ตามลม (๒๗) : ปูนขาวช่วยอะไรได้บ้าง

อ่าน: 1748

เมื่อตามรอยความชื้นไล่เรื่อยจากแหล่งน้ำไปก็เป็นอะไรที่ทำให้อึ้ง คาร์บอนไดออกไซด์ และ มีเทน คือ ก๊าซที่อยู่ใกล้ตัวคนเมืองมาก  ในอาคารธรรมดาๆที่คนเมืองอยู่ ถ้าหากมีขยะหรือน้ำเสียหรืออับอากาศอยู่ที่ไหน ตรงนั้นเกิดมลพิษทางอากาศจากก๊าซ 2 ตัวนี้ได้เลย

ก่อนนี้ก็แค่ตามว่า สิ่งที่ปนในน้ำตรงคูจะเป็นพิษกับสิ่งมีชีวิตอย่างปลาหางนกยูงที่นำมาปล่อยไว้แค่ไหน โดยดูแค่ว่าปลาที่ใส่ลงไปรอดหรือตาย  เห็นปลาไม่ตายก็โล่งใจ แต่เมื่อเจอแม่ลูกครอบครัวหนึ่งกำลังไล่จับปลาหางนกยูงในคูใส่ถุงนำกลับไปเลี้ยงที่บ้านในบ่ายวันนี้ ในขณะที่ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งปนเปื้อนนั้นมีสารอนินทรีย์ สารเคมี อะไรปนอยู่ด้วยแค่ไหน  ภาพที่เห็นก็ทำให้ไม่สบายใจ

“น้ำเสีย” เป็นน้ำที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมเพื่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต   น้ำเสียจากที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่างๆของคน ไม่ว่าจะชั่วคราวหรือถาวร บ้านเรือน โรงแรม หมู่บ้าน ตลาดสด โรงพยาบาล นาไร่ โรงงาน ร้านอาหาร โรงอาหาร ครัวชั่วคราว ฯลฯ เป็นพื้นที่ที่สามารถพบเจอน้ำเสียได้ทั้งนั้น

นอกจากสิ่งปฏิกูลที่ปนเปื้อนอยู่แล้ว สารหรือของปนเปื้อนสกปรกที่ปะปนอยู่จนทำให้คุณสมบัติของน้ำเปลี่ยนแปลงไปมีอะไรอีก คุณสมบัติน้ำเป็นอย่างไรจึงเรียกว่าเสียก็เป็นอะไรที่ทำให้ต้องหวนมาหาความรู้เติม

ในเมื่อผลตรวจน้ำเชิงลึกยังไม่ได้มา เพื่อความสบายใจถามครูกู้ดีกว่า จะมีอะไรพอบอกง่ายๆและจัดการง่ายๆได้บ้างเกี่ยวกับสิ่งปนเปื้อน   ก็ได้ความมาอย่างนี้  :

ลักษณะทางกายภาพของน้ำเสียที่เป็นสีเทาปนน้ำตาลจางๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้แล้วมีสีเข้มและมีกลิ่นเหม็น สีที่เข้มขึ้นเรื่อยๆเกิดจากมีปฏิกิริยาแบบไม่ใช้ออกซิเจนเกิดขึ้นในน้ำ โดยทั่วไปแล้ว สีดำเกิดจากการรวมตัวของก๊าซไข่เน่ากับธาตุโลหะที่มีอยู่ในน้ำเสีย ทำให้เกิดโลหะซัลไฟต์ (METALLIC SULFIDES)

กลิ่นมาจากก๊าซ ส่วนใหญ่เป็นไฮโดรเจนซัลไฟต์ ก๊าซนี้เกิดจากมีจุลินทรีย์ชนิดไม่ต้องการออกซิเจน (ANAEROBIC MICROORGANISM) อยู่ในน้ำนั้น

ส่วนของสารต่างๆในน้ำเสีย มีส่วนของแข็งอยู่ ซึ่งมีทั้งที่ไม่ละลายน้ำ และละลายน้ำ (DISSOLVED SOLIDS) ตะกอน คือ ของแข็งส่วนหนึ่งที่เห็นได้

จุลินทรีย์ที่ปนในน้ำเสียจากส้วม มีทั้งชนิดที่ทำให้เกิดโรคและไม่ทำให้เกิดโรค สำคัญกับการย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำเสียนั้นๆ

ค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำ ใช้ค่า 7 เป็นจุดแบ่งเขตสภาวะ ต่ำกว่าเป็นกรด สูงกว่าเป็นด่าง ค่ากลางคือค่า 6-8 คือสภาวะที่สิ่งมีชีวิตในน้ำจะดำรงชีพได้ดี ไม่มีฤทธิ์กัดกร่อนท่อหรือภาชนะ

การเน่าเสียของน้ำที่มีสารอินทรีย์อยู่จำนวนมาก บอกถึงการมีออกซิเจนไม่พอในน้ำนั้น และการกำลังมีสภาวะการย่อยสลายในสภาพไร้ออกซิเจน

ปูนขาวที่เติมลงในน้ำสามารถช่วยปรับความเข้มข้นจนทำให้เกิดการตกตะกอนของโลหะหนักบางชนิด เช่น ตะกั่วไฮดรอกไซด์ หรือแคดเมียมไฮดรอกไซด์ได้ ทำให้สารฟอสเฟตที่ละลายน้ำอยู่ตกตะกอน และจัดการแปรสภาพกลุ่มโลหะเหล็ก ( เหล็ก แมงกานีส อลูมิเนียม สังกะสี โครเมียม) และก๊าซอันตราย ( คาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไข่เน่า ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนตรัสออกไซด์ ) ให้อยู่ในสภาพเป็นกลาง ตกตะกอนแยกจากน้ำด้วย

คูที่แม่ลูกไปไล่จับปลากันนั้นมีตะกอนขาวหนาเป็นหย่อมๆ เมื่อวานให้ลูกน้องโรยปูนขาวไว้ก่อนกลับบ้าน เมื่อเจอแม่ลูกกำลังจัดการกับถุงปลาก็ให้คำแนะนำไปว่าเสี่ยงอย่างไร และได้ให้แม่ลูกไปจัดการความสะอาดกับร่างกายก่อนพากันกลับบ้าน เหลือบตาดูในคูก่อนผละมา ไม่เห็นตะกอนขาวเหมือนเมื่อวานนี้ สบายใจขึ้นหน่อยกับกายภาพของน้ำที่เห็น

ขอบคุณครูกู้ก็ช่วยเฉลยว่าที่ทำลงไปแล้วนั้นช่วยลดความเสี่ยงจากโลหะหนักให้แม่ลูกครัวนี้ได้

อืม ความเป็นรพ.ในพื้นที่กึ่งชนบทกึ่งเมือง กับวิถีชาวบ้าน เปิดมุมมองให้เรียนรู้เรื่องการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอีกเรื่องแล้วซิ

« « Prev : ตามลม (๒๖) : ผักตบชวาฟอกน้ำให้ใสได้ช้ากว่าลูกบอลน้ำหมัก????

Next : ตามลม (๒๘) : pH แอมโมเนีย ปลา ปูนขาว » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๒๗) : ปูนขาวช่วยอะไรได้บ้าง"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.060819864273071 sec
Sidebar: 0.32221603393555 sec