รังใหม่..
อ่าน: 992ข้างโต๊ะทำงานเป็นหน้าต่าง
นอกหน้าต่างคือต้นปาล์มสิบสองปันนา
นกน้อยสองตัวคู่รักกัน
ช่วยกันคาบใบไม้มาบรรจงสร้างรังใหม่
เตรียมสำหรับลูกน้อยที่จะเกิดมา…
ธรรมดา…ชีวิต
ธรรมดา..สัตว์โลก..
ข้างโต๊ะทำงานเป็นหน้าต่าง
นอกหน้าต่างคือต้นปาล์มสิบสองปันนา
นกน้อยสองตัวคู่รักกัน
ช่วยกันคาบใบไม้มาบรรจงสร้างรังใหม่
เตรียมสำหรับลูกน้อยที่จะเกิดมา…
ธรรมดา…ชีวิต
ธรรมดา..สัตว์โลก..
ณ ที่ทำงานแห่งหนึ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา
มีโครงการทำงานเพื่อชุมชนแห่งหนึ่ง ในหลายปีที่ผ่านมา คนทำงานมีความสนุกมาก แต่มาปีนี้ต่างจากช่วงปีก่อนๆจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะนายเบอร์สองที่กำกับโครงการเดี้ยงเรื่องสุขภาพ นายมือหนึ่งก็ลงมาฮุบโครงการทันที ที่ว่าฮุบก็เพราะ ปกติโครงการแบบนี้ไม่มีนายใหญ่คนไหนลงมาเล่นเอง แต่คนนี้ลงมามากกว่าที่เรียกว่าล้วงลูก มาสั่งให้ทำอย่างโน้น อย่างนี้ จนวุ่นไปหมดเลยน่ะซี…
แรกๆเราก็ทึ่งวิธีคิดของนายเบอร์หนึ่ง แหมเป็นนายใหญ่แต่คิดอะไรที่เหมือนก้าวหน้ามาก ใช้ศัพท์แสงทางวิชาการ เทคนิคต่างๆมากมายจนหัวหน้างานระดับจังหวัดและพวกเราที่เป็นที่ปรึกษางงไปตามๆกัน งงก็คือ นายพูดอะไร…ไม่เห็นมีใครเข้าใจเลย…
จริงๆสิให้ดิ้นตาย..ไม่มีใครรู้เรื่อง ต่างตีความกันไปคนละทิศละทาง ซึ่งไม่เหมือนกันเลย เบอร์สองใหม่ที่นายหิ้วมาด้วยนั้นก็เปะปะ เบอะบะ ต่างก็พยายามใช้คำที่นายพูด แต่ก็ไม่เคลียร์…คนที่ปฏิบัติข้างล่างก็ยิ่งมองหน้ากัน
ครั้งหนึ่งนายใหญ่ไปประชุมต่างจังหวัด ใครพูดไม่ถูกใจก็แสดงอำนาจ “เดี๋ยวผมย้ายเลย”…. “นี่คุณ..ผมไม่ใช่เพื่อนเล่นคุณนะ”.. แม้เพื่อนตัวเองที่เรียนกันมายังโดนย้ายไปต่อหน้าต่อตาในการประชุมที่มีเพื่อนข้าราชการครึ่งร้อยคน.. แค่นี้ก็หัวหดเข้ากระดองหมดสิ้น สุดที่จะมีใครอาจหาญ กล้าลุกขึ้นมามาทัดทานได้…..
แค่หกเดือนหัวหน้างานจังหวัดก็ยื่นจดหมายลาออกไปแล้วหนึ่งคน ทนไม่ไหวต่อวิธีการทำงานแบบพิลึกกึกกือของนายใหญ่ เราก็ภาวนาสิ้นเดือนตุลาคมนี้พระผู้เป็นเจ้ามาเอาตัวนายคนนี้ไปที่ชอบที่ชอบเถอะ..สงสารประเทศนี้ อย่ามีนายใหญ่มาปู้ยี่ปู้ยำงานเพื่อชุมชนเลย…
อำนาจ??? หากคนที่ครอบครองเป็นคนดี สังคมก็ก้าวหน้า พัฒนา เจริญ
แต่หากคนครอบครอง บ้าอำนาจและไร้สาระ ก็จะเป็นเวรกรรมจริงๆ
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ประเทศไทยนะครับ….
อ้าว ตายละ หลุดปากบ่นไปซะแล้ว.. เฮียตึ๋งอย่าว่ากันนะ แก่แล้วอ่ะ… อิอิ
พิลา…เป็นชื่อพนักงานขับรถของโครงการเรา เขาเป็นคนท้องถิ่นมุกดาหาร ซื่อๆ ตรงๆ เรียบร้อย น้ำใจดีงาม และดูแลรถเป็นเลิศ พวกเรารักใคร่พิลา
พวกเรายินยอมให้พิลาลาหยุดเมื่อเข้าสู่ฤดูการทำนา ปลูกมันสำปะหลัง เกี่ยวข้าว กู้มัน หรือธุระอื่นๆที่เกี่ยวกับครอบครัวเขา ก็เรารู้ดีว่าเงินเดือนพนักงานขับรถนั้นไม่ได้มากมาย เมื่อเทียบรายจ่ายในสภาพปัจจุบัน อะไรที่จะช่วยให้ครอบครัวเขาอยู่ได้ เราก็จะทำ
ความรู้ต่างๆเกี่ยวกับการพึ่งตนเอง การเพิ่มผลผลิต การทำเกษตรผสมผสาน และอื่นๆที่เราเอาความรู้ไปให้ชาวบ้านในท้องถิ่น พิลาก็แอบฟังแล้วก็เอาไปทดลองทำ ทดลองใช้เองที่สวนของเขา จนประสบผลสำเร็จก็มาบอกเราว่า เอาความรู้ไปลองทำแล้วได้ผลอย่างนั้นอย่างนี้… หลายเรื่องเราก็ต้องไปดูสวนเขา และเอาเขาเป็นตัวอย่าง…
วันหนึ่งพิลามาบอกลางานกับเราว่า พี่ชายผมถูกยิงตาย….
ขอลาไปจัดงาน และทำเรื่องราวเกี่ยวกับการตายของพี่ชาย…เราอนุญาต และไปร่วมงานด้วย..
ต่อมาเรารู้ว่าพี่ชายคนเดียวของเขาถูกลอบยิงตาย คนยิงเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน อันเนื่องมาจาก ระแวงว่าพี่ชายพิลาเอาความลับเขาไปแจ้งตำรวจ ความลับเขาก็คือ เขาค้ายาบ้าที่ข้ามมาจากฝั่งลาว…
งานศพพี่ชายพิลานั้น คุณแม่พิลามาร่ำให้ เสียดาย เพราะเป็นแรงงานที่สำคัญแก่ครอบครัว เป็นคนดี พร้อมทั้งทำพิธีแก่เบื้องสูง ขอความเป็นธรรมแก่ฟ้าดิน…โดยเธอเชื่อว่าลูกชายไม่รู้ไม่เกี่ยวข้องเรื่องเหล่านี้แน่นอน
บ้านนอกนั้นใครทำอะไรก็รู้ๆกันหมด…. วัฒนธรรมแบบนี้ก็น่าสนใจนะครับ แม้จะเป็นเรื่องลับสุดยอดแต่ชาวบ้านก็รู้ว่าใครทำอะไร…
ตัวอย่างธาตุ หรือเจดีย์ที่ใส่กระดูก ที่พ่อค้ายาซ่อนเงินสองล้านบาท
เรื่องของเรื่องคือ เอเยนต์ค้ายาบ้าที่อยู่บ้านใกล้เคียงกันนั้นเอาเงินจำนวนสองล้านบาทที่ได้มาจากการค้ายาเสพติดไปซ่อนไว้ที่ “ธาตุ” กลางสวนติดกับสวนพี่ชายพิลา วันหนึ่งตำรวจบุกไปจับยึดเอาเงินสองล้านไปเป็นของกลางพร้อมยาบ้าจำนวนหนึ่ง เอเยนต์ค้ายาบ้าปักใจว่าพี่ชายพิลาเป็นสายบอกตำรวจจึงสั่งให้มือปืนมาฆ่าพี่ชายพิลา
ผมมีส่วนช่วยเหลือพิลาบ้าง คือเรามีรุ่นพี่รุ่นน้องเป็นรองผู้กำกับที่มุกดาหารก็ช่วยกันสืบสวนหาข้อเท็จจริง ส่วนหนึ่งก็กำชับ กำกับคดีให้ตรงไปตรงมา เพราะเรารู้ๆกันว่า คนมีสีบางกลุ่ม บางคนก็เป็นพวกค้าสิ่งนั้น… รองผู้กำกับท่านนี้ช่วยได้มาก….
ในที่สุด ตำรวจมาจับมือปืนเอาไปสอบสวน ตอนแรกปฏิเสธ ต่อมาจำนนต่อหลักฐานจึงถูกตัดสินประหารชีวิตและลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต
มาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนี่เอง เอเยนต์ใหญ่ที่สั่งฆ่าพี่ชายพิลาก็ถูกวิสามัญดับดิ้นไป เอเยนต์คนนี้ไม่น่าเชื่อ เธอเป็นผู้หญิง อายุเพียงสามสิบเศษ หน้าตาสวย ขายมานานจนร่ำรวย มีรถหลายคัน และเปลี่ยนรถเป็นว่าเล่น มีร้าน 711 ให้พ่อแม่ควบคุม แต่งตัวเป็นตู้ทองเคลื่อนที่ เกินความเป็นชาวบ้าน อันเป็นเหตุการณ์ให้สืบสวนจนรู้ว่าทำการค้ายาเสพติด
พร้อมๆกันที่หญิงคนนี้ถูกวิสามัญ ลูกชายมือปืนที่ติดคุกตลอดชีวิต ไปทำงานเป็นกรรมกรที่ระยองเกิดอุบัติเหตุ พิการไปตลอดชีวิต…..
ลือกันทั้งบ้านว่า นี่คือผลกรรม….
