ตามลม(๗๗): เจ้าตัวจิ๋วเก่งอะไรบ้าง…มารู้จักกันเหอะ

อ่าน: 1709

เมื่อรู้ว่ามีเจ้าตัวจิ๋วหลายเผ่าพันธุ์เอี่ยวอยู่ในระบบบำบัดน้ำ  ก็ตามทำความรู้จัก รู้จักแล้วก็ทึ่งกับความสามารถที่มันมีอยู่  เจ้าตัวจิ๋วบางตัวเมื่อรู้จักก็เหมือนจะคุ้นชื่อ พอลงลึกในความสามารถกลับกลายเป็นคนแปลกหน้า มาๆๆๆ มารู้จักกับเจ้าตัวจิ๋วด้วยกัน

มีตัวหนึ่งที่คำเรียกคุ้นอย่างยิ่ง ชื่อมันคือ “แบคทีเรียแบซิลลัส” ที่เคยเล่าว่าจุลินทรีย์สร้างแอมโมเนียขึ้นในน้ำ ก็เป็นจากฝีมือเจ้านี่  ใช่แล้วค่ะ แอมโมเนียส่วนใหญ่ที่อยู่ในน้ำเป็นฝีมือของมันนี่เอง

มันเก่งตรงช่วยย่อยโปรตีนให้มีขนาดเล็กลงจนเป็นกรดอะมิโนได้ แล้วยังเปลี่ยนให้เป็นคาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย ซัลเฟต และน้ำได้เลยในสภาวะที่มีออกซิเจน

แต่ถ้าอยู่ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน มันจะเก่งอีกแบบ คือ จะเปลี่ยนโปรตีนจนกลายเป็นแอมโมเนียอะมีน คาร์บอนไดออกไซด์ กรดอินทรีย์ Indole Skatole Mercaptans และ ไฮโดรเจนซัลไฟล์ สารเหล่านี้บางตัวเมื่อเกิดขึ้นแล้ว กลิ่นเหม็นเน่าจะแถมพ่วงมา

เจ้าตัวนี้ยังเก่งกับการสังเคราะห์ฮอร์โมนพืชกลุ่มออกซิน จิบเบอเรลลิน และไซโตไคนิน ด้วย

ตัวต่อมา เป็นกลุ่มที่ผลิตกรดได้ มีอยู่ 2 ก๊ก ก๊กหนึ่งเอ่ยชื่อแล้วเชื่อว่าแทบจะหาคนที่ไม่รู้จักไม่เจอแล้ว  “แลคโตแบซิลลัส” ค่ะ

อีกก๊ก คนที่คุ้นเมื่อได้ยินชื่อแล้วร้องอ๋อ น่าจะเป็นคนที่ทำหน้าที่รักษาพยาบาลสิ่งมีชีวิตทั้งบนบกและในน้ำ  “Pseudomonadaceae” กับ “Acetobacter sp.”

ทั้ง 3 ตัวผลิตกรดเก่งต่างกัน  แลคโตแบซิลลัสเก่งผลิตกรดน้ำนม กรดมด และเอทานอล  Pseudomonadaceae เก่งผลิตกรดน้ำส้ม  Acetobacter เก่งผลิตแอลกอฮอล์ เอทานอล

แลคโตแบซิลลัสไม่สร้างสปอร์ ชอบน้ำตาล และอยู่อย่างอู้ฟู่ มีความสุขในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน และอยู่ดีได้ในที่มีออกซิเจน คอนโดของมันหาง่าย มันชอบไปเช่าของหมัก ของดองทั้งหลายเป็นที่นอน ตัวจิ๋วนี้มีธรรมชาติอยู่กับที่ ไม่ปราดเปรียว ไม่กลัวกรด

มันมีทีมย่อยอยู่ในกลุ่ม 2 ทีม ทีมแรกผลิตกรดน้ำนม (Lactic Acid) เก่ง ทีมที่เหลือจะเก่งกว่า ตรงผลิตได้หลายตัว กรดน้ำนม กรดน้ำส้ม กรดมด กลีเซอรอล แอลกอฮอล์ และคาร์บอนไดออกไซด์ ผลิตได้หมด

Pseudomonadaceae ผลิตกรดน้ำส้มเก่งเมื่อไม่มีออกซิเจน เจ้านี่ปรูดปราดไปไหนได้เร็วด้วยหนวดของมัน เป็นเจ้าตัวจิ๋วที่อดทน ทนกรดได้เก่ง อยู่ได้ที่สภาวะ pH ต่ำกว่า 5 อย่างมีความสุข ยิ่งถ้ามีออกซิเจนยิ่งอู้ฟู่

Acetobacter ผลิตกรดน้ำส้มเก่งเช่นกันแต่ต้องมีออกซิเจน ชอบแอลกอฮอล์ เอทานอล ทนกรดได้เก่ง อยู่ได้อย่างอู้ฟู่ที่ pH ระหว่าง 3.0-3.5

ด้วยความไม่กลัวกรด แลคโตแบซิลลัสจึงกระชับพื้นที่สำเร็จ ทำให้พวกที่ทำให้อาหารเน่าเสียยอมแพ้หรือบางครั้งตายไปหมด ความเก่งนี้ทำให้มันมีอิทธิพลสูงในวงการอาหาร กรดที่มันผลิตช่วยถนอมอาหารด้วย

กรดน้ำส้มทำหน้าที่ได้ดีกว่ากรดน้ำนม ทั้งคู่ทำให้ pH ของอาหารต่ำลง pH ระดับต่ำเป็นยันต์มหาอุดไม่ให้เชื้อก่อโรคเพิ่มจำนวน

ตรงนี้เป็นเรื่องเพิ่งรู้ จึงเอามาบอกกัน กรดน้ำนมเป็นยันต์มหาอุดไม่ให้เชื้อ Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis, Escherichia coli และ Pseudomonas เพิ่มจำนวน  กรดน้ำส้ม เป็นยันต์มหาอุดไม่ให้เชื้อ Salmonella และ Staphylococcus aureus เพิ่มจำนวน

เกือบลืมไปว่าเจ้าตัวจิ๋วพวกนี้ก็มีอยู่ในน้ำหมักชีวภาพ งั้นทั้งหมดนี้ก็เป็นคุณสมบัติที่น้ำหมักชีวภาพมีด้วยซิ

ก็ได้คำตอบนะว่าค่าโคลีฟอร์มในน้ำจากคูทำไมจึงสูงแบบพรวดพราด ลูกบอลน้ำหมักชีวภาพที่หย่อนลงไปในน้ำไว้นี่เองเป็นที่มา

อย่างนี้ถ้าตรวจน้ำที่ใส่น้ำหมักลงไปด้วยวิธี SI II ยังไงๆผลก็ออกมาว่า เจอโคลีฟอร์มซิน่า  อืม หนีไม่พ้นการใช้คลอรีนฆ่าเชื้อก่อนปล่อยทิ้งอยู่ดี

« « Prev : ตามลม (๗๖) : จะใช้น้ำหมักชีวภาพ…ก็ต้องเข้าใจความเป็นตัวแทนของเจ้าตัวเล็กด้วย

Next : ตามลม(๗๘): บำบัดน้ำเสียแบบปรับเสถียรกับคูเจ้าปัญหา…เรื่องนี้น่าลอง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม(๗๗): เจ้าตัวจิ๋วเก่งอะไรบ้าง…มารู้จักกันเหอะ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.094096183776855 sec
Sidebar: 0.43657088279724 sec