ตามลม(๒๐): ของเสียอยู่ผิดที่ได้ไง…เป็นเรื่องแล้วซิ
เวลาที่ให้ลูกน้องไปเดินสำรวจดูแหล่งเพาะลูกน้ำ ก็ฝากไปว่าให้แวะดูรอบๆตึกเจ้าปัญหาให้ด้วย ลูกน้องไปทำงานแล้วก็กลับมาบอกว่า มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่งว่า ปลาหางนกยูงที่เคยใส่ไว้ให้กินลูกน้ำในคูหายไปหมด
วันที่เขาไปด้อมๆมองๆนั้น ตรงคูของตึกเจ้าปัญหามีกลิ่นเหม็นและในน้ำมีอุนจิลอยด้วย มีคราบสีขาวในคูหนาเป็นทางยาวตลอดคู เป็นไปได้หรือไม่ว่าปลาตายเพราะน้ำเสีย
รู้เรื่องอุนจิก็ตามช่างประปามาปรึกษาด่วน เรื่องราวที่เห็นมานั้นเป็นจริงหรือ ช่างประปาบอกเล่าว่าเป็นไปได้ที่สิ่งที่เห็นจะเป็นจริง ตึกนี้เป็นตึกเก่า มีท่อระบายลงบ่อเกรอะที่เบี่ยงทางไว้ไม่หมด วันนี้ท่อมันคงขาดลงจึงเป็นเรื่อง จะแก้เรื่องท่อรั่วก็ต้องทุบห้องน้ำชั้นบน ชั้นล่าง ทำซะใหม่ มีวิธีเดียวเท่านั้นเอง
เรื่องราวที่ได้ฟังพาให้อึ้งซิ เรื่องใหญ่เชียวนารื้อห้องน้ำทำใหม่ ต้องหาวิธีชั่วคราวจัดการด่วนก่อนเหอะ กลับมานั่งกุมขมับที่ห้องทำงานอยู่พักใหญ่ คิดได้ก็ชวนลูกน้องลงไปลอง
ขนน้ำหมักชีวภาพจากงานโภชนาการมา ๑ แกลลอน โครมเดียวเทใส่ลงในคูน้ำ ไม่ถึง ๑๐ นาทีน้ำหมักก็ไหลไปกับสายน้ำในคูจนไร้รอย
ช่วงบ่ายกลับไปถามคนไข้ในตึก กลิ่นเป็นไง คนไข้ตอบว่า “เบาลง” ได้ทีจึงบอกเขาไปว่า กำลังลองแก้ปัญหากลิ่นกันอยู่ เป็นยังไงบอกตรงๆได้ วันนี้เปลี่ยนยังงี้ พรุ่งนี้เป็นยังไงจะมาถามต่อ
กลิ่นน่าจะลดลงมากมั๊ง เพราะก่อนผละมา คนไข้ถามว่า “ใส่อะไรลงไปในน้ำ” ค่ะ
กลับไปดูที่คูใหม่ สังเกตเห็นว่าตรงเหนือคูมียุงบินว่อน ช่วยกันมองหาจุดที่จะมีลูกน้ำซ่อนก็ไม่เห็น กลับถึงที่ทำงาน คุยให้ลูกน้องอีกคนฟัง ก็ได้คำบอกว่า ตรงที่เห็นยุงนั้นเขาโรยทรายฆ่าลูกน้ำเอาไว้แล้ว
รุ่งเช้าไปตามดูผล ตะกอนขาวในคูหลุดหายไปแทบไม่เหลือรอย น้ำใสแจ๋วเหมือนน้ำสะอาด กลิ่นหายเกลี้ยง หายใจสบายจมูก ให้ลูกน้องเข้าไปถามคนไข้ ก็ได้คำตอบว่าน้ำไม่เหม็นเลย เอาละเรื่องกลิ่นมีวิธีจัดการได้แล้ว
๒ วันต่อมาลูกน้องก็มาบอกด้วยความดีใจว่า ปลาหางนกยูงเต็มไปหมด ตรงจุดที่สงสัยว่าทำไมปลาไม่ว่ายมา วันนี้มีปลาว่ายมาถึง เขาแน่ใจว่าเป็นเพราะน้ำเสียปลาจึงไม่มาอยู่ จึงบอกให้เขาเก็บข้อสังเกตนี้ไว้ใช้สังเกตกายภาพของน้ำ แล้วเติมว่า ถ้าเชื่อว่าเป็นน้ำเสีย ต่อไปเห็นก็ให้เก็บน้ำตรวจได้เลย