และนึกไปถึงพิธีบอกกล่าวเบื้องสูงของแม่พิลา
ผลกรรมตามมาทันที…ไม่ต้องชาติหน้า…
——-
(ธาตุ คือ เป็นคำเรียกของชาวบ้าน หมายถึงเจดีย์เล็กๆที่ใช้สำหรับใส่กระดูกบรรพชนผู้เสียชีวิตไปแล้ว ซึ่งมักเอาไปไว้ตามคันนา ตามสวน ที่ผู้เสียชีวิตเคยเป็นเจ้าของ เป็นวัฒนธรรมของชาวอีสานส่วนหนึ่ง และชาวไทโซ่)
วันนี้ (13เม.ย.) เมื่อเวลา 10.20 น. กลุ่มคนเสื้อแดงจังหวัดขอนแก่น นำกำลังคนเสื้อแดงจากที่ชุมนุมศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ประมาณ 100 คนเศษ มาชุมนุมบริเวณประตูเมืองขอนแก่น บริเวณริมถนนศรีจันทร์ พร้อมกับปิดการจราจรทั้งขาเข้าและขาออกเมืองขอนแก่น บนถนนศรีจันทร์ โดยแกนนำคนเสื้อแดงระบุว่า ไม่พอใจท่าทีของรัฐบาล ที่ใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง กรุงเทพฯ จึงออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลังในพื้นที่
การปิดถนนศรีจันทร์ดังกล่าว ทำให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรเข้าเมือง และออกเมืองได้ ทำให้การจราจรติดขัดยาวเหยียดบริเวณถนนศรีจันทร์ และถนนมิตรภาพ ที่สำคัญการปิดถนนบริเวณประตูเมือง ทำให้ประชาชนจากอำเภอต่างๆและจังหวัดใกล้เคียง ที่ต้องการมาร่วมงานพิธีเปิดงานสงกรานต์เทศกาลถนนข้าวเหนียว ซึ่งอยู่ใกล้กับประตูเมืองและกำหนดเปิดในช่วงสายวันนี้ ไม่สามารถใช้เส้นทางถนนศรีจันทร์เข้าร่วมงานได้
จากนั้นเวลาประมาณ 10.40 น. คนเสื้อแดง ได้นำยางรถยนต์ที่เตรียมมา จุดไฟเผาบริเวณเกาะกลางถนน เกิดควันไฟสีดำพวยพุ่ง สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่น โดยแกนคนเสื้อแดงอ้างว่า การเผายางรถยนต์เพื่อฌาปนกิจคณะรัฐมนตรีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลความปลอดภัยประมาณ 50 นาย ไม่มีการห้ามปราม ทำได้เพียงแค่ยืนดูกลุ่มคนเสื้อแดงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การเผายางรถยนต์ได้เกิดควันไฟจำนวนมาก ทั้งทิศทางลมพัดมายังกลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ตรงนั้น ไม่สามารถทนควันไฟได้ กลุ่มคนเสื้อแดงจึงยอมสลายการชุมนุมบริเวณประตูเมืองขอนแก่นเมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ได้แยกย้ายกันกลับไปชุมนุมบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น ทำให้การจราจรกลับมาใช้ได้ตามปกติ
ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า กลุ่มเสื้อแดงขอนแก่นมีการแบ่งขั้วเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายพยายามแสดงผลงานให้แกนนำคนเสื้อแดงที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อหวังผลต่อเม็ดเงินค่าหัวคิวในการสร้างความปั่นป่วนให้กับบ้านเมือง การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงขอนแก่นแต่ละกรณีจึงมีกลุ่มคนเข้าร่วมไม่มาก นัก (ข้อมูลจากผู้จัดการ)
http://www.manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9520000041689
ข้อเท็จจริงกลุ่มคนพลังเหลือเฟือนี้มีจำนวนและแสดงบทบาทอะไรไม่ได้มากนัก ทำอะไรก็แปลบๆ แล้วก็รีบไป ทั้งนี้เพราะ คนขอนแก่น ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และเป็นฐานของพันธมิตรอีสาน
วันทั้งวันมีแต่คนเล่นน้ำที่ซอยข้าวเหนียว หน้าโรงแรมพูลแมน (โซฟิเทลเดิม) ขณะรายงานนี้ยังไม่เลิกเล่นน้ำกันเลยครับ
เมื่อเช้า…..
ต่างก็รีบมุ่งจะไปทำงาน
คนข้างกายก็มีประชุมแปดโมงครึ่ง
ผมเองก็ต้องเดินทางไปมุกดาหาร
ก่อนไปก็โทรสั่งงาน เมล์งานไปก่อน แล้วจะขับรถสำนักงานไป
เตรียมกระเป๋าทุกใบ ใส่รถเรียบร้อย
ในกระเป๋ายังมีอาหารโปรดจากปักษ์ใต้
ยังมีของกินจากกระบี่ที่หมอตาฝากให้
ขึ้นรถสตาร์ทครึ้น…….โครม……
……
เฮ่อ โรงรถมีที่ตากผ้าขวางอยู่ด้านหน้า
พอสตาร์ทรถ..ไม่ได้ปลดเกียร์ว่าง รถเลยวิ่งไปชนที่ตากผ้าไปอัดกับฝาบ้านที่เป็นปูน
ตกใจเล็กน้อยว่า ทำไมเราประมาทขนาดนี้..
ชิ้นส่วนราวตากผ้าหักทิ่มเข้าไปในรังผึ้งหน้ารถ หม้อน้ำ ไป พัดลมไป โน่นก็ไป..นี่ก็พัง..
ฝาบ้านไม่พัง คนไม่เป็นอะไร
….
ยอมรับว่าเราไม่รอบคอบ
ยอมรับว่าประมาท
ยอมรับว่าไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อน..
เอ….เมื่อเช้า คนข้างกายบอกว่าเมื่อคืนฝันร้าย
ยังไม่ได้ถามเลยว่าฝันว่าไง..
แต่ช่วงที่ไปรดน้ำต้นไม้เช้าก็พบว่าเราโชคดี เพราะ
ต้นพวงครามที่ซื้อมาและใครต่อใครที่บ้านบอกว่ามันตายแล้ว
แต่เราตัดกิ่งก้านออกหมด เหลือตอสั้นๆ และลองปลูกทิ้งไว้ดู
พบว่ามันแตกใบออกมาใหม่แล้ว อุตส่าห์ซื้อมาตั้ง 400 บาท
เมื่อบ่ายช่างโทรมาบอกว่าราคาซ่อมรถประมาณสองหมื่นบาท…
นี่คือผลของความประมาทโดยแท้…..
คืนที่สองที่เราอยู่เมือง เชียงรุ่ง หรือ เชียงรุ้ง หรือ สิบสองพันนา หรือสิบสองปันนา ล้านแต่เป็นชื่อเมืองเดียวกันที่เราคุ้นเคย และหรือเคยได้ยินมา แต่มีอีกชื่อหนึ่งที่เป็นชื่อเมืองนี้ ซึ่งผมไม่คุ้นชินเลย คือชื่อพาราณสี ในเอกสารบริษัททัวร์ให้คำว่า พารานาสี(เขียนผิดขออภัยด้วยนะครับ) คืนนั้นเราไปดูการแสดงพื้นเมืองของสิบสองปันนา เขาเรียกชุดนี้ว่า ม็องบาลานาซี(พารานาสี) หลายท่านบอกว่า ภูเก็ตแฟนตาเซียของเราเด็ดกว่า เนื่องจากผมยังไม่ได้ดู ภูเก็ตแฟนตาเซีย จึงไม่ทราบว่าเป็นเช่นไร เพื่อนที่ไปด้วยก็บอกว่า ของเราดีกว่า ผมก็ต้องเชื่อเพื่อนไว้ก่อน
อย่างไรก็ตามก็จะเอารูปการแสดงนี้มาให้ดุกัน เป็นน้ำจิ้มก่อนนะครับ
รูปนี้ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นแบบนี้นะครับ แบบว่ามันได้มาเอง ผมชอบก็เลยเอามาให้ดูกันครับ
สำหรับภาพนี้สัญญากับเฮียตึ๋ง และอาเหลียงว่าจะเอามาให้ดู ก็ได้จริงๆ
เอ้าเอามาฝากแล้วเด้อ อิอิ
ส่วนตัวมีประสบการณ์เรื่องนี้ที่ดีดี เมื่อหลายปีก่อนครอบครัวเราตัดสินใจไปเที่ยวนครวัดสามคนพ่อแม่ลูก โดยบริษัททัวร์คนไทยโฆษณาซะเลย ชื่อสวัสดีทัวร์ของ มจ.ศุภดิศ ดิศกุล (หากสะกดผิดขออภัยด้วยครับ) เข้าใจว่าท่านสิ้นไปแล้ว มัคคุเทศก์ที่นำเราไปนั้นเป็นผู้ที่จบมาจากศิลปากร โห…คุณเอ๋ย เก่งชะมัด ถามอะไรตอบได้หมด พร้อมขยายความยาวเหยียด สาระทุกแห่งที่เราไปชมอิ่มกับข้อมูล จนมัคคุเทศก์เขมรเองเดินตามและจดบันทึกข้อมูลไปด้วย..!!
บังเอิญคณะที่เราติดไปด้วยครั้งนั้นเป็นอดีตท่านผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และเจ้าหน้าที่ระดับสูง เช่นคุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล เข้าใจว่าปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธ.กสิกรไทย ถ้าข้อมูลผิดพลาดขออภัยด้วย เมื่อสิ้นสุดทริป เรารวบรวมเงินให้มัคคุเทศก์ท่านนั้นเป็นจำนวนมากทีเดียว…(ขอบคุณข้อมูลจากคอนครับ)
เที่ยวนี้ ผมไม่ได้คาดหวังมัคคุเทศก์ของบริษัทที่พาเราไปทัวร์จีน ดูเขายังเด็ก แต่อัธยาศัยดีมาก บริการดีเยี่ยม แต่ข้อมูลต่างๆด้อยไป และการจัดการต่างๆก็สอบผ่าน
เมื่อเข้าเมืองจีน มัคคุเทศก์คนนี้ก็มารับช่วงต่อ ชื่อไทยว่า “ชัย” สาวๆที่ไปด้วยก็กรี๊ด เพราะหน้าตาออกไปทางเกาหลี ที่เป็นเทรนของปัจจุบัน ผมแปลกใจที่ภาษาไทยของเขาคล่องมากๆ สอบถามได้ความว่าเขาเรียนมหาวิทยาลัยที่ปักกิ่งด้านภาษา แล้วไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จบออกมาก็มาเป็นมัคคุเทศก์
ได้ความหละ….ผมถือโอกาสว่าเราเป็นรุ่นพี่ของเขา…เขาเองก็ยอมรับ และแซวกันไปมาตลอดทริป พวกเราทุกคนประทับใจ “จีนพูดไทย” เพราะแม้ว่าเขาจะถือว่าการสื่อสารไม่ติดขัด แต่สำเนียงที่คนจีนออกเสียงคำไทยบางคำ การใช้สรรพนาม พวกเราก็ขำกลิ้ง เช่น แพทย์ศาสตร์ เป็นเพศศาสตร์ ฯลฯ การให้บริการเป็นเยี่ยม ทำตัวง่ายๆ เข้ากันได้ดี ทำให้บรรยากาศการท่องเที่ยว แม้เราจะดูว่าบางแห่งที่ไปชมไม่สมราคาคุย แต่พวกเราก็ไม่โวยวาย เพราะอัธยาศัยเขานี่เอง
