เก็บตก ดร.วรภัทร์..
อ่าน: 32023
มันทั้งลีลาและสาระจริงๆ
เป็นฉุกคิดที่ให้คุณค่าจริงๆ..
ขอบคุณ อ.วรภัทร์ครับ
มันทั้งลีลาและสาระจริงๆ
เป็นฉุกคิดที่ให้คุณค่าจริงๆ..
ขอบคุณ อ.วรภัทร์ครับ
เช้าที่วุ่นวายเป็นปกติของเมืองท่องเที่ยว ที่นักเศรษฐกิจ นักธุรกิจพอใจที่ยกระดับ การไหลเวียนกระแสเงินได้สะพัด แต่นักสังคม-และมานุษยวิทยา เห็นว่า ภายใต้ ตัวเลข GDP เพิ่มขึ้นเราก็จะเห็นภาพนี้รุนแรง ซับซ้อนมากขึ้น
ผมและคนข้างกายเดินทางถึงล้านนาศรีนครพิงค์ตั้งแต่บ่าย 5 โมง เพื่อนจากมุกดาหารโทรติดต่อมาตั้งแต่เช้าว่า มาล้านนาก็ดีแล้วช่วยเข้าไปใน มช. เอาเสื้อ มช.และอื่นๆไปขายในงานราตรีอ่างแก้วสิ้นเดือนนี้ด้วยซี จะได้ไม่เสียเที่ยว เอาใส้อั่วและแคบหมูไปโตยเน้อ.. ครับผม..รีบบึ่งเข้า มช.ก่อน CMU shop จะปิด โฮ…รถติดระเบิด เพราะวันนี้รับปริญญากัน
ได้ลูกสาวเพื่อนที่เรียนคณะวิศวะที่นี่ช่วยจัดการให้ ทุกอย่างก็เรียบร้อยในเวลา 45 นาที ได้ของไปลังใหญ่กลับขอนแก่นและจะเลยต่อไปมุกดาหาร เหลือใส้อั่วกับแคบหมู ค่อยไปหาซื้อในวันกลับ
ผมมาล้านนาครั้งนี้เพราะอย่างที่ประกาศไว้ว่ามาร่วมงานฉลองครบรอบอายุท่านอาจารย์ อคิน รพีพัฒน์ ซึ่งท่านมีบ้านที่นี่ด้วย งานก็ทั้งวัน จะต้องร่วมเสวนาตอนบ่ายด้วย น้องๆผู้จัดแซวว่า จะเอาผมขึ้นเวทีด้วย อิอิ เอากันแบบไม่ได้ตั้งตัวนี่นา…
เสร็จธุระหมด ผมก็เข้าที่พักประจำของผมกลางเมืองราคาถูกๆ แล้วรองเท้ามันก็พาเราไปนั่งที่ร้านอาหารเกาหลี มาทุกครั้งก็มากินร้านนี้ทุกครั้ง ชอบกิมจิน่ะซี…แต่ไม่ชอบดาราเขาหรอกนะ ผมน่ะตก เทรนไปนานแล้ว โน่นต้องลูกสาว พวกวัยรุ่นโน่น ผมชอบอาหารเขาต่างหาก ก็ไม่ได้โปรดปรานอะไร แค่เปลี่ยนรสชาดน่ะครับ
หลังจากพุงกางแล้วก็ควงคนข้างกายเดินเล่น ไปกินกาแฟ ดูชีวิตศรีนครพิงค์ ผมหิ้วเป้ที่ใส่อุปกรณ์ถ่ายรูป แต่ก็ไม่ได้รูปอะไรที่น่าสนใจ นั่งคุยกันสักพักก็เดินกลับกะว่าจะทบทวนภาระพรุ่งนี้
แต่แล้วก็มีอะไรเข้ามาในสายตาผม คนเก็บขยะครับ เขาก้มหน้าควานหาถุงพลาสติกและกล่องกระดาษ แล้วก็เอาไปรวมๆไว้ แล้วก็ย้ายไปขยะกองอื่น ผมคว้ากล้องมาถ่ายรูปเขาโดยไม่ใช้แฟลช เกรงว่าเขาจะโกรธ หรือไม่พอใจ เขาเดินมาใกล้ผม ผมก็ตัดสินใจเดินไปคุยกับเขา
…เอาไปขายหรือครับ… ใช่ เอาไปขาย ผมคุยต่อว่า ดีมากครับ ดีมากครับพร้อมยกนิ้วหัวแม่มือให้เขา เขายิ้มให้ผมแล้วเดินมาคุยว่า ..โผ เคยไปซามักงาน เขาว่าโผ เป บ้า โผเลยไม่มี งาน สำเนียงแบบนี้ ใครก็เดาออกว่าเขาเป็นชนเผ่า ผมเลยถามว่า เป็นม้งหรือครับ เฮา เป อาข่า อ้อ เผ่าอาข่า ผมเคยคลุกคลีพักหนึ่งที่เชียงรายสมัยที่สมเด็จย่าอยู่ เขาบอกว่า บ้านเขาอยู่แม่สรวย ผมก็ต่อว่าดอยวาวีใช่ไหมที่มีกาแฟดังๆ เขาบอกใช่
ผมมีลูกสามคน กำลังเรียนสองคน คนที่สามได้มาไม่ตั้งใจ ยังเล็กอยู่ คนโตเรียน ม.6 กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย ผมต้องหาเงินให้ลูกเรียนหนังสือ
แค่นั้นเอง..ผมสะอึก… เขาพูดต่อว่า ผมไม่มีงานที่มีค่าจ้างทำ มีทางเดียวที่จะหาเงินได้คือขยะเหล่านี้มีเงินทองซ่อนอยู่ แค่ผมใช้เวลากับมันผมก็ได้เงิน เก็บสะสมให้ลูกได้
“เพื่อลูก..พ่อทำได้ทุกอย่าง..”
