สึนามิ..ที่สกลนคร

5 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 18, 2010 เวลา 22:55 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 3913

ในงานสัมมนาใหญ่ของโครงการซึ่งไปจัดที่สกลนคร นั้น มีการจัดนิทรรศการ ออกร้านเล็กๆกัน และที่ขาดไม่ได้คือ ผ้าคราม อ.กุดบากบ้านคำข่าและบ้านอื่นๆ ที่โด่งดังไปถึงญี่ปุ่น


คนข้างกายผมนั้นประเภทคลั่งไคล้ผ้าฝ้ายพื้นบ้าน และย้อมคราม ในตู้เสื้อผ้าล้นออกมาข้างนอก ขนาดผมได้เสื้อฝ้ายย้อมครามมาจากหลวงพระบาง เธอก็ยึดเอาไปซะ อ้าว..เอาเธอมาขายซะแหล่ว อิอิ..


ในงานนี้ชาวบ้าน แม่ แม่ หลายท่านเอาตัวอย่างผ้าฝ้าย ย้อมครามมาเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ท่านรู้ดีว่าสมาชิกสัมมนาครั้งนี้เป็นชาวบ้านเหมือนกัน มีเพียงเจ้าหน้าที่ไม่กี่คน กระนั้นแม่แม่ก็เอาผ้ารุ่นใหม่ตัวอย่างมาให้ดู


แม่บอกว่าเป็นลาย “สึนามิ” คลื่นน้ำนั้น ย้อมด้วยมะเกลือจะได้สีน้ำตาลดำ สีคราม ย้อมด้วยคราม และสีน้ำตาลย้อมด้วยประดู่ ล้วนเป็นการย้อมสีธรรมชาติ และมีมากกว่านี้ ลายก็เล็กใหญ่ต่างกัน


แค่เอามาวางเท่านั้น สาวๆจากกรุงเทพฯก็วิ่งไปคว้าหมดเลย ทั้งกระเป๋า ผ้าสึนามิ แค่ผมไปหยิบเท่านั้น สาวๆจากกรุงเทพฯก็ร้อง พี่บู๊ด อยู่ใกล้ อยู่ในพื้นที่ ปล่อยให้หนูเถอะ แล้วเธอก็คว้าคนละผืนสองผืน เกลี้ยงเลย…

สกลนครนั้นเป็นแหล่งฝ้าย คราม ไม่ใช่ผลิตผ้าฝ้ายย้อมครามและแปรรูปเท่านั้น หลายท่านไม่ทราบว่าผ้าย้อมครามที่เชียงใหม่ แพร่ และอีกหลายจังหวัดนั้น ใช้ครามจากสกลนคร ปีปีหนึ่งเงินหมุนเวียนนับสิบล้านครับ…???!!!!

เพราะสกลนครเป็นแหล่งปลูกต้นคราม และผลิตเนื้อครามก้อน ส่งไปขายดังกล่าว

ชาวบ้านนั้น Creative ที่ลำพูนมี…ซิ่นแดง… ที่สกลมีผ้าฝ้าย “สึนามิ”

แต่จุ๊จุ๊..ผมแอบมี ผ้าลายสึนามิ แต่เป็นไหมเรยองจากจีน ที่มีคุณสมบัตินิ่มๆ เหมาะสำหรับสาวๆ ส่วนผ้าฝ้ายลายสึนามินั้น สั่งทอไว้แล้วครับ.. จะเอาไปให้คนข้างกาย สะสม อิอิ เอาใจเธอหน่อย


ทายาท..

