ตามลม (๒๕) : ยุง น้ำเหม็น ผักตบชวา เจอกันแล้วยังไง

อ่าน: 1416

การตามเรียนรู้ว่าลูกบอลและฝายทำงานอย่างไรยังดำเนินต่อไปทุกๆวัน ในช่วงเวลาที่ลองบางวันมีฝน บางวันไม่มี  สิ่งที่พบมีบางอย่างที่น่าสนใจในเรื่องของยุงและหนู

เดิมทีตรงมุมตึกใกล้ๆต้นน้ำ เมื่อเดินผ่านในบางเวลา จะเห็นหนูพากันมาแอบกินน้ำ บางเวลาหลายตัว บางเวลาตัวเดียว เพิ่งสังเกตว่าหลังจากวางท่อสีฟ้าลงไปลดกลิ่นน้ำเสีย ไม่เห็นมันเลย

มีความเป็นไปได้ว่าหน้าฝน ประชากรหนูอพยพหนีฝนไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว  ตรงนี้บันทึกเป็นข้อสังเกตไว้ก่อนละกันว่าเมื่อลดกลิ่นน้ำเสียลงได้ หนูลดลง  แม้ว่าความจริงที่อธิบายได้ยังไม่ปรากฏ แต่ก็สบายใจขึ้นอีกเปลาะเมื่อไม่เห็นมันมาเพ่นพ่านแล้ว

ตามไปดูน้ำที่บำบัดไปเรื่อยๆหลังจากน้ำใสปิ๊ง ก็พบว่าเหนือน้ำของคูที่มีน้ำใสบางจุด มีฝูงยุงบินว่อน มีทั้งบินเหนือคูให้เห็นจะจะ และบินฮือขึ้นเมื่อวัชพืชเล็กๆที่ขึ้นริมคูถูกลุย  น้ำขลุกขลิกต้นน้ำก็มีฝูงยุงบินว่อนด้วย

ทฤษฎีกำจัดยุงลายที่ถ่ายทอดบอกว่ายุงลายชอบวางไข่ในน้ำนิ่งขัง แม้น้ำใสในคูเป็นน้ำไหลเร็ว ก็ยังกังขากันว่าจะไม่เป็นแหล่งเพาะยุงลาย จึงมีการนำปลาหางนกยูงมาปล่อยให้เวียนว่ายกินลูกน้ำที่อาจจะมี

วันนี้เมื่อน้ำใสขึ้น ปลาก็ว่ายวนยั้วเยี้ยไปหมด ยั่วใจเด็กที่มาเยี่ยมไข้กับพ่อแม่ ชี้ชวนกันลงไปจับเล่น จนต้องคอยระวังไม่ให้เด็กลงไปคลุกเล่นกับน้ำในคู

ด้วยความสามารถของปลานี้มีจำกัดตรงที่มันกินลูกน้ำทีละตัว จึงมีความเป็นไปได้ที่การจัดการลูกน้ำจะไปได้ช้ากว่าการโตเป็นยุงได้เร็วของมัน  จนวันนี้ลูกน้องจึงยังคงจัดระบบมาหยอดทรายฆ่าลูกน้ำในบริเวณคู ตามดู ตามสำรวจหาลูกน้ำทุก 3 เดือน

พบภาชนะใส่น้ำก็จับคว่ำซะ  หยอดทรายไว้ในแหล่งน้ำขลุกขลิกที่พบเจอ  ผนวกกับกิจกรรมสำรวจซ้ำหลังฝนตก 5-7 วัน

กิจกรรมอย่างหลังนี้เกิดจากนึกเอะใจว่าหลังฝนตกจะเกิดลูกน้ำได้เร็วเท่าไรแล้วลองสำรวจลูกน้ำนอกแผน ลองแล้วก็พบว่าไม่เกิน 3 วันหลังฝนตก อะไรที่มีน้ำขังอยู่ขลุกขลิกจะผลิตลูกน้ำรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้น

ฝนทางใต้ตกไม่เป็นฤดู ไข้เลือดออกเกิดบ่อยจนเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว รู้แล้วอยู่เฉยก็ไม่ฉลาด นำมาใส่ระบบงานปิดจุดบอดของงานป้องกันโรคที่ยังมีซะเลย

วันนี้น้ำในคูใสกว่าเดิมมากมาย ยั่วใจให้เด็กที่หลุดเข้ามาในรพ.ลงไปจับปลาเล่น แล้วยังมีฝูงยุงบินให้เห็น จึงเป็นอะไรที่ยังต้องหาทางออกที่แก้ไขได้ดีกว่านี้

ในระหว่างที่ลองอยู่กับคูหลังตึก ก็เลือกคูข้างตึกลองไปด้วย น้ำในคูด้านนี้เป็นน้ำซักล้างปล่อยทิ้งมา ตั้งใจเลือกจุดที่มียุงบินว่อน กั้นฝายใส่ลูกบอลลงไปลอง  ผลน้ำตรงนี้ดีขึ้นไม่แตกต่างจากน้ำในคูหลังตึก  ยุงบินบางตาลงในบางวัน และมีบางวันไม่มียุง