ระหว่างตัดสินใจว่าจะเลือกใช้น้ำหมักชีวภาพในรูปแบบไหนต่อไป ก็ทิ้งเรื่องไว้ ๓ วันไม่ได้ไปดู ไปอีกที อ้าว น้ำขุ่นขึ้นอีกแล้ว มีคราบขาวๆอีกแล้ว เริ่มหนาขึ้นด้วย แต่ยังไม่มีกลิ่น
นึกได้ว่าคูนี้ต่อยาวไปถึงแหล่งน้ำขังใต้ตึก แหล่งส่งความชื้นใหญ่ของตึกนี้ น้ำใต้ตึกก็มีกลิ่นเหม็นโชยด้วย น้ำในคูก็ไหลตลอดเวลา ใส่น้ำหมักชีวภาพแล้วหายในพริบตาอย่างที่เจอมา ยังงี้หาคนว่างมาเติมใส่ยาก
แล้วก็แว๊บว่าพอจะเห็นวิธีการง่ายๆที่น่าลอง วางท่อทำเป็นคูน้ำเก็บกลิ่นน่าจะได้นะ คิดแล้วก็ชวนช่างมาขายไอเดีย จนช่างยอมทำ
หลังวางท่อไปแล้ว ๑ วัน หัวหน้าช่างวิ่งโร่มาหา หน้าตาตื่นเต้น เขามาบอกว่า ที่หมอให้วางท่อทำให้แล้ว กลิ่นเหม็นหายไป ดูเหมือนเขาดีใจที่ใช้วิธีง่ายๆแค่นี้ก็ได้ผล ดีใจจนต้องแวะมาบอกกันอย่างนี้ก็แปลว่า ฉันได้แนวร่วมมาแก้ปัญหาอีกคนหนึ่งแล้ว ไชโย
หลังเขามาบอกฝนก็ตก จำได้ว่าพยาบาลเคยบอกว่า ฝนตกจะมีกลิ่นเหม็น จึงลงไปดู อืม เหมือนจะยังเหม็นอยู่นะ แต่แทบไม่รู้สึกแล้ว
กลับมาคิดเรื่องรูปแบบของการใช้น้ำหมักชีวภาพต่อ คิดออกพอดี น้องชายที่รักก็ติดต่อบอกข่าวว่าจะส่งน้ำหมักชีวภาพมาให้ รับปากกันไปว่าได้มาก็จะลองใช้ เปรียบเทียบกับน้ำหมักชีวภาพที่ทำเองในรพ. ได้ผลยังไงก็จะนำมาเล่าบนลานแบ่งปันความรู้กัน
วันนี้ไปดูท่อที่ช่างวางไว้ให้ ปรากฏว่ามีขยะไหลออกมาค้างที่ปากท่อด้วย ในคูที่เปิดโล่งก็มีขยะทิ้งเกลื่อนเป็นระยะๆ เห็นความซับซ้อนของตึกเจ้าปัญหาแล้วก็ถอนใจ
บอกตัวเองว่า ใจเย็นๆ อย่างน้อยการบ้านเรื่องน้ำขังใต้ตึก และกลิ่นเจ้าปัญหา ก็เริ่มมีวี่แววจะคลี่คลายได้แล้ว ให้ลองต่อไป ทำงานด้วยความอยากรู้ แม้เรื่องจะยาก ก็ยังสนุกได้น่า…ตัวเอง
Next : ตามลม(๒๑) : ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นที่อับอากาศได้ » »
4 ความคิดเห็น
ไอ๋ย๋า หมอจ๋า ผมว่า มันสยดสยองมากเลยนะครับ
ขนาดโรงพยาบาลยังเป็นยังงี้ มีน้ำนองใต้ถุน ..ยังกะสลัมที่ผมหนีโรงเรียนไปนอนเล่นกะเพื่อน แถวๆซอยพญานาคเลยนะครับ
โชตดีที่มีคนอย่างหมอมาบริหาร
ให้ผมช่วยอะไรได้ก็ยินดีเลยครับ รวมทั้งเอาศพมาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่เหม็นๆ (ขนาดตายแล้วยังอยากซ่า ห้าฮ่า๕)
แว๊ก หลายวันแล้วยังไม่ได้ส่งหัวเชื้อ EM ลงไปให้เลยครับ เพิ่งกินยาหมดขวดคืนนี้เอง และเพิ่งจะมีขวดพอที่จะแบ่งหัวเชื้อไปให้ พรุ่งนี้ส่งให้นะครับ ต้องแบ่งเพราะส่งไปทั้งกระป๋องไม่ได้เนื่องจากน้ำหนักเกินครับ ไปรษณีย์ไม่รับ… ส่ง EMS ไปแล้ว ก่อนเที่ยงวันที่ 21 ครับ
