น้ำตาพ่อแสน

อ่าน: 1885

ท่านที่ติดตามบันทึกผมสมัยชื่อ “ลานดงหลวง” และ “ลานเก็บเรื่องมาเล่า” คงผ่านตาเรื่องของพ่อแสน แห่งดงหลวงมาบ้าง ขอทบทวนสั้นๆว่า พ่อแสนคือชาวบ้านชนเผ่ากะโซ่อยู่ที่บ้านเลื่อนเจริญ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร อยู่ในพื้นที่โครงการพัฒนาฯที่ผมรับผิดชอบจึงรู้จักพ่อแสนดี ในฐานะที่เป็นผู้นำกิจกรรมเรื่องการสร้างป่าครอบครัวจากพื้นที่โล่งเตียนเพราะถางป่าเดิมเอามาปลูกมันสำปะหลังตามกระแสยุคสมัยที่ใครๆก็หาที่ดินปลูกกัน

จากการเข้าไปคลุกคลีพ่อแสน พบว่า พ่อแสนไม่ใช่ธรรมดา เพราะเป็นนักธรรมชาติวิทยาที่เรียนรู้ธรรมชาติแล้วดัดแปลงธรรมชาติให้มาอยู่ในพื้นที่สวนป่าของตัวเอง ไม่ว่าการเอาพืชป่ามาปลูก เอาเห็ดป่ามาเพาะ เลี้ยงสัตว์ป่าที่เป็นอาหารขึ้นในสวนป่า สร้างรังให้สัตว์ป่ามาอยู่อาศัย ต่างพึ่งพากัน เช่น สร้างบ้านให้ค้างคาว หอยแก๊ด แมงโยงโย่
และ…….

แม้ว่าโครงการ คฟป.ที่ผมมีส่วนรับผิดชอบจะสิ้นสุดไปแล้ว แต่ สปก. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปสรุปบทเรียนและจัดทำสื่อ อาจเรียกว่าทำเป็นครั้งที่สองครั้งที่สามแล้ว หนึ่งในนั้นคือกรณีศึกษาพ่อแสน

ผมไม่ได้มีส่วนในเรื่องนี้ แต่คนข้างกายเป็นผู้รับผิดชอบ เธอมีทีมงานด้านนี้ออกไปทำการสัมภาษณ์และถ่ายทำวีดีโอ

เย็นวันนั้นคนข้างกายต้องเดินทางไปประชุมกทม. ผมก็ไปส่งที่สนามบินขอนแก่น เมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน เสียงโทรศัพท์เธอตามมาว่า ทีมงานที่ไปสัมภาษณ์พ่อแสนรายงานมาว่า ขณะที่ทำการสัมภาษณ์พ่อแสนนั้น พ่อแสนร่ำไห้ จนทีมงานตกใจ แต่ก็ปล่อยให้พ่อแสนปลดปล่อยความรู้สึกสุดๆนั้นออกมา

หลังจากนั้นผมมีโอกาสสอบถามน้องๆว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อแสน…..

เป็นการตั้งคำถามปกติธรรมดาถึงที่มาที่ไปของการมาทำสวนป่าครอบครัวที่นี่…พ่อแสนเล่าเรื่องย้อนหลังไปสมัยหนุ่มๆที่มาถางป่ากับมือเพื่อเอาที่ดินปลูกพืชเศรษฐกิจ คือมันสำปะหลัง เหมือนเพื่อนบ้านทั่วไปที่ทำกันมา แต่แล้วมันมีแต่จนกับจน ป่าก็หมดไป ต้นไม้ที่เคยมีมากมายก็หมดสิ้น มันสำปะหลังที่ปลูกก็ไม่เห็นจะมีเงินทองมากขึ้น แถมมีหนี้สินอีก…

กว่าจะมาเปลี่ยนใจปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ บนพื้นที่ดินที่เตียนโล่งก็เกือบจะหมดแรงแล้ว…

