การดื่มน้ำ….มีเรื่องที่ควรรู้และพิจารณาอยู่นะ
เจ้าของลานซักล้างเคยเล่าว่าเดี๋ยวนี้ดื่มน้ำวันละ 3 ลิตร และในบันทึกนี้ได้ชวนให้ดื่มน้ำเอาไว้ขอแค่เพียง 30 เท่าของน้ำหนักตัว ก็พอใจแล้ว(คูณได้ค่าเท่าไรมีหน่วยเป็นมิลลิลิตร) และในเว็บที่มีหมอๆมาเขียนเอาไว้ในเรื่องน้ำ ก็มีอะไรที่เป็นมุมต่างไปอยู่เหมือนกัน จึงคิดว่าน่าจะนำเรื่องน้ำมาเล่าไว้บ้างเพื่อความเข้าใจหมอๆอย่างเราๆว่ากำลังสื่อเรื่องอะไร
ธรรมชาติของร่างกายที่ถือว่าเป็นปกติที่สุด คือ เมื่ออุณหภูมิในร่างกายอยู่ที่ 37 องศาเซนติเกรด ที่อุณหภูมิระดับนี้ อวัยวะต่างๆทำงานสบายๆ เพราะไม่แห้ง ไม่ร้อน และไม่เย็นไปถือเป็นอุณหภูมิสมดุล
เคยเล่าไว้ในบันทึกนี้เรื่องของการสันดาป การสันดาปสารอาหารที่ให้พลังงานทำให้เกิดความร้อนที่มีหน่วยเรียกกันคุ้นหูว่า “แคลอรี่” แคลอรี่นี่แหละคือตัวผลที่ทำให้เกิดความอบอุ่น ร้อน หรือ เย็นในร่างกายขึ้น
การสันดาปของรถยนต์ทำให้เกิดความร้อน จะทำให้เครื่องยนต์หายร้อน ในระหว่างเครื่องยังทำงาน จึงทำให้รถยนต์ต้องมีหม้อน้ำมาช่วยระบายความร้อนในห้องเครื่องให้ลดลงไปเพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์พัง การสันดาปในเซลของคนก็เหมือนกัน ต้องการน้ำเพื่อไปใช้ระบายความร้อนไม่ให้เซลพังหรือเสีย
เพื่อการดำรงอยู่อย่างปกติของเซล ที่มีคนศึกษาไว้และนำมาบอกกันและใช้กันอยู่ในการรักษาทางการแพทย์ เป็นเกณฑ์ของการกะจำนวนน้ำที่ควรใส่เข้าไปในร่างกายไม่ให้เกิดพิษจากน้ำ
พิษจากน้ำเกิดขึ้นได้จากกลไกออสโมซิสที่เกิดขึ้นในระหว่างผนังเซลที่ผิดแปลกไป แล้วทำให้สมดุลน้ำระหว่างเซลไม่สมดุล
ยิ่งเด็กยิ่งต้องระวังการให้น้ำ เพราะร่างกายของเด็กมีน้ำอยู่มากมายถึง 70-80% ของน้ำหนักตัวอยู่แล้ว
ผู้ใหญ่ที่ต้องระวังเรื่องการให้น้ำไม่ว่าทางไหน ก็คือผู้ที่ไตเสื่อมสภาพลงแล้วไม่ว่าวัยไหน
ผู้ใหญ่ยิ่งมีอายุสูงขึ้นยิ่งมีน้ำในร่างกายน้อยลง คนแก่เฒ่ามีน้ำในร่างกายแค่เพียง 40-50%
เนื้อหนังของคนแก่เฒ่าที่เเหี่ยวย่นก็เพราะมีน้ำน้อย เนื้อหนังของเด็กที่ตึงแน่นน่าจับต้องกอดรัดฟัดเหวี่ยงก็เพราะมีน้ำมากมาย
โดยทั่วไปปริมาณน้ำที่ให้โดยปลอดภัยของผู้ใหญ่ไม่ควรให้เกิน 3 ลิตรต่อวัน (ปริมาณนี้มาจากปริมาตรน้ำที่มีอยู่ในเลือดผู้ใหญ่ค่ะ)
เวลาคำนวณให้น้ำรักษาคนป่วย(รวมการให้ทั้งทางปาก+ทางเส้นเลือด) หมอๆอย่างเราจะคำนวณตามน้ำหนักตัวแล้วจึงให้ มีหลักคิดใช้เหมือนกันทุกวัย อย่างนี้ค่ะ
ให้ 100 เท่าของน้ำหนักตัว 10 กก.แรก แล้วลดลงเหลือ 50 เท่าของน้ำหนักตัว สำหรับ 10 กก.ต่อมา และลดไปอีกเหลือ 20 เท่าของน้ำหนักตัวถ้าหากว่ามีใครน้ำหนักเกิน 20 กก.แรกไปอีก (ซึ่งปริมาตรน้ำที่ได้ มีหน่วยเป็นมิลลิลิตร ไม่ใช่กก.ค่ะ)
ถ้าค้นเว็บก็จะมีคำแนะนำเรื่องการดื่มน้ำไว้หลายที่ ขอทำความเข้าใจเพิ่มแล้วกัน สำหรับบางเรื่อง
Q : ดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว เพื่อสุขภาพ จำเป็นไหม?
