ย้อนอดีตที่วัดท่า.. กับ หมาน้้อย 4 ตัว….

35 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 กุมภาพันธ 2009 เวลา 16:11 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2705

ช่วงกลับบ้านอ่างทองมีเวลามากพอผมเลยตระเวนดูวัดต่างๆมาเรื่อยตั้งแต่อยุธยามาจนถึงอ่างทอง ได้แต่ผ่านไปมาไม่เคยแวะซักที คราวนี้ไม่พลาด..

วัดท่าสุทธาวาสนั้นอยู่ที่ต.บางเสด็จ อ.ป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เส้นทาง อยุธยา-ป่าโมก-อ่างทอง สายใน โด่งดังมานานเพราะสมเด็จพระเทพฯทรงเสด็จมาที่นี่หลายครั้ง เหตุผลเพราะที่นี่มีประวัติศาสตร์ ยาวนานตั้งแต่ครั้งสมัยอยุธยา และรัตนโกสินทร์ โน่น


เดิมชื่อว่าวัดท่าสุวรรณภูมิ ตั้งอยู่ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาตรงข้ามปากแม่น้ำน้อยที่ไหลผ่านตัวเมืองวิเศษชัยชาญ มาบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตรงนี้ ในฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตื้นเขินมาก เดินข้ามได้ นี่เป็นยุทธศาสตร์ทางการทำสงครามตั้งแต่สมัยโบราณ

กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกในพระราชนิพนธ์พระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่า…ในการพระราชสงครามกับพม่าแต่ละครั้ง พระองค์จะเสด็จไปทรงกระทำพระราชพิธีชิงชัยภูมิการตัดไม้ข่มนาม และนมัสการพระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าโมกก่อนทุกครั้ง…

1 คืออาคารทรงงานของสมเด็จพระเทพฯ 2 คือโบสถ์และตำหนักประทับของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระเอกาทศรถ 3 คือบริเวณวัดท่าและอาคารทำงานของช่างปั้นตุ๊กตาชาววัง

จากนั้นจึงเสด็จไปปราบข้าศึกต่อไป การเสด็จยกทัพไปวักป่าโมกก็จะต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่หน้าวัดท่าสุทธาวาสแห่งนี้

ในคราวที่เสด็จไปทำศึกใหญ่ยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชที่เมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระนเรศวรได้ยกกองทัพมาข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่นี่ แล้วใช้กองเรือบรรทุกปืนใหญ่และสรรพศาสตราจากกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาถึงวัดท่าสุทธาวาสแห่งนี้และเลยขึ้นไปทางแม่น้ำน้อยจนถึงเมืองวิเศษชัยชาญ และเดินบกต่อไปยังเมืองสุพรรณบุรี…. สันนิษฐานกันว่าบริเวณวัดท่าสุทธาวาสนี้น่าที่จะเป็นสถานที่พักทัพเพื่อยกพบข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ตำบลนี้จึงเรียกว่า ตำบลบางเสด็จ

มีหลักฐานทางโบราณคดีหลายประการที่สนับสนุนคือ มีร่องรอยโรงเลี้ยงช้าง มีการขุดพบกระดูกช้าง พบพระพุทธรูปโบราณ วัตถุเครื่องใช้ต่างๆมากมาย…..


ผมได้ไปกราบพระราชอนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถบนอาคารสูงสุดหลังหนึ่ง

ด้านซ้ายมือของบริเวณเป็นตำหนักทรงงานของสมเด็จพระเทพฯที่เคยเสด็จมาใช้

ด้านหน้าก่อนเข้ามาในบริเวณนี้จะมีพุ่มไม้ข่อยที่ตัดแต่งเป็นรูปช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่องค์สมเด็จพระเทพฯทรงโปรดอยู่

หากเดินเข้ามาตรงๆในบริเวณก็จะพบโบสถ์ทรงโบราณที่สวยงามมากๆ ภายในจะมีภาพวาดสีสวยงามที่ฝาผนังโบสถ์ทุกด้าน อธิบายถึงสังคมไทยภาคกลางโบราณและพระราชกรณียกิจของในหลวงองค์ปัจจุบัน ที่บานหน้าต่างด้านในจะมีลายลงรักปิดทองเล่าถึงพระชาติต่างๆของพระพุทธเจ้าตามลัทธิความเชื่อของคนไทยโบราณ

เนื่องจากพื้นที่วัดท่าสุทธาวาสแห่งนี้อยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาจึงห่างออกมาจากถนนสายหลัก จึงมีความเงียบสงบพอสมควร ติดกับบริเวณนี้ด้านที่ติดริมแม่น้ำจะเป็นบริเวณวัดเก่า มีโรงเรียนอยู่ และเป็นที่ตั้งอาคารของกลุ่มแม่บ้านที่ปั้นตุ๊กตาชาววังที่ขึ้นชื่อของอ่างทอง

อาคารศาลาการเปรียญเก่าที่ทรุดโทรมมาก รอการบูรณะปฏิสังขร

ก่อนกลับผมเดินขึ้นไปพินิจพิจารณาตำหนักที่ประทับของพระรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระเอกาทศรถนั้น มีลูกหมาสี่ตัวเห่ากันเกรียวไปเลย ผมก็เลยเรียกเขามาใกล้ๆ ลูบหัวทุกตัวด้วยความเมตตา ลูกหมาที่ไหนๆก็น่ารัก ผมลงนังเล่นสักพัก เจ้าทั้งสี่ตัวก็มานอนใกล้ๆ แบ่งที่นอนกันตัวละขั้นบันไดอย่างเรียบร้อย ยุติธรรม ไม่แย่งกัน


ผมมาเที่ยวชมวัดท่าสุทธาวาสวันนี้ด้วยสำนึกในบรรพบุรุษที่ปกป้องบ้านเมืองมาด้วยชีวิต ผ่านความยากลำบากมาด้วยหยาดเหงื่อและการเสียสละเป็นที่สุด ประชาชนต่างร่มเย็นเป็นสุขได้เพราะเรามีบรรพบุรุษที่สามัคคี ร่วมมือกันปกป้องบ้านเมือง

ความรู้สึก ความสำนึกแบบนี้มันหายไปไหนต่อคนไทยกลุ่มหนึ่ง หรือเขามี แต่มีสำนึกอะไร แบบไหน …บ่จั๊กแหล่ว..