พวกเราเป็นกรี๊ด สลบ เมื่อคณะทัวร์ไทยกลุ่มอื่นที่ไปเที่ยวคู่ขนานกับเราทุกที่ทุกแห่งนั้น มีมัคคุเทศก์หน้าตาอย่างที่เห็น เธอพูดไทยได้ดี แต่ดีไม่เท่า ชัย แต่หน้าตาเธอช่วยได้มาก ทีมเราแหย่เธอจนอายไปหลายครั้ง แต่ก็ทำให้เธอดูมีความสุข สนุกไปด้วย และหลายครั้งก็เข้ามาเล่นด้วย จนทีมเรา แซวหนักๆกับชัยว่า ขอเปลี่ยนมัคคุเทศก์กันกับกลุ่มคนไทยกลุ่มนั้น เป็นที่เฮกันตลอดเวลา… เธอชื่อน้องหญิง เป็นไทลื้อโดยกำเนิด และเข้ามาเรียนภาษาไทยที่ราชมงคลประทุมธานี 8 เดือน กำลังศึกษาปีที่ 3 ที่มหาวิทยาลัยสิบสองปันนานี้
สาวหน้าตาเหมือนน้องเบิร์ดท่านนี้ เป็นมัคคุเทศก์กลุ่มเดียวกับหญิง พูดไทยคล่องแคล่วเช่นเดียวกัน แต่เธอไม่ได้ถูกกลุ่มเราแซวเล่น
สาวไทลื้อท่านนี้ซิ…ประจำอยู่ที่หมู่บ้านไทยลื้อ เพี่อต้อนรับแขกนักท่องเที่ยวอย่างเดียว พูดไทยเด็ดขาดนัก ศัพท์แสงต่างๆ เล่นเอาเราตลึงและก๊ากกกกันตลอด เธอทำหน้าที่โฆษณาขายมีดที่มีคุณสมบัติพิเศษต่างๆมากมาย คุณพ่อเธอเป็นลาว แม่เป็นไทลื้อ จึงเว้าลาวและภาษาคำเมืองเหนือของไทยได้คล่อง เธอใช้ศัพท์เรียกผู้ชายว่า “อ้ายบ่าวตัวดี” และที่ขำกลิ้ง เธอพูดคำว่า “ควาย” เป็นภาษาลาวหรืออีสานของไทยนี่แหละ ที่ทีมเราก๊ากกจนกลิ้ง…
น้องแอน คือชื่อของเธอ เป็นไทลื้อ มาเรียนภาษาไทยที่วิทยาลัยบัณฑิตเอเชียที่ขอนแก่น โถโถโถ สถาบันแห่งนี้ห่างจากบ้านผมแค่ร้อยเมตรเอง…. เธอทำหน้าที่ชงชาสาธิตให้นักท่องเที่ยวชิม และขายชาชนิดต่างๆ เราอดไม่ได้ที่จะอุดหนุนเธอ ภาษาไทยที่เธอใช้นั้น ไม่ผิดกับคนไทยที่พูดเลย แถมหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ลูกเล่นพราวแพรว หนุ่มคนไหนไปตอแยเธอ ระวังเธอสวนกลับ…
มัคคุเทศก์ เป็นหน้าต่างของประเทศ นักท่องเที่ยวจะประทับใจหรือผิดหวังคนที่ทำหน้าที่นี้มีส่วนสำคัญยิ่งนัก… สิบสองปันนา สร้างคนรุ่นใหม่มาทำหน้าที่นี้ได้ดีมาก ชื่นชม จนกลบความไม่สมราคาของแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งไปหมดสิ้นเลย
ผมว่านะครับ…
เราเดินทางจากขอนแก่นไปเชียงของด้วยรถตู้เจ้าประจำ รู้ใจกันจนเป็นเพื่อนสนิทไปแล้ว เพราะใช้บริการกันบ่อย หรือกล่าวอีกทีคือเราเป็นลูกค้าใหญ่ที่สุด.. อย่างที่เกริ่นไว้ในลานเจ๊าะแจ๊ะว่าคนข้างกายผมเกือบไม่ได้ไปแล้วเพราะเธออาเจียนเสียจนไม่มีอะไรจะออกมาจากพุงแล้ว.. ทั้งนี้เพราะการขับรถบนพื้นที่ภูเขาที่วนไปวนมา เลี้ยวซ้าย ขวาตลอดเวลา ยิ่งหากคนขับรถคนไหนไม่นิ่มพอ เดี๋ยวเบรก กึกกัก เลี้ยวแบบเหวี่ยง อย่างนี้เสร็จ คนเมารถทนไม่ไหว.. แต่ปัจจัยสำคัญหนึ่งของคนเมารถก็คือ ร่างกายพักผ่อนไม่พอ..
เมื่อเราข้ามฝั่งลาว ก็นั่งรถตู้ของบริษัทลาว 2 คัน ถนน หนทางยิ่งแย่กว่าบ้านเรา และถนนโค้งไปมาตามไหล่ภูเขามากกว่าฝั่งไทย แต่โชคดีที่เป็นเวลากลางวัน คุณสุภาพสตรีหลายคนไม่เมาเพราะมองเห็นข้างทาง เธอว่าเช่นนั้น แต่เมื่อเข้าดินแดนจีนเราก็เปลี่ยนเป็นรถมินิบัสขนาดกลางตามภาพ
เส้นทางถนนก็คล้ายบ้านเราคือมักจะผ่าเข้าไปกลางหมู่บ้านและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ และการที่โค้งไปมาจำนวนมากๆนั้นมีผลต่อเนื่องหลายประการ นี่ผมก็เพิ่งสังเกตนะครับ
เมื่อข้ามฝั่งประเทศจีนเพื่อเดินทางไปเมืองเชียงรุ้งนั้น มันช่างตรงข้ามเสียจริงๆ แม้ว่าจะเป็นเขตภูเขาแต่การก่อสร้างถนนนั้น กว้างกว่าฝั่งลาวและฝั่งไทย ถนนเป็นเส้นตรงแม้จะผ่านเขตภูเขาก็พยายามให้เป็นเส้นตรงมากที่สุด
เมื่อผ่านภูเขาก็เจาะอุโมงค์ใหญ่โต รถบรรทุกขนาดใหญ่ขับสวนกันอย่างสบาย จำนวนอุโมงค์จากด่าน จีน-ลาวไปเมืองเชียงรุ้งนั้นมีจำนวนมากถึง 27 แห่งมีความยาวต่างกันตั้งแต่ไม่ถึง 100 เมตรจนยาวถึง 4 กิโลเมตรเศษ จำนวนอุโมงค์นี้ไกด์เอามาทายเราช่วงขากลับเพื่อสนุกสนานและให้รางวัลเล็กๆน้อยๆ
เมื่อถนนต้องผ่านที่ต่ำก็ทำสะพานหลายแห่ง ยาวๆก็มี สั้นๆก็มี นี่เองที่ทำให้การเดินทางส่วนใหญ่เป็นเส้นตรง และแม้รถจะทำความเร็วได้ แต่เขาก็ขับไม่เกิน 80 กม.ต่อชม. ทำให้เกิดการประหยัดเชื้อเพลิงมาก
การที่ไม่ต้องปีนภูเขาแบบถนนในประเทศไทย ก็ทำให้ประหยัดและลดการสิ้นเปลืองของเครื่องยนต์ ลดอุบัติเหตุ
การที่ทำอุโมงค์ ช่วยให้เกิดระยะทางที่สั้นลง ก่อให้เกิดการประหยัด ปลอดภัยกว่า ลดการสิ้นเปลืองพลังงาน
แม้ว่าการลงทุนจะสูงกว่าในช่วงการก่อสร้าง แต่ในระยะยาวแล้วจะประหยัดกว่า
ผมจึงเห็นด้วยในการทำอุโมงค์และสะพาน ดีกว่าการสร้างถนนเลาะไปตามไหล่เขาแบบโค้งไปมา
เฮ่อ..แตกต่างกันที่ระบบคิดหรือเปล่า..หรือว่าอย่างอื่น..
ไม่ลำดับเรื่องที่ไปเที่ยวสิบสองปันนา อยากเขียนอะไรก็เขียน อิอิ กลัวลืม..
เรื่องแรกเป็นสิ่งที่พบในวันสุดท้ายที่เดินทางกลับ เป็นเรื่องที่ไม่อยากจะพบ ฮึ คนไทยทำกันได้…
ตลอดการเดินทางของเราราบรื่น และสนุกสนาน หัวเราะกันรถแทบแตกเพราะทั้งหมดเป็นเพื่อนร่วมงานของคนข้างกายและสนิทสนมกันมาก เราพบไกด์ไทยที่ดี ไกด์จีนยิ่งดี ก็เป็นความสุข พุดจาเย้าแหย่กันให้ครื้นเครง
วันเดินทางกลับเราก็ต้องรายงานตัวที่ด่านชายแดนจีน-ลาวตามปกติ วันที่เราเดินทางเข้าประเทศจีนเราต้องยืนเข้าคิวคอยนานเป็นชั่วโมง เพราะมีนักท่องเที่ยวคนไทยไปมากมายหลายชุด หลายบริษัท และพนักงานนายด่านจีนแม้เป็นคนหนุ่มสาวก็เอาจริงจังต่อการตรวจเอกกสารอย่างมาก แต่ละคนใช้เวลานาน และมีบางคนต้องคัดออกเพราะมีเอกสารบางอย่างไม่ชัดเจน คนนั้นก็เอะอะพอหอมปากหอมคอ ต่อว่าว่ามาเที่ยวตั้งหลายครั้งไม่เห็นมีอะไรทำไมเที่ยวนี้จึงติดขัด ดูเหมือนเจ้าหน้าที่จีนตอบว่า ก็มาบ่อยนี่แหละสงสัย….
วันเดินทางกลับเราเห็นคนไทยเข้าแถวรอการตรวจอยู่ก่อนแล้วหนึ่งแถว ล้วนเป็นผู้สูงอายุ ไกด์จีนของเราก็แนะนำให้เราเอาเอกสารแสดงต่างๆออกมาตรวจสอบการเขียนว่าครบถ้วนไหม แล้วให้สอดเข้าไปที่หน้านั้นหน้านี้ เพื่อความรวดเร็วในการตรวจ แล้วไกด์ก็เข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ ตม. แล้วเราก็เข้ายื่นเอกสารตรวจทีละคนตามลำดับที่จัดไว้แล้ว
ระหว่างนั้นเราสังเกตเห็นกลุ่มคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มาก่อนเราไม่ขยับแถวเลย ยืนตรงไหนก็ตรงนั้น หน้าตาดูว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เมื่อพวกเราผ่านการตรวจเสร็จโดยไม่มีสิ่งใดต้องติดขัด จึงเดินเข้าไปไต่ถามคุณลุงคุณป้าเหล่านั้นว่าทำไมยืนตั้งนานจึงไม่เข้าไปตรวจสักที
ได้คำตอบว่า ไกด์จีนหนีไปแล้ว อ้าว…….ตายหละ เกิดอะไรขึ้น??????
ไกด์จีนของเราจึงเข้าไปเจรจากับ ตม.แล้วได้ความมาว่า เกิดปัญหาขึ้นระหว่างบริษัททัวร์ของไทยที่จัดทัวร์กลุ่มนี้มาประเทศจีน ไม่ดำเนินการตามข้อตกลงกับบริษัททัวร์จีนที่รับช่วงต่อในประเทศจีน คือไม่จ่ายเงินถึงสามครั้งแล้ว รวมเป็นเงิน 5 แสนบาท บริษัททัวร์จีนจึงดัดหลังโดยไม่จัดการการผ่านด่านให้ ยึดพาสปอร์ตลูกทัวร์คนไทยทุกคนไว้ จนกว่าบริษัทไทยที่กรุงเทพฯจะโอนเงินเข้าบัญชีที่เมืองจีนจึงจะดำเนินการต่อให้ เอาลูกทัวร์เป็นประกัน…. ทั้งๆที่ลูกทัวร์ไม่รู้เรื่องอะไรเลย
พวกเราได้ทราบเรื่องดังนั้นแล้วก็ตกใจ เข้าไปแสดงความเห็นใจและปรึกษาหารือว่าจะมีส่วนช่วยอะไรได้บ้าง
โถโถโถ….คุณลุงคุณป้าต้องมาโดนลอยแพอย่างนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร ได้.. พูดจีนก็ไม่ได้ พูดอังกฤษก็ไม่ได้ จะติดต่อใครก็ไม่ได้..