A : ความจำเป็นมีอยู่สำหรับคนที่ปกติดื่มน้ำแค่แก้วสองแก้วและมีปัญหาอย่างที่คุยไว้บ้างแล้วในบันทึกเกี่ยวกับกรดยูริก แต่สำหรับคนกินเค็มก็ไม่จำเป็นทุกครั้งไปนะคะเพราะว่าคนบางคนกินน้ำมากขนาดนี้มีผลเสีย น้ำอาจจะไปทำให้้ระดับโซเดียมต่ำเป็นอันตรายได้ ขึ้นกับศักยภาพในการทำงานของไตคนนั้นค่ะ
คำแนะนำเกี่ยวกับ 8-10 แก้วต่อวัน แปลงมาจากคำแนะนำที่คณะอนุกรรมการโภชนาการของคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติสหรัฐอเมริกาแนะนำไว้ว่า ร่างกายเราต้องการน้ำ 1 ลบ.ซม. ต่ออาหารที่เรากินเข้าไป 1 แคลอรี คนทั่วไป จึงต้องการน้ำประมาณ 10 แก้ว
Q : น้ำส่วนใหญ่มีอยู่ในอาหารที่เรากินเข้าไปอยู่แล้ว ไม่ต้องไปดื่มเพิ่มได้ไหม
A : ให้พิจารณาจากความต้องการของตัวเองก่อนดื่มเพิ่มตามความเหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดปัญหา ใช้ความรู้ที่มีมาทั้งก่อนหน้าและปัจจุบันเกี่ยวกับอาหารปรับสมดุลน้ำให้ตัวเองเพื่อดื่มทดแทนน้ำที่ขาดไปจากอาหารเข้าไว้
อย่าลืมว่าน้ำในอาหารบางประเภทให้เกลือสูง หากกินอาหารเค็มๆ แล้วไปดื่มน้ำเพิ่มไม่ดีแน่ เพราะว่าเกลือที่กินเข้าไปดูดน้ำที่ควรจะปล่อยทิ้งกลับคืนไปเก็บไว้เพิ่มอยู่แล้ว
แต่ถ้ากินอาหารหวานๆ น้ำตาลจะดึงน้ำตามออกมาเมื่อตัวมันถูกขับทิ้ง อย่างนี้ก็ควรต้องเพิ่มการดื่มน้ำเพื่อทดแทนส่วนที่ขับทิ้งไปให้พอ
ฉะนั้นการดื่มน้ำให้ปลอดภัย ไม่เกิดพิษจากน้ำ จึงมีหลักที่ต้องอิงไปถึงรสชาดของอาหารที่กินเข้าไปด้วย
บันทึกนี้จึงมาเตือนเรื่องอาหารเปรี้ยว+เค็ม เค็ม+หวาน หรือเปรี้ยว+หวาน ว่าทำให้ร่างกายลำบากมากมายกับการจัดการสมดุลน้ำให้อวัยวะภายในทำงานสบายๆนะคะ
ใครที่ชอบรสเปรี้ยว เค็ม หวาน ขอชวนย้อนไปอ่านวิธีเพิ่มความปลอดภัยจากความเค็ม ซะหน่อยเพื่อฟื้นความจำค่ะ
และก็มีอาหารพวกนี้ที่มีน้ำอยู่ในตัวมัน จะดื่มจะกินเข้าไปเมื่อไรอย่าลืมใช้หลักของธงและเรื่องสมดุลน้ำ สมดุลเกลือพิจารณาก่อนเติมลงท้องนะคะ