ผมชมเขา ดีมากครับ ดีมากครับ เขายิ้มให้ผมแล้วพูดว่า “ขอบคุณที่ให้กำลังใจ” เขาก้มหน้าทำหน้าที่พ่อแก่ลูกของเขาอย่างแข็งขัน เขาไม่เอ่ยปากขอเงินผมเลย ทั้งที่ผมเดาว่า เขาอาจจะเป็นเหมือนหลายคนที่เคยพบคือ อยากแสดงความน่าสงสารแล้วเรียกร้องเงินทอง อะไรทำนองนั้น ไม่เลยเขายิ้มและทำงานของเขาต่อไป เขาเพียงขอบคุณที่ให้กำลังใจเขา….
ผมเดินจากมา ในมโนสำนึกผมคิดอะไรไปมากมาย
ผมอยากจะคุยเขาอีกหลายอย่าง…
หูผมยังก้องคำที่ว่า… เพื่อลูก พ่อทำได้ทุกอย่าง….
..ขอบคุณที่ให้กำลังใจ…
ผมไม่รู้จักชื่อเขาด้วยซ้ำไป แต่การพูดคุยไม่กี่คำกับเขา ให้สติดีจริงๆ..
ผมเป็นคน sensitive ตั้งแต่เมื่อไหร่…ผมเดินจากมาด้วยน้ำตาซึมๆ พร้อมจูงแขนคนข้างกายกลับที่พักเพื่อทำภารกิจอื่นเพื่อพรุ่งนี้ต่อไป…
เอาเมฆสวยมาให้ดูกันครับ ได้มาวันนี้ ปีนหลังคาอีกแล้ว อิอิ
ตั้งชื่อว่า “ปานวาด” นะ ไม่ใช่คนชื่อปานเป็นคนวาดนะ ห้า ห้า ห้า..
เซ็ง เซ็ง รำคาญ เข้ามาลานดีกว่า…
ทำสติกเกอร์มาตั้งนานแล้วไม่ได้ติด ซ่อนอยู่ วันนี้เห็นก็เลยเอามาติดซะ โฆษณาลานให้ชาวบ้านเห็น เล่นยังงั้นแหละ..
สติกเกอร์แบบนี้ไม่ทนหรอก ล้างๆ เช็ดๆ ไม่กี่ครั้งก็หลุด ช่างมันเถอะ ทำเล่นๆไม่ได้ซีเรียสอะไร คราวหน้าจะใช้กระดาษสะท้อนแสงกลางคืนด้วย อิอิ
ขอเล่นหน่อยนะ..ท่านสารวัตรที่เคารพครับ..
ตำรวจคงไม่จับผมนะ..
แต่ก่อนผมชอบกิน Coke ไม่ชอบ Pepsi แต่ก็หยุดมานานแล้ว
เห็น FW mail นี้ก็ตกใจ อันตรายมากนะครับ เด็กๆที่ชอบบังคับพ่อแม่ ร้องจะกินน้ำอัดลม ระวังหน่อย..
ความจริงมีอีกนะครับที่ผสม COKE แล้วอันตรายมากๆ เพราะมันคือน้ำกรดดีดีนี่เอง คือเอากำมะถันใส่ไปในน้ำ COKE อย่าทำเด็ดขาดนะครับ จะโกรธใครมากมายแค่ไหนก็อย่าเอากำมะถันใส่น้ำ Coke แล้วไปสาดหน้าเขา กรรมมากมายนัก
ขอบคุณผู้ FW mail
ดอกฝ้ายคำบานเต็มต้น เต็มที่ ลมหนาวก็มา พัดเสียแรงทีเดียวช่วงนี้ เขาก็ล่วงหล่น เราก็เก็บเอามาวางสวยๆต่อ ก็มันยังสวยอยู่น่ะ..
เพราะเราถ่ายรูปใกล้ๆไม่ได้ ต้องใช้ซูม ก็พยายามถ่ายมุมต่างๆ เพื่อให้ได้ภาพคมชัดและเด่นโดด
ก็ได้เท่าที่เห็นแหละ..
ทั้งดอกตูม ดอกบาน สวยไปคนละอย่าง ทั้งหงาย ทั้งคว่ำ ก็สวยไปคนละแบบ
พยายามหามุมที่เน้นดอกให้เด่น แต่ไม่ง่ายในเงื่อนไขที่อยู่ไกลและจัดมุมได้ยาก ก็เอาเท่าที่พอจัดได้
ลองใช้เทคนิคการถ่ายแบบให้ออกมาดูนุ่มนวล ให้เบลอๆบ้าง ก็สวยไปอีกแบบ บางคนชอบแบบนี้มากกว่าด้วยซ้ำไป
แม้แค่กลีบดอกที่โดดเด่นจากมุมมืดดำ ก็สวยเพียงพอ
เฮ่อ…มันก็แค่การปรุงแต่งขึ้นมาเท่านั้นเอง แค่เราไปกำหนดค่า ให้ราคา ชอบ ไม่ชอบ..เท่านั้นเอง
ทำให้นึกถึงคำในพระสูตรที่เทียบเคียงเอาว่า
“เอ่อ…มันสวยนะ แต่จริงๆแล้วมันไม่ได้สวยหรอก..เออ..แต่มันก็สวย..”
