ทำอะไรได้บ้างถ้าคนไข้ไม่มีเส้น

โดย สาวตา เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 เวลา 21:20 (เย็น) ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 18274

สืบเนื่องจากน้องมะเดี่ยวขอความรู้เรื่องเกี่ยวกับคุณแม่ โดยบอกมาสั้นๆว่า “ตอนนี้คุณหมอที่ศูนย์หัวใจสิริกิตต์ ได้ส่งตัวแม่ผมเข้ารักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่นครับ…….”  และกรณีความเห็น ที่อ้ายเปลี่ยนร่วมให้ข้อคิดเห็นกรณีที่น้องมะเดี่ยวปรึกษาว่า “หมอน่าจะพิจารณาทำ CUT DOWN ถ้าจำเป็นญาติช่วยได้ในการเฝ้าระวังไม่ให้คุณแม่ยกแขนไปมา อาจทำให้ น้ำเกลือลีคต้องแทงเข็มใหม่อีก ขอให้คุณแม่หายไวๆครับ”

ก็เลยนึกได้ว่า ไม่รู้เลยว่า ที่คุณแม่เข้ารักษาที่ศูนย์สิริกิตต์นะ มันเป็นเรื่องหลังหรือก่อนผ่าตัดนะค่ะ  เดาเอาว่าโรคของคุณแม่นะเป็นเรื่องของเส้นเลือดหัวใจ จึงให้ข้อมูลเชิงหลักการพื้นฐานเกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือดมาให้ค่ะ  ซึ่งมันก็ใช้ได้กับทุกโรคละค่ะ ยกเว้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับยากันเลือดแข็ง

มาเอะใจเรื่องของโรคอีตรงไปอ่านคำแนะนำของอ้านเปลี่ยนเรื่อง cut down ว่า เออ! ลืมถามไปว่า คุณแม่นะช่วยตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนในเรื่องของการกินอาหาร จุดเปลี่ยนระหว่างการแทงเส้นธรรมดากับการทำ cut down อยู่ที่ตรงนี้ละค่ะ 

หากว่าคนไข้กินอะไรไม่ได้เลยและจำเป็นต้องช่วยเหลือรีบด่วนในเรื่องของการเติมสารละลายหรือที่เรียกว่าน้ำเกลือ หรือ สารอาหารและยาบางอย่างทางเส้นเลือดในลักษณะที่ว่า ไม่ให้ไม่ได้ คนไข้จะแย่เอา ความดันมันจะตกลงไปจนเกิดอันตรายได้ หรือ ไม่มีทางเลยที่จะกินอาหารเข้าไปเองได้เลย จำเป็นต้องให้อาหารด่วนทางสายไม่ให้จะทำให้น้ำตาลในเลือดต่ำจนเสียชีวิตหรือเกิดเรื่องแทรกซ้อน หมอก็จะพิจารณาผ่าเส้นเลือดเพื่อสอดสายเข้าไปในเส้นและเย็บผูกเส้นคาไว้ในรูเส้นเลือดเพื่อไว้เป็นทางเข้าของอะไรต่างๆที่ต้องให้เข้าไปช่วยคนไข้ผ่านหลอดเลือดค่ะ ซึ่งภาษาเฉพาะของเราจะเรียกกันว่า “cut down”  หรือมีภาษาอังกฤษว่า “venesection” สำหรับการผ่าเพื่อสอดสายคาในหลอดเลือดดำค่ะ  อีกสายที่จะผ่าเพื่อสอดสายคาในหลอดเลือด คือ หลอดเลือดแดง อย่างนี้จะเรียกว่า “aeterial line” ค่ะ ซึ่งมักจะทำไว้ในกรณีคนไข้ที่ล้างไตฟอกเลือด หรือ หลังเปลี่ยนไต หรือ หลังการผ่าตัดเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจค่ะ

กรณีของ venesection เราไม่ทำในรายที่ไม่ฉุกเฉินจริงๆค่ะ  cut down คือ การทำ venesection