แต่ที่แน่ๆเจ้าลูกหมาสี่ตัวนี่มันไม่ทะเลากัน…

อ้าวมันเกี่ยวกันตรงไหนนี่ อิอิ


ตลาดอยู่ไหน….

248 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 กุมภาพันธ 2009 เวลา 20:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6330

เนื่องมาจากบันทึกนี้ ปักธงกันใหม่ดีมั้ย? เสนอความเห็นกันหลากหลาย แล้วก็มาถึงที่เบิร์ดตั้งประเด็นว่า ….. เบิร์ดมีคำถามคาใจมานานว่าทำไมคนเชียงรายถึงผลิตให้คนเชียงรายกินไม่ได้?… ที่เกิดคำถามนี้เพราะตลาดค้าส่งผัก ผลไม้ของชร.มีการนำเข้าผัก ผลไม้มาจากหลายแห่งทั้งเชียงใหม่ พิษณุโลก สุโขทัย ฯลฯ เพราะพ่อค้าแม่ค้าบอกว่าเชียงรายไม่มี?!?! ในขณะที่เบิร์ืดออกไปอำเภอนอกๆ ก็พบเกษตรกรบอกว่าผลิตแล้วไม่มีตลาดขาย?!?! ..

ยกตัวอย่างที่น่าสงสัยประสิทธิภาพของการจัดการในระบบเช่นที่ป่าแดด ..อำเภอเล็กๆมีประชาชนประมาณ 3 หมื่นกว่า พื้นที่เป็นเกษตรกรรมกว่า 80 %.. ดูอย่างนี้คนเชียงรายน่าจะได้กินผักสดมากมายโดยไม่ต้องนำเข้าจากแหล่งอื่น นะคะ แต่เมื่อถามแม่ค้าในตลาดอำเภอป่าแดดว่าเอาผักมาจากไหน เค้าตอบว่าตลาดนำสวัสดิ์ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งในอำเภอเมือง ทั้งๆที่ป่าแดดไกลจากอ.เมืองประมาณ 60-70 กม.???? และลงไปคุยกับเกษตรกรบางรายที่ผ่านพบเจอ และตามรอยการผลิตไป ถามว่าผักส่งที่ไหน เค้าตอบว่าไม่มีที่ขาย???? ี่จะเลิกทำเพราะทำแล้วขายไม่ได้ ..

เกิดอะไรขึ้นกับระบบการผลิต-จำหน่าย - บริโภคของเรา?

————

ผมเองก็มึนตึบกับประเด็นนี้มานานแล้วเพราะไม่ใช่ผู้รู้ในเรื่องนี้ แต่ก็มีประสบการณ์ที่อยากจะเอามาเผื่อแผ่ อาจเกิดมุมมองที่สามารถต่อยอดได้ ดูเหมือนผมเคยบันทึกไว้ที่ใดที่หนึ่งมาก่อนแล้ว แต่ค้นหาไม่พบ เลยบันทึกเรี่องนี้อีกครั้งหนึ่งก็แล้วกัน เป็นเรื่องที่พอจะตอบประเด็นของเบิร์ดได้บ้างนะครับ..

ประมาณปี 2523-2524 ผมทำงานที่โครงการ NET บริเวณชายแดนไทยกัมพูชา ที่อำเภอ สังขะ กาบเชิง บัวเชด สำนักงานตั้งที่ อ.ปราสาท และที่ อ.เมือง เป็นโครงการที่ CUSO สนับสนุนให้ NGO ไทยมากกว่า 5 หน่วยงานมาร่วมมือกันทำงานนี้ หน่วยงานราชการก็มีกรมการพัฒนาชุมชน และวิทยาลัยครูสุรินทร์(สมัยนั้น) ผมได้เรียนภาษาเขมรก็ที่นี่แหละครับ..(ลืมเม็ดแหล่ว)…

งานที่เราทำนั้นก็หลากหลาย งานสำคัญหนึ่งคือการส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกผักเพื่อขาย เนื่องจากเราไม่มีความรู้เรื่องนี้เลย ที่ปรึกษาโครงการคือ ดร.สุธีรา ทอมสัน(วิจิตรานนท์) มีความเห็นว่าต้องเชิญผู้รู้มาให้คำแนะนำ เพื่อเราจะได้ส่งเสริมชาวบ้านทำการผลิตผักแล้วส่งขายในเมืองสุรินทร์…

สถานการณ์ก็ไม่ต่างจากปรากฏการณ์ที่น้องเบิร์ดเล่า คือไม่รู้ผักในตลาดตัวเมืองสุรินทร์มาจากไหน เวลาชาวบ้านปลูกไม่เห็นมีใครมาซื้อเลย.. ชาวบ้านบางคนก็เอาไปขายเองก็พอได้บ้างแต่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน งานส่งเสริมการปลูกพืชผักก็ถึงทางตัน….ปลูกได้ พัฒนาให้เป็นผักอินทรีย์ ไม่ยาก ทำปริมาณและคุณภาพก็ไม่ยาก เพราะเรามีเจ้าหน้าที่มากถึง 40 กว่าคนกระจายกันอยู่ตามหมู่บ้านชายแดน…

