น้ำประปาทำเอง
โจทย์สำคัญสำหรับพื้นที่น้ำท่วมไม่พ้น เรื่องน้ำสะอาดสำหรับการดื่มกินเพื่อไม่ให้ติดเชื้อทางเดินอาหาร ตอนที่เห็นน้ำในพื้นที่น้ำท่วมไม่ได้ทดสอบว่ามีกลิ่นอย่างไร รู้แต่ว่ามันมีฝ้าๆที่ผิวน้ำด้วย เมื่อมีคำบอกส่งต่อมาว่าน้ำสีสนิมนั้นมีกลิ่นด้วย และน้ำที่เห็นนั้นอาจจะไม่ได้มีแต่สนิมเหล็กปนอยู่ แต่มีอย่างอื่นปนอยู่ด้วย เช่น หินปูน แร่ใยหิน แคลเซียม ฯลฯ ซึ่งดูด้วยตาเปล่าไม่เห็น ก็ต้องหาทางแก้ให้
ชาวบ้านยังคงตักน้ำขึ้นมาใช้ และถ้าเดาไม่ผิด ก็คงใช้มันเป็นน้ำอาบด้วย ปรากฏการณ์อย่างนี้เสี่ยงกับโรคติดเชื้อทางเดินอาหารมากๆ
มีประสบการณ์ของคนที่เคยใช้น้ำที่มีกลิ่นสนิมแลกเปลี่ยนมาว่า เมื่อลองใช้ถ่านดับกลิ่น น้ำดิบจะนำไปใช้ได้แบบไร้กลิ่นถ้ามีบ่อพักน้ำดิบไว้ก่อน จากบ่อพักน้ำดิบปล่อยน้ำผ่านลงมาที่ทรายกรองผสมถ่านที่อยู่ต่ำกว่า น้ำที่ผ่านออกมาหลังการกรองจะหมดกลิ่น
วิธีทำเครื่องกรองแบบบ้านๆที่แนะนำมาคือ ชั้นล่างของวัสดุกรองให้ใช้กรวดหยาบ เหนือขึ้นมาก็ใช้กรวดละเอียด แล้วจึงเป็นชั้นทรายกรอง ซึ่งมีถ่านในรูปของขี้เถ้าแกลบอยู่ระหว่างกลางของชั้นทราย (ทรายกรองคลุกด่างทับทิม)
สำหรับเครื่องกรองน้ำภาคสนามในพื้นที่ซึนามิที่นำมาเล่าให้ฟัง ไม่รู้เหมือนกันว่าสามารถจัดการตรง “กลิ่น” และใช้ดื่มกินได้หรือไม่ รู้แต่ว่าน้ำดิบที่มีหินปูนหากนำมาต้มให้เดือดละก็ จะช่วยลดปริมาณหินปูนที่แขวนลอยในน้ำได้ส่วนหนึ่ง และหากต้องการให้ไร้หินปูนต้องใช้ผ่านชั้นกรองที่มีเรซิ่น (พลาสติกกลุ่มเมลามีนชนิดหนึ่ง)
ตักน้ำนี้ใส่โอ่งแรกให้เต็ม เติมคลอรีนผง ๑ ช้อนชา แกว่งสารส้ม น้ำที่ไหลผ่านออกจากระบบกรอง(ภาพล่าง) สามารถใช้ดื่มได้
จะรู้ได้อย่างไรถ้าไม่เห็นสีสนิมเหล็กว่าน้ำที่เห็น มีสนิมเหล็กปนอยู่หรือไม่ มีวิธีดูด้วยตาเปล่าง่ายๆ คือ กรอกน้ำใส่ขวดพลาสติกใส เขย่าแรงๆหลายๆครั้ง แล้วเติมน้ำให้เต็มขวด ปิดฝาให้แน่น วางทิ้งไว้ในที่ร่มไม่ให้โดนแดด ทิ้งไว้ค้างคืน แล้วกลับมาดูว่ามีตะกอนสีชาตกอยู่ก้นขวดหรือเปล่า ถ้ามีก็สรุปได้เลยว่า น้ำนั้นๆมีสนิมเหล็กปนอยู่ หรือถ้าจะพึ่งพิงวิทยาสาสตร์ก็มีน้ำยาตรวจทดสอบ
การดูว่ามีหินปูนปนหรือไม่ มีวิธีง่ายๆอยู่อย่างน้อย ๒ วิธี วิธีแรก ละลายสบู่ในน้ำ ถ้าสบู่ไม่ใคร่มีฟอง ก็สรุปได้ว่าน้ำนั้นมีหินปูนปน ยิ่งมีฟองน้อย ยิ่งมีปนมาก อีกวิธีต้องใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นน้ำยาทดสอบน้ำกระด้าง ใส่น้ำยาลงไป ๑ หยดต่อน้ำ ๑ แก้ว (๒๕๐ ซีซี) ถ้าน้ำเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินอมม่วง สีชมพู หรือแดง แสดงว่ามีหินปูน
