น้ำท่วม(๑๕)

อ่าน: 1458

ตอนที่มีข่าวน้ำท่วมและดินถล่มเกิดขึ้นมา ก็มีเสียงลือแว่วกันมาว่า บนภูเขานั้นมีการบุกรุกที่และแผ้วถางทำเป็นสวนปาล์มและยาง

เมื่อชาวบ้านที่อยู่ใกล้เขาที่สุด และเป็นกลุ่มที่อยู่ในที่สูงที่สุด ชี้มือไปว่า โน่นบนเขาโน่นยังมีต้นซุงกองอยู่ ที่กลัวกันมากตอนนี้ก็คือ ฝนตกหนัก แล้วดินถล่ม น้ำพาซุงมาให้เกิดเหตุการณ์อีกรอบ  ก็สอบถามเขาอยู่เหมือนกันว่า เป็นไปได้มั๊ย ที่มีคนไปปลูกปาล์มและยางเอาไว้บนยอดเขาที่เห็นลิบๆโน่น

ชาวบ้านปฏิเสธคอเป็นเอ็นว่า ไม่มีหรอกต้นปาล์ม ยางที่ว่า แล้วเขาก็วิเคราะห์ให้ฟังว่า ต้นไม้ที่มากับน้ำ เห็นๆกันอยู่ว่า ขึ้นในป่าทั้งนั้น ทุกๆต้นที่ไหลลงมา ไม่มียาง ปาล์ม

สายตาที่เขาเงยขึ้นไปมองภูเขา บอกชัดถึงความกังวลจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำ

ระหว่างทางที่ได้ไปคุยกับอสม.ที่จะใช้ไม้ทุเรียนสร้างบ้าน ได้ยินน้องมนเอ่ยว่า พี่ต้องช่วยหาคนมาขนไม้นะ งานนี้แหละหนักที่สุด เพราะว่าไม่มีเครื่องจักรมาชักลากได้

ตรงนี้ทำให้นึกขึ้นได้ เมื่อคำนึงถึงเรื่องกองไม้ที่มีกอเถาวัลย์ขวางอยู่  แล้วภาพหนึ่งก็แวบเข้ามาทำให้สะดุ้ง ตรงจุดที่ได้ไปเห็นไม้เถาพยุงต้นซุงไว้ มีหลายจุดที่หมิ่นเหม่ สามารถร่วงต่อลงมาได้ ไม่ต้องมีน้ำพาหรอก แค่มีแรงสั่นสะเทือนก็เกิดได้แล้ว เพราะล้วนวางตัวไว้บนทางลาดชัน

ช่วงนี้เป็นหน้าฝน เจ้าเถาวัลย์นี้ยังเจริญเติบโต แต่ต่อไปเมื่อเข้าหน้าแล้ง ที่นี่จะมีความชื้นพอให้เถาวัลย์ไม่แห้งตายหรือเปล่า ถ้าหากว่าไม่เกิดปัญหาเถาวัลย์แห้งตาย ชาวบ้านก็ยังปลอดภัยในหน้าแล้ง แต่ถ้ามันแห้งตายได้ละก็ หน้าแล้งก็จะเกิดภัยในรูปแบบเดิม แต่คราวนี้ไม่ได้มาจากน้ำ แต่เป็นผลตามมาของธรรมชาติที่เปลี่ยนไป

เมื่อเห็นมุมนี้จึงคิดได้ว่า ไม่รู้ว่าที่ทางการยื่นคำขาด ให้ชาวบ้านตัดสินใจแลกทุบบ้านหลังบ้านใหม่เสร็จ ๑๕ วันกับการรับงบทุบบ้านไปใช้สร้างบ้านใหม่นั้น มีเรื่องนี้แฝงอยู่ด้วยหรือเปล่า เพราะได้ยินชาวบ้านเล่าว่า ทางการก็บอกว่า เป็นการตัดปัญหา ไม่ให้ต้องมาคอยห่วงใยไม่สิ้นสุด

ที่จริงก่อนเข้าไปในพื้นที่ก็แวบถึงเรื่องที่พ่อครูแนะ ให้ปลูกไม้โตเร็วเพื่อช่วยอุ้มดิน แต่เมื่อไปถึงพื้นที่สูงอย่างที่นี่ ก็เห็นคำตอบว่ายากในการไปชวนใครๆมาปลูกในเวลาอย่างนี้  มีเรื่องซ้อนขึ้นมาอีกเรื่องของการกำหนดเขตป่า และป่าชุมชน  เรื่องนี้น้องมนหลุดปากมาว่า ปัญหาในพื้นที่ยังมีอีกยาวนาน  ในตอนนี้ทำได้เพียงแค่ค่อยๆชวนให้ชาวบ้าน หันมาตัดสินใจพึ่งตนเองเรื่องที่อยู่อาศัยให้ได้ก่อน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีบ้านอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย

ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในวันนี้ มีอยู่ราวๆ ๔ หมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนมีเท่าไร น้องมนก็ตอบไม่ได้แม่นยำ ทุกๆวันเขาต้องเช็คข้อมูลใหม่ ความไม่นิ่งของข้อมูลมาจากการเข้าไม่ถึงข่าวสารของชาวบ้าน ความลังเลในการเข้ามาสู่ระบบการช่วยเหลือ คนตกสำรวจไม่รู้จะวิ่งเข้าหาใครให้ช่วยเหลือ ฯลฯ

เราได้คุยกันในเรื่องของวิธีคิดเชิงป้องกันด้วย ความเห็นตรงกันคือเรื่องการจัดการแนวคลอง วันนี้สิ่งที่ต้องการความช่วยเหลือ เป็นเรื่องขนาดคลองที่สมควรจัดการ เพื่อให้สามารถรองรับน้ำที่ไหลบ่ามาเร็วอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว  เรื่องที่ต้องคิดอ่าน มีทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง และระยะยาว  ซึ่ง ณ เวลานี้ น้องมนเองหมุนตัวไม่ทันเรื่องเวลา

พื้นที่เขาพนมจึงต้องการจิตอาสา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาลุ่มน้ำ และการพัฒนาความมีส่วนร่วม ลงมาเตรียมความพร้อมให้ชุมชนไปด้วย  ใครก็ได้ที่สามารถช่วย คิดอ่านการลงมาช่วยไว้ได้เลย

เรื่องที่พ่อครูแนะนำนั้น ก็มีพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ แต่ก็คงต้องมีเวทีคุยกับชาวบ้านและทางการก่อน ด้วยที่ดินทำกินส่วนใหญ่ในพื้นที่แห่งนี้ เป็นที่สปก. และพื้นที่ของอพป.  สำหรับที่ดินในความดูแลของอพป.นั้น ระหว่างนี้ก็อยู่ในสายตาของทางการว่า จะสามารถนำเข้ามาแทรกช่วย ให้ชาวบ้านมีที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยได้อย่างไร โดยไม่ผิดกม.

« « Prev : น้ำท่วม(๑๔)

Next : น้ำท่วม(๑๖) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2011 เวลา 13:48

    เรื่องนี้มันลึกลับครับ ที่ ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ นครศรีธรรมราช ก็ฉงนแบบนี้เช่นเดียวกัน คือว่าพื้นที่ที่ดินถล่มนั้นเป็นป่า แต่พื้นที่ที่เป็นสวนยางกลับไม่ถล่ม ดูจะขัดกับคำอธิบายที่ว่าต้นยางมีรากสั้น ไม่สามารถจะยึดดินได้

    ย้อนกลับไปดูต้นเหตุของดินถล่ม: เมื่อฝนตก ดินบนลาดเขาดูดซึมน้ำไว้ส่วนหนึ่ง ดูดไปดูดมาจนไม่สามารถจะอุ้มน้ำไว้ได้อีกแล้ว ก็จะกลายเป็นชั้นดินที่เหลว แยกตัวจากชั้นดินที่อยู่ลึกลงไปซึ่งยังเหลวไม่มากเท่า ประกอบกับพื้นที่ลาดชัน ชั้นของดินจึงเริ่มไถล กลายเป็นดินถล่ม

    เวลาฝนตกบนภูเขา ก็เฉลี่ยตกเท่าๆ กัน สมมุติฝนตกบนยอดเขา x มม.จนดินที่ยอดเขาอิ่มตัวแล้ว น้ำจากยอดเขาก็จะไหลลงมาที่กลางเขาซึ่งฝนก็ตกอยู่ x มม. กลายเป็น 2x มม.แล้ว จนดินกลางเขาอิ่มตัว ทีนี้ก็ไหลต่อลงมาตีนเขาซึ่งมีฝนตก x มม.เช่นกัน รวมเป็น 3x มม. — สังเกตดู เวลาเกิดดินถล่ม มักไม่ได้ถล่มจากยอดเขาหรอกครับ เริ่มจากช่วงกลางๆ เขาทั้งนั้น เพราะว่าตรงนั้นมีปริมาณน้ำมาก ทำให้ดินแยกตัวออกได้เร็ว แต่ถ้าหากถล่มเยอะจนดินยอดเขาไม่มีอะไรรองรับ ยอดเขาอาจจะถล่มตามลงมาได้ [รูป]

