เหยื่ออารมณ์

อ่าน: 1677

รัก ชอบ เป็นธรรมดาแห่งอารมณ์ของผู้คน  การที่ใครมาพบกันแล้วเกิดความรัก ความชอบต่อกัน มิใช่เหตุบังเอิญ หากแต่เกิดขึ้นจาก การอยู่ร่วม การเกื้อกูลเป็นเหตุน้อมนำให้เกิด

การอยู่ร่วมกัน ทำอะไรตามกัน มีความเห็นสอดคล้องกัน ทำให้คนอยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข ความสุขทำให้การอยู่ร่วม ส่งผลเป็น “รัก” “ชอบ” ต่อกัน

เมื่ออยู่ร่วมแล้วปฏิสัมพันธ์ของคู่สัมพันธ์เกื้อกูลให้เกิด “รัก”  รักเกิดขึ้นเองไม่ได้ ถ้าไร้ซึ่งปฏิสัมพันธ์

การอยู่ร่วมกันมีวิบากกรรมที่ทำร่วมกัน วิบากกรรมที่มีต่อกันส่งผลให้เกิด รัก ชอบ ไม่รัก ไม่ชอบ เกลียด กลัว

อย่างนี้ปฏิสัมพันธ์ของคู่สัมพันธ์ ก็คือ วิบากกรรมที่ทำร่วมกันเนอะ

การได้ติดตามกัน ส่งเสริมกัน มีวิบากกรรมในทางที่ดี ได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ไม่ได้จู่ๆก็เกิด แต่มีเหตุเกิดมาก่อนจากการได้อยู่ร่วมมาในอดีต แล้วมามีการได้เกื้อหนุนกันในปัจจุบัน

เมื่อไรที่คู่สัมพันธ์ข้างใดข้างหนึ่ง รับรู้การเกื้อหนุนกันในปัจจุบัน แล้วได้ยินเสียงแรกในหัวว่า “ไม่สุข”  คำตัดสินจะส่งผลให้การอยู่ร่วม ณ ปัจจุบันเปลี่ยนไป  วิบากกรรม “การพลัดพราก” จะเกิดขึ้นเมื่อจิตของผู้นั้นทำให้ใจเร่าร้อน จนนำพาไปสู่การอยู่ร่วมไม่ไหวให้เกิดขึ้น

อย่างนี้ คำตัดสิน จิตที่ทำให้ใจเร่าร้อน การนำพาไปสู่การอยู่ร่วมไม่ไหว ล้วนเป็นวิบากกรรม ด้วยเนอะ

เคยเขียนบันทึกนี้เอาไว้เมื่อเห็นความกลัวที่เข้ามาใช้ชีวิตร่วม แล้วทำให้การใช้ชีวิตร่วมกับคู่สัมพันธ์อื่น ณ ที่ต่างๆ ไม่สุข จิตของตัวทำให้ใจเร่าร้อน อยู่เย็น ไม่ได้  ก็เข้าใจความกลัวมากขึ้น

เมื่อรู้แล้วปรับปฏิสัมพันธ์กับความกลัวซะใหม่ การได้ติดตามสะท้อนว่า การก้าวข้ามวิบากกรรมเดิมๆ มาสู่วิบากกรรมใหม่  “อยู่กับความกลัวให้เป็น” ทำให้ได้ “อยู่เย็น” มาเป็นผล วิบากกรรมใหม่นั้นมีเพียง “รับความกลัวไว้เป็นเพื่อนชีวิตโดยไม่รังเกียจ มองเห็นคุณค่า” เพื่อนคนนี้ก็จะอยู่เคียงข้าง และเกื้อกูล ณ ปัจจุบันในทางบวก

ความกลัวที่ได้รู้จักสะท้อนให้เห็น ความเป็นคู่สัมพันธ์ของอารมณ์กับตัวคน ว่าอยู่ร่วมแนบชิดมาแต่ในอดีต ต่อเนื่องมาเกื้อกูลกันในปัจจุบัน  และยังย้ำให้เห็นคู่สัมพันธ์ที่สำคัญของอารมณ์ว่าเป็นตัวเรานี่เอง หาใช่ใครอื่นไม่

เมื่อไรการเกื้อกูลกันของตัวเรากับอารมณ์กลัวเป็นผลลบ เมื่อนั้นคนอื่นก็เป็นเหยื่ออารมณ์กลัวของตัวเรา เข้าใจตรงนี้แล้วเปลี่ยนวิบากกรรมซะใหม่ ทำให้การเกื้อกูลกันของตัวเรากับอารมณ์กลัวเป็นผลบวก ก็ได้ “อยู่เย็น” มาเป็นผล

เมื่อวานนี้ได้ฟังเรื่องราวหนึ่ง ที่เป็นครูสะท้อนเรียนรู้เรื่องอารมณ์  ทำให้เห็นว่า “รัก” ก็เป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่เป็นคู่สัมพันธ์กับตัวเรา

