หิรัญญิการ์

4 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 9, 2012 เวลา 11:10 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3299

ตั้งแต่น้ำท่วมกรุงมานี่ หมู่บ้านไหนที่น้ำไม่ท่วมก็ขายดีมาก เป็นโอกาสผู้ประกอบการทันที สำหรับผู้อยู่อาศัยนั้นได้ตัวบ้านมาก็ตกแต่งเพิ่มเติมตามความชอบของใครของมัน ตามกำลังเงินในกระเป๋า ซึ่งจะเห็นความแตกต่างมากมาย


อย่างกระจกในห้องต่างๆก็ติดม่าน ติดลูกกรงเหล็ก ติดแผ่นพรางสายตา และหน้าบ้านที่โล่งก็เอาต้นไม้ที่ชอบมาปลูกกันสายตาจากภายนอกมองเข้าไป แม้ชั้นสองของห้องพัก


สำหรับห้องพักของลูกสาวนั้น ผมเคยออกความเห็นแต่เธอบอกว่านี่เป็นบ้านเธอขอรับผิดชอบเอง ผมก็ได้แค่ยืนมองห่างออกมาเพื่อให้เธอจัดการเองตามความเห็น ความชอบของเธอ เราก็แค่ออกความเห็นบ้างนิดหน่อยเมื่อเห็นว่าอะไรเหมาะ อะไรควร อย่างต้นไม้พรางสายตานี้ มีญาติพี่น้องเอามาให้ แต่เจ้าไม้เลื้อยที่เห็นนั่น แม่เธอนำมาให้ เป็น หิรัญญิการ์ ที่เรารู้จักแต่ชื่อไม่เคยมีประสบการณ์ปลูก

ปลูกง่ายมากครับ แค่ฝังดินใส่ปุ๋ย รดน้ำ ก็โตวันโตคืนทันตาทันใจทีเดียว เมื่อเขาเริ่มเลื้อยโตขึ้นก็เกิดไอเดียว่า เอ เจ้านี่น่าที่จะบังคับการเลื้อยของเขาให้เป็นต้นไม้พรางสายตาหน้าบ้านซะดีมั๊ง


ว่าแล้วลูกสาวก็จัดการเอาส่วนยอดอ่อนพันเลื้อยไปตามที่เธอต้องการคือ หักลงมาที่ซี่ลูกกรงหน้าบ้านเรียงไปทีละซี่ แผนเป็นเช่นนั้น เมื่อต้นเขาโตเลื้อยไปถึงเลข 2 เธอก็จับโน้มลงไปที่ 1 เพื่อให้มาที่ลูกกรงซี่ที่ 2, 3 ถัดมาทางซ้ายมือนั่น

เรารดน้ำไป โตเร็วจริงๆไม่น่าเชื่อ เราพบว่าใบเขาใหญ่ หนาและสะอาด สวยอาจเพราะสถานที่นี่ไม่มีฝุ่นละออง หรือเพราะเรารดน้ำที่จะล้างใบเขาด้วย สวยครับ ใบที่หนานั้นใช้พรางสายตาได้ดี และเป็นสีเขียว ถูกใจ ปัญหาที่เราพบคือ เวลาเราเลื่อนประตูเพื่อเอารถเข้า ออก ประตูเหล็กจะมาถูกกับใบและยอดใหม่ที่แตกมาจากตากิ่งทำให้ใบช้ำและยอดตรงนั้นช้ำ

และเมื่อนานวันเข้าเราพบว่า ความฝันของลูกสาวที่จะให้ยอดอ่อนของเขาเลื้อยไปตามซี่ลูกกรงจนเต็มพื้นที่นั้นคงไม่ได้แล้วหละ เพราะ ไม่พบว่ายอดอ่อนที่เลข 1 นั้นจะเติบโตตามต้องการ เขากลับแคระแกรน แต่ที่เลข 2 เป็นยอดอ่อนที่แตกมาจากตากิ่งนั้นกลับเติบโต อวบอ้วนชูสูงขึ้นหนีแรงดึงดูดโลกทุกวัน และมีแตกกิ่งมาใหม่ที่ 3 อีก และชูยอดอ่อนสูงขึ้น อวบอ้วน

เมื่อเราสังเกตเห็น ก็เข้าใจธรรมชาติของไม่เถาเลื้อยชนิดนี้เบื้องต้นแล้วว่า เขาพยายามไต่ขึ้นที่สูงเท่านั้น ไม่ออกข้าง ตามที่เราต้องการ


เราเลยทดลองว่า หากเอาเชือกมาผูกยอด 2 โน้มลงตรงเลข 4 ดูว่าเขาจะไปอย่างไรต่อ แต่ก็พอเดาได้ แต่ก็อยากดู

ลำต้นที่เลื้อยนั้นอวบอ้วน มีลักษณะแข็งไม่อ่อนเหมือนยอดตำลึง ผมไปเปิดวิกิพีเดียดู พบว่า เขามีดอกสีขาวใหญ่ หอมอ่อนๆ เรียก Nepal Trumpet หรือ Heral’s Trumpet หรือ Easter Lily Vine ชื่อน่ารักเชียวครับ

เขียนเรื่องเบาๆท่ามกลางบ้านเมืองที่ร้อนแรงจังเลย…


ความจนไม่ใช่กรรมพันธุ์..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 8, 2012 เวลา 20:06 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2470

ไปทำงานที่ระยอง สองสามวัน มีโอกาสทำความรู้จักระยองบ้าง ความจริงเป็นเมืองน่าอยู่นะครับหากไม่มีความเสี่ยงในเรื่องมลภาวะที่เกิดจากอุบัติเหตุโรงงานอุตสาหกรรมนับร้อยๆโรงงาน มีธรรมชาติที่สวย ติดทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อเป็นเขตอุตสาหกรรม ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นมากมาย

ไม่คุยเรื่องนี้หละ….

