ตอก….(2)

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 19, 2008 เวลา 16:37 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 4296

ผมคุ้นชินกับตอกมัดข้าว เพราะในช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม เลยไปจนถึงเดือนหน้าคือ พฤศจิกายน อีสานจะเห็นการจักตอกมัดข้าวกันทั่วไป และเห็นชาวบ้านเอาตอกกมาตากแดดกันที่ลานหน้าบ้านกัน เรามีความรู้เรื่องตอกมัดข้าวแค่ไหน… และปัจจุบันมันกลายเป็นธุรกิจชาวบ้าน หรือตัวทำเงินของชาวบ้านไปแล้ว (ผมเองก็เพิ่งทราบ) และจะเกี่ยวเนื่องกับอะไรหลายอย่างทีเดียว ลองพิจารณาดูกันนะครับ

· ท่านทราบไหมว่าตอกสั้นกับตอกยาวนั้นมีขนาดความยาวเท่าไหร่ : ตอกสั้นนั้นมีขนาด 80 เซนติเมตรครับ ส่วนตอกยาวมีขนาด 1.10 เซนติเมตร หรือ 1 เมตร 10 เซนต์

· ทำไมเป็น 80 และ 110 เซนติเมตร : ไม่จำเป็นต้องเท่านี้หรอก แล้วแต่ความต้องการของชาวนาคนนั้นๆ แต่โดยค่าเฉลี่ยทั่วไปที่นิยมกันเป็นขนาดดังกล่าวนี้

· ทำไมต้องมีสองขนาดความยาว : ขนาดสั้นเหมาะสำหรับมืออาชีพ ชาวนาที่จัดเจนในการมัดข้าว ส่วนตอกขนาดยาวสำหรับมัดข้าวสองรอบ ซึ่งชาวนาส่วนใหญ่นิยมใช้ขนาดยาวเพราะสร้างความมั่นใจว่ามัดแล้วแน่นหนา ไม่หลุดง่ายซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหาย

· ไผ่อะไรที่ดีที่สุดในการทำตอกมัดข้าว : ชาวนาหลายคนบอกว่าไผ่บง เพราะมีความเหนียว แต่หลายคนก็บอกว่า ไผ่ป่า และไผ่บ้าน

· ไผ่อายุขนาดไหนที่เหมาะแก่การทำตอก : ใช้วิธีดูเนื้อไม้ไผ่ ที่ไม่แก่เกินไปและไม่อ่อนเกินไป หากแก่เกินไปความเหนียวจะลดลง หากอ่อนเกินไป ก็ขาดง่าย ชาวนาที่จัดเจนเท่านั้นจะเป็นผู้รู้ว่าไผ่ลำไหนมีความเหมาะสม

· ตอกที่ทำเป็นเส้นแล้วทำไมต้องเอาไปตากแดด : เพราะต้องการทำให้แห้ง สนิท มิเช่นนั้นจะขึ้นรา หรือเชื้อราจะมาเกาะกินทำให้เสียคุณภาพไป


· การตากแดดที่มีความเหมาะสม ควรเป็นอย่างไร : ไม่แห้งเกินไป ไม่สดเกินไป ควรตากแดดประมาณ 4 แดด ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณแดด และความจัดเจนของชาวนาที่ทำตอก

· ตอกที่ตากแดดครบ 4 แดดแล้วเวลาใช้ต้องทำอะไรบ้าง : เวลาเอาตอกเหล่านี้ไปใช้ต้องพรมน้ำก่อน หรือจุ่มลงน้ำพอเปียกแล้วมาสลัดให้น้ำหลุดออกไป ทั้งนี้เพื่อฟื้นเนื้อไผ่ให้มีปริมาณน้ำติดเนื้อไผ่บ้างซึ่งน้ำจะทำให้เกิดความนุ่มและเหนียวตอนมัดข้าว ซึ่งหากเอาไปใช้ก็จะแตก หัก

ผมพยายามลองสอบถามปริมาณตอกที่ใช้ว่า นา 1 ไร่ต้องใช้ตอกจำนวนเท่าไหร่ หมายถึงกี่มัด กี่เส้น ผมไม่ได้คำตอบ แต่นายอภิชาต วังคะฮาต หนุ่มรูปบนสุดนั้น เขาคำนวณให้ดูว่า นาที่ผลิตข้าวเปลือกได้จำนวน 200 ถุงปุ๋ยนั้น จะต้องใช้ ตอกเส้นจำนวน 6,000 เส้น หากต้องซื้อจะคิดเป็นเงินประมาณ 600-700 บาท