ดูเป็นเรื่องเกินความสามารถของเราเพราะเป็นเรื่องของผู้มีหน้าที่เฉพาะจะเข้ามาจัดการ และนี่เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ระหว่างบริษัททัวร์ นอกจากเราจะลุ้นให้ไกด์จีนของเราไปสอบถาม ตม.จีนว่าดูลู่ทางแล้วจะเป็นอย่างไร ได้คำตอบว่าทางทัวร์จีนกำลังติดต่อกับทัวร์ไทยที่กรุงเทพฯให้รีบจัดการเงิน และดูท่าทีว่าจะเป็นไปได้ แต่ใช้เวลาสักหน่อย…. ซึ่งจริงๆเราก็ไม่ทราบว่าจะลงเอยอย่างไร…
เราบอกกับคุณลุงคุณป้าว่า เรากำลังเดินทางกลับเมืองไทย จะฝากอะไรให้โทรหาทางบ้านก็บอกเราจะจัดการให้
แต่ทั้งหมดก็เชื่อว่าจะลงเอยด้วยดี จึงไม่อยากรบกวนอะไร…
บริษัททัวร์ไทยที่มีปัญหานี้ชื่ออะไร ดูชื่อได้ที่หมวกของคุณลุงนี้นะครับ
ไกด์แนะนำว่า หากเกิดกรณีแบบนี้ ให้ทำดังต่อไปนี้
หนึ่ง ติดต่อสถานทูต หรือสถานกงสุลให้ทราบเพื่อเข้ามาจัดการ และ
สองเมื่อกลับเมืองไทยให้ไปแจ้งความต่อตำรวจแล้วเอาหลักฐานไปแจ้ง ททท.เพื่อทำการลบบัญชีบริษัททัวร์นี้ออกจากใบอนุญาตประกอบการ..
เราจากมาด้วยความห่วงใยพี่น้องไทย..
ดู ดู๋ ดู ดู ดู ทำไมคนไทยถึงทำกันได้…
คำเตือนการไปเที่ยวจีนสิบสองปันนา
-อย่าไปช่วงสงกรานต์….เพราะคนไปเดินทางกันมากเกินที่จะรับได้…
-ตรวจสอบบริษัททัวร์ให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหา
-เลือกไกด์ที่มีประสบการณ์ เพราะทราบว่าบางคนเพิ่งฝึกหัด เราก็จะไม่ได้อรรถรสของเรื่องราวสองข้างทาง หรือสถานที่ที่เราไปดู ไปเที่ยว เพราะเราฟังภาษาจีนไม่ออกน่ะซี…
ก่อนไปเฮ 8 จะไปเที่ยวสิบสองปันนาก่อน ขอยืมภาพมาจาก http://www.bondstreettour.com/ หน่อยนะ
ไปดูบ้านไทลื้อ, ดูวัดไทลื้อ, ไปดูสวนยาง, เขาว่าพระฉันก๋วยเตี๋ยวมื้อเย็น และดื่มเหล้าได้…ที่เมืองหล้า. ดูโน่น ดูนี่ ดูนั่น
คนข้างกายอ่านนิยายในสกุลไทย ซึ่งกล่าวถึงสิบสองปันนามากมาย ก็อยากไปดูด้วยตา
ชวนปาลียน ก็ติดราชการ(ลับ) อิอิ เลยไม่ได้ไปด้วย
บนเส้นทาง 250 กม.จากขอนแก่น-มุกดาหาร ที่ผมขับรถผ่านสัปดาห์ละสองครั้งโดยเฉลี่ยนั้น เจ้า 4WD Mitsubishi คันเก่ายังคงรับใช้ผมได้ดีพอสมควรแม้บางครั้งก็พยศเอาบ้างเพราะการใช้งานอย่างหนักตลอด 7 ปีมานี่..
เมื่อสิ้นสุดฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูแล้ง ภาพที่ขัดแย้งกันก็มีให้เห็นเป็นปกติ หากมันแค่ผ่านหูผ่านตาก็แค่นั้น…แต่ผมคิดย้อนถึงอดีตที่ผ่านมาที่ผมลุยพื้นที่แถบนี้มา และมองยาวไปไกลในอนาคต 10 ปี และ 100 ปีข้างหน้าที่ไม่มีตัวตนผมอยู่บนโลกนี้แล้ว ภาพความขัดแย้งนี้จะแปรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง..หนอ…
พื้นที่มากกว่า 100,000 ไร่ ของพื้นที่รับน้ำชลประทานของเขื่อนลำปาว และพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าสองฝั่งลำปาว ของ จ.กาฬสินธุ์กำลังเขียวชอุ่ม พลิ้วไสวด้วยนาปรัง เห็นแล้วก็ชื่นใจ นึกถึงหัวอกคนทำนา หากราคาข้าวนาปรังเกวียนละหมื่นสองพันบาทขึ้นไป ชาวนาในพื้นที่ชลประทานก็จะได้เงินมากพอสมควรทีเดียว
บนถนนนั้นเรามักพบบ่อยๆคือรถหกล้อบรรทุกที่นอนเก่าๆเต็ม หรือเรียกว่าล้นมากกว่า อาจจะมีคนถามว่าเขาเอามาจากไหน และจะเอาไปไหน…
คำอธิบายคือ เขาเอามาจากบ้านชาวบ้านในหมู่บ้านนั่นแหละ โดยการซื้อหรือแลก ส่วนมากแลกมากกว่าโดยเอาที่นอนใหม่ไปแลกกับที่นอนเก่า
แลกเอามาทำไม คำตอบคือ แลกเอามาเพื่อเอานุ่นข้างในมาใช้ใหม่น่ะซี คือว่าต้นนุ่นในปัจจุบันหายากมากแล้ว ไม่ค่อยมีการปลูกกัน ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ปลูกนุ่นเพื่อเก็บนุ่นไปทำที่นอนเอง พึ่งตนเองไง ต่อมาเมื่อลัทธิการซื้อ การบริโภคเต็มหัวก็ไม่มีการปลุกใหม่ ต้นเก่าก็ล้มตายไป การหาวัตถุดิบคือนุ่นมาใส่ที่นอนใหม่จึงหายาก จึงใช้วิธีไปแลกของเก่า หรือซื้อที่นอนเก่ามาเอานุ่นไปใช้ใหม่ โรงงานนี้อยู่ที่ แก่งค้อ ชัยภูมิ
หากจะถามว่า อี้…ที่นอนเก่าโดยอะไรมาบ้างก็ไม่รู้ เปื้อนอะไรมาบ้างก็ไม่รู้ นั่นแหละครับ..เป็นเรื่องที่ผู้ซื้อที่นอนใหม่แบบใช้นุ่นพึงระมัดระวัง…
เลยไปที่กาฬสินธุ์ แถบ อ.คำชะอี บ้านเกิดของจอมพลสฤษดิ์ เส้นทางไปมุกดาหาร บริเวณแถบนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวผู้ไท ขับรถไปก็เห็นสองข้างทางแห้ง บนภูเขาก็มีร่องรอยการเผาทำลายใบไม้แห้งสองข้างถนน ตลอดเส้นทาง
ทุกปี และหลายปีมาแล้ว ก็การเผาไร่ เผาใบไม้ของชาวบ้านกระทำมาแต่โบราณกาล สืบทอดมาจนปัจจุบัน ด้วยเหตุผลที่ซ้ำๆไม่เคยเปลี่ยน เช่น ต้องการเผาเพื่อเอาที่ดิน เผาเพื่อต้องการให้หญ้างอกใหม่ เผาเพื่อต้องการได้ผักหวานป่า….
ถามว่ารู้เรื่องความผิดการเผาตามกฎหมายไทยเราบ้างไหม ตอบได้ว่าไม่รู้ ไม่ทราบ ก็ทำมาทุกปี มีใครมาบอกกล่าวให้ทราบไหมว่ามีกฎหมายห้ามเผา ตอบว่าไม่เห็นมีใครมาบอก แล้วจะเผาต่อไปไหม ตอบว่าก็จะทำต่อไป….เฮ่อ…
คุณป้าคนนี้ไม่ได้ post ท่าเพื่อเป็นแฟชั่นใหม่นะครับ ชุดขุดดินหาสิ่งมีชีวิตที่กินได้ในท้องนาครับ ไม่ว่า กบ เขียด หนู ปู…..เอาหมด
ตามคันนา ขอบบ่อที่มีความชื้นอยู่บ้างนั่นแหละมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ และเป็นอาหารเรา แซบหลายเด้อ….
(บันทึกนี้ ทดลองบันทึกโดย word2007)
ครึ่งที่เหลือ..นั้น ความจริงก็คือ การให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรม งานนอกห้องเรียน อาจเป็นครอบครัวของเขาเอง หรือครอบครัวอื่นๆ หรือความพร้อมอื่นๆที่เอื้อต่อกระบวนการเรียน และที่คุณครูคุ้นกันก็คือ การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนนั่นเอง
ง่ายที่สุดดูจะเป็นการให้เด็กได้เข้าร่วมกิจกรรมในแต่ละเดือนที่ครอบครัว ชุมชนมีอยู่ ปฏิบัติอยู่ การเข้าร่วมบุญประเพณีต่างๆ เช่น การร่วมไปทำบุญในวันพระ
ครอบครัว: ยกตัวอย่างการไปร่วมทำบุญในวันพระ เริ่มตั้งแต่แม่บ้านคิดว่าจะเอาอะไรไปทำบุญในวันพรุ่งนี้ ทั้งอาหารคาวหวาน การแต่งตัว และอื่นๆ แม่บ้านจะออกแบบในใจออกมาก่อนแล้ว ซึ่งระหว่างนั้นอาจจะมีการปรึกษาหารือกันในครอบครัวบ้างเพื่อช่วยกันเตรียมตัว ที่ผ่านมาเด็กไม่ได้ถูกจัดให้อยู่ในกระบวนการเรียนรู้ตามระบบ แต่มันซึมซับไปโดยอัตโนมัติ แบบไม่รู้ตัว เช่น แม่บ้านให้ช่วยทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ เด็กก็ทำไปโดยอาจจะไม่รู้ความหมาย แต่ได้ทำ และหากซ้ำๆเด็กก็จำได้ หมายรู้ แต่หากจะจัดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นบ้างก็จะช่วยให้ “การเข้าถึงสาระด้านใน” ของการกระทำนั้นๆชัดเจนมากขึ้น
เมื่อเด็กไปที่วัด ตามพ่อแม่ไป พ่อแม่ก็จะสั่งสอนว่า ต้องถอดรองเท้าก่อนเข้าวัด หากเป็นบางแห่งต้องล้างเท้าก่อน แล้วไปกราบพระประธาน กราบพระเจ้าอาวาสและองค์อื่นๆ ความหมายเหล่านี้คืออะไร…
พ่อแม่จะสอนว่า เมื่อเดินในวัดที่มีเพื่อนบ้านมามากมายนี้ควรจะเดินอย่างไรจึงจะมีสัมมาคารวะ เดินผ่านพระควรทำอย่างไร เดินผ่านผู้ใหญ่ควรทำอย่างไร เดินผ่านคนที่มีอาวุโสกว่าทำอย่างไร ความหมายเหล่านี้คืออะไร
พ่อแม่จะสอนว่า คนนั้นคือลุง คือป้า น้า อา ไปกราบท่านซะ ความหมายคืออะไร…ฯลฯ
พ่อแม่จะสอนว่าการไปวัดควรแต่งตัวอย่างไร เสื้อผ้าที่ใช้ควรแตกต่างจากการไปงานอื่นๆอย่างไร
หากเป็นคนช่างสังเกต ก็จะพบว่าเรื่องราวที่เขาพูดกันในวันพระนี้เขาพูดถึงเรื่องอะไรกัน รูปแบบการจักกลุ่มคุยกัน ทำไมผู้ชายที่เป็นคนเฒ่าคนแก่จึงมักไปรวมตัวกันที่หน้ากุฏิเจ้าอาวาส กินน้ำชา คุยกันเรื่องราวต่างๆ รอความพร้อมพิธีทางศาสนา..
