ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ธันวาคม 26, 2008

ชลบถพิบูลย์

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 13:59

ปีหน้ามีเกณฑ์ต้องโยกย้ายที่อยู่ อิอิ เพิ่งไปอ่านทำนายโชคชะตาราศรีมา แต่ความจริงเกณฑ์ส่วนตัวไม่เกี่ยวกับโชคชะตาเกิดมาแต่ต้นเดือนที่แล้วเพราะได้บ้านเช่าหลังใหม่ จึงเตรียมการปรับปรุงบ้านให้น่าอยู่น่านอนมากขึ้น

บ้านหลังใหม่นี้จะเอาไว้เป็นที่ทอผ้าของช่างทอจากเมืองพล ที่จะผลัดเปลี่ยนกันมาทอผ้าที่ขอนแก่น ส่วนของบ้านบางห้องจะเอาไว้จัดแสดงผ้าทอของโครงการวิจัยและผ้าสะสมส่วนตัว ซึ่งบ้านเล็ก ๆของเราเตรียมชื่อเอาไว้แล้วว่า ชลบถพิบูลย์

เดิมชุมชนของเราที่อยู่เมืองพลเป็นส่วนหนึ่งของท้องที่เมืองชลบถ หรือ ชลบถพิบูลย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านกองแก้ว(อำเภอชนบทปัจจุบัน) คนท้องที่ในระแวกนี้เป็นชาติพันธุ์ลาว มีฝีมือด้านการทอผ้าไหมมาก ดังนั้นชุมชนแถวนี้จึงกลายเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมมัดหมี่คุณภาพดี

คำว่า ชลบถ มีความหมายดีแปลว่า เมืองที่แวดล้อมด้วยเส้นทางน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับภูมิประเทศของบ้านกองแก้วที่แวดล้อมไปด้วยแอ่งน้ำ ดังนั้นเมื่อยกบ้านกองแก้วเป็นเมืองขึ้นตรงต่อราชสำนักกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าพระราชทานชื่อเมืองว่า ชลบถพิบูลย์ กินอาณาเขตกว้างถึงเขตบ้านไผ่ เมืองพล หนองสองห้อง แวงน้อย แวงใหญ่

ต่อมาชื่อบ้านชื่อเมืองก็เพี้ยนจาก ชลบถ มาเป็น ชนบท ซึ่งแปลว่า บ้านนอก ไม่ว่าคำจะเพี้ยนไปอย่างไรเมืองชลบถพิบูลย์ก็ยังคงสัญญะของความหมายของชุมชนช่างทอผ้าไหมคุณภาพดีอยู่เช่นนั้นเอง

ดังนั้นบ้านเช่าหลังใหม่ของเราชาวช่างทอผ้า จึงเลือกชื่อ ชลบถพิบูลย์ เป็นชื่อบ้านน้อยหลังงามของเรา ซึ่งตอนนี้กำลังปรับปรุงให้พออยู่พออาศัยได้ เปิดบ้านเมื่อไหร่จะเชิญชวนทุกท่านมาเยี่ยมนะครับ

พฤศจิกายน 27, 2008

คุณภาพไหมสาวมือแบบพื้นบ้าน

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 23:57

ช่วงนี้ออกไปทางวุ่น ๆ กับชีวิตทั้งชีวิตตนเอง ชีวิตครอบครัว และสังคมเมืองไทย ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงและดำเนินไปตามสภาพ งานส่วนตัวกำลังจะทำสตูดิโอทอผ้าจึงต้องเตรียมอาคารเอาไว้ทำให้ไม่มีเวลาจะมาเขียนเรื่องราวอะไรมากนัก วันนี้เลือกเรื่องที่จะมาเขียนออกไปทางพื้น ๆ แต่ทว่าผมว่าจำเป็นสำหรับคนสนใจงานผ้าทอพื้นเมือง

ผู้สนใจผ้าไหมมักเกิดคำถามอยู่ในใจว่าผ้าไหมที่ตนเองสนใจหรือมีไว้ในครอบครองหรือสะสมเป็นไหมชนิดใด เรื่องนี้พอมีชนิดของเส้นไหมมาเล่าสู่กันฟัง โดยปกติเมื่อดังรังไหมออกมาจากสาวด้วยมือแล้ว คนอีสานมักเรียกไหมเป็นหลายชนิดคือ

