ตามรอยน้ำพุร้อน (๓)

อ่าน: 3222

ลองค้นดูว่ามีข้อมูลเกี่ยวกับธรณีสัณฐานของพื้นที่ที่พบน้ำพุร้อนกระบี่ดูว่าเป็นยังไง  แล้วแปลกใจกับเรื่องของหินและการเกิดเหตุหลุมยุบตัวในพื้นที่ของกระบี่

เป็นชุดความรู้ที่ได้จากการศึกษาเพื่อจัดทำระบบสารสนเทศรายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างง่ายสำหรับชุมชน ภายใต้โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัย ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมกับคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้รายงานไว้  บันทึกนี้คัดบางแง่มุมมาไว้ใช้งานเท่านั้น

หินที่ปรากฏในพื้นที่จังหวัดกระบี่มีความหลากหลาย เรียกว่า “หินชุดกระบี่” มีหินหลายชนิดอยู่ ทั้งหินทราย หินทรายแป้ง หินกรวดมน หินเคลย์ และหินปูน

หินแกรนิต

ซ้าย - หินทราย ขวา - หินเคลย์หรือหินดินดาน

หินโคลนปนกรวด หินปูน หินทราย หินทรายแป้ง หินดินดาน และหินกรวดมนที่มักเกิดเป็นหน้าผาชันบนยอดเขาที่อำเภออ่าวลึกและอำเภอเมือง จะมีอายุมากที่สุด (๑๘๐-๑๔๐ ล้านปี)

ภูเขาพนมเบญจาและเนินหินแกรนิตในอำเภอเขาพนมและแนวหินที่เป็นเนินเล็กๆในอำเภอเมือง เป็นหินแกรนิตที่ดันแทรกเนื้อหินอื่นๆขึ้นมาภายหลัง (อายุ ๕๕-๕๗ ล้านปี)

ซ้าย-หินปูน ขวา - หินกรวดมน

สุสานหอย บ้านแหลมโพธิ เป็นกลุ่มหินชุดกระบี่ที่มีซากหอยขมดึกดำบรรพ์แทรกอยู่จำนวนมาก มีอายุอ่อนกว่าหินที่อำเภออ่าวลึกและหินเขาในอำเภอเมือง ( ๖๐-๖๒ ล้านปี)

บทเรียนจากเหตุการณ๋หลุมยุบ :

พื้นที่อ่าวลึกมีจุดที่เคยเกิดหลุมยุบอยู่ห่างจากโรงเรียนอ่าวลึกประชาสรรค์ ๔ กิโลเมตร โรงเรียนอ่าวลึกประชาสรรค์สร้างอยู่บนเนินตะกอนดินเหนียวที่เกิดจากการผุพังของหินปูน เนินนี้สูง ๑๕ เมตร ที่ตั้งโรงเรียนอยู่ในหุบเขาหินปูน

พื้นที่อำเภอเมืองตรงโรงเรียนเมืองกระบี่ เขตเทศบาลเมืองกระบี่พบมีหินผุ หินที่ผุจะเป็นหินทรายและหินดินดาน สูง ๑๐ เมตร อยู่ใต้หินปูน หินปูนที่มีน้อยกว่าอำเภออ่าวลึก

ตะพักลำน้ำตรงโรงเรียนเหนือคลองประชาบำรุง อ.เหนือคลอง เป็นดินเหนียวปนทรายที่ปิดทับอยู่บนชั้นศิลาแลงค่อนข้างหนา ไม่พบหินปูน และมักมีก้อนตะกอนจากน้ำพุร้อนปะปนอยู่ด้วย บริเวณนี้สูง ๑๐-๒๐ เมตร (ตะพักริมน้ำ อยู่ตรงจุดที่แคบลงของสายน้ำ เป็นลักษณะของริมฝั่งน้ำที่มีฝั่ง๒ ข้างสูงไม่เท่ากัน ฝั่งหนึ่งเป็นผาสูง อีกฝั่งหนึ่งเป็นที่ราบน้ำท่วมถึง )

ภูเขาที่เป็นต้นน้ำของสระมรกต เป็นหินทราย หินทรายแป้ง หินดินดานและหินกรวดมน และมีหินอัคนีดันขึ้นมาด้วย ในหุบเขามีแอ่งน้ำพุร้อนหลายแห่งและมีน้ำร้อนที่ไหลซึมลงสู่ผิวดินและ้ไหลลง มาตามทางลาดชันของภูเขาเกิดเป็นน้ำตกร้อนก่อนไหลลงลุ่มน้ำคลองท่อมไปลงทะเล

ภูเขาบนเกาะลันตาเป็นหินโคลนปนกรวดที่มีชั้นหินทรายและหินทรายแป้งแทรกสลับ บางพ้นที่ก็มีชั้นหินปูนแทรกบางๆ หินที่นี่มี กรวดปนน้อยเมื่อเทียบกับภูก็ต (สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ ๑๐๐-๑๕๐ เมตรจากน้ำทะเล ภูที่สูงที่สุดอยู่ทางด้านใต้ของเกาะ ลาดเอียงมาทางเหนือของเกาะ) หาดด้านใต้เป็นหินกรวด  หาดทรายด้านเหนือตรงโรงเรียนชุมชนศาลาด่านเป็นหินทรายปนกรวด โรงเรียนอยู่บนพื้นที่สันดอนทรายปากคลองลัดบ่อแหวนสูงจากน้ำทะเล ๑ เมตร

ภูเขาในอำเภอควนตัง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดเขตกระบี่เป็นหินทราย หินทรายแป้ง หินกรวดมนและบางบริเวณมีหินปูนแทรกเป็นชั้น ( ความสูงของภูเขาควนตัง ๓๒๒ เมตร เขาใหญ่ ๕๕๑ เมตร)

บทเรียนที่ได้  :

๑. พื้นที่กระบี่ซึ่งมีหินปูนอยู่เป็นพื้นที่เสี่ยงกับการเกิดหลุมยุบตัวที่ควรจัดระบบเฝ้าระวังการยุบตัวในช่วงเวลาที่มีฝนหนัก ได้แก่  พื้นที่ราบที่อยู่ใกล้ภูเขาหรือเนินหินปูน

๒. พื้นที่กระบี่ซึ่งมีหินโคลนปนกรวดมากเสี่ยงต่อการเกิดหลุมยุบตัวน้อยกว่าพื้นที่ซึ่งมีหินปูนมาก

๓. พื้นที่กระบี่ซึ่งพบน้ำพุร้อนในรูปต่างๆไม่พบหินปูน

๔. พื้นที่ไหนพบหินแกรนิต หินอัคนี จะไม่พบหินปูน

๕. พื้นที่บนสันทรายริมหาดซึ่งสูงจากน้ำทะเลไม่มากควรจัดระบบเฝ้าระวังน้ำท่วม

« « Prev : ตามรอยน้ำพุร้อน (๒)

Next : ตามรอยน้ำพุร้อน (๔) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามรอยน้ำพุร้อน (๓)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.030187845230103 sec
Sidebar: 0.17176795005798 sec