ตามลม (๘๓) : มีเรื่องให้เตรียมการกับการลอกตะกอน…หลายเรื่องเหมือนกัน
เรื่องของกลิ่นฉุกให้ย้อนรำลึกถึงการใช้น้ำหมักชีวภาพราดลงคูวันแรก การหยอดลูกบอลน้ำหมักที่ตามมาในคราวหลัง การเติมปูนขาว และค่า DO ที่เปลี่ยนแปลงของน้ำจากลูกบอลและปูนขาว
เมื่อใส่ปูนขาวลงไปในน้ำที่เป็นกรดมาก ผลกรด - ด่างของน้ำก็เปลี่ยนไปในด้านเป็นด่างมากขึ้น ช่วยได้ชะงัดในการจัดการกับกลิ่นเหม็นในระยะแรก ระยะต่อมาอีกหน่อยกลิ่นจะกลับมาใหม่
ผู้รู้ให้คำอธิบายว่า ปูนขาวช่วยให้จุลินทรีย์ย่อยสลายของเสียก้นบ่อได้มากขึ้น ทำให้เกิดตะกอนด้วยฤทธิ์ทางเคมีที่ไปเปลี่ยนให้น้ำเป็นด่างมากขึ้น ด้วยคุณสมบัติความเป็นด่างของมัน
ในระหว่างเกิดปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้น อุณหภูมิน้ำจะเพิ่มขึ้น ออกซิเจนละลายน้ำได้ลดลง จุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนจะลดจำนวนลงหรือตาย จุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจนจะเพิ่มจำนวน การจัดการน้ำเข้าสู่ระบบบำบัดแบบไร้อากาศ เข้าใจแล้วว่ากลิ่นเหม็นที่หวนกลับมาได้อีกเกิดจากตะกอนสะสมเช่นกัน
ในน้ำหมักมีแบคทีเรียตัวเก่ง ที่ช่วยแปลงสารอินทรีย์ให้กลายเป็นกรดน้ำส้ม กรดน้ำนม เจ้ากรดพวกนี้เป็นแหล่งพลังงานของจุลินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพเป็นสารลดแรงตึงผิวชีวภาพ ที่ทำให้ไขมันอยู่ร่วมกับน้ำได้ดีขึ้น ไม่มีคราบไขมันที่ขวางไม่ให้ออกซิเจนละลายน้ำ น้ำจึงใสขึ้น
เมื่อกรดพวกนี้อยู่กับกรดกำมะถัน (ก๊าซไข่เน่าที่ละลายในน้ำ) จะเกิดสารประกอบตัวใหม่ที่มีกลิ่นเฉพาะของมัน ซึ่งนักเคมีเขาเรียกว่า สารเอสเทอร์ กลิ่นจึงเปลี่ยนไป
การเติมน้ำเพิ่มปริมาณออกซิเจนแล้ว ยังช่วยปรับสถานะความเป็นกรด - ด่างไม่ให้เปลี่ยนมากเกินไป จุลินทรีย์ที่ยังอยู่จึงเป็นตัวช่วยย่อยตะกอนใหญ่เป็นตะกอนเล็ก อายุของระบบบำบัดจึงยืดออกไป
ที่ผ่านมา เมื่อใช้ปูนขาว ลูกบอลน้ำหมักชีวภาพ เติมน้ำ ไม่พ้นการมีตะกอนสะสม จึงมีความเป็นไปได้ที่ต้องเลือกจัดการตะกอนด้วยการลอก
หลังจากไม่พบไนไตรท์ในน้ำ ก็หาร่องรอยของโคลีฟอร์มแบคทีเรียในน้ำไปด้วย เรื่องไนเตรทในน้ำ ผู้ชำนาญการเลี้ยงสัตว์น้ำเขาบอกมาว่า ควรมีค่า 0-50 มก./ลิตร
ถึงแม้ไนเตรทไม่เป็นพิษกับปลา แต่ถ้าสะสมมากๆเข้า ก็แปรรูปเป็นกรดไนตริกซึ่งทำให้เคมีน้ำไม่เสถียร แล้วสัตว์น้ำจะอยู่ไม่เป็นสุข ปลาเครียด
ที่สำคัญคือ ทำให้เจ้าตัวจิ๋วหยุดทำงานไปด้วย ซึ่งแปลว่าปล่อยตะกอนไว้ในน้ำไม่ดีแน่
น้ำเสียนี้มาจากคนป่วยทั้งนั้น จะลอกตะกอนอย่างไรให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เชื้อโรคฉี่หนูเมื่ออยู่ในคนและสัตว์ชอบอยู่ในอวัยวะที่มีปัสสาวะ และอยู่ได้นาน ปัสสาวะมีแอมโมเนียสูง อย่างนี้น้ำนอกตัวคนและสัตว์ตรงไหนมีแอมโมเนียสูง เชื้อนี้อยู่ดีด้วย
ใน 6 แก๊งค์ที่ก่อโรคทั้งหมด จะอยู่รอดต้องการความชื้น ออกซิเจน สภาพกรด ด่างเป็นกลาง (pH 7.0-7.4) และอุณหภูมิ 28-30 องศาเซลเซียส ตายง่ายเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีน้ำ
ที่คูเคยมีหนูมาแอบกินน้ำ วันนี้จำนวนหนูลดลง แต่ยังมีให้เห็น น้ำไม่มีไนไตรท์ ก็ไม่มีแอมโมเนียหรือมีน้อย ค่า DO น้ำเป็นศูนย์ ตั้งแต่เติมปูนขาว น้ำหมักมาแล้ว pH น้ำในคูอยู่ระหว่าง 7-8 เรื่อยมา มีความเป็นไปได้ว่าน้ำในคูปลอดภัยจากเชื้อฉี่หนูมากขึ้นแล้วจากค่า DO และแอมโมเนีย
เชื้อก่อโรคทางเดินอาหารจะเจริญเติบโตไม่ได้ในสภาวะที่มี pH ต่ำกว่า 4 ซึ่ง pH นี้ปลาก็อยู่ไม่ได้ จะเชื่อว่าตะกอนปลอดภัยจากเชื้อโรค ก็ต้องตรวจ pH ตะกอนให้มั่นใจก่อนไปแตะต้องมัน จะปรับ pH ตะกอนให้เป็นกรดขนาดนี้ น้ำหมักชีวภาพทำได้ ถ้าใช้มันแบบเพียวๆ pH มันอยู่ระหว่าง 3-4 ได้ถ้าเลือกวัตถุดิบให้เหมาะ
สารอินทรีย์ที่ย่อยสลายใช้เป็นปุ๋ยได้ ตะกอนในคูมีสารประกอบซัลเฟตอยู่ ปาล์ม กาแฟ ปาล์มน้ำมัน อ้อย พืชตระกูลถั่วที่เป็นอาหารสัตว์ชอบปุ๋ยที่มีกำมะถันผสม รพ.ปลูกปาล์มประดับไว้หลายแห่ง ถ้าปลอดภัยจากเชื้อโรคเพียงพอ ก็ลอกไปเป็นปุ๋ยได้เลย
เชื้อโรคฉี่หนูตายง่ายเมื่อแห้ง ถ้าจะเลือกใช้การตากแดดจัดการกับมันก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว
« « Prev : ตามลม (๘๒) : ปิดคู….ลอกตะกอน….อย่างไรจึงเหมาะ
Next : ตามลม (๘๔) : ยืดชีวิตให้กับน้ำ….สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว » »
ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๘๓) : มีเรื่องให้เตรียมการกับการลอกตะกอน…หลายเรื่องเหมือนกัน"