ผมนึกถึงลุงฉ่ำที่นครสวรรค์ที่ผมเคยทำงานที่นั่น ลุงฉ่ำเป็นคนถางป่ามาก่อน ลุงบอกว่า ตีนเหยียบไม่ถึงดิน เพราะตัดไม้ใหญ่น้อยลงมาจนหมดสิ้นเพื่อเอาที่ดินปลูกข้าวโพด แต่แล้วลุงฉ่ำกลับลำมาเป็นผู้นำปลูกป่า รักษาป่า ที่เข้มแข็งคนหนึ่งในเขตแม่วงก์นั้น

สำนึกสูงส่งที่เฆี่ยนหัวใจให้เปลี่ยนความคิดจากการทำลายมาเป็นการสร้าง การรื้อฟื้นป่า มันมีทั้งปิติ และความรู้สึกแห่งการกลับใจใหม่ ที่สังคมมารองรับความถูกต้องแนวทางนี้

น้ำตาของพ่อแสนนั้นมีคุณค่าเหลือเกิน..ในสำนึกที่เราสัมผัสได้ ว่าข้างในของพ่อแสนนั้นคิดอะไรอยู่ มันเป็นสำนึกที่สูงส่ง..ที่งานพัฒนา งานสร้างคนพยายามสร้างสิ่งนี้ขึ้นมาให้กับพี่น้องในชนบท….

ซึ่งเป็นงานที่ยากยิ่งนัก…


ใบไม้ป่าแต่เรียกผัก..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ เมษายน 1, 2010 เวลา 1:20 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 7327

หากไม่บอกหลายท่านก็คงไม่รู้จักว่านี่มันลูกอะไร จริงๆมันเป็นลูกผักหวานป่าครับ ผมไปถ่ายมาเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 53 ที่ผ่านมาที่สวนของหมอธีระ ที่เรียกหมอเพราะสมัยอยู่ป่านั้นถูกอบรม ฝึกให้เป็นหมอรักษาทหารป่า มีหมอคนไทยอยู่ด้วยหนึ่งในนั้นก็คือหมอเหวง ที่กลายเป็นศัพท์ เหวงในปัจจุบันนี่แหละ


หมอธีระเพิ่งจะสูญเสียสุดที่รักไปเพราะมะเร็งที่เต้านม จึงเรียกลูกสาวกลับจากรุงเทพฯมาอยู่ด้วยกัน หมอธีระเอาความรู้ฝังเข็มและอื่นๆมาศึกษาและทดลองกับต้นผักหวานป่า โดยทดลองมากมาย และก็พบความจริงทางธรรมชาติของผักหวานป่าจนเป็นเซียนคนหนึ่งในดงหลวง น้อยคนที่จะเห็นผล หรือลูกผักหวานป่าเช่นนี้ เพราะ มันอยู่ในป่าน่ะซี ผลขนาดนี้ก็เอามาต้มกินได้ เขาว่าอร่อยซะไม่เมี๊ยะ ผมไม่เคยลองและไม่อยากลองเพราะเสียดายมัน


หมอธีระมีเคล็ดลับในการดูแลผักหวานป่า โดยใครที่ไม่ใช่คนรักชอบพอก็จะไม่บอก และไม่มีไทโซ่คนไหนที่ดูแลต้นผักหวานป่าจนได้ลูกดกและมากมายขนาดนี้ ปีที่แล้วก็มีคนมาขอซื้อไปเพาะได้ราคาดี ใครที่ไม่เคยกินผัดผักหวานป่าลองไปถามตามร้านดูนะครับว่ามีผักหวานป่าไหม …หากกินแล้วจะติดใจเหมือนผม อาว์เปลี่ยนบอกว่าที่เชียงใหม่เอามาทำใบชาราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท นี่หลายปีมาแล้วนะปัจจุบันน่าจะแพงขึ้นไปอีก


เทคนิคอย่างหนึ่งของการปลูกผักหวานป่าคือต้องอิงอาศัยไม้ใหญ่ และควรอยู่ทางตะวันออกของต้นไม้ใหญ่เพราะแดดตอนเช้าแสงแดดไม่ร้อนมากเท่าตอนบ่าย


