บางมุมของความพอเพียงในชุมชน

111 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 มกราคม 2011 เวลา 20:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 2980

นี่เป็นบทความเก่า ขอนำมาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะนำเสนอต่อพ่อครูในการที่ระดมความคิดเห็นเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ต่อการวางหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง…”

มีโอกาสศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของไทโซ่ดงหลวงก่อน พ.ศ. 2500 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง น่าสนใจ น่าจะเป็นตัวแทนสังคมไทยโบราณได้ กรณีหนึ่ง เพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้อีก และเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีทางนึกออกว่าบรรพบุรุษของเขาเคยมีความเป็นอยู่อย่างไรกันมาบ้าง

เนื่องจากสัญชาติญาณแห่งการอยู่รอด และภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์พัฒนาการมีชีวิตอยู่รอดนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามระดับของความฉลาดของมนุษย์ แต่น่าจะมีสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน และสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งไทโซ่ ที่นับถือผีกับพุทธไปพร้อมๆกัน หลักการของพุทธย่อมมีส่วนไม่มากก็น้อยในการนำมาเป็นแนวทางการดำรงชีวิต

หลักการหนึ่งของการดำรงชีวิตของศาสนาพุทธคือการยังชีวิตด้วยปัจจัย 4 อย่างพอดี ไม่เบียดเบียนโลกและตัวเอง ตีความง่ายๆคือหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง

เมื่อศึกษาสังคมโบราณของไทโซ่ดงหลวง และเชื่อว่าที่อื่นๆก็คงคล้ายคลึงกัน แล้วไปสอดคล้องกับหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง แต่หลักนี้จะให้สมบูรณ์ต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งเข้ามาเชื่อมด้วยคือ วัฒนธรรมชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยกัน” “ทุนทางสังคม เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ” และความจริงน่าจะเป็น ปัจจัยที่ 5 ของความพอเพียง”
ด้วยซ้ำไป


หลักการนี้ยังสะท้อนไปถึง หลักความพอเพียงที่ในหลวงท่านพระราชทานลงมาด้วยว่า ทั้งหมดนั้นจะต้องอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ของสังคมด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นปัจเจกชน ซึ่งสังคมไม่ได้เป็นเช่นนั้น และในชีวิตจริงๆก็ไม่มีใครที่จะพึ่งตัวเองได้ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันด้วยเพราะเราไม่สามารถมีความสมบูรณ์ตลอดเวลาด้วยปัจจัย 4

ท่านที่นำหลักความพอเพียงไปใช้ได้โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญนี้ด้วย

ความจริงการพึ่งพาอาศัยกันนั้นรวมอยู่ในหลักความพอเพียง แต่มักไม่ได้พูดถึง หรือไม่ได้เน้นกัน หลายท่านไม่ได้พูดถึงด้วยซ้ำไป เพราะเห็นเป็นประเด็นย่อย แต่จากการเฝ้าสังเกตสังคมชนบทนั้น วัฒนธรรมชุมชนเป็นแกนหลัก เป็นโครงสร้างหลักด้วยซ้ำไป

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ เมื่อพ่อไปทอดแหได้ปลามามาก พ่อก็แบ่งให้เพื่อนบ้าน ไปให้คุณยายนั่น คุณตาคนนี้ เพราะแก่เฒ่าหากินไม่สะดวก

ที่ดงหลวง เมื่อชาวบ้านเดินผ่านแปลงผัก ก็ตะโกนขอผักไปกินกับลาบหน่อยนะ เจ้าของแปลงก็ตะโกนตอบอนุญาตให้เอาไปเถอะ สังคมภาคเหนือจะมีคนโท หรือหม้อดินใส่น้ำตั้งไว้หน้าบ้าน ใครที่เดินผ่านไปมาหิวน้ำก็ตักกินเอาได้เลย มันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา สวยงาม เอื้ออาทรกัน พึ่งพากัน เพราะไม่มีใครที่มีปัจจัยสมบูรณ์ไปตลอดเวลา ยามมีก็มี ยามขาดก็ขาด ก็ได้อาศัยญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในชุมชนนั่นแหละช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจ ไม่ได้คิดค่าเป็นเงินเป็นทองแต่อย่างใด