จากปรากฏการณ์ที่ผมพบเห็นผมคิดไปหลายเรื่องคือ

· เดี๋ยวนี้การจักตอกกลายเป็นธุรกิจชาวบ้านที่ทำเงินไปแล้ว

· กรณีนางบัวเรือน ผิวขำ บ้านห้วยทราย ต.คำชะอี อ.คำชะอี ต้องจ่ายเงินสดไปเป็นจำนวนเกือบแสนบาท(กู้มาจาก ธกส.ห้าหมื่นบาท) สั่งตอกมาตุนไว้ขาย และความจริงเธอขายผ้านวมและถ้วยชามด้วย ในทุกวันพฤหัสบดีจะเอาไปขายที่ตลาดนัดหน้าอำเภอคำชะอี (ผมไม่มีเวลาตามไปสังเกตการณ์)

· แหล่งผลิตตอกมัดข้าวอยู่ที่ อ.นาเหนือ จ.ลำปางและเพชรบูรณ์ และน่าที่จะมีที่อื่นอีกที่มีป่าไผ่ เช่นจังหวัดเลย นครราชสีมา ชัยภูมิ ฯลฯ ไม่แน่ใจว่าจะมีอาชีพนี้หรือไม่…

· แหล่งผลิตเหล่านั้นมีปัญหาเรื่องการตัดไผ่บงมากเกินไปหรือเปล่า เมื่อเป็นธุรกิจ ไผ่บงที่ปลูกอาจเติบโตไม่ทัน ต้องเอามาจากป่า แล้วป่าบงถูกทำลายไป วงจรชีวิตอื่นๆจะเป็นอย่างไรบ้าง ห่วงโซ่อาหารได้รับผลกระทบอย่างไรบ้างต่อระบบนิเวศท้องถิ่นที่ไผ่ลดน้อยลงและจะหมดไป คนที่ทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ และปุ๋ยอินทรีย์ ทราบดีว่ามักจะไปเอาเชื้ออินทรีย์ธรรมชาติมาจากขุยโคนไผ่ในป่า

· แสดงว่าไผ่บงในอีสานมีน้อยลงมาก จึงไม่เพียงพอต่อการทำตอก

· ทำไมชาวนาต้องซื้อตอก ทำไมไม่ทำเอง อาจเป็นเพราะหลายเหตุผล อะไรคือเหตุผลหลัก

· ราชการ เช่น กรมป่าไม้ อบต. อำเภอ จังหวัด เข้ามามีส่วนรับรู้และคิดอ่านเรื่องนี้อย่างไรบ้าง…..

· หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ทำไมต้องมีการสั่งซื้อข้ามภาคให้เปลืองพลังงานและราคาก็น่าจะสูงกว่าหากมีการผลิตภายในภาค หากไม่มีไผ่บง อบต.ทำแผนงานปลูกไผ่บง และไผ่อื่นๆ ในระยะยาวเพื่อทำธุรกิจนี้ได้ไหม

· คนข้างกายบอกว่า ตอก เป็นสินค้านำเข้ามาจากฝั่งลาว ราคา 1000 เส้นละ 45 บาท และทำมาจาก ไผ่พุงเข้าที่อุบลราชธานี (น่าจะหลายช่องทาง หรือน่าจะเป็นตลอดแนวไทยลาวด้วยเช่นกัน) ราคาตอกนำเข้าจากลาวถูกกว่าราคาตอกที่มาจากลำปางเกือบเท่าตัว

· ฯลฯ

นี่คือวิถีชุมชน ชาวบ้านก็ดิ้นรนไปตามจังหวะชีวิต เมื่อใครเห็นลู่ทางอะไรอย่างไร ก็ดิ้นรนกันไป

มีหน่วยงานใดบ้างที่ก้าวเข้าไปให้ความรู้ในเรื่องการจัดการ ศึกษาผลกระทบต่อป่า ต่อวิถีวงจรชีวิตที่ชาวบ้านต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องนี้ ให้ความรู้ในสิ่งที่เหมาะที่ควรแก่ชาวบ้านผู้เกี่ยวข้องเรื่องเหล่านี้

มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กเกินไปสำหรับรัฐบาล กระทรวงทบวงกรมต่างๆ มันอาจจะไม่น่าสนใจต่อนักวิชาการมหาวิทยาลัย ที่สนใจเรื่องใหญ่ๆ

แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ อาจจะเกิดมานานแล้ว แต่ผมเพิ่มจะรู้ ในทัศนะผม ไม่ใช่เรื่องเล็ก และเป็นรูปธรรมของการพึ่งธรรมชาติของอาชีพชาวนา จึงต้องตั้งประเด็นขึ้นในโครงการแล้วหละครับ….


