ปวดหัวเพราะหอย

อ่าน: 7082

เมื่อเข้าไปเยี่ยมคนที่ศูนย์อพยพครั้งที่ ๒ ก็เห็นสตรีในศูนย์นั่งปรุงกับข้าวกันอยู่ ไม่เคยคิดว่าจะเห็นหอยในพื้นที่นี้เลย เห็นแล้วก็ไม่รู้จักหรอกว่าเป็นหอยอะไร ชาวบ้านบอกว่าเก็บมาจากแถวๆธารน้ำไหลใกล้ๆที่พักนั่นเอง

หน้าตาของมันเชื่อได้ว่าเป็นหอยน้ำจืด  ถามชื่อเพื่อทำความรู้จัก คนที่กำลังปรุงก็บอกไม่ได้ ไม่ใช่หอยขมแต่ตัวใหญ่มาก เดาว่าเป็นหอยโข่งแล้วก็ไม่ติดใจอะไร นั่งดูเขาปรุงจนเพลิน เอะใจอยู่หน่อยตรงที่เห็นน้ำล้างหอยมันดำปี๋ และมีขั้นตอนการปรุงหลายขั้นตอน

มีเฉลยก็เมื่อมาค้นดูรูปหอยที่หน้าตาคล้ายๆกันจากอากู๋  จึงได้รู้ว่าเป็นหอยโข่งน้ำจืด  ตอนที่รู้ก็ยังเฉยๆ จนเมื่อไปเห็นข่าวว่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านพ้นมา มีข่าวเรื่องลูกสาวของนักร้องดังป่วยหนัก จนอาจจะกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา แล้วมีทีมแพทย์ผู้รักษาในโรงเรียนสอนหมอในภาคอีสาน ออกมาให้ความรู้กับสังคมว่าเกิดจากหอยเป็นต้นเหตุนั่นแหละจึงฉุกใจ

แงะเนื้อมันอย่างนี้แหละที่พยาธิมันจะติดอยู่กับมือ ซอกเล็บ และฝังเนื้อได้

ไปค้นดูสถิติการเกิดโรคที่สามารถทำให้เกิดสภาพเจ้าหญิงนิทรา บะแหล่วกั๋น กระบี่ก็มีสถิติโรคที่มีอาการคล้ายๆกันเกิดขึ้นด้วย เพิ่งเข้าใจเมื่อเห็นเจ้าหอยนี้กับตานี่แหละว่า เพราะอะไร การค้นหาสาเหตุในคนไข้ที่ผ่านมาจึงโบ๋เบ๋ ไม่เจอต้นเหตุ

มารู้จักอาการที่เกี่ยวกับการกินมันเข้าไปกันหน่อยดีมั๊ย อาการสำคัญที่สุดคือ ปวดหัวมากกกกกกกก และอยู่นานไม่ต่ำกว่า ๓ สัปดาห์  ปวดจนคลื่นไส้ อาเจียน  คอ-หลังก้มไม่ได้ มีไข้เป็นๆหายๆ  อาจจะมีอาการแบบอัมพาตแขนขา

เนื้อหอยไม่ใช่ตัวการทำให้ป่วยโดยตรงหรอก พยาธิที่อยู่ในเนื้อหอยคือต้นเหตุ

พยาธิตัวนี้เป็นของหอย เมื่อเข้าไปในตัวคนจึงอยู่ในคนได้เพียงระยะหนึ่งก็ตายไปเอง มันจะอยู่ในคนได้ราวๆ ๑-๒ เดือน

ตอนที่มันยังมีชีวิตอยู่ในคน ไม่มียาฆ่าพยาธิตัวไหนจัดการมันได้ มันชอบอยู่ที่สมองคน และทำให้เนื้อสมองอักเสบ แล้วเกิดเซลล์ตายได้

ตัดก้นหอยออกแล้ว ลวกน้ำร้อน จะได้น้ำสีดำปี๋อย่างนี้แหละ  เขาล้างๆๆๆ แล้วไปคลุกน้ำมะนาวสด ล้างอีกครั้ง แล้วก็นำมาแกงกะทิ

จะกินหอยชนิดนี้เป็นอาหาร จึงมีทางเดียวที่จะทำให้ปลอดภัย ก็คือ ฆ่าพยาธิด้วยความร้อนซะก่อน  หลังเตรียมหอยต้องล้างมือ เพื่อชะล้างพยาธิที่อาจติดอยู่กับมือให้หลุดไป  ถ้ามีผักที่ไปเก็บมาจากแหล่งที่พบหอย ก็ต้องปรุงสุกก่อนกิน