เมื่อชีวิตดำเนินไปโดยมี “รัก” มาเป็นคู่สัมพันธ์   วิบากกรรมที่ทำร่วมกันก็ส่งผลให้  “เร่าร้อน” ได้เช่นกัน เมื่อไม่รู้เท่าทันปฏิสัมพันธ์ของตัวเองกับ “รัก”

การให้เวลากับตัวเองเพื่อใคร่ครวญ ไตร่ตรอง “รัก” ทำให้ได้เห็นอีกด้านของมัน

“รัก” ที่ทำให้ “เร่าร้อน”  “เครียด”  “เรียกร้อง” “ขัดแย้ง” ฯลฯ เป็นผลของการเกื้อกูลกันระหว่างตัวคนกับอารมณ์ “รัก” และ “กลัว”

ที่แท้เมื่อมีอารมณ์ ๒ อย่างอยู่ด้วยกัน เสียงแรกที่คนได้ยินมักจะเป็น “กลัว”  “ไม่ชอบ” “เกลียด” บ่อยกว่า “รัก” “ชอบ”

รับรู้ตัวเองว่า ทุกครั้งที่ได้ยินเสียงแรกว่า “รัก” ดังๆ  “กลัว” ไม่ได้หายไปไหน แต่ยืนอยู่เคียงข้าง  การไม่แสดงตัวของความกลัว ไม่ได้หมายความว่า “ไม่กลัว”

เห็น”ปฏิสัมพันธ์” ของอารมณ์ “รัก” และ “กลัว” แล้วก็เข้าใจมากขึ้นว่า วิบากกรรมที่เกิดขึ้นเมื่อตัวเราเป็นคู่สัมพันธ์กับคนอื่น จะเป็นวิบากกรรมที่ดีก็ต่อเมื่อ รู้ทันอารมณ์ “รัก” “ชอบ”  ที่แฝงเข้ามาในรูปของ ความอยาก ซะก่อน ก็จะเข้าใจความกลัว

ปฏิสัมพันธ์กับเสียงแรกที่เป็นวิบากกรรมตามมา ที่มักเห็นจากตัวเองมีหลากหลาย “บ่น” “บึ้ง” “ขึ้ง”  “จี๊ด” “ปี๊ดแตก” “หนี” “เมินเฉย” “หวง” ฯลฯ เหล่านี้ล้วนมีเบื้องหลังจากเสียงของอารมณ์ “กลัว” “ไม่ชอบ” “เกลียด” ที่มีอารมณ์ “รัก” อยู่ร่วมทั้งสิ้น

“อยู่เย็น” เกิดเมื่อเปลี่ยนความกลัวเป็นเพื่อน  “อยู่เย็น” จึงหมายถึง “การไม่เป็นทาสอารมณ์ของเรา” และ “คนอื่นไม่เป็นเหยื่ออารมณ์ของเรา”  แต่ไม่รวมไปถึง “เราไม่เป็นเหยื่ออารมณ์ของคนอื่นเขา” ณ ปัจจุบันนั้น  เข้าใจตรงนี้แล้วก็ตามทันอารมณ์รัก ชอบ กลัว เกลียด ทั้งของตัวเราและคนอื่นได้

เห็นตรงนี้ก็ชัดขึ้น และเข้าใจคุณค่าของ “ดำรงสติในทุกขณะ” แล้วละ

มีแต่ต้องพึ่ง “สติ” และสามารถดำรงสติ ณ ปัจจุบันสม่ำเสมอเท่านั้นที่สามารถช่วยให้วิบากกรรมที่เกิด หลังคนเปล่งเสียงแรกให้ได้ยินในหัวว่า “รัก” “กลัว” “ไม่ชอบ” “เกลียด”  เกื้อกูลกันเป็นวิบากกรรม ปัจจุบัน ที่ส่งผลให้ “อยู่เย็น” อันหมายถึง การไม่เป็นเหยื่ออารมณ์ของกันและกัน

« « Prev : “ชิบ” นี้ใครฝัง

Next : ตามลม(๒๐): ของเสียอยู่ผิดที่ได้ไง…เป็นเรื่องแล้วซิ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 เวลา 22:18

    แหม วันนี้ หมอกายปรับตัวมาเป็นหมอจิตซะแล่ว ..ลมเพลมพัดจริงนะหมอเนี่ย

    ผมเอง เป็นวิดวะแต่ก็บ้าอยากเป็นหมอกะเขาด้วย ทั้งหมอกาย หมอใจ หมอจิต โดยที่ตัวเองก็อ่วมระนาวเอาตัวไม่รอด

    รัก โลภ โกรธ หลง ผมว่ามันดึงและดูดกันไปมา ทำให้แรงลัพธ์ เท่ากับ 0 …ดังนั้นมันก็เคลื่อนไปไหนไมได้สักที …อย่างมากก็แค่วนๆ เวียนๆ อยู่ในกรอบเบี้ยวๆ อยู่นี่แหละ

