ศาสตร์นี้เพื่อใคร??
อ่าน: 1439ช่วงนี้เดินทางบ่อยมาก ความจริงก็ชอบนะครับเพราะเปลี่ยนบรรยากาศและสาระงานที่รับผิดชอบจากมุมนี้ไปมุมโน้น เปรียบเทียบไปเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นความจริงในสังคมมาก บางเรื่องก็ใหม่สำหรับผม หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่เรารู้ๆกัน
ชีวิต Freelance นั้นเหมือนตัวหมากรุก ที่คนเล่นเป็นผู้หยิบเราไปวางตรงนั้นตรงนี้ เพื่อคาดหวังอย่างนั้นอย่างนี้ เราเองหลายเรื่องก็ง่ายเหมือนปากกล้วย บางเรื่องก็งงเป็นไก่โดนตี เอาไงดีวะ… หลายเรื่องก็ค้านความรู้สึกเรา
วันนี้ขับรถไปคนเดียวจากกรุงเทพฯขึ้นขอนแก่นด้วยสุขภาพไม่เต็มร้อย เพราะเมื่อคืนไปงานศพคุณอาที่อ่างทองมา และต้องไปภารกิจของลูกสาวอีก กว่าจะหลับจะนอนได้ ดึกมาก ผมจึงแวะเข้าปั้มน้ำมันนอนซะงีบหนึ่ง แล้วเติมด้วย กาแฟอเมซอนเข้มข้นร้อนหนึ่งแก้ว คราวนี้ขับไปเรื่อยๆ รถหนาตา ด่านตำรวจ 5 ด่านมากจริงๆ ไม่เคยเห็นตำรวจตั้งด่านมากขนาดนี้ ความจริงดีนะครับ ผมรอดตัวไม่โดนเรียกไปเก็บค่าทางด่วน อิอิ หากเรียกจริงๆก็จะให้โดยดีหรอก
ระหว่างทางนั้นผมฟังวิทยุฟังข่าวการคัดค้านพรบ.ปรองดอง สลับกับข่าวอื่นๆที่ผู้จัดคุยกับวิทยากร ผมเบื่อฟังเพลงนะครับ
ผมฟังผู้จัดคุยกับวิทยากรเรื่องทีวี digital ว่ากำลังเป็น trend ในปัจจุบัน ก็คุยกันว่าจะก้าวไปไกลขนาดไหน รวมไปถึง smart phone , iPAd, IPHONE (เขียนผิดขออภัยนะครับ ผมห่างไกลเจ้าตัวนี้จริงๆ) วิทยากรท่านเป็นผู้รู้ในวงการ ก็วิเคราะห์ วิจารณ์ตามหลักวิชา ความรู้ ผมฟังแล้วก็นึกไปถึงประเด็นเก่าๆที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้ว่า
ศาสตร์ทางธุรกิจนั้น เรียนเรื่องคนมาก ศึกษาพฤติกรรมคนตามกลุ่มอายุ เพศ คนในเมือง คนในชนบท คนในสถาบันการศึกษา คนในโรงงาน ฯลฯ วิเคราะห์วิจัยกันมากมาย และเป็นศาสตร์ที่เรียนกันในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ปริญญาตรี โท เอก กันเลยทีเดียว ความรู้ทั้งหมดนี้กลับมาแปรเป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้โดนใจคนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ขายได้ เพื่อรายได้ เพื่อกำไรของบริษัท หรือผู้ประกอบการ อาจจะกล่าวในมุมหนึ่งได้ว่า โลกเรามีศาสตร์ทางธุรกิจที่ศึกษากิเลสของคน แล้วก็เอาความรู้ ความเข้าใจนั้นไปผลิตสินค้าที่ตอบสนองกิเลสของมนุษย์กลุ่มนั้นๆ เมื่อโดนใจ หรือโดนกิเลส สินค้าตัวนั้นก็ขายได้ บางเรื่องบางสินค้า หากออกแบบและประสิทธิภาพโดนใจก็รับทรัพย์มหาศาลกันไปเลยทีเดียว…
ประเด็นนี้ผมเห็นมานานแล้ว วันนี้ก็มาได้ยินอีกและได้ยินจากปากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ผมตั้งคำถามมานานแล้วเหมือนกันว่า ศาสตร์การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ดังกล่าวนี้ทำไมไม่มีฝ่ายที่นำมาแปลเป็นการจัดทำเครื่องมือการพัฒนาคน ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานพัฒนาการเกษตร และด้านต่างๆ.. ดูเหมือนมีความพยายามทำกัน แต่ไม่ก้าวหน้าเท่าศาสตร์ธุรกิจเหล่านี้ที่มีผล
ความจริงผมก็ถามตัวเองว่าแล้วเราทำไมไม่ทำเองล่ะ….
ผมก็ทำอยู่ โดยการศึกษาตามกระบวนการของงานพัฒนาคนในชุมชน แล้วแปลงมาเป็นกิจกรรม โครงการ แต่ยังหยาบอยู่ การพัฒนาทางด้านนี้ยังไม่ทำกันกว้างขวางเหมือนศาสตร์ทางธุรกิจที่ลงลึกไปมากทีเดียว จนเข้าไปครอบและเป็นปัจจัยหลักในการหันเหการบริโภคของมนุษย์ตามกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ นี่เองที่เป็นที่มาของการที่เราเรียกลัทธิทุนนิยมว่าเป็นกระแสหลัก และมีอิทธิพลเหลือเกิน
มันเป็นลัทธิบริโภคนิยมที่เกินความจำเป็นของสังคม แต่มันเข้ามาเนียนๆแบบว่า มันทันสมัย เราต้องทันสมัย เราต้องก้าวหน้า ผมไม่ปฏิเสธเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี แต่เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้วก็มีคนในโลกนี้ต่อต้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาก่อนแล้วว่า ควรเป็นเทคโนโลยีระดับกลางที่สอดคล้องความจำเป็นจริงๆของการดำรงชีวิต ไม่จำเป็นจะต้องสูงส่งเกินความจำเป็น ท่านผู้นั้นคือ อี เอฟ ชูเมกเกอร์ ที่เขียนหนังสือที่โด่งดังชื่อ “จิ๋วแต่แจ๋ว” หนังสือเล่มนี้น่าที่จะปัดฝุ่นเอามาให้เยาวชนศึกษากันใหม่ละมั๊ง
ผมฝันว่า หากเอาลักษณะการพัฒนาศาสตร์ทางธุรกิจเพื่อการขายสินค้าดังกล่าวมา เป็นการพัฒนาศาสตร์เพื่อการพัฒนาคนขึ้นมาอย่างจริงจัง กว้างขวาง ผมเชื่อว่า สังคมน่าอยู่อีกมากทีเดียว ปัญหาสังคมจะลดลง