ตามลม(๒๓): ลองลูกบอลน้ำหมัก….ถุงทราย…ฝายแม้ว

อ่าน: 1487

ระหว่างที่แวะไปดูหน่วยไตเทียม ก็ไม่ได้ทิ้งการตามดูตึกเจ้าปัญหาว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง มีอะไรต้องทำต่อบ้าง

เรื่องหนึ่งที่แน่ๆว่าดำเนินการต่อ คือ การหาวิธีจัดการน้ำด้วยน้ำหมักชีวภาพ ลูกบอลน้ำหมักชีวภาพ คือ ทางออกที่เลือกไว้ สำหรับใช้เป็นเครื่องมือบำบัดกลิ่นที่ยังเหลือและเปลี่ยนน้ำขุ่นให้เป็นน้ำใส  โดยใช้น้ำหมักชีวภาพที่รพ.ทำเอง

แต่บังเอิญว่าน้ำหมักที่มีนั้นหมดลง ทำให้ต้องรออยู่ราวหนึ่งสัปดาห์จึงสามารถดำเนินการต่อ ได้น้ำหมักชีวภาพมาแล้ว ก็ให้ลูกน้องไปหาดินเหนียวและใบไม้ร่วง มาปั้นเป็นก้อนกลมๆขนาดเท่าลูกเทนนิส ตากแดดครบ 7 วันก็เริ่มจัดการปัญหากัน วิธีที่จะลองต่อคือ หยอดวางตรงที่มีน้ำเสียเป็นระยะๆ

ที่ใช้ใบไม้ร่วง ทั้งๆที่ต้นฉบับลูกบอลน้ำหมักนั้นใช้ขี้เลื่อย รำ แกลบ ดินเหนียว และน้ำหมักชีวภาพมาผสมเข้ากัน ก็มาจากความเข้าใจว่าขี้เลื่อย รำ แกลบ เป็นแหล่งเซลลูโลสที่จำเป็นต้องไว้เลี้ยงเชื้อ น้ำหมักชีวภาพคือแหล่งเชื้อ ดินที่ห่อหุ้มเป็นบ้านให้เชื้อได้อยู่อย่างสุขสบาย ดินเหนียวเกาะตัวกันได้ดี

ที่ต้องให้เกาะตัวกันได้มั่นคงพอก็เพื่อให้บางจุดในลูกบอลเกิดภาวะขาดอากาศ บางจุดมีอากาศซึมเข้าไปได้ ดินช่วยปรับความเย็นร้อนของบ้านให้เชื้ออยู่สบาย ฉะนั้นจะใช้วัสดุธรรมชาติอะไรก็ได้ใกล้ตัวที่สามารถให้เซลลูโลสได้ การบ่มเชื้อวิธีนี้จะเพิ่มเชื้อที่มีทั้งเชื้อที่ใช้อากาศและไม่ใช้อากาศในการดำรงชีวิตของมัน

เข้าใจอย่างนี้และอยากรู้ว่าที่เข้าใจอยู่นั้นจริงแค่ไหนจึงลองแหกคอกทำไม่เหมือนครู  ระหว่างรอลูกบอล น้ำหมักชีวภาพจากน้องชายที่รักก็มาถึงมือ แต่ยังไม่นำมาใช้หรอก ขอลองในสิ่งที่อยากรู้ก่อนเน้อ

จุดที่หยอดลูกบอลไว้ก็มี จุดเริ่มต้นที่เห็นน้ำไหลที่ออกมาจากใต้ตึก จุดระหว่างกึ่งกลางของน้ำไหลในคู  จุดเหนือจากรูท่อรั่วที่มีอุนจิไหลออกมาพร้อมกระดาษชำระ และจุดใต้กว่ารูปล่อยอุนจิ ก่อนหยอดก็วัดเคมีน้ำเอาไว้  เมื่อผ่าน 24 ชั่วโมงไปแล้วก็วัดเคมีน้ำของแต่ละจุดซ้ำ

สิ่งแรกที่เห็นว่าเปลี่ยนไปคือ ความใสขึ้นของน้ำและกลิ่นเหม็นที่ลดลงอีก เคมีของน้ำเปลี่ยนเป็นด่างมากขึ้น (pH 6.5 เปลี่ยนเป็น pH 7) และค่าออกซิเจนที่ละลายน้ำ (ค่า DO) ไม่เพิ่ม ส่วนของคราบสีขาวตรงตะกอนที่พื้นคูยังหนาอยู่ จึงหยอดลูกบอลเพิ่มไปที่แต่ละจุดอีกเท่าตัวหลังได้ผลเคมีน้ำ

16 ชั่วโมงให้หลัง ตามวัดเคมีน้ำซ้ำ คราวนี้ค่า DO เพิ่มขึ้นเล็กน้อย น้ำใสแจ๋วเป็นตาตั๊กแตน กลิ่นลดลงเหลือแค่ขนาดที่คนจมูกไวเท่านั้นรู้สึก  คราบสีขาวในคูมีบางส่วนที่บางลง ความขาวที่ลดลงอยู่ในแนวของปลายน้ำที่ไหลผ่านลูกบอลน้ำหมัก  ส่วนที่อยู่ฉีกแนวไปยังเหมือนเดิม

ไม่อยากได้ตะไคร่สีขาวที่เห็น คิดไปว่าถ้าขังน้ำให้ท่วมลูกบอลได้คงจะได้ผลกว่า แนวคิดฝายแม้วกักน้ำไว้บำบัดจึงถูกนำมาลอง