ซ้ายมือนั่นคือยอดผักหวานป่าที่ถ่ายมาจากตลาดในปากเซ คราวไปเที่ยวลาวใต้ ส่วนภาพขวามือคือผักหวานป่าที่พบคราวไปดูน้ำตกตาดเฮืองส่วนใต้ของเมืองจำปาสัก


คราวนั้นผมพบแม่ค้าเอาถุงสีส้มซึ่งบรรจุผักหวานป่าจากดอนกลางแม่น้ำโขงไปขายในเมืองปากเซ ราคากิโลกรัมละ 100 บาท หากเป็นบ้านเรารึ จะซื้อกินให้พุงกางไปเลย ก็บ้านเรานั้น 200 บาทขึ้นไปทั้งนั้น

ผมเรียกผักหวานป่าว่าเป็นพืชป่าเศรษฐกิจที่มีราคาค่างวดมาก ปีปีหนึ่งทำเงินเข้าครอบครัวเป็นหมื่นบาท เข้าชุมชนหลายแสนบาท แต่มากกว่าร้อยละ 90 เป็นของป่า เพราะการปลูกแม้จะเริ่มนิยมกันมากขึ้นแต่ พ่อครูบาบอกว่าเป็นพืชปราบเซียนจริงๆ เป็นยาก เติบโตยาก ส่วนมากตายหมด


เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 53 ที่ผ่านมาท่านรองเลขาธิการ ส.ป.ก. ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ไปเปิดงานผมพาเดินชมแล้วพบพ่อแสน วงศ์กะโซ่ ซึ่งเป็นเซียนผักหวานท่านหนึ่ง ชี้ให้ดูว่าต้นนี้หากใครซื้อผมขาย 1,000 บาท ไม่มีใครกล้า มีคนวนเวียนดูหลายคนแต่ไม่กล้าซื้อเพราะราคามันแพงไป พ่อแสนกล่าวทีหลังว่าผมไม่ตั้งใจขายหรอก แค่เอามาให้ดูเท่านั้น เพราะผมเองก็อยากขยายมันเยอะๆมากกว่าที่จะขายมันไป จึงตั้งราคาสูงๆไว้

ไม่แน่ใจว่าช่วง 23-24 เมษายนที่จะไปสวนป่าผักหวานดงหลวงจะเหลือเท่าไหร่ หากไม่พลาดก็จะหอบไปให้คนที่มาสวนป่าชิมกันสักถุงใหญ่ๆครับ…โดยเฉพาะน้องสาวที่มาจากทางเหนือลองมาชิมผักหวานดงหลวงบ้างนะ….


เรียนรู้จากการปฏิบัติ

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 16, 2010 เวลา 21:02 ในหมวดหมู่ ชนบท, ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2923

ยังอยู่ที่พ่อแสนครับ คราวนี้พ่อแสนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติ จากการทดลอง แต่ละบทเรียนนั้นมาจากการปฏิบัติเอง ผ่านกาลเวลา แล้วก็ได้ข้อสรุป เก็บเอาไปสอนลูกหลานและผู้ผ่านเข้ามา


หลายปีก่อนผมบันทึกใน G2K ว่า พ่อแสนไล่ตีค้างคาว ภาษาถิ่นเรียก “เจี่ย” บนขื่อบ้านเพราะมันถ่ายและฉี่รดหลังคามุ้ง ที่พ่อแสนนอนในตูบน้อยๆในสวนป่า แต่ตีเท่าไหร่ก็ไม่ถูก อิอิ ไม่รู้จะทำอย่างไรกับมันดี เลยอยู่กับมันซะเลย แต่ป้องกันโดยเอาพลาสติกมาคลุมหลังคามุ้งซะ….

