ตามลม (๖๗) : EM จะช่วยได้มั๊ยนะ

อ่าน: 2137

ในเรื่องของการจัดการกับน้ำทิ้ง ยังคงต้องสนใจกับสารลดแรงตึงผิว เพราะรพ.ใช้มันจัดการกับความสกปรกที่เข้มข้นกว่าในครัวเรือนทั่วไป

วันหนึ่งกำลังเดินไปกินข้าว เหลือบไปเห็นฟองกองใหญ่ในคูที่กำลังคิดแก้ปัญหากัน ฝนที่กำลังตกหนักเริ่มซาเม็ดลงพอดี เกิดคำถามขึ้นทันที ฟองนี้มาจากไหนไม่เคยเห็น พื้นที่ตรงนี้เป็นตึกคนไข้ มีการซักผ้าด้วยหรือ

เดินเลยไปอีกหน่อยได้ยินเสียงน้ำไหลโครมๆจากระเบียงตึกไกลคูเดิมไปราวๆ 4 เมตร เงยมองต้นน้ำที่มาไม่เห็น ตามไปดู น้ำมีฟองเป็นฝีมือแม่บ้านที่กำลังขะมักเขม้นขัดล้างระเบียงตึกซึ่งเต็มไปด้วยคราบไคลของตะไคร่น้ำสีเขียวดำนี่เอง

คราบเปียกๆของตะไคร่น้ำเป็นหย่อมๆที่ฝนชุกในช่วงที่ผ่านมาทำเหตุเอาไว้ทำให้พื้นที่ดูสกปรก

เดาว่าต้นเรื่องของฟองเป็นผงซักฟอก ดูวิธีทำงานอยู่ครู่ใหญ่ก่อนจากมาพร้อมคำถาม หากไม่ให้แม่บ้านใช้ผงซักฟอกเพื่อทำความสะอาด จะให้เธอใช้อะไรแทนละกับงานขัดล้างนี้ แล้วก็ยังตอบไม่ได้

ไปกินข้าวแล้วก็นึกขึ้นได้ ร้านอาหารเอกชนเชื่อใจนำ EM ไปใช้จัดการกับไขมันที่ติดจาน ชาม หม้อ ลดคราบไขมันในน้ำทิ้งจากร้านได้มาก จนวันนี้ถ้าไม่มี EM ไว้ล้างจาน แม่ค้าจะอึดอัดกับกระบวนการทำความสะอาดในครัวของเขาแล้ว

ดูเหมือน EM ทำงานให้ผลเหมือนสารลดแรงตึงผิว แต่มันเป็นสารลดแรงตึงผิวหรือเปล่า ไม่รู้แฮะ

แวะไปถามอากู๋เพื่อจะได้รู้ ได้ความเรื่องสารลดแรงตึงผิวชีวภาพมาว่า  สารลดแรงตึงผิวชีวภาพ (biosurfactant) มีความสามารถในการลดแรงตึงผิวระหว่างผิวของของเหลวลง ผลิตมาจากจุลินทรีย์ชนิดต่างๆ  แรงตึงผิวที่มันเข้าไปเกี่ยว เป็นแรงตึงผิวหน้าและแรงตึงผิวระหว่างผิวหน้าของสารละลาย 2 ชนิดที่อยู่ร่วมกัน แล้วทำให้สารไฮโดรคาร์บอนละลายน้ำได้ หรือน้ำสามารถแทรกตัวเข้าไปในสารประกอบไฮโดรคาร์บอนได้

สารลดแรงตึงผิวชนิดนี้ใช้แล้วไม่มีสารเคมีตกค้างในสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายทางชีวภาพโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำงานในสภาวะที่วิกฤติสุดๆได้ เหมาะกับการนำมาเป็นส่วนประกอบในผงซักฟอกและช่วยให้เกิดอิมัลชัน

วันนี้ในวงการอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมปิโตรเลียม การเกษตรและสิ่งแวดล้อม  และการทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ เช่น แท็งก์เก็บน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน  การผลิตผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด มีการนำมันไปใช้ประโยชน์

ในการบำบัดสภาพแวดล้อมก็มีการนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการการปนเปื้อนของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน

สารตัวนี้ช่วยลดการดูดซับสารประกอบไฮโดรคาร์บอน และช่วยปลดปล่อยสารไฮโดรคาร์บอนออกมาในรูปที่ถูกย่อยสลาย โดยจุลินทรีย์ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม

แบ่งสารนี้เป็นกลุ่มโดยใช้โครงสร้างหรือน้ำหนักโมเลกุลก็ได้ วันนี้แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆโดยใช้โครงสร้างจำแนก

ส่วน EM นั้นอากู๋บอกไว้แค่ว่า เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่ผลิตกรดแลคติก ยีสต์ และจุลินทรีย์ที่สังเคราะห์แสง ย่อมาจากคำว่า “Effective Microorganisms”

ตัวแรกเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรดแลคติกโดยกระบวนการหมัก ของเหลวที่เกิดขึ้นจะมี pH ที่ต่ำ

ยีสต์ผลิตสารชีวพันธ์ต่าง ๆ หรือสารที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต เช่น กรดอะมิโน และแป้ง ปกติมีอยู่มากในสิ่งแวดล้อมที่มีน้ำตาลมาก เช่น น้ำหวานจากเกสรดอกไม้ ตามผิวของผลไม้

ตัวสุดท้ายใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ย่อยสลายสารอินทรีย์และอนินทรีย์  มีอยู่ตามนาข้าว ทะเลสาบ และทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้  เป็นจุลินทรีย์หลักในวัฏจักรไนโตรเจนและวัฏจักรคาร์บอน ตัวนี้เป็นจุลินทรีย์ที่สำคัญใน EM  ตัวนี้ทำให้แปลกใจตรงที่อากู๋บอกว่า มันถือกำเนิดมาก่อนมีโลกซะอีก

อากู๋เล่าด้วยว่า วงการอุตสาหกรรมอาหารเขาใช้ผลิตภัณฑ์หนึ่งของกรดแลกติกเป็นตัวทำให้ไขมันอยู่ร่วมกับน้ำได้ดีขึ้น (Emulsifier) และยังใช้กรดแลกติกแทนกรดมดซึ่งเป็นต้นตระกูลของฟอสเฟตในอุตสาหกรรมผงซักฟอก สบู่ด้วย

5555 ได้คำตอบแล้ว EM เป็นสารลดแรงตึงผิวชีวภาพจริงๆด้วย อย่างนี้ก็แจ๋ว แค่หาว่า EM มีฤทธิ์กัดเซาะยังไง ก็มีทางลดการใช้ผงซักฟอกขัดล้างอย่างที่เจอได้แล้ว

« « Prev : ตามลม (๖๖) : ตรวจตะกอนก่อนนำทิ้ง…น่าจะเป็นทางออกได้

Next : ทางเลือก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๖๗) : EM จะช่วยได้มั๊ยนะ"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.016602993011475 sec
Sidebar: 0.11491394042969 sec