    กลับไปที่กรุงชิง ถามว่าทำไมสวนยางจึงไม่มีดินถล่ม ก็อธิบายง่ายๆ ว่าสวนยางบนภูเขา มีร่องน้ำที่คนทำไว้ เมื่อฝนตก น้ำไหลมาตามร่องน้ำนี้ลงมาข้างล่างอย่างรวดเร็ว โอกาสที่ดินจะอิ่มน้ำก็น้อยลงเพราะน้ำไหลลงไปข้างล่างแล้ว — กรณีนี้ต่างกับป่าซึ่งยังไม่ได้ถูกบุกรุก ต้นไม้และวัชพืชขึ้นอยู่อย่างไม่มีระเบียบ เมื่อฝนตกลงมาเจอต้นไม้ ต้นไม้ต้านน้ำไว้ ทำให้น้ำไหลช้าลง มีเวลาให้ดินดูดซึมน้ำมากขึ้น เมื่อดินอิ่มน้ำ ก็ถล่มได้ง่ายกว่า

    ทางหนึ่งซึ่งอาจลดความเสี่ยงของดินถล่มได้ คือการนำน้ำลงจากภูเขาให้เร็วนะครับ เอาจอบเซาะร่องบนภูเขาขวางทางน้ำไหลเอาไว้ พอน้ำที่ไหลมาตามลาดเขา มาเจอร่องน้ำ ก็จะหักเลี้ยวไปตามร่องน้ำ ซึ่งเราเอาน้ำในร่อง ไปทิ้งไว้ในบริเวณที่ห่างไกลจากบ้านเรือนของชาวบ้านได้ (อ้อมภูเขาไปด้านหลังก็ยังได้ครับ ไล่ระดับให้ดี)

  • #2 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2011 เวลา 15:04

    ที่พี่กำลังดูอยู่ คือ ทฤษฎีโดมิโน ถ้าหากจุดเริ่มของภัยในครั้งนี้มาจากฐานล่างล้มก่อน แล้วส่งผลเป็นทอดๆขึ้นไปสู่ส่วนที่อยู่สูงถัดขึ้นไปถัดขึ้นไปละก็ การแก้ไขต้องเริ่มที่พื้นราบไปพร้อมๆ กับการป้องกันพื้นที่อยู่สูงถัดขึ้นไปๆ มากกว่าวิธีอื่นใด

    ชาวบ้านที่นี่เขาพูดเรื่องหินผุกับหินแข็ง แสดงว่าองค์ความรู้ที่เขามีนั้นไม่ด้อย ที่เขาอยากให้นักธรณีวิทยาช่วยทำ ก็คือ ให้ข้อมูลให้เขาหน่อย ที่ราบตรงไหนมีหินผุอยู่บ้าง มากน้อยอย่างไร เขาจะได้จัดการตัวเองกันได้

    หินผุที่ชาวบ้านเขาเรียก ก็คือ หินปูน ในภาษาของนักธรณีวิทยา ต้นเหตุของดินถล่มก็รู้กันว่า มีเรื่องของหินปูนเข้ามาเกี่ยวอยู่แล้ว

    สมัยก่อนเวลาทำเหมืองแร่เขาจะสำรวจ สายแร่แล้วนำข้อมูลมาประมวลจนได้มาถึงพื้นที่สัมปทาน ถ้าสมมติหินปูนคือสายแร่ สำรวจแล้วน่าจะสามารถนำมาจัดการพื้นที่ให้เป็นร่องระบายน้ำได้เหมาะกว่าเดาสุ่มหรือใช้เฉพาะข้อมูลที่เห็นบนดินเท่านั้น

    ตรงนี้มองว่าเป็นเรื่องดีสำหรับความคิดเรื่องทำเขื่อนด้วยว่า ควรทำหรือไม่ควรทำมากน้อยแค่ไหนในพื้นที่ที่เลือก ทำแล้วต้องป้องกันอันตรายอะไรข้างหน้าที่จะตามมาบ้าง จะได้ลงมือเตรียมความพร้อมในเชิงป้องกันไปพร้อมกันเลย