(ห้า ห้า เบื่องานเขียนก็แว๊บมาพึมพำที่นี่แหละ)
อย่างที่รู้ๆกันว่าคุณแม่ผมเป็นชาวนาพ่อผมเป็นครูประชาบาล อาๆ เป็นครู พี่สาวเรียนครู ตัวผมเองก็เรียนมาทางสายครู แต่ผมมาเป็นครูนอกระบบ
แรกๆไม่ได้คิดว่าตัวเองทำหน้าที่คล้ายๆเป็นครู ก็งานพัฒนาชนบทนั้น ใจกลางของงานคือการพัฒนาคน ที่ผมว่าเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา มันไม่ง่ายดั่งใจนึก ห้องเรียนก็กว้างสุดคณานับ เรื่องราวสาระที่ควรจะส่งมอบให้บุคคลเป้าหมายนั้นมากมายดั่ง แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ แต่สิ่งที่ทำแค่เศษเสี้ยว หลายเรื่องเราไม่เคยมีความรู้มาก่อน แต่ต้องมาทำหน้าที่ เป็นคนจัดการอย่างไรก็ได้ที่จะส่งมอบความรู้ต่างๆที่สำคัญให้แก่เขาและนำไปปฏิบัติ เพื่อเขาดีขึ้นมา หรือหลุดพ้นจากบ่วง
ปัญหาทั้งหลาย
งานพัฒนาชนบท คืองานพัฒนาคนทั้งครบ (”ทั้งครบ” เป็นศัพท์ที่ทางคริสเตียนใช้กัน ซึ่งผมเห็นชอบว่าเหมาะจริงๆ) แรกๆที่ก้าวมาทำงานด้านนี้เพราะใจมันชอบ พอดีเราโตมาในยุคสมัยขบวนการนักศึกษา เลยเดินหน้าลูกเดียว จากเด็กอ่อนหัดในงานพัฒนา ก็ค่อยๆแกร่งกล้ามากขึ้น แต่เรียนไม่จบและไม่มีทางจบ โลกของคน สังคมนั้นผันแปรไปดังเมฆในท้องฟ้า เบาบางและเคลื่อนไหวตลอดเวลา
เราไม่มีทางจับสังคมให้นิ่ง มีเพียงอย่างเดียวที่ทำได้คือ สร้างสติ สำนึก ด้วยการ เอาข้อมูลต่างๆมาตีแผ่ แล้วให้เขาเลือกทางเดินเอง
เขาอาจเดินถูกบ้างผิดบ้าง ก็เป็นสิ่งจำเป็นเพราะสิ่งที่ได้อาจจะมิใช่ผลผลิตข้าวที่เพิ่มขึ้น แต่สำนึกและการมีหลักคิดที่เหมาะสมในการกำหนดชีวิตที่เขาจะเดินไป สิ่งนี้จะเป็นการเพิ่มขึ้นของความมั่นใจของทางเดินของชีวิตที่จะก้าวไปต่างหาก
ปริมาณสูงสุดนั้นเป็นเรื่องของปรัชญาทุนนิยม แต่ความพอดี เป็นหลักของการดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับเงื่อนไขที่สังคมควรจะชวนกันเดินไป หลักการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานให้ไว้ มันตรงกับข้อสรุปที่หลายต่อหลายเวทีสัมมนาสรุปเอาไว้
อาจารย์ ทำอย่างไร?ที่ดินผมจะได้ใบซักที..
อาจารย์ ผมปลูกมะขามหวานตามที่ทางราชการส่งเสริม ผมเอาไปนั่งขายหน้าอำเภอ สามวันผมได้เงินมาเพียง 100 บาท..??
อาจารย์ ลูกผมมันไม่ยอมเอาข้าวไปกินที่โรงเรียน มันจะเอาแต่สตางค์..
ฯลฯ…
นอกจากคำถามถึงปัญหาต่างๆแล้ว…มากมายกว่าคำถามก็คือสายตาที่เราประเมินเห็นวิถีต่างๆที่ชุมชนดำเนินอยู่นั้น เต็มไปด้วย “ประเด็นของการทำให้ดีขึ้นได้..” เช่น เรื่องของสุขภาพ ความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม การเกษตร อาชีพต่างๆ ฯลฯ แต่แก่นแกนของสิ่งทั้งหลายนั้นคือ ความคิด สำนึก ความรับผิดชอบ
โครงการที่ทำก็มิใช่เปิดโอกาสให้เราเล่นได้ทุกเรื่อง เขากำหนดกรอบงานมาให้แล้ว หลายเรื่องเราเข้าไปจุดประกายได้ แต่หลายเรื่องแม้จะเห็นประเด็น และถูกร้องขอก็ทำได้เพียงแนะนำ หรือต่อสายป่านไปให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ ขบวนวิธีที่ไร้รูปแบบนั้นมีมากมาย จับตรงไหนก็ใช่ไปหมด และสืบสาวราวเรื่องโยงใยไปถึงกันหมด โดยตรงๆก็มี โดยอ้อมๆก็มาก
ภายใต้กระแสสังคมที่เรามิใช่เป็นผู้กำหนด ตรงข้ามเราทวนน้ำด้วยซ้ำไป แค่หันหัวเรือชาวบ้านให้ทวนน้ำได้สักพัก กระแสก็หันหัวเรือกลับไหลไปไกลซะแล้ว กว่าจะว่ายน้ำตามไปหันหัวเรือใหม่ก็เหนื่อยไม่น้อย..
