น้ำท่วม(๑๖)

อ่าน: 1895

เมื่อไปเห็นพื้นที่ หลังเหตุการณ์ผ่านมาร่วม ๒ เดือนแล้ว ก็พบว่าการจัดการเชิงป้องกันให้เกิดผลที่ยั่งยืน คงจะยังไม่สามารถดำเนินได้ เพราะการแก้ปัญหาถ้าทำดุ่ยๆด้วยความไม่รู้แต่ลงทุนใหญ่ อาจจะเกิดผลบานปลายในอนาคตตามมาอีกมากมาย  เรื่องการแก้ปัญหาเชิงป้องกัน จึงต้องแบ่งระยะเป็นระยะต้น ระยะกลาง และระยะยาว

แค่เรื่องการจัดการระยะต้นก็มีเรื่องมากมายแล้ว เรื่องหนึ่งที่ชาวบ้านต้องการ(แต่เขาอาจจะไม่รู้) ก็คือ ความเข้าใจกฎหมาย ตรงนี้ถ้าได้ความรู้มาเติม การตัดสินใจเพื่อคลี่ปมทีละปม เรื่องที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน จะเป็นเรื่อง win-win ทุกฝ่าย

ต้นไม้ที่สำลักน้ำแล้วยืนต้นตายก็มีการเลือกลำต้นที่พอใช้ได้ ไปใช้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อลดต้นทุน ดินเดิมเปลี่ยนเป็นดินทรายเฉยเลย

ซากไม้ใต้ต้นมะพร้้าว หรือริมร่องน้ำ มีทั้งต้นยางและไม้ป่า กองสุมเป็นของเหลือใช้ เห็ดขึ้นได้มั๊ย ชาวบ้านจะได้อาศัยหารายได้ไปพลางๆ

ไม้ยืนต้นตายแห้งแต่ไผ่กลับเขียวดี ดินสะสมเป็นดินโคลนปนทราย กอไผ่ไม่เป็นไรทั้งๆที่ทางน้ำแรงไหลผ่าน ปลูกไผ่เพิ่มจะดีมั๊ย

แต่ก่อนในพื้นที่นี้ เคยได้ยินมาว่า มีกระบวนการของภาคประชาชนที่เรียกกันว่า อนุญาโตตุลาการหมู่บ้าน ถือกำเนิด  เมื่อได้รับรู้ข่าวสารเรื่องการหาที่อาศัยที่ไม่ลงตัว จึงทำให้สนใจว่ากระบวนการนี้ มีการใช้เพื่อผ่อนปรนความทุกข์ให้ชาวบ้าน ในเชิงสังคมไปมากน้อยแค่ไหน

เจอน้องมนจึงขอข้อมูล เขาก็ให้ข้อมูลว่า ในพื้นที่ประสบภัย ยังไม่มีกระบวนการอนุญาโตตุลาการหมู่บ้านเกิดขึ้นมา ที่มีแล้วนั้นอยู่ในพื้นที่อื่นของเขาพนม และเป็นการใช้กับเรื่องอื่น

ปัจจุบันนี้สมาชิกในกระบวนการอนุญาโตตุลาการนี่แหละที่ออกมา เป็นแกนหลักประสานงาน กับทุกภาคส่วนแล้วจัดการเพื่อให้เกิดการช่วยชาวบ้านที่ทั่วถึง

รอบๆร่องน้ำใหม่ มีดินปนโคลนมาสะสมอยู่เต็มไปหมดอย่างที่เห็นในภาพ จะปลูกอะไรดีเพื่อให้ชาวบ้านที่เคยทำกินอยู่เดิม มีรายได้คืนมา

น้องมนเล่าว่ากว่าที่คนในอนุญาโตตุลาการจะล้างภาพ NGO ที่รัฐมองพวกเขาออกไปได้ ก็ได้ผ่านกระบวนการทดสอบตัวเองมามากมาย

เมื่อพ่อครูให้ความเห็นเรื่องการปลูกไม้โตเร็ว ในความคิดก็เออออด้วยไม่น้อย พื้นที่ที่พอจะดำเนินการมีที่ไหนอย่างไร จึงเป็นเรื่องต้องหาข้อมูลมากลั่นกรองพื้นที่ “ลองทำดู”

เห็นด้วยว่าการแก้ปัญหา เป็นเรื่องที่ควรใช้การวิจัยเป็นเครื่องมือนำคำตอบมาให้  เพราะมีเรื่องที่ไม่รู้และลึกลับอยู่มากมายซ่อนอยู่ในพื้นที่

เมื่อไปถึงพื้นที่ที่มีคนเสียชีวิตจำนวนมาก ก็มีสิ่งหนึ่งที่เตะตา  บริเวณก่อนที่จะเข้าไปถึงพื้นที่ที่ว่า เป็นสวนยาง บริเวณถัดจากสวนยางไปก็เป็นร่องน้ำที่เกิดมาใหม่ ที่ธรรมชาติขุด ไปเห็นทีแรกก็งงๆ เพราะเหมือนร่องน้ำในเหมืองดีบุกที่เคยเห็นตอนเด็กๆมากเลย

ธรรมชาติขุดร่องเอง กว้างอย่างในภาพเชียวนะ ดินในสวนยางซึ่งอยู่สูงจากแนวร่องกว่าเมตร ช่วยให้ข่าวว่าลึกแค่นี้ยังไม่พอรับน้ำหรอก

ถัดจากร่องน้ำไปก็เป็นพื้นที่สวนยาง เลยจากสวนยางก็เป็นพื้นที่ว่างๆ มีคนบอกว่าเดิมเป็นสวนยาง และที่อยู่อาศัยของคนที่เสียชีวิต ทฤษฎีดินอุ้มน้ำกับน้ำเลือกเซาะดินให้เป็นร่องจะอธิบายยังไง  ก็ยังคงเห็นความลึกลับของมันอยู่ดี

« « Prev : น้ำท่วม(๑๕)

Next : น้ำท่วม(๑๗) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "น้ำท่วม(๑๖)"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่
You must be logged in to post a comment.

Main: 1.0820591449738 sec
Sidebar: 3.926864862442 sec