คูที่มีน้ำไหล อาจลองปั้น EM Ball ให้มันค่อยๆ ปล่อยจุลินทรีย์ได้นะครับ — วิธีปั้นก็ใช้ดินโคลน/ดินเหนียว ผสมแกลบ/รำ (เพื่อเป็นอาหารของจุลินทรีย์) ผสมน้ำหมัก EM จนหมาดๆ พอปั้นเป็นก้อนได้ ตากลมไว้ในร่มให้แห้งสัก 7 วัน (ระหว่างตากลมจนแห้งนี้ คือเวลาในการหมักจุลินทรีย์) แล้วจึงนำไปทิ้งคลองครับ ก้อน EM Ball ค่อยๆ ละลายไป ก็ค่อยๆ ปล่อยจุลินทรีย์ไปด้วยครับ
#1 ความเป็นรพ.เก่าที่ทำให้ต้องแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างอย่างนี้แหละค่ะ อาจารย์ ตึกเจ้าปัญหานี้ถ้าเทียบกับอายุคนก็เลยเบญจเพศมาแล้วหลายขุม ไม่มีงบสร้างใหม่ก็ทุบกันไปแก้กันไปตามแต่ไปเห็นคนอื่นเขาทำ คนที่มาคิดให้ก็ไม่มีข้อมูลบริบท คนที่มีข้อมูลบริบทก็ให้ข้อมูลไม่พอ สำหรับทำให้คนมาช่วยแก้ปัญหาเกิดความเข้าใจบริบทก่อนลงมือแก้ วนเวียนอยู่อย่างนี้มาเนิ่นนาน เสียดายงบหลวงที่ถูกใช้ไป พอจะทำอะไรได้ก็ทำ คิดแค่นั้นเองค่ะ
ตอนที่ไปเห็นนั้นก็ร้องไอ้หย๋าเหมือนอาจารย์เลยค่ะ กว่าจะคลำปมได้ว่าแก้อะไรได้บ้างที่ลงมือง่ายๆได้ก่อน ก็ใช้เวลาเหมือนกันกับเรื่องที่ไม่ถนัด
รออาจารย์ตอบเรื่อง “เวลา” อยู่นะคะ รอบแรกที่จะไปช่วย จะให้เวลาสำหรับลูกศิษย์สักกี่วัน เดินดูของจริงแล้วคุยกันน่าจะม่วนค่ะ
#2 คิดถึง EM ball อยู่เหมือนกัน กำลังจะลองดู วันนี้ลองไปดูความเร็วน้ำไหล อยู่ที่ราวๆ 1.5 ลบ.เมตร ต่อชั่วโมง (ถ้าคำนวณไม่ผิด) ไม่มีขี้เลื่อย ก็เลยให้ลูกน้องไปหาใบไม้มาปั้นกับดินเหนียวแทน ใช้น้ำหมักทำเองนี่แหละ ครบวันแล้วคงได้นำมาลองต่อไป กำลังเรียนรู้คุณสมบัติของน้ำเสียอยู่ค่ะ ไม่นึกเลยว่าจะมาเป็นหมอรักษาน้ำเสีย….5555
ช่วง 12-18 พค. หยุดสอบกลางภาค ผมว่าง เข้าใจว่ารพ.อยู่พัทลุง ใช่ไหมครับ เอาโลด ผมขับรถล่องใต้ จะถือโอกาสไปหาของเก่าด้วยแหละครับ ของทางใต้ผมมีน้อยมาก (แต่ที่ได้มาคือกระต่ายขูดมะพร้าวที่จ๊าบที่สุด เพราะมันพับเก็บกลายเป็นหมอนหนุนได้)
อยากได้เรือกอและ และเกวียนใต้ ไม่มีเกวียนเอา “หนวน” ก็ได้ ถ้าหมอหาของพวกนี้ให้ผมได้ ผมช่วยรพ.ฟรีเลยครับ อิอิ (ไปขู่คนไข้ให้ไปหามา แล้วจะรักษาให้ดีเป็นกรณีพิเศษ รับรองได้ของตรึม)
ไอ้เพื่อนผมมันเป็นนายพลทหารเรือหลายคน สัญญาว่าจะหาให้ก็หายต๋อมหมด