แต่ผมเห็นบั้นท้ายคนนี้ เอ้ย…รถคันนี้แล้วก็ยิ้มในใจ


การ์ดแต่งงาน..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 4, 2012 เวลา 2:44 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3551

ผมไปงานแต่งงานมาก็มาก เคยเป็นตัวแทนฝ่ายเจ้าสาวก็เคย เป็นผู้กล่าวในงานก็เคย ถูกเชิญร้องเพลงก็เคยแต่ไม่สำเร็จหรอกนะ เพราะผมไม่เคยร้องเพลงในงานแบบนี้ คุยกันกับคนที่บ้านว่า แสดงว่าเราแก่มากแล้วนะเนี๊ยะที่เขาเชิญเราไปเป็นผู้กล่าวในงานแบบนี้ ก็ไม่เคย ใหม่ๆก็ประหม่าเอามากทีเดียวแหละครับ

สัปดาห์ที่แล้วผมกลับไปบ้านขอนแก่นเห็นซองจดหมายเชิญยาหยีและผมไปงานแต่งงาน หน้าซองสวยและหรูผิดแปลกไปจากที่เคยได้รับ เมื่อเปิดซอง สิ่งที่ประทับใจแรกสุดคือการออกแบบการ์ดแต่งงานครับ ง่ายๆ เรียบๆ แต่สีสวยมาก พื้นขาวธรรมชาติของกระดาษ แต่ขอบขลิบสีน้ำเงินเข้ม กรอบในถัดเข้ามาเป็นเส้นสีทอง เห็นแรกสุดก็ประทับใจ เรียบง่ายแต่สวย


ผมอ่านตัวหนังสือก็งง งง เพราะไม่คุ้น เมื่อเปิดไปด้านในก็ยิ่งตกใจเพราะเห็นพระนามของสมเด็จฯ ผมนึกในใจว่า ตายแล้ว..ใครหนอช่างมาเชิญเราไปงานอันสูงส่งเช่นนี้


เมื่อมองหน้าถัดไปก็ร้องอ๋อ…ท่านอาจารย์อคิน รพีพัฒน์นี่เอง ท่านแต่งงานบุตรีท่าน เราก็ทราบมาก่อนแล้วว่าสกุลท่านนั้นเป็นสายเดียวกับสมเด็จท่าน อาจารย์เคยเล่าให้ฟังมาบ้างว่าเป็นพระญาติสนิทที่เหลือไม่กี่พระองค์แล้ว

ผมยังจำได้ว่าเมื่อท่านอาจารย์เกษียณ ท่านไปสร้างบ้านที่เชียงใหม่เพราะต้องการธรรมชาติและอากาศที่ดี แต่บังเอิญมีงานก่อสร้างอะไรไม่ทราบเสียงดังมากทำให้อาจารย์พักผ่อนไม่ได้เลย การเข้าเฝ้าครั้งหนึ่งของอาจารย์ต่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ อาจารย์ก็บ่นให้ฟังว่าพักผ่อนไม่ได้เพราะเสียงโรงงานและการก่อสร้างดังมาก หลังจากนั้นไม่กี่วันเสียงนั้นก็สงบลง

ท่านอาจารย์อคินท่านเรียบร้อยมากๆ อาจเป็นเพราะท่านเติบโตมาจากวัง ท่านมักจะไหว้ผู้อื่นก่อน แม้อายุน้อยกว่าก็ตาม หลายครั้งผมต้องขอร้องท่าน อย่าทำเช่นนั้นกับผมเลย ผมละอาย อาจเป็นเพราะท่านเป็นนักมานุษยวิทยาที่เคร่งครัดมากท่านหนึ่ง งานเขียนของท่านเรื่อง “ยกกระบัตร” หรืองานเขียนเกี่ยวกับสลัม หรือตำรามานุษยวิทยา ท่านลงไปคลุกคลีกับชาวบ้านมากเกินกว่าเราจะนึกได้ว่าผู้สูงศักดิ์เช่นท่านจะวาวตัวแบบนั้นได้ จนนักวิชาการรุ่นนั้นเรียกเชิงแหย่ท่านว่า “เจ้าที่อยากเป็นไพร่”

นักสังคมวิทยา มานุษยวิทยา จะต้องศึกษางานเขียนของท่าน ผมเองก็มีงานเขียนของท่านเป็นตำราหลักที่ผมเอามาศึกษา เพราะผมไม่ได้เรียนในระบบมาก่อน อาจจะโชคดีที่ผมมีโอกาสใกล้ชิดท่านสมัยที่ท่านเป็น ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มข. ที่ท่านรับยาหยีผมเข้าไปทำงานด้วยเป็นกรณีพิเศษ หลังจากที่เธอจบการศึกษามาจาก ISS เนเธอร์แลนด์โน่น ผมมีโอกาสทำงานศึกษา วิจัยกับท่านอาจารย์อคิน และสมัยที่ผมทำงานที่สุรินทร์ ท่านอาจารย์อคินก็คู่กับ อ.เจิมศักดิ์เป็นวิทยากรอบรมผมและทีมงานในเรื่องการทำงานพัฒนาชนบท


ท่านอาจารย์สูบบุหรี่จัดมากๆ แต่ก็มาหยุดเอาช่วงที่ท่านเป็น ผอ. RDI มข.นี่แหละ การสูบบุหรี่ทำให้เป็นสาเหตุความเจ็บป่วยบ่อยครั้ง ช่วงหลังบุตรีท่านดูแลใกล้ชิดจึงมีสุขภาพที่แข็งแรง ยังเดินทางไปไหนๆเรื่อยๆ ผมเคยกล่าวถึงท่านว่า ท่านเล่าให้ฟังว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของท่านนั้นดีกว่าวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ดูจะเป็นเรื่อง “ระบบเศรษฐกิจไทยยุคต้นรัตนโกสินทร์” (หากผิดพลาดขอประทานอภัยด้วยครับ) ที่ท่านกล่าวว่า ท่านโดนอาจารย์ที่ปรึกษาขว้างทิ้งตั้ง แปดครั้ง เก้าครั้ง เพราะไม่พอใจงานเขียน ท่านอาจารย์ก็ก้มหน้าไปปรับปรุงแก้ไขจนที่สุดท่านได้รับคำชมเชยยิ่งว่าปริญญานิพนธ์ฉบับนั้นดีที่สุด

นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้งานเขียนของท่านต่างๆนั้นได้รับคำชมเชยมาก