ตกลงดร.สุธีราไปเชิญการตลาดระดับสูงของ CP มาเที่ยวสุรินทร์ แล้วตั้งใจจะพาไปดูตลาดในเมืองและเข้าไปในพื้นที่โครงการเพื่อศึกษาสภาพข้อเท็จจริง เมื่อทุกท่านลงรถไฟที่สถานีสุรินทร์เวลาประมาณ ตี 4 ก็เข้าที่พัก ดร.สุธีราตื่นเช้าก็ลงมาทานกาแฟและรอแขกตื่นนอนเพื่อดำเนินการตามกำหนดการ แต่พอสายนิดเดียวพบว่า เจ้าหน้าที่ CP ตื่นนานแล้วและออกไปตลาดตั้งแต่เช้าไปเก็บข้อมูลมาหมดตลาดแล้ว

เจ้าหน้าที่ CP กล่าวว่า ผมมีคำตอบแล้ว..อยากเชิญทุกท่านไปห้องประชุมจะอธิบายให้ฟัง เมื่อทุกคนทุกอย่างพร้อม ก็รับฟังคำอธิบายว่า

  • ผักที่ตลาดสุรินทร์ 80 – 90 % มาจากโคราช

  • ผักที่โคราชมาจากสุรินทร์และที่อื่นๆ….??????

  • โดยมีพ่อค้าผูกขาดระบบนี้อยู่หลายเจ้า…

  • พ่อค้าจำนวนหนึ่งวิ่งรถมารับผักจากชาวบ้านทั้งเจ้าประจำและทั่วไปแล้วไปส่งที่โคราช แล้วมีพ่อค้าอีกกลุ่มหนึ่ง วิ่งรถเอาผักในตลาดซื้อขายส่งที่โคราชกลับไปขายในตลาดที่สุรินทร์ พ่อค้าเหล่านี้จะ Update ราคาสินค้าตลอดเวลากับตลาดโคราช ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท ตลาดปากคลองตลาด…..

  • นี่คือระบบตลาดผัก ต้องศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้

  • ดังนั้นหากต้องการส่งเสริมชาวบ้านปลูกผักแล้วส่งตรงเข้าตลาดสุรินทร์ ต้องทำดังต่อไปนี้

  • สร้างพ่อค้าผักหน้าใหม่ขึ้นมาวิ่งรับผักโคราชเข้าสุรินทร์ จนมีเครดิตดีพอ ก็ค่อยๆลดปริมาณการซื้อผักที่โคราชลงมาแล้วเอาผักชาวบ้านในโครงการเติมเข้าไปแล้วส่งตลาดสุรินทร์

  • เมื่อใช้เวลานานเข้าเครดิตสูงก็ไม่ต้องวิ่งไปโคราชแล้วจัดการบริหารจัดการปริมาณผัก ชนิดผักตามฤดูกาลต่างๆขึ้นแล้วประสานงานกับโครงการทำการปลุกพืชผักตามความต้องการตลาดเช่นนั้น

  • แล้วก็กลายเป็นการส่งตรงจากแปลงผู้ผลิต พ่อค้า ตลาดสดเมืองสุรินทร์ โดยไม่ต้องวิ่งไปโคราชอีกต่อไป…..

  • นี่คือผลการศึกษาและข้อแนะนำของเจ้าหน้าที่ CP ที่เราได้รับฟังการบรรยายสรุป

โฮ…NGO อย่างเราหรือจะไปเข้าใจสิ่งเหล่านี้ มึนตึบเลย เมื่อได้รับฟังเช่นนั้นแล้วก็บ่นกันเองว่า …คิดได้อย่างไรนี่…

ประเด็นต่อมาคือ เราจะสร้างคนให้เป็นพ่อค้าคนนั้นได้อย่างไร…?? ยิ่งมึนเข้าไปใหญ่เลย หันซ้ายหันขวาหน้าตาเจ้าหน้าที่มี เล่าเต้ง ทั้งนั้น ไม่กระดิกในเรื่องการค้าการขาย เวลาพูดในที่ประชุม นอกห้องประชุมเป็นต่อยหอย ทั้งหอยเล็กหอยใหญ่ แต่การค้าการขาย เงียบสนิท อิอิ..

จนมาถึงโครงการปัจจุบันนี้ ที่เราทำตลาดชุมชน (Community market) โดยการศึกษาศักยภาพการผลิตชุมชน ระบบตลาดในหมู่บ้านปัจจุบัน การเชื่อมโยงระบบตลาด ปริมาณความต้องการสินค้า ฯลฯ เมื่อพบว่ามีลู่ทางทำตลาดชุมชนได้ ก็สนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัวกันทำ ก็เป็นทางออกอีกแบบหนึ่ง แต่ตลาดเช่นนี้ไม่เน้นการขายในปริมาณมากๆ เน้นการผลิตเพี่อบริโภคภายในชุมชนและเหลือบ้างก็เอามาวางขายในตลาดกลางบ้าน… ที่บ้านกกตูม ในดงหลวง มีเงินหมุนเวียนบางเดือนเป็นแสนทีเดียวครับ แต่ไม่ใช่ผักอย่างเดียว ทุกอย่างที่ผลิตได้ในชุมชนก็เอามาขายกัน