สีวร.. อาจารย์ ผมพอใจที่ก้าวเดินทางตรงนี้ ครอบครัวผมมีสุข ผมมีรายได้ ผมมีอาหารกิน ไม่ขาดแคลน ผมมีเพื่อนที่เห็นด้วยกับเส้นทางนี้ ผมมีกลุ่มรุ่นพ่อรุ่นพี่ที่ก้าวเดินไปก่อนล่วงหน้าแล้ว.. บางครั้งเราก็แอบมานั่งภูมิใจเล็กๆที่เป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้
มันรอเวลาการขยายตัวแบบเงียบๆ สักวันมันอาจจะเป็น Critical mass ก็ได้ การมาสัมผัสชีวิตแบบนี้ ก็ยิ่งเห็นพระคุณของครูทั้งหลายที่มีส่วนสร้างเรามา
เอาเถอะ…เราปวารนาตัวเองมาแล้ว ก็ขอเป็นกรวดอีกก้อนที่ถมทับลงบนทางเดินนี้..
ข้าน้อยขอก้มกราบครูทุกท่าน
ทั้งในอดีต และปัจจุบัน
ทั้งที่มีตัวตนและล่วงลับ
ทั้งที่สั่งสอนโดยตรงและโดยอ้อม
กราบทั้งครูในระบบและครูที่ไม่ได้มีฐานะทางสังคมเป็นครู
แต่ทำบทบาทดั่งครูทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ
ข้าน้อยขอก้มกราบด้วยจิตคารวะเป็นที่สุด..
สุริยคราสที่ขอนแก่นครับ
ถ่ายรูปผ่านแผ่นฟีล์ม x-ray
สองชั้นที่มีพื้นที่ดำที่สุดทั้งสองแผ่น
มือจับ ถ่ายหลายสิบได้ดีแค่นี้ อิอิ
คนทำงานพัฒนาชุมชนนั้นทำงานหลายหน้า สนุกดีสำหรับคนที่ชอบ เพราะมีสิ่งท้าทายตลอดเวลา คนทำงานแบบนี้ต้องตื่นตัวและเรียนรู้ตลอด หลายเรื่องไม่คิดว่าจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะต้องเกี่ยวข้อง
ต้องเรียนรู้ชุมชนและเข้าใจด้านลึกของชุมชน ต้องวางตัวเป็นนักมานุษยวิทยา ที่เรียกว่าทำตัวเป็น “คนใน” มิใช่ “คนนอก” เมื่อได้ข้อมูลมาก็คิดวิเคราะห์ ตีแตกความหมายว่ามันหมายความว่าอย่างไร เกี่ยวข้องกับอะไร มีความสำคัญอย่างไรต่อวิถีชุมชน ต้องเป็นนักสังเกต ต้องเป็นลูกอีช่างถาม และต้องพยายามหาคำตอบให้ได้ไม่เร็วก็ช้า ฯลฯ
ต้องเป็นนักบันทึก ผิดถูกก็ค่อยไปปรับปรุงพัฒนาไป แต่บันทึกไว้ก่อน แล้วค่อยๆใช้ช่วงเวลาที่เราคลุกคลีกับชุมชน ทำกิจกรรมกับชุมชน เยี่ยมยามชุมชนหาทางพิสูจน์เรื่องราวต่างๆที่บันทึกนั้นว่าถูกต้องมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ที่เราเรียก Cross check หรือ double check เพราะเราไม่ใช่คนในที่แท้จริงจึงไม่อาจเข้าใจความหมายต่างๆที่เป็นคำพุดในภาษาของเขา สำนวน ท่วงทำนอง ท่าที ฯ ล้วนมีความหมายเฉพาะ และคนนอกที่ฉาบฉวยเข้าใจผิด ตีความหมายผิดมาเยอะแล้ว
ความเป็นวิชาการ ผมนั้นมองตัวเองว่ากึ่งๆความเป็นวิชาการเพราะเราเติบโตมาจาการเรียน อ่าน คลุกคลีกับนักวิชาการ แต่เราก็ทำงานใกล้ชิดชุมชน แม้ว่าจะไม่ใช่คนในอย่างสนิทแนบ แต่ก็ระบุตัวเองได้ว่าใกล้ชิดชุมชนโดยทางปฏิบัติมากกว่ารู้เรื่องชุมชนจากวิชาการ
จึงมีหลายมุมมองที่ผมเห็นแย้งกับวิชาการ หลายครั้งผมเองก็ไม่เห็นด้วยที่นักวิชาการมักจะเอากรอบคิดทางวิชาการไปครอบชุมชน แม้ว่าดีขึ้นมาหน่อยที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม ซึ่งหลายครั้งก็เป็นแบบทำไปเพราะมันเป็นสูตรสำเร็จมิเช่นนั้นไปอ้างไม่ได้ แต่สาระที่เกิดขึ้นจริงๆนั้น ไปคิดแทนเขาเสียมากกว่า
วันนี้โครงการตั้งประเด็นขึ้นมาว่า เอ..เราจะวัดความยั่งยืนของชุมชนได้อย่างไร เราทำงานมาหลายปี เราจะบอกได้ไหมว่าชุมชนของเรานั้นยืนอยู่จุดไหนของความยั่งยืน เราชี้ได้ไหมว่ากลุ่มนั้น ยั่งยืน ชุมชนนั้นยั่งยืน ด้วยเหตุผลอะไรบ้าง.