ตอก….(1)

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 18, 2008 เวลา 17:33 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 6679

วันนั้นผมเดินทางจากมุกดาหารกลับไปขอนแก่นเพื่อภารกิจ เมื่อมาถึง อ.คำชะอี บริเวณหน้าวัดหลวงปู่จาม ข้างถนนซ้ายมือผมสังเกตเห็นกองไม้ไผ่เล็กๆอยู่ เมื่อรถผมเลยมา นึกได้ว่านั่นน่าจะเป็น ตอกมัดข้าว นี่นา ทำไมมากองอยู่ริมถนนจำนวนมาก เช่นนั้น ผมตัดสินใจหยุดและกลับย้อนไปที่นั่น

ลงไปถ่ายรูป ใช่แล้วนี่มัน ตอกมัดข้าวตอกมีหลายความหมาย ที่นี่จะหมายถึง วัสดุที่ทำจากไม้ไผ่ เหลาให้เป็นเส้นๆ บางๆ เพื่อใช้มัดสิ่งของต่างๆ ชาวอีสานนิยมใช้ ตอกไม้ไผ่ นี้มัดข้าว ภาคกลางที่วิเศษชัยชาญจะใช้ต้นข้าวนำมาหลายๆต้นแล้วมาทำให้เป็นเกลียว ม้วนเก็บไว้ แล้วเอาไปมัดข้าว ซึ่งเรียกว่า ขะเน็ด [ขะเน็ด หรือเขน็ด คือฟางที่ทำเป็นเชือกมัดฟ่อนข้าว : พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525, หน้า 150]

มองเข้าไปในบ้านเห็นสุภาพสตรีมองย้อนมาที่ผม เธอคงนึกว่ามาถ่ายรูปทำไม เมื่อแนะนำตัวแล้ว ก็ยิงคำถามเสียพรุนไปหมด… เธอเป็นแม่บ้านกำลังอุ้มหลานและมีลูกสาวแม่ลูกอ่อนกำลังชงนมให้..

เมื่อเดินเข้าไปในตัวบ้านผมเห็น กองตอก เต็มบ้านไปหมดทั้งกองเล็กและใหญ่ เธอตอบว่า ตอก ที่วางนั้นขายแก่ชาวนาทั่วไปที่ต้องการ มัดเล็กราคา 70 บาท ใหญ่ 80 บาท แต่ละมัดมีจำนวน 800-1000 เส้น กองนี้ทั้งหมดมี 2,000 มัด ติดเป็นต้นทุนประมาณเกือบ 1 แสนบาท  หากขายได้หมดจะได้กำไรประมาณ 20,000 บาท

เอาไม้ไผ่อะไรมาทำครับ ผมถามเธอ เป็นไผ่บ้านนี่แหละ ความจริงที่ผมรู้มาก่อนว่าไผ่ที่มาทำตอกนั้น ไผ่บงดีที่สุด แต่ชาวบ้านแต่ละแห่งเรียกไม่เหมือนกัน เช่นเรียกไผ่บ้าน ไผ่ป่า เป็นต้น ผมถามเธอต่อว่า โอ้โฮ กองใหญ่โตนี่เอาไว้ขายหมดเลยใช่ไหม เธอตอบว่า ใช่ แล้วเอาไผ่มาจากไหนมากมายขนาดนี้ แล้วใช้กี่คน กี่วันถึง จักตอก ได้จำนวนเท่านี้…..