แต่แล้ว..หลายวันต่อมาพ่อแสนมาดูพลาสติกนั้นพบสิ่งที่จุดประกายบางอย่างเกิดขึ้นกับพ่อแสน คือ เห็นมูลค้างคาวจำนวนไม่น้อย อ้าว…มูลค้างคาวมันคือปุ๋ยชั้นดีไม่ใช่หรือ…. และอะไรนั่น สิ่งที่ผสมอยู่ที่มูลค้างคาวคือ ปีกผีเสื้อกลางคืนหลายตัว….

เท่านั้นเองพ่อแสนเปลี่ยนใจที่จะไล่เจี่ย เป็นมีใจรักมัน เชื้อเชิญมัน เพราะปีกผีเสื้อนั้นคือผีเสื้อกลางคืนที่เป็นศัตรูพืชของพ่อแสน และมูลเขาก็คือปุ๋ยชั้นเลิศ พ่อแสน แวบความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเช่นนั้นเราอยากให้มันมาอยู่อาศัยมากๆ เราก็จะได้ผู้ที่มาช่วยจัดการผีเสื้อกลางคืน และได้ปุ๋ยสุดเลิศ เราจะทำอย่างไรดีล่ะ

พ่อแสนจึงตัดไม้ไผ่กระบอกใหญ่ๆ เอาข้อปล้องไว้ แล้วเอาไปแขวนคว่ำลง วัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นบ้านของเจี่ย และทดลองเอากระป๋องพลาสติกสีดำแขวนแบบคว่ำไว้ด้วย เวลาผ่านไปเป็นปี..ไม่มีเจี่ยเข้าไปพักอาศัยในบ้านจัดสรรที่พ่อแสนสร้างไว้ให้เลย อิอิ.. แต่แปลก มันบินไปนอนหลังคาบ้านลูกสาวในตัวอำเภอ แต่บ้านจัดสรรในสวนป่านี้เจี่ยไม่เลือกที่จะเข้าไปอาศัย…


อาว์เปลี่ยนเคยเล่าไว้บ้างว่า พ่อแสนมีความคิดพิสดารเรื่องคอกหมู ใครๆเขาเลี้ยงหมูหลุม ใครๆเขาเอาขี้หมูไปทำปุ๋ยหมักชีวภาพ เอาไปหมักแก๊ส แต่พ่อแสนเลี้ยงหมูในคอกเคลื่อนที่ได้ ความคิดพ่อแสนมาจากการสังเกตว่าหมูหากปล่อยมันไปอิสระ มันก็เข้าไปตามดงหญ้าเพื่อหาอาหารแล้วมันก็เหยียบย่ำหญ้าราบเรียบไปหมด สวนป่าพ่อแสนก็พบว่ามีหญ้าธรรมชาติรกเต็มไปหมด จะไปดายหญ้าก็ไม่ไหว เลยเอาหมูใส่ในคอกที่เคลื่อนที่ได้ ใช้ให้ธรรมชาติของหมูจัดการหญ้าซะราบเรียบ แล้วก็ขยับคอกไปเรื่อยๆ ตามที่ที่มีหญ้ามากๆ…สุดยอดพ่อแสน คิดได้ไง ไม่เคยมีความคิดแบบนี้ออกมาจากนักวิชาการเลย

ปีต่อมาพ่อแสนสั่นหัวแล้วพูดว่า .. ไม่เอาแล้ว ไม่เลี้ยงหมูแล้ว อ้าว…. พ่อแสนอธิบายว่า สวนป่านี้ผมเลี้ยงสัตว์หลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือ “หอยหอม” หรือ “หอยแก๊ด” มันอาศัยหญ้าที่รกนั่นแหละเป็นที่อยู่อาศัยและหากิน หมูของผมไปกินหอยซะหมดเลย…อิอิ นี่เองพ่อแสนเลือกหอย ไม่เลือกหมู..อิอิ


ตูบน้อยของพ่อแสนนั้นที่เสาทุกต้นจะมีสังกะสีพันรอบ เด็กหนุ่มจบวิศวะมาจากมหาวิทยาลัยชื่อดังถามว่า พ่อแสนเอาสังกะสีมาพันทำไม.. กันหนูขึ้นไปข้างบน กันได้ดีมาก แต่กันจิ้งจกตุ๊กแกไม่ได้…