ชาวบ้านจะสร้างบ้าน ก็บอกกล่าวกัน ชายอกสามศอกสี่ศอกก็มาช่วยเหลือกัน ตามความถนัด ไม่ได้รับเหมาเอาเงินทองแต่อย่างใด ความมีน้ำใจ ความมีบุญคุณ ความกตัญญู ช่วยเหลือเอื้ออาทร ทั้งหมดนี้แสดงออกโดย “การให้” ให้วัตถุ ให้แรงงาน ให้อภัย ให้ปัจจัยต่างๆ และให้ใจ คือรากเหง้าของสังคม คือทุนทางสังคม คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม ที่ทำให้เราสงบ สันติ มานานแสนนาน และเป็นฐานของหลักความพอเพียง เป็นฐานของการสร้างความพอดีของปัจจัย 4 อันมีฐานรากสำคัญมาจากหลักการทางพุทธศาสนา แต่แปลกใจที่งานพัฒนาประเทศชาติ สังคมไม่ได้เอาหลักการนี้เป็นตัวตั้ง กลับเอารายได้เป็นตัวตั้ง

เราตั้งคำถามแก่กลุ่มผู้อาวุโสของเครือข่ายไทบรูดงหลวง ที่มีอายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป เราพบข้อมูลในเรื่องวิถีชีวิตมากมายค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องเราไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะมีอยู่ และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ชาวบ้านไม่ได้อธิบายหากเราไม่ตั้งคำถาม และบางเรื่องเราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอะไร แต่ข้อมูลมีอยู่

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเอามาจัดหมวดหมู่ในรูปแบบใหม่ เพื่อง่ายต่อการพิจารณาให้เข้ากับหลักปัจจัย 4 เราจะได้ข้อมูลดังแผนภาพ


เมื่อเราพิจารณาข้อมูลเราพบว่าสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ที่วิถีสังคมดงหลวงโบราณสร้างขึ้นและมาครบถ้วน ดูแผนภาพต่อไปนี้


เมื่อเราให้สีที่แตกต่างกันเราก็เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 แน่นอนเกษตรกรไม่ได้ทำกิจกรรมทั้งหมด เช่น แต่ละครอบครัวไม่ได้ปลูกถั่วทุกชนิด แต่ถั่วทุกชนิดนั้นมีปลูกอยู่ในชุมชน และอาจจะมากกว่านี้ ข้อมูลเหล่านี้คือความหลากหลายของชนิดพืชและกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ทั้งหมดนี้ทำเอง ปลูกเอง สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อหามา อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกัน

เราให้ชาวบ้านเล่าเรื่องข้าวสมัยนั้น ว่าแต่ละพันธุ์นั้นเป็นเช่นไรบ้าง ลักษณะพันธุ์ สี ขนาด วิธีปลูก การเก็บเกี่ยว การบริโภค การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษา ความนิยมในการบริโภค ฯลฯ พิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เราเสียดาย ว่าความรู้เหล่านั้นกำลังสูญหายไปกับการเคลื่อนตัวของสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่

ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์ซอด(เป็นเสียงที่เราฟังเอามาบันทึก หากผิดเพี้ยนก็ขออภัย) ชาวบ้านบอกว่าเมล็ดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถเกี่ยวได้เมล็ดมันจะร่วงต้องใช้วิธีรูดเอาเมล็ดจากรวงใส่ภาชนะเลย จินตนาการไปมือไม้ชาวบ้านที่ทำงานหนักแบบนี้คงจะหยาบกร้าน ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ อีน้อยกับซอด

ที่มหัศจรรย์คือ ครอบครัวหนึ่งๆนั้นมีที่ดินปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ มากสุดไม่เกิน 5 ไร่ และปลูกทุกอย่างผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่นั่นแหละ นี่คือแปลงพืชผสมผสานจริงๆ มีทุกอย่างที่กินได้อยู่ในสวนนี่เอง ที่เรียกแปลงสมรม แปลงสัมมาปิ ในแปลงจะมีข้าว มีพืชถั่ว มีพืชผักสวนครัว มีพืชไร่ รวมไปถึงพืชสมุนไพร ครบถ้วนในแปลงเดียวกันนั้น ผสมปนเปกันไป ไม่ได้แยกพื้นที่ปลูกเช่นปัจจุบัน