นอกจากท่านจะเก่งในงานเขียนแล้ว สิ่งที่ประหลาดมากสำหรับผมคือ ท่านยังเป็นศิลปินงานลายเส้นที่สวยงามอีกด้วย ท่านบอกว่ามันช่วยสร้างสมาธิในการทำงานมาก ท่านชอบวาดลายเส้นรูปเกี่ยวกับคนและงานที่ท่านศึกษา เช่นรูปบ้านเรือนชนบท วิถีชนบท


ยาหยีกับผมไม่ได้ไปงานมงคลสมรสที่สูงส่งครั้งนี้หรอกครับ บอกตรงๆว่า มิกล้า กลัวทำตัวไม่ถูกว่าจะวางตัวอย่างไรกับแขกเหรื่อที่ยิ่งใหญ่ในสังคมไทย แต่ได้กราบขออภัยท่านอาจารย์ตรงๆและร่วมทำบุญกันตามประเพณีไทยเรา

เป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้การ์ดแต่งงานแบบนี้…….


ผมเป็นนักอนุรักษ์นิยม..?

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 2, 2012 เวลา 21:31 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1612

ผมจำได้ว่าสมัยที่ผมเรียนที่ มช. ปี 2512 นั้น วงสังคมกำลังคลั่งไคล้ค่านิยมบางอย่างที่มาจากตะวันตก เช่น การไว้ผมยาว ฟังเพลงร๊อก คุยกันถึงอิสรภาพ การปลดปล่อย สันติภาพ….. หลายเรื่องเป็นประเด็นใหญ่ในสังคม ในมหาวิทยาลัยก็มีการจัดเวทีอภิปราย มีมุมสนทนา และมีการเขียนบทความในหนังสือภายในมหาวิทยาลัย

ผมนั้นมาจากบ้านนอก ครอบครัวปิด คือเติบโตมาด้วยครอบครัวใหญ่ที่ต้องทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก ไปเรียนกรุงเทพฯก็พักอาศัยกับคุณตาคุณยายที่นับถือกันมิใช่ญาติแท้ ความเกรงใจ ความไม่กล้า และเจียมเนื้อเจียมตัวทำให้ผมเก็บตัวมากกว่าที่จะจ๊ะจ๊ากับใครๆ เมื่อไปเรียน มช.เหมือนก้าวออกมาจากห้องที่ปิด แต่ผมโชคดีที่มีเพื่อนที่ดี มีกลุ่มที่เดินไปในทางที่ดี เป็นกลุ่มที่ทำกิจกรรมและเป็นนักอ่านนักพูดคุยแลกเปลี่ยน ถกเถียง ตั้งคำถาม

กระนั้นผมก็รื่นไหลไปกับค่านิยมวัยรุ่นสมัยนั้นคือ ผมบนหัวค่อนข้าง “ยาว” แต่ไม่ถึงกับห้อย “ย่าม” ใส่รองเท้า “ยาง” เมื่อปิดเทอมกลับไปบ้านวิเศษชัยชาญ พ่อผมโกรธมากที่เห็นผมยาว และไล่ให้ไปตัดผมเดี๋ยวนั้นทันที หากไม่ทำก็ถึงกับจะตัดลูกตัดพ่อกันเลยทีเดียว เรียกว่า พ่อรับไม่ได้ที่ผมไปเอาค่านิยมวัยรุ่นสมัยนั้นมาประพฤติ แม้ว่าผมจะมีความเห็นค้านในใจ ที่สมัยนั้นมักอธิบายการกระทำแบบนี้ว่า “การประพฤติดีไม่ดีไม่ได้อยู่ที่การแต่งตัว การไว้ผมยาว….” แต่ด้วยระบบครอบครัวโบราณผมไม่มีสิทธิที่จะพูดแบบนั้นหรอก แค่นึกในใจ แล้วผมก็เดินไปตัดผมสั้นปกติ….


เมื่อเวลาผ่านไปแม้ผมจะไว้ผมยาวกว่าปกติ พ่อผมก็ไม่ได้ว่ากล่าวอะไร แค่มองๆแค่นั้น อาจเป็นเพราะท่านเห็นว่าผมไม่ได้ประพฤติอะไรผิดไปจากสิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง ผมไม่ได้ทำเรื่องเลวร้ายอะไรให้แก่ครอบครัว และไม่มีพฤติกรรมแบบวัยรุ่นสมัยนั้น ตรงข้ามผมทำงานชนบท และที่สะเมิงพ่อผมเคยเดินทางไปดูผมทำงานด้วยตนเอง และท่านก็ไม่ได้พูดอะไรที่ตำหนิผม แต่ชื่นชมที่ทำงานเพื่อสังคม

ผมมีลูกสาว ที่เขาเติบโตมาด้วยตัวเขาเองมากกว่าที่จะอยู่เคียงข้างเรา เพราะเราส่งเขาเรียนหนังสือนั่นเอง เมื่อเรามีโอกาสมาอยู่ใกล้ชิดกัน ผมก็พบว่า มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ขัดหูขัดตาผม เพราะเธอก็คือวัยรุ่นของสมัยนี้ หลายครั้งผมก็พูด แต่เธอก็มีคำอธิบาย ทั้งที่ฟังได้และฟังไม่ขึ้นในทัศนะผม แต่ผมก็ไม่ใช้พฤติกรรมที่รุนแรงแต่ทำให้ดูเลย เช่นการมีระเบียบเรียบร้อย ในเรื่องส่วนตัว ในเรื่องส่วนรวมในบ้าน การฟังเพลง การดูหนัง ดูทีวี การกินการอยู่ การทำให้ดู ดูเหมือนจะเป็นการสอนที่ดีกว่าการเอาเหตุผลมาคุยกัน เพราะการคุยกันมันสร้างความเครียด

ผมมานั่งสรุปด้วยตัวเองว่า เด็กสมัยนี้อิสระทางความคิดที่สิ่งแวดล้อมเขามีอิทธิพล ก็เหมือนเราสมัยก่อน เพียงแต่ว่าสิ่งแวดล้อมสมัยนี้กับสมัยเรานั้นต่างกันไปแล้ว แต่หลายเรื่องก็ก้าวข้ามความเหมาะสมดีงามตามวัฒนธรรม ประเพณีของสังคมไทยไป แต่ไม่เลวร้ายเกินกว่าจะรับไม่ได้ เราจึงค่อยๆทำให้ดู