บทเรียนจาก เจี่ย บทเรียนจากหมูในคอกเคลื่อนที่ บทเรียนจากสังกะสีพันเสา…และ..ฯ มาจากการกระทำกับมือของพ่อแสนทั้งนั้น

หากเอาเด็กน้อย เยาวชนรุ่นใหม่มาเดินให้พ่อแสนเล่านวัตกรรมเหล่านี้ ก็เป็นการต่อยอดความรู้กันเป็นอย่างดี ซึ่งเราทำมาบ้างแล้ว และจะทำต่อไปอีก


บทเรียนจากการปฏิบัติของช่วงชีวิตของพ่อแสนนี้ เด็กรุ่นลูกหลานควรมาซึมซับเอาไปด้วย

อิอิ งานน่ะมีเหลือล้นครับท่าน..แต่หลายคนมองไม่เห็น…


บันทึกของพ่อแสน

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 15, 2010 เวลา 20:20 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 7651

คนไทยเรามักจะมีจุดอ่อนในเรื่องการบันทึกเรื่องราวต่างๆ ยิ่งเป็นชาวบ้านด้วยแล้วเป็นที่ถอนหายใจของคนแนะนำทั่วไป ยกตัวอย่างการที่หน่วยราชการแนะนำให้ชาวบ้านจดบันทึกรายรับรายจ่ายทุกวัน ที่เรียกว่าบัญชีครัวเรือน พบว่าล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะว่าชาวบ้านไม่ใช่คนที่มีความถนัดในเรื่องบันทึก แม้พวกเรียนหนังสือก็มีน้อยรายที่เป็นคนที่ทำบันทึกอย่างสม่ำเสมอ


เรื่องการบันทึกอุณหภูมิของพ่อแสนนั้น จริงๆผมเป็นคนแนะนำให้พ่อแสนทำการบันทึก เพราะผมเองก็ไม่ได้คิดมาก่อน แต่ที่หมู่บ้านตีนเขาใหญ่ ริมน้ำลำตะคอง ตอนที่ผมและคนข้างกายสำรวจลำตะคองจากต้นสายไปปลายสายหลายปีก่อน พบคุณลุงท่านหนึ่ง จดบันทึกละเอียดยิบถึงอุณหภูมิเอง และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆ ตลอดปี ตลอดหลายปี และยังเก็บบันทึกปริมาณน้ำฝนแบบง่ายๆอีกด้วย โดยเอากระป๋องนมมาติดบนยอดเสา หากฝนตกก็เอาไปตวงเอาว่าปริมาณเท่าไหร่ ทำแบบง่ายๆ พบว่าหลายปีต่อมาลุงสามารถคาดการณ์ได้ว่า อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง หากอุณหภูมิเป็นอย่างนี้ อย่างนั้น….สุดยอดจริงๆ

ต่อมาผมทราบว่า ข้าว กข. 6 ที่คำชะอีเกิดโรคระบาด ขณะที่อีกหมู่บ้านในอำเภอเดียวกันไม่มีโรคระบาดเลย นักเกษตรเข้าไปศึกษาพบว่า บ้านที่โรคระบาดนั้นเป็นเพราะความชื้นสัมพัทธ์แตกต่างจากบ้านอื่นเพราะหมู่บ้านนั้นตั้งในหุบเขา…?? นักเกษตรจึงแนะนำให้เปลี่ยนพันธุ์ข้าว ก็ได้ผลไม่มีโรคนั้นระบาดอีก เพราะพันธุ์พืช สถานที่ และความชื้นสัมพัทธ์ แน่นอนหมายถึงอย่างอื่นด้วย เช่นความแปรปรวนของอุณหภูมิ ช่วงเวลาที่ปลูกพืช ฯลฯ