1.ไหมหลืบ หมายถึงไหมเส้นที่หุ้มอยู่บริเวณผิวรอบนอกของรังไหม ไหมส่วนนี้เส้นใยจะไม่ละเอียด จะมีลักษณะพองฟูหรือมีเศษใบหม่อนเศษไหมติดอยู่ด้วยเนื่องจากอยู่รอบนอกสุด ดังนั้นหากต้องการไหมคุณภาพดีต้องเอาไหมส่วนที่อยู่เปลือกนอกออกมาเสียก่อน ในภาษาอีสานเรียก หลืบ ในการสาวไหมในแต่ละวันแม่หญิงอีสานจะหลืบไหมเอาไว้ให้พร้อมก่อนจะสาวไหมคุณภาพในช่วงต่อไป เส้นไหมจากกระบวนการหลืบไหมนี้จึงเส้นใหญ่ไม่สม่ำเสมอ

2.ไหมน้อย หมายถึงไหมเส้นที่อยู่ในลำดับถัดไปจากการหลืบไหม จะมีเป็นไหมคุณภาพดี เส้นใยมีความสม่ำเสมอ สีเหลืองของไหมพื้นบ้านจะแวววาวและอ่อนนุ่มกว่าไหมหลืบมาก ไหมกลุ่มนี้จึงมีเส้นเล็ก แม่หญิงอีสานเรียก ไหมน้อย ในกระบวนการสาวไหมน้อยนี้ ช่างสาวไหมจะพีถีพิถันมาก โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพของอุณหภูมิน้ำร้อนจากการสาวไหม การเขี่ยรังไหมให้พอดีไม่มากเกินไปและน้อยเกินไป รวมทั้งจังหวะการสาวไหมเพื่อให้เส้นไหมมีความสม่ำเสมอ

3.ไหมแลง หมายถึง ไหมที่สาวตอนเย็นหรือตอนแลง โดยปกติช่างสาวไหมจะสาวไหมน้อยไปในระยะหนึ่งจะไปสาวจนเกือบหมดเส้นใย และจะเหลือกลุ่มเส้นใยที่อยู่ด้านในสุดก่อนถึงดักแด้เอาไว้ เพราะเส้นไหมส่วนที่ติดอยู่กับดักแด้คุณภาพไม่ดีนักเพราะอาจจะมีเศษของตัวหนอนไหมติดมาด้วย นอกจากนั้นยังมีรังไหมคุณภาพไม่ดีช่างสาวจะเอามารวมสาวในตอนสุดท้ายซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเย็นมาก จึงเรียกไหมกลุ่มนี้ว่าไหมแลง ซึ่งมีสีและขนาดไม่สม่ำเสมอ

4.ไหมสาวเลย หมายถึงไหมที่มีการสาวลวดเดียวโดยไม่ต้องมีการสาวหลืบ ดังนั้นเส้นใยของไหมสาวเลยจึงมีขนาดใหญ่กว่าไหมน้อย แต่คุณภาพดีกว่าไหมหลืบและไหมแลง โดยส่วนใหญ่ไหมสาวเลยนี้นิยมทำในช่วงที่แม่หญิงอีสานมีเวลาน้อยในการสาวไหม ดังนั้นจึงนิยมสาวเลยโดยไม่ต้องเสียเวลาสาวไหมหลืบ

ไหมแต่ละอย่างนี้ช่างทอผ้าของอีสานจะนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกัน นอกจากเอาไว้ขายซึ่งราคาจะแตกต่างกันคุณภาพของเส้นไหม แต่หากไม่ขายช่างทอผ้านิยมเอาไหมแต่ละชนิดไปใช้ต่างกันดังนี้

ไหมน้อย เป็นไหมคุณภาพดีที่สุดเป็นที่ต้องการ ในการทอจะมีความสะดวกที่สุด กระบวนการไม่ยุ่งยากมากเนื่องจากเส้นไยมีความสม่ำเสมอ ดังนั้นไหมน้อยจึงถูกนำไปทอเป็นผ้าโสร่ง ผ้าสิ่น ผ้านุ่งนาค หรือผ้าที่เตรียมไว้สำหรับ “ของสมมา” ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายในงานแต่งงาน