การตรวจสอบน้ำด้วยตัวเองได้ง่ายๆอย่างนี้ จะเร็วกว่ารอให้สาธารณสุขเข้าไปเก็บมาตรวจให้หลายเท่า สาธารณสุขเข้าไปเก็บน้ำมาได้ก็ยังต้องส่งไปตรวจนอกจังหวัด
กว่าจะเข้าไปพื้นที่ครั้งใหม่ให้เก็บน้ำได้ยังต้องรออีกหลายวันเพราะติดงานอื่น ถ้าตอนนี้ชาวบ้านมีน้ำยาทดสอบที่นำมาเล่าให้ฟังนี้ เขาก็สามารถช่วยตัวเองได้ในการตรวจสอบน้ำ
ชุดทดสอบนี้มีขายที่คลินิกเทคโนโลยี ม.แม่โจ้ เชียงใหม่ เขาเรียกว่า “HATCH test kit” ใครที่สามารถช่วยสงเคราะห์ส่งมาให้จะขอบคุณมากๆเลย
เพราะติดขัดข้างต้นน่นแหละจึงตามหาความรู้ต่อ ดีใจที่ไปได้ความรู้มาต่อเติมปัญญาจากคนรุ่นพ่อว่า เครื่องกรองที่มีวัสดุหลายชั้นข้างบนนำมาปรับใช้ทำน้ำประปาต่อได้ มีสิ่งของที่ต้องจัดหาก็แค่โอ่ง หรือถัง และวัสดุอื่นที่ต้องการ ได้แก่ สายยางใสขนาด ๐.๕ ซม. ยาว ๒ เมตร ขั้วต่อสายยาง (อาจจะใช้ขั้วต่อในชุดให้น้ำเกลือของร.พ.) สารส้ม คลอรีนผง แค่นี้เอง
ประปาทำเองได้นี้ทำยังไง มาดูกันค่ะ
โอ่งใบแรกเจาะรูสูงจากก้น ๒ นิ้ว ใช้ใส่น้ำที่จะกรอง วางสูงจากพื้น ๒๐ นิ้ว
โอ่งใบที่ ๒ และ ๓ แต่ละใบ เจาะรู ๒ รู รูล่างเสมอก้น รูบนต่ำกว่าปากโอ่ง ๒-๓ นิ้ว ใช้ใส่วัสดุกรอง
ใบที่ ๒ วางสูงจากพื้น ๑๐ นิ้ว ใบที่ ๓ วางสูงจากพื้น ๓ นิ้ว
รูที่เจาะต้องการขนาดเท่าๆกับความกว้างของท่อสายยาง
เสียบสายยางเข้าไปในรูที่เจาะแต่ละรู รูละสาย เชื่อมสายยางด้วยขั้วต่อที่หาไว้
ปลายสายยางที่เสียบท่อรูบนของโอ่งใบที่ ๓ เป็นทางออกของน้ำที่ผ่านออกมาจากระบบกรอง ซึ่งดื่มได้เลย
ถ้าใช้โอ่งก็จะได้น้ำวันละ ๖๐-๗๐ ลิตร
คลอรีนที่ใส่ลงไปให้ใส่น้ำในแก้วละลายก่อนจึงเติมลงไปในโอ่ง คนให้ทั่ว เพราะว่าใส่แล้วหลัง ๑ ชั่วโมงคลอรีนจะระเหยหมดไป
การดูแลรักษา : ถอดสายยางที่เสียบตรงขั้วต่อออกทั้ง ๒ จุด ปล่อยน้ำขุ่นทิ้งให้หมด หมดแล้วก็เสียบกลับเข้าไปต่อกันใหม่ เท่านี้เอง
เครื่องกรองนี้เป็นความคิดของอาจารย์หมอร่มไทร สุวรรณิก บิดาของเวชศาสตร์นิวเคลียร์ของประเทศไทย
6 ความคิดเห็น
น่าจะแยกเป็นสองขั้นตอนนะครับ คือน้ำสำหรับอุปโภค (ใช้ซักล้าง) และน้ำสำหรับบริโภค (ดื่มกิน) — อันหลังต้องมีคุณภาพที่ดีพอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องกรองออกมาในปริมาณที่เกินความจำเป็น