ปัจจุบันก็ยังมีความเชื่อลึกๆว่า น่าที่จะมีใครทำแบบข้อเสนอของ CP ได้

เพียงแต่เราไม่ได้ลงมือทำมันเท่านั้นเอง…


Soc-Ant กับ Dialogue for Consciousness

230 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 กุมภาพันธ 2009 เวลา 17:10 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5250

สมัยที่ทำงานกับ USAID ที่ขอนแก่นประมาณปี 2524 สงครามในอินโดจีนยังร้อนแรง เพื่อนชาวอเมริกันที่สนิทสนมกันเล่าให้ฟังว่า รัฐบาลอเมริกันวิตกมากว่าทำอย่างไรก็ไม่สามารถเอาชนะสงครามเวียตนามได้ ในช่วงท้ายสงครามนั้น รัฐบาลอเมริกาเขาส่งนักมานุษยวิทยาเข้าไปในเวียตนามทำการศึกษา วิเคราะห์เจาะลึกว่า ทำไมคนเวียตนามจึงสามารถสู้กับทหารอเมริกันที่มีเทคโนโลยีการฆ่าคนล้ำยุค แต่ไม่สามารถเอาชนะสงครามในเวียตนามได้…!!

ทฤษฎีการส่งเสริมการเกษตร กับชุมชนนั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือ นอกจากจะมีนักเกษตรแล้วต้องมีนักสังคมวิทยารวมอยู่ในทีมด้วย….!!

การศึกษาวิจัยสนามถึงสาเหตุของโรคภัยต่างๆนั้น องค์ประกอบของทีมวิจัยจะต้องมีนักสังคมศาสตร์รวมอยู่ด้วย…!!

เมื่อคืนก่อนดูรายการรู้ทันประเทศไทยทาง ASTV ของ ดร.เจิมศักดิ์ กับคุณสันติสุข ประเด็นหนึ่งพูดกันถึงข่าวที่นักศึกษาตีกัน แล้ว อ.เจิมศักดิ์บอกว่า ต้องลงไปพูดคุยกับเด็กเหล่านั้นอย่างกันเอง และมีระบบของการพูดคุย ก็จะสามารถหาทางออกในการแก้ปัญหาเหล่านี้ได้

อ.เจิมศักดิ์ เล่าให้ฟังว่า อดีตนั้นในอเมริกามีกรณีที่คนผิวดำมักจะมีปัญหาตีรันฟันแทงกับคนผิวขาวเสมอ การแก้ไขแบบนักการเมืองไม่เคยได้ผล การแก้ไขโดยใช้กฎหมายของตำรวจก็ไม่ได้ผล แต่เมื่อเอานัก Anthropologist ลงไปทำการพูดคุยอย่างเป็นระบบ พบว่า คนผิวดำมากกว่าครึ่งหนึ่งเลิกพฤติกรรมแบบนั้น??

น่าตั้งคำถามว่าเพราะอะไรหรือ..?? อ.เจิมศักดิ์ อธิบายว่า เพราะนัก Anthropologist มีกระบวนการตั้งคำถาม และวิธีการพูดคุยที่ดี การพูดคุยแลกเปลี่ยนนั้นได้ไปกระตุ้นการลำดับเหตุผลต่างๆขึ้นมา การเชื่อมโยงผลและเหตุ จนสร้างความตระหนักแห่งสำนึกเกิดขึ้น และเมื่อเกิดสำนึก ความเป็นเหตุเป็นผลที่มีสำนึกนั้นจะช่วยยับยั้งพฤติกรรมก้าวร้าวลงไป และหันมากระทำในสิ่งที่ดีกว่า สร้างสรรค์กว่า นี่คือการเกิดสติ ….

ผมคิดว่านี่คือ Dialogue for consciousness หรือ Dialogue for awareness นั่นเอง

กระบวนการนี้…หมอจอมป่วน..หมอตา..ฯลฯ วิ่งไปข้างหน้าแล้ว…

(หมายเหตุ Soc-Ant หมายถึง Sociologist and Anthropologist)


ตั๊กแตน..

1029 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 31 มกราคม 2009 เวลา 17:14 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 15219

ฉันเป็นคน..ยุดยา..

ก็มานั่งขายตั๊กแตนตั้งแต่เช้า นั่งรถเมล์มา เสีย 20 บาท

ตอนเช้านั่งตรงโน้น บ่ายก็มาตรงนี้ แดดมันร้อน

ลูกชายเขาไปเรียนทำตั๊กแตนมาจากไหนไม่รู้ เขามาสอนฉัน

ฉันทำเป็นก็ทำมาขาย

ลูกเค้าไปเอาใบตาลมาจากกลางทุ่งโน่น ไม่ได้ซื้อ หาหรอก

นี่ขายตัวละ 20 บาท วันไหนคนมาวัดเยอะก็ขายหมด

ฉันมานั่งเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์เท่านั้น วันธรรมดาไม่มีคนมาวัดหรอก

เจ้าตั๊กแตนนี่ เก็บเอาไว้อย่าให้ถูกน้ำ ทน นานเชียว ไม่เป็นไรหรอก..

วันธรรมดาฉันก็รับจ้างเขาทำงานเรื่อยไป อะไรก็ได้..

อายุเหรอ..ฉันไม่ได้นับมานานแล้ว เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้…

—————

ลุงคนขายตั๊กแตนสาน

(ที่วัดม่วง อ่างทอง)


AM….

377 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 26 มกราคม 2009 เวลา 2:11 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 5742

เวลาท่านขับรถเดินทางคนเดียวท่านทำอะไร?

เปิดเทปฟังเพลงโปรดซิ บางท่านคงจะบอกเช่นนี้…

ผมก็ทำครับ อาศัยเทคโนโลยีทางเสียงฟังเพลงสารพัดประเภท ชนิด..