    บางที่แรงสุ่มเดาที่กระทำมันก็ส่งผลให้ไอ้กรอบนี้มันปูดด้านโน้น ปูดด้านนี้

    ไอ้เราก็เฮโล ปูดไปปูดมาไปกับมันไปเป็นพักๆ จนเหนื่อยแฮ่กๆ

    ก็เสียค่าโง่กันไป ตามระเบียบแห่งจักรวาล แหละครับ…พับแผ่

    ปล. อีเมล์เรื่องไปช่วยรพ. ได้รับแล้ว แต่ยังไม่มี “เวลา” ตอบ (เอาเวลามาตอบโพสต์นี้ก่อน อิอิ)

    แต่รับรองว่าไปช่วยแน่ๆ โดยไม่คิดมูลค่าใดเข้าตนแม้สักสลึงนะครับ

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 มิถุนายน 2011 เวลา 22:54

    การรักษาที่ใครๆก็ต้องการ คือ รักษาคนแบบเป็นคนทั้งคน ไม่ใช่ subject ไม่ใช่รึค่ะ จึงต้องฝึกวิทยายุทธไว้ใช้งานละน่า

    ยังถือว่าทดลองงานอยู่ค่ะ ที่ถอดบทเรียนมาแลกเปลี่ยนกันก็ได้จากตัวเองเป็นครูให้ตัวเองบ้าง คนอื่นเป็นครูบ้าง

    เรียนแล้วก็นำมาเล่าสู่กันฟังว่า get อะไร มุมนี้เป็นเรื่องราวที่ชาวเฮฮาศาสตร์ทำกันมาเป็นธรรมเนียม

    การแลกกันไปแลกกันมาทำให้โลกภายในของตัวเอง ของแต่ละคนเติบโตขึ้นมากมายเชียวค่ะ

    เรียนแล้วทำให้หมอเข้าใจคนไข้ลึกซึ้งขึ้น ได้ความไว้ใจจากคนไข้แลกมา

    ความไว้ใจที่ได้มาทำให้รู้ว่า พวกเขายังมีความเจ็บป่วยที่ซ่อนเร้น แต่กลัวหมอไม่เข้าใจ อธิบายไม่ได้

    เรียนแล้วก็ช่วยเขาได้มากขึ้น เห็นเขาดีใจที่หมอเข้าใจก็มีความสุขแล้วค่ะ

    ฝีกแล้วก็เลยได้รู้ว่า โรคทางจิตเวชกับทุกข์ใจนั้นรักษาต่างกัน คนไข้ที่มีปัญหาทางจิตใจ จึงไม่ใช่ทุกคนที่ต้องการ “ยา”

    ตั้งแต่เบี่ยงทิศงานมาทำงานด้านป้องกัน ก็กลายเป็นหมอที่ไม่ใช้นิสัย อะไรๆก็ให้ยาไปแล้วค่ะอาจารย์

    ดีใจหลายๆที่อาจารย์ให้คำตอบแล้ว อย่างไรก็จะเตรียมการไว้รอรับอาจารย์นะคะ ขอบคุณมากๆสำหรับวิทยาทานที่ตั้งใจจะมอบให้ แล้วจะนัดหมายเวลาเพื่อให้เลือกนะคะ

    อย่างน้อยในวันนี้ หมอก็มีวิดวะที่มีใจเป็นหมอเป็นกัลยาณมิตรตั้ง ๒ คน ดีใจที่มีวาสนาได้เจอทั้งคู่ค่ะ

  • #3 putarn ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 เวลา 17:50

    โอ้โห คุณหมอเขียนเหมือนอ่านง่าย แต่เข้าใจไม่ง่ายเลยค่ะ
    การรู้เท่าทันจิตว่าคิดอะไรรู้สึกยังไง สำหรับดิฉัน เมื่อรู้แล้วเห็นแล้ว ยังอยู่เย็นไม่ได้ค่ะ ถ้ายังไม่วาง

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 มิถุนายน 2011 เวลา 20:34

    คุณพุดตาลค่ะ จะง่ายขึ้นหากไม่ใช้ความคิดวิเคราะห์แบบตีความ แต่ลองตามดูอารมณ์โดยไม่ตั้งคำถามแล้วจึงวิเคราะห์ค่ะว่า รับรู้อะไร หลังรับรู้ได้ ก็จะเข้าใจเอง แล้วตอนนั้นแหละค่ะที่ความคิดเราทำงานเพื่อบอกทางเลือก อีตอนเลือกนี่แหละที่ความคิดมันฟุ้ง

    หมอเองตอนแรกที่เรียนรู้ ฟุ้งจนวางไม่ลงก็บ่อย แต่พอฝึกบ่อยๆ เมื่อถึงจุดตัดสินใจวาง ก็ได้เรียนรู้ว่า ถ้าใจไม่วางเอง มันก็เหมือนหลอกตัวเอง การฝึกฝนนี้ “ความซื่อตรงกับความรู้สึก” สำคัญมากเลยค่ะ

    เห็นด้วยเลยค่ะว่ายาก การเรียนรู้อารมณ์ยากสำหรับคนที่ยังไม่บรรลุอรหันต์ทุกคนแหละค่ะ


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.023819923400879 sec
Sidebar: 0.10564994812012 sec