ตามลม (๘๔) : ยืดชีวิตให้กับน้ำ….สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว

อ่าน: 1579

บอกให้ลูกน้องสำรวจคูอีกรอบ หาความเหมือนและความต่างเพื่อออกแบบการปิดคูที่สามารถลอกตะกอนได้ ก็ได้ผลมาว่า คูมี 2 ลักษณะ

หนึ่งอยู่ใต้ชายคา ซึ่งสามารถจัดการกันน้ำฝนลงไปปนได้ กันน้ำฝนได้ น้ำที่บำบัดแล้วก็จะไม่เปลี่ยนเพราะฝน  คูแบบนี้ต้องคิดเรื่องการลอกตะกอนเพื่อไม่ให้สะสมหนา

อีกหนึ่งอยู่นอกชายคา จะทำยังไงก็กันน้ำฝนลงไปปนไม่ได้ ฝนตกเมื่อไร ค่าต่างๆของน้ำเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับปริมาณน้ำฝนแต่ละห่า

ฝนแรงน้ำเยอะ ก็ชะตะกอนไปทิ้งเหมือนช่วยล้างคู ฝนพรำน้ำน้อยก็ช่วยเติมน้ำลงในคู ซึ่งเท่ากับช่วยเติมออกซิเจนให้น้ำ

คูแบบแรกอยู่ในร่ม คูแบบหลังมีทั้งอยู่ในร่มและได้รับแสงแดดตรงๆ

ปลายสัปดาห์ที่แล้วไปดูคูซ้ำ คูในร่ม ที่กันน้ำฝนได้  มีสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่เพิ่ม 4 ชนิด ชนิดหนึ่งดูเผินๆคล้ายๆลูกน้ำยุงแต่ไม่ใช่ เป็นแมลงบางอย่างตัวขนาดเท่าหัวเข็มหมุดหัวโต ที่เดินไปเดินมาบนผิวน้ำได้ และอีกชนิดรูปร่างเหมือนหนอน ตัวสีแดงๆ เกาะแกว่งตัวอยู่กับตะกอนสีขาวก้นคู

อีก 2 ชนิดเป็นสัตว์น้ำ อย่างแรกเป็นหอยน้ำจืด ขนาดราวๆ 2-3 มม. เดินไปเดินมาเต็มไปหมดที่ตรงคูส่วนตื้นๆ อย่างหลังเป็นปูน้ำจืด คลานมามุดหัวในดินซ่อนตัวอยู่

เมื่อเห็นสัตว์เพิ่มชนิดขึ้น ก็มั่นใจขึ้นว่าเดินมาถูกทางแล้ว วันที่ไปเห็นเจ้าสัตว์พวกนี้ ค่า DO น้ำจากศูนย์ เพิ่มเป็น 1 ผลตรวจโคลีฟอร์มแบคทีเรียในน้ำด้วยน้ำยา SI II ปกติ กำลังรอผลตรวจเพาะเชื้อจากน้ำ และผลตรวจภาคสนามอีกวิธีหนึ่ง

ตะกอนขาวในคูเนียนละเอียดมากขึ้น มีตะกอนแผ่นใหญ่ๆสีดำเขียวเกิดใหม่บ้าง ตะกอนสีดำบางที่บาง บางที่หนา ไม่เห็นฟองอากาศ

ด้านของคูที่โดนแดด ตะกอนสีขาวที่เห็นหนาปื้นเหมือนกาวลาเท็กซ์ ลดความบางลงกว่าเดิม สีขาวๆนวลเนียนขึ้น ตะกอนสีดำหยาบเป็นก้อนๆ  ไม่เห็นตะกอนที่จับกันเป็นแผ่น ใต้ตะกอนลงไปมีฟองอากาศปุดขึ้นมาเรื่อยๆ ผิวน้ำมีฟองอากาศล่องลอยไปตามคูเป็นระยะๆ

คูนี้จะมีปัญหาอุนจิหลุดลงมาลอยอยู่บ่อยๆจากก๊าซในท่อดันให้ไหลย้อน ไม่มีอุนจิและเศษขยะออกมาลอยให้เห็นต่อเนื่องมาเกินกว่า 2 วัน ขยะเศษอาหารที่คนไข้โยนลงในคู มีคราบสีขาวของจุลินทรีย์คลุมจนแทบไม่เห็น

น้ำในคูทั้ง 2 แห่ง ใสแจ๋วเป็นตาตั๊กแตน ไม่มีกลิ่น ยกเว้นจะไปคุ้ยตะกอนจนฟุ้งขึ้น ที่เปลือกกล้วยน้ำว้าที่ลอยน้ำอยู่ มีคราบจุลินทรีย์สีขาวเหมือนหิมะสีนมเกาะหนาอยู่จนไม่เห็นผิวเปลือก และคลุมอยู่เกือบเต็มผล

ไม่ได้ไปดูอยู่ 4 วัน ไปดูอีกทีเช้าวันนี้ คูในร่ม น้ำใสมากขึ้น ปลามีจำนวนหนาแน่นขึ้น มีสิ่งมีชีวิตเพิ่มมาอีกชนิด ตัวยาวๆเกาะตัวอยู่ใต้ผิวน้ำ ก้มเข้าไปใกล้ จึงเห็นว่าเป็นลูกน้ำยุง ดูไม่ออกว่าเป็นยุงรำคาญหรือยุงลาย ด้วยมันลอยตัวอยู่ในจุดที่แสงมืดดูยาก

สิ่งมีชีวิตที่เห็นเพิ่มมาเรื่อยๆ ทำให้มั่นใจว่าวันนี้น้ำสะอาดขึ้นมากแล้ว ผลตรวจภาคสนามอีกวิธีเจอเชื้อโคลีฟอร์มแบคทีเรีย ไปตามผลตรวจเพาะเชื้อ ผลตรวจของฟีคัลโคลีฟอร์ม นับจำนวนแล้วได้สองร้อยกว่า ดีกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของมาตรฐานน้ำเสียเยอะเลย

ตามตัวลูกน้องมาถามผล DO คำตอบคือ DO เพิ่มเป็น 2.5 pH เปฯกลางที่ 7 กว่าๆ

บราโว่ แอบร้องดังๆในใจ ไปได้สวยทีเดียว  ดีใจกับสิ่งที่พบ ประโยชน์ 2 ต่อเลยนะนี่

ต่อแรก แก้ปัญหาที่มีมานานของคูตรงนี้หมดไปอีกเปลาะ จวนถึงเวลาส่งต่องานคืนกลับให้ฝ่ายช่างแล้ว

อีกต่อ คือ หากคนที่เข้ามาอ่านบันทึกเข้าใจ ก็สามารถหยิบไปขยายผลได้ง่ายๆ ช่วยคนให้สุขสบายจากน้ำเสียที่กำลังเผชิญ แก้วิกฤติขยะเปียกน้ำให้กลับมาช่วยคนได้เลยในระยะนี้

« « Prev : ตามลม (๘๓) : มีเรื่องให้เตรียมการกับการลอกตะกอน…หลายเรื่องเหมือนกัน

Next : ตามลม (๘๕) : เจ้าสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้อยู่นี้…ลงตัวเรื่องอะไร » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๘๔) : ยืดชีวิตให้กับน้ำ….สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.17167115211487 sec
Sidebar: 1.1369829177856 sec