บางครั้งก็ซื้อเทปวิชาการต่างๆมาฟัง ที่นักธุรกิจ เอาวิชาการยัดใส่กล่อง ขาย.. ส่วนมากก็เป็นความรู้ทางการบริหารจัดการองค์กรทางธุรกิจ หรือเรื่องราวต่างๆทางการพัฒนาระบบธุรกิจ บางท่านธรรมะ ธรรมโม ก็เอาเทปพระอาจารย์ต่างๆมาฟังกัน…

ผมฟังเพลงทุกประเภทตั้งแต่ลูกทุ่งยันคลาสสิค และเพลงเพื่อชีวิต แต่ที่เพลงวัยรุ่นมักไม่ค่อยเข้าหู… ตรงข้ามออกจะหนวกหูเอาซะด้วย

มาช่วงหลังนี้ เดินทางโดยการขับรถคนเดียวนั้นผมจะหันไปเปิดวิทยุ AM ซึ่งเกือบลืมไปแล้วว่ามันมีวิทยุ AM อยู่ในโลกนี้ด้วย บางท่านอาจจะลืมไปจริงๆก็ได้ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่มีแต่แสวงหาสิ่งที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาบริโภค ซึ่งเข้าทางนักประกอบการธุรกิจ

ผมลองเปิดวิทยุ AM พบว่าที่อีสานนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นวิทยุ FM ส่วน AM นั้นมีน้อยกว่ากันหลายเท่าตัว รายการก็เป็นเพลงพื้นบ้านผสมการโฆษณาสินค้าอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งนักธุรกิจเขาคงทำการศึกษาตลาดมาก่อนแล้วว่า ใครคือกลุ่มคนที่ฟัง AM

เปิดวิทยุ AM ฟังไปฟังมา ผมชอบหลายรายการทั้งในภาคกลางวันและกลางคืน

มีรายการเพลงลูกทุ่งรายการหนึ่งของสถานีวิทยุที่ขอนแก่น ผู้ดำเนินการพูดภาษาถิ่นอย่างรื่นไหลและมีลูกเล่นแพรวพราว มีแฟนรายการมากมายโทรมาไม่ขาดสาย แต่ที่แปลกที่สุด (ในโลก) ที่แฟนเพลง Phone in เข้ามานั้นเป็นสตรีและมีอายุเกือบทั้งสิ้น ผมสังเกตคำต่างๆที่ผู้ดำเนินรายการใช้ และสาระที่พูดคุยกัน มีการชัดชวนกันไปทำบุญร่วมกันตามฮีตคองของท้องถิ่น และที่ผมประทับใจคือรายการนี้จะคัดเพลงเปิดเฉพาะ ไม่ใช่ตามใจผู้โทรศัพท์มาขอฟัง อย่างนี้ละมั๊งที่ผมจึงไม่ได้ยินเสียงวัยรุ่นเลย

รายการนี้ไม่เอาเพลงที่ยั่วยุกามรมณ์เปิด หรือประเภทสองแง่สองง่าม หรือส่อไปในทางที่จะสร้างค่านิยมใหม่ให้ผิดศีลผิดธรรม….ผู้ดำเนินรายการกล่าวว่า รายการนี้ขอปฏิบัติเช่นนี้ เขาบอกว่ารับไม่ได้กับเนื้อหาเพลงที่เป็นแนวนั้น ตรงข้ามจะคัดเพลงเก่าๆ ออกจะโบราณ ที่มีสาระ คติ และแนะนำให้สร้างสิ่งดีดี โดยเฉพาะหลักการดำรงชีวิตที่ดีร่วมกัน ซึ่งสาระแบบนี้เพลงสมัยใหม่ไม่ค่อยมี มิน่าเล่าจึงมีแม่ยกติดกันจมเลย…

อีกรายการที่ผมชอบมากๆ เป็นเวลากลางคืน ดูเหมือนจะเป็นของโรงพยาบาลอภัยภูเบศที่ปราจีนบุรี ผู้ดำเนินรายการจะคุยกับคุณหมอที่มีตำแหน่งสูงทางการบริหาร และเปิด Phone in ให้แก่ผู้ฟังทั่วประเทศ ซึ่งก็มีผู้โทรเข้าไปมากมาย ต่างเล่าอาการเจ็บป่วยและต้องการคำแนะนำเบื้องต้นจากคุณหมอแบบสดๆ

ผมเรียนรู้ไปด้วย หลายเรื่องก็ตรงกับปรากฏการณ์ทางร่างกายที่ผมเผชิญอยู่ บางอย่างก็ใกล้เคียง แต่ทั้งหมดนั้นคุณหมอจะแนะนำเรื่องสมุนไพรพื้นบ้านก่อนที่จะเข้าหายาแผนตะวันตก คุณหมอพูดถึงความเสี่ยงต่างๆในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันที่แตกต่างจากสังคมโบราณ และคนโบราณดูแล รักษาสุขภาพกันอย่างไร เป็นความรู้ที่ง่าย เข้าใจง่าย ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้..ดีจังเลย..

รายการธรรมะ โดยพระอาจารย์หลายสำนักจะออกอากาศทั้งสดทั้งเทป ท่านได้เอาข้อมูลทางธรรมะมาอธิบายง่ายๆให้ผู้ฟังได้ฟังเป็นการเตือนสติ ให้ปุถุชนอย่าได้ตั้งอยู่บนความประมาท โดยเฉพาะพระบางองค์ มีลูกเล่นยิ่งกว่าพระพยอมในสมัยแรกๆอีก ทางเหนืออาจจะเรียก ตุ๊จกที่ไปเทศน์ที่ไหน ผู้เฒ่าผู้แก่หิ้วเชี่ยนหมากไปนั่งฟังกันยังกะไปดูลำตัด หัวเราะกันฉี่แตกก็เคยพบมาแล้ว….

