ตามลม (๗๖) : จะใช้น้ำหมักชีวภาพ…ก็ต้องเข้าใจความเป็นตัวแทนของเจ้าตัวเล็กด้วย

อ่าน: 1459

เมื่อลูกน้องแวะไปบ่อบำบัดน้ำเสีย แล้วกลับมาเล่าว่ามีปลาหางนกยูงในบ่อ คำถามว่ายอมรับได้ไหมที่ระบบบำบัดน้ำเสียรพ.มีปลาอยู่ด้วยก็ผุดขึ้นมาและตอบไม่ได้  เคยได้ยินแต่ว่าบ่อที่ยอมให้ใบไม้ ดอกไม้ที่หล่นจากต้นลงไปจมอยู่ เป็นบ่อที่ยอมรับในมาตรฐานบ่อไม่ได้เท่านั้น

ปลาที่ไปอยู่ในบ่อตัวโตกว่า 2 นิ้ว เข้าไปอยู่ได้ไงพางง ตั้งสติให้ปัญญาเกิดก็ได้คำตอบว่าลูกน้องนั่นแหละใส่มันลงไป ไม่ได้ใส่ตรงๆที่ระบบบำบัดหรอก คูน้ำรอบๆตึกนั่นแหละคือที่มาของปลา ปลามันว่ายตามน้ำจากคูลงไปหาบ่อเอง ไปแล้วอยู่ได้สบาย อาหารเยอะ มันก็เลยยึดเป็นบ้านซะเลย

เมื่อปลาเป็นครูสอนเรื่อง pH น้ำให้  น้ำที่บ่อก็สอนเรื่องปลาให้เช่นกัน สีเขียวอ่อนของน้ำที่มีปลาอยู่และแพร่พันธุ์ได้ หมายความว่าน้ำนั้นมีออกซิเจนพอและ pH เหมาะให้สิ่งมีชีวิตอย่างจุลินทรีย์และแพลงตอนอยู่ได้

ตรงนี้นำมาเป็นเคล็ดดูน้ำด้วยตาได้ถ้าไม่ใช่น้ำทิ้งจากรพ. น้ำทิ้งจากรพ.มีน้ำหลังเิติมคลอรีนอีกบ่อ จะถือว่าโอได้ก็ต่อเมื่อข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่ตรวจวัดมาโอตามเกณฑ์

ในเรื่องการวัดโคลีฟอร์มในน้ำ มีเรื่องให้ทวนความเข้าใจกันใหม่ เมื่อผลวัดทางนิติวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งได้สะกิดให้สะดุดใจกับค่าของโคลีฟอร์มที่สูงขึ้นพรวดพราดอย่างไม่เคยเห็นมาก่อน

ทวนแล้วก็เห็นความต่างของความเข้าใจ ในน้ำหมักก็มีตัวโคลีฟอร์มอยู่ การทำความเข้าใจที่มาที่ไปของโคลีฟอร์มที่ใช้วัด จะช่วยให้ใช้น้ำหมักอย่างสบายใจต่อๆไป

ทวนกันแล้วก็ได้ความมาว่า กว่าจะสรุปให้โคลีฟอร์มเป็นตัวแทนจุลินทรีย์วัดคุณภาพน้ำ มีมุมพิจารณาอยู่หลายด้าน ได้ความรู้เรื่องจุลินทรีย์บำบัดน้ำเสียแถมมาด้วยว่า เจ้าตัวจิ๋วเหล่านี้มี 3 พวกใหญ่

2 พวกหลังมีแบคทีเรียเป็นหลัก เขาเรียกมันว่า “Procaryotic” ( เป็นพวก Eubacteria และ Archaebacteria )

พวกแรก เรียกว่า “Eucaryotes”  มีรา โปรโตซัว แพลงตอนสัตว์น้ำจืด (Rotifers) และสาหร่ายชนิดต่างๆ เป็นสมาชิก

พวกนี้มีความสามารถหลากหลาย พวกหนึ่งย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียได้  พวกหนึ่งทำอันตรายต่อสุขภาพอนามัยได้ พวกหนึ่งเป็นดัชนีวัดต่างๆได้

วิธีตรวจหาปริมาณและชนิด วิธีตรวจหาความเป็นพิษ เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจคัดเจ้าตัวจิ๋วเป็นตัวแทนเจ้าตัวเก่งจากอุจจาระคนผู้ก่อโรคทางเดินอาหาร

การไม่เป็นอันตรายต่อคน (เพื่อให้ปลอดภัยกับคนตรวจและเพาะเชื้อ) ตรวจพบได้ในน้ำที่ปนเปื้อนเจ้าตัวเก่งที่ก่อโรค ปริมาณที่สัมพันธ์ทางตรงกับเจ้าตัวเก่ง แบบว่าตัวหนึ่งเพิ่ม อีกตัวหนึ่งก็เพิ่มด้วย โดยเจ้าตัวจิ๋วที่เป็นตัวแทนควรมีมากกว่า