พ่อแสนก็เล่าให้ฟังว่า คนอีสานรู้กันโดยทั่วไปว่า เมื่อฤดูร้อนมาเต็มที่ และเกิดฝนตกแต่อากาศร้อนระอุ นั่นเห็ดป่าจะออก ชาวบ้านต่างมุ่งหน้าขึ้นป่าไปหาเห็ด โดยที่ไม่รู้ว่าความชื้นสัมพัทธ์เท่าไหร่ แต่สัญชาติญาณ และประสบการณ์เป็นผู้บอก

ผมจึงซื้อเทอร์โมมิเตอร์แบบง่ายๆที่มีตุ้มแห้งและตุ้มเปียกให้พ่อแสนไปติดตั้งที่สวนและจดบันทึกทุกวัน เช้า เที่ยง เย็น พร้อมทั้งปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในวันนั้นๆหากมี

พ่อแสนทำได้ดีมาก ไม่คิดว่าเกษตรกรจะมีความพยายามทำได้ขนาดนี้ เราทำแบบฟอร์มไปให้ พ่อแสนจดลงแบบฟอร์มพักใหญ่ก็ทำแบบฟอร์มตัวเองดีกว่า แล้วก็มีเล่มสรุปเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นแยกต่างหากอีกด้วย โดยให้ลูกๆช่วยกันเขียน ลอกจากเล่มต้นฉบับ

อะไรจะขนาดนั้นพ่อแสน..สุดยอดชาวบ้าน



ถังสี่ใบในรูปนั้น คือตู้เก็บเอกสารของพ่อแสน ชาวบ้านที่เอาเถียงนาเป็น Office จะมีที่ไหนเก็บเอกสารได้ วางที่โน่นที่นี่เดี๋ยวปลวกก็กินเอา เดี๋ยวลมฝนมาก็ปลิวหาย ว่าแล้วก็ลงทุนซื้อถังใบใหญ่น้อยมาใส่เอกสารเก็บมิดชิดกันฝนกันปลวก เป็นสัดส่วน แยกประเภท แยกลุ่ม แยกเรื่อง แยกโครงการ คิดได้ไงพ่อแสน…



รูปซ้ายมือข้างล่าง นึกถึงสวนป่าพ่อครูบาฯ ที่เราไปอาศัยร่มไม้นั่งคุยกันแบบง่ายๆ กันเอง ไม่มีพิธีรีตองอะไร ใกล้ชิดธรรมชาติ กาต้มน้ำนั้นคือสมุนไพร จิบไปคุยกันไป จะนั่งท่าไหนก็ตามสะดวก เป็น Small Group Dialogue ที่วิเศษ ถึงแก่น ถึงใจ สาระหลุดออกมาเต็มๆ ไม่มีกำแพงใดๆขวางกั้น



รูปขวามือนั่น พ่อแสนนำชมกล้า “เร่ว” หรือ “หมากเหน่ง” ที่เอามาจากป่ามาเพาะกล้าไว้ ใครซื้อก็ขาย ไม่ซื้อก็เอาไปปลูกในสวน เร่ว นี่ผมเขียนมาหลายครั้งแล้วว่าเป็นพืชป่าตระกูลข่า ผลเร่วมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ เป็น “ส่วย” หรือ “เครื่องบรรณาการ” ที่โบราณหัวเมืองต้องเอาส่งรัฐบาลกรุงเทพฯ 80 หาบต่อปี ดงหลวงคือดงของ เร่วป่า

นอกจากนี้ยังมีเร่วหอม หอมทั้งใบ ต้น ราก หอมจริงๆ เคยเอาให้ป้าจุ๋มไปปลูก ขยายโดย “ไหล” หรือเหง้าของเขา ดูเหมือน สปาในกรุงเทพฯจะซื้อไปใช้เป็นเครื่องหอมอบห้องด้วย ใครอยากได้ ไปดงหลวงครับ…


พ่อแสนซาดิส..อิอิ..

