ก๊าซมีเทนกับสุขภาพ

โดย สาวตา เมื่อ 16 มิถุนายน 2011 เวลา 21:46 (เย็น) ในหมวดหมู่ การจัดการ, ความดันโลหิตสูง, ชีวิต สุขภาพ, ดูแลสุขภาพ, พลังงาน, สิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 5651

มีเทนเป็นก๊าซไม่มีกลิ่น ไม่มีสี มีคุณสมบัติไวไฟ ก๊าซนี้เป็นส่วนหนึ่งของก๊าซธรรมชาติ (NGV)  ความเบากว่าอากาศของมัน ทำให้มันชอบเพ่นพ่านออกมาแย่งที่ว่างที่อยู่นอกภาชนะบรรจุตัวมันแทนที่ออกซิเจนในอากาศ

ความเบาทำให้มันลอยขึ้นไปสะสมที่จุดสูงกว่าพื้น มันสะสมในพื้นที่ปิดได้ดี ถ้ามีความร้อนและความชื้นสูงมันก็สะสมได้ดี

แหล่งกำเนิดของมันที่อยู่ใกล้ตัว เป็นสถานที่เหล่านี้ : พื้นที่บำบัดขยะ บ่อรวมน้ำเสีย ภาชนะที่มีข้าวชื้นเก็บบ่มไว้ บ่อหมักที่มีภาวะไร้ออกซิเจน  บ่อบำบัดน้ำเสีย  บริเวณที่มีมูลสัตว์กองทับถม  กองขยะที่มีสารอินทรีย์ทับถม

อันตรายของมันที่สำคัญมี ๒ เรื่อง เรื่องหนึ่งก็เป็นเรื่องอันตรายจากการถูกอัดกระแทกทำให้บาดเจ็บทั้งจากแรงอัดและไฟลวก  อีกเรื่องก็เป็นผลกระทบต่อสุขภาพ

การอัดกระแทกเกิดขึ้นได้ในกรณีที่ถ้ามีช่องว่างให้มันไหลจากภาชนะ มาแทนที่ก๊าซออกซิเจน และปนในบรรยากาศตรงไหนได้ถึง ๕ %  ตรงนั้นจะเกิดคุณสมบัติของตัวจุดระเบิดเกิดขึ้น

ผลกระทบต่อสุขภาพเกิดจากอากาศหายใจที่ปนเปื้อนมีเทน มีออกซิเจนต่ำกว่า ๑๕ %

มีอาการเหล่านี้เมื่อเข้าไปอยู่ใกล้จุดรอยต่อ รอยรั่วของถังหมัก หรือท่อของบ่อบำบัดน้ำเสีย ให้รู้ไว้เถิดว่า ตรงนั้นอับอากาศจากก๊าซที่เข้าไปแทนที่ออกซิเจน  :  อ่อนเพลีย วิงเวียน ปวดศีรษะ ซึมเศร้า สับสน ชัก หมดสติ หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง

คนที่มีความดันโลหิตสูง แล้วควบคุมให้ลงไม่ได้ จึงควรประเมินสภาพแวดล้อมที่ใช้ชีวิตด้วยว่า มีจุดไหนที่เป็นที่อับอากาศหรือไม่ ถ้ามีก็ให้ปรับเปลี่ยนที่สิงสถิตย์ซะใหม่ อย่าอยู่ในจุดที่อับอากาศนานๆบ่อยๆ

มีเทนเข้าสู่ร่างกายแล้วถูกขับออกเร็ว  ณ วันนี้จึงไม่มีใครรู้ว่า มีเทนก่อมะเร็งหรือเปล่า ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์หรือเปล่า

ผู้ที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้อยู่แล้ว ไม่ควรทำงานในพื้นที่อับอากาศ  : โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง

เพราะว่ามันเป็นตัวจุดระเบิดได้ การป้องกันไม่ให้มันสะสมจึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดแล้ว

วิธีจัดการไม่ให้มันสะสม ก็มีแต่ต้องดูแลการระบายอากาศในบริเวณบ่อบำบัด บ่อหมักขยะ บ่อปุ๋ยคอกให้ระบายได้ดี

ไม่ใช้พัดลมในบ่อบำบัดเพราะก่อให้เกิดการระเบิดได้  ไม่ก่อให้เกิดประกายไฟรอบๆบริเวณที่เสี่ยง

ติดสัญลักษณ์เตือนภัย “ที่อับอากาศ  อันตราย ห้ามเข้า” ไว้ให้ผู้ใช้สอยพื้นที่ได้รับรู้ร่วม  ใช้ป้ายขนาดใหญ่ที่มองเห็นได้ชัดเจน