กรณีของ arterial line นั้นจะทำเป็นปกติในคนไข้ฟอกไต เปลี่ยนไต และคนไข้โรคหัวใจหลังการผ่าตัดระยะต้นๆค่ะ

น้องมะเดี่ยวลองไปดูหน่อยนะค่ะว่า เส้นเลือดที่พยาบาลพูดถึงเรื่องเส้นแตกนะ เส้นเลือดดำหรือเส้นเลือดแดง

ถ้าเป็นเส้นเลือดแดง ก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่แทงเส้นค่ะ และมีวิธีแทงที่ต้องอาศัยหมอมือฉมังมาช่วยแทงได้โดยอาศัยแทงเข้าหลอดเลือดแดงใหญ่ตรงคอค่ะ ซึ่งจะอาศัยพยาบาลไม่ไหวหรอกนะค่ะ เรื่องอย่างนี้เขาอาศัยหมอดมยา(วิสัญญีแพทย์) หรือ หมออายุรกรรมมือแม่นๆ หรือ หมอผ่าตัดที่มือแม่นๆ มาช่วยนะค่ะ

ถ้าเป็นเส้นเลือดดำ ก็ยังมีทางเลือกที่หากว่าคุณแม่พอจะกินอะไรที่เป็นของเหลวได้ ก็ให้ “คะยั้นคะยอ” บอกแม่ให้รู้ว่า ให้แม่อึดยอมกิน ละเลียดทีละน้อยก็ยังดีกับเรื่องกิน เพื่อแลกคืนกับการที่จะไม่ต้องโดนแทงเส้นให้น้ำเกลืออยู่นั่นแล้ว

การคุยกับคุณแม่ควรจะเข้าใจคุณแม่ด้วย บางครั้งคุณแม่นะท้อแท้และทำใจว่า “ฉันยอมแล้ว หากคราวนี้จะไม่รอด” (ขอโทษที่เอ่ยตรงๆ)  ให้คุยกับคุณแม่ว่า ให้ลองดูก่อน วันของใครถ้าหากยังมาไม่ถึงนะ ใครก็ขีดเส้นไม่ได้หรอก ลองดูน่าจะดีกว่าวิธีไหน หากว่าจะถึงเวลาจริงๆ ก็จะได้ไม่เสียใจว่าได้ช่วยกันทำเต็มที่แล้ว คุณแม่ก็ได้ช่วยลูกๆแล้วด้วยค่ะในเรื่องให้กำลังใจลูกๆ

ขอย้ำว่า ไม่ว่า เส้นเลือดแดง-ดำ มันก็หดฟีบได้เหมือนที่อธิบายไปแล้วนะค่ะ

 

« « Prev : เส้นหลบ-เส้นแตกง่ายเกิดจากอะไร

Next : ความภูมิใจของป้าดา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

5 ความคิดเห็น

  • #1 อุ้ยจั๋นตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 เวลา 21:37 (เย็น)

    พี่ตาคะ
    เดี๋ยวนี้มักใช้ Heparin lock และ medicut สำหรับรายที่ต้อง on IV นานหรือ for medication นี่คะ ไม่ค่อยเจอว่าต้องแทงเข็มทุกครั้งที่ต้องให้ยา หรือว่าon IV แบบใช้เข็มอีก โดยเฉพาะคนสูงอายุที่เส้นเปราะมากๆ ยกเว้นการต้องเจาะเลือดที่ต้องแทงเข็มบ่อย…ก็จะช่วยได้ถ้า order ให้ครบชุดก็เจาะทีเดียว
    ส่วนมากตัวเองเวลาเจอเส้นดิ้นหรือว่าเส้นเปราะ จะไม่เจาะที่ข้อพับที่ใครๆมักนิยมกัน เพราะโดย anatomy และพฤติกรรมของพยาบาล(หรือแพทย์)ที่มักสั่งคนไข้ให้พับข้อแขนจะทำให้การกดจะไม่แรงพอทำให้เส้นแตกหลังเจาะ และถ้าเจาะจะใช้สำลีแห้ง sterile กดแทนสำลีชุบ alcohol จะช่วยเรื่องการกดไม่ให้เส้นแตกได้ดีกว่า เป็นเทคนิคที่ขอแลกเปลี่ยนไว้ค่ะ
    ถ้าในระยะยาวอยากแนะนำให้คณแม่น้องมะเดี่ยวฝึกยกดัมเบลล์หรือออกกำลังกายที่แขนจะกำมือเหมือนจะชกมวยก็ช่วยได้บ้าง