เป็นเรื่องหละซี.. 15 คนแต่มี 50 ความคิดเห็น อิอิ เพราะแต่ละคนมีหลายความเห็นแม้แต่ขัดแย้งกับความคิดเห็นแรกๆของตัวเอง อิอิ..
จบเอาดื้อแหละ… ไปเขียนรายงานต่อก่อนนะ..
ไม่ทราบเป็นอะไร ไปงานประกวดกล้วยไม้ “ช้างบาน” ที่ มข.คราวนี้ ไม่มีอารมณ์ถ่ายรูปดอกไม้ที่สวยๆเลยหละ เดินผ่าน เดินผ่าน ดูแล้วก็ผ่านไปเฉยๆ ทุกทีหน่วยความจำในกล้องจะร้องบอกว่า ..เจ้านายมากไปแล้ว จำไม่ไหวแล้ว..อิอิ
แต่คราวนี้ได้รูปหัวใจมา เลนเอามาฝากป้าจุ๋มครับ
ส่งกำลังใจมาให้ป้าจุ๋มครับ
ขอเชิญพี่น้องเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย และทั่วประเทศไทย ที่สนใจเรื่องบ้านเมือง เรื่องการวิจัยเชิงคุณภาพ.. เชิญพบกับปรมาจารย์ด้านนี้ที่เชียงใหม่ในวันที่ 22 มกราคม ตามรายละเอียดข้างล่างนี้
บางทรายจะควงคนข้างกายไปกราบท่าน และร่วมเสวนาด้วยครับ
————————————
“จุลเสวนากึ่งวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60+17 ปี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์”
ความนำ
ในวันที่ 22 มกราคม ของปี 2552 ที่ผ่านไป สถาบันวิจัยและพัฒนา มข. เป็นเจ้าภาพหลักจัดกิจกรรมเนื่องในวันเกิดครบรอบอายุ 76 ขวบ ของ รศ.ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ พร้อมกับการเปิดตัวหนังสือรวมบทความเล่มสำคัญที่ชื่อ “ชาวบ้าน ชาวเมือง เรื่องความยุติธรรมในสังคมไทย” ขึ้น ณ ห้องประชุมและลานหน้าสถาบันฯ ซึ่งครั้งนั้น การจัดงานประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับความสนใจจากบรรดานักวิชาการ นักพัฒนา ชาวบ้านร่วมงาน ทั้งภาคกลางวัน และกลางคืน กว่า 100 คน อีกทั้งยังได้ความรู้ ความคิดจากเนื้อหาสาระของการเสวนาเรื่อง “ความยุติธรรมในสังคมไทย(ที่อ่อนไหว)” โดยวิทยากรชื่อดัง ทั้งท่านอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อาจารย์กิตติศักดิ์ ปรกติ และพ่อผาย สร้อยสะกลาง อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย อีกทั้งหนังสือรวมบทความของอาจารย์อคิน ยังคงจำหน่ายขายดีตามศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจนถึง 1 ปี ผ่านไป
วันที่ 22 มกราคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่อาจารย์จะมีอายุครบ 77 ขวบ “กองทุน 60 ปี อคิน รพีพัฒน์” ร่วมกับเครือข่ายนักวิชาการ นักพัฒนาภาคเหนือจัดเวทีเสวนาเล็กๆ ที่เรียกว่า “จุลเสวนา” เกี่ยวข้องกับการก้าวเดินของสังคมไทยในทศวรรษที่ 201 (ปี2010) โดยมีท่านอาจารย์อคิน เป็นผู้นำเสวนา นอกจากนั้นยังจะได้เปิดประเด็น “การวิจัยเชิงคุณภาพ” ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาวิจัยทางสังคมที่นักวิจัยและนักพัฒนาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานอย่างแพร่หลาย โดยเมื่อ 17 ปี ที่ผ่านมา(ปี 2536) ท่านอาจารย์อคิน ร่วมกับนักมานุษยวิทยาชั้นนำของเมืองไทย จัดทำ”คู่มือวิจัยเชิงคุณภาพเพื่องานพัฒนา” เพื่อรวบรวมแนวคิด ทฤษฎี แนวทางการประยุกต์ใช้ รวมทั้งประสบการณ์ในพื้นที่กรณีศึกษาภาคสนามทั้งในระดับสากลและในบริบทของชุมชนไทย คู่มือ
ดังกล่าวได้จัดพิมพ์มาแล้ว 4 คั้ง จำนวนประมาณ 10,000 เล่ม ซึ่งในวงเสวนาจะได้เชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเนื้อหา และผู้ใช้คู่มือดังกล่าวเป็นแนวทางในการทำงานวิจัยและพัฒนาสังคมไทยในละแวกเชียงใหม่ มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การนำเนื้อหางานดังกล่าวไป
ประยุกต์ใช้ในการทำงานวิจัยและพัฒนาสังคมไทย รวมทั้งร่วมหาแนวทางในการปรับปรุงเนื้อหาให้ทันสมัย เหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบันและอนาคต
วัน/เวลา และสถานที่
“จุลเสวนากึ่งวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ60+17 ปี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์” จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2553 ตั้งแต่เวลา 13.00 – 16.30 น. ณ ห้องประชุมศูนย์เพื่อนชีวิตใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
——————————————————————————
กำหนดการ
“จุลเสวนากึ่งวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 + 17 ปี ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์”
วันศุกร์ที่ 22 มกราคม 2553 เวลา 13.00 – 16.30 น.