แชมป์ที่ทำสถิติสูงสุดของการป่วยเป็นโรคนี้อยู่ที่อีสาน  ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๔ นี้พบคนป่วยแล้ว ๒๔ ราย

อืม ไม่นึกเลยว่า โรคปวดหัวหอยนี่จะเป็นอีกโรคหนึ่ง ที่ต้องเฝ้าตามดูในพื้นที่น้ำท่วมนะนี่  ขอบคุณชาวบ้านที่ให้ความรู้ค่ะ

« « Prev : น้ำประปาทำเอง

Next : ก๊าซมีเทนกับสุขภาพ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 เวลา 20:23 (เย็น)

    เป็นเรื่องใหญ่มากครับ หมอเจ๊ สำหรับอีสาน มีการสัมนารณรงค์กันมานาน ก็ยังมีคนป่วยเนื่องจากพยาธิในหอยอยู่ไม่น้อย เข้าใจว่าพยาธิตัวนี้ยังเป็นสาเหตุก่อให้เกิดมะเร็งได้อีก นานมาแล้วอาจารย์หัวหน้าภาควิชาโภชนาการ ท่านเป็นมะเร็งตับ และเสียชีวิต สืบข้อมูลไปมาทราบว่าอันเนื่องมาจากเด็กๆกินหอยตามธรรมชาติแบบไม่สุกมามาก

    วัฒนธรรมการบริโภคเป็นเรื่องใหญ่ที่ผมทำงานพัฒนาชนบทแก้ยาก ขึ้นบ้านชาวบ้าน กินน้ำที่เขามีน้ำมจยื่นแก้วมาให้ โอย ดูไม่ได้เลย จะไม่เอาเดี๋ยวก็ว่ารังเกียจ จะกินก็กลัวปัญหาสุขภาพ รบเรื่องนี้กันมานานแล้วครับ แนวโน้มลดลงแต่มันน่าจะหมดไปนานแล้ว

    หากวิเคราะห์กันลึกๆแล้ว ความยากจนและวัฒนธรรมการบริโภคเป็นเรื่องใหญ่ อย่างพี่น้องบโซ่ที่เปลี่ยนกับผมทำงานมานานนั้น ชอบขึ้นป่า กินอาหารป่า ซึ่งส่วนมากไม่สุก หรือสุกๆดิบๆ หรือดิบไปเลย จริงๆเราทำงานหลายด้าน ไม่ได้เน้นเรื่องสุขภาพด้านเดียว การทำงานเรื่องนี้จึงไม่ได้เข้มข้น เท่าที่ควร

    หลายครั้งผมงง งง เพราะชาวบ้านออกจากบ้านไปป่า ไปนา เอาแต่ข้าวเหนียวไป ถามว่ากับข้าวอยู่ที่ไหน เขาบอกอยู่ที่ป่า บ้าง อยู่ที่นาบ้าง ก็หอยนั่นแหละ หอยป่าบางชนิดมีราคาค่างวดเสียอีก

    งานพัฒนาไม่มีวันสิ้นสุด ….

  • #2 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มิถุนายน 2011 เวลา 23:07 (เย็น)

    ว่าไปแล้วกินอะไรมันก็เป็นโรคได้ทั้งนั้นแหละครับ แม้ไม่ต้องกิน สูดอากาศหายใจอยู่ดีๆ ก็ติดเชื้อได้

    สำหรับผมเห็นว่า การกินอะไรที่อยู่ระดับต่ำๆ ในห่วงโซ่อาหาร เช่น พืช สัตว์น้ำชั้นต่ำ (เช่นหอย) โดยหลักสถิติแล้ว น่าจะให้สารพิษน้อยที่สุด เพราะ “ห่วงโซ่อาหาร” ก็บอกอยู่แล้วว่า ฐานปิรามิดต้องกรองเอาสิ่งดีๆ ไปให้ยอดกิน

    แต่ถ้ามนุษย์เราที่อยู่ยอดปิรามิดไปทำอะไรที่ผิดธรรมชาติ เช่น ปล่อยสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม สิ่งที่จะดูดซับสารพิษได้ก่อน มักเป็น พืชสัตว์พื้นฐานปิรามิด เช่น หญ้า หอย เป็นต้น

    ดังนั้นผมว่า น่าศึกษาวิจัยให้มาก อย่าเพิ่งไปตำหนิหอยมากนัก

    โถ..ก็มันช้าปานนี้ มันจะไปตามเลห์นักลงทุนข้ามชาติที่ยอดปิรามิดได้อย่างไรเล่าครับ

  • #3 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 เวลา 16:23 (เย็น)