อีกหลายรายการครับที่ดีดี..หากท่านอยากเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการเดินทาง ท่านลองหมุนคลื่นวิทยุ AM บ้างซิครับ

ท่านอาจจะกลายเป็นแฟนคลับไปเลยก็ได้ อิอิ.


ค่านิยมในวันรับปริญญา….

30 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 25 มกราคม 2009 เวลา 16:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1775

อาจจะเป็นเรื่องเก่าสำหรับท่าน แต่ใหม่สำหรับผมครับ… ก็เรื่องค่านิยมของการมอบสิ่งของเพื่อแสดงความยินดีแก่บัณฑิตใหม่น่ะซี

อาจเป็นเพราะผมห่างเหินเรื่องนี้ไปสามสิบกว่าปี ทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป จะว่าพัฒนาไปแบบไหนก็แล้วแต่จะพิจารณากันเถอะครับ เพียงแต่หยิบเอามาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น

สมัยโน้น..ไม่มีดอกไม้เป็นมัดเบ่อเริ่มเบ่อเร่อ..อย่างปัจจุบัน

ไม่มีดอกไม้เทียม มีแต่ดอกไม้สดๆ แน่นอนส่วนใหญ่ก็เป็นดอกกุหลาบ

แต่ที่ มช.จะมีดอกไม้ประจำสถาบันแซมเข้ามาคือ ดอกทองกวาว ซึ่งช่วงรับปริญญาดอกจานก็ออกดอกเต็มต้นพอดี ผมจำได้ว่าไปเดินหักกิ่งดอกทองกวาวจากต้นเตี้ย แล้วเอาไปมอบให้พี่ที่เราเคารพนับถือ..

การถ่ายรูปสมัยนั้นยังเป็นระบบฟิล์มที่จะต้องล้างอัดกันในลักษณะโปสการ์ด ตกราคาแผ่นละ 3-5 บาทซึ่งถือว่าแพงมาก ใครถ่ายหลายๆม้วนก็ค่าล้างอัด(ขยาย)อ่วมแน่ๆ ผมเองถ่ายมาแค่ม้วนเดียว กล้องถ่ายรูปก็ไม่มีขอยืมเพื่อนที่เป็นประธานชมรมถ่ายรูปมาถ่ายเอา ส่วนมากก็ถ่ายรูปคณะ เพื่อนสนิทและพ่อแม่ญาติที่ไปร่วมงานด้วย..และรูปสมัยนั้นยังนิยมขาวดำอยู่เลย..

สมัยนี้เป็นระบบดิจิตอล เอาแผ่นหน่วยความจำขนาดใหญ่ใส่เข้าไปก็ถ่ายกันไม่อั้น เรียกกันว่าถ่ายทิ้งถ่ายขว้าง แล้วมาเลือกเอารูปดีดีเก็บเข้าแฟ้มไว้ ชอบรูปไหนก็ไป Develop เอาเฉพาะ ที่เหลือก็เก็บไว้ในแผ่น CD หรือที่อื่นๆตามสะดวก

มาวันนี้ผมไปร่วมงานรับปริญญาลูกสาว โห..ทำตัวไม่ถูกเลย มัยเลยวัยไปไกลแล้ว..อิอิ ที่สะดุดตาครั้งแรกก็คือ เห็นบัณฑิตสาวท่านหนึ่งถือแผ่นป้ายแดงๆเหมือนแผ่นทะเบียนรถป้ายแดง ผมนึกในใจว่า โฮ..คุณพ่อคุณแม่เขาต้อนรับและแสดงความยินดีกับลูกของท่านด้วยรถป้ายแดงเลยนะเนี่ย…..อือ… ของผมคงซื้อเกวียน หรืออีแต๊กให้ละมั๊ง..อิอิ.

ระหว่างนั่งรอพิธีมอบปริญญาบัตรก็มีคนเอาดอกไม้กำใหญ่พร้อมกับป้ายกระดาษตัวใหญ่ใส่ข้างว่า …เกรียตินิยมอันดับ 1..” ผมก็นึกในใจว่าโฮ.. เธอเก่งจริงๆนะ …..

แต่เดินผ่านกลุ่มบัณฑิตและญาติพี่น้องที่คลาคล่ำไปหมดแล้วสังเกตว่า เอไม่ใช้ป้ายทะเบียนรถนี่นา แต่เป็นป้ายข้อความ และก็น่าที่จะเป็นเพื่อนๆซื้อจากร้ายค้าย่อยชั่วคราวในบริเวณงานที่พ่อค้าทำมาโดยคาดการณ์ว่าน่าจะมีคนซื้อเอาไปแสดงความยินดีกับบัณฑิต…

ผมเห็นมากกว่าหนึ่งป้าย ข้อความแตกต่างกันไป อ้อ…นี่เอง.. นอกจากการซื้อดอกไม้ทั้งห่อใหญ่ เล็ก แล้วก็มีอย่างอื่น เช่น ตุ๊กตาตั้งแต่เล็กและใหญ่ๆ ถึงใหญ่มากๆก็เห็น ขนมเค้ก ซองของขวัญเล็กๆ เลยไปถึงสลากกินแบ่ง และเจ้าป้ายทั้งเลียนแบบป้ายทะเบียนรถและป้ายธรรมดา มีทั้งใหญ่และเล็กๆ…