ณ ห้องประชุมศูนย์เพื่อนชีวิตใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
จัดโดย
“กองทุน 60 ปี อคิน รพีพัฒน์ เพื่อสังคม”
———————————————————
13.00 – 13.30 น. - ลงทะเบียน/รับของที่ระลึก
13.30 – 13.45 น. - เกริ่นนำ
13.45 – 14.45 น. - จุลเสวนา “สังคมไทยปี 2010: ความหวังหรือลางเลือน”
โดย ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์
14.45 – 15.00 น. - พักรับประทานอาหารว่าง
15.00 – 16.30 น. - จับเข่าคุย “77 ปี อคิน รพีพัฒน์ – 17 ปี คู่มือวิจัยเชิงคุณภาพ: คุณูปการกับการเปลี่ยนแปลง”
โดย ¹ รศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ
¹ อ.สุริยา สมุทคุปติ์
¹ ตัวแทนนักวิชาการ/นักพัฒนาจากอีสาน
18.30 – 22.00 น. - “77 ปี อคิน รพีพัฒน์: ทานข้าว เล่าเรื่อง อำนวยพรแด่ อาจารย์อคิน” โดย กัลยาณมิตรและศิษย์ ม.ร.ว.อคิน
รพีพัฒน์â
————————————–
กลับบ้าน
ทุกวันหยุดหากไม่มีงานเร่งด่วนอะไรผมก็จะเดินทางกลับบ้านขอนแก่น
กลับมาหาครอบครัว จริงๆไม่เชิงครอบครัวเพราะลูกคนเดียวไปอยู่อีกทางหนึ่ง เป็นว่ากลับบ้านก็แล้วกัน
ใช้เวลาทำอะไรบ้างล่ะ นอกจากจะพูดคุยเล่าเรื่องโน้นนี้สู่กันฟังแล้วก็ทำอาหารจานโปรดกินกัน จนอ้วนกันไปข้างหนึ่ง หากเพื่อนๆ พี่ๆโทรมาชวนไปออกกำลังกายก็จะไป หากไม่มีใครชวนก็ทำโน่นทำนี่รอบบ้าน หรือไม่ก็ขลุกอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือไม่ก็อ่านหนังสือกองท่วมหัวที่ซื้อตุนไว้ หลายเล่มแค่อ่านหน้าปกแล้วก็กองไว้ว่าสักวันจะหยิบมาอ่าน บางเล่มจนลืมไปว่าเรามีอยู่
มาช่วงหลังนี่ ใครมาชวนออกกำลังกายก็จะไม่ได้ไป หรือไปน้อยลง อยากอยู่บ้านมากกว่า อยากทำนั่นทำนี่อีกหลายอย่าง ที่เว้นค้างไว้
บ่อยครั้งหอบงานกลับมาบ้านกระเป๋าเอกสารตุง นั่งแข่งกับคนข้างกายทั้งวันทั้งคืนทำงานให้เสร็จ ส่วนใหญ่เธอจะนั่งนานกว่าเพราะเธอทำไปด้วยดูละครละเม็งไปด้วย ทั้งน้ำเน่า น้ำเสีย น้ำดี เธอดูหมด ผมก็ปลีกตัวไปจะดูก็รายการกีฬาที่ชอบ หลายครั้งเวลามาตรงกัน อิอิ เป็นเรื่อง..
อย่างไรการกลับบ้านสุดสัปดาห์ก็เป็นสุขตามประสาปุถุชน
รูปข้างบนนั้นระหว่างรถติดไฟแดงที่กาฬสินธุ์ ก็คว้ากล้องมาจับไว้
อัสดง จับใจจริงๆ …..เหมือนชีวิตเราเลย….