ไหมสาวเลย เป็นไหมคุณภาพดีปานกลาง ในการทอจะมีความสะดวกทีสุด กระบวนการไม่ยุ่งยากมากเนื่องจาดเส้นไยมีความสม้ำเสมอดังนั้นไหมสาวเลยจึงถูกนำไปทอเป็นผ้าสิ่น ผ้าขาวม้าหรือผ้าที่เตรียมไว้สำหรับของสมมาญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายในงานแต่งงาน

ไหมหลืบและไหมแลงเป็นไหมคุณภาพไม่ดีมาก ในการสาวแต่ละคราวได้ไม่มากนัก จึงนิยมสะสมไว้เพื่อใช้ทอผ้าขาวม้า หรือทำหัวสิ่น ตีนสิ่น

พฤศจิกายน 7, 2008

ประสบการณ์ใหม่ในบ้านเก่าเมืองกาฬสินธุ์

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 15:15



พฤศจิกายน 6, 2008

น้องกับแก้ จะมาช่วยเรา ไชโย

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 18:49

สองปีแล้วที่ญาติพี่น้องช่างทอผ้าชาวบ้านของผม มาร่วมกันทอผ้าที่โรงทอหลังบ้านผม จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้ามาร่วมกันทอผ้ามีวัตถุเพื่อการมีรายได้ใช้จ่ายในครอบครัวของช่างทอเอง ถึงแม้จะไม่มากเพราะผู้ประสานอย่างผมนั้นไม่ค่อยเก่งเรื่องหาตลาด แต่ก็นับว่าค่อยเป็นค่อยไปและไม่รีบเร่งมาก จนความสุขหายไป

ในส่วนของผ้าทอลายโบราณนั้น ช่างทอผ้าทุกคนไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ก็เพียงแต่ต้องเพิ่มความปราณีตลงไปในงานทอให้มากขึ้น เพราะนี่เป็นเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมของเรามีต้องรักษาเอาไว้ อย่างน้อยก็เป็นมรดกสำหรับสังคมอีสานสมัยใหม่ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน แผนงานส่วนนี้เราไม่ต้องใช้งบประมาณมากในการสนับสนุน

ในส่วนงานการพัฒนาลายผ้าสมัยใหม่เป็นงานที่ต้องลงทุนอยู่มาก ดีที่ได้เราได้รับอุดหนุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาลายผ้าใหม่ ๆ จากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการปรับเอาความรู้สมัยใหม่ไปใช้ในการพัฒนาผ้าทอมือของช่างพื้นบ้าน ซึ่งผลงานตลอดระยะที่ผ่านมากก็นับว่าน่าพอใจสำหรับช่างทอพื้นบ้านอยู่มาก ซึ่งส่วนงานนี้ยังต้องดำเนินต่อไป

เมื่อช่างทอรุ่นเก่าสามารถพัฒนางานทอได้ทั้งผ้าทอลายโบราณและผ้าทอลายสมัยใหม่ ก็นับว่าอุ่นใจอยู่ในระดับหนึ่ง ส่วนประเด็นใหม่ที่เราพยายามมองคือช่างทอผ้ารุ่นใหม่ ที่เป็นรุ่นใหม่จริง ๆ ผมวางแผนเอาไว้ว่าในปิดเทอมปีนี้แผนงานพัฒนาช่างทอเยาวชนจะเริ่มลงสู่โรงทอ ซึ่งตอนนี้ก็นับว่าได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ ในชุมนุชนของเราอยู่พอสมควร รอแต่เวลาที่เหมาะสม

ในแผนงานนี้โรงทอจะเป็นเจ้าภาพในเรื่องอุปกรณ์และการจัดการเรียน ซึ่งเน้นการเรียนรู้ร่วมกันของช่างทอรุ่น(คาดว่าจะ)เก๋ากับช่างทอรุ่นเก่า ส่วนวัตถุดิบนั้นต้องหาแหล่งทุนสนับสนุนอยู่บ้าง ซึ่งแผนงานนี้ ผมไม่อยากให้เป็นการนั่งรอความช่วยเหลือ เราจึงเริ่มระดมทุนกันก่อนที่จะถึงปิดเทอมด้วยการพา “น้องกับแก้(ตุ๊กแก)” มาอวด