ภาพน้ำไหลช้าตอนลองฝาย ส่งภาพการบำบัดน้ำเสียในบึงมักกะสันแวบเข้ามา อืม น่านำผักตบชวามาลอง เผื่อจะได้ทางออกเรื่องการใช้ปลาจัดการยุงที่ไม่ยั่วสายตาเด็ก  และจัดการต้นน้ำที่มีตะกอนขาวและกลิ่นหลงเหลือดูบ้าง

จึงเริ่มหาผักตบชวา หากันอยู่กว่าสัปดาห์ก็ไม่ได้ จนกระทั่งลูกน้องคนใหม่กลับไปเยี่ยมบ้าน จึงไปได้มาจากสตูลโน่นแนะ เป็นอะไรที่ไม่น่าเชื่อว่าตามหมู่บ้านในเมืองกระบี่พันธุ์ผักตบชวาหายาก แต่ก็เป็นไปแล้ว

ก่อนใช้ถุงทรายทำฝาย ได้ลองใช้ถุงพลาสติกใส่น้ำไปลองก่อนในคูข้างตึก วางวันแรกก็อยู่ได้ดี แต่วันต่อมามันหายไป ทีแรกคิดว่าคนงานหวังดีเก็บมันทิ้งไป ก็ไปสั่งความว่าอย่ารื้อมันทิ้งหากเห็นใหม่

ไปลองใหม่ แล้วบังเอิญฝนตก หลังน้ำฝนปนลงคู มีถุงน้ำหายไปบางส่วน  ก็เอะใจว่ามันอาจไหลลงท่อ

ให้ลูกน้องลองเขี่ยหา ได้ถุงติดกลับออกมาเมื่อควานลึกเข้าไปในท่อ เลยอ้อว่า มือดีที่จัดการถุงน้ำให้หายไปเป็นน้ำในคูที่ไหลแรงนี่เอง

ระหว่างควานถุงน้ำขึ้นให้หมด ก็ไปเตรียมถุงทรายมาใช้แทน เรื่องนี้ให้ความรู้ว่าถุงพลาสติกใส่น้ำนั้นกลิ้งได้ เวลาวางมันซ้อนกันไว้ มันกลิ้งออกห่างกันได้เอง เวลามีแรงน้ำมากระแทก มันกลิ้งตามได้ด้วย และถ้าน้ำนั้นมีแรงดันมากกว่า มันจะลอยน้ำและไหลไปกับน้ำได้

เมื่อได้ผักตบชวามาแล้ว ก็นำไปลองใช้ตรงฝายในคูข้างตึก ทิ้งไว้คืนหนึ่งไปดูและวัดเคมีน้ำพบว่า ค่า DO เพิ่มขึ้น สีน้ำไม่ใสขึ้น ก้นคูยังมองไม่เห็น  ให้ลูกน้องตามตรวจเคมีน้ำวันละครั้ง พบว่าค่า DO เพิ่มขึ้นช้าๆ ในวันแรกๆไม่ต่างกับการใส่ลูกบอลน้ำหมัก จะบอกว่าประสิทธิภาพของอะไรดีกว่า จึงยังบอกไม่ได้

ลอยทิ้งผักตบชวาไว้ข้างตึกแล้วตามดูได้ 2 วัน ก็ลองใช้ผักตบชวาจัดการกับตะกอนสีขาวที่เหลืออยู่ตรงคูต้นน้ำที่หลังตึกด้วย  ใช้ถุงทรายทำฝายขึ้นมาที่ต้นน้ำ ได้น้ำขังก็นำผักตบชวามาลอย วัดค่าเคมีน้ำก่อนลอยและหลังลอย 3 ชั่วโมง ผลตรวจให้ข้อมูลว่าหลังลอยผักตบชวาน้ำมีค่า DO แย่ลง ตะกอนขาวก้นคูเหมือนเดิม

จึงย้อนกลับไปดูเรื่องยุงว่ามีอะไรเปลี่ยนบ้าง อืม ลอยผักตบชวาข้างตึกแล้ว บางวันเหนือคูมียุง บางวันไม่มี รอดูไปก่อนละกัน อย่าเพิ่งฟันธงว่าผักตบชวาจะไม่ช่วยแก้เรื่องยุง

« « Prev : ตามลม (๒๔) : น้ำขัง ไหล นิ่ง เวลา กับลูกบอลน้ำหมักเป็นยังไง..ดูไว้หน่อย

Next : ตามลม (๒๖) : ผักตบชวาฟอกน้ำให้ใสได้ช้ากว่าลูกบอลน้ำหมัก???? » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ตามลม (๒๕) : ยุง น้ำเหม็น ผักตบชวา เจอกันแล้วยังไง"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.083076953887939 sec
Sidebar: 0.10771107673645 sec