    ดูแล้วเหมือนหอยจูบของทางเหนือเลยค่ะ…คงต้องขอคำยืนยันจากครูอาราม

    เท่าที่เคยเข้าใจนะคะ อาหารกลุ่มหอย จะเป็นอาหารที่รับสารโลหะหนักมากที่สุด เพราะการหากินของหอยจะอยู่ที่พื้นดินใต้น้ำ จะรับเอาโลหะหนักไว้มากที่สุด

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 เวลา 20:43 (เย็น)

    # 1 พี่ค่ะ ไปถึงพื้นที่แล้วก็เข้าใจวิถีของชาวบ้านมากขึ้น ในยามที่ไร้ที่อยู่ ต้องคิดเรื่องการดำรงชีวิตต่อไปให้ดีตามที่เขาคาดหวัง
    เรื่องอาหารการกินของชาวบ้านก็จะเป็นแบบง่ายๆ มีอะไรใกล้ตัวที่กินได้ ก็คว้ามาก่อน
    ถิ่นที่พักอยู่ของเขาไกลจากแหล่งอาหารหลักมากมายนัก จะออกมาซื้อหาก็ต้องใช้ทุนรอน
    อาหารสดที่พอหาได้ก็จะอยู่ในห้วยหนองใกล้ๆ เคยกินอะไรได้ก็ไปเก็บมาไว้กิน
    เห็นแล้วก็ยังใจชื้นอยู่หน่อยว่า เขาไม่ได้กินดิบ แสดงว่ามีฐานปัญญาที่สั่งสมมาก่อนแล้ว
    แต่คนที่เข้าไปช่วยแบบจิตอาสานี่ซิ ไม่มั่นใจ มีคนจากอีสานลงไปช่วยมากมายค่ะ

    เรื่องมะเร็งตับกับพยาธิของคนอีสาน เป็นจากสรีระของเนื้อตับที่อักเสบ แล้วกลายต่อเมื่อผ่านเวลามานานพอควรค่ะพี่

    #2 อาจารย์ที่รัก เห็นด้วยกับอาจารย์เลยค่ะ กินอะไรก็เป็นโรคได้ทั้งนั้นแหละ การไม่เป็นโรคจากการกินต้องการ “ยาปัญญา” มากินป้องกันค่ะ เรื่องพยาธิกับหอยนี่มันมาคู่กันจากธรรมชาติกำหนดมังค่ะ ความรู้เรื่องนี้มาจากคนที่เคยป่วยสอนหมอ เมื่อไล่รอยตามไปจนเจอหอย นำหอยมาชำแหละตรวจเจอตัวพยาธิ ก็ส่งต่อความรู้ผ่านกันมารุ่นต่อรุ่นหมอทางอีสานจะเก่งเรื่องนี้มากกว่าหมอทางภาคอื่นๆ

    อยากรู้เรื่องการสะสมพิษในตัวหอยเหมือนกันค่ะอาจารย์ ไม่รู้มีใครศึกษาไว้บ้างมั๊ยว่ามันเพิ่มขึ้นมากน้อยแค่ไหน

    #3 อุ๊ยที่รัก ไม่เคยรู้จักหอยโข่งเลยค่ะ จึงดูไม่ใคร่ออกว่าเป็นหอยอะไร เรื่องโลหะหนักในหอยนี่น่าสนใจ เพิ่งนึกได้ว่าเคยผ่านหูเมื่อไปดูงานที่ภาคตะวันออกกับ ๔ส๒ ว่าเขาศึกษาการสะสมโลหะหนักในสัตว์น้ำเหมือนกัน แต่ไม่รู้มีหอยหรือเปล่า รู้แต่ว่าเขาศึกษาสัตว์ทะเล

  • #5 อุ๊ยสร้อย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 เวลา 22:16 (เย็น)

    สารโลหะหนักในสัตว์ทะเลนี้ สนใจเป็นการส่วนตัวมาพักใหญ่ๆค่ะ
    ตามงานศึกษาที่พบว่าสัตว์ทะเลสะสมไว้ จะอยู่ในกลุ่มที่วงจรชีวิตยาว ยิ่งตัวใหญ่และกินปลาอื่นมาหลายทอด ยิ่งมีมาก
    อีกกลุ่มที่สนใจคือการดำรงชีวิตของสัตว์และพืชนั้นๆค่ะ ถ้าเป็นพวกที่หากินหรือถิ่นพำนักอยู่ที่พื้นดินใต้ทะเลยิ่งมีโอกาสได้รับโลหะหนักมาก
    โรคมินามาตะที่ฮือฮา น่าเป็นโรคที่ต้องจับตามองมากขึ้นนะคะพี่ ในแง่การป้องกัน เพราะสภาพการเป็นอยู่และการเปิดเสรีโรงงานริมแม่น้ำทุกสายในไทย น่าจะทำให้สัตว์น้ำทั้งน้ำจืดและน้ำเค็มมีโลหะหนักมาก