ผมถึงกับตะลึง เมื่อเธอตอบว่า…. ไม่ได้ทำเอง ทั้งหมดนี้สั่งมาขายจากจังหวัดลำปาง… หา…. ผมอ้าปากค้าง สั่งซื้อมาจากลำปาง…..ผมย้ำคำตอบ ..ใช่เมื่อสองอาทิตย์มานี่เอง… ไหนช่วยเล่าให้ฟังหน่อยซิครับ ผมรุกเร้าให้เธอเล่าที่มาที่ไปถึงการสั่งตอกมัดข้าวมาขายที่คำชะอีแล้วมาจากภาคเหนืออันไกลโพ้น…

เมื่อปีก่อนๆมีพ่อค้าเอาตอกมาเร่ขาย และมีชาวบ้านซื้อจริงๆ จึงเห็นลู่ทางว่าหากเราสั่งซื้อมาขายชาวบ้านน่าจะดี จึงคุยรายละเอียดกับพ่อค้านั้นจึงรู้ว่ามาจากลำปาง อ.นาเหนือ จึงตัดสินใจพาพ่อบ้านไปดูหมู่บ้านนี้ที่นาเหนือ ลำปางให้เห็นกับตาเลย และตกลงกันว่าจะสั่งซื้อและเป็นผู้ขายเองในคำชะอีและพื้นที่แถบนี้

เธอกล่าวว่ามีชาวบ้านมาซื้อไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่มาก คิดว่าจะเป็นปลายเดือนนี้และเดือนหน้าซึ่งเป็นฤดูเก็บเกี่ยว ชาวนาที่ไม่มีเวลาทำตอกเองก็จะมาซื้อ

ทำไมชาวบ้านต้องมาซื้อ ทำไมไม่ทำเอง ผมถามเธอ .. ก็แล้วแต่ หลายเหตุผล คือ ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานอื่นๆด้วย เพราะไม้ไผ่หายากมากขึ้นแล้ว และบางครอบครัวแรงงานก็ไม่มีต้องจ้างเขาทำ จึงมีชาวบ้านต้องซื้อตอกมัดข้าวกันมากขึ้น..เธออธิบาย (ต่อตอน 2)


ว่าวลุงภี…(2)

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 14, 2008 เวลา 22:51 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 6494

ลุงภีวัย 61 ปี ยังแข็งแรง สูบบุหรี่บ้าง กินเหล้าบ้างนิดหน่อย ซื้อหวยบ้างนานๆครั้ง ลุงไม่ชอบอยู่บ้าน ชอบที่จะมาตระเวนขายว่าวไปทั่วทุกแห่ง ผมมันชอบอย่างนั้น หนุ่มๆผมเป็นคนเที่ยว ไปทั่ว ประเทศลาวผมก็ไปทำงานเป็นคนงานตัดไม้มาแล้ว ชอบท่องเที่ยวไป เมื่อผมมาขายว่าว ก็นอนไปตามปั้มน้ำมัน ศาลาวัด โคนต้นไม้ ไม่เคยเช่าโรงแรมนอน เคยมีลูกค้าที่คุยกันถูกคอเชิญให้ไปนอนบ้านก็มี..

ว่าวตัวใหญ่รูปแบบแปลกตานั้น ลุงภีเอาแบบมาจากฝรั่งที่พัทยา ไปขอซื้อเขามาสองตัว 900 บาท เอามาถอดแบบแล้วทำขึ้นเองใหม่ ลองชักดู ตกแต่งไปเรื่อยๆจนใช้ได้ดีก็เอามาขาย ในหมู่บ้านโนนเมืองผมเป็นคนแรกที่ทำว่าวทรงนี้

ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้หญิง และชอบขนาดเล็กๆ ผมจะขายไม่แพงแล้วแถมเชือกให้ด้วย ยาวประมาณ 15 เมตร ผมไปซื้อกระป๋องกาแฟสำเร็จรูปมาจากร้านรับซื้อเศษขยะในราคากิโลกรัมละ 5-6 บาท เอาด้ายมาพันให้ลูกค้า พ่อค้าบางคนเขาไม่แถมแต่ขาย 10 บาท แต่ผมแถมให้ฟรี…


เมื่อสามสี่ปีก่อนรายการคุณไตรภพเคยมาถ่ายทำสารคดีการทำว่าวของลุงภีที่บ้านโนนเมือง ต.โนนข่า อ.พล จ.ขอนแก่น… จนชาวบ้านแซวเอาว่าผมเป็นดาราไปแล้ว..