มีการวัดประเมินระดับมีเทนสม่ำเสมอ และควบคุมระดับมีเทน ไม่ให้อากาศมีออกซิเจนต่ำกว่า ๑๘ %  และมีเทนเกิน ๕ % (อิงมาตรฐานฝรั่งอเมริกา)

การสูบบุหรี่ในพื้นที่อับอากาศอย่างพื้นที่รอบๆบ่อปุ๋ยหมัก เป็นพฤติกรรมที่สร้างความเสี่ยงภัยให้กับตัวเอง

สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ ทำให้คนที่ต้องทำงานในพื้นที่เหล่านี้ รู้และลงมือปฏิบัติพฤติกรรมที่ปลอดภัยในการทำงานให้กับตัวเอง คู่กันไปกับการจัดระบบดูแลสถานที่ให้ปลอดภัย

สถานที่ทำงานที่คนทำงานคลุกคลีกับก๊าซมีเทน ได้แก่ โรงงานที่ใช้วัตถุอินทรีย์ต่างๆเป็นวัตถุดิบการผลิต  เช่น โรงงานขนมจีน โรงงานแป้งมันสำปะหลัง โรงงานกระดาษ โรงงานผลิตแอทานอล โรงงานน้ำตาล โรงงานน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตน้ำยางข้น โรงฆ่าสัตว์   ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต่างๆ

มีตัวอย่างของอุบัติภัยที่เกิดจากมีเทนระเบิดเกิดขึ้นที่ชัยภูมิ เมื่อต้นปีมานี้  จากบ่อก๊าซของโรงงานแป้งมันระเบิด เกิดประกายไฟขนาดยักษ์ มีคนเสียชีวิต ๕ ราย บาดเจ็บกว่า ๓๐ ราย  ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการเก็บกักก๊าซชีวภาพไว้ใช้งานว่า “วัสดุพลาสติกที่นำมาใช้คลุมบ่อเพื่อใช้กักเก็บก๊าซ”  เป็นเรื่องสำคัญหนึ่งของการบำรุงรักษาเพื่อความปลอดภัย

การจัดการพื้นที่ใช้สอยให้มีเส้นแบ่ง ระหว่างเขตเก็บกักก๊าซกับบริเวณที่อยู่อาศัยก็เป็นเรื่องต้องทำ  ระบบป้องกันฟ้าผ่าด้วยสายล่อฟ้าก็ใช่เรื่องที่ควรทำ เพราะว่าฟ้าผ่าทำให้เกิดประกายไฟได้  และอีกสิ่งหนึ่งที่ควรจำคือ การไม่ใช้มือถือในบริเวณที่มีก๊าซ

ยิ่งถ้ามีแผนจัดการเรื่องการช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุการณ์ได้พร้อม ตรงนี้ก็เป็นเรื่องแจ๋วและสุดยอดเลยนะ

« « Prev : ปวดหัวเพราะหอย

Next : นาทีทองของการพัฒนาอารมณ์บวกให้ผู้คน » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 17 มิถุนายน 2011 เวลา 0:01 (เช้า)

    ผมลองกดเครื่องกึ๊ดเลขดู พบว่า 5% ที่ว่านี้ ฟังหูไว้หูครับ

    จุดเผาไหม้ที่ดีที่สุด (จุดชวาลดี) อยู่ที่ 5.5% การจะเริ่มต้นเผาไหม้ได้ต้องมีสัดส่วนประมาณ 60% ของจุดชวาลดี (ดังที่ผมบอกไปแล้ว) ก็ได้ 3.3% ครับ ถ้าเผื่อความปลอดภัยดัวย (safety factor) น่าเป็น 2% นะครับ (โดย volume ไม่ใช่โดยมวลนะครับ)

    ในสภาพทั่วไปของรพ. ผมว่าคงยากที่จะระเบิดได้ แต่เรื่องสุขภาพนั้นแค่ 0.1% ก็น่าจะเป็นเรื่องใหญ่แล้วครับ เพราะปกติมันมีไม่ถึง 0.001% ครับ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 เวลา 23:44 (เย็น)

    ระดับที่เจอมีตั้งแต่ ๗ พีพีเอ็ม กว่าๆขึ้นไปถึงสูงสุดคือ ๑๙ พีพีเอ็ม ตรวจวัดตรงจุดทิ้งขยะติดเชื้อในหอคนไข้ และคูน้ำร้านอาหารเอกชนในรพ. เอะใจก็เลยลองวัดค่ะอาจารย์

  • #3 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 มิถุนายน 2011 เวลา 22:29 (เย็น)

    งงกับค่าพีพีเอ็มและเปอร์เซ็นต์ เข้าใจว่า ๐.๐๐๑% ที่อาจารย์ระบุหมายถึง ๑๐ พีพีเอ็ม ใช่มั๊ยค่ะนี่


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.057247877120972 sec
Sidebar: 0.16050910949707 sec