ตามลม (๒๘) : pH แอมโมเนีย ปลา ปูนขาว

อ่าน: 2073

ในช่วงที่แวะเวียนไปเยี่ยมหน่วยไตเทียม ก็ได้ผู้ร่วมงานใหม่เพิ่มมาหนึ่งคน ในช่วงต้นให้เธอคอยตามสังเกตแล้วบันทึกผลความก้าวหน้าอยู่ชิ้นหนึ่งของน้ำเสียในจุดอื่น

น้ำตรงนั้นมีสีดำ เหม็น กลิ่นจะแรงเมื่อเข้าใกล้ เป็นบ่อน้ำทิ้งที่อยู่ใกล้ส้วมคนไข้ อยู่ใกล้ที่โล่ง มีลมพัดถึง ไม่เคยพบฝูงยุง ไม่เคยพบลูกน้ำยุงที่นี่ เคยวัดก๊าซพบว่า มีเทนสูงตรงจุดใกล้บ่อ  ค่าทางเคมีของน้ำเป็นกรด pH ต่ำกว่า 5 ค่า DO ต่ำราวๆ 2 กว่าๆ

ลองปรับความเป็นกรดด้วยปูนขาวแล้วตามดู ค่าความเป็นกรด-ด่างและ DO ว่าปูนขาวช่วยเปลี่ยนแปลงอะไรไปบ้าง อะไรเปลี่ยนเร็ว อะไรเปลี่ยนช้า  เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนต่ออย่างไร

ลูกน้องตามอยู่ 3 สัปดาห์ ก็ได้ข้อสังเกตมาว่า เมื่อโรยปูนขาวลงน้ำ กว่าปูนขาวจะละลายจนไม่เห็นสีขาวๆ ใช้เวลากว่า 2 สัปดาห์

น้ำที่ลองโปรยปูนลงไปเป็นน้ำขังในบ่อที่มีรูก้นปล่อยน้ำไหลออกเรื่อยๆ หลังโปรยปูน น้ำไม่ใสทันที 2-3 วันให้หลังจึงใสขึ้นกว่า และจนละลายหมดน้ำก็ไม่ใสปิ๊ง  ค่าเคมีเปลี่ยนภายใน 12 ชั่วโมงหลังโปรย เพิ่มความเป็นด่างให้น้ำมากขึ้น

มีวันหนึ่งที่เห็นค่าเคมีเป็นด่างราวๆ 7 ค่า DO 2.5 เมื่อมีคนบอกว่าคุณสมบัติน้ำอย่างนี้ปล่อยทิ้งได้ ไม่เป็นไร ก็จะปล่อยทิ้งไปแล้วละ

แวบคิดขึ้นมาว่า เคยลองใช้ปูนขาวโรยในพื้นที่น้ำขังหลังน้ำท่วม แต่ไม่เคยรู้ว่า ปลาอยู่ในน้ำโรยปูนขาวได้ไหม  อยากรู้ก็เลยให้ลูกน้องหาปลาหางนกยูงไปปล่อยลองดู ได้เรื่องเลย ใส่แล้วปลาหายจ้อย  ไปคอยมองอยู่หลายวันก็ไม่เห็น มีแต่หนอนตัวเบ้อเริ่มว่ายน้ำอยู่แทน 2-3 ตัว

แปลกใจขึ้นมาทันที ค่าเคมีที่เขาว่าดีแล้ว ยอมรับได้ ทำไมปลาอยู่ไม่ได้  ไม่รู้ก็หาครูอีกแหละ ได้มาว่า pH มีผลต่อการมีชีวิตของปลา

จุดอันตรายที่ทำให้ปลาตายได้ คือ pH 4.0 หรือต่ำกว่า  และ  pH 11 ขึ้นไปเป็นพิษกับปลา   ถ้าน้ำมีแอมโมเนียละลายปน pH ที่สูงขึ้นเพิ่มความเป็นพิษของแอมโมเนีย เพิ่มการแทรกซึมสารพิษเข้าสู่ตัวสัตว์น้ำ

ปลาบางชนิดอาจโตช้า สืบพันธุ์ชะงัก ที่ pH 4.0-6.0

pH ที่เหมาะสมต่อการอยู่รอดของสัตว์น้ำอยู่ที่ 6.5-9.0

pH มีผลทางอ้อมเกี่ยวกับการแตกตัวทั้งเพิ่มและลดของสารพิษในน้ำ

เพิ่งรู้อีกนะว่า เคมีของน้ำเวลากลางวันและกลางคืนแตกต่างกันได้ ถ้าในน้ำนั้นมีแพลงตอนพืชและพืชน้ำอยู่ เวลากลางวันสูง และค่อยๆลดลงเวลากลางคืน

น้ำที่เหมาะสมจะเลี้ยงสัตว์น้ำ ไม่ควรมีค่า pH ที่เปลี่ยนแปลงเกิน 2 หน่วยต่อรอบวัน

อยากรู้ค่าเคมีของน้ำ มีวิธีดูง่ายๆที่ปลาด้วยนะ  ถ้าปลาว่ายไปมาเร็วๆ ผิวหนังซีด ชอบกระโดดฮุบอากาศ ชอบดีดตัวจากผิวน้ำ ให้นึกไว้เลยว่าน้ำมีความเป็นกรดมากไปแล้ว  ถ้าเห็นครีบปลากร่อน ให้นึกไว้เลยว่า น้ำมีภาวะด่างมากแล้ว ( pHสูงกว่า 8)

อ้าว…เจอแล้วว่าอะไรเป็นเหตุทำปลาหายจ้อย แอมโมเนียจากส้วมนี่เองแหละ ….วุ๊ย…วุ๊ย…วุ๊ย…มีเรื่องกดดันให้เรียนเยอะไปแล้วนา…เจอกับสิ่งที่มองไม่เห็นและไม่คุ้นเคยทั้งนั้นเลย…ทำยังไงต่อกับน้ำที่มีแอมโมเนียละลายจนเป็นพิษได้บ้างละนี่

« « Prev : ตามลม (๒๗) : ปูนขาวช่วยอะไรได้บ้าง

Next : ตามลม (๒๙) : สีตะกอน สารอินทรีย์ สารอนินทรีย์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๒๘) : pH แอมโมเนีย ปลา ปูนขาว"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.015478134155273 sec
Sidebar: 0.10536479949951 sec