น้ำท่วม(๒๐)

อ่าน: 2168

ที่จริงเมื่อลงไปในพื้นที่ครั้งแรกก็เห็นน้ำสีสนิมมาแล้ว ตรงที่พบคนเสียชีวิตเยอะที่สุดของพื้นที่นั่นแหละ แต่ตอนนั้นเข้าใจไปว่าเป็นสีของยางไม้ที่ล้มอยู่ออกมาปนอยู่ในน้ำ

เมื่อเข้าไปพื้นที่เมื่อวานและเห็นลำน้ำหลายจุดใกล้ๆ แล้วได้ชาวบ้านเฉลยนั่นแหละจึงรู้ว่า เป็นสนิมเหล็กในน้ำ ขอบคุณชาวบ้านที่ช่วยเคาะหัวให้ตาแจ้ง

น้ำสีสนิมเหล็กอยู่ข้างท่อนซุงในธารน้ำตรงพื้นที่เกิดเหตุบนเขา มีพอเห็นบ้างประปราย ไม่สังเกตก็ไม่เห็น

ตอนไปเยี่ยมชาวบ้านบนเขาเมื่อครั้งที่แล้ว ชาวบ้านให้ข่าวว่าทางการ จะไม่ปรับปรุงระบบประปาและไฟฟ้าที่เสียหายในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่จังหวัดประกาศ   หลายบ้านที่ไปเยี่ยมก็ไม่เห็นมีบ่อน้ำ

วันนี้วิ่งรถผ่านไป ก็เห็นหลายๆจุดมีแทงค์น้ำขนาดใหญ่ วางไว้ตรงทางแยกของถนนในหมู่บ้านหลายสาย รวมไปถึงที่หมู่บ้านน๊อคดาวน์ แทงค์เหล่านี้เป็นบริการจากอบต.ในพื้นที่เหล่านั้น   จุดที่เห็นแทงค์น้ำมีหลายจุดที่เห็นป้ายประกาศตัวคนสมัครอบต.และสส.ไว้ด้วย

เมื่อนำภาพเหล่านี้มาประกอบกับข้อมูลที่ชาวบ้านเล่าให้ฟัง พลังภาคประชาชนของที่นี่ทำให้เห็นภาพ ที่ช่วยเติมมุมมองอีกด้านของความสัมพันธ์ของระหว่างการเมือง การปกครอง การบ้านและการมุ้งให้เข้าใจขึ้นกว่าเก่า

เบื้องหลังที่ทำให้ชาวบ้านตัดสินใจลงมือช่วยกันเอง เป็นความสวยงามที่ซ่อนเร้นอยู่ของเมืองไทย ที่สังคมไทยยังดำรงอยู่ได้ก็เพราะมีเจ้าสิ่งนี้แหละ “ความมีใจให้กัน”

น้ำที่มีสีเหล่านี้จะเห็นได้ชัดเมื่อกระแสะน้ำแรงไม่มาก ส่วนใหญ่จะอยู่ริมๆของสายน้ำที่มีกรวดหรือดิน

ด้วยยังกริ่งเกรงกับความมีหินปูนเยอะของพื้นที่  และจำได้ว่ามีคนบอกไว้ว่า “ดูดน้ำบาดาลมาใช้นานๆแผ่นดินทรุดได้”

คำนี้เตือนว่ามีเรื่องควรให้ข้อมูลเพิ่มกับชาวบ้าน เพื่อความรอบคอบในการตัดสินใจให้เหมาะสม เรื่องการจัดหาแหล่งน้ำอุปโภค บริโภค

น้ำบนดินเห็นอยู่ตำตา ชาวบ้านสรุปว่าใช้ไม่ได้  สาธารณสุขเองก็คงต้องหาคำตอบมาให้แน่ใจ เพราะพวกเขามีงบจำกัด

น้ำบนดินที่ตาเห็นใช้อุปโภคได้หรือเปล่า ถ้าจะแปลงเป็นน้ำบริโภคโดยไม่เจาะบาดาลมีทางเลือกอะไร และเมื่อเจาะน้ำใต้ดินมาได้แล้ว มีอะไรที่ช่วยชาวบ้านได้อีก เหล่านี้เป็นภารกิจที่ควรทำด้วยนะฉันว่า

ก็ได้คิดว่า ที่จริง “น้ำบาดาล” ก็เป็นรูปหนึ่งของน้ำฝนที่ซึมลงไปให้ดินช่วยเป็นอ่างเก็บ  น้ำที่ลงไปเก็บนี้มีแร่ธาตุต่างๆปนละลายอยู่  การละลายปนนั้นแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ที่มีการไหลซึมผ่าน อย่างนี้ในน้ำบาดาลก็มีสนิมเหล็กได้ซินะ เพราะในหินบางชนิดมีเหล็กในเนื้อ