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กุมภาพันธ 14, 2010 เวลา 23:10 ในหมวดหมู่ ชนบท, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 4804

เมื่อพูดถึงพ่อแสน วงศ์กะโซ่ จุดเด่นคือ เรียนรู้ธรรมชาติอย่างลึกซึ้งแล้วดัดแปลงธรรมชาติมาใช้เพื่อสร้างฐานอาหารของตัวเอง และครอบครัว


พ่อแสนเฝ้าเรียนรู้สรรพสิ่ง ต้นไม้ สัตว์ แม้แต่ตัวเอง พ่อแสนจึงมีนวัตกรรมใหม่เสมอ

ผักหวานป่านั้นเป็นพืชซาดิส ใช้มือเด็ดแบบเต็มๆ ไม่ต้องใช้กรรไกรเก็บยอดแบบกลัวช้ำ ไม่ได้..เหมือนกับความรุนแรงหรืออันตรายต่างๆกับต้นผักหวานนั้นไปกระตุ้นให้เขาแตกใบอ่อนมาใหม่

นักป่าไม้เคยพูดเสนอว่า ไฟป่าเกิดขึ้นเพราะชาวบ้านจุดไฟเพื่อกินผักหวาน ความหมายคือ จุดไฟป่าให้ไฟไปลวกต้นผักหวานช่วงเข้าสู่ฤดูแล้ง แล้วต้นผักหวานจะรีบแตกใบอ่อน ชาวบ้านบางส่วนก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่มีมารยาทขึ้นหน่อยคือใช้คบไฟจุดขึ้นแล้วไปลนตามต้นผักหวาน แล้วทิ้งไว้ ไม่กี่วันก็จะแตกใบอ่อน



คราวนี้พ่อแสนใช้วิธีฟันกลางต้นผักหวานเลย ดังรูป ฟันแบบไม่ให้ขาดแล้วโน้มกิ่งลงมานอนเฉียงๆ เอาไม้ค้ำยันไว้ เท่านั้นเอง ต้นผักหวานก็จะแตกกิ่งอ่อนในแนวตั้งขึ้นหนีศูนย์กลางแรงดึงดูดโลก.. กิ่งอ่อนเกิดใหม่จำนวนมากทีเดียว


นี่เป็นนวัตกรรมใหม่ของพ่อแสน ความจริงที่ทุกคนนิยมปลูกผักหวานจะประสบสถานการณ์เดียวกันคือ ต้นผักหวานจะสูงขึ้น และยากลำบากในการเก็บใบอ่อนที่แตกใหม่ ชาวบ้านหลายคนใช้วิธีทำร้านเป็นชั้นๆ เพื่อใช้ปีนขึ้นไปเก็บใบอ่อน หากเป็นผู้หญิงก็ลำบากที่จะปีนป่ายขึ้นไป


ปัญหานี้พ่อแสนเผชิญมานานแล้ว และพยายามแก้โดยใช้วิธี โน้มกิ่งอ่อนลงมาแล้วเอาเชือกมัด ตรึงให้กิ่งโน้มต่ำลงมาให้ง่ายต่อการเก็บยอดอ่อน ก็ได้ผลระดับหนึ่ง

และพ่อแสนก็ทดลองวิธีอื่นๆต่อไปอีก นั้นก็คือการตัดต้นดังกล่าวข้างบน


เราโชคดีที่ช่วงนี้ผักหวานเริ่มแตกใบอ่อนพอดี เราได้เห็นความสำเร็จการทดลองของพ่อแสนแล้ว


อยู่กับธรรมชาติ เรียนรู้ธรรมชาติ เอาความรู้จากธรรมชาติมาใช้ ตอบแทนธรรมชาติ เพื่อการอยู่รอดแบบพึ่งตัวเองอย่างสมดุลกับธรรมชาติ

พอแสนมิใช่จะเรียนรู้ธรรมชาติแล้วจะประสบผลสำเร็จไปทั้งหมด คราวหน้ามาดูกันว่าพ่อแสนล้มเหลวอะไรบ้าง

ผมตั้งชื่อให้หวาดเสียวเล่น อิอิ




Main: 0.066975116729736 sec
Sidebar: 0.033047914505005 sec