ผมได้รับเมล์จากเพื่อนรุ่นน้อง ส่งเอกสาร และภาพ แจ้งให้ทราบว่า ลูกสาวอาจารย์ของผมท่านหนึ่งที่เราเคารพรักมากและท่านเสียชีวิตไปแล้ว บุตรสาวรับมรดกที่ดินและอาคารกลางเมืองหลวงที่มีมูลค่าไม่น้อย แต่ก่อนที่ท่านอาจารย์จะเสียชีวิตท่านได้ตั้งมูลนิธิขึ้นมาเพื่อดูแลทรัพย์สมบัติและทำประโยชน์เพื่อสังคม แต่บุตรสาวท่านทำผิด มหันต์ ตั้งเป็นคลับ เสพยาเสพติด เป็นเอเย่นสาวสวยขายตัว และฯลฯ…มูลนิธิจึงฟ้อง……

เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวว่าที่นักศึกษาใหม่ มธ โพสต์ท่าที่รูปปั้นท่านผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือท่านปรีดี พนมยงค์ วงการวิภาคกันมากทั้งในทางที่ไม่ดีและที่เข้าใจได้

สังคมเคลื่อนตัวไป หน่อใหม่ของสังคมรื่นไหลไปตามสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน แล้วแต่ว่าเขาและเธอจะตกไปอยู่ในวงไหน อย่างไร ครอบครัวมีส่วนในการขัดเกลามากน้อยแค่ไหน สังคมใกล้ชิด มีส่วนให้ความคิดมากน้อยแค่ไหน การกระทำที่เขาและเธออธิบายว่า นี่คือการแสดงสัญลักษณ์ถึงการปลดปล่อย มิใช่การดูถูกเหยียดหยามท่านอาจารย์ปรีดี

ผมไม่ทราบว่าท่านคิดอย่างไรนะ แต่ผมฟังเหตุผลไม่ขึ้น

เอ…รึว่าผมเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมไปแล้ว….


ศาสตร์นี้เพื่อใคร??

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 1, 2012 เวลา 22:29 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1438

ช่วงนี้เดินทางบ่อยมาก ความจริงก็ชอบนะครับเพราะเปลี่ยนบรรยากาศและสาระงานที่รับผิดชอบจากมุมนี้ไปมุมโน้น เปรียบเทียบไปเรื่อยๆ ทำให้เราเห็นความจริงในสังคมมาก บางเรื่องก็ใหม่สำหรับผม หลายเรื่องก็เป็นสิ่งที่เรารู้ๆกัน

ชีวิต Freelance นั้นเหมือนตัวหมากรุก ที่คนเล่นเป็นผู้หยิบเราไปวางตรงนั้นตรงนี้ เพื่อคาดหวังอย่างนั้นอย่างนี้ เราเองหลายเรื่องก็ง่ายเหมือนปากกล้วย บางเรื่องก็งงเป็นไก่โดนตี เอาไงดีวะ… หลายเรื่องก็ค้านความรู้สึกเรา

วันนี้ขับรถไปคนเดียวจากกรุงเทพฯขึ้นขอนแก่นด้วยสุขภาพไม่เต็มร้อย เพราะเมื่อคืนไปงานศพคุณอาที่อ่างทองมา และต้องไปภารกิจของลูกสาวอีก กว่าจะหลับจะนอนได้ ดึกมาก ผมจึงแวะเข้าปั้มน้ำมันนอนซะงีบหนึ่ง แล้วเติมด้วย กาแฟอเมซอนเข้มข้นร้อนหนึ่งแก้ว คราวนี้ขับไปเรื่อยๆ รถหนาตา ด่านตำรวจ 5 ด่านมากจริงๆ ไม่เคยเห็นตำรวจตั้งด่านมากขนาดนี้ ความจริงดีนะครับ ผมรอดตัวไม่โดนเรียกไปเก็บค่าทางด่วน อิอิ หากเรียกจริงๆก็จะให้โดยดีหรอก

ระหว่างทางนั้นผมฟังวิทยุฟังข่าวการคัดค้านพรบ.ปรองดอง สลับกับข่าวอื่นๆที่ผู้จัดคุยกับวิทยากร ผมเบื่อฟังเพลงนะครับ

ผมฟังผู้จัดคุยกับวิทยากรเรื่องทีวี digital ว่ากำลังเป็น trend ในปัจจุบัน ก็คุยกันว่าจะก้าวไปไกลขนาดไหน รวมไปถึง smart phone , iPAd, IPHONE (เขียนผิดขออภัยนะครับ ผมห่างไกลเจ้าตัวนี้จริงๆ) วิทยากรท่านเป็นผู้รู้ในวงการ ก็วิเคราะห์ วิจารณ์ตามหลักวิชา ความรู้ ผมฟังแล้วก็นึกไปถึงประเด็นเก่าๆที่ผมเคยเขียนบันทึกไว้ว่า

ศาสตร์ทางธุรกิจนั้น เรียนเรื่องคนมาก ศึกษาพฤติกรรมคนตามกลุ่มอายุ เพศ คนในเมือง คนในชนบท คนในสถาบันการศึกษา คนในโรงงาน ฯลฯ วิเคราะห์วิจัยกันมากมาย และเป็นศาสตร์ที่เรียนกันในวิทยาลัย มหาวิทยาลัย ปริญญาตรี โท เอก กันเลยทีเดียว ความรู้ทั้งหมดนี้กลับมาแปรเป็นแนวทางในการผลิตสินค้าให้โดนใจคนกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้ขายได้ เพื่อรายได้ เพื่อกำไรของบริษัท หรือผู้ประกอบการ อาจจะกล่าวในมุมหนึ่งได้ว่า โลกเรามีศาสตร์ทางธุรกิจที่ศึกษากิเลสของคน แล้วก็เอาความรู้ ความเข้าใจนั้นไปผลิตสินค้าที่ตอบสนองกิเลสของมนุษย์กลุ่มนั้นๆ เมื่อโดนใจ หรือโดนกิเลส สินค้าตัวนั้นก็ขายได้ บางเรื่องบางสินค้า หากออกแบบและประสิทธิภาพโดนใจก็รับทรัพย์มหาศาลกันไปเลยทีเดียว…

ประเด็นนี้ผมเห็นมานานแล้ว วันนี้ก็มาได้ยินอีกและได้ยินจากปากนักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ผมตั้งคำถามมานานแล้วเหมือนกันว่า ศาสตร์การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ดังกล่าวนี้ทำไมไม่มีฝ่ายที่นำมาแปลเป็นการจัดทำเครื่องมือการพัฒนาคน ใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานพัฒนาการเกษตร และด้านต่างๆ.. ดูเหมือนมีความพยายามทำกัน แต่ไม่ก้าวหน้าเท่าศาสตร์ธุรกิจเหล่านี้ที่มีผล

ความจริงผมก็ถามตัวเองว่าแล้วเราทำไมไม่ทำเองล่ะ….

ผมก็ทำอยู่ โดยการศึกษาตามกระบวนการของงานพัฒนาคนในชุมชน แล้วแปลงมาเป็นกิจกรรม โครงการ แต่ยังหยาบอยู่ การพัฒนาทางด้านนี้ยังไม่ทำกันกว้างขวางเหมือนศาสตร์ทางธุรกิจที่ลงลึกไปมากทีเดียว จนเข้าไปครอบและเป็นปัจจัยหลักในการหันเหการบริโภคของมนุษย์ตามกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ นี่เองที่เป็นที่มาของการที่เราเรียกลัทธิทุนนิยมว่าเป็นกระแสหลัก และมีอิทธิพลเหลือเกิน

มันเป็นลัทธิบริโภคนิยมที่เกินความจำเป็นของสังคม แต่มันเข้ามาเนียนๆแบบว่า มันทันสมัย เราต้องทันสมัย เราต้องก้าวหน้า ผมไม่ปฏิเสธเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยี แต่เมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้วก็มีคนในโลกนี้ต่อต้านการพัฒนาเทคโนโลยีมาก่อนแล้วว่า ควรเป็นเทคโนโลยีระดับกลางที่สอดคล้องความจำเป็นจริงๆของการดำรงชีวิต ไม่จำเป็นจะต้องสูงส่งเกินความจำเป็น ท่านผู้นั้นคือ อี เอฟ ชูเมกเกอร์ ที่เขียนหนังสือที่โด่งดังชื่อ “จิ๋วแต่แจ๋ว” หนังสือเล่มนี้น่าที่จะปัดฝุ่นเอามาให้เยาวชนศึกษากันใหม่ละมั๊ง

ผมฝันว่า หากเอาลักษณะการพัฒนาศาสตร์ทางธุรกิจเพื่อการขายสินค้าดังกล่าวมา เป็นการพัฒนาศาสตร์เพื่อการพัฒนาคนขึ้นมาอย่างจริงจัง กว้างขวาง ผมเชื่อว่า สังคมน่าอยู่อีกมากทีเดียว ปัญหาสังคมจะลดลง


ปีกซ้ายในราชการ

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ มิถุนายน 1, 2012 เวลา 10:59 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1487

ผมรู้จักท่านเลขาธิการ ส.ป.ก.ปัจจุบันมานานนับสามสิบปีได้ ตั้งแต่ท่านเรียน ป.โทที่ AIT ตอนนั้นผมเป็นนักพัฒนาชนบทอยู่สะเมิง เชียงใหม่ ยุคแรกๆของ NGO ประมาณปี 2518 พี่เปี๊ยก ราชสีห์อีสาน คือพี่บำรุง บุญปัญญา พี่แกทำงานที่ ACFOD หรือ Asian Cultural Forum on Development พี่คนนี้ประวัติลือลั่น เกียรตินิยมจากบางเขน ทำงานกับ ดร.ป๋วย ได้ทุน British Council ไปเรียนที่ อังกฤษ ทะเลาะกับอาจารย์ บินกลับมาเป็น NGO เฉยเลย พี่เปี๊ยกเป็นพี่ใหญ่วงการ NGO ตั้งแต่ยุคแรกๆจนปัจจุบัน พี่เป็น NGO สุดโต่งในเรื่องอุดมคติการเสียสละเพื่อชาวบ้านที่ใครๆในปัจจุบันไม่มีใครทำได้ แล้วค่อยเล่าให้ฟัง

พี่เปี๊ยกนั่งที่ ACFOD ก็ถือโอกาสเป็นศูนย์กลาง NGO เรานั่งคุยกันกลางสนามหลวงประมาณปี 2520 ว่าสมควรตั้งศูนย์ประสานงาน NGO ขึ้นมา ตามภาคต่างๆ และสร้างศูนย์กลางที่กรุงเทพฯ เพื่อเราจะได้หาเวลามานั่งคุยแลกเปลี่ยนการทำงานกันและกัน จึงเกิด กป.อพช.ขึ้น เรียกว่า คณะกรรมการประสานสาน องค์กรพัฒนาเอกชน ผมเป็นกรรมการภาคเหนืออยู่พักหนึ่ง เมื่อย้ายฐานการทำงานก็มาเป็นกรรมการที่อีสานพักหนึ่งก็วางมือให้น้องๆเข้ามาทำแทน

ทุกปีจะมีการประชุมประจำปี รวมทุกภาค มักจะจัดกันที่ ชะอำริมชายหาดทะเล เพราะมีผู้สนับสนุนที่พักให้ ที่นั้นผมได้พบ ดร.วีระชัยครั้งแรก พร้อมกับ ทองแท่ง เพื่อนรุ่นน้องที่โด่งดังอีกคนหนึ่งในวงการพัฒนา สมัยนั้น ดร.วีระชัยยังไม่จบ ดร. ทั้ง ดร.วีระชัยและทองแท่งและอีกหลายคนเป็นข้าราชการ ส.ป.ก. แรกๆเราก็งง ว่าเฮ้ย.. NGO คือกลุ่มที่ตำหนิราชการมามากต่อมาก ทำไมมีข้าราชการมานั่งประชุมด้วย พี่เปี๊ยกแนะนำว่า นี่คือ ปีกซ้ายของระบบราชการไทย จริงๆสมัยนั้นผมเองยังรักษาระยะห่างกับเพื่อนกลุ่มนี้ แต่ความที่ผมสนิทกับทองแท่ง เพราะเป็นคนบ้านเดียวกัน และทองแท่งคือนิสิตจุฬายุคแรกๆที่เข้าสู่ชนบทที่แม่ตะมาน เชียงใหม่เพื่อไปสร้างสหกรณ์ชาวบ้าน และเป็นข่าวในหนังสือ ปาจารยสาร ซึ่งเป็นหนังสือสำหรับปัญญาชนสมัยนั้น

ทุกปีเรามาพบกันที่ชะอำ เอาประสบการณ์ ความรู้ใหม่ๆนวัตกรรมใหม่ๆมาแลกเปลี่ยนกัน เรียนรู้ประสบการณ์ภาคอีสาน เหนือ ใต้ และเกิด คลื่น NGO บูมสุดขีดสมัยหลังสงครามอินโดจีน เกิดโครงการบัญฑิตอาสาสมัครที่จุฬา อันมี อาจารย์จอห์น อึ้งภากรณ์ พี่ชาย ไมตรี อึ้งภากรณ์ บุตรอาจารย์ป๋วยเป็นผู้รับผิดชอบ มีภูมิธรรม เวชยะชัย สมองของไทยรักไทยเป็นพี่ใหญ่คุม โครงการนี้อยู่

วงการพัฒนาชนบทก้าวหน้ามากที่สุด ขยายจำนวนองค์กรไปมากมายแตกแขนงไปจับประเด็นต่างๆมากมาย ท่ามกลางการเคลื่อนตัวของสังคมที่มีองค์กรพัฒนาชนบทเป็นกลจักรสำคัญหนึ่งในการทำงานนี้ ดร.วีระชัยคลุกคลีวงการนี้มาตลอด ท่านไปเรียนจบ ดร.ที่มาเลเซีย ก็กลับมาทำงานที่เดิม คือ ส.ป.ก. พวกเราชื่นชมกลุ่มข้าราชการ ส.ป.ก.กลุ่มนี้ ทำงานเหมือน NGO หลายคนเป็นวิทยากร NGO ด้วยซ้ำไป

ผมห่างหาย NGO ไปพักใหญ่เพราะไปสังกัดโครงการขนาดใหญ่ วิถีชีวิตก็เร่ร่อนไปตามโครงการต่างๆ และในที่สุดเพื่อนฝรั่งนับถือพุทธ เป็นมังสะวิรัติ มีครอบครัวคนไทย พูดศัพท์แสลงไทยเป็นไฟ ชวนไปทำงานที่ Save the Children ที่นครสวรรค์ และที่นั่นได้พบกับ ดร.วีระชัยอีกครั้ง คราวนี้เป็นโครงการ DANCED ที่ ส.ป.ก.ได้งบประมาณมาพัฒนาชุมชนชายป่าห้วยขาแข้ง และรวมเอา NGO ท้องถิ่นเข้ามาร่วมงานด้วย ผมเป็นตัวแทนของ Save the Children ไปร่วมโครงการนี้ หลังจากจบโครงการ ก็มาต่อที่โครงการ คฟป.มุกดาหาร แต่คราวนี้มาสังกัดบริษัทที่ปรึกษา แต่ก็ยังร่วมงานกับ ส.ป.ก. และดร.วีระชัยก็เติบโตในหน้าที่การงานตามลำดับ

ท่านเลขาท่านนี้กล่าวว่า การเมืองเข้ามาในชีวิตท่านหลายครั้ง และทุกครั้งก็กระทบหน้าที่การงานมากบ้างน้อยบ้าง ผมชื่นชมท่านตลอดมาว่าเป็นข้าราชการน้อยคนนักที่เข้าใจชุมชน เข้าใจชาวบ้าน และยืนอยู่บนผลประโยชน์ชาวบ้านมาตลอด เป็นข้าราชการผู้ใหญ่น้อยคนนักที่หนักแน่นอยู่กับชุมชน ท่านใกล้ชิดกับคนทำงานชนบทมาตลอด และจุนเจือซึ่งกันและกันมาตลอด เพราะว่าภารกิจหลักของ ส.ป.ก. คือพื้นที่ที่เป็นชนบทและมีปัญหามากมายนั่นเอง งานที่ท่านทำ ได้สร้างมิติใหม่ของทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะ จากญี่ปุ่น ที่เริ่มให้ความสนใจและร่วมมือกับ NGO มากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทั้งนี้เพราะงานของ ส.ป.ก.จะเชื่อมกับ NGO ที่คัดสรรค์แล้วเข้ามาร่วมงานด้วย

เมื่อผมเขียนบล็อกเรื่องราวของชนบทที่ G2K และที่ลานปัญญา และท่านมีดำริพิมพ์งานของผมนั้น แม้ว่าจะถูกเบรกไปพักหนึ่งเพราะเหตุทางการเมืองภายใน แต่มาช่วงนี้ที่ฟ้าใสขึ้นท่านก็เรียกผมเข้าไปพบแล้วบอกว่าจะจัดพิมพ์ให้ ขอให้ไปทบทวนตัดต่อให้เหมาะสมมากขึ้น ….

และวันนั้นท่านปิดห้องคุยกับผมส่วนตัวสองต่อสอง…

อุบอิบ ยังไม่บอกหรอกครับว่าคุยเรื่องอะไร แต่มีผลกับผมมากทีเดียว….


การจัดการชุมชนชนบทในระบบนิเวศเกษตรเชิงเขา

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 27, 2012 เวลา 10:31 ในหมวดหมู่ ชนบท, สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2431

ทำไมคนอีสาน จึงเป็นมะเร็งตับมากที่สุดในโลก

ไม่ใช่สถิติที่เราควรภูมิใจ ตรงข้ามต้องเอามือมากุมขมับด้วยซ้ำไป…ทำไม..?

เป็นข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง แต่สถิตินี้ไม่ใช่เพิ่งจะมาทราบ เราทราบมากว่า 20 ปีแล้วครับ

ท่านอาจารย์หัวหน้าภาควิชาการโภชนาการของ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ผมสนิทสนมด้วย ท่านเสียชีวิตไปเพราะมะเร็งตับ ยาหยีผมก็ร่วมงานวิจับกับคณะแพทย์ศาสตร์ มข. มาตั้งแต่สมัยปีมะโว้ ก็เรื่องนี้แหละ ตามไปศึกษาวิถีชีวิตอีสานที่ไปเป็นแรงงานตัดอ้อยในจังหวัดสุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และ…. เข้าไปศึกษาในชนบทอีสานหลายแห่งทั้งอีสานเหนือ กลาง ใต้

สรุปมาตั้งแต่สมัยนั้นว่า ต้นเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งตับของคนอีสานคือ “การกินดิบ” ก็กินอาหารดิบ ดิบๆสุกๆ ไม่ว่า ปลาดิบๆ หอยดิบๆ เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อสัตว์ป่า สารพัดเนื้อสัตว์เอามาทำอาหารดิบกินกับ แซบหลายเด้…. ก็เจ้าแซบหลายนี่แหละ คือต้นเหตุของการเกิดมะเร็งตับ คณะแพทย์ศาสตร์ มข.สรุปมาตั้งแต่สมัยโน้นแล้ว… และมีการแปรข้อมูลเหล่านี้ออกไปสู่สื่อสาธารณะเพื่อเตือนประชาชนอีสานให้เปลี่ยนวิธีการกินอาหารดิบ…..ทำกันมานานแล้ว

มาวันนี้ก็ยังมีการพูดถึง เรื่องนี้ และเป็นสถิติโลกไปแล้วด้วย..

มีคำที่สำคัญ หรือ Key word ที่สำคัญของเรื่องนี้ คือ “พฤติกรรมการกิน” ของคนเรานี่เอง หากจะกล่าวอีกมุม ก็คือ “วัฒนธรรมการกิน” อาจจะแยกเป็นสองส่วนใหญ่ๆคือ ตัวอาหารที่กินกับกระบวนการกิน สำหรับตัวอาหารนั้น คือวัตถุดิบและวิธีการปรุง การศึกษาครั้งนั้นเท่าที่ผมจำได้คือ กระบวนการกินที่ใช้มือ มาเป็นใช้ช้อน จากช้อนของใครของมัน ตักอาหารส่วนกลางมาเป็นช้อนกลาง ดูจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่เรื่องอาหารที่ดิบ หรือไม่สุก ดีที่สุดคือ ดิบๆสุกๆนั้น มีการเปลี่ยนแปลงเป็นกินสุกมากขึ้นนั้นทำได้แค่ระยะหนึ่ง แต่แล้วหันไปใช้พฤติกรรมเดิมๆ คือ “กินดิบ”

นี่เองที่ปัญหาที่สลัดไม่ออก คนอีสานไปกรีดยางภาคใต้ ก็ไปแสดงพฤติกรรมการกินของพื้นบ้านอีสาน ยังมีเรื่องเล่ากันว่า คนอีสานไปทำงานต่างประเทศ ยังไปจับสัตว์ป่าเขามากินดิบซะเรียบร้อย ทั้งที่สัตว์ป่านั้นเป็นสัตว์พ่อพันธุ์ของเขา….จริงหรือไม่จริงไม่มีใครยืนยัน แต่เรื่องราวทำนองนี้ไปยืนยัน พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสานว่ามีติดตัวไปทุกหนทุกแห่งที่คนอีสานไปอยู่อาศัย

ผมอยากจะเพิ่มอีกคำลงไปใน พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสานนั้นก็คือ “การติดใจในรสชาด” ของอาหารนั่นเอง ดังนั้น “พฤติกรรมการกินดิบของชาวอีสาน” จึงมี “การติดใจในรสชาดอาหาร” ติดขนานไปด้วยกัน…ไปไหนไปกัน..แบบนั้น

ทำไมชาวจีนจึงทานอาหารร้อนๆ ดื่มชาร้อนๆ ทำไมชาวเกาหลีจึงทานผักดองที่เรียกกิมจิ ทำไมชาวอินเดียจึงใส่เครื่องเทศในอาหารมากมาย เหล่านี้คือวัฒนธรรมการกิน พฤติกรรมการกินที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่นด้วยระบบวิถีชีวิตที่คลุกคลีมาตั้งแต่เกิด

ข้อสรุปนี้ นักวิทยาศาสตร์สาขาอื่นๆอาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งเหมือนนักวิทยาศาสตร์สังคม เพราะ Key word ตัวนี้มีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องอีกมากมายตามมา หรือกล่าวอีกทีคือ มีเรื่องราวอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์กลุ่มนี้ เช่นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในสังคม การใช้เวลาในแต่ละวันของชาย หญิง ในสังคมชุมชน การให้ความสำคัญกับความเชื่อกับสิ่งเหนือธรรมชาติ การจัดกลุ่มโดยธรรมชาติในชุมชน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในชุมชน การสร้างนวัตกรรมเครื่องมือจับสัตว์ที่หลากหลาย จากง่ายไปสู่ความซับซ้อนอย่างไม่น่าเชื่อ ตลอดเลยไปถึงการตัดสินใจเลือกสถานที่ตั้งบ้านเรือน กระบวนการตัดสินใจต่างๆในวิถีการดำรงชีวิตของเขา..ฯลฯ…

ผมได้อธิบายกับเพื่อนที่ผมไปทำงานด้วยกันเรื่องปรากฏการณ์หนึ่งคือ จะมีการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนในการผลิตกระแสไฟฟ้า จึงศึกษา สำรวจ แล้วทำการโยกย้ายชาวบ้าน สมมติ 700 ครัวเรือนออกไปจากพื้นที่โครงการ ไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ที่รัฐบาลจัดสรรให้ ไกลออกไปจากที่เดิม พร้อมกับจะจัดที่ดินทำกินให้ใหม่ และอื่นๆมากมายที่จะสนับสนุนให้คนที่ถูกโยกย้ายมานั้นมีความกินดีอยู่ดีให้ได้ แต่บังเอิญเหลือเกินที่โลกเกิดวิกฤติการเงิน ไปกระทบผู้ลงทุน โครงการนี้จึงหยุดไป ขณะที่โยกย้ายชาวบ้านไปแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการตามแผนงานต่อไปได้จนจบสิ้น ค้างเติ่ง เช่นนั้น

วันดีคืนดี มีอีกกลุ่มหนึ่งมาดำเนินโครงการนี้ต่อ จึงมีการศึกษาสภาพการณ์ปัจจุบันว่าเป็นเช่นไรบ้าง การศึกษาพบว่ามีประชาชนที่โยกย้ายไปแล้วนั้น กลับไปอยู่ในที่ดินทำกินเดิมจำนวนที่มากพอสมควร

ประเด็นอื่นเราไม่ขอกล่าวถึง แต่ตั้งคำถามกันว่าทำไมจึงมีการโยกย้ายกลับไปยังที่ดินทำกินเดิม.? และเป็นจำนวนมากกว่าที่รับรู้มาก่อนจนตกอกตกใจกัน จากการประมวลข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีหลายเหตุผลที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์โยกย้ายกลับคืนที่ดินทำกินเดิม การสัมภาษณ์ประชาชนท่านหนึ่งเป็นผู้สูงอายุท่านกล่าวว่า หมู่บ้านที่ราชการจัดสรรให้นั้นเป็นชีวิตที่พึ่งพิงตลาด ฝากท้องไว้กับตลาด แต่การกลับไปทำมาหากินในที่เดิมนั้นเป็นการพึ่งพิงธรรมชาติ ไม่ได้ซื้อไม่ได้ขาย หาของป่ากินไปวันๆ….

เมื่อเราเดินทางไปดูสถานที่ตั้งชุมชน ซึ่งปลูกกระต๊อบเป็นกลุ่มๆ มีกลุ่มละ 5-6 หลังคาเรือน รอบๆบ้านปลูกกาแฟ ถัดออกไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวไร่ ถัดออกไปเป็นป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์มาก มีร่องรอยบุกเบิกเพิ่มเติม…คนที่เราพบส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว หรือวัยกลางคน มีผู้เฒ่าบ้าง แต่ส่วนใหญ่ผู้เฒ่าจะอยู่ที่บ้านจัดสรรโน้น.. ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากนักเรียกว่าอยู่กันแบบดั้งเดิมจริงๆ แน่นอนไม่มีมือถือ ไม่มีทีวี และไม่มีไฟฟ้า และอุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าทั้งหมด..

เดินขึ้นไปในบ้านมีถุงข้าวกองอยู่ นั่นคือข้าวสำรองที่เก็บไว้ให้คุ้มกินตลอดปีสำหรับจำนวนคนในครอบครัว อาจมากเกินบ้างก็เผื่อเหลือเผื่อขาดง..ฯลฯ ล้วนเป็นระบบวิถีชีวิตชุมชนแบบที่มีระบบนิเวศเชิงเขาและเป็นชนเผ่าที่มีความเชื่อเฉพาะของเขา

หากเราไม่เข้าใจเขา การแก้ปัญหาของคนนอกก็ไปใช้ระบบคิดแบบคนนอกไปกำหนดวิถีชีวิตเขาไปหมด นัยเจตนาที่ดี นโยบายของรัฐ สารพัดเหตุผลที่เอาไปอธิบายชาวบ้านที่ส่วนมากจำนนต่อกฎของรัฐ แต่สภาวะจิตใจภายในนั้น บ่งบอกออกมาในรูปของคำพูดและน้ำเสียง สีหน้า เลยเถิดไปถึงพฤติกรรมที่ตามมาอีกหลายด้าน….

ชาวบ้านที่โยกย้ายกลับมาในที่ดินทำกินเดิมนี้ ส่วนหนึ่งที่เป็นเหตุผลหลักคือ วัฒนธรรมการทำมาหากิน ความถนัด ความเคยชิน รวมไปถึงวัฒนธรรมการบริโภค และพฤติกรรมการบริโภคนั่นเอง มีข้าวจากข้าวไร่ พอมีรายได้จากกาแฟ แต่อาหารนั้นหามาจากป่ามากกว่า ร้อยละ 90

สรุปแบบห้วนๆว่า พฤติกรรมของวิถีชีวิต วัฒนธรรมการบริโภคอาจจะไม่เกี่ยวกับการเกิดมะเร็งตับของชุมชนที่นี่ แต่มีส่วนสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ คือป่าไม้

ประเด็นของนักพัฒนาคือ เราจะหาความลงตัวใหม่ได้ที่ตรงไหน…

แต่น่าเสียดายที่ระบบงานมักให้แก้โจทย์สำคัญเหล่านี้ด้วยเงื่อนไขกระบวนวิธีของคนภายนอก นโยบายรัฐ และเวลาที่จำกัด

ทำได้ครับ แต่ต้องอาศัยกระบวนการปรับตัว ในด้านต่างๆมากพร้อมๆกับระบบพี่เลี้ยงที่เข้าใจและยืดหยุ่นพอสมควร…

ไม่มีอะไรที่ติดแน่นคงที่ มีแต่เปลี่ยนแปลงไป แต่การเปลี่ยนแปลงต้องอยู่บนฐานของความสมดุลและการลงตัวด้วย…


ทุ่งมะขามหย่อง

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 25, 2012 เวลา 16:43 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1581

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนานเทอญ


เอารุ้งมาฝาก

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 24, 2012 เวลา 23:33 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2036

เอารุ้งใหญ่บนท้องฟ้า มาฝากพี่น้องทุกท่าน

ด้วยความรักและคิดถึง


เอาไง..

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ พฤษภาคม 21, 2012 เวลา 17:27 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1322

 

เพ่…เอาไงว่ามา..เล้ย..

เบื่อฟังถ่มถุยในสภาจังว่ะ

ตีสำนวนโวหารกัน อยู่ นั่นแหละ..



Main: 0.065973997116089 sec
Sidebar: 0.037114858627319 sec