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 18, 2010 เวลา 1:14 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3030

อาหารเช้าของผมส่วนใหญ่ก็คือ กาแฟร้อน และไข่ดาวหนึ่งฟอง หรือขนมปังโฮลวีท สักแผ่นสองแผ่น ก็โอเค…

เช้าวันนี้ก่อนไปสถานที่สัมมนาก็แวะที่ ปั้ม ปตท. เติมน้ำมันแล้วก็ไปหากาแฟร้อนๆมาสักแก้ว แม้จะไม่ชอบเพราะมันหวานเกินไปและขนมปังก็มีแต่แป้ง แต่เราเลือกไม่ได้ก็ต้องรองท้องไป

นั่งดื่มกาแฟหน้าร้าน 7-11 ก็มองดูพนักงานเติมน้ำมันเล่นกับน้องหมา น่ารักระหว่างคนกับสัตว์ ระหว่างนั้นก็มีลุกค้า 7-11 มาตลอดเวลา หิ้วกันคนละถุงสองถุงออกไป

สักพักก็มีสองหนุ่มรุ่นจอดมอเตอร์ไซด์พรืด คนหนึ่งเดินกระตุ้งกระติ้งเข้าร้านไป ผมนึกเหมือน อ.ดร.เสรี วงษ์มณฑากล่าวว่า เมืองไทยน่ะเดินไปสิบก้าวไม่เจอกะเทยก็ไม่ใช่เมืองไทยแล้ว..

แต่เอ..เจ้าอีกคนก็เหมือนกันนี่ เอ..เธอคนสวยจะทำอะไรน่ะ มองแต่กระจกแล้วก็ควักตลับอะไรมาสักอย่าง แล้วก็มองกระจก แล้วก็เอานิ้วแตะๆอะไรที่ตลับนั่น

ผมแอบถ่าย ก็เห็นว่า นั่นมันเป็นการใส่เลนส์ตานี่ เขาเรียกอะไรก็ไม่รู้..เคยได้ยินว่าเขาชอบแต่งดวงตาเป็นสีๆ โธ่เอ้ย…….สวยซะ..

ที่นี่คือโพนทอง สกลนคร มีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เธอคงเป็นเพศที่สามและเป็นนักศึกษาที่ใดที่หนึ่ง…

เฮ่อ มันต่างสุดขั้วกับน้องแต๋ว ทายาทเกษตรจริงๆ…


ทายาทเกษตรกร

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ กรกฏาคม 18, 2010 เวลา 0:13 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2833

ผมไม่คิดว่าเธอจะเสแสร้ง ผมเชื่อว่าเธอเหล่านั้นพูดความจริง

ผมต้องชื่นชมงานของมูลนิธิสถาบันพัฒนาทรัพยากรชุมชน เพื่อนร่วมโครงการที่เป็น NGO รับงานด้านพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และงานที่สำคัญคือ สร้างทายาทเกษตรกรขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง


การสัมมนาของเรามีเกษตรกรในโครงการเข้าร่วมมากกว่า 200 คนมาจาก 4 จังหวัดในโครงการคือ ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร และมุกดาหาร มูลนิธินี้เป็น เพียงหนึ่ง NGO ที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งผ่านเครือข่ายอินแปงที่ลือลั่นในอีสานมานาน

ท่านอาจารย์อนันต์ กาญจนพันธ์ แห่งมช.รายงานมานานแล้วว่า โครงสร้างสังคมชาวนาเปลี่ยนไป และหลายปีก่อนเพื่อนรักที่กำลังจะบวชที่เชียงใหม่ก็โทรมาคุยว่า “เฮ้ย..บู๊ด ชาวนาเชียงใหม่เปลี่ยนไปแล้วว่ะ ไม่มีใครทำนาแล้ว เป็นผู้จัดการนาต่างหาก เพราะจ้างแรงงานต่างชาติ เช่นพม่ามาทำแล้ว…??”

ผมกึ่งไม่เชื่อ แต่ก็ต้องจำนนความจริง เหมือนใครต่อใครกล่าวว่า พ่อแม่สร้างสมประสบการณ์เกษตรมามากมาย ปราชญ์และไม่ปราชญ์ทั้งหลายนั้น ลูกหลานท่านจะสืบต่ออาชีพเกษตรกรสักกี่ราย ไม่ใช่ความผิด ไม่ใช่ตำหนิท่านเหล่านั้น แต่สังคมเราเคลื่อนไปทางนั้น ไม่ว่าใครก็หันหน้าไปทางนั้น หันหลังให้ภาคเกษตร ระบบสังคมไม่ได้ใส่ใจจริงจังมากกว่า

