ตามลม (๘๒) : ปิดคู….ลอกตะกอน….อย่างไรจึงเหมาะ

อ่าน: 1573

จำเป็นต้องคิดให้หลายตลบกับเรื่องของการปิดฝาคู ด้วยว่าเคยมีเหตุที่เป็นครูสอนไว้ เรื่องราวนี้สร้างความระทึกขวัญไม่เบา

ในบ้านเรามีเหตุเกิดที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งที่ลาดพร้าว ซึ่งจู่ๆบ่อบำบัดน้ำเสียก็ระเบิดขึ้น และเหตุการณ์ของส้วมระเบิดที่ศูนย์ราชการในจังหวัดทางเหนือ ในต่างประเทศมีเหตุการณ์ส้วมเคลื่อนที่ระเบิดเพราะซิการ์

มีคำอธิบายเรื่องนี้จากวิศวกรว่า เกิดจากก๊าซสะสม ก๊าซที่ว่าคือ “ก๊าซมีเทน” เมื่อผสมกับเงื่อนไขภายนอกที่ลงตัวกับการติดไฟของก๊าซ ก็ได้เรื่องเลย

เงื่อนไขเหล่านี้มีตั้งแต่ความร้อนของอากาศ จุดของบ่อปิด ดินที่เก็บความร้อนไว้มากและระอุอยู่ภายใน ที่ทำให้บริเวณรอบๆมีอุณหภูมิสูงขึ้น การมีช่องให้ของไหลอย่างก๊าซมีที่ระบายตัวเองออกมา

ที่ที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 55 องศาเซลเซียสเป็นที่ปลอดภัยพอให้เก็บก๊าซมีเทนไว้ แต่ถ้าการระบายออกเป็นไปไม่ได้ แล้วมีความร้อนมาจ๊ะกัน ไม่ต้องให้อากาศร้อนถึง 55 องศาเซลเซียส ก็เกิดระเบิดได้

ตะกอนในบ่อบำบัดน้ำเสียที่สะสมมีผลปิดกั้น ไม่ให้ก๊าซมีเทนระบายออกจากบ่อได้ โดยเฉพาะบ่อที่ไม่เคยดูดตะกอนออก ตรงนี้เตือนให้คิดหลายตลบกับการปิดคูแล้วไม่ลอกตะกอน

ก๊าซมีเทนมาจากการสลายตัวของของเสียแบบไม่ใช้อากาศ ไม่มีทางระบายออก ที่ปิดตรงนั้นก็จะคล้ายลูกโป่งพองลม เมื่อมีความร้อนผ่านเข้ามาเอี่ยว อากาศขยายตัวระเบิดโป้งเลย วันนี้คูเป็นคูเปิด เกิดมีเทนขึ้นก็ระบายออกไปได้ฉลุย ต่อไปถ้าปิดจะโป่งหรือไม่ ก็ต้องใคร่ครวญให้ดีก่อนลงมือปิด

วิศวกรเขาบอกว่า ช่องทางระบายออกหายไปได้ในขั้นตอนของการดูแลดูดตะกอนด้วย ตะกอนเล็กๆที่หลงเหลือรวมตัวอัดกันจนอั้นปิดทางออกได้ อัดอยู่นานก็เป็นก้อนแข็ง ถ้าตรงที่โดนอัดเป็นรูระบายอากาศ ก็ระบายก๊าซมีเทนออกมาไม่ได้

การย่อยสลายแบบใช้อากาศ เกิด “ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” ซึ่งไม่ติดไฟ ไม่เกิดก๊าซมีเทน มีก๊าซอื่นๆ และความร้อนเกิดด้วย จึงไม่มีเรื่องระเบิด

มิน่าจึงเห็นรอยซึม รอยไหล ออกมาจากใต้ตึกที่มีน้ำขังหลายตำแหน่งทีเดียว แรงดันที่เกิดขึ้นดันให้ของไหลระบายตัวเองออกมานี่เอง โชคดีของรพ.ที่ไม่เกิดเหตุอนาถใจขึ้น

มีคำแนะนำเพื่อป้องกันเหตุระเบิดว่าให้คอยตรวจสอบดมกลิ่น สังเกตระบบการไหลเวียนของน้ำเสียที่ไหลเข้าในท่อ และความสะดวกของน้ำที่ไหลออกไปด้านนอก ดูจำนวนตะกอนมากน้อยแค่ไหน สะอาดหรือไม่ รูระบายอากาศที่ต่อออกจากบ่อทำงานดีไหม มีแมลงเข้าไปทำรังในท่อระบายอากาศหรือไม่ มีไขมันจากเศษอาหารไปอุดตันท่อหรือไม่

การอุดท่อระบายที่สามารถนำสู่การระเบิดได้ นี่แหละทำให้แนะนำเรื่องตะแกรงดักเศษอาหารบริเวณอ่างล้างจาน และการดูดส้วม ซึ่งทั่วไปจะดูดทุกๆ 2 - 3 ปี  หรือเมื่อส้วมเต็ม ซึ่งมีอาการกดชักโครกหรือราดน้ำไม่ลง มีกลิ่นเหม็นตลอดเวลา เป็นสัญญาณบอก

คูมีตะกอนสะสม ภายใต้ตัวมันมีก๊าซพิษ ไม่ลอกตะกอนทิ้งหรือลอกตะกอนแล้วไม่สังเกตรูระบายเมื่อเป็นคูปิด จะมีปัญหาจากก๊าซมีเทนได้  วันนี้คูเปิดจึงระบายมีเทนออกสบายๆ  ก๊าซตัวไหนทำให้เกิดอาการแสบจมูก ถ้ารู้ได้ก็จัดการได้ลงตัวอีกจุด

« « Prev : ตามลม (๘๑) : ยังต้องจัดการกับก๊าซที่เป็นผลผลิตจากการบำบัด

Next : ตามลม (๘๓) : มีเรื่องให้เตรียมการกับการลอกตะกอน…หลายเรื่องเหมือนกัน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๘๒) : ปิดคู….ลอกตะกอน….อย่างไรจึงเหมาะ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.020236015319824 sec
Sidebar: 0.13574600219727 sec