หมู่บ้านอพยพมีสมาชิกทั้งหมด ๑๘-๒๐ หลัง มีคนอยู่ราวๆหลังละ ๔-๕ คน การปรุงอาหารไม่ได้มีแค่พวกเขาที่บริโภค เขาทำอาหารไว้เลี้ยงคนที่แวะเข้ามาเยี่ยม มาช่วยปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และจิตอาสาที่มาช่วยงานอื่นๆด้วย วันหนึ่งๆมีคนแวะเวียนเข้ามากว่า ๓๐ คน ทั้งอาหารหนักและอาหารว่างมีไว้เสิร์ฟไม่ขาดเลยแหละ มีหมู่บ้านหนึ่งมีเด็กเยอะด้วย
ประปาที่เขาคิดจะทำจากบาดาล เขาจะไว้ใช้เป็นน้ำบริโภคส่วนหนึ่ง และน้ำอุปโภคส่วนหนึ่งค่ะ
เรื่องกรอง มันมีความยุ่งยากมากหลาย ต่างคนต่างเคลมว่าวิธีของตนดีกว่า ผมเห็นว่า กลั่น ง่ายกว่ากันเยอะเลย ผมทำวิจัยเรื่องกลั่นน้ำด้วยแสงอาทิตย์มากนานหลายโข อยู่ ได้ผลดีพอควร เสียแต่ว่า นศ. ป. โท ที่ทำงานด้วยค่อนข้างเนือย ตอนนี้ได้อาศัยนศ.ป.ตรี อีกกลุ่มมาช่วยทำ
ปกติ พท. 1 ตร.เมตร เขากลั่นกันได้ ประมาณ 2 ลิตรต่อวัน ผมตั้งเป้าว่าต้องทำให้ได้ 10 ลิตรต่อวัน (บ้าไปแล้ว เพราะนี่มันเกินปริมาณแสงแดดสูงสุดที่ตกกระทบด้วยซ้ำไป แต่นั่นแหละ ผมชอบการท้าทายตัวเองเสมอ)
แม้ว่าเอาแบบพื้นๆ เดิมๆ กลั่นได้เพียงแค่ 2 ลิตร แค่นีก็พอกินในครัวเรือนแล้วครับ สะอาด 100% ไม่ต้องพะวงสูตรหินดินทราย ที่หมอว่ามา)
ผมเองเคยคิดที่จะพยายาม “กรอง” น้ำกะเขาเหมือนกัน แต่หลังจากศึกษาและคิดผมสรุปว่า ไม่คุ้มในด้านสุขภาพ นอกจากระดับการค้าขนาดใหญ่
น้ำกลั่นไม่เหมาะสำหรับใช้ดื่มกินหรอกค่ะอาจารย์ ไม่อร่อย ในร่างกายคนเรานั้นยังมีเรื่องทางเคมีอีกมากมายที่ยังไม่รู้กัน ทำวันนี้ไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นไร สำหรับเรื่องดื่มน้ำกลั่น ดีหรือไม่นั้น คงไม่สามารถแลกเปลี่ยนได้ค่ะอาจารย์
สูตรหินดินทรายที่อาจารย์หมอใช้ ณ เวลานี้เหมาะที่สุดแล้วและหาง่ายที่สุดแล้วสำหรับชาวบ้านค่ะ เพราะรอบตัวของเขานั้น มีแต่ต้นไม้ หิน ดิน ทราย เท่านั้นเอง
กลั่นน้ำด้วยแสงอาทิตย์ หมายความถึง เอาน้ำใส่ขวดตากแดด แล้วคอยรองไอน้ำที่กลั่นตัวเกาะหลอดแก้วแล้วหยดเป็นน้ำ งั้นหรือค่ะอาจารย์ นึกภาพไม่ออกค่ะ
เอ๋า..หมอจ๋า ก็ผมตั้งสมมติฐานว่า น้ำเป็นปัจจัยสี่ มีไว้กินกันตาย เหมือนยา ไม่ได้เอาไว้กินอร่อยบำรุงกิเลสนะครับ แต่ถ้าจะให้อร่อยด้วยก็ไม่น่ายาก แต่บรรจุขวดแล้วพะยี่ห้อฝรั่ง(เศส) เข้าไปหน่อยก็คงอร่อยแล้วแหละครับ โดยเฉพาะถ้าขายราคาแพงกว่าต้นทุนสัก หมื่นเท่า
กลั่นน้ำไม่ได้เอาใส่ขวดครับ คุณหมอลองเสิรชหาคำว่า solar still หรือ solar distillation ดูนะครับ
ไปดูมาแล้วได้ไอเดียค่ะอาจารย์ น่าลองนำไปประยุกต์ดู ได้ไอเดียในมุมอื่นด้วย ขอบคุณค่ะ