แต่วันนี้ NGO นี้ได้สร้างทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ขึ้นมาจากการโน้มนำลูกหลานผู้นำเกษตรกรที่ร่วมงานมาพูดคุย มาศึกษา อบรม ศึกษาดูงาน ทำกิจกรรม และลงมือรับผิดชอบงานร่วมกับพ่อแม่

หญิงสามชายหนึ่งบนเวทีในรูปนั่นคือตัวแทนกลุ่มลูกหลานชาวนาของจังหวัดสกลนคร ขอนแก่น มหาสารคามและมุกดาหารที่ล้วนจบปริญญาตรีจากสถาบันต่างๆไม่ไปทำงานที่อื่น กลับมาบ้านเอาศักยภาพมาปรับการเรียนรู้การเกษตรและหลักการการพึ่งตัวเองในท้องถิ่นที่เขาเหล่านั้นอาศัยอยู่


น้องแต๋ว เธอคือลูกสาวของพ่อหวัง วงษ์กระโซ่แห่งเครือข่ายไทบรูดงหลวงเธอกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่า ….”หนูไม่ลืมกำพืดของเกษตรกร” หนูเรียนรู้การเพาะกล้าไม้ ทำเรือนเพาะชำ ทำของใช้ในครัวเรือน เลี้ยงสัตว์ ทำเกษตรผสมผสาน แปรรูปน้ำผลไม้ และอื่นๆ…. แรกๆหนูก็ไม่สนุก แต่หนูได้คุยกับเพื่อนๆที่มาจากต่างจังหวัดต่างก็เป็นลูกชาวนาเหมือนหนู.. แล้วหนูก็สำนึกได้ว่า นี่คือกำพืดหนู..สิ่งที่หนูทำไปตามที่พี่พี่เขาแนะนำนั้น มันทำให้หนูตระหนักถึงชีวิตที่ควรดำรง…

เล่นเอาผู้ใหญ่ พ่อ พ่อ แม่ แม่ ทั้งหลายน้ำตาคลอไปเลยจากคำสารภาพหลังจากที่เธอกล่าวเสร็จแล้วพิธีกรเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แสดงความคิดเห็น พ่อท่านหนึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า ผมซาบซึ้งใจที่ลูกหลานเหล่านี้ได้สำนึกและก้าวเดินตามรอยพ่อแม่ ซึ่งเชื่อว่าเธอจะก้าวไปดีกว่า เพราะเธอเหล่านี้ผ่านระบบโรงเรียนมาสูงกว่าพ่อแม่ และหันกลับมาบ้านเรา ทุ่งนาของเรา วัวควายของเรา ต้นไม้ของเรา ในฐานะที่เป็นพ่อคน ตื้นตันใจที่ลูกๆหลานได้สำนึกในกำพืดของเรา.. เล่นเอาที่ประชุมซึมไปเลย…

น้องแต๋ว เธอเป็นลูกพ่อหวัง วงษ์กระโซ่(ที่เพิ่งออกรายการคุยกับแพะ) แม่ของเธอ สนิทสนมกับเรามาตลอดเราเห็นเธอเป็นเช่นนั้นจริงๆ แม้ว่าจะเป็นวัยรุ่น ที่มีกลิ่นอายของวัยรุ่นติดอยู่ แต่สำนึกของเธอนั้น ก้าวข้ามสังคมทุนไปแล้ว

เหลือแต่หน่ออ่อนเหล่านี้ต้องคอยรดน้ำพรวนดินให้เติบโตเข้มแข็ง ต่อสู้กับปัญหาข้างหน้าอีกมากมาย หากผ่านไปได้เธอก็คือของจริงที่จะยืนอยู่เคียงข้างพ่อแม่ และสืบต่อสังคมในยุคสมัยของเธอ เราพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้เธอเหล่านั้นอยู่แล้ว…


ท่ามกลางความมืดมน ก็มีแสงสว่างส่องรอดช่องออกมาบ้างนะครับ

ความเหนื่อยล้าของพ่อครูบาฯไม่สูญเปล่าหรอกครับ..



Main: 0.051190137863159 sec
Sidebar: 0.049247980117798 sec