ถุงทรายถูกวางขวางในคู 4 จุด จุดแรกอยู่ต่ำกว่าปลายท่อตรงต้นน้ำครึ่งฟุต  จุดที่ 2 อยู่ตรงปลายคูก่อนถึงมุมเลี้ยวของคู 3 ฟุต จุดที่ 3 อยู่เหนือท่อปล่อยอุนจิ 3 ฟุต  จุดที่ 4 อยู่ต่ำกว่าท่อปล่อยอุนจิ 4 ฟุต

วางถุงทรายแล้วก็ทิ้งไว้  2 ชั่วโมงหลังวางก็ไปดูซ้ำ อ้าว น้ำทุกจุดขุ่นขึ้น ตะกอนขาวหนายังอยู่ น้ำในคูท้นขึ้นไปสู่ต้นน้ำ ต้นน้ำมีน้ำเอ่อขึ้นไปถึงที่ว่างเหนือท่อ น้ำในคูที่ไหลเรื่อยชิดพื้นคูที่มองระดับความลึกไม่ออก กลายเป็นน้ำที่มีเห็นระดับความลึกได้ชัดเจน

ก็เลยได้ความรู้แถมเรื่องการจัดการน้ำไหลมาว่า คูน้ำตรง เรียบและแข็งแรงที่มีน้ำไหลแรง เร็ว เมื่อมีฝายกั้นทางน้ำไว้ตรงใกล้ต้นน้ำ และจุดห่างออกมา น้ำที่ไหลผ่านลงมาหาจุดที่ห่างต้นน้ำจะชะลอความแรง และลดความเร็วของการไหล ถึงแม้น้ำที่ไหลเอ่อล้นฝายจะไหลแรง

ตรงจุดแรกเหมือนมีแรงดันย้อนกลับไปทำให้มีน้ำเอ่อไปท้นขังในที่ราบที่มีอยู่ใกล้ๆต้นน้ำสมทบกับน้ำที่ไหลจากต้นน้ำกลายเป็นวงกว้างขึ้น ที่ราบนั้นมีน้ำขังอยู่แล้วจึงมีระดับน้ำขังเพิ่มขึ้นทั้งแนวกว้างและแนวลึก

น้ำขังเพิ่มนี้เมื่อมาดูต่อในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมา มียุงบินว่อน ในขณะที่ก่อนน้ำท้นไม่เห็นยุง ทำให้เกิดคำถามอยู่เหมือนกันว่าแค่น้ำขังแป๊บเดียวทำไมจึงกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงไปได้

ก็เก็บข้อสังเกตนี้รวบรวมไว้กับข้อสังเกตเก่าที่บันทึกไว้เพื่อติดตามแหล่งเพาะยุงต่อไป

« « Prev : เรื่องของเส้นใหญ่

Next : ตามลม (๒๔) : น้ำขัง ไหล นิ่ง เวลา กับลูกบอลน้ำหมักเป็นยังไง..ดูไว้หน่อย » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2011 เวลา 19:06

    การกั้นน้ำมันก็ไหลได้เร็วช้าลง ก็ต้องเพิ่มพื้นที่การไหล เพื่อให้ไหลได้เท่าเดิมครับ

    การไหลเร็วมีทั้งโทษและประโยชน์ ไหลกลางๆ น่าจะดีที่สุดครับ

    อยากเสนอให้ลอง แผ่น มากกว่าลูกบอล คือเอาลูกบอลมาบีบเค้นให้เป็นแผ่น แบบ แผ่นเต้าหู้ จะได้พื้นที่สัมผัสมากกว่า ปฏิกิริยาเร็วกว่า แต่จะทำไงให้แผ่นมันวางตั้งไม่วางนอน เพื่อให้สัมผัสของเสียรอบด้าน อาจเอาลอยห้อยไว้กับขวดพลาสติก

    ปั้นเป็นลูกกลมเล็กๆ หลายลูก ดีกว่าลูกกลมใหญ่ๆ ลูกเดียวนะครับ เพราะ พท.ผิวสัมผัสมากขึ้น ปฏิกิริยาเร็วขึ้น อาจทันต่อความเร็วการไหล ต้องมีการวนน้าจากผิวให้ลงมาสัมผัสลูกบอลเล็กๆ ให้ทั่วถึงด้วยนะครับ (เดาเอานะเนี่ย แต่คิดว่าไม่ผิด เพราะปฏิกิริยาชีวเคมี มันก็เหมือนกับทั่วไป คือต้องมีการ สัมผัส ผ่าน พื้นที่ เสมอ ยิ่งพื้นที่สัมผัสมากยิ่งเกิดได้เร็วครับ แต่บางทีความเร็วเกินไปก็ไม่ดีเหมือนกันนะ )

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 กรกฏาคม 2011 เวลา 21:43

    เมื่อได้เห็นจากของจริง ก็เกิดความคิดแบบที่อาจารย์บอกมาค่ะ ตอนนั้นนึกถึงรูปร่างแผ่นหญ้าที่เขานำไปปูสนามเพื่อปลูกหญ้า ความที่อยากรู้ว่าใส่ลูกบอลแล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงในแต่ละวันบ้าง เพื่อดูผลทางเคมีของสิ่งที่อยากได้ ก็เลยยังไม่ได้ลองค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.099302053451538 sec
Sidebar: 0.50590896606445 sec