น้องกับแก้ จะมาช่วยเราหาทุนในการทำงานตามแผนงานโครงการนี้ โดยน้องกับแก้จะพาเพื่อนๆ ไปนอนเล่นที่บ้านของผู้สนับสนุนที่สนใจสนับสนุนแผนงานในราคาค่าตัว 250 บาท/ตัว รวมค่าส่งแล้ว เพื่อนพ้องที่รู้จักและเชื่อมั่นในงานของเราสนใจสนับสนุนกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ด้านมรดกทางวัฒนธรรมของเด็ก ๆในชุมชนของเราสนใจเรียก “กับแก้” ได้นะครับ

กับแก้ กับแก้ กับแก้

ตุลาคม 28, 2008

วัดตาลเรือง 1

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 18:30


เช้าของวันนี้ แดดจ้าแต่เช้าทำให้ต้องรีบเดินทางออกจากขอนแก่น ผมใช้เส้นทางขอนแก่น-ท่าพระ-บ้านเขื่อน ตำบลเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เพราะเป้าหมายแรกของวันนี้อยู่ที่วัดตาลเรือง บ้านโคกกลางใหญ่ หมู่ 5 ตำบลเขวาไร่ อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม

ผมเคยไปวัดนี้เมื่อหลายปีก่อน คราวแรกที่ไปนั้นไม่ได้ถ่ายรูปอะไรเลย เพราะเจ้าอาวาสท่านไม่อยู่ที่วัด พบเพียงชาวบ้าน ซึ่งสอบถามก็ไม่ได้ความนัก บ้างก็จำได้เพียงลาง ๆ เกี่ยวกับเรื่องจิตรกรรมฝาผนังที่พบใน

สิมเก่าที่วัด แต่เนื่องจากมีการสร้างสิมใหม่แบบภาคกลางครอบลงไปจึงทำให้ชาวบ้านลืมเลือนภาพจิตรกรรมฝาผนัง

(คุณแม่ใจดี ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ขณะมาเพล)

ความจริงนี่เป็นภูมิปัญญาสำคัญที่การเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังในผนังสิมด้านนอกแบบฉบับของช่างแต้มอีสาน เพราะผู้คนในชุมชนจะได้มีโอกาสเดินชมได้โดยรอบและไม่ต้องรบกวนเจ้าอาวาสให้ต้องมาเปิดสิมให้ เมื่อภาพจิตรกรรมอยู่ด้านนอกสิมก็เหมือนนิทรรศการถาวรที่ไม่ว่าจะไปเมื่อไหร่ก็ได้พบ ชายหรือหญิงก็ไม่มีความแตกต่างเนื่องจากสามารถชมได้โดยรอบ

การสร้างสิมใหม่แบบภาคกลางครอบ เป็นการปิดโอกาสการรับรู้เรื่องรา วของวรณณกรรมที่เขียน ความงาม ของภาพที่แต้ม และศีลธรรมจรรยาที่แฝงไว้ในจิตรกรรมฝาผนัง เรื่องนี้ไม่แต่ผู้หญิงที่เสียโอกาสเพราะสิมอีสานส่วนใหญ่ไม่อนุญาติให้ผู้หญิงเข้าไปด้านใน

ผู้ชายเองก็เสียโอกาสที่จะได้ไปเรียนรู้จากมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชน บทเรียนง่าย ๆ ที่น่าจะได้เรียนก็พลอยขาดโอกาสนั้นไป นาน ๆ ทีจะได้เข้าคราวหนึ่งเนื่องจากไม่ค่อยเปิดประตูสิม หากไม่มีกิจที่สำคัญ ส่วนฝ่ายผู้หญิงก็หมดสิทธิ์โดยไม่ต้องสงสัย

บ่ายสามโมงนิด ๆ

มหาสารคาม :27 ตุลาคม 2551

อภิธานศัพท์

  • สิม หมายถึง โบสถ์ น่าจะมาจากคำว่า สีม หรือ สีมา
  • ฮูบแต้ม หมายถึง จิตรกรรมฝาผนัง(ภาษาไทน้อยเขียนคำว่า รูป เป็น ฮูบ ส่วนคำว่าแต้มหมายถึงภาพจิตรกรรมสองมิติ)
  • ช่างแต้ม หมายถึง จิตรกร