เด็กบางคนวันนี้…
เราไปเติมน้ำมันรถตามปกติ
เห็นเด็กวัยรุ่นหนุ่มสาวขี่มอ’ไซด์มาจอด สั่งเติมน้ำมัน 100 บาท
เด็กสาวดูหน้าตาดี เพราะแต่งหน้ามา
พนักงาน เติมน้ำมันให้ เด็กยื่นเงินให้
พนักงานรับเงินพร้อมเอาใบเสร็จรับเงินให้
เด็กสาวคนนั้น รับมา แล้วทันใดนั้น
…เธอขยี้แล้วก็ทิ้งลงพื้นตรงนั้นเอง
ทั้งๆที่ถังขยะก็อยู่ไม่ไกลจากตรงนั้น…
มันเป็นเรื่องเล็กๆ แต่สะท้อนเรื่องใหญ่ๆ
อือ…เด็กวันนี้
อือ..วันเด็กวันนี้
อือ..พลเมืองของสังคมวันข้างหน้า..
วันข้างหน้าที่เราหมดเรี่ยวแรง..แล้ว.
ได้กลับบ้านเกิดในวันหยุดยาววันพ่อ คุณพ่อก็ชวนขับรถเที่ยวอำเภอเล็กๆ ในจังหวัดเพชรบุรี อย่างอำเภอท่ายาง
ไม่ได้มีที่เที่ยวน่าสนใจไปกว่า ชะอำ หัวหิน จึงนึกไม่ออกว่าจะขับรถไปเที่ยวที่ไหนได้อีกนอกจากสองที่นั้น
คำเชิญชวนต่อมาของพ่อชวนให้รู้สึกสนใจขึ้นไปอีก เพราะพ่อบอกว่า “ไปดูไร่ที่ในหลวงซื้อเอาไว้ไหม”
พ่อเล่าต่อว่า ไร่นั้นอยู่ห่างไกลความเจริญ ถนนราดยางยังเข้าไม่ถึง ไฟฟ้าไม่มี แต่พระองค์ท่านทรงปลูกบ้านอยู่ที่นั่นเรียบร้อยแล้ว
บ้านมีสองหลัง หลังแรกของในหลวง หลังที่สองของพระเทพฯ ราชการทูลเกล้าถวายเลขที่บ้าน เลขที่ 1 กับเลขที่ 2 ให้
ฟังทีแรกก็ไม่เข้าใจว่าพระองค์ท่านจะไปซื้อที่ดินในที่ธุรกันดาร แถมยังปลูกบ้านไว้ที่นั่นทำไม ในเมื่อปัจจุบันพระองค์ท่านก็อาศัยอยู่ที่หัวหินเป็นกิจลักษณะแล้ว แถมพ่อยังบอกอีกว่า ขับรถเข้าไปในที่ดินได้เลยนะ ทหารเขาให้เข้า ก็ยิ่งงงเข้าไปใหญ่ว่าเราจะเข้าไปขับรถเล่นในเขตพระราชฐานกันได้ยังไง ด้วยความอยากรู้ อันนี้ก็ต้องพิสูจน์ ไปกันดู จากตัวอำเภอท่ายาง ขับเลี้ยวเข้าไปทางตำบลเขากระปุก ถนนเริ่มเล็กลงเรื่อยๆ สองข้างทางเต็มไปด้วยไร่นา
นั่งมองต้นไม้ไปได้สักครู่ สองข้างถนนก็เริ่มมีธงชาติ ธงเหลือง ธงฟ้า และธงม่วง พร้อมตราสัญลักษณ์ของแต่ละพระองค์ (ราชาศัพท์เรียกอะไร??) ติดเต็มไปตลอดทาง ดูจากเสาธงก็รู้ว่าเป็นธงที่ชาวบ้านช่วยกันทำขึ้นอย่างตั้งใจเพื่อรับเสด็จ ข้างๆ ธงมีร่องรอยตะเกียงน้ำมันอย่างง่าย (หรืออาจเรียกได้ว่าคบไฟ) เพื่อรอรับเสด็จในเวลากลางคืน ทั้งธงและคบไฟบ่งบอกได้ว่าข่าวของพ่อไม่ผิด เรากำลังเคลื่อนที่เข้าใกล้ไร่ของในหลวงเข้าไปทุกขณะ
ในขณะที่นั่งชมทิวธงและคบไฟไปได้จนเริ่มง่วง ถนนราดยางก็เปลี่ยนเป็นถนนลูกรัง ฝุ่นคลุ้งตลบ แต่เราคงมาไม่ผิดทางแน่
เพราะทิวธงยังคงอยู่ มองไปแต่ไกลเห็นภูเขาขนาดย่อมอยู่ตรงหน้า กังหันผลิตไฟฟ้าประมาณสิบกว่าต้น สูงเด่น มีรถทะเบียนกรุงเทพฯ วิ่งสวนมาเป็นระยะ ฝุ่นฟุ้งกระจายเต็มถนนแคบ
รั้วลวดหนามทอดตัวยาวไกล ต้นไม้หลากหลายชนิดเรียงตัวเป็นระเบียบอยู่ในนั้น เขื่อนดินขนาดใหญ่ พร้อมศาลาเก้าเหลี่ยมสูงเด่น เราเดินทางมาถึงไร่ของในหลวงกันแล้ว เมื่อแลกบัตรที่ป้อมทหาร และเลี้ยวรถเข้าไป ก็เพิ่งถึงบางอ้อ ที่ดินจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ว่าไม่ใช่ไร่ที่ซื้อเอาไว้หลบหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง หรือใช้ตากอากาศ แต่มันคือที่ดินเพื่อใช้เป็น โครงการในพระราชดำริ
ที่มีชื่อมันๆ ว่า “โครงการชั่งหัวมัน”