« « Prev : ๑๒ เซียนที่ทำให้กรดยูริกในเลือดสูงขึ้นได้
Next : คนดื่ม-คนดู…มีส่วนให้การดื่มไม่กลายเป็นมากเกิน » »
6 ความคิดเห็น
เอื๊อก ขืนดื่มน้ำ 30 เท่าของน้ำหนักตัว ไม่ต้องเดินไปไหนกันพอดีครับ
ถ้าหนัก 85 กก. กินน้ำ 30 เท่าของน้ำหนักตัว ก็ 2550 กก. คือ สองตันครึ่งนะครับ
โอ๊ยยยยโย่….หลุดค่ะหลุด…ลืมใส่หน่วยกำกับไว้…เขียนเร็ว…คิดเร็วไป….ก็งี้แหละเน้อ
ขอบคุณคุณชายละเมียดที่สะกิดเตือนค่ะ
แก้ไขเพิ่มเติมแล้วค่ะ
-เท่าที่ทราบมาปริมาณน้ำที่ควรดื่มต่อวันของคนปกตินั้นคำนวณได้จากน้ำหนักตัวของแต่ละคน คือ หนักตัว(ก.ก.)/2 x 2.2 x 30 = ? c.c. สมมุติว่าท่านหนัก 60 ก.ก. ท่านก็จะคำนวณได้ดังนี้ 60/2×2.2×30 =1,980 c.c. ก็ประมาณ 1.9 ลิตร ก็ประมาณ 8-10 แก้วต่อวัน
-ความจริงเรื่องการดื่มน้ำนอกจากปริมาณน้ำแล้ว คุณภาพน้ำที่ดื่มและtimingในการดื่ม ก็มีความสำคัญมากเช่นกันค่ะ
-และการดื่มน้ำมากเกินไปก็มีผลเสียเช่นกันค่ะ
ขอบคุณป้าจุ๋มที่มาช่วยเติมเต็มค่ะ
เฮอ ยุ่งไม่น้อยเลยถ้าจะดื่มให้ถูกต้อง
ใช่เลยค่ะพ่อครู การปรับพฤติกรรมซะใหม่ดูเหมือนจะยาก แต่ถ้าเข้าใจก็ง่ายค่ะ
เมื่อใช้คำว่าปรับ เป็นเรื่องแน่นอนอยู่แล้วว่า มีอะไรที่ยังไม่ถูก ถูกในที่นี้หมายถึงความลงตัวกับปัจเจกคน
สิ่งที่พ่อครูปรับไปแล้ว ดีขึ้นในระดับหนึ่งแล้ว จากการที่ได้เล่าว่ามีปัสสาวะบ่อยขึ้น ใสขึ้น สีจางลง เรื่องนี้ดีตรงที่ช่วยเรื่องดึงว่าที่เบาหวานไม่ให้ล้ำเส้นเบาหวานตัวจริงเอาไว้
บันไดขั้นต่อไปเป็นเรื่องปรับต่อให้ความหวานของเลือดยังคงเป็นว่าที่เบาหวานต่อไปได้ ซึ่งก็ไม่ยากเย็นเท่าไร ถ้าเข้าใจหลักของคำว่า “อาหารแลกเปลี่ยน” ซึ่งจะเขียนเล่าให้ฟังเพิ่ม
บันไดเรื่องความเค็มก็ขอให้ปรับลดลงด้วย การลดเครื่องปรุงเค็มๆ การงดใช้ผงปรุงรสต่างๆ ใช้แต่เกลืออย่างที่พ่อครูบอกเล่าให้จริงจัง คุมเกลือเข้าร่างกายให้ได้อย่างที่น้องหนิงได้ทำให้ดูแล้ว