เหล่านี้คือการเรียนรู้และการสั่งสอน หากจัดกระบวนการเรียนก็น่าจะเกิดประโยชน์ และความจริงนี่ก็คือ “การถ่ายทอดทุนทางสังคม” ที่สังคมเมืองเกือบจะไม่มีสายใยแห่งการถ่ายทอดแล้ว มีก็ “เข้าไม่ถึงสาระด้านใน” แล้ว เป็นเพียงพิธีกรรมภายนอกซึ่งนับวันจะหยาบ และย่นย่อจนไม่มีความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมเหลืออยู่
สังคมชุมชนภาคเหนือยังมีแรงเกาะเกี่ยวด้านนี้สูงมาก พ่ออุ๊ย แม่อุ๊ยนั่นแหละเป็นสะพานเชื่อมที่สำคัญ
ทุนทางสังคมนี้มีความสำคัญมากๆในมุมของ “การเกาะเกี่ยวทางสังคม” และนี่คือรากเหง้าของสังคมสันติสุข ที่ชุมชนดั้งเดิมของเราอุดมยิ่งนัก และเป็นสิ่งที่เราโหยหา และเราไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ด้วยกระบวนการเรียนรู้ แต่ต้องกระทำและซ้ำซ้ำจนเข้าไปอยู่ด้านในของสำนึกและพฤติกรรม
งานค่าย: คุณครูทั้งหลายทราบเรื่องนี้ดีเพราะได้ทำมาแล้วเป็นส่วนใหญ่ ประเด็นคือว่าจะทำอย่างไรให้งานค่ายบูรณาการสาระต่างๆจนเป็นเนื้อเดียวกันได้ ผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ประเพณีกับวิชาการความรู้ด้านต่างๆ
อย่างที่เราจัดค่ายเด็กรักถิ่น เราเตรียมผู้เฒ่า ผู้รู้เรื่องป่า ต้นไม้ในหมู่บ้านมาสักจำนวนหนึ่ง จัดเด็กเป็นกลุ่ม เตรียมเด็กเดินป่าชุมชน ผู้เฒ่าหนึ่งคนหรือมากกว่าแล้วเดินเข้าป่าไปกับเด็ก ผ่านต้นไม้ต้นไหนก็อธิบายคุณค่าของต้นไม้นั้นทางสรรพคุณสมุนไพร การใช้ประโยชน์อื่นๆ การเจริญเติบโต การสัมพันธ์กับสัตว์ป่า ฯลฯ หากมีครูไปด้วย ครูอาจะเพิ่มความรู้ทางอื่นที่บูรณาการเข้าไปเช่น ชื่อภาษาอังกฤษ กระบวนการศึกษาความหลากหลาย คือการเอาเชือกมาขึงขนาด 10 ตารางเมตร แล้วนับชนิด จำนวนของต้นไม้ให้หมด นับสัตว์ที่พบ ทำรายการละเอียดออกมา หาชื่อสามัญของท้องถิ่น ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ชื่อของภูมิภาคอื่น ฯลฯ เราก็จะรู้ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชุมชนในเรื่องของพืชและสัตว์ และหากเปรียบเทียบกับกลุ่มอื่น หากเปรียบเทียบกับฤดูกาลอื่น เราก็จะพบการเปลี่ยนแปลง พบความจริงการเพิ่ม หรือลดลง เพราะอะไร ทำไม แล้วเราอาจมีโจทย์ต่อไปว่า แล้วเราจะมีส่วนช่วยให้ดีขึ้นได้อย่างไร…. ก็เกิดกิจกรรมต่อเนื่องตลอดฤดูกาล ตลอดปี โดยเอาวิชาการเข้ามาผสมผสานกับภูมิความรู้เดิมของท้องถิ่น รวมไปถึงวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และวิถีชีวิตของชาวบ้านที่เขามาใช้ประโยชน์จากป่า
โอย…มากมายมหาศาล ที่เราจะจัดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นนอกห้องเรียน
สรุป: สิ่งที่ได้จากการจัดกระบวนการเรียนนอกห้องเรียน คือ
ü การบูรณาการความรู้ทางวิชาการกับความรู้พื้นบ้าน
ü การเสริมสร้างความรู้ท้องถิ่น(Indigenous Knowledge)ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เด็กรุ่นใหม่
ü การเสริมสร้างทุนทางสังคม(Social Capital Transfer) ให้ถูกถ่ายทอดสืบสานต่อเนื่อง
ü เด็กไม่เครียด สนุกกับการเรียนรู้
ü เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างโรงเรียนกับชุมชน ระหว่างเด็กกับผู้เฒ่า
ü เด็กเติบโตขึ้นไปอย่างมีรากเหง้าฐานเดิมของชุมชน ไม่แปลกแยก (Growing from Local Root)
ü เด็กจะมีจินตนาการสูงกว่าการเรียนเพียงในห้องเรียน
ü การเรียนและการดำเนินชีวิตอยู่บนความเป็นจริง รักท้องถิ่น
ü ฯลฯ
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงความเห็นเบื้องต้นส่วนตัวเท่านั้น ไม่ได้ขยายให้ลึกซึ้งพิสดารอะไรนะครับ
รับปากกับน้องอึ่งไว้ว่าจะเขียนขยายความเรื่องที่พี่เปี๊ยกไปพูดที่สวนป่าเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา พี่เปี๊ยกพูดหลายเรื่องสั้นๆ ขอหยิบเอาเรื่อง 50/50 ก็แล้วกัน
ความหมายของ 50/50 นี้ไม่ใช่ “วัดครึ่งหนึ่งกรรมการครึ่งหนึ่ง” นะครับ แต่เป็นแนวคิดการจัดการศึกษาของประเทศสังคมนิยมเวียตนามที่ตัดสินใจจัดกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียง ครึ่งวัน อีกครึ่งวันให้ใช้ชีวิตแบบครอบครัว…
ผมได้ไปแลกเปลี่ยนกับพี่เปี๊ยกต่อเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่ารายละเอียดเรื่องนี้คืออะไร ก็ได้ความกระจ่างมากขึ้นว่า คำว่า “อีกครึ่งวันให้ใช้ชีวิตแบบครอบครัว” นั้นมิได้หมายความว่า ให้เด็กกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ เสมือนว่าโรงเรียนเรียนแค่ครึ่งวันเท่านั้น แล้วเด็กก็กลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ปกติ
มิใช่ครับ มิได้ครับ ความหมายที่แท้จริงคือ ให้จัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ที่อยู่นอกห้องเรียน ซึ่งหมายรวมไปถึงอาจให้เด็กกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำงานตามปกติที่พ่อแม่มีงานอยู่ก็ได้ โดยครูกับครอบครัวต้องคุยกัน ปรึกษาหารือกันว่างานที่จะให้เด็กทำนั้นแม้เป็นงานบ้าน งานอาชีพของครอบครัว เช่น ค้าขาย ก็ขอให้มีกระบวนการเรียนการสอนแบบธรรมชาติแฝงไว้ด้วย ส่วนแฝงอย่างไรนั้นคุณครูทั้งหลายคงเดาเรื่องนี้ออกนะครับ..
ผมจึงขอใช้คำว่า ครึ่งที่เหลือ…
ก่อนอื่นนั้นพี่เปี๊ยกตั้งคำถามว่า เรามีเป้าหมายในการศึกษาว่าอย่างไร ต้องตอบคำถามนี้ก่อน สมมติว่าเรามีเป้าหมายเพื่อ ให้เด็กเป็นคนดีของสังคม มีความรู้ความสามารถต่างๆเพียงพอในการออกไปประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อ และมีความรู้ มีวิจารณญาณที่ดีที่เท่าทันการพัฒนาของโลก ดังนั้นรายละเอียดต่อไปก็คือทำอย่างไรจึงจะร่วมกันสร้างให้เด็กเดินเข้าสู่เป้าหมายนั้นๆ
สำหรับครึ่งแรกที่อยู่ในห้องเรียนนั้น เรียนอะไรบ้าง เรื่องนี้คุณครู หรือนักจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรย่อมทราบดี แต่มีมุมมองที่น่าสนใจที่ผมเรียนรู้มาจากฝรั่งต่างชาติที่เคยทำงานด้วย และเมื่อมาพิจารณาผมก็เห็นด้วยกับเขา กล่าวคือ หลักสูตรกระบวนการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้นควรพิจารณา 3 ฐานความรู้สำหรับอนาคต
ประกอบด้วย พื้นฐานความรู้ในการนำไปเรียนต่อเป็นวิชาชีพ ตัวเลือกต่อไปคือภาษาอังกฤษ เพราะปัจจุบันและอนาคตนั้นเป็นความรู้พื้นฐานสำหรับการประกอบอาชีพและการเรียนรู้ระดับสากลไปแล้ว ฐานความรู้สุดท้ายคือระบบการสื่อสารขั้นพื้นฐานคือคอมพิวเตอร์ หากเป็นเมื่อยี่สิบปีที่แล้วก็เป็นเครื่องพิมพ์ดีด แต่ปัจจุบันใครที่ไม่เป็นคอมพิวเตอร์ก็ตกรุ่นไปแล้ว.. แต่ทั้งนี้ให้พิจารณาตามความเหมาะสมกับเงื่อนไขต่างๆประกอบด้วย
ในห้องเรียนมิได้หมายถึงสิ่งกล่าวมาทั้งหมดเท่านั้น วิชาความรู้ต่างๆต้องสอดคล้องต่อความต้องการของเด็ก ครอบครัว ท้องถิ่น ทัศนคติ และพัฒนาการของสังคมที่เคลื่อนตัวไปด้วย
ส่วนครึ่งที่เหลือที่เรียกว่า “นอกห้องเรียน” นั้นแบ่งเป็นสองส่วนคือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวโดยตรงและส่วนที่เรียกว่า กิจกรรมโรงเรียนนอกห้องเรียน ส่วนนี้ให้พิจารณาตามเงื่อนไขที่เหมาะสมของพื้นที่ ท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งวัตถุประสงค์ใหญ่คือ การนำเด็กไปเรียนรู้เรื่องต่างๆนอกห้องเรียนที่สอดคล้องกับหลักสูตรและวิถีชีวิตท้องถิ่นนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งให้เด็กได้ซึมซับ “ทุนทางสังคม” ของท้องถิ่น ภูมิภาค และของประเทศไทยเรา ซึ่งสาระหลักจะเป็นเรื่องคุณธรรม การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลาย แตกต่าง วัฒนธรรม ประเพณี ทั้งการเข้าร่วมและความหมายด้านลึก การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความดี ความชั่ว กิริยามารยาท หลักศาสนา หลักแห่งการอยู่ร่วมกัน การรู้ตัวทั่วพร้อมไม่ไหลตามกระแสหลัก ฯลฯ
มีตัวแบบมากมายในการเรียนการสอนอิงครอบครัว เช่นการเรียนรู้เรื่องราวต่างๆในวิถีชีวิตของครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น เผ่าพันธุ์ ฯลฯ โดยพ่อแม่เองเป็นครู หรือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนเอง หรือผู้รู้ต่างๆในชุมชน การเข้าร่วมงานบุญ ประเพณีของท้องถิ่นแบบเรียนรู้ มิใช่เพื่อสนุกเพียงอย่างเดียว… (ต่อตอนสอง)
พ่อใหญ่เปี๊ยกฝากให้ประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดงานมหกรรมประชาชนอีสาน 2 ที่ขอนแก่นตามรายละเอียดข้างล่างนี้ พ่อใหญ่เปี๊ยกตั้งใจจะกล่าวเมื่ออยู่ที่สวนป่า แต่ไม่มีโอกาส เลยฝากผมมาประชาสัมพันธ์ครับ
ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมงานนี้ ใคร กลุ่มไหนมีสินค้าท้องถิ่นจะเอาไปจำหน่ายก็ยินดี แต่ขอให้ติดต่อเพื่อพูดคุยกติกากันด้วยครับ ขอเชิญทุกท่านนะครัับ
กำหนดการ
“มหกรรมประชาชนอีสาน ๒”
๓ – ๖ เมษายน ๒๕๕๒
ณ.สวนดอกคูณ บึงแก่นนคร อ.เมือง จ.ขอนแก่น
****************************
คำขวัญ : เกษตรกร … เกษตรวัฒนธรรม คือหลักนำของชาติ
วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๒
ช่วงเช้า เดินทางสู่สถานที่จัดงาน (วันโฮม)
๑๓.๐๐ - ๑๔.๐๐ น. แสดงนิทรรศการ ร้าน (ซุ้ม) แลกเปลี่ยนและจำหน่ายสินค้า
จากภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน พบปะญาติมิตรจากจังหวัดต่าง ๆ ตามอัธยาศัย
๑๖.๓๐ - ๑๗.๓๐ น. ตั้งขบวนเดินรณรงค์ในตัวเมืองขอนแก่น
๑๗.๓๐ - ๑๘.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น
๑๘.๐๐ - ๑๘.๒๐ น. พิธี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงาน
โดย นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น
๑๘.๒๐ - ๑๘.๔๐ น. ประธานจัดงานกล่าวรายงาน ตอกย้ำการตุ้มโฮมคนอีสาน
โดย นายวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน ประธาน กป.อพช.ภาคอีสาน
๑๘.๔๐ - ๑๙.๓๐ น. ประธานในพิธีกล่าวเปิดงาน
โดย คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม
๑๙.๓๐ - ๒๐.๓๐ น. ปาฐกถา “ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ภายใต้สถานการณ์
วิกฤติทุนนิยมโลกาภิวัตน์”
โดย อาจารย์ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักคิดนักเขียนอาวุโส
๒๐.๓๐ - ๒๒.๐๐ น. การแสดงหนังประโมทัย (หนังตะลุง)
โดย คณะ ส.ร่วมมิตร
๒๒.๐๐ น. พักผ่อนตามอัธยาศัย
วันที่ ๔ เมษายน ๒๕๕๒
๐๗.๐๐ น. ทำบุญตักบาตรด้วยผลิตผลอาหารอีสานพื้นบ้าน
๐๙.๐๐ - ๑๐.๓๐ น. อภิปราย “ประวัติศาสตร์อีสาน : การตั้งถิ่นฐานและพัฒนาการสู่รัฐชาติ”
โดย ดร.จารุวรรณ ธรรมวัตร
อาจารย์ธิดา สารยา
อาจารย์บัวพันธ์ พรหมพักพิง
ดำเนินรายการ โดย
คุณธีรดา นามให หรือ คุณสุเมธ ปานจำลอง
๑๐.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. ประวัติศาสตร์นักต่อสู้อีสาน :กรณี ครูครอง จันดาวงศ์
โดย อาจารย์ธันวา ใจเที่ยง
อาจารย์วิทิต จันดาวงศ์
ดร. สุพรรณ สาคร
ดำเนินรายการโดย
คุณแวง พลังวรรณ หรือ คุณสุวิทย์ กุหลาบวงศ์
๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. พักรับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. อภิปราย “ประวัติศาสตร์ 4 อดีต รัฐมนตรีอีสาน
และบทบาทของนักการเมืองอีสานร่วมสมัย”
โดย อาจารย์สมคิด ศรีสังคม
คุณทองใบ ทองเปาด์
อาจารย์บุญเรือง ถาวรสวัสดิ์
คุณคำสิงค์ ศรีนอก ศิลปินแห่งชาติ
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ
ดำเนินรายการ โดย
อาจารย์ปรีชา คุวินธร หรือ คุณสุมาลี โพธิ์พยัคฆ์
๑๖.๐๐ - ๑๘.๓๐ น. อธิปราย “วิถีชีวิตเกษตรกร วิถีชุมชนและการรุกทำลายของกลุ่ม
ทุนโลกาภิวัตน์”
โดย อาจารย์ประสาสน์ รัตนะปัญญา
อาจารย์บัญชร แก้วส่อง
คุณเดชา ศิริภัทร
อาจารย์นันทิยา หุตานุวัตร
คุณประวัติ บุนนาค
ดำเนินรายการ โดย
คุณอุบล อยู่หว้า หรือ คุณบำรุง บุญปัญญา
๑๘.๓๐ - ๒๐.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็น ร่วมกัน (จัดร่วมกับเทศบาลนครขอนแก่น)
โดยเน้นอาหารพื้นบ้านและการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้านระหว่าง พาแลง
๒๐.๐๐ - ๒๒.๐๐ น. เล่าขานตำนานเพลง “สำนึกอีสาน” จะสร้างขึ้นได้อย่างไร (สีสันไข่มดแดง)
ประกอบการแสดงของวงซูซู
โดย ซูซู และคณะ
๒๒.๐๐ น. พักผ่อนตามอัธยาศัย
วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๒
๐๗.๐๐ น. ทำบุญตักบาตรด้วยอาหารพื้นบ้านอีสาน
๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. อภิปราย “ทางเลือกของคนอีสานบนพื้นฐานสำนึกประวัติศาสตร์
ท้องถิ่น”
โดย อาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม
อาจารย์ปรีชา อุยตระกูล
คุณแวง พลังวรรณ นักเขียนอิสระ
คุณเอียด ดีพูน นักพัฒนาอาวุโส
ดำเนินรายการ โดย
คุณสดใส สร่างโศรก หรือ คุณจำนง จิตนิรัตน์
๑๒.๐๐ - ๑๓.๐๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๐๐ - ๑๖.๐๐ น. อภิปราย “ภูมิปัญญาอีสานและนิเวศวัฒนธรรม : อุดมการณ์ เพื่อการ
เปลี่ยนแปลงสู่สังคมใหม่”
โดย ท่านอาจารย์พระมหาณรงค์ จิตโสภโณ
อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาคสุภา
อาจารย์เลื่อน วรรณเลิศ
อาจารย์สันติภาพ วัฒนศิริไพบูลย์
คุณสนั่น ชูสกุล
ดำเนินรายการ โดย
คุณประวัติ บุนนาค หรือ คุณราณี หัสรังษี
๑๖.๐๐ - ๑๘.๓๐ น. อธิปราย “ประสบการณ์การต่อสู้ของประชาชนอีสานยุคปัจจุบัน :
จุดแข็ง จุดอ่อน และก้าวข้ามความแตกแยกกระจัดกระจาย”
โดย ครูสน รูปสูง ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน
คุณบำรุง คะโยธา เครือข่ายเกษตรทางเลือก
คุณสมปอง เวียงจัน เครือข่ายชุมชนลุ่มน้ำมูล
อาจารย์รัฐสภา นามเหลา ตัวแทน จาก สก.ยอ. อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่ง ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
ดำเนินรายการ โดย
อาจารย์ พิทยพันธ์ แวะศรีภา หรือ ดร.วิญญู สะตะ
๑๘.๓๐ - ๑๙.๓๐ น. รับประทานอาหารเย็น และการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน
๑๙.๓๐ - ๒๒.๐๐ น. บทเรียนทางสากลในการเคลื่อนไหวท้องถิ่น (Localization)
“กรณี ญี่ปุ่น,อเมริกา,ยุโรปและสาธารณะรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”
โดย ดร.เดวิด CIEE (ระบบ CSAในอเมริกา)
คุณโอโนะซัง AFEC (Rainbow Plan ในญี่ปุ่น)
ดร.สมบัติ PADAK (ชุมชนสังคมนิยมแบบลาว)
คุณชนิดา จรรยาเพศ Focus on Global South
ดำเนินรายการ โดย
คุณเดชา เปรมฤดีเลิศ หรือ คุณพงษ์ทิพย์ สำราญจิตร
๒๒.๐๐ - ๒๓.๓๐ น. ดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน
โดย คณะผู้ร่วมงานซุ้มต่าง ๆ นำเสนอต่อประธานจัดงานมหกรรมฯ 2
วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๒
๐๗.๐๐ น. ทำบุญตักบาตร พระภิกษุสงฆ์
๐๙.๐๐ - ๑๒.๓๐ น. อภิปราย “ขบวนการสังคมใหม่บนความหลากหลายทางวัฒนธรรมและ
ชาติพันธุ์”
โดย อาจารย์ชยันต์ วัฒนภูติ
อาจารย์ยุค ศรีอาริยะ
อาจารย์บุรินทร์ ตัวแทนชาวพุทธ
ดร.โกศล ศรีสังข์ ตัวแทนคริสต์ชน
อาจารย์ปรีดา ประพฤติชอบ ตัวแทนชาวอิสราม
ดร. สุพรรณ สาคร ตัวแทนชาวลาว
คุณไพศาล ช่วงฉ่ำ ตัวแทนชาวบรู คุณเอียด ดีพูน ตัวแทนชาวเขมร
คุณปาริชาติ หาญไชยนะ ตัวแทนชาวภูไท
คุณชลิดา มณีปกรณ์ ผู้แทนชาวย้อ
ดำเนินรายการ โดย
อาจารย์ปรีชา อุยตระกูล หรือ อาจารย์บุญยงค์ เกตุเทศ
๑๒.๓๐ - ๑๓.๓๐ น. รับประทานอาหารกลางวัน
๑๓.๓๐ - ๑๖.๐๐ น. เปิดเวที “เกษตรกร … เกษตรวัฒนธรรม คือหลักนำของชาติ”
ดำเนินรายการ โดย
คุณวิพัฒนาชัย พิมพ์หิน
๑๖.๐๐ - ๑๗.๐๐ น. มหกรรมประชาชนอีสาน 2 ประกาศจุดยืนและเจตนารมณ์ “ปลุกพลังภูมิ
ปัญญาอีสาน คัดค้านทุนการเกษตรผูกขาด ประกาศแนวทาง
พึ่งตนเอง”
โดย ทีมคณะกรรมการอำนวยการ / ฝ่ายวิชาการ
ดำเนินรายการ โดย
อาจารย์วิเชียร แสงโชติ หรือ คุณสนั่น ชูสกุล
๑๗.๐๐ - ๑๙.๐๐ น. รับประทานอาหารเย็นร่วมกัน (เลี้ยงอำลา)
เอื้อเฟื้อ โดย กป.อพช. ภาคอีสาน และเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสาน
๑๙.๐๐ - ๒๑.๓๐ น. เล่าขานตำนานเพลงเพื่อชีวิตบนเส้นทางการต่อสู้ของชาวอีสาน
โดย “หงา คาราวาน”
ดำเนินรายการ โดย
คุณโกวิทย์ กุลสุวรรณ
๒๑.๓๐ - ๒๒.๐๐ น. พิธีปิดงาน “มหกรรมประชาชนอีสาน 2”
โดย อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ นักวิชาการอิสระ
——————————-
หมายเหตุ
* รายการต่าง ๆ สามารถพลิกแพลง ยืดหยุ่นและเสนอปรับแก้ได้ตลอดเวลา โดยมีช่วงสำรอง เวลา ๑๗.๐๐ –
๐๙.๐๐ น. ของทุกวัน
** บทบาทศาสนาและพระสงฆ์กับการพัฒนา รวมทั้งคุณูปการของท่านหลวงพ่อพระพิมลธรรม อาจจะแทรกลงเป็นกิจกรรมตอนเย็นระหว่าง ๑๘.๐๐ – ๒๐,๐๐ น.วันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง ตลอดงาน
*** กำหนดการนี้ อาจมีการปรับเปลี่ยนได้ เพราะอยู่ระหว่างการติดต่อวิทยากรและการประสานงาน
ผมเอาเรื่องพี่เปี๊ยกมาเขียนหน่อย..