    คิดเหมือนกันเรื่องการทำให้น้ำระบายเร็วนะแหละ จึงคิดถึงร่องน้ำที่มีอยู่ก่อนอย่างคลอง

    ถ้าตามดูในกูเกิ้ลเอิร์ธ จะเห็นว่าเขาพนมคือต้นน้ำของคลองหลายสายในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม หากได้จัดการกับคลองตลอดสาย ไม่ให้ตื้น ไม่ให้แคบ และไม่ให้ตัน ความเสียหาย ในส่วนของผู้ที่อยู่ริมฝั่งคลองและปลายน้ำรอบหน้า จะไม่มากเท่ากับที่เกิดในครั้งนี้

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2011 เวลา 16:08

    ผมคิดว่าแก้ยากนะครับ คือเมื่อดินถล่มแล้ว หินที่อยู่ใต้ดินโผล่ขึ้นมาเจออากาศ (และฝน) จึงมีโอกาสถล่มอีก

    เรื่องร่องน้ำ ถ้าจะทำก็ควรเป็นพื้นที่ไม่ชันเกินไปและยังไม่เกิดดินถล่มนะครับ แล้วทำที่ผิวดินพอแล้ว อย่าขุดลงไปลึกเด็ดขาด

    สำหรับเขื่อน เปลี่ยนเป็นฝายชะลอน้ำขนาดเล็กหลายๆ อัน ดีกว่าเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำใหญ่ครับ

  • #4 สาวตา ให้ความคิดเห็นเมื่อ 22 พฤษภาคม 2011 เวลา 17:08

    เห็นด้วยว่ายาก ที่ยากกว่าก็คือ ชาวบ้านไม่ยอมพาตัวออกจากพื้นที่เพราะห่วงรายได้ที่เลี้ยงปากท้อง ทั้งๆที่รู้ว่าจะถล่มอีก ก็ยังเสี่ยงตาย ทู่ซี้อยู่ จะอพยพออกมาก็ต่อเมื่อจวนตัว เห็นน้ำในคลองบ่ามาแรงๆ เท่านั้นเอง เมื่อน้ำหยุดบ่าก็กลับเข้าไปใหม่

    เรื่องร่องน้ำที่ผ่านมาก็ได้ทหารมาช่วยจัดการไปบ้าง แต่พอเริ่มเรื่องสร้างบ้าน ทหารก็ต้องเบี่ยงตัวไปช่วยตรงนั้น อบต.ไม่มีเครื่องมือพอสำหรับจัดการให้เกิดร่องน้ำ ชาวบ้านก็ใช้เวลาไปกับเรื่องของทางการและเรื่องทำมาหากิน การจัดการร่องน้ำผิวดินจึงดูเหมือนยุติลงไปแล้ว กลุ่มแกนหลักก็ไม่มีเวลาดำเนินการให้ เพราะใช้เวลาไปทำงานให้กับแหล่งงบต่างๆที่พากันลงไปในพื้นที่

    เรื่องของเขื่อน ตอนนี้เป็นกระแสหลักในภาคทางการ แม้แต่นักการเมืองในเมืองกรุงก็เก็บไปคิดว่าจะสร้างเขื่อนให้ แต่ชาวบ้านไม่อยากได้หรอกนะ เมื่อไรนักการเมืองไม่ฟังชาวบ้าน เมื่อนั้นก็เหมือนวางระเบิดเวลาไว้ให้สังคมอีกลูกละนะ

    เห็นด้วยกับเขื่อนแบบฝาย เศษไม้ที่มีอยู่ในพื้นที่ น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ตรงนี้ต้องการอาสาสมัครลงมาช่วยกัน เมื่อน้ำลดความแรงลงกว่านี้แล้ว ช่วงนี้ฝนตกช่วงบ่ายทุกวัน ถึงแม้จะว่างงาน ประสบการณ์ของชาวบ้านก็สอนเขาว่า อย่าซ่ากับแรงน้ำเวลาฝนตก เสียดายที่วันนั้นกล้องแบตหมด ไม่งั้นคงได้ภาพมาฝากว่าน้ำมันแรงและเชี่ยวแค่ไหน ทั้งตอนที่ฝนตกและฝนซา

    อย่างไรแล้วชาวบ้านคงต้องขอความช่วยเหลือด้านการฟื้นฟูกันอีกนาน ซึ่งดูเหมือนงบในลักษณะนี้จะไม่ใคร่มีคนบริจาคให้นา


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 0.18085098266602 sec
Sidebar: 1.7103319168091 sec