอยู่ไปหรือเปล่า
การที่ร.พ.เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ทำงานกับผู้คนในลักษณะงานบริการตรงเป็นเหตุให้องค์กรพึงวัดผลของการพัฒนาความสามารถทุกแง่มุมของผู้คนที่เข้ามาทำงานให้ เมื่อทำงานกับผู้คนมีหลายมุมที่พึงให้ความสำคัญในการพัฒนาความสามารถคนให้เกิดขึ้น พฤติกรรมเป็นเรื่องหนึ่งของความสามารถ มีความสำคัญด้วยเหตุผลที่ผู้คนมีความสัมพันธ์กันผ่านพฤติกรรม
หากถามว่า เวลาวัดความสามารถคน จะใช้ความรู้ซึ่งตอบในกระดาษ จะใช้คำพูดที่สามารถบันทึกเทป จะใช้ทักษะที่เห็นลงมือทำให้ดู เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ไหม ฉันว่าไม่ได้หรอก หลักฐานเชิงประจักษ์ของความสามารถคนควรปรากฎอยู่ที่ผลสัมฤทธิ์ที่เกิดตามมาหลังจากการลงมือปฏิบัติสำเร็จลงแล้ว
ที่ฉันเอะใจกับเรื่องราวของเหตุการณ์อันนำคำถามจากระบบบริหารความเสี่ยงมาสู่ก็เป็นในมุมของผลสัมฤทธิ์นะแหละ มันเกิดคำถามใหม่กับฉันว่าการพัฒนาคนด้าน soft side ที่ลงมือไปแล้วและเสร็จลงแล้วยังไม่ประสบผลสัมฤทธิ์ในแง่ของการเกิดปัญญาของคนใช่รึเปล่า มีอะไรบ้างรึเปล่าที่หลุดไปในการพัฒนาจึงทำให้ไม่ช่วยให้คนเกิดปัญญา
สิ่งที่ตาได้เห็น หูได้ยิน และสัมผัสที่ได้พบพานมาก่อน บ่งบอกว่าเธอมีการเปลี่ยนแปลงในด้านที่ใส่ใจกับคนอื่นอยู่ ที่เห็นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เธอมีต่อกลุ่มผู้คนที่เธอห่วงใยและสนิทสนม ที่เห็นเป็นการเปลี่ยนแปลงความรู้สึกด้านบวกกับใครบางคนรวมทั้งตัวฉันมากขึ้นกว่าเดิม
รึว่าการเปลี่ยนแปลงที่เห็นเกิดจากการมองมุมบวกผนวกต่อการช้าลงต่อการฟังคนอื่นเมื่ออยู่กับใครบางคนที่ให้ความสำคัญหรือใส่ใจซะมากกว่า
รึว่าการฟังที่เกิดคุณภาพนั้นมาจากใครบางคนที่เธอให้ความสำคัญหรือใส่ใจก็ช้าในการฟังเธอเช่นกัน การสื่อสารระหว่างกันทั้งด้วยกาย วาจา ใจ จึงให้ผลบวกต่อความรู้สึกเกิดขึ้นกับตัวเธอ แล้วทำให้เธอได้ยินเสียงใจของเธอหนา เวลาเธอไปทำหน้าที่ของเธอกับชุมชนเธอจึงมีความสุขนัก
รึว่าการสื่อสารระหว่างกันด้วยกาย วาจา ใจ ระหว่างเธอกับคู่กรณี ให้ผลต่อความรู้สึกบางอย่างของเธอ แล้วทำให้เธอได้ยินเสียงใจของเธอ เป็นความรู้สึกที่อยากให้มองเห็นและให้ความช่วยเหลืออย่างที่อุ๊ยว่ามา แล้วพฤติกรรมที่เคยอยากฝืนกับความรุนแรงที่เคยผ่านพบมาในอดีตเมื่อยังตัวเล็กมันตื่นขึ้นมาพอดีกับความรู้สึกนี้
เมื่อฐานะที่ครองตามหน้าที่การงานเอื้อโอกาสให้ ผนวกเข้ากับพลังความสุขที่เก็บเกี่ยวเติมเต็มให้หัวใจอิ่มเต็มรึเปล่าที่ทำให้เธอรู้สึกมีพลังพอจนอยากสนองกับความอยากปลดปล่อยอารมณ์ภายในที่ฝืนอยู่ออกมา ในวาระนี้ความรุนแรงที่เกิดเป็นการปลดปล่อยความอิสระของเธอรึเปล่า แล้วหากว่าใช่มันควรตัดสินเป็นความ “ผิด” รึเปล่า