การทำว่าวขายเป็นอาชีพรอง เป็นอาชีพเบา สุจริต สิบกว่าปีที่ยึดอาชีพรองนี้มามีรายได้ดีมาก จึงเป็นความสุขของลุงภีที่ได้ทำขาย เร่ร่อนไปทั่วสารทิศ ได้เงินมาก็ให้ยายที่บ้านเก็บ ก็ลูกๆนั่นแหละเป็นคนใช้เงิน แต่ก็เป็นความสุขของลุงภี… ปัจจุบันเพื่อนบ้านยึดอาชีพนี้ตามอย่างกันทั่วหน้า…


เมื่อ หลายปีก่อนทางราชการพยายามมาสนับสนุนให้ตั้งกลุ่มผลิตว่าว OTOP เอาเงินทองมาลงทุนให้เป็นแสนๆ ทำไปได้ปีหนึ่งกลุ่มก็ล้มไม่เป็นท่า เพราะต่างไม่ไว้ใจกัน ฝ่ายผลิตก็ผลิตไป ฝ่ายขายก็เอาสินค้าไปขาย แต่เงินที่ได้มา ฝ่ายผลิตไม่เชื่อใจว่าครบตามที่ได้ขายจริงหรือไม่ เมื่อไม่ไว้ใจกันก็เลิกระบบกลุ่ม เอาไผเอามันซะ ลุงภีกล่าว เมื่อต่างคน ต่างทำ ต่างขาย ต่างจัดการกันเอง ก็ไม่มีเรื่องราวอะไร

เงินแสนที่ได้มาจากการขายว่าวแต่ละปีนั้นเป็นกำไรสุทธิ แม้จะลงทุนค่อนข้างสูง ประมาณ 5-6 หมื่นบาทต่อปี แม้บางปีขายไม่ได้ เช่นปีที่แล้วมา ลุงภีให้เหตุผลว่าเพราะคนไทยไว้ทุกข์สมเด็จพระพี่นาง จึงขายว่าวได้ไม่หมด แต่ก็กำไรเป็นแสนเช่นกัน หากขายหมดก็จะกำไรมากกว่าสองแสน…ลุงภีกล่าว

ใครจะไปรู้ว่า ว่าวริมถนน นั้น มูลค่าตลอดปีได้กลายมาเป็นบ้านให้ลูกๆลุงได้อยู่อาศัยกัน กลายเป็นรถปิคอัพที่ใช้วิ่งทำมาหากินกันทุกวันนี้ และเป็นทุนที่ยายสะสมไว้ยามหมดแรง

เมื่อถึงฤดูทำนาลุงภีก็พาลูกๆทำนา (รวมทั้งลูกเขย) เมื่อว่างเว้นทำนาก็ทำว่าวเก็บสะสมไว้ตลอดปี แล้วเอาออกมาขายในช่วงออกพรรษานี้ อาชีพทำว่าวได้ขยายตัวไปทั่วทั้งหมู่บ้าน และขยายไปถึงบางหมู่บ้านอื่นๆ เช่น ที่ อ.บ้านไผ่ แล้ว

ลุงภีกล่าวว่าใครอยากเรียนรู้ก็ไม่หวงความรู้ มาเรียนได้ เพราะไม่ได้ยากเย็นอะไร เคล็ดลับมีบ้างนิดหน่อย …..


ก่อนจาก..ลุงภีกล่าวกับผมว่า… ผมขายในราคาถูกกว่าเพื่อนบ้านคนอื่น 5-20 บาท หรือบางทียังให้ฟรีๆมาแล้วก็มาก เงินเป็นของหายาก พ่อแม่บางคนไม่มีเงินซื้อจริงๆ แต่ลูกๆอยากได้ ว่าวเป็นของเล่นของเด็กที่ไม่ได้สร้างความเสียหายใดๆ ตรงข้ามเด็กสนุก และช่วยให้เด็กบางคนคิดเลยไปว่า มันบินได้อย่างไร บางคนก็เอาไปฝึกทำเองก็มี ผมให้ฟรีครับ หากเด็กไม่มีเงินซื้อและอยากได้จริงๆ…..

ชายผู้มีอายุ 61 ปีคนนี้ จากบ้าน จากเรือน จากครอบครัวมาอาศัยริมถนน ขายฝีมือล้วนๆจากครอบครัวของเขาเอง… สุจริต และมีใจโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อแก่ผู้ขาดแคลน ลุงภีคือชาวบ้านธรรมดาที่น่าสนใจคนหนึ่ง….ท่ามกลางยุคสมัยนี้…



Main: 0.13765287399292 sec
Sidebar: 0.11426210403442 sec