    หวังว่าคุณแม่น้องมะเดี่ยวอาการไม่รุนแรงมากนะคะ

  • #2 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2008 เวลา 23:12 (เย็น)

    ลืมบอกไปว่าที่คุยให้ฟังเรื่องการแทงเส้นเลือดแดงที่คอนั่นนะ ใช้กรณีฉุกเฉินที่หาเส้นที่ไหนไม่ได้เช่นกันค่ะ จะไม่ทำกันในกรณีปกติธรรมดาที่รอเวลาหาเส้นไม่ได้จริงนะค่ะ

    น้องสร้อยมาช่วยก็ดีแล้วจ้าน้องจ๋า กรณีของการแทงเส้นที่ใช้วิธีคาด้วยการหล่อสารกันเลือดแข็งในเข็มเพื่อป้องกันเลือดแข็งตัวอุดเข็มให้ตันที่เรียกว่า “heparin lock” น่ะปัจจุบันเริ่มมีการทบทวนว่าควรทำหรือไม่ในเด็ก ด้วยว่า “heparin” ถือเป็นยาที่ไม่จำเป็นไม่ควรใช้ใส่เข้าเส้นคนโดยไม่มีข้อบ่งชี้ หลังๆพี่ได้ยินว่ามีการหล่อเลี้ยงเข็มไม่ให้ตันนะเขาลองใช้น้ำเกลือธรรมดานะค่ะ แต่ว่าผลจะได้เท่า heparin แค่ไหนไม่ได้ตามเหมือนกัน บางกรณีของคนไข้เองก็ห้ามใช้ heparin lock เหมือนกันนะ

    สำหรับ medicut ซึ่งเป็นเข็มแทงเส้นชนิดใหม่ที่ใช้แทนเข็มเหล็กน่ะ พี่ว่าโรงพยาบาลทั่วประเทคงใช้กันอยู่แล้วละค่ะ อย่างไรก็ตามการคา medicut ไว้นานก็มีผลในเรื่องของเส้นเลือดดำอักเสบค่ะ ก็ยังต้องหมุนเปลี่ยนแทงใหม่ให้อยู่ดี คานานไปไม่ดีทั้งเรื่องของการคาเข็ม และ การปล่อยให้เส้นเลือดนั้นๆสัมผัสยาอยู่บ่อยๆนานๆที่เดียว เพราะต่อมามันอาจจะเกิดเส้นเลือดดำอักเสบได้ค่ะ ร.พ.พี่เขาเปลี่ยนจุดที่แทงน้ำเกลือทุก 3-7 วันเพื่อป้องกันเรื่องนี้กันค่ะ

    วิธีที่ดีที่สุดคือให้ทางปากนี่แหละค่ะถ้าปากใช้ได้ หรือถ้าไม่อยากเจ็บอาจจะยอมให้ใส่สายให้อาหาร (NG tube) ซึ่งน่ารำคาญกว่าก็ได้

    ที่มาเปิดบันทึกนี้ก็เพื่อจะเติมความรู้ว่า “cut down” นะมีข้อบ่งชี้ให้พิจารณาสำคัญคือ จำเป็นจริงๆ และถือว่าฉุกเฉินหรือกึ่งฉุกเฉินค่ะ เพราะว่าทำไปแล้วเส้นเลือดดำเส้นนั้นเหมือนถูกตัดขาดไปเลยนะค่ะ เวลาฉุกเฉินจำเป็นต้องใช้อีกจะไม่มีเส้นแล้ว ด้วยว่าไม่ทุกคนที่เส้นเลือดดำมันจะงอกใหม่เข้ามาแทนที่ให้ค่ะ