แต่ต้องเฝ้าตลอดมิเช่นนั้น ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินพืชผัก เพราะหมูป่ามากินหมด ต้องตีเกราะ เคาะวัตถุให้มีเสียงดังๆ หมูป่าจะได้หนีไป นอกจากหมูป่าก็มีนก ลิง ทั้งนกทั้งลิงมันมาเป็นฝูงหากเผลอลงกันละก็ปีนั้นไม่ได้กินข้าวแล้ว ต้องหาของไปแลกข้าวแล้ว ฯลฯ

สรุป

  • ลักษณะวิถีชีวิตของคนดงหลวงสมัยก่อนนั้นอยู่กับธรรมชาติ แต่องค์ประกอบวิถีชีวิตที่มีสภาพแวดล้อมแบบเดิมนี้นั้น ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว แต่หลักการเรื่องวัฒนธรรมเอื้ออาทรกันนั้นยังใช้ได้อยู่เสมอหากเราสืบสานคุณค่ากันไว้
  • เมื่อองค์ประกอบของสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย การควบคุมตัวเองให้ตั้งมั่นอยู่ในหลักศาสนา และวัฒนธรรมชุมชนจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
  • ความพอเพียงไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละครอบครัวต้องพิจารณาเอาบนฐานเงื่อนไขของตัวเอง
  • อย่างที่กล่าวว่า ไม่มีใครสมบูรณ์ ดังนั้นความพอเพียงนอกจากครอบครัวจะเป็นหลักที่จะต้องสร้างขึ้นมาแล้ว ชุมชนต้องร่วมมือกันสืบสานวัฒนธรรมเอื้อาทรแก่กัน


ตอบครูมิม..

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มิถุนายน 2009 เวลา 23:52 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1515

เศรษฐกิจพอเพียง

จะสร้างครูอย่างไรให้ เขียนแผนการสอนแบบบูรณาการ ให้มีความรู้ความเข้าใจ ให้มีความเชี่ยวชาญในการจัดกิจกรรม และให้มีความสามารถในการจัดสื่อ อุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน

จากคำถามของครูมิมนั้น มาพิจารณาจากมุมมองของคนอยู่ในสนามแล้วเห็นว่า ต้องลำดับคำถามใหม่ให้สอดคล้องต่อการปฏิบัติจริง จาก ตัวเลข 1 ถึง 4 นั้นเป็นโจทย์ที่มิมตั้งคำถามไว้ หากจะตอบคำถามนี้ในมุมการปฏิบัติต้องลำดับใหม่เป็น A ถึง D ทั้งนี้เพราะว่า เราต้องมีความรู้ความเข้าใจจริงๆเสียก่อน แล้วสร้างความรู้ความเข้าใจนั้นให้มีความรู้ ความเข้าใจซ้ำๆก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญ รู้รอบด้าน รู้ละเอียด รู้ที่มาที่ไป รู้ผลโดยตรงโดยอ้อม ฯลฯ แล้วเอาความเชี่ยวชาญนั้นไปสร้างสรรค์สื่อต่างๆสร้างอุปกรณ์ต่างๆที่จะใช้เพื่อประโยชน์ในการเรียนรู้ แล้วจึงเอาองค์ความรู้ทั้งหมดนั้นไปเขียนแผนการสอนแบบบูรณาการที่เป็นจริงๆได้ ดู diagram


เบื้องหลังโจทย์นี้มีรายละเอียดอะไรไม่ทราบ อาจจะมีเงื่อนไข ปัจจัยอีกหลายอย่าง แต่หากพิจารณาเฉพาะคำถามทั้ง 4 ข้อนั้น ขอแสดงความเห็นว่า