พี่เปี๊ยกไม่มีรายได้อะไร เพราะไม่มีงานประจำอย่างเราๆท่านๆ…แล้วมีชีวิตอยู่อย่างไร..?
ก็น้องๆที่แวะเวียนไปหาพี่เปี๊ยกก็ช่วยสนับสนุนกันตามกำลังบ้าง..
การเชิญพี่เปี๊ยกเป็นที่ปรึกษางานโน่นนี่ก็พอมีค่าตอบแทนบ้าง ซึ่งก็ไม่แน่นอน..
ดูการใช้ชีวิตของพี่เปี๊ยกแล้วทุกท่านคงเดาออกนะครับว่าเรียบง่ายเสียจน..
ในคราวที่น้องๆรวบรวมบทความของพี่เปี๊ยกรวมเล่มเรื่องวัฒนธรรมชุมชนนั้น
ก็มอบให้พี่มาจำนวนหนึ่งเพื่อให้ไปจำหน่ายเอาเอง ได้เงินมาก็เป็นของพี่เปี๊ยกเอง
การมาสวนป่าคราวนี้ก็เช่นกัน….พี่เปี๊ยกบอกผมว่า บู๊ด..เอาหนังสือไปขายบ้างได้ไหม..
ผมก็ว่าได้ เดี๋ยวผมจัดการให้พี่เอาหนังสือมาให้ผม..
น้องๆที่ขอนแก่นก็รวบรวมหนังสือให้ได้มานิดหน่อยเพราะไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน..
น้องขจิต และน้องมะเดี่ยว ช่วยจัดการให้..
หลังการพูดเสร็จ หนังสือขายหมดเกลี้ยงเลย.. ไม่พอเสียด้วยซ้ำไปเพราะหลวงพี่ติ๊กสนใจก็หมดเสียแล้ว
ผมบอกหลวงพี่ว่าผมจะเอาไปถวายเองที่วัดสระเกศ
เพราะวันจันทร์ผมมีประชุมที่กรุงเทพฯจะหาเวลาแวะไปกราบท่าน
ช่วงที่ทุกคนเดินทางไปทานอาหารกลางวัน มีบางท่านมาซื้อหนังสือจากเดี่ยวจนหมดนั้น ต่างก็ยื่นหนังสือให้พี่เปี๊ยกเซนต์
แต่พี่เปี๊ยกให้มากกว่าลายเซ็น คือเขียนกลอนให้ด้วย
พี่จะมองหน้าท่านนั้นแล้วซักถามเรื่องส่วนตัวสักสองสามคำถาม
จากนั้นก็ตั้งสติ แล้วก็ “จารบทกลอน” สดๆลงไป…
เมื่อถึงคราวคุณสุภาพสตรีท่านที่ยืนตรงกลางเอาหนังสือให้พี่เปี๊ยกจาร
ใช้เวลาไม่นานนัก…
เมื่อเสร็จเธอก็รับมาแล้วก็อ่าน..อ่าน..ให้เพื่อนฟังด้วย..
เมื่ออ่านจบ เธอน้ำตาไหลออกมาครับ จนเธอต้องลุกเดินออกไป..
คุณสุภาพบุรุษท่านที่ยืนข้างกายนั้น เดินตามไปพร้อมกับน้ำตาไหลรินออกมาด้วย..
อยากทราบว่าบทกลอนบทนั้นว่าอย่างไร..
ขอให้ท่านไปถามสุภาพสตรีท่านนั้นเถิดครับ….
ผมเชื่อว่าเธอยินดีที่จะกล่าวถึงครับ…..
จันกะพ้อบานแล้วครับ บานมา 1 สัปดาห์แล้ว ปีนี้ดอกน้อยมาก น้อยกว่าปี 2550 ครับ แถมมีมดแดงมาทำรังสองรัง เลยเก็บดอกบนต้นยาก แต่ก็หอมมากครับ นั่งอยู่ในบ้านก็ได้กลิ่นโชยมา
เลยเอาข้อมูลมาฝากกันครับ
จันทน์กะพ้อเป็นพันธุ์ไม้ในวงศ์ Dipterocarpaceae พวกเดียวกับยางนาและพะยอม ทางภาคใต้เรียก จันทน์พ้อ และที่จังหวัดพังงาเรียก เขี้ยวงูเขา
จันทน์กะพ้อเป็นไม้ต้นขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลาง โตช้า ชอบขึ้นในที่ดินร่วนชื้นและร่มปะปนกันไม้ต้นชนิดอื่นในป่าดิบชื้น ต้นค่อนข้างตรง เปลือกเกลี้ยง เรือนยอดเป็นพุ่มรีหรือกว้างใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีค่อนข้างยาว ขนาดยาว ๗-๙ซม. กว้าง ๒-๓ ซม. สีเขียวเข้ม เรียงตัวแบบเวียนไปตามกิ่งห่างๆ กัน ดอกออกตามกิ่งเป็นช่อเล็กๆ ทยอยบานครั้งละ ๑-๒ ดอก
แต่มักจะมีช่อหลายช่อเป็นกระจุกและเรียงเป็นระยะๆ ตามกิ่งดอกขนาด ๑.๒-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงมีขนสีน้ำตาลกลีบดอกเรียงเวียนซ้อนเกยกันเล็กน้อย ด้านในสีขาวนวลหรืออมชมพู ด้านนอกมีแถบแคบๆ มีขนละเอียดสีน้ำตาลอมแดง กลิ่นหอมแรง ออกดอกในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ปัจจุบันพบเห็นได้ค่อนข้างน้อย
ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดปลูกเลี้ยงค่อนข้างยาก ถ้าแดดจัดหรือลมแรงใบจะไหม้ ปัจจุบันพบน้อยลงมาก ขอบคุณข้อมูลจาก
http://guru.sanook.com/search/(Vatica_diospyroides_Syming.)
คุณแม่คนข้างกายตระเวนไปเลี้ยงหลาน 14 คน (อิอิ) และมาเลี้ยง สามขวัญ ลูกสาวผม เป็นคนสุดท้าย คุณแม่ไปเลี้ยงหลานคนไหนก็เอาต้นศรีตรังไปปลูกหน้าบ้านด้วย เหมือนปักธงว่า คุณเจ้าขา..บ้านนี้คนตรังนะจ๊ะ.. อะไรทำนองนั้น
คุณแม่ทันได้ดูดอกศรีตรังหน้าบ้าน ก่อนที่ท่านจะจากเราไปไกลเมื่อสองปีก่อน
ผมชอบดอกศรีตรังมากโดยเฉพาะสีม่วงอ่อนๆ สวยแบบบอบบางน่าทนุถนอมครับ เธอจะบานเป็นพวงแล้วก็ล่วงหล่นลงพื้น สีม่วงเต็มไปหมด สวยครับ ไม่อยากกวาดดอกที่หล่นลงพื้นเลย อยากปล่อยไว้อย่างนั้น
ศรีตรังนี้มีชื่อว่า Green ebony หรือ Jacaranda ชื่อวิทยาศาสตร์ Jacaranda obtusifolia Humb.
ว่ากันว่าเจ้าดอก jacaranda นี้มีถิ่นเดิมอยู่ที่ เวเนซุเอลา และตอนเหนือของอเมริกาใต้ แล้วกระจายไปทั่วโลก เขาชอบดินที่มีอินทรียวัตถุสูง ระบายน้ำดี ชอบอากาศเย็นและชื้น
เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดตรัง จึงได้ชื่อศรีตรัง แต่ไม่ทราบว่าเข้ามาเมืองไทยเมื่อใด ใครเป็นคนเอาเข้ามา ไม่มีข้อมูล
ดอกก่อนบานฉ่ำนั้นจะเป็นกระเปาะ บางทีโดนลมแรงๆเขาก็ล่วงลงพื้นเหมือนกัน
ดอกศรีตรังที่บ้านจะออกดอกช่วงนี้จนถึงเดือนมีนาคมก็หมด
ผมไปดูใน Web เห็นที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลียมีต้น Jacaranda นี้สวยกว่าบ้านเราครับ
คือดอกเขาเป็นกลุ่มใหญ่กว่ากระเปาะใหญ่กว่า เมื่อรวมกลุ่มดอกทำให้สีดูเข้มขึ้น
ดูซิครับว่าดอกเขาดกแค่ไหน ไม่มีใบสักใบ
หนุ่มสาวคู่นี้คงมีความสุขมากที่มานั่งหน้าตึกมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียที่มี Jacaranda ออกดอกเต็มที่แบบนี้ คงเป็นความฝันของบางคน ละมั๊ง…
ทำไมระบบโรงเรียนจึงดึงเวลาทั้งชีวิตไปหมด
เด็กทุกระดับต้องคร่ำเคร่งทำการบ้านเป็นบ้าเป็นหลัง
…..ไม่มีเวลากับครอบครัว หรือครอบครัวก็ส่งเสริมเช่นนั้น
มีข้อเสนอใหม่
“โรงเรียนเอาไปครึ่งเวลา
อีกครึ่งให้อยู่กับครอบครัว”
อยู่กับวิถีชีวิตของครอบครัว ชุมชน
….
หากสนใจรายละเอียด และต้องการแลกเปลี่ยน
ไปพบ บำรุง บุญปัญญา ที่สวนป่าวันที่ 28 ก.พ. …ซิครับ…
ครอบครัวเรายากจน ลูกกี เป็นพี่คนโตต้องเสียสละนะลูก ต้องช่วยงานพ่อแม่และดูแลน้องๆ
บ้านนี้ขายของเล็กๆน้อยๆ ในตลาด ทั้งครอบครัวต่างทำมาหากิน ช่วยกันทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เงินตราเข้ามาเพื่อใช้จ่ายจิปาถะ
มันก็เป็นชีวิตปกติที่เราเห็นทั่วๆไปในทุกแห่งก็มีสภาพเช่นนี้แฝงเร้นอยู่ในซอกของสังคมที่กำลังเติบโตเปลี่ยนแปลง
กี เป็นลูกคนโตของครอบครัวที่อพยพเข้ามาจึงมีสภาพที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดมากมาย แต่เพื่อความอยู่รอดพ่อบ้านจึงพยาบามหาเงินทุกอย่างเพื่อสะสมให้ลูกมีการศึกษา เพราะเป็นหนทางเดียวที่ครอบครัวเราจะลืมตาอ้าปากได้ ตอนอพยพมานั้นเราไม่มีอะไรติดตัวมา… มีแต่ชีวิตและจิตวิญญาณ..แห่งความอดทน ต่อสู้ ขยัน….