ตุลาคม 26, 2008

ผ้าในฮูบแต้มอีสาน : ก้าวย่าง ย่างก้าว

จิตรกรรม

วันพรุ่งนี้มีกำหนดการต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลภาคสนาม ตามโครงการวิจัยเรื่อง ผ้าในจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจาก มูลนิเจมส์ เอช ดับเบิลยู ทอมป์สันปี 2551 ซึ่งหลังประกาสผลทุนแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องทำงานครับ
การเดินทางออกพื้นที่คราวแรกนี้ ผมมีโปรแกรมเดินทางไปวัดที่ปรากฎฮูบแต้มอีสานในเขตจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นเสมือนกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยในคราวนี้

หลังเก็บข้อมูลภาคเอกสารจากวรรณกรรมที่เขียนถึงฮูบแต้มอีสานในเขตจังหวัดมหาสารคาม พบว่าจิตรกรรมฝาผนังในมหาสารคามที่ปรากฎเอกสารกล่าวถึงมี 7 วัดซึ่งมีจิตรกรรมฝาผนังปรากฎบนสิมทั้งหมด และทั้งหมดก็เป็นสิมทึบแบบพื้นบ้าน

ในระยะ ยี่สิบปีที่ผ่านมา 3 ใน 7 สิมถูกทุบทำลายและมีการก่อสร้างสิมแบภาคกลางแทน การทำลาย ทุบ ทิ้งและสร้างสิมใหม่แบบวัฒนธรรมภาคกลางมีผลให้จิตรกรรมที่ปรากฎบนผนังของสิมถูกทำลายลงไปอย่างน่าเสียดาย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากวัฒนธรรรมเอาอย่างและเลียนแบบวัฒนธรรมหลวงหรือวัฒนธรรมของศูนย์รวมอำนาจแห่งรัฐ

ดังนั้นวัดที่เหลืออยู่และเป็นเป้าหมายของการเดินทางไปมหาสารคาม เพื่อ ศึกษาคราวนี้ของผมเหลือเพียง 4 วัดคือวัดตาลเรือง อำเภอโสุมพิสัย,วัดบ้านยางซวง อำเภอบรบือ,วัดโพธารามและวัดป่าเรไรย์ อำเภอนาดูน สี่วัดที่เหลืออยู่และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในงานศึกษาเรื่องผ้าของผม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักฐานที่อายุกว่า 80 ปีขึ้นไปทั้งนั้น

ในสัปดาห์นี้หากเครื่องมือสื่อสารของผมไม่ก่อปัญหา ผมจะรายงานสดวันต่อวันให้ได้อ่านเอาสนุกนะครับ อิอิ ไปพักก่อนนะครับ เจอกันใหม่มื้ออื่น

ตุลาคม 14, 2008

ฮูบแต้มอีสาน : วันพระ(พุทธ)เจ้าเปิดโลก

 

จิตรกรรมไทยภาคกลาง นิยมเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง วันพระเจ้าเปิดโลก บริเวณหลังองค์พระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพุทธประวัติตอน พระเจ้าเปิดโลก

พระเจ้าเปิดโลกกล่าวถึง วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่โลกมนุษย์ หลังวันออกพรรรษานั้น ปรากฎเหล่าเทวดาจำนวนมากได้ตามส่งเสด็จอย่างสมพระเกียรติ พระพุทธเจ้าทรงเนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรกมองเห็นกันและกันตลอดทั้ง ๓ โลก คือ สวรรค์ มนุษย์ และนรก

ส่วนในจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ไม่นิยมเขียนจิตรกรรมฝาผนังในตอนนี้ เมื่อสองปีก่อนได้เดินทางสำรวจจิตรกรรมฝาผนังพบว่า ตอนนี้ไม่ปรากฎที่วัดไหนเลย แต่ตอนที่สำคัญที่เชื่อมโยง โลกมนุษย์ สวรรค์ นรกให้ประสานกันเป็นวรรณกรรมเรื่อง พระมาลัยมากกว่าที่กว่าถึงพระมาลัยโปรดสัตว์นรก สนทนาธรรมกับพระอินทร์ และบอกเล่าเรื่องราวแก่มนุษย์