    เทคนิคที่น้องสร้อยบอกออกมานั้นช่วยให้บริเวณที่เจาะเลือดไม่เกิดปรากฎการณ์มีรอยจ้ำเขียวค่ะ รอยจ้ำเขียวกับเส้นแตกน่ะคนละเรื่องกันนะน้องสร้อย รอยจ้ำเขียวที่เกิดจากการกดไม่แรงพอน่ะ เกิดจากเลือดมันซึมออกมาตามรอยเข็มที่เจาะก่อนที่มันจะหยุดไหล ไม่ได้เกิดจากเส้นแตก ส่วนรอยจ้ำเขียวที่เกิดจากเส้นแตกน่ะเกิดจากมีรูรั่วจากการที่เส้นเลือดมันเปราะเปิดรูกว้างรูเข็มเลือดมันเลยรั่วออกมาให้เห็นค่ะ

    น้องมะเดี่ยวหาอะไรง่ายๆให้คุณแม่หน่อยซิค่ะ เช่น ดินน้ำมันหรืออะไรที่ใช้แรงกำแบมือแล้วเกร็งแขนด้วย ให้คุณแม่ฝึกกำแบขณะกำมันไว้ ก็จะช่วยได้ง่ายๆในเบื้องต้นในการออกกำลังกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มออกซิเจนเข้าไปในกล้ามเนื้อ มีแรงแล้วจึงค่อยทำอย่างที่พี่สร้อยเขาแนะนำ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มออกซิเจนเข้าไปช่วยกล้ามเนื้อค่ะ ออกซิเจนมีพอเพียงก็ทำให้เซลล์ตรงนั้นสดชื่นขึ้นค่ะ

  • #3 อุ้ยจั๋นตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2008 เวลา 6:47 (เช้า)

    ดีค่า พี่ตา
    เขียนคุยกันอย่างนี้ก็ดีนะคะ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ดี
    เรื่องใช้น้ำเกลือแทน heparin นั้น ได้ผลดีอยู่ค่ะ แต่มีข้อต้องระวังคือ เวลาที่ยาหมดแล้วจะปลดสาย จะต้องฉีดน้ำเกลือสัก 10 ซีซี ไม่อย่างนั้นจะตันแล้วต้องเริ่มต้นแทงเข็มใหม่
    นอกจากเส้นแตกที่ชาวบ้านจะเรียกรวมทั้งกรณีฉีดยาแล้วเขียวกับเจอชนิดเข็มสะกิดก็แตกหรือกระแทกก็เขียวแล้วยังมีอีกคำค่ะพี่ตา คือเส้นแข็ง พี่ตาเรียกเหมือนกันไหมคะ

  • #4 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤศจิกายน 2008 เวลา 10:17 (เช้า)

    เส้นแข็งคือเส้นเลือดดำที่ผ่านการใช้งานให้สารนอกร่างกายเข้าไปบ่อยๆนานๆซ้ำๆ แล้วทำให้มีการปรับโครงสร้างของเนื้อเยื่อภายในผนัง มีเส้นใยเหนียวๆของพังผืดเข้าไปแทนที่เส้นใยเดิมของผนังเส้นเลือดที่ให้ความยืดหยุ่นค่ะ เส้นแข็งโดยธรรมชาติเองนั้นไม่มีค่ะ

  • #5 » ตอบมะเดี่ยว ลานเจ๊าะแจ๊ะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 มกราคม 2009 เวลา 0:12 (เช้า)

    [...] น้องมะเดี่ยวเจ้าขา มีข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ http://lanpanya.com/jita/?p=196 [...]


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.047765016555786 sec
Sidebar: 0.057916164398193 sec