    มีปลาที่งานวิจัยแนะนำให้หลีกเลี่ยงค่อนข้างมาก แต่ยังไม่เห็นของเราออกมาพูดเรื่องนี้กันเท่าไหร่นะคะ
    งานผดุงครรภ์ยากขึ้นทุกวันค่ะพี่ เพราะพฤติกรรมบริโภคเปลี่ยนมาก ใครจะนึกละนะคะว่าเดี๋ยวนี้ต้องอธิบายว่าอย่ากินซูชิที่หน้าปลาดิบให้กับคนท้อง

    คนมีเงินก็ไปแบบหนึ่ง คนจนก็แบบหนึ่งนะคะ
    เป็นเรื่องการรู้เท่าทันสังคมให้มากๆ ใช้ปััญญาให้ได้แหล่ะค่ะ

  • #6 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 7 มิถุนายน 2011 เวลา 22:32 (เย็น)

    โลกวันนี้ โลหะหนักก็อันตราย
    อากาศ (เบา) ก็เป็นพิษ
    ผักหญ้า (ปานกลาง) ก็ปนเปื้อน
    เข้ามาอินตะเน็ตก็มลพิษทางใจเต็มไปหมด

    แล้วจะหนีไปไหนให้พ้นดีล่ะครับ หรือว่าทนมันต่อไปจนกว่าจะสิ้นกรรม :-)

  • #7 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 8 มิถุนายน 2011 เวลา 0:07 (เช้า)

    พี่น้องทั้งหลาย อย่าคิดมาก ไม่ได้ด่าใครเป็นการเฉพาะนะจ๊ะ

    ก้นบึ้งจิตใจ คงคล้ายหอย ที่สะสมสารหนักไว้มาก ทั้งระดับมหภาคและจุลภาค ที่มันตกลงมาแสนมาก

    วันนี้ก็เลยคลายออกมามากหน่อย เหมือนหอยขม ที่งมโข่งอยู่ใต้ท้องธารา นั่นแล

    เอ้า..ยิ้มม

  • #8 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 มิถุนายน 2011 เวลา 21:59 (เย็น)

    #6 #7 มลภาวะมีรอบตัวเพราะความรักสบายของคนยุคหนึ่ง ใช้ความรู้ตามตำรามาหาประโยชน์ใส่ตน แล้วคนยุคต่อมาต่อยอดใช้ประโยชน์ จากความไม่รู้และหวาดกลัวของคนมาหาประโยชน์ต่อ

    สงครามโลกทำให้คนกลัวความลำบากตัวแล้วไขว่คว้าความสบายไว้ก่อน ความกลัวสงคราม ทำให้เกิดความช่วยกันยันสงครามเย็นจนเมืองไทยไม่ติดบ่วงโดมิโน แต่ติดบ่วงลัทธิทุนนิยม ลัทธิความเชื่อแทน

    มลภาวะเหล่านี้เป็นยาพิษที่ใครๆมักมองไม่เห็น คนที่สามารถมองเห็นก่อนถือเป็นปราชญ์นะคะอาจารย์ ความเป็นปราชญ์ของคนที่เห็นก่อนจะทำให้ไม่ละวางเฉย แต่จะช่วยคิดค้นทางแก้ให้ไว้ก่อนด้วยความห่วงใยที่มีต่อสังคม

    อาจารย์กำลังเป็นผู้หนึ่งที่ลงมือทำแล้ว โดยไม่ทน นั่นแหละค่ะเป็นวิถีของปราชญ์ที่หมอชื่นชม

    ขออนุญาตป้าหวาน ชวนอาจารย์ไปอ่านบันทึกเรื่อง “คำถามเฮงซวย” ค่ะ บันทึกนี้มีเรื่องประทับใจที่พรรคพวกในลานเขาได้เจอกันมา สงสัยว่าเรื่องที่ชวนคุยของอาจารย์จะไปแตะกับเบื้องหลังของเรื่องนี้เข้ามังค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.079129934310913 sec
Sidebar: 0.19373416900635 sec