ความจริงเรื่องตอนนี้คนอีสานแก่ ๆ จะไม่ค่อยรู้จักหรือจำพุทธประวัติตอนนี้ไม่ได้ คนอีสานจะจำวรรณกรรมเกี่ยวเนื่องกับพุทธประวัติได้ดีกว่าเช่น พระเวสสันดร พระมาลัย เรื่องจากวรรณกรรมสองเรื่องถูกนำมาแปรรูปเป็นวัฒนธรรมอย่างอื่น ๆ บ่อยกว่าเช่น  เทศมหาชาติ  จิตรกรรมฝาผนัง ผ้าพระเวส หมอลำเรื่องต่อกลอนหรือแม้แต่หมอลำกลอน

ตุลาคม 11, 2008

สำรวจสถานภาพจิตรกรรมฝาผนังในจังหวัดมหาสารคาม

(more…)

ตุลาคม 10, 2008

เรียนเรื่องวัฒนธรรมจากหลักฐานในประวัติศาสตร์ศิลป์

Filed under: Uncategorized — ออต @ 2:56

เมื่อสองปีที่แล้ว เพื่อนชาวต่างชาติและผมขอทุนวิจัยเกี่ยวกับจิตรกรรมฝาผนังในอีสานกลางจากมูลนิธิจิมทอมสันป์ ซึ่งเดินทางค้นหาความหมาย แนวคิดและสาระที่ปรากฎในจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ซึ่งผลผลิตของงานวิจัยชุดนี้กำลังจะถูกเผยแพร่ในรูปหนังสือเรื่อง จิตรกรรมฝาผนังอีสาน

ปีนี้เพื่อนชาวต่างชาติ ผลักดันและสรางแบบทดสบให้ผมเขียนโครงการวิจัยขอทุนสนับสนุนเองบ้างหลังจากที่เรียนรู้กับเธอมาหนึ่งปี ผมนั่งเขียนประเด็นวิจัยอยู่หลายสัปดาห์จนกระทั่งมาสุกงอมที่งานวิจัยเรื่อง วัฒนธรรมผ้าในจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ความจริงงานวิจัยนี้เนการผนวกงานที่ผมสนใจสองอย่างเข้าไว้ด้วยกันนั้นคือ

จิตรกรรมฝาผนังอีสาน และ เรื่องผ้าทอของคนพื้นถิ่น

ผมส่งเค้าโครงไปเพื่อขอทุนเมือนเดือนกรกฏาคม และได้รับข่าวดีไม่นานมานี่ว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับงบสนุบสนันจากมูลนิธิจิมทอมสันป์ และงานกำลังจะเริ่มลงมือในเร็ววันนี้ ซึ่งก้ต้องขอบคุณมูลนิธิฯที่ให้โอกาสในการทำงาน และขอบคุณเพื่อนชาวต่างชาติที่ช่วยสนับสนุนทั้งผลักและดัน

อย่างไร คงจะได้เขียนความคืบหน้าของงานบันทึกต่อ ๆ ไป

กรกฏาคม 20, 2008

สะบายดีลานปัญญา

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 6:48

ไม่สามารถจะรอได้จนถึงต้นเดือนหน้า เพราะตอนนี้หลายท่านเขียนกันไปเยอะแล้ว ล่วงหน้าไปแบบนี้เห็นที่จะตามไม่ทัน
มาคราวนี้เปิดบันทึกใหม่ทันที อิอิ ไม่รู้จะผิดกฎหรือเปล่าท่ไม่ใช่ลานขึ้นก่อนแต่ใช้ (พะ)ลานหิน แทน ถ้าไม่ได้ทีมงานแจ้งด้วยนะครับ

แต่ช่วงนี้เห็นทีต้องเรียนรู้เครื่องมือก่อนเพราะว่ายังไม่รู้อะไรเลยเยวกับเครื่องมือที่นี่ เดี๋ยวคล่องแล้วจะรีบเขียนบันทึกแซงบรรดาครูบา อาจารย์ พี่ ๆ เพื่อน ๆ น้อง ๆ

ขอบคุณสำหรับพื้นที่ใหม่นี้นะครับ ขอบคุณทีมงานทุกท่าน ขอบคุณอีหลีอีหลอ

« บันทึกเก่ากว่าบันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress