ตามลม (๒๔) : น้ำขัง ไหล นิ่ง เวลา กับลูกบอลน้ำหมักเป็นยังไง..ดูไว้หน่อย

อ่าน: 1514

เมื่อลองเอาทฤษฎีฝายแม้วลงไปลองในคูหลังตึกเจ้าปัญหา นอกจากเรื่องน้ำล้น น้ำท้นขึ้นไปทบต้นน้ำ ก็มีความรู้อื่นๆอีกที่ได้แถมมาด้วย

มีน้ำไหลผ่านถุงทรายที่อยู่ต่ำกว่าต้นน้ำจุดแรกลงไปยังถุงทรายถัดไป  ผ่านมุมเลี้ยวหักศอกแรกของคูไปแล้วจึงจะเจอถุงทรายถุงนี้ มันอยู่ห่างจากถุงทรายแรกราว 5 ฟุต ห่างจากมุมเลี้ยวหักศอกฟุตกว่าๆ

น้ำที่อยู่ระหว่างถุงทราย 2 ถุงนี้เกือบไม่เห็นการไหล แต่ก็รู้ได้ว่าไหล เมื่อเห็นร่องรอยของน้ำวนหลังไหลผ่านมุมหักศอกผ่านเลยถุงทรายไปแล้ว

น้ำที่ไหลลงมาช้ากว่าเมื่อไม่มีถุงทราย น้ำที่ไหลก่อนผ่านจุดหักศอกไหลแรงกว่าน้ำที่ผ่านเลยจุดหักศอกไปแล้ว  น้ำขุ่นขึ้น พอเห็นก้นคูลางๆ ไม่เห็นตะกอนที่ลอยปนแม้จะขุ่น  ลูกบอลน้ำหมักจมน้ำมิดทั้งก้อน เห็นได้ทั้งก้อน

น้ำระหว่างต้นน้ำและจุดหักศอกแรกที่ขุ่นเหมือนกันตลอดสาย เปลี่ยนแปลงเป็นทึบแสงมากขึ้น เมื่อไหลผ่านจุดหักศอกที่ 2 ของคูนั้น

น้ำก็ทึบแสงมากขึ้นและมองไม่เห็นก้นคู น้ำส่วนนี้อยู่ระหว่างจุดที่อุนจิถูกปล่อยลงมาปนกับน้ำที่ไหลลงมาและถุงทรายถุงที่ 4

น้ำที่ไหลผ่านจุดหักศอกที่ 2 มาแล้วไหลแรงขึ้น  ลูกบอลน้ำหมักที่หยอดไว้หลังจุดหักศอกแรกยังอยู่เต็มก้อน หลังจากจุดหักศอกที่ 2 ไปแล้ว มีลูกบอลอยู่เลยจากถุงทรายที่ 4 ลูกหนึ่ง

เห็นน้ำท้นไปถึงต้นน้ำหลังวางถุงทรายก็แปลกใจและตกใจ ตายละหว่า ผลที่เกิดกระทบลามไปถึงที่ไหนบ้างหรือเปล่า ถ้าขืนไว้ก็ไม่รู้ว่าน้ำจะท้นกว้างออกไปแค่ไหน

ยืนดูต่ออยู่ครู่หนึ่ง ก็เห็นแววว่า ถ้าน้ำท้นกว้างมากขึ้นไปอีก ก็อาจจะท้นเข้าไปขังเพิ่มที่ใต้ตึกได้  ไม่มั่นใจกับเรื่องนี้ จึงตัดสินใจปรับจุดวางถุงทรายซะใหม่  เหลือไว้แค่จุดเลยมุมหักศอก 2 จุด

หลังปรับก็ได้มาซึ่งแอ่งน้ำขังเป็นรูปมุมฉากที่มีความลึกเท่าความสูงของถุงทราย แต่ละขาของแอ่งยาวราว 1 เมตร น้ำที่ผ่านเข้ามาขังตรงแอ่งจำลองนี้ ผ่านลูกบอลที่หยอดไว้ในคูเป็นระยะๆมาแล้วรวม 4 ก้อน

ในแอ่งจำลองมีน้ำที่รับมาจากท่อปล่อยอุนจิอยู่ที่น้ำจากต้นน้ำจะไหลมาปน ก่อนน้ำ 2 แหล่งมารวมกัน น้ำที่ผ่านเข้ามาในแอ่งจะผ่านลูกบอลอีก 2 ลูก และเมื่อท้นออกจากตรงถุงทรายที่ 4 จะผ่านลูกบอลอีกลูก

รวมลูกบอลที่ร่วมกันปรับสภาพน้ำในแอ่งทั้งหมด 6 ลูก (ขนาดลูกบอลที่ปั้นไว้มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว) รวมก่อนไหลลงท่อรับ น้ำก็ผ่านลูกบอลทั้งหมดเป็น 7 ลูก

ก่อนปรับจุดวางถุงทรายก็วัดเคมีน้ำไว้  ซึ่งก็ได้ผลมาว่าเมื่อเกิดสภาพน้ำขังมากขึ้นและไหลช้าลง น้ำทุกจุดก็ยังคง pH7 อยู่เช่นเดิมแต่ว่าค่า DO บางจุดถอยกลับไปเท่าน้ำที่ไหลแรงเร็วและไม่มีลูกบอลน้ำหมัก  และหลายจุดมีค่าลดลงกว่าก่อนทำฝายเล็กน้อย

น้ำที่พบค่า DO ถอยกลับไปเหมือนก่อนใส่ลูกบอล คือ น้ำที่อยู่ระหว่างต้นน้ำกับถุงทรายจุดที่ 2 และน้ำที่ไหลผ่านลูกบอลลูกสุดท้ายก่อนไปลงท่อรับ ทำให้สะกิดใจว่าน้ำที่ไหลช้าลงเป็นต้นเหตุให้ DO เปลี่ยนแปลงหรือว่าเป็นปัจจัยอื่นเข้ามาเอี่ยวด้วย

หลังจากปรับตำแหน่งถุงทรายใหม่ น้ำที่เอ่อท้นตรงต้นน้ำก็ลดลง จนเหลือขลุกขลิก น้ำที่เหลือขลุกขลิกนี้มีปริมาณ 2 เท่าของน้ำขลุกขลิกที่ขังอยู่ก่อนน้ำท้น

ความช้าของการไหลคืนกลับมาเป็นเร็วเหมือนเดิมทุกจุด ลูกบอลน้ำหมักยังอยู่ที่เดิม ก้อนเท่าเดิม สีน้ำยังขุ่นโดยเฉพาะน้ำตรงแอ่งน้ำจำลอง

บอกลูกน้องให้เติมลูกบอลเพิ่มอีก 4 ลูกก่อนกลับบ้าน 2 ลูก ให้หยอดไว้ที่แอ่งน้ำขลุกขลิก   อีก 2 ลูกให้แบ่งเติมตรงจุดที่ห่างจากต้นน้ำ 3 เมตรและแอ่งจำลอง ณ จุดที่ใกล้กับจุดที่อุนจิถูกปล่อยลงในแอ่ง

วันต่อมาตามไปดู  สภาพในคูแปลกตาไปเยอะ  น้ำที่ขุ่นกลายเป็นน้ำใส เห็นการไหลรินชัดทุกจุด  ตะไคร่ขาวยังเห็นอยู่ตรงพื้นที่ระหว่างต้นน้ำลงมาหาจุดห่างต้นน้ำ 1 เมตร ที่อื่นไม่มีแล้ว

อืม การลองขังน้ำเมื่อวานแม้เพียงครู่ ช่วยล้างคูให้สะอาดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ ดีแฮะ ผลเคมีน้ำที่ลูกน้องมาวัดใหม่พบว่า ค่า DO ในภาพรวมเพิ่มขึ้นและน่าพอใจ (จากค่าเดิม 2 กว่าๆ เพิ่มเป็น 3-4-5) pH ของน้ำยังเป็น 7

เคมีน้ำที่เปลี่ยนอย่างเห็นได้ชัดทำให้ดีใจ  อยากให้ลูกน้องดีใจกับการทำประโยชน์นี้ จึงให้แวะไปถามคนไข้ ได้ความกลับมาว่า บางช่วงเวลา คนไข้ยังรู้สึกว่ามีกลิ่นเหม็น ซึ่งพอถามว่าเป็นเวลาไหน คำตอบบอกมาว่าหลังฝนตก เวลาอื่นไม่ได้กลิ่นแล้ว

แปลกใจกับคำตอบ หลังฝนตกน้ำมีกลิ่นเหม็นได้ยังไง ในเมื่อน้ำฝนที่ลงมาปนเป็นน้ำดี คงต้องตามดูต่อแล้วละ ว่ากลิ่นที่ว่าเกิดได้ยังไง

เรื่องที่ทำให้ดีใจอีกเรื่องก็คือ ตรงแอ่งจำลองที่มีอุนจิปล่อยลงมานั้น น้ำใสแจ๋วเหมือนน้ำตามน้ำตก มีตะกอนสีเหลืองตรงก้นคู ซึ่งถ้าไม่รู้มาก่อนก็ดูไม่ออกแล้วว่าเ็ป็นอุนจิ  ยังมีกลิ่นบางๆมาก ซึ่งจะต้องยืนอยู่นานมากจึงรับรู้ได้

ที่ดีใจก็เพราะว่าก่อนหน้านี้ ทุกคนรวมทั้งลูกน้องที่ลงมาทำงานตรงนี้แหยงกับน้ำตรงนี้  วันนี้เมื่อลูกน้องเห็นลักษณะน้ำและรับรู้ผลเคมีที่เปลี่ยนไป สัมผัสได้เลยว่าเขาผ่อนคลายขึ้นเยอะ เต็มใจลงมาทำงานมากขึ้น ดีใจที่ความสะอาดของน้ำที่ได้คืนมา ทำให้เขาทำงานสบายใจขึ้นค่ะ

« « Prev : ตามลม(๒๓): ลองลูกบอลน้ำหมัก….ถุงทราย…ฝายแม้ว

Next : ตามลม (๒๕) : ยุง น้ำเหม็น ผักตบชวา เจอกันแล้วยังไง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 กรกฏาคม 2011 เวลา 1:00

    ยินดีด้วยครับพี่

    ส่วนหัวเชื้อจุลินทรีย์นั้น พี่เริ่มขยายได้เลยครับ
    1 ช้อนโต๊ะ = 15 มิลลิลิตร
    น้ำเปล่าในขวดน้ำอัดลมขนาด 1 ลิตร หรือ 1.25 ลิตร
    น้ำตาลทรายแดง 1 ช้อนโต๊ะ
    หัวเชื้อจุลินทรีย์ 5 ช้อนโต๊ะ

    ผสมให้เข้ากัน แล้วเทกลับลงไปในขวดน้ำอัดลม “จนเต็ม” (หมายความว่าคว่ำขวดก็ไม่เห็นฟองอากาศ) ปิดฝาให้แน่น ทิ้งไว้ในร่ม 7 วัน ถ้าหมักไว้ใช้ได้ เปิดฝาออกนิดหนึ่ง จะได้ยินเสียงฟิ๊ด แล้วรีบปิดไว้เหมือนเดิม ทั้งนี้เพราะกระบวนการหมักเกิดก๊าซขึ้น​ จึงควรใช้ขวดน้ำอัดลมมากว่าขวดน้ำ

    เมื่อหมักครบ 7 วัน ก็จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ลิตร หรือ 1.25 ลิตร แล้วแต่ว่าใช้ขวดขนาดไหน; เวลาจะเอาไปใช้ ไม่ต้องขยักไว้นะครับ พยายามใช้ให้หมด ไม่เหลือทิ้งไว้เพราะเมื่อโดนอากาศ ประสิทธิภาพมันค่อยๆ เสื่อมลงครับ ส่วนที่เหลือ ผสมน้ำในอัตราส่วน 1:100 ใช้รดต้นไม้ หรือถ้าไม่หมดจริงๆ เอาไปเทใส่ส้วมหรือท่อระบายน้ำได้เลยครับ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.32040905952454 sec
Sidebar: 0.13411593437195 sec