แล้วยังมีเรื่องความกระด้างของน้ำอีก  เมื่อตอนเด็กๆจำได้ว่า เคยเห็นน้ำที่มีสนิมเหล็กมาแล้ว ที่บ้านเกิดนี่แหละ น้ำสีน้ำตาลอย่างในภาพถ้านำไปซักผ้า ผ้าเปลี่ยนสีได้เลย แถมยังเห็นฝ้าๆที่ผิวน้ำด้วย ซึ่งแม่ต้องเอาสารส้มไปแกว่งๆไว้ วันต่อๆมาจึงมีน้ำใสๆใช้  และเจ้าน้ำใสๆนี้เมื่อนำไปซักชุดนักเรียน นานเข้าๆ ชุดก็เก่าเร็วเพราะสีผ้าขาวกลายเป็นสีเหลืองขึ้นๆ

ไม่ใช่แต่สีที่กายภาพบอกให้ระวัง ฝ้าหนาของน้ำก็ทำให้ต้องไตร่ตรองหากจะ-ใช้-ดื่ม-กิน

ตอนที่สนใจตามรอยน้ำพุร้อน ก็ได้ความรู้เรื่องของหินในกระบี่มาบ้างว่าตรงที่เคยมีหลุมยุบ จะมีหินทราย หินดินดาน หรือไม่ก็เป็นตะกอนดินเหนียวอยู่ใต้หินปูน  ตรงที่มีน้ำพุร้อนเท่านั้นที่มีหินอัคนี

พูดถึงตะกอนดิน ก็แวบไปถึงความรู้สึกตอนย่ำลุยลำน้ำที่เห็นน้ำสีสนิมเหล็กครั้งแรก แล้วก็เอะใจ ดินนั่นเป็นตะกอนดินเหนียวนี่นา อย่างนี้ดินที่เห็นในลำน้ำล่าสุดก็ไม่พ้นเป็นดินเหนียว หินก็ไม่พ้นหินทราย หินดินดานนะซิ

ดูหินไม่เป็นหรอก แต่เคยจำได้ว่า หินที่มีเหล็กปนในเนื้อของมันในประเทศไทย มีหลายชนิดมาก ก็เลยไปค้นมาดูใหม่

หินที่มีเหล็กปนได้สูง ได้แก่กลุ่มหินเหล่านี้ :  หินแกรนิต หินชีสต์ หินไนส์ หินแกบโบร์ หินแอนดีไซท์ หินไดโอไรท์ หินบะซอลล์ และหินชนวน

รองลงมาที่พบได้ด้วยก็มี  หินไรโอไรท์ หินปูน หินอ่อน หินดินดาน หินทราย หินทรายแป้ง และหินควอทไซท์

อืม พอจะรู้แล้วว่า ทำไมน้ำในลำธารมีสีสนิมเหล็ก หินทรายและหินดินดานที่ผุสลายลงมานั่นแหละที่ทำให้เหล็กละลายออกมา

เขาว่าถ้ารู้ข้อมูลชั้นหินต่างๆ ในบริเวณที่ต้องการเจาะบ่อน้ำบาดาล ก็จะสามารถที่คาดการณ์ได้ว่า น้ำบาดาลบริเวณนั้นมีโอกาสเป็นสนิมเหล็กมากหรือน้อย  และจัดการน้ำให้เหมาะสำหรับใช้สอยได้

อย่างนี้ก็มีวิธีช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ที่มีคุณภาพมากกว่าเดิมแล้ว ใช้น้ำผิวดินไปก่อนได้นี่นา  วิธีจัดการนี้เรียนรู้มาจาก การจัดการน้ำบาดาลในพื้นที่เกิดซึนามิ

จะกรองสนิมเหล็กจากน้ำบาดาล ทำได้ในภาคสนาม อย่างนี้ :

“ให้ใช้ด่างทับทิม ๑ กิโลกรัมต้มในกะทะให้เดือด เติมทรายที่คัดขนาดซึ่งละลายในน้ำ ๕ ลิตร จำนวน ๒๐ ลิตร ลงไปกวนเข้าด้วยกันโดยพลิกไปพลิกมาจนกระทั่งทรายหมาดน้ำ  พลิกไปมาทุก ๒๐ นาที จนทรายแห้งสนิท แล้วผึ่งให้เย็น เวลานำไปใช้กรองน้ำ  ก็ให้กรอกใส่ท่อพีวีซี  ทรายกรองนี้ใช้ได้นาน ๑-๒ ปี”

เอาละทีนี้ก็เหลือแต่น้ำดื่ม  ถ้าเขายังตัดสินใจที่จะเจาะบาดาล ก็คงต้องไปพิสูจน์ให้เขาเห็นก่อนว่า น้ำบาดาลนั้นดื่มได้ตามความเชื่อหรือเปล่า

« « Prev : น้ำำำท่วม(๑๙)

Next : น้ำท่วม (๒๑) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 เวลา 6:52

    วันที่ 12 ผมกับเพื่อนจะขับรถไปศูนย์วิจัยสะแกราช
    หมอเจ๊ นั่งรถไปด้วยกันไหมละครับ
    ขากลับ ถ้าไม่เข้าสตึก ก็กลับเข้า กทม.พร้อมกับเพื่อนได้


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.02489709854126 sec
Sidebar: 0.10620808601379 sec