ปลดปล่อยออกมาแล้ว หากเธอสบายและตื่นรู้ ตื่นรู้และรับรู้แล้วเกิดสำนึก พร้อมกล่าวคำขอโทษ ยังจะถือเป็น “ผิด” รึเปล่า
แล้วใจคนอีกคนที่บาดเจ็บนั้นเล่ากำลังเรียกร้องอะไรอยู่ จะอิ่มเต็มไปด้วยรึไม่ จะยินดีให้อภัยกับโทษที่ถูกขอมาจนยกโทษให้รึเปล่า รึว่าจะให้โทษตามคำขอ เป็นโจทย์อีกมุมที่เข้ามาให้ค้นหาคำตอบในขณะนี้ ค้นหาคำตอบเพื่อลงมือทำงานในหน้าที่หัวหน้าให้เหมาะควร
โดยส่วนตัวไม่ได้มองว่าพฤติกรรมของคนเป็นประเด็นปัญหา เห็นต่างมุมไปว่า ที่จริงแล้วมันฟ้องว่านี่คือผลอันเกิดจากระบบ ผลสัมฤทธิ์ของระบบพัฒนาก็ว่าได้เลยนะจะบอกให้
ตามเรื่องมาถึงตอนนี้แล้วฉันสรุปเรื่องราวนี้แล้วหละ คู่กรณีทั้งสองเป็นเหยื่อของระบบ เหยื่อของระบบที่มีอยู่ในองค์กรที่มีชีวิต ด้วยความเป็นเหยื่อของการบ่มเรียนสอนใจ จึงทำให้องค์กรจัดการตัวเองของทั้งสองคนทำงานในด้านลบ
เป็นบทเรียนของ “เร็วแล้วเป็นอย่างไร” ที่ขอนำมาสรุปไว้เป็นของขวัญสำหรับคนที่เริ่มฝึกตนเป็นโจรกลับใจด้วยค่ะ
การเป็นเหยื่อของระบบที่มีอยู่ในองค์กรที่ไม่มีชีวิตนั้นก็ใช่ ได้้้คำตอบสรุปว่าเธอเป็นเหยื่อระบบการพัฒนาคนและการบริหารกำลังคนของที่นี่ด้วยค่ะ
ข้อสรุปที่ได้บอกตัวเองว่าที่ลงมือทำไปแล้วให้ผลสัมฤทธิ์ในระดับหนึ่งแล้วเท่านั้น ยังมีความจำเป็นที่จะต้องทำต่อเนื่องต่อไป
ว่าแล้วก็ค้นหาวิธีต่อทำยังไงให้คนสามารถดูแลตนเองได้จนกระทั่งองค์กรจัดการตัวเองของเขาทำงานในด้านบวกได้ยั่งยืน
เรื่องยากสำหรับทำต่อตอนนี้ก็คือหากไม่จัดเวทีให้ มันก็จนในการทำให้เกิดผลต่อเนื่อง
ความยากในการจัดเวทีให้มีมากโข ยากด้วยเวลาทำงานประจำวันที่เร่งเร้า มันพาจน(ใจ)ให้เหนื่อยใจจนอ่อนล้ากับเรื่องราวจริงๆ ก็คนไู่ม่ิ่อยู่นิ่งและใช้เวลาที่มีอยู่ปลดแอกภาระงานที่มี งานอะไรกันนักหนาหรือ งานช่วยคนที่มีมาให้ทำตลอดเวลานะซิทั้งมอบหมายและที่พาตัวไปรับงานเข้ามา ดูๆไปไม่มีวันที่งานเหล่านี้จะหมดลง
เวลาของคนทำงานมันถูกแบ่งไปให้คนอื่นจนหมดสิ้น มีเวลาให้ตัวเองแค่เวลานอนและกิน แล้วอย่างนี้ควรทำอย่างไรดีหนอ
การค้นหาต่อไปจึงเป็นเรื่องของ “ทำอย่างไรจึงทำให้คนได้สติแล้วรู้จักแบ่งเวลาให้ตัวเองได้ทำงานกับองค์กรจัดการตัวเองบ้างภายใต้ความไม่พร้อมของเวลาที่มี”
เรื่องที่เล่ามานี้เป็นมุมหนึ่งของหน้าที่กับความสุขที่ได้เรียนรู้มาจากโรงเรียนพ่อแม่ลูก ซึ่งยังไม่มีคำตอบสำเร็จรูปให้สรุปลงได้ ณ เวลานี้
29 กค.2552
« « Prev : เห็นอะไร
Next : ที่ยืน » »
ความคิดเห็นสำหรับ "คำตอบ"