ดูจากวันที่ตั้งโครงการ คาดว่าน่าจะเป็นโครงการล่าสุดเลยทีเดียว พอได้เดินเข้าไปในโครงการก็เกิดอาการซาบซึ้ง เพราะไม่นึกว่าในหลวงที่เราเห็นในทีวีที่แทบไม่มีแรงยกมือ กลับยังมีใจ + มีไฟ ริเริ่มโครงการใหม่ๆ ในถิ่นที่อยู่ห่างไกลความเจริญอยู่ตลอดเวลา ไม่มีหยุด
ดูจากบอร์ดภายในโครงการ อธิบายว่า โครงการนี้เป็นเสมือนแปลงทดลองปลูกพืชเศรษฐกิจในท้องถิ่น อันได้แก่ มะนาว มะพร้าว ชมพู่เพชร และพืชไร่ พืชสวน อะไรอีกจิปาถะมากมายที่ไม่รู้จัก หรือไม่มีความรู้พอจะเขียนถึง
มีการขุดบ่อ (หรือในโครงการคือเขื่อน) เพื่อเก็บกักน้ำ มีกังหันและโซล่าเซลเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า เหมือนจะเป็นแบบทดลองตัวอย่างแก่เกษตรกรโดยรอบ เพื่อเพิ่มคุณภาพให้ผลผลิต แบบพึ่งพาตัวเอง
และเหนือสิ่งอื่นใด พอมีข่าวในหลวงเสด็จมาตั้งโครงการปั๊บชาวบ้านแถวนั้นก็ดีใจกันยกใหญ่ หลายคนถวายแรงกายแรงใจ เข้ามาช่วยงานในโครงการฟรีชาวบ้านบางคนที่ทำงานอยู่ในนั้น พูดอวดใครต่อใครที่มาเยือนว่าได้ก้มลงกราบฝ่าพระบาทถวายตัวรับใช้งาน
พูดไปน้ำตาไหลไป มีความภาคภูมิใจในถิ่นที่เกิดและอาชีพของตัวเอง นี่คือเรื่องราวๆ ดีๆ เพียงไม่กี่เรื่องในรอบปีที่ได้รู้แล้วก็อยากเอามาเล่าต่อ นี้ก็เป็นโครงการที่เกิดจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ มีประโยชน์เพื่อการพัฒนารากเหง้าของชาวบ้านที่แท้จริง ไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานฝรั่ง แต่เอารากที่เมืองไทยมี คือการเกษตร มาพัฒนา ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานน้ำมัน ไม่ต้องตามตลาดโลก ไม่ต้องป่าวประกาศ ไม่ต้องออกข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ทำอย่างเงียบๆ ทำดีอย่างที่ในหลวงบอกคนไทยเสมอว่าเป็นการ “ปิดทองหลังพระ” อย่างแท้จริงและงานแบบนี้ ถ้าในหลวงไม่ทำ ก็อย่าหวังว่ารัฐบาลชุดไหนจะมาทำให้คนไทย รับรองได้ว่าไม่มีแน่ๆแถมท้าย หลังจากกลับมาค้นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ในอินเตอร์เน็ต
ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับชื่อที่มาของโครงการว่า ตอนที่ในหลวงเสด็จมาที่ที่ดินนี้ครั้งแรกๆ มีชาวบ้านเอาหัวมันมาถวายแต่ยังไงไม่รู้ ในหลวงทรงลืมเอาหัวมันกลับไปด้วย พอกลับมาที่ที่ดินนี้อีกที หัวมันนั้นก็เริ่มงอกขึ้นมาเป็นต้น
เมื่อถึงเวลา ก็พระราชทานชื่อโครงการนี้ว่า “โครงการชั่งหัวมัน”
ถ้าใครได้ติดตามผลงานของในหลวงมาตลอด ก็จะรู้ว่า ในหลวงท่านทรงมีเอกลักษณ์ในการตั้งชื่อแบบนี้ ชื่อไทย+จำง่าย+ มีอารมณ์ขัน (ต่างจาก to be number one จริงๆ) หลายคนต่างก็ตีความคำว่า ชั่งหัวมัน ไปต่างๆ นานา แต่การตีความไปได้ต่างๆ ก็เป็นเสน่ห์ที่ดีอีกอย่างหนึ่งของการตั้งชื่อ ดังนั้น แล้วแต่ใครจะไปคิดเป็นอะไรก็แล้วกัน
แต่ส่วนตัวของกระผมคิดว่าพระองค์ท่านน่าจะมีความสุขทีเดียวที่ได้ทำงานนี้ การได้เลี้ยวรถจากหัวหินมาแวะที่โครงการชั่งหัวมัน
ถ้ามันสร้างความสุขให้พระองค์ท่านได้ สร้างความสุขให้กับชาวบ้านแถวนี้ได้ ผลผลิตทางการเกษตรก็ถือเป็นของแถมไปแล้ว
โครงการชั่งมัน ตั้งอยู่ที่ บ้านหนองคอกไก่ ต.เขากระปุก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี
ภาพข้างล่างคือ
บ้านพักส่วนพระองค์ของในหลวง บ้านเลขที่ 1 เด่นเป็นสง่าภายในโครงการ