  • สนับสนุนแนวคิดของเม้ง ว่าจะต้องลงมือปฏิบัติจริงๆ ทำจริงๆ ความรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนั้นมีเท่าไหร่ลงมือทำจริงๆ อาจพิจารณาทำกิจกรรมนี้ร่วมกับเด็กนักเรียนในพื้นที่โรงเรียนเอง หรือ ลงไปเลือกชาวบ้านสักคนแล้วทำร่วมกัน เพื่อศึกษารายละเอียด อย่างลึกซึ้ง ทุกขั้นตอนจริงๆ
  • จากความรู้เชิงทฤษฎี ครูก็จะรู้ในเชิงปฏิบัติจริง ครูจะเข้าใจจริงๆ ละเอียด ลึกซึ้งเพราะทำมาด้วยมือจริงๆ
  • การทำจริง อาจจะทำหลายๆคนร่วมกับชาวบ้าน หรือทั้งทำกับชาวบ้านและทำกันเองในโรงเรียนร่วมกับนักเรียน ร่วมกับครูท่านอื่นๆ ร่วมกับครูสาขาอื่นๆ องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นจะบูรณาการไปในตัวเสร็จ บางทีครูเกษตรมองไม่ออกว่าคณิตศาสตร์จะมาบูรณาการอย่างไร อาจรู้แต่ไม่ลึกซึ้งเท่า แต่ครูสายตรงจะรู้ว่า ขั้นตอนนี้เรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์เรื่องนั้นเรื่องนี้ได้ ครูภาษาไทยเข้ามาก็รู้ว่า องค์ความรู้ทั้งหมดนั้นมันมีภาษาถิ่นปนอยู่ในการเรียกสิ่งของ ปัจจัยการผลิต ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ครูจะเกิดความชำนาญด้วย เชี่ยวชาญ เกิดบูรณาการ
  • เมื่อถึงขั้นตอนนี้ครูเองก็สามารถเอาองค์ความรู้ทั้งหมดมาพิจารณาพัฒนาสื่อ อุปกรณ์การเรียนการสอนได้อย่างสอดคล้องกับเงื่อนไขจริง สอดคล้องกับท้องถิ่น และเป็นจริง
  • แล้วองค์ความรู้ทั้งหมดก็สามารถเอาไปทำแผนการเรียนการสอนแบบบูรณาการได้จริงๆ จากประสบการณ์จริง

การทำเช่นนี้ เป็นแบบการต้องการหลักสูตรที่สมบูรณ์ที่สุด ทำได้จริง สอดคล้องกับพื้นที่จริง มิใช่แค่หลักการ  ซึ่งอาจจะไม่สอดคล้องกับพื้นที่

เรื่องนี้ต้องย้ำกันว่า เศรษฐกิจพอเพียงที่สงขลานั้นไม่เหมือนกับที่บุรีรัมย์ ที่พิษณุโลกและที่มุกดาหาร หลักการเดียวกันแต่รายละเอียดต่างกัน รูปแบบต่างกัน ความรู้ความเข้าใจในรายละเอียดแตกต่างกัน เชี่ยวชาญต่างกัน การจัดสื่อการเรียนการสอนต่างกัน แผนการเรียนการสอนก็ย่อมต่างกัน เพราะ สภาพพื้นที่ต่างกัน ระบบภูมินิเวศเกษตรต่างกัน ระบบวัฒนธรรมชุมชนต่างกัน วิถีชีวิตชุมชนต่างกัน วิถีวัฒนธรรมการบริโภคต่างกัน องค์ประกอบครอบครัวแตกต่างกัน เงื่อนไขรายละเอียดของปัจจัยต่างๆไม่เหมือนกัน การตัดสินใจของชาวบ้านต่างกัน ฯลฯ

นี่เองหลักการเดียวกัน แต่รายละเอียดต่างกัน ความจริงข้อนี้จะสะท้อนความแตกต่างของทุกขั้นตอนเลย

สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ทำจริงเราจะรู้ได้อย่างไร….

จะเอาความรู้ระดับไหนไปให้เด็กล่ะ เอาแค่หลักการ แนวทางการปฏิบัติ บทเรียนรู้จากกรณีศึกษา หรือประสบการณ์จากของจริง ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริง ฯ

ข้อเสนอของพี่นี้ไปตรงกับ Diagram ที่เบิร์ดเอามาเสนอให้ดูนั่นแหละ

ความสำคัญคือ

  • มีรายละเอียดเฉพาะมากมาย ล้วนแตกต่างกัน รูปแบบที่หนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับอีกสถานที่หนึ่ง เพราะความแตกต่างของระบบนิเวศเกษตรวัฒนธรรม เพราะความแตกต่างของคน ชนเผ่า ท้องถิ่น ภูมิภาค

  • องค์ความรู้จึงเป็นแค่เพียงหลักการ ทางปฏิบัติต้องนำไปดัดแปลงให้เหมาะสม สอดคล้องกับระบบนิเวศเกษตร วัฒนธรรม ชุมชน ฯ

ครูมิมเลือกเอาเองนะครับ อิอิ



Main: 0.072583913803101 sec
Sidebar: 0.076257944107056 sec