วิธีตรวจหาง่าย ไม่ใช้เวลามาก นับตัวง่าย เมื่ออยู่ในสภาวะการณ์เดียวกัน ถ้าเจ้าตัวเก่งเพิ่มจำนวนไม่ได้ เจ้าตัวจิ๋วก็ไม่เพิ่มจำนวนมากขึ้น  มีความแกร่งมากกว่าเจ้าตัวเก่ง ในขณะที่เจ้าตัวเก่งอยู่ไม่รอดในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ตัวมันอยู่รอดได้  เหล่านี้เป็นมุมที่ใช้ตัดสินใจร่วม

สุดท้ายจึงได้ตัวแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์ม (Coliform Bacteria) มา เพราะเป็นตัวที่เข้าข่ายของหลักเกณฑ์ดังกล่าวมากกว่าตัวอื่น

แต่ตัวมันก็มีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น มันสามารถแบ่งตัวเพื่อเพิ่มปริมาณในน้ำให้มากขึ้นได้ ทำให้ปริมาณที่นับได้จากการตรวจทางวิทยาศาสตร์ ไม่สื่อถึงปริมาณที่แท้จริงที่สัมพันธ์ทางตรงกับจุลินทรีย์ชนิดก่อโรคซึ่งในสภาวะที่คล้ายกัน ไม่ค่อยจะแบ่งตัวเพื่อเพิ่มจำนวน

ในอุจจาระสัตว์ก็มีโคลิฟอร์มแบคทีเรียด้วย ทำให้ชี้ชัดไม่ได้ว่าเจ้าตัวที่พบนั้นมาจากอุจจาระสัตว์หรือคนแน่

ในทางวิทยาศาสตร์ นักวิชาการเขาจะวัดค่าเจ้าตัวจิ๋วเชิงปริมาณ ตัวหนึ่งเป็นโคลีฟอร์มทั้งหมดในน้ำนั้น อีกตัวเป็นแบคทีเรียโคลีฟอร์มที่อยู่ในลำไส้ซึ่งมีอยู่ในน้ำด้วย

ในน้ำหมักมีแลคโตแบซิลลัส เจ้าตัวจิ๋วที่ชื่อนี้ในลำไส้คนก็มี อย่างนี้ยังต้องหาความรู้เพิ่มแล้วละ เพื่อประโยชน์ในการแปลผลการตรวจวัดน้ำที่ผ่านการเติมน้ำหมักให้ตรง

หน่วยวัดของโคลีฟอร์มที่ใช้อยู่เป็น เอ็มพีเอ็น (Most Probable Number-MPN) หมายถึง ปริมาณที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด หรือใกล้เคียงกับค่าความเป็นจริงมากที่สุด

น้ำดื่มนั้นวัดโคลีฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด ไปเทียบกับค่ามาตรฐานน้ำดื่มที่บังคับใช้ในประเทศไทย ซึ่งระบุว่า “จำนวนโคลิฟอร์มแบคทีเรียทั้งหมด ที่พบต้องไม่เกิน 2.2 MPN ต่อปริมาณน้ำ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร”

น้ำทิ้งจากโรงบำบัดน้ำเสีย และน้ำของแหล่งน้ำทั่วไป วัดเฉพาะปริมาณโคลิฟอร์มแบคทีเรียที่พบได้ในอุจจาระคน ซึ่งเรียกง่ายๆว่า ฟีคอลโคลิฟอร์ม (Fecal Coliform) ไปเทียบค่า

ค่าที่ยอมรับว่าโอสำหรับน้ำที่ใช้กับการอนุรักษ์สัตว์น้ำ การประมง การว่ายน้ำและกีฬาทางน้ำ อยู่ที่ไม่เกิน 1,000 MPN ต่อ 100 มิลลิลิตร  กับน้ำที่ใช้ทางการเกษตรกรรม อยู่ที่ไม่เกิน 4,000 MPN ต่อ 100 มิลลิลิตร

อืม จุลินทรีย์กับน้ำนี่มีเรื่องจุกจิกและหลากหลายจริงๆ  ตามล่าหาความรู้ตรงนี้มาได้ยิ่งเห็นชัดว่า หัวใจของน้ำทิ้งจากรพ. ณ จุดสุดท้ายก่อนทิ้งสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ไม่ได้มีแต่เรื่องของจำนวนของเชื้อก่อโรคทางเดินอาหารมุมเดียว ยังมีมุมของปริมาณมลสารก่อโรคอีกมุมหนึ่งด้วย

« « Prev : ตามลม (๗๕) : การยอมให้มีใบไม้ ดอกไม้ร่วงลงในระบบบำบัดน้ำเสียไม่ดียังไง

Next : ตามลม(๗๗): เจ้าตัวจิ๋วเก่งอะไรบ้าง…มารู้จักกันเหอะ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๗๖) : จะใช้น้ำหมักชีวภาพ…ก็ต้องเข้าใจความเป็นตัวแทนของเจ้าตัวเล็กด้วย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.029531002044678 sec
Sidebar: 0.23880290985107 sec