ผมไม่วิภาควิจารณ์เรื่องนี้ในแง่ดี เหมาะสม หรือ ไม่ดี ไม่เหมะสม แต่สนใจในแง่ว่าใครเป็นผู้ทำให้เกิดค่านิยมเหล่านี้ นักธุรกิจ หรือผู้ไปแสดงความยินดีที่คิดสร้างสรรค์บรรเจิดแล้วไปสั่งร้านทำให้ หรือร้านธุรกิจเขาเดาออกว่าควรจะทำอะไรไปขายแล้วขายได้.. หรือทั้งสองส่วน.. สร้างค่านิยมมาด้วยกัน

นอกจากป้ายข้อความดังกล่าวแล้ว ผมยังเห็นป้ายที่มีข้อความอีกมากมายแต่ถ่ายรูปไม่ทัน จะเดินไปขอถ่ายรึ ก็ไม่ใช่ผมแน่.. ข้อความต่างๆนั้น เช่น… จบแล้วยังไม่มีงาน.. จบแล้วยังโสด..


ค่านิยมเหล่านี้หากเอามาสร้างให้สอดคล้องกับการสร้างค่านิยมในการเสริมสร้างทุนทางสังคมบ้างจะได้ไหม.. เช่นเขียนข้อความในแนวทางใหม่ว่า

จบแล้ว ด้วยหยาดเหงื่อของพ่อแม่..

จบแล้ว กราบขอบคุณอาจารย์ทุกท่าน..

จบแล้ว..จะยึดคำสอนของอาจารย์

จบแล้ว จะเป็นพลเมืองดี สร้างชาติให้เจริญต่อไป.. ฯลฯ..

หรือ

จบแล้วพ่อแม่จ๋า.. ลูกจะกลับไปดูแลเอง รักนะ จุ๊บๆ


บางกอก…

82 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 มกราคม 2009 เวลา 0:53 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1543

เคยเดินแต่ป่าไม้ดงหลวง ไม่ได้มาเดินในป่าคอนกรีตเมืองบางกอกมานานแล้ว ดูแปลกๆ  ไม่กล้า แม้จะขับรถเข้าที่พัก เพราะกลัวหลงป่าที่ แออัดไปด้วยเหล็กวิ่งได้ จำนวนมากมาย  เลยต้องเปลี่ยนใจไปที่บริษัท เพื่อถามหาพนักงานขับรถที่ไม่มีภารกิจวันนี้ให้ช่วยขับรถไปส่งที่พักหน่อย

เขาไม่อิดออดแต่อย่างใดเมื่อตรวจสอบภาระกิจแล้วไม่มีก็ช่วยพาเรามาถึงที่พักรังนกกระจอกยักษ์ที่อยู่บนป่าคอนกรีตชั้น 23 เมื่อมองออกไป โห… ป่าคอนกรีตขยายตัวมากขึ้น ขณะที่ป่าไม้ลดลง มองลงไปที่ถนน เหมือนมดเหมือนปลวกวิ่งกันวุ่นไปหมด …

ป่าคอนกรีตเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์สองเท้า กระดูกสันหลังทำ Vertical กับแรงดึงดูดของโลก ไปสูบทรัพยากรมาจากป่าไม้ธรรมชาติแล้วมาอยู่อาศัยในป่าคอนกรีตที่สร้างขึ้นมา

ยามค่ำคืนก็สว่างไสวด้วยพลังงานที่มีความจำเป็นต่อองค์ประกอบการดำรงชีวิต สำหรับวิถีโลกในสังคมนี้โดยเฉพาะสังคมเมือง ทำไมไม่เก็บพลังงานที่ใช้ส่วนนี้ไว้เพื่อสิ่งที่จำเป็นมากกว่า  อำนาจของระบบธุรกิจได้เผาผลาญพลังงานไปมากกว่ามนุษย์จะใช้เพื่อความจำเป็นจริงๆเสียอีก สร้างสิ่งกระตุ้นเพื่อการบริโภค ศาสตร์แห่งการประชาสัมพันธ์ มีไว้เพื่อสิ่งนี้มากกว่าที่จะมีเพื่อสร้างทุนทางสังคมที่ทำให้สังคมมีความเป็น Harmony และจำเป็นมากกว่า…. นี่คือความศิวิไลซ์เช่นนั้นหรือ… หรือว่านี่คือการบริโภคเกินความจำเป็นขั้นพื้นฐาน…..  มนุษย์ระดมประชาสัมพันธ์ให้รักษาป่า สภาพแวดล้อม  มนุษย์ก็สมควรที่จะหยุดการเผาผลาญพลังงานในลักษณะเช่นนี้ด้วย..

แม้กิจกรรมนี้จะผ่านไปแล้ว หมดความจำเป็นแล้ว แต่การเผาผลาญพลังงานยังดำรงอยู่  แล้วคุณไปสร้างนโยบายอะไรที่ให้มีการประหยัดพลังงาน  หรือว่าสิ่งเหล่านี้มันใกล้ตัวเกินไป ตำตาจนกลายเป็นการไม่เห็น นี่เองที่ภาพถ่ายดาวเทียมโลกยามค่ำคืนจึงมองเห็นโลกสว่างไสวไปทั่วโลกหมด  ในมุมมองของหลายๆคนคิดว่าความสว่างไสวคือความรุ่งเรือง  แต่หลายท่านอาจมีมุมมองว่า ความสว่างไสวคือการเร่งการทำร้ายตนเองของมนุษย์ชนให้มีระยะเวลาที่เสวยสุขสั้นลง

สักวันหนึ่งมันจะมืดสนิท… ป่าคอนกรีตจะมีความหมายอะไร…

ความเป็นมนุษย์ที่ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐนั้น ดูจะเป็นคำกล่าวที่ผิดพลาด…..