กีต้องทำงานหนักช่วยพ่อแม่ดังกล่าวแต่ก็เป็นเด็กขยัน เรียนเก่ง หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส แม้ครอบครัวเขาจะไม่สดใสก็ตาม
เมื่อจบป.4 พ่อก็บอกว่า
กี น้องเรามีหลายคนหากจะให้น้องเรียนทุกคนเจ้าต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำงาน เพราะไม่เช่นนั้นน้องๆก็ไม่มีสิทธิเรียนเพราะเราไม่มีเงินมากพอที่จะส่งทุกคนได้ ลูกกีต้องเสียสละนะลูก ออกมาช่วยพ่อทำงานส่งน้องเถอะ…
กีแอบไปร้องให้ ด้วยเสียใจที่เขาอยากเรียน แต่ก็รักพ่อแม่ รักน้องๆ กีไม่มีทางออกอื่นใด เพียงหวังว่าสักวันหนึ่งจะกลับมาเรียนหนังสืออีกให้ได้….
กำลังสำคัญครอบครัวนี้กลับมาอยู่ทื่ กี.. นับวันพ่อแม่ก็ร่วงโรยลง น้องๆ เติบโตขึ้นและรักใครกันดี เรียนหนังสือดีทุกคน แม้กีจะน้อยใจแต่ก็ภูมิใจที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวคู่เคียงพ่อแม่ส่งเสียน้องๆให้เรียนหนังสือตามประสงค์…
……
ต่างเติบใหญ่…. พ่อแม่ได้ดับสิ้นลงตามวัยสังขาร กีกลายเป็นผู้ดูแลครอบครัวทั้งหมด แบกรับภาระทั้งหมดแทนพ่อแม่ แต่ก็สมหวังที่น้องๆทำชีวิตได้ดี ทุกคนจปริญญาตรี และกำลังต่อปริญญาโท เอก
กี อยากมีลูกเมีย แต่ก็จะทำให้ครอบครัวมีภาระมากไป เมื่อก้มหน้าก้มตาทำงานไปจนลืมวันลืมเดือน ตื่นมาอีกทีชีวิตก็มากเกินที่สาวใดจะมองแล้ว
น้องชายคนถัดไปจบดอกเตอร์ทางวิศวกรรมศาสตร์ เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมีตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตพอสมควร ….
……ครั้งหลังสุดที่ผมพบ ดร.ท่านนี้ ท่านเอาพี่ชายมาเป็นคนขับรถ และเรียน กศน.จนจบ
ผมมีโอกาสสอบถามว่าทำไมเอาพี่ชายมาเป็นคนขับรถ
ท่าน ดร.ตอบว่า พี่ทำงานมาหนักแล้ว การมาขับรถประจำตำแหน่งของผมนั้นเป็นโอกาสที่ผมจะทดแทนบุญคุณของพี่ เพราะแค่ขับไปมานิดหน่อยเท่านั้น มีเงินเดือนประจำและพี่มีเวลาเรียน กศน.จนจบ และกำลังเรียนปริญญาตรีมหาวิทยาลัยเปิดแห่งหนึ่ง แม้อายุมากแล้วแต่พี่เขาก็อยากทำตามที่พี่เขาฝัน….
ผมเห็นน้ำตา..รินออกมา
ท่าน ดร.ท่านพยายามมอบความรักคืนให้พี่ตามที่พี่ตั้งใจจะทำ
ตอนนี้ผมกลับมารับผิดชอบชีวิตพี่ ตอบแทนที่พี่เคยดูแลผมมา…
…………………………
มันเป็นอีกความรักหนึ่งในวันวาเลนไทน์…..
ผมมีความรู้สึกว่ายังปลื้มกับ มกุฎราชกุมารจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก หรือเจ้าชายจิกมี ที่คนไทยคุ้นเคย พระองค์ทรงวางตัวเรียบง่าย เป็นกันเอง แต่ทรงพระเกียรติ ยิ่งเห็นเจ้าชายใส่เสื้อเหลือง เรารู้สึกใกล้ชิดพระองค์มากเท่ามากจริงๆ
พระองค์เพิ่งขึ้นครองราชย์แทนพระราชบิดาเมื่อเร็วๆนี้เอง หลายท่านอาจจะไม่เคยเห็นภาพที่พระองค์ทรงสูทสากล ลองชื่นชมซิครับ เหมือนดาราเกาหลีที่สาวไทยกรี๊ดอยู่ทุกวันนี้ครับ
ช่วงนี้มีชาวภูฐานมาฝึกอบรมเรื่อง SML ที่ RDI ที่คนข้างกายผม organized อยู่ เธอก็มีเรื่องเล่าให้ฟังทุกวัน ผมจึงอยากจะถ่ายทอดมาเท่าที่จะจำได้ครับ
ชาวภูฐานพูดได้มากกว่า 4 ภาษาโดยพื้นฐาน คือ ภาษาภูฐาน (ซองคา) อังกฤษ อินเดีย จีน ทั้งนี้เพราะว่าต้องใช้ติดต่อสื่อสารกับประเทศข้างเคียงมากนั่นเอง
ชาวภูฐานเคร่งศาสนาพุทธ ไม่ฆ่าสัตว์ แต่กินเนื้อสัตว์ และนมจึง Import เนื้อสัตว์และนมมาจากอินเดีย เขาดื่มนมเกือบแทนน้ำ
อาหารไทยหวาน:
คนข้างกายเล่าให้ฟังว่าเรื่องที่หนักใจมากในการบริหารพี่น้องภูฐานคือ เวลาพาไปทานอาหารตามร้านเขาจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า No sugar please นั่นคืออาหารไทยที่เรากินอยู่ทุกมื้อนั้น “หวาน” ในการรับรสของเขา แต่เราเฉยๆเพราะเราชินเสียแล้ว
ทั้งประเทศตั้งอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย
เออ..ประเด็นนี้ก็ทำให้เราย้อนพิจารณาพัฒนาการทำอาหารของเราแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบันนั้น ก็น่าที่จะเป็นจริง แต่ก่อนอาหารเราไม่ได้ใส่น้ำตาลเลย ยกเว้นเฉพาะอย่างเท่านั้น เดี๋ยวนี้ต้องเหยาะน้ำตาลไม่มากก็น้อย และน้ำตาลสมัยก่อนก็เป็น “น้ำตาลปึก” ที่มาจากต้นตาล หรือ “น้ำตาลงบ” ที่ทำมาจากต้นอ้อยที่มีกระบวนการแบบง่ายๆที่ไม่มีสารเคมีเจือปนแม้แต่น้อย… แล้วสุขภาพคนไทยปัจจุบันที่เจ็บป่วยมากมายเป็นภาระทางการแพทย์ทุกวันนี้ ที่มีโครงการมากมายที่จะแก้ปัญหาแต่ต้นเหตุ เรียนคุณหมอทุกท่านอาหารที่ใส่น้ำตาลของบ้านเรา ที่ชาวภูฐานว่าหวานนั้นน่าจะมีส่วนอยู่นะครับ…
สนามบินที่มีแห่งเดียวในภูฐาน
Thai Freedom:
ชาวภูฐานจะต้องใส่ชุดประจำชาติเท่านั้นในการไปโรงเรียนหรือทำราชการ มิเช่นนั้นผิดกฎหมาย ต้องระวางโทษ นักศึกษามหาวิทยาลัยไม่ว่าระดับไหนๆก็ต้องใส่ชุดประจำชาติ และไม่มีการดัดแปลงให้คับให้หลวม เติมนั่นใส่นี่เข้าไปอีก ไม่ได้ ชุดประจำชาติก็ต้องเป็นชุดประจำชาติแบบเดียวเท่านั้น ชาวภูฐานไม่เข้าใจว่าทำไมนักศึกษาไทยจึงใส่ Uniform และมีรัดรูปเห็นทรวดทรงองค์เอวทุกขนาด กระโปรงดีดีก็ผ่าขึ้นไปจะถึงก้นอยู่แล้ว เขาไม่เข้าใจว่าทำได้อย่างไร….โดยไม่ผิดระเบียบกฎหมายไทย
เมื่อได้รับคำอธิบายว่า เรามีระเบียบเหมือนกัน แต่ยืดหยุ่นมากๆ เพราะนักศึกษาต่างกล่าวว่าความเจริญทางสติปัญญาไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัว… เขาก็ไม่เข้าใจว่า Freedom แบบไหนกันถึงปล่อยมากมายอย่างนี้ แล้วชุดประจำชาติไทยไม่มีหรือเป็นอย่างไร….?
ประเด็นนี้เป็นเรื่องใหญ่..ที่ผมคิดมานานเหมือนกันว่า ความมีอิสระที่กล่าวอ้างกันนั้น บางทีมันก็เกินความพอดี เกินความงอกงาม เพราะแรกๆน่าจะดูดีตามหลักการแต่มันกลายเป็นการพัฒนาไปสู่สิ่งอันไม่พึงประสงค์เสียมากกว่า นี่หรืออิสระภาพ ไม่ใช่เรื่องการแต่งกายเท่านั้น อื่นๆก็เช่นกันมากมาย ต่างก็อ้าง เสรีภาพ อ้างประชาธิปไตย อ้างเสียงข้างมาก อ้างประชาชนเลือก สิทธิ ส่วนบุคคล (อ้าว..เดี๋ยวยาว อิอิ)
หากเป็นท่านจะตอบว่าอย่างไรครับ..
ทั้งประเทศอยู่บนเทือกเขาหิมาลัย เมืองตั้งอยู่ในหุบเขามีพื้นที่เพียง 47000 ตร.กม. แต่ละปีจะจำกัดนักท่องเที่ยวเพียง 1.3 หมื่นคนเท่านั้น และต้องผ่านทัวร์ของประเทศ แต่ละวันต้องจ่ายค่าอยู่ในประเทศวันละ 200 เหรียญ
ยังมีประเด็นที่เราอาจจะทึ่งก็ได้ว่า เออ เราไปถึงไหนกันแล้วนี่ ประเทศไทย…
ชาวภูฐานที่มาฝึกอบรมนี้เป็นพ่อค้าทั้งระดับ เล็ก กลาง ใหญ่ และเมื่อมีโอกาสก็ shopping กันแหลก เหมือนพี่ไทยไปต่างประเทศเหมือนกัน.. มีเรื่องที่น่าประทับใจเหมือนกันที่ว่า เมื่อร้านค้าทราบว่าผู้ซื้อมาจากภูฐาน ต่างก็ลดราคาให้ 5-10 % เขาถามว่าทำไม…
เจ้าของร้านตอบว่า
คนไทยรู้จักเจ้าชายจิกมี และประทับใจเจ้าชายมาก มาก …!!!