(ภาพ: จากตึกโรงแรม Windsor สุขุมวิท 20 วันที่ 23 ม.ค. 52)


โลกยามค่ำ

48 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 19 มกราคม 2009 เวลา 15:15 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1318

บทความต้นฉบับ เขาตั้งชื่อไว้ว่า สัญญาณเตือน

ขออภัยที่รูปไม่มีความคมชัด เพราะใช้กล้องที่คุณภาพต่ำ และไม่มีขาตั้งกล้อง แถมใช้มือถ่ายแบบธรรมดา copy มาจากหนังสือ ภาพจึงไม่คม และเบลอๆมากๆด้วย รูปต้นฉบับเป็นแผ่นเดียวใหญ่ที่แสดงโลกทั้งใบ แต่ผมถ่ายแบ่งส่วนมาครับ

———-

ฟ

ปริมาณการใช้ไฟฟ้ายามค่ำคืนของประเทศต่างๆในยุโรป สว่างมากที่สุด

เป็นภาพถ่ายตอนกลางคืนแสดงให้เห็นว่าโลกของเราใช้ไฟฟ้าอย่างมหาศาลหลังพระอาทิตย์ตกไปแล้ว ดูเผินๆก็สวยดี แต่ถ้าดูให้ดีๆจะเห็นว่าไม่น่านิ่งนอนใจ

ห ก

นี่คือปริมาณการใช้ไฟของทวีปอาฟริกา ซีกตะวันตกของทวีปอาฟริกา

ส่วนของประเทศอาฟริกาใต้

เพราะลองนึกภาพว่าแหล่งพลังงานไฟฟ้าจะร่อยหรอลงไปอย่างมากแค่ไหนขณะประชากรโลกที่อยู่ในเมืองเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภาพเหล่านี้เป็นของนักวิทยาศาสตร์ “มาร์ก อิมฮอฟ” แห่งองค์การอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ หรือนาซ่า

นี่คือปริมาณการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยเรา

ดูจะมากพอกับมาเลเซียและสิงค์โปร์ แต่ที่เขมรและลาวดูจะน้อยกว่ามาก

ภาพที่ปรากฏอยู่นี้เป็นเครื่องมือแสดงให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แผนที่ภาพโลกแสดงการใช้ไฟฟ้า ฉบับนี้สามารถประเมินผลกระทบการขยายตัวของเมืองได้อย่างเป็นรูปธรรมเป็นครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบต่อการผลิตอาหารของโลก หรือบรรยากาศในโลกใบนี้

รูปซ้ายมือนี่เป็นเกาะญี่ปุ่น                                             รูปนี้เป็นประเทศอินเดีย

นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เราสามารถเข้าใจโลกทั้งใบได้อย่างเป็นระบบสมบูรณ์แบบ อิมฮอฟกล่าว ความรู้ที่ได้อาจจะกลายเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้

อภิปราย: สำหรับท่านที่เล่นแผนที่ หรือ GIS หรือท่านที่สนใจทางด้านนี้ย่อมคิดอะไรไปร้อยแปด เมื่อเอาข้อมูล(ภาพถ่ายจริงจากดาวเทียม) มาพิจารณาดูเราก็รู้ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ส่วนของโลกที่ใช้มาก ใช้น้อย หากเอาข้อมูลสนามมาพิจารณาก็จะทราบรายละเอียดมากขึ้นไปอีกว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น หากมีข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องไปอีกมากมาย นักวิทยาศาสตร์ก็จะใช้ประโยชน์ตรงนี้ทำการวิเคราะห์ คาดการณ์ พยากรณ์การ “ถลุง” พลังงานของเพื่อนร่วมโลกได้ดี และคำนวณ ความสิ้นเปลืองในการบริโภคพลังงาน และอาจจะทำนายถึงระยะเวลาวิกฤตพลังงานที่กำลังจะถึงด้วยซ้ำไปว่าจะรุนแรงมากแค่ไหน และ…ฯลฯ…

มองมุมหนึ่งคือความสวยงาม

และมองอีกมุมหนึ่ง น่าตกใจนะครับเพราะว่า “ความสวยคือการทำลาย อันก่อเกิดทุกข์ในที่สุด”

(แหล่งข้อมูล: Readers Digest ฉบับมกราคม 2552 หน้า 130)


เกริ่นลานเก็บมาเล่า

18 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 18 มกราคม 2009 เวลา 0:40 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 950

นับตั้งแต่เปิดลานดงหลวง ก็เขียนมาเรื่อยๆตามโอกาส

แต่ลานฅนฟื้นฟู ไปไม่รอดเพราะ เพื่อนร่วมงาน ไม่ขยับ  เลยเอาไว้อย่างนั้นก่อน ค่อยว่ากันต่อไปเพราะเป็นเรื่องใหญ่

มาวันนี้ลองไปดูกองหนังสือในบ้าน โฮ….ความรู้กระจายอยูู่้มากมายก่ายกอง

แต่เป็น “เรื่องน่ารู้”  และเรื่อง”รู้ก็ได้ไม่รู้ก็ได้” เลยคิดว่า  เวลาที่พอมีเหลือบ้าง จะลองอุทิศหามาเล่าสู่กันฟัง ว่าง่ายๆคือ ไปเอาขี้ปากเขามาฝอยต่อ ท่านก็แค่อ่านผ่านๆ แค่นั้นก็โอเคแล้ว

เผื่อเรื่องใดเป็นประโยชน์ ท่านก็หยิบเอาไปก็แล้วกัน



Main: 0.093062877655029 sec
Sidebar: 0.062977075576782 sec